วันจันทร์, พฤษภาคม 14, 2550

All or Nothing: ความรักคือคำตอบ


ชีวิตที่ต้องปากกัดตีนถีบ บางครั้งอาจทำให้คนเรามองข้ามสิ่งเล็กๆน้อยๆซึ่งให้คุณค่าต่อจิตใจไปโดยไม่ตั้งใจ ก็ใครเล่าจะมีกะใจมานั่งครุ่นคิดถึงเรื่องความรัก หรือ การทำนุบำรุงมันให้เจริญงอกงามอยู่ได้ ในเมื่อวันๆยังต้องคอยกังวลอยู่เสมอว่าจะหาเงินมาพอจ่ายค่าเช่าห้อง ซื้ออาหาร และจุนเจือครอบครัวหรือเปล่า สิ่งที่พวกเขา ‘มี’ เป็นความคุ้นเคยอันไร้ค่า ส่วนสิ่งที่พวกเขา ‘ขาด’ กลับกลายเป็นความจำเป็น ซึ่งต้องโหยหามาครอบครอง จนสุดท้ายชีวิตจึงกลายเป็นความสิ้นหวัง หดหู่ กลายเป็นอารมณ์โกรธขึ้ง ที่ต้องระบายออกเอากับคนรอบข้าง ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะพวกเขาหยาบกระด้างโดยธรรมชาติ แต่มันเกิดจากการบีบรัดของสภาพเศรษฐกิจ ของค่านิยมบูชาวัตถุ

ครอบครัวบาสเซ็ตต์กำลังเผชิญกับภาวะวิกฤติดังกล่าว ฟิล (ทิโมธี สปอลล์) ล้มเหลวในฐานะผู้นำครอบครัว เมื่อมองจากสายตาของนักเศรษฐศาสตร์ เขาขับรถแท็กซี่รับจ้าง แต่มักจะตื่นสายไปทำงานเป็นประจำ จนทำให้ขาดรายได้ก้อนโตจากการรับส่งลูกค้าไปสนามบิน แถมเวลาหาเงินได้ไม่พอจ่ายค่าเช่ารถ เขาก็ต้องบากหน้าไปขอยืมเอาจากภรรยา เพนนี (เลสลี่ย์ แมนวิลล์) พนักงานเก็บเงินใน เซฟเวย์ ซูเปอร์มาร์เก็ต, ลูกสาว ราเชล (อลิสัน การ์แลนด์) พนักงานทำความสะอาดในบ้านพักคนชรา หรือ กระทั่งรีดไถ ‘เศษเงิน’ เอาจาก โรรี่ (เจมส์ คอร์เดน) ลูกชายตกงาน ซึ่งวันๆไม่ทำอะไรนอกจากกินกับนอน

พวกเขาอาศัยอยู่ในแฟลตชานเมือง ซึ่งไม่มีอะไรให้เพลิดเพลิน เจริญใจมากนัก ไม่ต่างจากธรรมชาติงานอันจำเจ น่าเบื่อ ของพวกเขา และกิจวัตรประจำวันที่ไม่มีอะไรนอกจาก ตื่นนอนไปทำงาน กลับบ้าน กินข้าว เข้านอน วนเวียนไปมา ซึ่งผู้กำกับภาพ ดิ๊ก โพป ก็ได้ตอกย้ำความรู้สึกดังกล่าวบ่อยครั้งด้วยการแช่ภาพนิ่งและเคลื่อนกล้องอย่างเนิบช้า เอื่อยเนือย จนแทบไม่ทันสังเกต

สีสัน ความบันเทิงเดียวในชีวิตพวกเขาล้วนแตกต่างกันไปและ ‘ไม่ใช่’ การอยู่ร่วมกัน ฟิลจะใช้เวลาว่างหลังเลิกงานนั่งจิบเบียร์กับ รอน (พอล เจสสัน) เพื่อนคนขับแท็กซี่, เพนนีเลือกจะออกไปสังสรรค์เป็นครั้งคราวกับเพื่อนร่วมแฟลตอย่าง มอรีน (รูธ ชีน) กับ คารอล (มาเรียน เบลี่ย์) ตามบาร์คาราโอเกะ, ราเชลชอบขลุกอ่านนิยายอยู่ในห้องคนเดียว ส่วนโรรี่ก็เริ่มจับจองโซฟาหน้าทีวีเป็นอาณาจักรส่วนตัว

สมาชิกในบ้านบาสเซ็ตต์กำลังล่องลอย ถอยห่างจากกัน บทสนทนาของพวกเขา ถ้าไม่ห้วนสั้นราวกับไม่รู้จะพูดคุยอะไรดี ก็มักลงเอยด้วยการตะโกนด่าทอเหมือนเกลียดชังกันมาแต่ชาติปางก่อน ความยากลำบากแห่งการดำรงชีพได้กัดกร่อนจิตใจ สูบเอาพลังความหวัง ความร่าเริง สดใส ออกจากร่างพวกเขาจนเหือดแห้ง… ลูกชายไม่เคารพมารดา ภรรยาดูถูกสามี ลูกสาวถูกทอดทิ้งให้เดียวดาย ซ้ำร้ายยังไม่มีใครคิดที่จะเปลี่ยนแปลงทุกอย่างให้ดีขึ้น พวกเขาเหนื่อยล้าเกินกว่าจะทำอะไรอื่น พวกเขากำลังมุ่งหน้าสู่หุบเหว… จนกระทั่งวันหนึ่งเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น ซึ่งทำให้ทุกคนจำต้องหันหน้าเข้าหากัน ทบทวนบทบาทของตน ก่อนจะเริ่มตระหนักในท้ายที่สุดว่าพวกเขา ‘โชคดี’ แค่ไหนที่ยังมีกันและกัน

โดยเนื้อแท้แล้ว ไมค์ ลีห์ เป็นผู้กำกับซึ่งนิยมแนวคิดเชิดชูสถาบันครอบครัวและค่อนไปในทางมองโลกในแง่ดี มองชีวิตแบบเปี่ยมความหวัง ผลงานที่โด่งดังสูงสุดของเขาเรื่อง Secrets & Lies (1996) เล่าถึงชีวิตของผู้หญิงผิวดำคนหนึ่งจากครอบครัวชนชั้นกลาง ซึ่งค้นพบว่าแม่แท้ๆของเธอนั้นเป็นผู้หญิงผิวขาว ชนชั้นล่าง ที่ปัจจุบันแต่งงานมีครอบครัว (ผิวขาว) ไปแล้วและไม่ปรารถนาจะรื้อฟื้นความผิดพลาดในอดีตขึ้นมาอีก พวกเขาค่อยๆเรียนรู้ที่จะปรับตัวเข้าหากันในความแตกต่าง แปลกแยก ในความบกพร่องของธรรมชาติแห่งมนุษย์ ก่อนสุดท้ายจะสามารถเอาชนะทุกอย่างได้ด้วยความรักและการเปิดใจให้กัน

ประสบการณ์ด้านกำกับละครเวทีในอดีต ทำให้ลีห์เน้นความสำคัญของการทำเวิร์คช็อปเพื่อซักซ้อมทีมนักแสดงก่อนเปิดกล้องเป็นเวลาหลายเดือน และสนับสนุนให้พวกเขาคิดบทสนทนาขึ้นเองตามแต่สถานการณ์จะพาไป โดยไม่จำเป็นต้องยึดถือคำพูดตามบทภาพยนตร์อย่างเคร่งครัด (หลายครั้งเขาเริ่มซักซ้อมโดยไม่มีบทภาพยนตร์เป็นชิ้นเป็นอันเลยด้วยซ้ำ) กลวิธีดังกล่าวมักทำให้ตัวละครของเขาดูสมจริง เป็นธรรมชาติ และสอดคล้องไปกับแนวทาง slice-of-life ซึ่งไม่เน้นการผูกพล็อตเรื่องซับซ้อน แต่เลือกจะแสดงให้เห็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของชีวิตประจำวัน ที่มองเผินๆแล้วอาจไม่แปลกประหลาด น่าตื่นตา ไปจากชีวิตคนธรรมดาสามัญทั่วไป แต่ในแง่หนึ่งกลับสามารถสะท้อนถึงภาพรวมเกี่ยวกับชีวิตและสังคมได้อย่างคมคาย

หนังหลายเรื่องของลีห์ไม่ว่าจะเป็น Bleak Moment (1971), High Hopes (1988), Life is Sweet (1990) หรือ Naked (1993) ส่วนใหญ่ล้วนมีฉากหลังเป็นสภาพชีวิตบัดซบของผู้คนชนชั้นแรงงาน แต่ขณะเดียวกันกลับเจือไปด้วยอารมณ์ขันท่ามกลางความจริงอันรวดร้าว

ใน All or Nothing ความสัมพันธ์ระหว่างมอรีนกับลูกสาว ดอนน่า (เฮเลน โคเกอร์) สะท้อนถึงคุณสมบัติข้างต้นในหนังของลีห์ ทั้งสองมักพูดจาขัดคอกันอยู่เสมอ แต่ลึกๆแล้วต่างก็รักและผูกพันกันอย่างลึกซึ้ง ความเป็นคนนิสัยร่าเริง มีอารมณ์ขัน ทำให้มอรีนชอบหยอกแหย่ลูกสาวเหมือนเป็นเพื่อนเล่น ส่วนดอนน่าเองนั้น ก็เช่นเดียวกับเด็กสาววัยรุ่นทั่วไป เกลียดการถูกเซ้าซี้ จ้ำจี้จ้ำไชจากแม่ จนหลายครั้งเผลอ ‘แขวะ’ เธอกลับอย่างรุนแรงโดยไม่ทันยั้งคิด อาทิ เมื่อมอรีนแสดงอาการต่อต้าน ‘ไอ้หน้าบาก’ แฟนหนุ่มนิสัยเสียของดอนน่า พร้อมทั้งพูดเตือนว่าเธอเพิ่งจะรู้จักเขาแค่ไม่กี่เดือนเท่านั้น หญิงสาวก็รีบโต้กลับไปในทันทีว่า “ทีแม่เหอะ รู้จักพ่อมานานแค่ไหน?” พูดจบเธอก็แสดงท่าทีเสียใจที่เผลอพลั้งปาก ส่วนมอรีน แม้จะเจ็บช้ำกับคำพูดเสียดแทง แต่เธอกลับก้มหน้ารับอย่างเข้าใจ ก่อนจะยิ่งเห็นใจลูกสาวมากขึ้น เมื่อตระหนักว่าหล่อนกำลังเดินไปสู่ปลายทางแห่งชะตากรรมเดียวกัน นั่นคือ ตั้งท้องกับผู้ชายเลวๆที่ไม่คิดจะรับผิดชอบ

มอรีนเป็นตัวละครที่ ‘พึงพอใจ’ ในสภาพความเป็นอยู่ของตน เธอไม่ได้ปล่อยตัวให้ไร้ค่า เมามายไปวันๆเหมือนคารอล ซึ่งถูกลูกสาว ซาแมนธ่า (แซลลี่ย์ ฮ็อคกิ้นส์) เหยียดหยามราวกับเป็นเชื้อโรคน่ารังเกียจชนิดหนึ่ง เธอขยันขันแข็ง รับงานรีดผ้าให้เพื่อนร่วมแฟลตเพื่อเป็นการหารายได้พิเศษ นอกเหนือไปจากงานประจำในเซฟเวย์ สาเหตุหนึ่งเพราะเธอไม่มีสามีมาคอยช่วยเหลือจุนเจือนั่นเอง แต่กระนั้น ถึงจะวุ่นวายอยู่กับการหาเลี้ยงชีพเพียงใด เธอก็ไม่เคยปล่อยใจให้เหนื่อยล้า หดหู่ ไปกับภารกิจต่างๆ

เทียบกับเพื่อนสาวอีกสองคน มอรีนเป็นตัวละครเพียงคนเดียวที่ขาดสามีคู่ครอง แต่ก็ใช่ว่าเธอจะคิดใส่ใจในข้อด้อยข้อนั้นมากมายนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเธอยังมีลูกสาวเจ้าปัญหาให้ต้องเป็นห่วง ดูแล อยู่อีกทั้งคน หน้าที่ความเป็นแม่คือสิ่งที่เธอต้องการจะทำให้ได้ดีที่สุด ดังนั้น หลังทราบเรื่องว่าดอนน่าตั้งครรภ์ มอรีนจึงไม่คิดจะดุด่า ต่อว่าลูกสาวแต่อย่างใด หากกลับปลุกปลอบและเสนอตัวช่วยเหลือ ทั้งนี้เพราะเธอรู้ดีว่าการต้องเดินทางไปฝากครรภ์ หรือกระทั่งเลี้ยงดูลูกเพียงลำพังคนเดียวนั้น มันไม่ใช่เรื่องน่าสนุกเลยแม้แต่น้อย

มอรีนเปรียบเสมือนตัวแทนแห่งสารัตถะของหนังเกี่ยวกับชีวิตและครอบครัว กล่าวคือ โดยภาพรวมแล้ว พวกมันอาจไม่สมบูรณ์แบบ ไม่สมประกอบ และแตกหัก สึกหรอไปบ้าง แต่เราก็ยังสามารถหาความสุขจากมันได้ ตราบเท่าที่เรารู้จักมองหาคุณค่าจากสิ่งที่มี หาใช่หมกมุ่นอยู่กับสิ่งที่ขาด

ขั้วตรงกันข้ามของเธอ คือ เพนนี ผู้มี ‘ทุกสิ่งทุกอย่าง’ ในความเป็นครอบครัว แต่กลับรู้สึกผิดหวังเหลือจะทนในความไม่เป็นโล้เป็นพายของสามีและเฝ้าวนเวียนอยู่แต่กับทัศนคติแง่ร้าย จนเริ่มมืดบอดต่อผลกระทบอันรุนแรงจากการกระทำเล็กๆน้อยๆของตนต่อคนรอบข้าง โดยเฉพาะกับฟิล ซึ่งตกเป็นเป้าหมายหลัก

สามีของเธอรู้สึกได้ ลูกสาวของเธอรู้สึกได้ ลูกชายของเธอก็รู้สึกได้ และดูเหมือนจะมีเพียงเธอเท่านั้นที่ไม่ทันสังเกต ไม่ทันระวัง

จริงอยู่ว่าเพนนีเองมีสิทธิที่จะหงุดหงิด รำคาญนิสัยเกียจคร้าน เอื่อยเฉื่อย ของฟิล และขณะเดียวกัน มันคงไม่ใช่ความผิดร้ายแรงอะไร หากเธอจะเผลอมองเขาด้วยแววตาดูถูก เหยียดหยาม ไปบ้างอย่างอดไม่ได้ หรือกระหน่ำคำพูดทำลายศักดิ์ศรีและความมุ่งมั่นใส่เขาโดยไม่ทันยั้งคิด แต่ข้อเท็จจริงสำคัญประการหนึ่ง ซึ่งเพนนีมองข้ามไป จนเกือบจะทำให้เธอก้าวข้ามเส้นแบ่งจากความรักไปสู่ความเกลียดชัง ก็คือ ฟิลอาจเป็นหัวหน้าครอบครัวที่ไม่เอาไหน แต่อย่างน้อยเขาก็ยังเป็นสามีที่รักภรรยา เป็นคุณพ่อที่รักลูกๆ และความรักนั้นเองไม่ใช่หรอกหรือที่จะช่วยประคับประคองครอบครัวให้ตลอดรอดฝั่งไปได้

นอกจากนั้น ทุกอย่างมันอาจเลวร้ายไปกว่านี้… เลวร้ายไปกว่านี้มากมายนัก และตัวอย่างชัดเจนก็อยู่ถัดไปเพียงไม่กี่ห้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับดอนน่าในปัจจุบันและมอรีนในอดีต กระนั้นพวกเขาก็ยังอยู่รอดมาได้จากความรัก ความห่วงใยที่มีให้กัน มันอาจไม่มากมายอะไร ในโลกที่ทุกคนล้วนต้องปากกัดตีนถีบเพื่อขวนขวายหาความสบาย แต่ก็เพียงพอจะทำให้พวกเขามีความสุขได้ในระดับหนึ่ง

ความแตกต่างจึงอยู่ตรงมุมมองของแต่ละคน ว่าจะเห็นน้ำ ‘เหลือ’ อยู่อีกครึ่งแก้ว หรือ ‘หมด’ ไปแล้วครึ่งแก้ว เหมือนตอนที่ฟิลพยายามพูดปลอบรอน ซึ่งขับรถไปชนเสาจนต้องเอาไปซ่อมในอู่ ว่าโชคดีแค่ไหนแล้วที่มันไม่ได้เลวร้ายไปกว่านั้น เช่น เขาอาจหักเลี้ยวตรงหัวโค้งแล้วพุ่งไปชนเด็กตายก็ได้

ฟิลเริ่มตระหนักในคุณค่าของสิ่งที่เขามีอยู่ เมื่อวันหนึ่งได้มีโอกาสขับแท็กซี่ไปส่งผู้หญิงชาวฝรั่งเศส ท่าทางมีเงิน มีการศึกษา มีรสนิยมเลิศหรู และมีทุกอย่างสมบูรณ์พร้อม แต่เมื่อทั้งสองได้พูดคุยกันไป เขาถึงตระหนักว่าเธอ ‘ไม่มีอะไรเลย’ ในความเป็นครอบครัว เธอหย่าขาดจากสามี ซึ่งแยกตัวไปอยู่อีกประเทศหนึ่ง ส่วนความสัมพันธ์ของเธอกับลูกชายก็เต็มไปด้วยความหมางเมิน เหินห่าง เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ฟิลตระหนักได้ว่าในชั่วชีวิตนี้ ถ้าคุณไม่ได้อยู่ ‘ด้วยกัน’ คุณก็ต้องอยู่ ‘คนเดียว’ ไม่มีเกาะแก่งตรงจุดกึ่งกลางสำหรับปลอบประโลมใจ ทุกคนล้วนถือกำเนิดขึ้นมาเพียงลำพังและสุดท้ายย่อมต้องตายจากไปอย่างโดดเดี่ยว แต่ในช่วงเวลาระหว่างนั้น ชีวิตไม่จำเป็นจะต้องทุกข์ทรมานแสนสาหัส

เขาสารภาพกับเพนนีว่า เขาเสียใจที่ทำให้เธอผิดหวัง เขารู้ดีว่าเขาไม่ใช่สามีหรือคุณพ่อตัวอย่าง แต่เขาก็ไม่อาจนั่งทนการถูกเหยียดหยาม ถูกมองว่าเป็นคนไร้ค่าได้อีกต่อไปเช่นกัน “ถ้าคุณไม่รักผมแล้ว ผมก็คงต้องไป… ถ้าคุณไม่รักผม เราก็ไม่เหลืออะไรอีกแล้ว”

ไมค์ ลีห์ เลือกจบ All or Nothing ด้วยความหวังเต็มเปี่ยม เมื่อวิกฤติที่ไม่คาดฝันกลับกลายเป็นดังขุมทองแปลงรูปสำหรับครอบครัวบาสเซ็ตต์ ช่วยให้พวกเขาค้นพบสัจธรรมที่ว่า ไม่มีอะไรเลวร้ายไปกว่าการอยู่ร่วมกัน โดยปราศจากความรัก ความเคารพ ตลอดจนศรัทธาในกันและกัน… มันอาจไม่ใช่เนื้อหาที่แปลกใหม่จนน่าตื่นตะลึง แต่ก็ยังลึกซึ้งกินใจได้เสมอ หากถูกถ่ายทอดออกมาอย่างประณีต ละเอียดอ่อน

ไม่มีความคิดเห็น: