วันอาทิตย์, ธันวาคม 19, 2564

Brokeback Mountain: หากใจคนเราเปิดกว้างเท่าท้องฟ้า

ภาพเสื้อเชิ้ตสองตัวที่ซ้อนทับกันใน Brokeback Mountain หาใช่แค่สัญลักษณ์ของรักแท้ชั่วนิรันดร์ระหว่างแจ๊คกับเอนนิสเท่านั้น เนื่องจากมันถูกแขวนในตู้เสื้อผ้า (closet) หลบซ่อนจากสายตาคนทั่วไป เสื้อเชิ้ตสองตัวจึงเปรียบเสมือนตัวแทนความรักที่ไม่กล้าเอ่ยนาม (และไม่ถูกเอ่ยนาม) อีกด้วย แต่คราวนี้คนดูไม่จำเป็นต้อง อ่านระหว่างบรรทัด เหมือนใน Red River หรือ Midnight Cowboy อีกต่อไป เพราะทั้งผู้กำกับ อังลี และนักเขียนชนะรางวัลพูลิทเซอร์ อี. แอนนี พรูซ์ เจ้าของเรื่องสั้น ต่างได้แสดงจุดยืนอย่างชัดแจ้งด้วยการนำเสนอฉากเซ็กซ์ชนิดไม่หมกเม็ด (แม้จะไม่โจ่งครึ่มเหมือนหนังกลุ่ม New Queer Cinema ในยุค 90) ไม่คลุมเครือจนอาจตีความเป็นอื่นได้

อย่างไรก็ตาม นั่นหาได้หยุดยั้งหลากหลายความพยายามที่จะ พาสเจอร์ไรซ์ หนังเรื่องนี้ให้กลายเป็น หนังรักของคนสองคน แบบเดียวกับที่ Philadelphia กลายเป็นหนังเกี่ยวกับการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนมากกว่าจะเป็นหนังเกี่ยวกับชายรักชาย ความแตกต่างสำคัญ คือ Philadelphia ผ่านการ พาสเจอร์ไรซ์ มาตั้งแต่แรกแล้ว เพื่อให้คนดูกลุ่มใหญ่สามารถกลืนมันลงคอได้ง่ายขึ้น ส่วน Brokeback Mountain นั้นก้าวไกลไปกว่า กล่าวคือ ไม่เพียงคนดูจะได้เห็นตัวละครชายสองคน ที่รับบทโดยดาราชื่อดังของฮอลลีวู้ด จูบปากกันอย่างดูดดื่มเท่านั้น แต่เรายังได้เห็นพวกเขามีสัมพันธ์กันอย่าง passionate อีกด้วย หาใช่ในลักษณะ platonic แบบในหนังของผู้กำกับ โจนาธาน เดมมี แน่นอน การพยายามจะตีความกว้างๆ เพื่อให้หนังเข้าถึงกลุ่มคนดูกระแสหลักให้มากที่สุดไม่ใช่ความผิด แต่ในเวลาเดียวกัน มันก็ส่งกลิ่นอายของความพยายาม ซุกซ่อน สิ่งที่พรูซ์ต้องการตีแผ่อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

นอกจากจะ อื้อฉาว ด้วยการนำเสนอแรงปรารถนาระหว่างผู้ชายสองคนอย่างตรงไปตรงมาแล้ว อีกสาเหตุที่อาจทำให้ Brokeback Mountain กลายเป็นความอึดอัดและชวนคุกคามในความรู้สึกของผู้ชายหลายคน คือ มันทำลายภาพลักษณ์แบบเหมารวม (stereotype) ของเกย์ลงอย่างราบคาบ กล่าวคือ นอกจากแจ๊คและเอนนิสจะดู แมน แล้ว พวกเขายังอาศัยอยู่ใน ชนบท และเป็นคาวบอยอีกด้วย ซึ่งนั่นห่างไกลจากภาพลักษณ์เกย์ปลอดภัย (safe gay) แบบที่เราคุ้นเคยและรับได้ในหนังตลาดอย่าง The Birdcage หรือในซีรีส์ Will & Grace ราวกับมาจากคนละโลก

จริงอยู่ พวกเขาอาจไม่ใช่คาวบอยในความหมายดั้งเดิม (พรูซ์บอกว่า แจ๊คกับเอนนิสมีอาชีพรับจ้างในไร่ปศุสัตว์ หรือ ranch hand ไม่ใช่คาวบอยซึ่งเป็นผลผลิตทางจินตนาการของฮอลลีวู้ด) แต่พวกเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเอนนิส ดูเหมือนจะติดกับอยู่ในภาพลักษณ์คาวบอยอย่างไม่ต้องสงสัย ไม่ว่าจะเป็นลักษณะการพูดการจา ภาษาท่าทาง ตลอดจนอุปนิสัยรักสันโดษ ด้วยเหตุนี้ จึงไม่น่าแปลกว่าทำไมนักวิจารณ์บางคนถึงนำเอนนิสไปเปรียบเทียบกับ เจมส์ ดีน ซึ่งรับบท ranch hand ของ ร็อค ฮัดสัน ในหนังเรื่อง Giant ส่วนสไตล์ภาพของ Brokeback Mountain ในช่วงครึ่งชั่วโมงแรกก็ให้ความรู้สึกคล้ายหนังคาวบอยตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นการเน้นวิวทิวทัศน์ เช่น ท้องฟ้า ทุ่งหญ้า หรือใช้ประโยชน์จากภาพมุมกว้างเพื่อสะท้อนถึงอิสรภาพที่ไม่ถูกล่วงล้ำโดยค่านิยม หรือกรอบธรรมเนียมทางสังคม

สำหรับแจ๊ค (เจค จิลเลนฮาล) และเอนนิส (ฮีธ เลดเจอร์) ภูเขาโบรคแบ็คเปรียบดังอุดมคติแห่งรักโรแมนติก มันคือสถานที่ซึ่งพวกเขาสามารถเป็นตัวของตัวเองได้โดยไม่ต้องห่วงกังวลสิ่งใด ไม่มีใครคอยตัดสิน ราวกับโลกนี้มีเพียงพวกเขาสองคน ความรักงอกเงย เติบโตอย่างอิสระดุจเดียวกับต้นไม้ ใบหญ้า ทั้งสวยงาม ทั้งบริสุทธิ์ แต่ขณะเดียวกันก็เปราะบางต่อการแปดเปื้อน บอบช้ำ และนั่นคือสาเหตุว่าทำไมพวกเขาถึงไม่เคยย้อนกลับขึ้นไปบนภูเขาโบรคแบ็คอีกเลย และนั่นคือสาเหตุว่าทำไมแจ๊คถึงแอบเก็บเสื้อเปื้อนคราบเลือดของเอนนิสเอาไว้เป็นที่ระลึก และนั่นคือสาเหตุว่าทำไมแจ๊คถึงอยากให้เถ้าอัฐิเขาถูกฝังไว้บนนั้นร่วมกับความทรงจำอันงดงาม

ด้วยบุคลิกโรแมนติก ช่างฝัน แจ๊คเชื่อมั่นอย่างจริงใจว่าสักวันเอนนิสจะอ้าแขนรับข้อเสนอในการใช้ชีวิตร่วมกันบนโลกแห่งความเป็นจริง มันอาจไม่งดงาม บริสุทธิ์เหมือนชีวิตบนภูเขาโบรคแบ็ค เพราะโลกเบื้องล่างหาได้มีเพียงเขาสองคน เพราะมนุษย์ทุกคนหาได้เปิดใจกว้างโดยปราศจากอคติ แต่อย่างน้อยที่สุดพวกเขาก็จะได้อยู่ด้วยกัน และนั่นถือว่าดีพอแล้วสำหรับแจ๊ค เขาพยายามยึดเหนี่ยวความหวังดังกล่าวเอาไว้ให้นานที่สุด ก่อนจะจำใจปล่อยมันไป เมื่อตระหนักว่าเอนนิสไม่มีวันยอมรับข้อเสนอ

ฉากที่เศร้าที่สุดฉากหนึ่งของหนัง คือ การพบกันครั้งสุดท้ายของแจ๊คกับเอนนิส โดยขณะที่ฝ่ายแรกกำลังยืนมองฝ่ายหลังขับรถจากไป หลังวันหยุดตกปลาจบสิ้นลงอีกครั้ง หนังได้ตัดภาพแฟลชแบ็คไปยังเหตุการณ์บนภูเขาโบรคแบ็ค เมื่อเอนนิสต้องขี่ม้าออกไปเฝ้าฝูงแกะในตอนเช้า ตลอดเวลา 20 ปี ทุกอย่างไม่เคยเปลี่ยนแปลง แจ๊คยังต้องทนบอกลาเอนนิสซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนในที่สุดเขาไม่อาจฝืนทนความเจ็บปวดและความโดดเดี่ยวได้อีกต่อไป เราคนดูเข้าใจความอึดอัดคับแค้นของแจ๊ค เราไม่นึกโทษเขาที่ชวน เพื่อน คนหนึ่งจากเท็กซัสมาทำไร่ด้วยกัน ตามคำบอกเล่าของพ่อแจ๊ค

แล้วเอนนิสล่ะ เป็นความผิดของเขาหรือ

ปัญหาของ เอนนิส เดล มาร์ (ซึ่งตามภาษาไอริชโบราณแปลคร่าวๆ ได้ว่าเกาะกลางทะเล) คือ เขาถูกปลูกฝังความกลัวไว้ตั้งแต่ยังเล็ก เมื่อพ่อพาเขาไปดูซากศพของคาวบอยเฒ่าคนหนึ่ง ที่ถูกซ้อมจนตายในสภาพน่าสังเวชเพียงเพราะเขาใช้ชีวิตร่วมกับผู้ชายคนหนึ่งอย่างเปิดเผย ประสบการณ์ดังกล่าว (รวมไปถึงการมีพ่อใจแคบแบบนั้น) ทำให้เอนนิสปักใจเชื่อว่าความรักระหว่างผู้ชายด้วยกันคือความผิด คือเรื่องน่ารังเกียจ ด้วยเหตุนี้ เขาจึงนึกชิงชังตัวเองกับความรู้สึกที่เขามีต่อแจ๊ค แต่ขณะเดียวกัน ก็ไม่อาจปฏิเสธมันได้อย่างสิ้นเชิง

ความรักพุ่งทะยานเข้าใส่เอนนิสขณะที่เขาไม่ทันตั้งตัวและไม่รู้จะรับมือกับมันยังไง (เขาใช้คำว่า this thing แทนสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างเขากับแจ๊ค) ความอัดอั้นขัดแย้งบ่อยครั้งถูกระบายออกมาในรูปของความรุนแรง ซึ่งจากการเรียนรู้ของเขามันคือทางรอดเดียวในโลกของลูกผู้ชาย แต่ส่วนใหญ่แล้ว เขามักจะนิ่งเงียบและปลีกตัว คำพูดแต่ละคำหลุดออกจากปากเขาด้วยความยากลำบาก เขามักหลบสายตาข้างใต้เงาหมวก ปิดกั้นตัวเองจากคนรอบข้างด้วยกลัวว่าพวกนั้นอาจตระหนักถึงตัวตนที่แท้จริงของเขา เอนนิส เดล มาร์ ใช้ชีวิตอยู่บนความหวาดระแวง และขลาดเขลาเกินกว่าจะลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง

มันไม่ยากและไม่ผิดที่จะมองอัลมา (มิเชล วิลเลียมส์) กับลูรีน (แอนน์ แฮทธาเวย์) ว่าตกเป็นเหยื่อของสามีใจร้าย แต่หากมองในอีกมุมหนึ่ง อะไรล่ะคือตัวแปรบีบบังคับให้ชายทั้งสองต้องแต่งงาน พวกเขาพบรักกันบนภูเขาโบรคแบ็ค แต่เมื่อต้องลงมายังโลกแห่งความจริงเบื้องล่าง เอนนิสกลับยืนกรานที่จะแต่งงานกับอัลมา เพราะนั่นคือสิ่งที่สังคมคาดหวังจากเขา เพราะนั่นคือสิ่งเดียวที่เขาสามารถเลือกได้ในขณะนั้น ยุคสมัยนั้น และสถานที่แห่งนั้น

ตัวหนังเองได้เปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างชัดเจนระหว่างภาพท้องทุ่งกว้างใหญ่ไพศาล ท้องฟ้ากว้างไกลสุดลูกหูลูกตา กับภาพอพาร์ตเมนต์แคบๆ ของเอนนิส ซูเปอร์มาร์เก็ตที่อัลมาทำงานอยู่ ตลอดจนความวุ่นวายของภารกิจเลี้ยงลูกสองคนไปพร้อมๆ กับหาเงินมาจุนเจือครอบครัว ทางด้านแจ๊คเองก็ไม่ได้โชคดีไปกว่ากันสักเท่าไร เขาอาจมีฐานะดีกว่า แต่ก็ไม่เป็นที่ชอบหน้าของพ่อเขย พวกเขาทั้งสอง ติดกับ อยู่ในสังคมรักต่างเพศไม่แพ้กัน

อังลีใช้การจัดองค์ประกอบภาพอันเปี่ยมศิลปะระดับสุดยอดเพื่อตอกย้ำนัยยะข้างต้นอย่างชัดเจนอีกครั้งในฉากปิดเรื่อง เมื่อเอนนิสเปิดประตูตู้เสื้อผ้า แล้วจ้องมองเสื้อเชิ้ตสองตัวซึ่งเขานำมาจากบ้านแจ๊ค (และสลับเอาเสื้อของเขาออกมาไว้ด้านนอก) กับโปสการ์ดรูปภูเขาโบรคแบ็ค จากนั้นพอเขาปิดประตู คนดูก็จะได้เห็นหน้าต่างรถเทรลเลอร์เข้ามาแทนที่อย่างพอดิบพอดี วิวภายนอกเป็นภาพท้องทุ่งและท้องฟ้า ดูเหมือนจะเต็มไปด้วยอิสรภาพ แต่สุดท้ายถูกจำกัดขอบเขตด้วยกรอบหน้าต่าง ซึ่งเปรียบดังตัวแทนของอคติและบรรทัดฐานทางสังคม ที่ขีดเส้นให้บรรดาชายรักชายไม่สามารถเปิดเผยตัวตนได้อย่างเสรี มันคือโลกแห่งความเป็นจริงซึ่งเอนนิสต้องจำทนต่อไป เพราะเขาไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ ส่วนภูเขาโบรคแบ็คก็กลับกลายเป็นแค่ภาพในโปสการ์ด และความทรงจำอันหอมหวาน

หนังของอังลีเรื่องนี้ยอดเยี่ยมตรงที่มันไม่ให้ความรู้สึกของการสั่งสอนเลยแม้แต่นิด ไม่มีบทสนทนาเพื่อเรียกร้องความสนใจ ไม่มีการบอกกล่าวตรงไปตรงมา ทุกอย่างถูกสื่อความหมายผ่านภาพและสัญลักษณ์อันลุ่มลึก แต่นั่นกลับยิ่งทำให้พลังของสาร ของสิ่งที่ถูกนำมาวิพากษ์ ตีแผ่ เพิ่มขึ้นเป็นเท่าทวีคูณ เช่นเดียวกับอารมณ์ละเมียดของหนังซึ่งปราศจากการโน้มนำ ฟูมฟาย หรือบีบเค้น แต่สุดท้ายความเศร้าสะเทือนใจกลับค่อยๆ ซึมลึก กัดกร่อน และค้างคาอยู่เนิ่นนาน

ใน Brokeback Mountain ตัวละครทุกคนล้วนน่าสงสาร น่าเห็นใจ และตกอยู่ในสถานะเหยื่อหลากหลายระดับ แตกต่างวาระกันไป วายร้ายเพียงคนเดียวในหนัง คือ สิ่งที่มองไม่เห็น อีกทั้งยังไม่ถูกพูดถึงโดยตรง แต่ทุกคนกลับสามารถสัมผัสมันได้อย่างรุนแรง


ไม่มีความคิดเห็น: