วันอาทิตย์, ธันวาคม 19, 2564

Kill Bill: Vol. 1: ความพยาบาทคือของหวาน

หลังจากหนังเรื่อง Jackie Brown ได้เสียงตอบรับค่อนข้างเย็นชาทั้งจากผู้ชมและนักวิจารณ์ แม้ว่าเมื่อมองกลับไปในตอนนี้มันจะเป็นผลงานซึ่งแสดงให้เห็นการเติบโตของ เควนติน ทารันติโน ในฐานะศิลปินสูงสุด พิจารณาจากประเด็นเนื้อหา หรือการลดทอนสไตล์กับความรุนแรงลงเพื่อให้คนดูสัมผัสได้ถึงมิติทางอารมณ์ของตัวละครมากขึ้น เจ้าของรางวัลปาล์มทองคำจาก Pulp Fiction ตัดสินใจจำศีลอยู่ในบ้านหลังใหม่ที่ ฮอลลีวู้ด ฮิลส์ เป็นเวลาหลายปี โดยโผล่มาเซอร์ไพรส์ผู้คนแค่ตอนรับเล่นละครเวทีเรื่อง Wait Until Dark (รับบทเดียวกับ อลัน อาร์กิน ในเวอร์ชั่นหนังที่นำแสดงโดย ออเดรย์ เฮปเบิร์น) ประกบ มาริสา โทเม หลัง เจนนิเฟอร์ เจสัน ลีห์ ถอนตัวไป แต่สุดท้ายเขากลับโดนนักวิจารณ์รุมขย้ำอย่างไม่ปรานีปราศรัย กล่าวหาว่าเขาเป็นตัวการทำลายละครทั้งเรื่อง ซ้ำร้ายพอละครเปิดแสดงได้ไม่นานก็มีข่าวว่าทารันติโนออกหมัดชกตากล้องในร้านอาหาร แต่พลาดไปโดนแฟนสาวของปาปารัซซีแทน

ในบทสัมภาษณ์ครั้งหนึ่งทารันติโนบอกว่าเขาถูกพวกนักข่าวรุมกลั่นแกล้ง คนพวกนี้จะชอบใช้คำคุณสรรพต่างๆ ล้อเลียนและทำร้ายความรู้สึกเขา สิ่งหนึ่งที่ไม่อาจปฏิเสธ คือ ทารันติโนตระหนักดีว่าเขาได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับวงการภาพยนตร์โดยเฉพาะอย่างยิ่งฮอลลีวู้ด เขาผันสถานะผู้กำกับให้กลายเป็น ซูเปอร์สตาร์และเขาก็ไม่เขินอาย หรือถ่อมตนที่จะพูดคุยถึงหนังของตัวเองแบบเดียวกับคอหนังทั้งหลาย ซึ่งบางครั้งอาจทำให้เขาดูเย่อหยิ่ง จองหองไปบ้าง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่นักวิจารณ์บางคนจะมองเขาด้วยสายตาเจืออคติ นอกเหนือไปจากข้อเท็จจริงที่ว่าผลงานของเขามักถูกหยิบยกมาเป็นกรณีศึกษาในประเด็น รูปแบบข่มเนื้อหาอยู่เนืองๆ

ในสายตาของคนนอกอาจดูเหมือนทารันติโนกำลังจำศีล เขาไม่มีผลงานกำกับเลยระหว่างปี 1998-2002 แต่ความจริงแล้วเขากำลังพัฒนาบทหนังสามเรื่องไปพร้อมกัน หนึ่ง คือ Inglorious Basterds สอง คือ หนังแหกคุกในแดนตะวันตก ดัดแปลงจากงานเขียนของ เอลมอร์ เลนเนิร์ด และสาม คือ Kill Bill โครงการที่ทารันติโนสุมหัวคิดกับ อูมาร์ เธอร์แมน มาตั้งแต่สมัยร่วมงานกันใน Pulp Fiction โดยเขาประทับใจในส่วนผสมระหว่างความเศร้ากับความแกร่งในตัวของดาราสาวจนอยากถ่ายทอดออกมาเป็นเรื่องราว แต่พอเริ่มเขียนไปได้แค่ไม่กี่หน้า ทารันติโนก็เบนความสนใจไปทำ Jackie Brown แทน จนกระทั่งเขาได้เจอเธอร์แมนอีกในหลายปีต่อมา แรงบันดาลใจจึงถูกจุดขึ้นอีกครั้ง เขาอ่านบทบางส่วนที่เขียนไว้ให้เธอฟังทางโทรศัพท์ ส่วนเธอก็เสนอให้ตัวละครเอกเป็นเจ้าสาวที่กำลังตั้งครรภ์ (เครดิตท้ายเรื่องระบุว่าหนังดัดแปลงจากตัวละครที่สร้างขึ้นโดย Q & U ซึ่งหมายถึงเควนตินกับอูมา)

เปรียบเทียบดูแล้วจะพบว่าทิศทางของ Kill Bill แตกต่างจากทิศทางของ Jackie Brown ค่อนข้างมาก เหตุใดทารันติโนถึงได้หันมาเลือกเส้นทางนี้ เขาน้อยอกน้อยใจที่โดนนักวิจารณ์ต่อว่าจนผันความโกรธมาเป็นหนังเกี่ยวกับการล้างแค้นหรือเปล่า บ้างก็สันนิษฐานว่าอาจเป็นเพราะเขาไม่ค่อยสนุกระหว่างถ่ายทำ Jackie Brown (นักแสดงบางคนขึ้นชื่อเรื่องความ เยอะ”) ขณะตัวหนังเองก็อาจสะท้อนวิกฤติภายในของทารันติโนแบบพุ่งตรงเข้าแทงใจดำมากเกินไป ทั้งเรื่องวัยที่เพิ่มขึ้น (เขาอายุ 40 ในปี 2003) โอกาสที่หลุดลอย และความผิดพลาดในชีวิต จนทำให้เขาต้องถอยร่นเข้าหาภาพยนตร์ (เขาใช้เวลาส่วนใหญ่ช่วงจำศีลนั่งดูหนังและจัดฉายหนังเก่า) ซึ่งโลกแห่งแฟนตาซีของมันเปรียบเสมือนยาต้านความขมขื่นแห่งชีวิตชั้นยอด ในเวลาเดียวกันเขาอาจรู้สึกว่าในเมื่อความพยายามจะเป็นผู้ใหญ่ต้องพบกับความล้มเหลว น่าผิดหวัง งั้นก็เชิญทุกคนเสพความบันเทิงในแบบที่คุณ (และฉัน) ชอบกันให้เต็ม ซึ่งหนังก็ประสบความสำเร็จบนตาราง บ็อกซ์ ออฟฟิศ ไปตามคาดจากการทำเงินกว่า 180 ล้านเหรียญทั่วโลก (เฉพาะภาคแรก)

เนื้อเรื่องของ Kill Bill Vol. 1 ค่อนข้างเรียบง่ายและเป็นเส้นตรง เล่าถึงภารกิจของ เดอะ ไบรด์ (เธอร์แมนเจ้าสาวท้องแก่และอดีตนักฆ่าระดับพระกาฬที่รอดชีวิตจากการสังหารหมู่ในโบสถ์โดยน้ำมือของชายคนรักกับลูกสมุน เมื่อฟื้นคืนสติจากอาการโคมานานสี่ปี เธอจึงเริ่มวางแผนไล่ฆ่าเหล่าไอ้อีทั้งหลายที่มีส่วนทำให้เธอต้องสูญเสียลูกในท้อง เริ่มต้นด้วยสองรายชื่อแรกในบัญชีหนังหมา ได้แก่ โอเรน อิชิอิ (ลูซี ลิว) บอสใหญ่แห่งแก๊งยากูซ่าในโตเกียว และ เวอร์นิตา กรีน (วิเวกา เอ. ฟ็อกซ์) ซึ่งตอนนี้ผันตัวมาเป็นแม่บ้านในย่านชานเมืองพาซาดีนา รัฐแคลิฟอร์เนีย

แต่ด้วยสไตล์อันหวือหวาของทารันติโน การเล่าเรื่องจึงไม่ได้ดำเนินเป็นเส้นตรงตามเนื้อเรื่องเสียทีเดียว หนังถูกแบ่งออกเป็น 5 บท บทแรกมีชื่อว่า 2 เล่าถึงการเผชิญหน้าระหว่าง เดอะ ไบรด์ กับหมายเลข 2 ในบัญชีตามฆ่าของเธอ นั่นคือ เวอร์นิตา กรีน จากนั้นในบทที่สอง (เจ้าสาวโชกเลือด) ได้ย้อนกลับไปเล่าผลพวงจากการสังหารหมู่ในโบสถ์ ซึ่งทำให้ เดอะ ไบรด์ ต้องนอนโคมาอยู่นาน 4 ปี เธอรอดพ้นจากการถูก แอล ไดร์เวอร์ (ดาริล แฮนนาห์) หนึ่งในมือสังหารที่โบสถ์ ตามมาปิดจ๊อบอย่างหวุดหวิด และเริ่มต้นภารกิจล้างแค้นด้วยการเอาคืนเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล ซึ่งใช้ร่างไร้สติของเธอเป็นเครื่องระบายความใคร่ บทที่สาม (ต้นกำเนิดของโอเรน) เล่าถึงภูมิหลัง โอเรน อิชิอิ ในรูปของอนิเมชั่นญี่ปุ่น พ่อแม่เธอถูกเจ้าพ่อแก๊งยากูซ่าฆ่าตายอย่างโหดเหี้ยมตั้งแต่เธออายุเพียง 9 ขวบ แต่สองปีให้หลังเธอก็สามารถแก้แค้นให้พ่อแม่ได้สำเร็จ แล้วสถาปนาตัวเองเป็นมือสังหารระดับโลก เหตุสังหารหมู่ในโบสถ์ เธอก้าวขึ้นเป็นหัวหน้าแก๊งยากูซ่าใหญ่สุดของญี่ปุ่น บทที่สี่ (ผู้ชายจากโอกินาวา) เล่าถึงการเดินทางของ เดอะ ไบรด์ ไปยังโอกินาวาเพื่อรับมอบดาบซามูไรจาก ฮัตโตริ ฮันโซ (ซอนนี ชิบะ) ก่อนหนังจะม้วนตัวจบตรงการประลองฝีมือระหว่าง เดอะ ไบรด์ กับ โอเรน อิชิอิ ในบทที่ห้า (การเผชิญหน้าที่ร้านบ้านใบไม้สีน้ำเงิน)

ในช่วงต้นเรื่องหลังจาก เดอะ ไบรด์ กำจัด เวอร์นิตา กรีน สำเร็จ คนดูจะเห็นเธอขีดฆ่าชื่อในสมุดจด และรายชื่ออันดับแรก คือ โอเรน อิชิอิ ได้ถูกขีดฆ่าไปก่อนหน้าแล้ว นี่ถือเป็นการเกริ่นนำให้คนดูตระหนักว่า เดอะ ไบรด์ จะรอดพ้นจากการประลองฝีมือกับโอเรนในช่วงท้ายเรื่อง ซึ่งบางคนอาจมองว่ามันลดทอนอารมณ์ลุ้นระทึกของไคล์แม็กซ์เนื่องจากผู้ชมรู้ล่วงหน้าแล้วว่าใครจะชนะ แต่หากมองโครงสร้างหนังโดยรวม เราสามารถอนุมานได้ตั้งแต่ต้นแล้วว่า เดอะ ไบรด์ ต้องรอดชีวิตไปจนถึงภารกิจสุดท้าย นั่นคือ สะสางบัญชีแค้นกับบิล (ตามชื่อเรื่องเพราะหนังจงใจปิดบังรายละเอียดหลายจุดเพื่อรอการเฉลยเป็นทอดๆ เช่น ชะตากรรมลูกในท้องของ เดอะ ไบรด์ เหตุผลที่บิลสั่งฆ่า เดอะ ไบรด์ หรือเหตุผลที่ เดอะ ไบรด์ ตัดสินใจละทิ้งชีวิตนักฆ่าไปแต่งงานในเมืองบ้านนอก กลวิธีการเล่าเรื่องของทารันติโนช่วยบอกเป็นนัยว่าหนังเรื่องนี้จะให้ความสำคัญกับ “วิธีการ” มากกว่า “ผลลัพธ์” พร้อมกันนั้นก็สร้างเซอร์ไพรส์ให้คนดู (ในการปะติดปะต่อลำดับเวลาของเหตุการณ์) สำหรับพล็อตเรื่องที่ค่อนข้างตรงไปตรงมา

นอกจากนั้นบทแรกยังมีความสำคัญตรงที่มันช่วยแนะนำ ตอกย้ำให้เห็นพล็อตหลักของหนัง นั่นคือ การแก้แค้น ตลอดจนวงจรแห่งความรุนแรง โดยหลังจากสังหาร เวอร์นิตา กรีน ต่อหน้าลูกสาวตัวเล็กของเธอ เดอะ ไบรด์ กล่าวกับเด็กสาวว่า “ถ้าโตขึ้นแล้วเธอยังรู้สึกคลั่งแค้น ฉันจะรออยู่” นี่เป็นเหมือนภาพสะท้อน/การเดินซ้ำรอยของบทที่สาม (ต้นกำเนิดของโอเรนเพราะโอเรนก็เห็นพ่อแม่เธอถูกฆ่าตายต่อหน้าต่อตาเช่นกัน ก่อนจะเติบโตขึ้นมาเป็นนักฆ่าและชำระบัญชีแค้นให้กับพ่อแม่ได้สำเร็จ แม้หนังจะแสดงให้เห็นความแตกต่างอยู่บ้างว่าการฆ่าของ เดอะ ไบรด์ มีเหตุอันชอบธรรม และเธอปามีดปักอกเวอร์นิตาเพราะฝ่ายหลังพยายามจะยิงเธอก่อน แต่พลาดเป้า ขณะที่การตายของแม่โอเรนถูกนำเสนอในรูปของเหยื่อผู้น่าสงสารอย่างสมบูรณ์แบบ

เมื่อเวอร์นิตาบอกว่าเธอเข้าใจที่ เดอะ ไบรด์ อยากแก้แค้นเพื่อจะได้เจ๊ากัน แต่ เดอะ ไบรด์ กลับตอบว่า ถ้าจะให้เราเจ๊ากันจริงๆ ฉันต้องฆ่าแก ขึ้นไปที่ห้องนิกกี้แล้วฆ่าเธอซะ จากนั้นก็รอให้ผัวแกกลับมาบ้านและฆ่าเขา นั่นต่างหากถึงจะเรียกว่าเจ๊ากันพูดได้ว่าหนังสร้างความชอบธรรมให้กับการแก้แค้นของ เดอะ ไบรด์ สะท้อนให้เห็นว่าเธอยังมีเมตตาและรับฟังเหตุผล เพราะเธอต้องการลงโทษแค่เหล่าคนเลว ไว้ชีวิตผู้บริสุทธิ์ (เธอไม่มีเจตนาจะฆ่าเวอร์นิตาต่อหน้าลูกสาวด้วยซ้ำ) ซึ่งแตกต่างจากการกระทำของบิลกับพรรคพวก ที่ควรจะฆ่าแค่ เดอะ ไบรด์ แล้วไว้ชีวิตคนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ในโบสถ์ หากพวกเขาต้องการลงโทษเธอโทษฐาน ทรยศ

เดอะ ไบรด์ ตระหนักดีว่าการกระทำของตนย่อมส่งผลกระทบต่อจิตใจของนิกกี้ และเธออาจโตขึ้นมาเป็นแบบเดียวกับโอเรน เช่นเดียวกับคำเตือนของ ฮัตโตริ ฮันโซ ที่ว่าการแก้แค้นไม่เคยเป็นเส้นตรง เพราะทุกการกระทำย่อมมีผลพวงตามมา แม้ว่าเหตุผลในการแก้แค้นจะชอบธรรมมากเพียงใดก็ตาม วงจรแห่งความรุนแรงจะวนลูปไม่สิ้นสุด (หนังดูเหมือนจะเต็มไปด้วยตัวละครลูกกำพร้า ไม่เพียงแค่โอเรนกับนิกกี้เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึง เดอะ ไบรด์ และบิลด้วย) ความรุนแรงไม่อาจหยุดยั้งได้ด้วยความรุนแรง และตัว เดอะ ไบรด์ เอง (หรือกระทั่งตัวหนังเองก็ดูจะตระหนักดีว่าการกระทำของเธอไม่ได้ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ มีราคาที่ต้องจ่ายจากการลุกขึ้นมาตั้งศาลเตี้ย ในความพยายามจะบำบัดความเจ็บปวดทรมานของตนเอง เธอได้กลายเป็นสาเหตุแห่งความเจ็บปวดทรมานของคนอีกคนหนึ่ง บางครั้งตัวเลือกที่ถูกทำนองคลองธรรมอาจไม่ยุติธรรมกับทุกคน แต่การให้อภัยคือหนทางเดียวที่จะหยุดยั้งวงจรแห่งความรุนแรง

อย่างที่ทราบกันดีว่าทารันติโนถือเป็นคอหนังตัวยง ไม่เพียงแค่ในระดับชื่นชอบหลงใหลเท่านั้น แต่ยังหายใจเข้าออกเป็นหนัง หนังคือรากฐานแห่งจินตนาการตั้งแต่วัยเยาว์ Kill Bill: Vol. 1 จึงเปรียบเสมือนการหวนรำลึกถึงความทรงจำเหล่านั้น ความทรงจำเกี่ยวกับตระกูลหนังที่เขาชื่นชอบสมัยยังเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังกังฟูและหนังคาวบอยสปาเก็ตตี้ ถึงขนาดเริ่มต้นหนังด้วยสัญลักษณ์ ชอว์ บราเดอร์ส และภาพกราฟฟิก ภูมิใจนำเสนอ” เพื่อรำลึกความหลังถึงคืนวันเก่าๆ หนังทั้งเรื่องจึงให้ความรู้สึกเหมือนเป็นภาพตัดแปะสไตล์โพสต์โมเดิร์น เป็นแฟนตาซีแห่งการต่อสู้และความรุนแรง เป็นเศษเสี้ยวแห่งความทรงจำวัยเด็กที่ถูกขยายให้ใหญ่โต เกินจริง ส่งผลให้การพัฒนาเรื่องราวหรือตัวละครค่อนข้างจำกัด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าหนังจะสูญสิ้นความแปลกใหม่เสียทีเดียว

ทารันติโนแสดงความสัมพันธ์กับสไตล์โพสต์โมเดิร์นผ่านกลวิธีหลากหลายรูปแบบด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการใช้เทคนิคที่เรียกร้องความสนใจ ทำให้คนดูตระหนักว่ากำลังชมภาพยนตร์อยู่ การเบลอเส้นแบ่งของตระกูลหนังที่แตกต่าง เช่น กังฟู + คาวบอย ใน Kill Bill หรือระหว่างหนังกระแสหลักกับหนังเกรดบี ตลอดจนการอ้างอิงไปมาทั้งจากผลงานของเขาเอง (การปรากฏตัวขึ้นของ แซมมวล แอล. แจ็คสัน ใน Kill Bill: Vol. 2) และผลงานของคนอื่น เช่น การเลือก แพม เกรียร์ มาแสดง Jackie Brown หรือการให้ จอห์น ทราโวลตา โชว์ลวดลายบนฟลอร์เต้นรำใน Pulp Fiction หรือการที่ เดอะ ไบรด์ ใส่ชุดแบบเดียวกับ บรูซ ลี ใน Game of Death

อย่างไรก็ตาม ความสนใจของทารันติโนไม่ใช่การจำลองอดีตขึ้นใหม่ แต่เป็นการรื้อสร้างและแก้ไข ซึ่งเขาบรรลุจุดมุ่งหมายผ่านกลยุทธ์สามอย่างด้วยกัน 1) เขาส่องแสงไฟไปยังเหล่าตัวร้าย มอบพื้นที่ให้กับตัวละครที่ปกติมักจะเป็นแค่ดาราสมทบในหนังกระแสหลักทั่วไป Jackie Brown ไม่ได้เล่าถึงชีวิตของตำรวจ หรือมาเฟีย แต่เป็นเรื่องราวของคนขนยา ขณะที่ Pulp Fiction ก็โฟกัสไปยังแฟนสาวกับมือปืนของมาเฟีย 2) ทารันติโนเพิ่มความสมจริงให้บทสนทนาและการเล่าเรื่อง ตัวละครพูดคุยกันเรื่อยเปื่อยเกี่ยวกับมาดอนนา หรือรสชาติเบอร์เกอร์ในต่างประเทศ ไม่ได้มุ่งเน้นการให้ข้อมูลเพื่อผลักดันเรื่อง ซึ่งใกล้เคียงกับบทสนทนาในชีวิตประจำวันของเรา นอกจากนี้ เขายังชอบเขียนบทให้ตัวละครปฏิบัติภารกิจธรรมดาสามัญอย่างการเข้าห้องน้ำอีกด้วย ว่ากันว่าบทสนทนาสไตล์นี้น่าจะได้อิทธิพลมาจาก เอลมอร์ เลนเนิร์ด ซึ่งหนังสือเรื่อง Rum Punch ของเขาถูกทารันติโนดัดแปลงเป็นหนังเรื่อง Jackie Brown และ 3) การเล่าเรื่องโดยไม่เรียงตามลำดับเวลา กระโดดข้ามไปมา แนวทางดังกล่าวได้รับอิทธิพลมาจากโครงสร้างของวรรณกรรม และพบเห็นได้ตั้งแต่หนังเรื่องแรกของเขาอย่าง Reservoir Dog ที่เล่าเหตุการณ์ “ล้อมรอบ” การปล้น แทนที่จะเล่าถึงการปล้นโดยตรง พลิกความคาดหวังของคนดูที่คุ้นเคยกับสูตรสำเร็จ โดยไม่ได้เน้นตั้งคำถามว่าแผนการปล้นจะประสบความสำเร็จหรือไม่ แต่เป็นการตีแผ่ให้เห็นความล้มเหลว ใน Jackie Brown ทารันติโนเล่าเหตุการณ์สำคัญในห้างสรรพสินค้าซ้ำสามครั้งผ่านมุมมองสามตัวละคร กลวิธีอันยอกย้อนดังกล่าวช่วยเพิ่มความเข้มข้นให้ประสบการณ์ในการชมภาพยนตร์ พาคนดูไปยังจุดที่ไม่คาดฝันในลักษณะเดียวกับนิยายที่คนดูสามารถเลือกเส้นทางการผจญภัยและตอนจบที่แตกต่างกันไป

Kill Bill: Vol. 1 แตกต่างจากหนังศิลปะป้องกันตัวที่ทารันติโนต้องการคารวะตรงที่มันให้น้ำหนักกับผู้หญิงเป็นหลัก ไม่เฉพาะตัวละครเอกอย่าง เดอะ ไบรด์ เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงวายร้ายหลักๆ ของเรื่องอีกด้วย ขณะบิลซึ่งเป็นคนบงการทุกอย่างกลับไม่ปรากฏใบหน้าให้เห็นเลยตลอดเรื่อง สมาชิกทุกคนในแก๊ง Deadly Viper Assassination Squad (หรือเรียกย่อๆ ว่า DiVAS ซึ่งให้อารมณ์ความเป็นหญิงล้วนเป็นผู้หญิง ยกเว้นเพียง บัด (ไมเคิล แมดเซนซึ่งแทบจะไม่ปรากฏตัวให้เห็น นอกจากนี้ทารันติโนยังบิดผันภาพลักษณ์เหมารวมเกี่ยวกับบทบาททางเพศด้วยการมอบตำแหน่งยากูซ่าขาใหญ่ให้กับโอเรน ซึ่งมีบอดี้การ์ดเป็นเด็กวัยรุ่นญี่ปุ่นท่าทางคิกขุแบบที่ผู้ชายชอบจินตนาการทางเพศถึง เช่นเดียวกับแอลในชุดนางพยาบาล ขณะเธอปลอมตัวเข้ามาลอบฆ่า เดอะ ไบรด์ ขณะนอนโคมา ทั้งสองโดนสูบบริบททางเพศออกจนหมด ส่วนผู้หญิงอีกคนอย่าง เวอร์นิตา กรีน ก็ใช้ชีวิตเป็นแม่บ้านลูกอ่อนอยู่นาน 4 ปี แต่ไม่เคยลืมสัญชาตญาณของนักฆ่า ทุกคนล้วนโหดเหี้ยม เลือดเย็น และเป็นมืออาชีพ ราวกับหนังต้องการบอกเป็นนัยว่าผู้หญิงจะอยู่รอดในโลกที่ชายเป็นใหญ่ได้นั้น พวกเธอจำเป็นต้องเล่นบทเป็นเพศชาย แล้วก็เล่นให้ใหญ่กว่าด้วย

เมื่อบอสทานากะคัดค้านเชื้อชาติเลือดผสมของโอเรน (จีน-ญี่ปุ่น-อเมริกันว่าไม่เหมาะจะเป็นหัวหน้าแก๊งยากูซ่า เธอหุบปากเขาด้วยการพุ่งตรงไปตัดหัวโดยไม่พูดพร่ำทำเพลง เมื่อโกโก้โดนผู้ชายตอแยในร้านเหล้า เธอถามเขาตรงๆ ว่าอยาก “เสียบ” ฉันเหรอ พอเขาพยักหน้ารับ เธอก็ชิง “เสียบ เขากลับด้วยมีดดาบ และเมื่อเธอชักดาบออก เลือดของเขาก็พุ่งทะลักออกมาเลอะขาเธอ ไม่ต่างจากการเสียพรหมจรรย์ หรือมีประจำเดือน ผู้ชายในหนังเรื่องนี้ส่วนใหญ่ล้วนจบชีวิตอย่างน่าสมเพช และบ่อยครั้งก็เป็นผลจากพฤติกรรมน่ารังเกียจของตน ไม่ว่าจะเป็นอคติทางเพศ เช่น บอสทานากะ การข่มเหงโดยใช้กำลัง เช่น บัค เจ้าหน้าที่โรงพยาบาล หรือความหื่นกระหายทางเพศ เช่น ลูกค้าผู้ชายในร้านเหล้า

ภาพลักษณ์ของ เดอะ ไบรด์ จากช่วงต้นเรื่อง (ไม่นับบทที่ 1 ซึ่งตามท้องเรื่องแล้วต้องเกิดขึ้นหลังบทที่ 5) จะมีลักษณะของความเป็นหญิง โดนกระทำและล่วงละเมิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า เธอ (ในชุดเจ้าสาวและกำลังตั้งครรภ์ท้องแก่) ถูกบิลยิงเจาะกะโหลก จากนั้นขณะนอนโคมาเป็นเวลาสี่ปี เธอยังโดน บัค (ซึ่งเกิดมาเพื่อฟัคเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล ข่มขืน ก่อนเขาจะเปลี่ยนบทเป็นแมงดา ขายเรือนร่างเธอให้ลูกค้าชายคนอื่นมาหาความสำราญ แต่ความเป็นหญิงของเธอถูกปล้นไปพร้อมกับเหตุสังหารหมู่ในโบสถ์ ซึ่งเธอเป็นผู้รอดชีวิตเพียงรายเดียว บัคบอกลูกค้าของเขาว่าเธอไม่สามารถมีลูกได้อีกแล้ว ฉะนั้นถ้าอยากจะหลั่งในก็เชิญตามสบาย แต่อาจต้องใช้วาสลีนช่วยหล่อลื่นบ้างเพราะ “ข้างล่าง” แห้งสนิท ดังนั้น เมื่อ เดอะ ไบรด์ ฟื้นคืนสติในอีก 4 ปีต่อมา เธอจึงแปลงร่างกลายเป็นชาย พร้อมจะ “ฟัค” ทุกคนซึ่งทำผิดกับเธอไว้ เริ่มต้นจากบัค ซึ่งเธอคืบคลานมาเชือดเส้นเอ็นข้อเท้าเขา (ด้วยภาพสโลว์โมชั่นสมฉายาแบล็กแมมบา ก่อนจะขโมยรถของเขามาขับ

ในรถขณะเธอพยายามรวบรวมพลัง ความมุ่งมั่นทั้งมวล สั่งขาให้กลับมาขยับได้อีกครั้งหลังเพิ่งตื่นขึ้นจากโคมา เสียงเล่าเรื่องของ เดอะ ไบรด์ ดังขึ้นว่า “ฉันนึกถึงไอ้พวกหน้าโยนีที่มารุมกระทำย่ำยี และไอ้หัวขวดตัวการเบื้องหลัง เหล่าลูกสมุนของบิลในชื่อ The Deadly Viper Assassination Squad” เสียงเล่าเรื่องดังกล่าวเปรียบเทียบ DiVas ว่าเป็นหญิง และบิล ตัวบอสผู้มีอำนาจสูงสุด ว่าเป็นชาย ฉะนั้นหากเธอต้องการล้างแค้นแบบเสร็จสรรพ แล้วฆ่าบิลให้สำเร็จ เธอจำเป็นต้องแปลงร่างจากหญิงเป็นชาย

จะเห็นได้ว่าหนังเชื่อมโยง เดอะ ไบรด์ เข้ากับสัญลักษณ์แทนองคชาตอยู่เนืองๆ ไม่ว่าจะเป็นตอนเธอสั่งใจตัวเองให้ขยับ หัวแม่โป้ง หรือการรับมอบดาบซามูไรจาก ฮัตโตริ ฮันโซ นอกจากนี้ในช่วงไคล์แม็กซ์ระหว่างการสังหารหมู่แก๊ง เครซี 88 เธอยังแต่งกายข้ามเพศเป็น บรูซ ลี อีกต่างหาก ขณะเดียวกันตัวละครเพศชายในภาคแรกไม่เพียงจะถูกผลักให้เป็นแค่ตัวประกอบเท่านั้น แต่ยังถูกตอน/ลดทอนความเป็นชายลงด้วย ไม่ว่าจะเป็นบัด ซึ่งถูกจัดให้อยู่กลุ่ม DiVas (สภาพ/สารรูปของเขาใน Kill Bill: Vol. 2 ยิ่งตอกย้ำถึงความเป็นชายที่ถูกลดทอนลง) ผู้ชายในร้านเหล้าที่โดนโกโก “ฟัค” หรือกระทั่ง ฮัตโตริ ฮันโซ ซึ่งถูกนำเสนอในฐานะตัวตลกผ่อนอารมณ์ ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างเขากับคู่หูหลังร้านซูชิก็กรุ่นกลิ่นวายอยู่ไม่น้อย เมื่อฮัตโตริสั่งให้เขาออกมาเสิร์ฟชาลูกค้า เขาตะโกนตอบว่ากำลังดูละครอยู่ ทั้งสองต่อปากต่อคำกันไม่ต่างจากคู่สามีภรรยา

แม้ทั้งเรื่องจะเต็มไปด้วยตัวละครผู้หญิงรูปร่างหน้าตาดี แต่หนังลดระดับการจ้องมองของเพศชายลงมาอยู่ในจุดต่ำสุด พวกเธอไม่ได้ถูกนำเสนอในฐานะวัตถุทางเพศ แม้กระทั่งแอลในชุดนางพยาบาล หรือโกโกในเครื่องแบบนักเรียนมัธยม เหตุการณ์ล่วงละเมิดทางเพศ เดอะ ไบรด์ ไม่ปรากฏให้เห็นเป็นภาพชัดเจน (อาจมีแค่ในเชิงสัญลักษณ์เปรียบเปรยเท่านั้น เมื่อกล้องโคลสอัพภาพยุงดูดเลือด ซึ่งปลุกให้ เดอะ ไบรด์ สะดุ้งตื่นจากโคมาเช่นเดียวกับเพศสัมพันธ์ระหว่างบอสมัทสุโมโตะกับโอเรนในวัย 11 ขวบ (แต่คนดูจะได้เห็นฉากเธอ “เสียบ” เขาด้วยมีดดาบชัดเจน พร้อมเลือดที่พุ่งทะลักเป็นน้ำพุจริงอยู่ผู้หญิงเหล่านี้ส่วนใหญ่ล้วนโหดเหี้ยม อำมหิต แต่หนังก็แจกแจงให้เห็นภูมิหลัง พอจะเรียกร้องความเห็นใจ หรืออย่างน้อยก็ความเข้าอกเข้าใจจากคนดูได้บ้าง โดยเฉพาะกรณีของ เดอะ ไบรด์ และโอเรน ตรงกันข้ามกับตัวละครผู้ชายซึ่งปราศจากมิติซับซ้อนใดๆ

ในตอนจบของ Kill Bill: Vol. 1 คนดูไม่เพียงจะรับรู้ถึงการพลิกตลบของพล็อตครั้งสำคัญ แต่มันยังนำไปสู่การตั้งคำถามต่อทิศทางข้างหน้าของ เดอะ ไบรด์ อีกด้วย เมื่อค้นพบความจริงว่าลูกในท้องยังมีชีวิตอยู่ เธอจะสูญเสียหลักยึดและความมุ่งมั่นในการแก้แค้นไปหรือไม่ แน่นอน ภาพลักษณ์ของ เดอะ ไบรด์ จะเริ่มเปลี่ยนแปลงใน Kill Bill: Vol. 2 หลังเธอปรับสถานะจากนางฟ้าซามูไรมาเป็นแม่ลูกอ่อน แต่รายละเอียดหลายอย่าง รวมถึงบทสรุปสุดท้ายทำให้เธอยังรักษาสถานะของเฟมินิสต์เอาไว้ได้ ขณะที่ทิศทางโดยรวมในการมอบอำนาจแก่เพศหญิงของหนังก็ยังคงเดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง โดยปรับเปลี่ยนจากรูปธรรม (ความแข็งแกร่งภายนอก) มาเป็นนามธรรม (ความแข็งแกร่งภายใน)

ไม่มีความคิดเห็น: