วันเสาร์, พฤษภาคม 19, 2561

Handsome Devil: คุณค่าแห่งปัจเจกภาพ


ตอนที่หนังเรื่อง Moonlight เข้าฉาย ผมบังเอิญไปอ่านเจอความเห็นของนักดูหนังชาวไทยคนหนึ่งที่บอกว่าหนังดูไม่ค่อย สมจริงเท่าไหร่ตรงที่ไชรอนถูกกลุ่มนักเลงล้อว่าเป็นตุ๊ด ทั้งที่ตัวละครในเรื่องไม่ได้ออกอาการกระตุ้งกระติ้งมากพอจะถูกกล่าวหาเช่นนั้น ถ้าเจ้าของความเห็นดังกล่าวได้มาชม Handsome Devil สุดท้ายเขาจะเข้าใจว่า ตุ๊ดไม่ใช่คำด่า/ล้อที่ใช้กับตุ๊ด/เกย์จริงๆ เท่านั้น แต่ยังถูกใช้เหมารวมไปยังคนที่ไม่อยู่ในกรอบ มาตรฐานความเป็นชายอีกด้วย เช่น คนไหนไม่ชอบเล่นกีฬา = ตุ๊ด คนไหนชอบดูละครเพลง = ตุ๊ด ซึ่งในบางกรณีคนเหล่านั้นอาจเป็นเกย์จริง แต่ก็ไม่เสมอไป ดังจะเห็นได้ว่าตัวละครเอกใน Billy Elliot ก็ถูกล้อว่าเป็นตุ๊ดเช่นกันทั้งที่ไม่ได้เป็นเกย์เพียงเพราะเขาเลือกเต้นบัลเล่ต์แทนการชกมวย บุคลิกกระตุ้งกระติ้งไม่ใช่ภาคบังคับของการถูกล้อด้วยคำว่าตุ๊ด ก็เหมือนที่ เน็ด (ฟีออน โอเชีย) อธิบายผ่านเสียงวอยซ์โอเวอร์ในช่วงต้นเรื่อง เกย์หมายถึงห่วยแตก ทุเรศ หรือไม่ก็แตกต่าง และความกลัวว่าตัวเองไม่เหมือนใครแผ่ปกคลุมไปทั่วโรงเรียนของเรา

เช่นเดียวกับไชรอน เน็ดตกเป็นเหยื่อโอชะของกลุ่มนักเลงเพียงเพราะเขา แตกต่างจากเด็กคนอื่นๆ ในโรงเรียนประจำชายล้วนที่หมกมุ่นอยู่กับกีฬารักบี้ รูปร่างที่ผอมแห้งกับหัวสีแดง เมื่อผนวกเข้ากับบุคลิกเรียบร้อย รักเสียงเพลง และไม่สู้คนยิ่งทำให้เขาโดนหมายหัวมาแต่ไกล ความจริงแล้วเน็ดไม่ได้เกลียดรักบี้ แต่มันแค่ไม่ใช่สิ่งที่เขาสนใจ ซึ่งนั่นถือเป็นข้อห้ามร้ายแรงของโรงเรียนแห่งนี้

ในช่วงต้นเรื่อง เน็ดเปรียบโรงเรียนวู้ดฮิลว่ามีสภาพไม่ต่างจากคุก อาจไม่ใช่ในแง่รูปธรรมเสียทีเดียว (เพราะมันดูจะไม่แตกต่างจากโรงเรียนเอกชนสำหรับชนชั้นกลางระดับสูงสักเท่าไหร่) แต่เป็นในแง่นามธรรมตรงที่ทุกคนถูกบังคับให้ต้องทำอะไรเหมือนๆ กัน ไปจนถึงขั้นชอบอะไรเหมือนๆ กันด้วย เช่น การต้องเลิกเรียนกลางคันเพื่อไปเข้าห้องซ้อมเชียร์ก่อนการแข่งรักบี้ในรอบชิงชนะเลิศ สำหรับ วู้ดฮิล คอลเลจ ถ้วยแชมป์รักบี้ดูเหมือนจะมีความสำคัญเหนือการศึกษา จึงไม่แปลกที่เด็กหนุ่มผู้รักเสียงเพลงอย่างเน็ดจะรู้สึกโดดเดี่ยว และพยายามเรียกร้องความสนใจด้วยการคัดลอกเนื้อเพลงมาส่งแทนเรียงความในวิชาภาษาอังกฤษ แต่อาจารย์แก่หง่อม ซึ่งไม่รู้อิโหน่อิเหน่ใดๆ เกี่ยวกับนักเรียนตัวเอง หรือความเป็นไปในโลกปัจจุบันกลับดูไม่ออกและให้เกรดเอเขา จากที่เริ่มต้นด้วยการเป็นมุกตลกประชดประชันกลับกลายเป็นความขมขื่น เมื่อเน็ดตระหนักว่าไม่มีใครรู้จักเพลงที่เขาชื่นชอบ และที่สำคัญดูเหมือนจะไม่มีใครแคร์มันด้วยซ้ำ

จนกระทั่งการมาถึงของคุณครูสอนภาษาอังกฤษคนใหม่ แดน เชอร์รี (แอนดรูว์ สก็อตต์) ซึ่งไม่เพียงจะเก็ทมุกตลกของเน็ดเท่านั้น แต่ยังรู้สึกขุ่นเคืองอีกด้วย ไม่ใช่เพราะเด็กหนุ่มลอกผลงานของคนอื่นมาส่ง แต่เพราะเขาไม่เห็นความสำคัญของการเป็นตัวของตัวเอง ถ้าเธอเสแสร้งเป็นคนอื่น แล้วใครจะเป็นเธอเขาตะโกนถามโดยไม่ได้เจาะจงแค่เน็ดเท่านั้น แต่ยังเหมารวมถึงเด็กทุกคนในชั้นเรียน และบางทีอาจเป็นคำถามสำหรับตัวเขาเองด้วย

น่าตลกตรงที่เน็ดไม่เคยเสแสร้งเป็นคนอื่น เขาเปิดเผยตัวตนชัดเจนว่าแตกต่างจากคนส่วนใหญ่ในโรงเรียน เขาไม่เคยแสดงความสนใจที่จะไปเชียร์กีฬา เขาติดโปสเตอร์อัลบั้มของวง Suede ไว้หราบนผนัง แม้ว่ามันจะยิ่งเข้าทางพวกนักเลง เขาแสดงจุดยืนชัดเจนว่าไม่มีความสุขกับโรงเรียนที่มองไม่เห็นคุณค่าในสิ่งที่เขาสนใจ หรือหลงใหล และใฝ่ฝันอยากจะหนีออกจากเรือนจำแห่งนี้ไปให้ไกล ตรงกันข้ามกับ คอเนอร์ (นิโคลัส กาลิทไซน์) เด็กใหม่ที่กลายมาเป็นดาวเด่นในทีมรักบี้ ซึ่งพยายามปกปิดรสนิยมทางเพศของตัวเองด้วยการใช้กำลัง ตลอดจนพรสวรรค์ทางกีฬาเพื่อหวังว่าจะสามารถกลมกลืนกับคนส่วนใหญ่ได้อย่างราบรื่น เขาพยายามพิสูจน์ว่าตัวเองไม่ใช่ตุ๊ดด้วยการโชว์แมน ไล่กระทืบทุกคนที่พูดความจริง ก่อนจะย้ายโรงเรียนหนีเมื่อพบว่าตนไม่อาจปิดบังความลับไปได้ตลอด

ถ้ามองผ่านเลนส์ LGBT อาจกล่าวได้ว่าความคลั่งไคล้กีฬารักบี้ใน วู้ดฮิล คอลเลจ ก็คงไม่ต่างจากมาตรฐานของรักต่างเพศในสังคมโลก ซึ่งครอบงำ บงการความคิดทุกคนมาหลายชั่วอายุคนว่านี่เท่านั้นคือความ ปกติ นี่เท่านั้นคือครรลองที่ควรเป็น และใครก็ตามที่ไม่เข้าพวกจะถูกกีดกันให้เป็นคนนอก ถูกล้อเลียน กลั่นแกล้ง หรือกระทั่งบีบให้ต้องปกปิดตัวเองเพื่อจะได้ไม่ถูกมองว่าเป็นตัวประหลาด

เด็กผู้ชายบางคนก็ไม่เล่นรักบี้ เคยคิดถึงพวกเขาบ้างไหมเชอร์รีถามครูใหญ่ วอลเตอร์ (ไมเคิล แม็คเอลฮัตตัน) อย่างเหลืออด โดยคำถามดังกล่าวสามารถเปลี่ยนเป็น เด็กผู้ชายบางคนก็ไม่ชอบผู้หญิงได้ไม่ยาก นี่เป็นคำถามที่ไม่ได้พุ่งเป้าไปยังตัวละครวอลเตอร์เท่านั้น แต่ยังอาจมีนัยเหมารวมถึงคนดูรักต่างเพศอีกจำนวนมากด้วย เพราะความยากลำบากในชีวิตที่กลุ่ม LGBT ต้องเผชิญหาได้เกิดขึ้นจากภัยคุกคามในรูปอคติเด่นชัดอย่าง วีเซล (รอรี โอคอนเนอร์) และ ปาสคัล (โม ดันฟอร์ด) เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงความมืดบอด ไม่ตระหนัก หรือสนใจจะให้พื้นที่กับความแตกต่างอย่างวอลเตอร์อีกด้วย บรรดาคนที่อ้างว่าไม่ได้รังเกียจ หรือดูถูกรักร่วมเพศ แต่ก็เห็นชอบให้มันถูกเก็บซ่อนอย่างมิดชิด อย่าได้เสนอหน้า หรือกู่ก้องตะโกนร้องหาสิทธิความเท่าเทียมใดๆ

Handsome Devil เชิดชูการเปิดเผยตัวเอง (coming out) เลิกที่จะใช้ชีวิตอย่างหลบๆ ซ่อนๆ เลิกที่จะวิ่งหนีความจริง ซึ่งไม่ใช่วิกฤติสำหรับเกย์วัยรุ่นอย่างคอเนอร์เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงเกย์ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาแล้วมากมายอย่างเชอร์รีด้วย เขาสั่งสอนคอเนอร์ว่าพอโตขึ้นแล้วทุกอย่างก็จะ ดีขึ้นเอง ซึ่งก็เป็นจริงในแง่ที่ว่าเราเริ่มเรียนรู้ที่จะไม่ใส่ใจคำพูด หรือการกระทำของคนบางคนมากเท่าตอนยังเป็นวัยรุ่นที่อ่อนไหวต่อความกดดันของสังคม แต่ในเวลาเดียวกันก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะไม่ถูกผลักให้ต้องกลับเข้าตู้ (closet) อีกครั้ง ให้ต้องโกหก ให้เก็บทุกอย่างเป็นความลับ ไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างเสรีเพียงเพื่อรักษาอาชีพการงาน พลางปลอบประโลมตัวเองว่าต้องจำทนเพราะมันเป็น สัจธรรมอันน่าเศร้าของชีวิตแน่นอนคำสอนของเชอร์รีในชั้นเรียนเกี่ยวกับการเลิกเสแสร้งเป็นคนอื่นได้ตามกลับมาหลอกหลอน สะท้อนให้เห็นความย้อนแย้งของสิ่งที่เขาพยายามเสนอแนะให้คอเนอร์ทำในช่วงท้ายเรื่อง แล้วครูไปถึงจุดนั้นหรือยังคอเนอร์ตอกกลับเชอร์รีอย่างเจ็บแสบเมื่อฝ่ายหลังบอกว่าพอเขาโตขึ้นกว่านี้เขาก็จะไม่ต้องโกหกอีกต่อไป

ในกรณีของคอเนอร์ วิกฤติของเขาหนักหนาสาหัสเป็นสองเท่าเพราะเขาเป็นนักกีฬารักบี้ ซึ่งคละคลุ้งด้วยกลิ่นอายเทสโทสเตอโรนหลายเท่าเมื่อเทียบกับกีฬาประเภทกระโดดน้ำ หรือวอลเลย์บอล เขาต้องก้าวข้ามอคติเกี่ยวกับเกย์ (อ่อนแอ หรือมีความเป็นหญิงมากกว่าชายทั่วไป) ในหมู่นักกีฬา ขณะเดียวกันก็ต้องก้าวข้ามอคติเกี่ยวกับนักกีฬาในหมู่เด็กเซ็นซิทีพแบบเน็ด (ไม่ค่อยฉลาด ชอบใช้กำลัง และขาดความอ่อนไหวทางอารมณ์) ดูเหมือนไม่ว่าจะมองไปทางไหนเขาก็ต้องพบเจอแต่กำแพงที่คอยขวางกั้นไม่ให้คนเข้าถึงกัน เหมือนสารพัดข้าวของและโต๊ะตู้ที่เน็ดจัดแจงนำมากั้นห้องเพื่อแบ่งเป็นสัดส่วนทันทีที่พบว่าเพื่อนร่วมห้องคนใหม่ของเขาเป็นนักรักบี้ดาวเด่น เขาด่วนตัดสินคอเนอร์แบบเดียวกับที่วีเซลด่วนตัดสินเขาว่าเป็นเกย์เพียงเพราะชอบฟังเพลงและไม่สนใจกีฬา

แต่กำแพงสร้างขึ้นได้ก็ถูกพังลงได้ หากเราเรียนรู้ที่จะเปิดใจเข้าหากัน ดังจะเห็นได้จากมิตรภาพระหว่างคอเนอร์กับเน็ดซึ่งเบ่งบานท่ามกลางความแตกต่างทางบุคลิก โดยทั้งสองมีจุดร่วมของความเป็นคนนอกเหมือนๆ กัน และความรักในเสียงเพลง มิตรภาพดังกล่าวทำให้คอเนอร์เลิกที่จะวิ่งหนี แล้วกล้าพอจะลุกขึ้นมาเผชิญหน้าความจริง กล้าพอจะเป็นตัวของตัวเองในตอนนี้ โดยไม่จำเป็นต้องรอ 5 ปีหรือ 10 ปีข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม การที่หนังไม่ได้จำกัดรสนิยมทางเพศของเน็ดให้แน่ชัด แล้วโฟกัสไปยังมิตรภาพแทนการพัฒนาไปสู่อารมณ์โรแมนติก (เข้าใจได้ว่าเขาคงเป็นชายรักหญิงเพราะไม่มีจุดไหนของหนังที่บ่งชี้เป็นอื่น) ทำให้ประเด็นเนื้อหาของ Handsome Devil สื่อนัยยะไกลและกว้างกว่าการเป็นหนังเกย์ coming out ทั่วไป (ขณะเดียวกันกลุ่ม LGBT ก็อาจมองว่านี่เป็นหนึ่งในหนังที่พยายาม พาสเจอร์ไรซ์รักร่วมเพศสำหรับตลาดกระแสหลักไปพร้อมๆ กันจากการที่มันปราศจากแม้กระทั่งฉากจูบ และหลายครั้งก็แทนคำว่า เกย์ด้วยคำว่า “the thing” ราวกับจะพาเราย้อนไปสู่ยุคของความรักที่ไม่กล้าเอ่ยนาม) นั่นคือ การเฉลิมฉลองปัจเจกภาพ ความแตกต่าง พร้อมสะท้อนให้เห็นถึงอันตรายของการเดินตามรอยกันไม่ต่างจากฝูงแกะที่ถูกต้อนไปทุกทิศทางตามคำสั่ง สูญเสียเอกลักษณ์และตัวตนให้กับแรงกดดันทางสังคม

กีตาร์ของเน็ดเขียนประโยคว่า เครื่องมือนี้ใช้ฆ่าอำนาจนิยมและจุดมุ่งหมายของอำนาจนิยมคือล้างสมองให้ทุกคนคิดคล้ายกัน ปฏิบัติตัวตามกัน เพราะมันง่ายต่อการควบคุม บงการ แต่แนวคิดดังกล่าวได้ทำลายแก่นอันงดงามของความเป็นมนุษย์ลงอย่างราบคาบ ด้วยเหตุนี้ ชัยชนะของคอเนอร์ในห้องล็อกเกอร์จึงถือเป็นชัยชนะของพหุสังคมและการยอมรับความหลากหลายอย่างแท้จริงแบบที่สังคมสมัยใหม่ควรจะเป็น ส่วนเผด็จการอย่างปาสคัล (“ฉันทำให้ทีมถูกปรับแพ้ได้”) ก็ต้องล่าถอยในที่สุด มันเป็นฉากจบที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความหวังและการมองโลกแง่ดี แม้ว่าในโลกแห่งความจริง ท่ามกลางกระแสโต้กลับของฝ่ายขวาผ่านชัยชนะของ Brexit และ โดนัลด์ ทรัมป์ เราจะเห็นได้ชัดว่าการต่อสู้ไปสู่บทสรุปดังกล่าวยังมีหนทางอีกยาวไกล

ไม่มีความคิดเห็น: