วันอาทิตย์, ธันวาคม 19, 2564

Blue Is the Warmest Color: รักสลายที่ปลายทาง

ถ้าจะมีสิ่งใดที่สามารถนำมาเปรียบเทียบกับภาพรวมของ Blue Is the Warmest Color ได้ชัดเจนที่สุด สิ่งนั้นน่าจะได้แก่ La Vie de Marianne นิยายคลาสสิกของ ปิแอร์ เดอ มารีโวซ์ ซึ่ง อเดล (อเดล เอ็กซาร์โคพูลอสชื่นชอบ และต่อมาได้กลายเป็นหัวข้อสนทนาสำคัญระหว่างนัดเดทครั้งแรกของเธอกับชายหนุ่มรุ่นพี่ โธมัส (เจเรมี ลาเอิร์ทซึ่งสารภาพว่าเขาท้อใจกับความหนาของนิยาย รวมทั้งบทบรรยายความรู้สึกอันยาวเหยียด และการดำเนินเรื่องที่เนิบช้า คำอธิบายดังกล่าวแทบจะนำมาใช้เอ่ยอ้างถึงหนังเกี่ยวกับช่วงเปลี่ยนผ่านของเด็กสาววัย 15 ปีเรื่องนี้ได้เช่นกัน ทั้งจากความยาวเกือบ 3 ชั่วโมง การเจาะลึกทางอารมณ์ ตลอดจนเนื้อเรื่องที่ขับเคลื่อนเดินหน้าแบบค่อยเป็นค่อยไป

ชื่อภาษาฝรั่งเศสของ Blue Is the Warmest Color คือ La Vie d’Adele – Chapitres 1 & 2 หรือ The Life of Adele – Chapter 1 & 2 ซึ่งดูจะได้รับอิทธิพลจากชื่อนิยายของมารีโวซ์มาโดยตรง และน่าจะให้ความหมายที่ตรงกับเนื้อเรื่องมากกว่า เพราะหนังจะมีลักษณะเหมือนการแบ่งครึ่งชีวิตของอเดลออกเป็นสองช่วง คือ ช่วงที่เธอค้นพบตัวเอง ดื่มด่ำกับรักแรก และช่วงเวลาแห่งชีวิตคู่หลังจากย้ายมาอยู่กับเอ็มมา (ลีอา เซดูซ์) ก่อนความรักจะเริ่มจืดจาง ล่มสลาย จนต่างก็ต้องแยกย้ายกันไป ชื่อดังกล่าวสื่อนัยยะกลายๆ ว่าสุดท้ายแล้วชีวิตของอเดลย่อมมีบทต่อๆ ไปอีก แต่ถูกปล่อยให้ค้างคาเอาไว้เช่นเดียวกับนิยายที่แต่งไม่จบของมารีโวซ์

ในฉากนัดเดทข้างต้น อเดลสารภาพว่าสาเหตุที่เธอชื่นชอบ La Vie de Marianne เพราะคนเขียนพยายามล้วงลึกถึงแก่นของตัวละครและนั่นดูเหมือนจะเป็นเป้าหมายหลักของผู้กำกับ แอ็บเดลลาทีฟ เคชิช เช่นกัน เขาตามติดนักแสดงนำของเขาในระยะประชิดเกือบตลอดทั้งเรื่องผ่านกล้องแบบแฮนด์เฮลด์และช็อตโคลสอัพชนิดที่สามารถสังเกตเห็นทุกริ้วรอยสิวฝ้ากระบนใบหน้านักแสดงได้อย่างชัดเจน บางครั้งกล้องถึงขนาดตามไปสำรวจอเดลแม้กระทั่งในยามที่เธอนอนหลับ โดยอวัยวะที่ได้รับความสนใจเป็นพิเศษ คือ ริมฝีปากได้รูปของอเดล ซึ่งมักเผยอขึ้นเล็กน้อยจนเห็นฟันหน้าสองซี่ (เคชิชเคยให้สัมภาษณ์ว่าเขาตัดสินใจเลือกเอ็กซาร์โคพูลอสทันทีที่เห็นเธอกินทาร์ตมะนาวนอกจากนี้ในหลายโอกาสเรายังได้เห็นริมฝีปากดังกล่าวสวาปามสปาร์เก็ตตี้อย่างเอร็ดอร่อย ราวกับเพื่อจะเน้นย้ำวัยเยาว์ของตัวละคร พร้อมกับสะท้อนให้เห็นว่าเธอเป็นเด็กสาวที่กระตือรือร้นการค้นหา เปี่ยมอารมณ์อ่อนไหว และหิวกระหายการใช้ชีวิต เวลาเธอร้องไห้ น้ำมูกน้ำตาเธอจะหลั่งไหลเป็นสายน้ำ เธอบอกเอ็มมาว่าเธอชอบกินแทบทุกสิ่งทุกอย่าง และในฉากหนึ่งคนดูจะเห็นอเดลหยิบขนมออกมาจากกล่องใต้เตียง แล้วฉีกกินเพื่อกลบเกลื่อนความเศร้า

คุณสมบัติดังกล่าวทำให้อเดลค่อนข้างแตกต่างจากเอ็มมา ซึ่งอายุมากกว่า ผ่านชีวิตมามากกว่า ค้นพบตัวตนก่อน และดูเงียบขรึม แต่เปี่ยมไปด้วยความมั่นใจ ความรักของทั้งสองเริ่มต้นในสถานะครูกับศิษย์ (ไม่แตกต่างจากความสัมพันธ์ในหนังเรื่อง Annie Hall) เอ็มมาไม่เพียงเป็นผู้นำบนเตียง สอนให้อเดลรู้จักเซ็กซ์ของเลสเบี้ยนเท่านั้น (หนังอาจหนักมือไปบ้างกับการเปรียบเทียบผ่านฉากเอ็มมาสอนอเดลกินหอยนางรมแต่ยังดำรงตำแหน่งผู้นำในทางความคิดและชีวิตคู่อีกด้วย ดังจะเห็นได้จากบทบาทแบบชาย-หญิงที่ค่อนข้างเด่นชัด คนหนึ่ง (ผมสั้น มีความเป็นหญิงน้อยกว่ามีลักษณะเป็นช้างเท้าหน้า ออกไปทำงาน กลับบ้านมืดๆ ค่ำๆ ส่วนอีกคน (ผมยาว มีความอ่อนโยน อ่อนหวานกว่าสวมบทบาทของช้างเท้าหลังด้วยการรับหน้าที่เป็นแม่บ้านคอยทำอาหารและดูแลบ้านช่อง นอกจากนี้ หนังยังแสดงออกอย่างชัดเจนว่าเอ็มมามีการศึกษาที่สูงกว่าอเดล เธอเป็นคนสอนอเดลให้รู้จักกับนักปราชญ์/นักเขียนอย่าง ฌ็อง-ปอลซาทร์ ซึ่งถูกอเดลนำไปเปรียบเทียบง่ายๆ กับ บ็อบ มาร์เลย์ หรือจิตรกรอย่าง อีกอน ชีเลอ จุดนี้ถือเป็นการพลิกผันที่น่าสนใจ เพราะหนังสื่อเป็นนัยว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อเดล “ไม่ค่อยอิน” กับโธมัส เป็นเพราะเขาขาดบุคลิกแบบปัญญาชน โดยขณะที่เธอชื่นชอบการอ่านวรรณกรรมคลาสสิกเล่มหนาๆ เขากลับยอมรับว่าไม่เคยอ่านหนังสือเล่มใดจบ และเล่มเดียวที่เขาเคยอ่านจบและชื่นชอบก็เป็นเพราะมีครูในชั้นเรียนคอยช่วยวิเคราะห์ตีความ

ช่องว่างเดียวกันนั้นต่อมาได้ส่งผลกระทบความสัมพันธ์ระหว่างเอ็มมากับอเดลไม่แพ้กัน โดยลางบอกเหตุเริ่มต้นตั้งแต่ฉากงานเลี้ยงช่วงกลางเรื่อง เมื่ออเดล แม่ครัวผู้จัดเตรียมงานและปรุงอาหาร ถูกทำให้รู้สึกเหมือนเป็นคนนอกมากกว่าเจ้าภาพจากบรรดาแขกเหรื่อที่ล้วนแล้วแต่เป็นปัญญาชน ศิลปิน เจ้าของแกลเลอรี พูดคุยกันในหัวข้อวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก การเปรียบเทียบผลงานของชีเลอกับ กุสตาฟ คลิมท์ และจุดสุดยอดของเพศหญิงผ่านงานศิลปะของศิลปินชาย คนเดียวที่อเดลดูจะสามารถพูดคุยกันได้ถูกคอ คือ ซาเมีย (ซาลิม เคชิอุชโดยหนึ่งในหัวข้อสนทนาของพวกเขาได้แก่ ผลงานศิลปะระดับล่างอย่างภาพยนตร์ เพราะซาเมียเคยรับเล่นเป็นตัวประกอบในหนังแอ็กชั่นของฮอลลีวู้ดหลายเรื่อง (ก่อนหน้านี้อเดลเคยบอกเอ็มมาตอนทั้งสองพบกันในผับเลสเบี้ยนว่าเธอชอบดูหนังอเมริกันเป็นชีวิตจิตใจนอกจากนี้ เอ็มมายังแสดงท่าทีผิดหวังกับความพอใจของอเดลที่จะหยุดอยู่แค่อาชีพครูอนุบาล แทนการสานต่อพรสวรรค์ด้านงานเขียน แม้เธอจะพยายามผลักดันมากแค่ไหนก็ตาม

ประเด็นความแตกต่างทางชนชั้นถูกนำเสนอแบบไม่เน้นย้ำ แต่ค่อนข้างเด่นชัดในฉากที่อเดลไปทานอาหารกับพ่อแม่เอ็มมา ซึ่งต้อนรับเธอด้วยหอยนางรมกับกุ้งและผลงานศิลปะที่แขวนประดับตามผนังบ้าน พวกเขา (รวมถึงเอ็มมาแสดงท่าทีเป็นห่วงต่อความคิดของอเดลที่ไม่อยากเรียนต่อเพราะต้องการมีงานที่มั่นคง (เป็นครูในทางตรงข้าม อาหารที่พ่อแม่อเดลเตรียมไว้ต้อนรับเอ็มมา คือ สปาร์เก็ตตี้ชามใหญ่ ก่อนจะเริ่มวิพากษ์ทางเลือกที่จะเป็นศิลปินของเธอว่าอยู่ยาก (“ศิลปินที่ขายผลงานได้ก็ตายกันไปหมดแล้ว”) พร้อมแสดงความเห็นชอบให้เอ็มมาหาผู้ชายสักคนมาเป็นเสาหลักไว้คอยหาเลี้ยงจุนเจือครอบครัว เพื่อให้เธอสามารถทำงานศิลปะได้อย่างที่ฝัน พวกเขามีบุคลิกแบบชนชั้นกลางระดับล่าง จึงมองการเขียนภาพว่าเหมาะจะเป็นงานอดิเรกมากกว่าใช้ทำมาหากิน อเดลเองก็ได้รับอิทธิพลจากที่บ้านของเธอมาไม่น้อยในแง่ทัศนคติการใช้ชีวิตแบบสิ้นไร้ความทะเยอทะยาน ซึ่งอาจสรุปสั้นๆ ได้เช่นเดียวกับคำชม (กึ่งแดกดันของเอ็มมาต่อพาสต้าของพ่ออเดลที่ว่า “เรียบง่าย... แต่รสชาติเข้มข้น

เอ็มมาพยายามกดดันอเดลให้สลัดหลุดจากความ “เรียบง่าย” ราวกับว่าเธออับอายที่จะคบหาผู้หญิงติดดินซึ่งพอใจกับสถานะครูอนุบาล ความไร้เดียงสาที่ทรงเสน่ห์ในช่วงแรกเริ่มผันแปรเป็นความจืดชืด ไม่ท้าทาย (คนรักใหม่ของเอ็มมาเป็นจิตรกรเหมือนเธอส่วนอเดลเองก็เหมือนจะตัดขาดจากทุกคนรอบข้างเพื่อมาอยู่กับเอ็มมา หนังไม่ได้พูดถึงครอบครัวเธอ หรือเพื่อนๆ เธออีกเลยในช่วงครึ่งหลัง (ไม่ใช่เรื่องแปลกหากพ่อแม่อนุรักษ์นิยมของเธอจะไม่เห็นชอบความสัมพันธ์นี้)และเธอเองก็มักจะรักษาระยะห่างกับบรรดาเพื่อนร่วมงานในโรงเรียนอนุบาล ราวกับว่าเธออับอายและหวาดกลัวว่าพวกเขาจะล่วงรู้เรื่องที่เธออยู่กินกับผู้หญิง หนังไม่ได้ระบุชัดเจนว่าสุดท้ายแล้วอเดลได้เปิดเผยตัวเองกับครอบครัว หรือคนรอบข้างเกี่ยวกับรสนิยมทางเพศของเธอหรือไม่ แต่สิ่งหนึ่งที่สังเกตเห็นได้ชัดเจน คือ อเดลถูกห้อมล้อมด้วยชายจริงหญิงแท้ (ตรงข้ามกับเอ็มมา ที่เพื่อนส่วนใหญ่ถ้าไม่ใช่เลสเบี้ยน ก็เป็นคนที่รู้จักเธอในฐานะเลสเบี้ยนส่งผลให้เธอต้องใช้ชีวิตในลักษณะหลบๆ ซ่อนๆ เหมือนถูกกดทับ บีบรัดจากสังคมรักต่างเพศ แบบเดียวกับตัวละครเอกในนิยายของมารีโวซ์ ซึ่งเป็นผู้หญิงในศตวรรษที่ 18 ที่ไม่มีทางเลือกในสังคมชายเป็นใหญ่มากนัก (เอ็มมายังต้องโกหกว่ามีแฟนเป็นผู้ชายเพื่อให้พ่อแม่อเดลยอมรับและความสยองอันบังเกิดกับคนที่เลือกจะ “แตกต่าง” ก็สะท้อนชัดในฉากที่เหล่าเพื่อนสาวจอมสาระแนของอเดลคาดคั้นว่าเธอชอบตีฉิ่งหรือไม่

ความรักของเธอต่อเอ็มมาดูจะเป็นสิ่งเดียวที่อเดลทุ่มเทและทะเยอทะยาน ก่อนจะได้เรียนรู้ในเวลาต่อมาว่าลำพังแค่ความรักไม่อาจประคับประคองความสัมพันธ์ให้ตลอดรอดฝั่งได้ เพราะสุดท้ายแล้วเราไม่ได้อยู่กันแค่สองคน แต่ยังมีปัจจัยอื่น บุคคลอื่นเข้ามามีบทบาท ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม การที่โลกของอเดลโคจรอยู่รอบตัวเอ็มมา ซึ่งเป็นสายใยเดียวที่เชื่อมโยงเธอกับความเป็นเลสเบี้ยน ย่อมทำให้เธอเปราะบางและอยู่ในภาวะพึ่งพิงอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง ดังนั้นเมื่อเอ็มมาเริ่มล่องลอยออกห่างแม้เพียงเล็กน้อย เธอจึงรู้สึกเคว้งคว้างและพยายามไขว่คว้าหาหลักยึดที่ใกล้ที่สุด ซึ่งนั่นนำไปสู่หายนะแห่งความผิดพลาดที่ทำลายความสัมพันธ์จนไม่อาจประสานคืนดังเดิม ฉาก “บ้านแตก” ในช่วงท้ายเรื่องสะเทือนอารมณ์เป็นเท่าทวี เพราะเราตระหนักดีว่าอเดลหมายความตามนั้นจริงๆ เมื่อเธอพูดว่า “ฉันจะอยู่ได้ยังไงถ้าไม่มีเธอ... สำหรับอเดลมันไม่ใช่เพียงความรักเท่านั้นที่กำลังล่มสลาย แต่เป็นโลกทั้งใบ และการแสดงอันน่าตื่นตะลึงของเอ็กซาร์โคพูลอสสะท้อนข้อเท็จจริงดังกล่าวได้อย่างชัดเจน

ความงดงามอย่างหนึ่งของ Blue Is the Warmest Color คือ หนังพาคนดูไปสัมผัสช่วงชีวิตหนึ่งของตัวละครในลักษณะใกล้ชิด ทำให้เราเข้าถึงอารมณ์ ความรู้สึกของเธอ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ออกตัวว่าล่วงรู้ทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับตัวละครนั้น หรือสถานการณ์ชีวิตของเธอ เคชิชคงเห็นตรงกันกับอเดลที่บอกกับโธมัสในฉากนัดเดทกันครั้งแรกว่าเธอไม่ชอบเวลาครูอธิบายทุกสิ่งทุกอย่างในนิยาย เพราะมันปิดกั้นจินตนาการของเธอ เขาเลือกจะให้คนดูเติมเต็มรายละเอียดของหนังส่วนที่ขาดหายไปกันเอง ซึ่งบางครั้งก็กินเวลาหลายปี แต่ถูกตัดต่อเข้าด้วยกันโดยไม่ปรากฏตัวอักษรบนจอว่าเวลาผ่านไปนานแค่ไหนแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเปลี่ยนผ่านจากบทที่หนึ่งสู่บทที่สอง จากอเดลที่เป็นนักเรียนมัธยม สู่อเดลในบทบาทครูอนุบาล จากอเดลเด็กสาวที่เพิ่งเรียนรู้ความรักและประสบการณ์ทางเพศ สู่อเดลในฐานะแม่บ้าน ที่วันหนึ่งฝันอยากจะมีลูกเป็นของตัวเอง และจากอเดลที่อิ่มเอมในความรัก สู่อเดลในสภาพซากศพไร้วิญญาณ ล่องลอยไปตามสถานที่ซึ่งเคยมอบความสุขสูงสุดให้เธอในอดีต

หนังไม่เพียงแสดงให้เห็นข้อจำกัดของความรัก (ซึ่งไม่อาจเอาชนะทุกสิ่ง) เท่านั้น แต่ยังแสดงให้เห็นข้อจำกัดของศิลปะในการถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกอันซับซ้อนของมนุษย์อีกด้วย แนวคิดดังกล่าวสะท้อนผ่านบทพูดของตัวละครอย่างโจคิม (สเตฟาน แมร์กัวรอลเกี่ยวกับความลึกลับของภาวะจุดสุดยอดในเพศหญิง ที่เพศชายไม่อาจเข้าถึงได้ แต่นั่นก็ไม่ได้หยุดยั้งศิลปินชายในความพยายามที่จะถ่ายทอดมันออกมาผ่านงานศิลปะ เคชิช คือ หนึ่งในนั้น และฉากเซ็กซ์อันลือลั่นของเขาก็ถูกตั้งคำถาม ตลอดจนถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากมายจากเหล่าเฟมินิสต์

มองด้วยสายตาที่เป็นธรรมต้องยอมรับว่าข้อกล่าวหาของเฟมินิสต์เหล่านั้นมีน้ำหนักพอควร แต่ขณะเดียวกันเคชิชก็ไม่ได้กล่าวอ้างว่าเขา “เข้าใจความลึกลับดังกล่าวแบบถ่องแท้ เพราะ เช่นเดียวกับโจคิม สุดท้ายแล้วเขาก็ยังคงเป็นผู้ชาย และสิ่งเดียวที่เขาทำได้ คือ พยายามถ่ายทอดมันออกมาท่ามกลางข้อจำกัดของสื่อภาพยนตร์ แน่นอน ฉากเซ็กซ์ดังกล่าวอาจมีกลิ่นอายของหนังโป๊อยู่บ้าง ทั้งจากความยาวนาน ท่วงท่าอันพิสดารดุจกายกรรม การจัดแสง และการถอยกล้องออกมาอยู่ในระยะปานกลาง (ตลอดทั้งเรื่องหนังรักษาความใกล้ชิดระหว่างคนดูกับตัวละครด้วยภาพโคลสอัพและถ่ายทอดอารมณ์ที่เป็นธรรมชาติสมจริงรวมถึงกลิ่นอายของแฟนตาซีเพศชาย แต่อย่างน้อยมันก็เป็นความพยายามของเคชิชที่จะแหกกฎจากธรรมเนียมปฏิบัติในการถ่ายทำฉากเลิฟซีน เพื่อตอกย้ำให้เห็นว่าสิ่งที่อเดลค้นพบนั้นได้เปิดโลกใบใหม่ให้เธอ (ขัดแย้งกับฉากเลิฟซีนระหว่างเธอกับโธมัส ซึ่งดูเคอะเขิน ประดักประเดิด และเป็นธรรมชาติกว่า)

น่าสนใจตรงที่ในฉากดังกล่าว โจคิมเป็นคนควบคุมบทสนทนา ขณะที่เหล่าแขกเหรื่ออื่นๆ ซึ่งเป็นศิลปินหญิงต่างนั่งนิ่งฟังโดยแทบจะปราศจากความเห็นใดๆ เช่นเดียวกับคนที่สัมผัสและเข้าใจประสบการณ์นั้นโดยตรงอย่างอเดล และเมื่อซาเมียถามเธอว่าการหลับนอนกับผู้หญิงนั้นแตกต่างกับผู้ชายอย่างไร คำตอบของอเดล คือ “ฉันก็อธิบายไม่ถูกเหมือนกัน... บางทีแก่นสำคัญของชีวิตอาจไม่ใช่การทำความเข้าใจทุกสิ่ง แต่แค่ตระหนักในธรรมชาติของมันก็พอ

ไม่มีความคิดเห็น: