วันเสาร์, มกราคม 23, 2559

Spotlight: แสงสว่างจากความจริง


คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า Spotlight เป็นหนังที่สร้างขึ้นเพื่อเชิดชูวีรกรรมของสื่อมวลชนในความมุ่งมั่นทุ่มเทที่จะตีแผ่ความจริง ตลอดจนความกล้าหาญที่จะยืนหยัดอยู่ข้างความถูกต้องท่ามกลางกระแสเสียดทานจากรอบข้าง หลังจากค้นพบว่าบาทหลวงคาทอลิกรายหนึ่งล่วงละเมิดทางเพศเด็กหลายคนในหลายเขตแพริชตลอดเวลา 30 ปี โดยที่พระชั้นผู้ใหญ่ระดับคาร์ดินัลมีส่วนรู้เห็น แต่แทนที่จะตัดสินลงโทษคนผิดขั้นเด็ดขาด เขากลับแค่สั่งย้ายพระรูปนั้น ยังผลให้วงจรอุบาทว์ดำเนินต่อไป เช่นเดียวกับจำนวนเหยื่อที่เพิ่มมากขึ้น ซ้ำร้ายเมื่อยิ่งขุดคุ้ยลึกลงไปจากการได้พูดคุยกับ ฟิล ซาเวียโน (นีล ฮัฟ) ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งองค์กรช่วยเหลือเหยื่อทารุณกรรมทางเพศโดยน้ำมือของบาทหลวง การณ์ปรากฏว่า “ปลาเน่า” ในเข่งไม่ได้มีแค่ตัวสองตัว และคดีแบบนี้ก็เคยเกิดขึ้นแล้วนับครั้งไม่ถ้วน

ฉากที่สะท้อนอารมณ์ตื่นตะลึงของการค้นพบได้อย่างชัดเจน คือ เมื่อ ริชาร์ด ไซป์ (ให้เสียงโดย ริชาร์ด เจนกินส์) อดีตบาทหลวงที่ทำงานในศูนย์บำบัดของคริสตจักร โทรเข้ามายังออฟฟิศของทีมงานสปอตไลต์ แจกแจงข้อมูลจากผลการศึกษาของเขาตลอดหลายทศวรรษว่า 6% ของบาทหลวงทั้งหมดมีพฤติกรรมล่วงละเมิดทางเพศเด็ก ช็อตเริ่มต้นด้วยภาพโคลสอัพโทรศัพท์ ก่อนจะค่อยๆ ถอยออกมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งเห็นเหล่าสมาชิกของทีมสปอตไลต์นั่งล้อมรอบโต๊ะ ตั้งใจฟังคำอธิบายของไซป์อย่างจดจ่อ นอกจากนี้ช็อตดังกล่าวยังช่วยสะท้อนให้เห็นรูปธรรมของเป้าหมายที่ มาร์ตี้ แบรอน (เลียฟ ชไรเบอร์) ต้องการ นั่นคือ แสดงให้เห็นภาพรวมของระบบ วิธีปฏิบัติของคริสตจักรเพื่อไม่ให้บาทหลวงต้องความผิดโดนตั้งข้อหา แทนการแฉรายชื่อบาทหลวง ซึ่งอาจสร้างกระแสฮือฮาได้พักใหญ่ แต่ย่อมไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้นเลย แบรอนต้องการให้ทีมงานสปอตไลต์พิสูจน์ให้ได้ว่า คาร์ดินัลลอว์ (เลน คารัว) มีส่วนรู้เห็น และจงใจใช้เงินปิดปากเหยื่อเคราะห์ร้าย พร้อมทั้งปล่อยให้เหล่าคนผิดกลับมาประจำเขตแพริชซ้ำแล้วซ้ำเล่า

หนังดำเนินเหตุการณ์ในเมืองบอสตัน ซึ่งประชากรเกินครึ่งเป็นคริสเตียนและส่วนใหญ่ก็นับถือนิกายโรมันคาทอลิก กระแสเสียงข้างมากยังผลให้วัฒนธรรมปกปิดความลับสามารถดำเนินต่อไปได้ เมื่อ เบน แบรดลีย์ จูเนียร์ (จอห์น สแลทเทอรี) ตั้งข้อสังเกตว่า ถ้ามีนักบวชมากถึง 90 คนในบอสตันที่ล่วงละเมิดทางเพศเด็ก เหตุใดถึงไม่มีใครพูดอะไรเลย ไมค์ เรเซนเดส (มาร์ค รัฟฟาโล) จึงยกสถานการณ์ในยุคนาซีเรืองอำนาจขึ้นมาเปรียบเทียบ เมื่อชาวเยอรมันส่วนใหญ่เลือกจะนิ่งเฉยต่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวจำนวนหลายล้านคน ข้อกล่าวหาของไมค์อาจฟังดูหนักหน่วงเกินไปหน่อยจนเบนต้องออกปากเตือนเขาว่าอย่าไปเผลอพูดแบบนี้ต่อหน้าสื่อ แต่มันก็ใช่จะเลื่อนลอยเสียทีเดียว ความชั่วร้ายสามารถดำรงอยู่ได้ เมื่อผู้คนต่างมืดบอดต่อสามัญสำนึกและความถูกต้อง โดยหนึ่งในนั้น คือ พีท คอนลีย์ (พอล กิลฟอยล์) ซึ่งเลือกจะเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ พร้อมแก้ตัวน้ำขุ่นๆ ว่าบาทหลวงเหล่านั้นก็แค่ปลาเน่าไม่กี่ตัว และคริสตจักรได้สร้างคุณประโยชน์มากมายให้บ้านเมืองผ่านงานการกุศล ราวกับว่าตัวเลขเงินบริจาคจะสามารถผ่อนบรรเทาความทุกข์ หรือเรียกคืนความไร้เดียงสาแห่งวัยเยาว์กลับคืนมาให้บรรดาเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายได้

ส่วนตัวละครทนายความที่มองในมุมหนึ่งก็อาจไม่แตกต่างจาก อดอล์ฟ อิชมันน์ นายทหารนาซีระดับสูงที่ออกแบบค่ายกักกันชาวยิวในยุโรปตะวันออกเท่าใดนัก ได้แก่ อีริค แม็คลีช (บิลลี ครูดับ) กับ จิม ซัลลิแวน (เจมี เชอริแดน) คนแรกเลือกจะหาส่วนแบ่งรายได้จากเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายด้วยการทำข้อตกลงเรียกร้องค่าเสียหาย (หรือพูดง่ายๆ ว่าเงินปิดปาก) กับคริสตจักรแทนการนำคดีขึ้นฟ้องร้องต่อศาล ขณะที่คนหลังรับว่าความให้เหล่าจำเลยในชุดนักบวชหลายสิบคน แม้จะตระหนักดีว่าพวกเขากระทำผิดจริงตามข้อกล่าวหา ทั้งสองคนมักจะยกจรรยาบรรณในอาชีพมาเป็นข้ออ้างบังหน้าเพื่อปฏิเสธการให้ข้อมูลใดๆ กับทีมงานสปอตไลต์ “ฉันแค่ทำงานของฉันจิมกล่าวกับ ร็อบบี้ โรบินสัน (ไมเคิล คีตัน) เมื่อโดนฝ่ายหลังบุกมาถึงบ้านเพื่อให้ช่วยยืนยันรายชื่อนักบวชต้องความผิดที่เขาเคยว่าความให้ เช่นเดียวกับอิชมันน์ ทั้งสองไม่ใช่ปีศาจร้าย หรือมีปัญหาทางจิต หากแต่โง่เขลาเกินกว่าจะคิดแทนตัวเอง แล้วตัดสินสถานการณ์จากมุมมองอันคับแคบ (เงินและอาชีพการงาน) โดยละเว้นอุดมการณ์ หรือหลักศีลธรรมสากล

ถึงแม้บรรดาบาทหลวงที่กระทำทารุณทางเพศเด็กจะเป็นตัวการหลักที่ก่อให้เกิดเรื่องราวทั้งหมด แต่หนังดูจะไม่แสดงท่าทีสนใจพวกเขาสักเท่าไหร่ คนดูได้ทำความรู้จักพวกเขาเพียงผิวเผินจากปากคำของเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย โดยคนเดียวที่มีโอกาสเปิดเผยหน้าตา คือ โรนัลด์ พาควิน (ริชาร์ด โอรู้ค) อดีตบาทหลวงซึ่ง ซาชา ไฟเฟอร์ (ราเชล แม็คอดัมส์) บังเอิญเจอระหว่างการตระเวนสัมภาษณ์เหยื่อ จริงอยู่เขาอาจยอมรับว่าตัวเองมีเพศสัมพันธ์กับเด็กโดยไม่แสดงความรู้สึกสำนึกผิด หรือเศร้าเสียใจใดๆ ต่อการกระทำในอดีต แต่หนังกลับไม่ได้พยายามวาดภาพเขาเป็นวายร้ายแม้แต่น้อย แถมยังนำเสนอข้อแก้ตัวกลายๆ ให้เขาด้วยว่าบางทีสาเหตุที่เขากระทำแบบนั้นอาจเพราะตัวเองก็เคยถูกล่วงละเมิดทางเพศมาก่อน เช่นเดียวกับแบรอนและทีมสปอตไลต์ เป้าโจมตีของหนังหาใช่ตัวผู้กระทำผิดรายบุคคล หากแต่เป็นภาพรวมของระบบกับเหล่าผู้สมรู้ร่วมคิดรอบข้าง ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้กระทำผิดได้สร้างบาปแผลแก่คนบริสุทธิ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จากรุ่นสู่รุ่น ตั้งแต่กลุ่มที่มีส่วนร่วมโดยตรงอย่างคาร์ดินัลลอว์ หรืออีริค แม็คลีช และ จิม ซัลลิแวน ไปจนถึงกลุ่มที่ยืนเชียร์อยู่ข้างสนามอย่าง พีท คอนลีย์

คริสตจักรมีเพื่อนเยอะ มิทช์ แกราบีเดียน (สแตนลีย์ ทุคชี) ให้เหตุผลว่าทำไมการจะเอาผิดคริสตจักรจึงเต็มไปด้วยอุปสรรคในเมืองอย่างบอสตัน เช่น เมื่อผู้พิพากษาสั่งห้ามเปิดเผยบันทึกคดี หรือเอกสารข้อมูลในศาลเกิดล่องหนไปอย่างไร้ร่องรอย ดูเหมือนทุกคนที่รู้เรื่องราวต่างพากันช่วยปกปิดความลับไม่ว่าจะเพื่อปกป้องสถาบัน หรือหลีกเลี่ยงความเดือดร้อนในลักษณะเดียวกับวัฒนธรรมมาเฟียก็ตาม เหยื่อคนหนึ่งยืนยันกับ ซาชา ไฟเฟอร์ ว่าเธอถูกกดดันให้ต้องหุบปากเงียบไม่ใช่จากคริสตจักรเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงบรรดาผองเพื่อนร่วมเขตแพริชอีกด้วย

ไม่มีใครหลุดพ้นจากความแปดเปื้อนได้แม้กระทั่ง บอสตัน โกลบ และ ร็อบบี้ โรบินสัน ซึ่งค้นพบว่าตนเคยเขียนข่าวเกี่ยวกับบาทหลวงประพฤติผิดจำนวน 20 คนมาแล้ว แต่ไม่ได้ตามเรื่องต่อ และเมื่อเวลาผ่านไปหลายปีเขาเองก็พลอยลืมไปแล้วด้วยซ้ำว่าตนเองเคยเขียนข่าวดังกล่าว หรือเคยรับรู้ว่ามีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นในเมืองบ้านเกิดของตัวเอง ข้อมูลจากแม็คลีชและซาเวียโนเคยถูกส่งมายังหนังสือพิมพ์แล้ว แต่ไม่เคยถูกนำไปใช้ บางทีอาจเป็นเพราะมีคนพยายามจะฝังกลบเรื่องนี้ แล้วในเวลานั้นก็ไม่มีใครคิดทักท้วงหรือตั้งข้อสงสัย หรือบางทีอาจเป็นเพราะเขาอยู่ใกล้เกินไปจนขาดวิสัยทัศน์ในมุมกว้าง (จิม ซัลลิแวน ถามร็อบบี้ในฉากหนึ่งตอนท้ายเรื่องว่าเขามัวไปมุดหัวอยู่ไหนมาถึงเพิ่งรู้เรื่อง ทั้งที่เหตุการณ์ในหลายกรณีเกิดขึ้นข้างใต้จมูกเขาเลยด้วยซ้ำ ณ โรงเรียนมัธยมที่เขาเคยเรียน ซึ่งตั้งอยู่ตรงกันข้ามกับตึกที่เขาทำงานอยู่ในปัจจุบัน) และต้องอาศัยสายตาคนนอกอย่างแบรอน (ชาวยิวจากเมืองไมอามี) และแกราบีเดียน (อาร์มีเนียน) ถึงจะสามารถมองเห็นปัญหา

Spotlight ให้ความสำคัญกับการแจกแจงขบวนการสร้างสรรค์บทความในแบบเดียวกับ Zodiac ให้ความสำคัญกับการแจกแจงขบวนการสืบสวนคดีฆาตกรรม เริ่มต้นจากการจุดประเด็นโดย มาร์ตี้ แบรอน ในห้องประชุม ตามมาด้วยการสัมภาษณ์เหยื่อ รวมถึงทนายความที่เกี่ยวข้อง การรวบรวมข้อมูลจากข่าวตัดในห้องสมุด การตัดสินใจเลือกประเด็นที่จะนำเสนอ การหาแหล่งข่าวเพื่อยืนยันข้อมูล จนกระทั่งขั้นตอนลงมือเขียน ตลอดจนการวางแผนเพื่อรับมือกับผลกระทบที่จะตามมา ทั้งหมดอาจฟังดูน่าเบื่อ แต่ผู้กำกับ/ร่วมเขียนบท ทอม แม็คคาธีย์ มีลูกล่อลูกชนมากพอจะตรึงคนดูให้ติดตามเรื่องราวได้อย่างเพลิดเพลิน ไม่ว่าจะเป็นการตัดสลับบทสัมภาษณ์เหยื่อของซาชากับไมค์ หรือการหลอกคนดูด้วยอารมณ์ระทึกขวัญเล็กๆ เช่น ฉากที่ แม็ท คาร์รอล (ไบรอัน ดีอาร์ซีย์ เจมส์) ค้นพบว่าสถานบำบัดแห่งหนึ่งตั้งอยู่ใกล้กับบ้านของเขา และฉากที่ไซป์เตือนไมค์ทางโทรศัพท์ว่าเขาอาจโดนอำนาจมืดของคริสตจักรเล่นงาน

นอกจากหนังจะเชิดชูคุณค่าของสื่อมวลชนต่อสังคมในฐานะแสงสว่าง ซึ่งเปิดเผยให้เห็นความจริงท่ามกลางภาพลวงตาและความมืดมิดแล้ว (หนึ่งในฉากสุดแสบสันต์เป็นตอนที่แบรอนตอกกลับคาร์ดินัลว่า หนังสือพิมพ์จะทำหน้าที่ได้ดีที่สุดก็ต่อเมื่อมันเป็นอิสระจากสถาบันต่างๆ ไม่ใช่ จับมือร่วมกันตามข้อเสนอของเขา) มันยังเปรียบดังการคารวะสไตล์การทำข่าวอย่างสร้างสรรค์ เน้นความหนักแน่นของข้อมูล ความรอบด้าน ความถูกต้องอีกด้วย โดยศาสตร์ดังกล่าวดูเหมือนกำลังจะสูญหายไปพร้อมๆ กับความตกต่ำของสื่อสิ่งพิมพ์ในโลกยุคดิจิตอล (ช่วงต้นเรื่องจะสังเกตได้ถึงความสั่นคลอนที่ บอสตัน โกลบ หลังมันถูกขายกิจการให้กับ นิวยอร์ก ไทมส์ พนักงานไม่แน่ใจว่าจะโดนไล่ออกหรือไม่ เมื่อบรรณาธิการคนใหม่ถูกส่งตัวมาควบคุมการทำงานและตัดค่าใช้จ่าย) ซึ่งมักจะให้ความสำคัญกับข่าวที่หวือหวา ฉับไว เหนือข่าวที่ถ้วนถี่ ลุ่มลึก รอบด้าน (ภาพสะท้อนการทำข่าวยุคใหม่สามารถหาดูได้จากหนังอย่าง Nightcrawler) หนังเน้นย้ำอยู่หลายครั้งว่าความสำเร็จในการเปิดโปงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคริสตจักรของทีมงานสปอตไลต์ ซึ่งทำให้พวกเขาคว้ารางวัลพูลิทเซอร์มาครองในปี 2003 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการรอเวลาเพื่อข้อมูลที่ครบถ้วนสูงสุด เพราะนั่นเป็นวิธีเดียวที่จะสร้างผลกระทบได้อย่างกว้างขวาง


วิกฤติศรัทธาเริ่มก่อตัวให้เห็นแม้กระทั่งในหมู่นักข่าวสปอตไลต์เอง ซึ่งไม่ได้เป็นคริสเตียนที่เคร่งครัดแต่อย่างใด การตระหนักถึงความโหดเหี้ยม จอมปลอมของคริสตจักร ซึ่งพยายามทำทุกวิถีทางที่จะเขี่ยสิ่งของสกปรกไปเก็บไว้ใต้พรมด้วยหวังว่าจะรักษาภาพลวงแห่งความบริสุทธิ์ต่อไป ได้บั่นทอนศรัทธาอันบอบบางให้ยิ่งอ่อนแอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณเลือกยึดติดกับสถาบัน (โบสถ์/คริสตจักร) ซึ่งประกอบขึ้นด้วยมนุษย์ และข้อเท็จจริงหนึ่งที่ไม่อาจปฏิเสธ คือ มนุษย์ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ ด้วยเหตุนี้ ชัยชนะแท้จริงของทีมงานสปอตไลต์จึงไม่ใช่การเล่นงานคาร์ดินัลลอว์ (จริงๆ แล้วจากข้อมูลในเครดิตตอนท้ายลอว์กลับได้ดิบได้ดีเสียด้วยซ้ำ) หากแต่เป็นการทำลายกำแพงแห่งภาพลวง บรรยากาศของความลับ และการเก็บกด ด้วยเหตุนี้ ฉากสุดท้ายของ Spotlight จึงเต็มไปด้วยอารมณ์อิ่มเอิบ ชื่นใจ ไม่ใช่จากความสำเร็จ หรือชื่อเสียง แต่เป็นเพราะบทความของพวกเขามีส่วนช่วยให้เหยื่อผู้เคราะห์ร้ายทั้งหลายหลุดพ้นจากความละอายใจและไม่รู้สึกโดดเดี่ยวอีกต่อไป   

ไม่มีความคิดเห็น: