วันพุธ, พฤศจิกายน 08, 2549

The Others: บ้านผีสิงกับผู้หญิงกอธิค


ทุกครั้งที่บรรดาเฟมินิสต์เอ่ยอ้างถึงการกดขี่เพศหญิงในโลกภาพยนตร์ หนังสยองขวัญมักจะตกเป็นผู้ต้องหาลำดับต้นๆเสมอ เนื่องจากพวกมันไม่เพียงจัดประเภทผู้หญิงให้เป็นความสำราญในการนั่งมองความงามแบบโครงสร้างของ ลอร่า มัลวี่ย์ (1) เท่านั้น หากแต่ยังก้าวไปถึงขั้นใช้พวกเธอเป็นข้ออ้างสำหรับระบายพฤติกรรมเก็บกดทางจิตอันบิดเบี้ยวอีกด้วย นั่นคือ การถ้ำมองและอารมณ์ซาดิสต์ ดังนั้น บ่อยครั้งในหนังสยองขวัญ เราจึงได้เห็นผู้หญิงสวยเซ็กซี่ถูกไล่ล่า ล่วงละเมิด และถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยมโดยฆาตกรที่มักจะเป็นเพศชาย

กล่าวได้ว่าต้นแบบของการ ‘กระทำ’ สิ่งต่างๆเหล่านั้นต่อตัวละครเพศหญิงในหนังสยองขวัญสามารถสืบรากเหง้าไปถึงนิยายแนวกอธิคซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูงระหว่างปี 1760-1820 และส่งอิทธิพลต่อมายังวงการภาพยนตร์ผ่านงานตามสูตร ‘ภรรยาตกอยู่ในอันตราย’ เกี่ยวกับผู้หญิงในภาวะวิตกจริต หมกมุ่นอยู่กับความคิดว่าสามีเธอรักเธอ เกลียดเธอ หรือต้องการทำอันตรายเธอกันแน่ ตัวอย่างของภาพยนตร์ในแนวทางนี้ได้แก่ Rebecca, Gaslight, Notorious และ Rosemary’s Baby เป็นต้น จินตนาการเกี่ยวกับฆาตกรรม การข่มขืน และความตายของตัวเอกหญิง ผลักดันให้สามีเธอรับบทคล้ายคลึงกับฆาตกรโรคจิต พร้อมกันนั้นหนังก็ค่อยๆ บ่มเพาะเมล็ดแห่งความคลุมเครือในใจผู้ชมว่าแท้จริงแล้วเรื่องทั้งหมดเป็นเพียงภาพลวงในหัวของนางเอก หรือสามีเธอตั้งใจจะทำร้ายเธอจริงๆกันแน่

โดยเนื้อแท้แล้ว ภาพยนตร์แนวกอธิคตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งความรู้สึกหวาดระแวง เมื่อผู้คนรอบข้างวางแผนจะทำร้ายคุณ คุณไม่อาจไว้ใจใครได้ แม้กระทั่งสามี ชู้รัก หรือคู่หมั้น ทุกคนต่างซุกซ่อนความลับดำมืดบางอย่างไว้ เจตนารมณ์ของพวกเขาซับซ้อน คลุมเครือ หนังในแนวผู้หญิงกอธิคตั้งอยู่บนพื้นฐานของความไม่มั่นคง ความขัดแย้ง และความไม่แน่ชัด นำเสนอภาวะ ‘วิกฤติบนขอบเหว’ ที่ตัวละครมีโอกาสร่วงหล่นลงสู่เบื้องล่าง หรือฉุดตัวเองขึ้นสู่แสงสว่างได้มากพอๆ กัน การตระหนักถึงความจริงอันเลวร้ายดังกล่าวถือเป็นหัวใจของผลงานแนวกอธิค และที่สำคัญมันคือสัญลักษณ์แทนการตั้งคำถามต่อสภาพสังคมแบบชายเป็นใหญ่ (2)

หลังการถือกำเนิดของหนังสยองขวัญเฟมินิสต์อย่าง The Silence of the Lambs (3) ภาพยนตร์เรื่อง The Others จึงไม่เพียงแต่จะเป็นผลงานพีเรียดและการทำหนังในสไตล์สูงสุดคืนสู่สามัญแห่งยุคเทคโนโลยีครองโลกเท่านั้น หากแต่มันยังนำเสนอบทบาทและแนวคิดเกี่ยวกับผู้หญิงย้อนหลังไปถึงยุคกอธิคอีกด้วย ทั้งนี้เป็นเพราะผู้กำกับ อเลฮานโดร อาเมนาบาร์ ได้แรงบันดาลใจมาจากการอ่านนิยายสยองขวัญหลายเรื่องในยุค 30-40 (4)

The Others มีโครงสร้างหลักเหมือนนิยายกอธิคดั้งเดิม เริ่มตั้งแต่การดำเนินเรื่องราวภายในปราสาทหลังหนึ่งซึ่งเต็มไปด้วยบรรยากาศหลอกหลอน เหตุการณ์ประหลาด น่าสะพรึงกลัวที่ไม่สามารถหาเหตุผลมาอธิบายได้ ไปจนถึงการเอ่ยอ้างตำนานเก่าแก่บางอย่างซึ่งอาจก่อให้เกิดความสงสัยใคร่รู้ (ในกรณีนี้ได้แก่ประเพณีความเชื่อเกี่ยวกับการถ่ายรูปคนตายเก็บไว้) และการเน้นย้ำอารมณ์รุนแรง หลายครั้งตัวละครมักถูกครอบงำด้วยความโกรธขึ้ง เศร้าสร้อย ตกใจ ตื่นตระหนก หวาดระแวง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งความหวาดผวา ส่วนบุคคลที่มักจะตกเป็นเหยื่อของอันตรายรอบข้างก็คือ หญิงสาวผู้เปลี่ยวเหงา เก็บกด อีกทั้งยังถูกกังขังอยู่ในปราสาท เธอได้รับการเชิดชูให้เป็นนางเอกของเรื่อง และความทุกข์ทรมานของเธอก็จะถูกเน้นย้ำตลอดเวลาเพื่อเรียกร้องความเห็นใจจากผู้ชม

รายละเอียดเพียงประการเดียวที่ขาดหายไป คือ ตัวละครผู้ชายซึ่งเปรียบเสมือนสัญลักษณ์การกดขี่ทางเพศ และต้นเหตุแห่งอารมณ์หวาดระแวงของฝ่ายหญิง ใน The Others กว่า ชาร์ลส์ (คริสโตเฟอร์ เอ็คเคลสตัน) สามีของเกรซ (นิโคล คิดแมน) จะปรากฏตัวขึ้นบนจอ หนังก็ดำเนินไปได้ครึ่งค่อนเรื่องแล้ว นอกจากนั้นเขายังไม่แสดงท่าทีคุกคามหรือพยายามจะทำอันตรายใดๆภรรยาอีกด้วย แต่กระนั้นความยิ่งใหญ่แห่งการ ‘ไม่มีตัวตน’ ของเขาก็เป็นสิ่งที่หนังเน้นย้ำให้เห็นเด่นชัด

มิสซิสมิลส์ (ฟิออนนูล่า ฟลานาแกน) ถามถึงคุณผู้ชายในวันแรกที่เธอพบเกรซเนื่องจากมันเป็นเรื่องผิดปกติที่ผู้หญิงจะดำรงตำแหน่งเจ้านายใหญ่ คำอธิบายว่าเขาออกไปรบในสงครามก็ทำให้เธอสิ้นสงสัยลงในที่สุด ส่วนตำราเรียนที่ลูกๆของเกรซอ่านก็แจกแจงชัดเจนว่า ครอบครัวสมบูรณ์แบบนั้นจะต้องประกอบด้วยพ่อ แม่ ลูก ครอบครัวของเกรซขาดคนสำคัญไปคนหนึ่ง และคนๆนั้นก็มักจะถูกเอ่ยอ้างผ่านบทสนทนาอยู่หลายครั้งหลายคราจนคนดูรู้สึกได้ถึง ‘การดำรงอยู่’ ของเขา แม้จะไม่มีโอกาสเห็นตัวจริงจนกระทั่งครึ่งหลังของหนังก็ตาม

กล่าวได้ว่าใน The Others ผู้ชายอาจไม่ปรากฏตัวโดดเด่นเป็นรูปธรรม แต่อำนาจ ‘แห่งความเป็นชาย’ ของเขาปกคลุม แผ่กระจายอยู่ทั่วไป

พร้อมกันนั้นหนังก็แสดงให้เห็นว่าอำนาจแห่งเพศหญิงเป็นเพียงเปลือกนอก ไม่เด็ดขาด หรือถึงที่สุด มิสซิสมิลส์อาจดูเหนือกว่ามิสเตอร์ทัทเทิ่ล (อีริค ไซเคส) แต่สุดท้ายแล้วเธอก็ยังต้องขึ้นตรงต่อ (อดีต) เจ้านาย (ผู้ชาย) ประจำบ้านอยู่ดี ความซื่อสัตย์ ผูกพัน และภักดีต่อเขาทำให้เธอหวนกลับมาสิงสถิตยังบ้านหลังนี้อีกครั้ง ทางด้านเกรซนั้น แม้ภายนอกอาจดูแข็งกร้าวและเป็นผู้นำ แต่ลึกๆ แล้วเธอมักจะสวดภาวนาขอให้ ‘หัวหน้าครอบครัว’ กลับมาบ้านเสียที

หนังบีบบังคับให้เกรซจำต้องตกเป็นฝ่ายถูกกระทำโดยตลอดเช่นเดียวกับตัวเอกในนิยายกอธิค เธอหวาดผวา ระแวง สงสัย และถูกคุกคามด้วยพลังบางอย่างที่มองไม่เห็น เรื่องราวเหมือนจะถูกเล่าผ่านมุมมองของเธอ แต่หนังกลับไม่ได้ใช้มุมกล้องแทนสายตาบ่อยครั้งนัก ตรงกันข้ามมันจงใจที่จะจัดวางเกรซเอาไว้บนหิ้งให้คนดูได้เพลิดเพลินกับความงามของเธอ แถมดาราผู้มารับบทเกรซก็ไม่ใช่ใครอื่น หากแต่เป็น นิโคล คิดแมน สาวสวย เซ็กซี่ ที่ลงทุนย้อมผมเป็นสีบลอนด์ตามแบบฉบับนางเอกยุคคลาสสิก ซึ่งช่วยสะท้อนความเปราะบางแห่งเพศหญิงให้ชัดเจนยิ่งขึ้น และสื่อนัยยะของการเป็นวัตถุทางเพศอีกด้วย

บทหนังสร้างข้อจำกัดให้เกรซถูก ‘กักขัง’ อยู่ภายในบ้านทั้งโดยพล็อตเรื่อง (เพื่อดูแลลูกๆซึ่งเป็นโรคแพ้แสงแดดขั้นรุนแรง) และการจัดวางองค์ประกอบภาพผ่านซี่ลูกกรงประตูและกรอบหน้าต่าง บ้านจึงเปรียบดังพันธนาการของเพศหญิงในสังคมแบบชายเป็นใหญ่ โดยทุกครั้งเมื่อผู้หญิงพยายามวิ่งหนีออกมา เธอก็มักจะพบกับทางตัน เช่น ม่านหมอกหนาทึบในกรณีของเกรซ หรือไม่ก็ความสยดสยอง น่าสะพรึงกลัวอย่าง หลุมศพ ผี และความตาย ในกรณีของแอนน์ (อลาคิน่า มานน์) จนสุดท้ายต้องวิ่งกลับเข้าไปหลบภัยอยู่ในบ้านตามเดิม

พัฒนาการอันแตกต่างของ The Others จากหนังกอธิคดั้งเดิมอยู่ตรงที่มันไม่ได้แค่นำเสนอเป็นนัยๆ ถึงวิกฤติเพศหญิงในฐานะสัญลักษณ์แทนการตั้งคำถามต่อสภาพสังคมแบบชายเป็นใหญ่เท่านั้น หากแต่ยังก้าวเข้าไปสะท้อนความคลางแคลงใจดังกล่าวให้ปรากฏชัดเป็นรูปธรรมอีกด้วย ผ่านรายละเอียดเกี่ยวกับการล่มสลายแห่งศรัทธาของเกรซต่อไบเบิลและพระเจ้า (ผู้ชาย?) โดยตลอดทั้งเรื่องเธอเชื่อมั่นอย่างมืดบอดว่า ‘เขา’ จะช่วยนำสามีของเธอกลับมา เธอเชื่อว่า ‘เขา’ ได้ให้โอกาสแก้ตัวกับเธออีกครั้ง หลังความผิดพลาดครั้งใหญ่ และในระหว่างนั้นเธอก็ได้แต่เฝ้าเสี้ยมสอนลูกๆ อยู่ทุกวันว่า หากประพฤติตัวไม่ดี เมื่อตายไปพวกเขาจะต้องตกนรกหมกไหม้เหมือนที่ระบุเอาไว้ในพระคัมภีร์

จนกระทั่งหลังจากความเชื่อทั้งหลายถูกพิสูจน์ว่าเป็นเพียงภาพลวงตา ผ้าม่านในบ้านจึงถูกปลดออก เด็กๆ สามารถเปิดตัวต่อแสงอาทิตย์ได้ ส่วนเกรซเองก็เริ่มตาสว่างและตระหนักในความจริงว่าเธอได้ทำเรื่องเลวร้ายอะไรลงไป การเดินทางสู่แสงสว่างของเกรซอาจไม่พัฒนาถึงขั้นปฏิเสธสังคมแบบชายเป็นใหญ่หรือพระเจ้าโดยสิ้นเชิง เพราะสุดท้ายเธอยังยืนยันที่จะอยู่ในกรง/บ้านต่อไป แต่อย่างน้อยเธอก็ได้เข้าใจถึงสภาพและ ‘ตัวตน’ ที่แท้จริงของเธอ

ในทำนองเดียวกัน หนังสยองขวัญอย่าง The Others อาจไม่ได้ปฏิวัติสถานะ ‘ผู้ถูกกระทำ’ ของเพศหญิงเหมือนหนังอย่าง The Silence of the Lambs แต่มันก็กล้าที่จะระบุแนวคิดเชิงเฟมินิสต์อันโดดเด่นว่า การเกิดเป็นผู้หญิง เช่นเดียวกับชีวิตหลังความตาย ไม่ได้หมายถึงอิสรภาพเสมอไป

หมายเหตุ

1. ในบทความชิ้นสำคัญของการศึกษาภาพยนตร์ชื่อ Visual Pleasure and Narrative Cinema ลอร่า มัลวี่ย์ กล่าวถึงกระบวนการเล่าเรื่องตามประเพณีดั้งเดิมของฮอลลิวู้ด โดยเฉพาะในยุคหนังเงียบตลอดจนถึงยุคสตูดิโอรุ่งเรืองว่า มักจะนำเสนอผู้หญิงในฐานะวัตถุทางเพศ จัดวางพวกเธอไว้บนหิ้งให้ทุกคนจ้องมอง ทั้งโดยตัวละครฝ่ายชายและผู้ชมในโรงภาพยนตร์ พวกเธอถูกจำกัดให้ต้องรับบทผู้ถูกกระทำ ส่วนผู้ชายนั้นก็กลายเป็นคนเดินเรื่องและตัวละครที่ผู้ชมนึกจำลองตนเข้าไปเป็นหนึ่งเดียวด้วย บทวิเคราะห์ดังกล่าวถูกนำเสนอพร้อมกับยกเอา To Have and Have Not, The River of No Return, Vertigo, Rear Window และภาพยนตร์ส่วนใหญ่ของ มาร์ลีน ดีทริช มาเป็นตัวอย่างประกอบ

2. อ้างอิงจากบทความ Lady, Beware: Paths Through the Female Gothic โดย เอเดรี่ยน มาร์ติน ใน www.sensesofcinema.com

3. ลินดา แบดลี่ย์ กล่าวถึง The Silence of the Lambs ในหนังสือชื่อ Film, Horror, and the Body Fantastic ว่ามันคือมุมกลับตาลปัตรของภาพยนตร์ในสูตร ‘ผู้หญิงตกอยู่ในอันตราย’ เมื่อ คลาริซ นางเอกของเรื่อง กลายเป็นฝ่ายตามล่าฆาตกรโรคจิตแทนที่จะถูกตามล่าเหมือนในหนังสยองขวัญทั่วไป เหตุการณ์ส่วนใหญ่ถูกนำเสนอผ่านมุมมองของเธอ โดยอาศัยมุมกล้องแทนสายตาจำนวนมาก เธอกำลังพยายามแสวงหาความมั่นคงและเรียกร้อง ‘อำนาจแห่งเพศพ่อ’ (สัญลักษณ์คือตราเอฟบีไอ) เหมือนบิดานายอำเภอผู้จากไป เธอสูญเสียแม่ไปตั้งแต่ยังเล็ก พ่อจึงกลายเป็น “ทุกสิ่งทุกอย่าง” ของเธอ ขณะเดียวกันตัวฆาตกรโรคจิตอย่าง บัฟฟาโล่ บิล กลับชอบถลกหนังผู้หญิงมา ‘สวมใส่’ เป็นร่างคลุม หนังนำเสนอมุมกลับของภาพยนตร์สยองขวัญด้วยการใช้ผู้หญิงเป็นตัวผลักดันเรื่องให้เดินไปข้างหน้า เน้นย้ำ ‘การจ้องมองของเพศหญิง’ แทนการปล่อยให้เธอกลายเป็นเหยื่อไร้ทางสู้ของฆาตกรโรคจิตและอารมณ์ซาดิสต์ของผู้ชม

4. ข้อมูลจากบทสัมภาษณ์ FROM THE 'EYES' TO 'THE OTHERS' โดย ร็อบ แบล็คเวลเดอร์

ไม่มีความคิดเห็น: