วันอาทิตย์, ธันวาคม 19, 2564

Trick: จูบใครคิดว่าไม่สำคัญ

เพื่อนเกย์ของผมคนหนึ่งซึ่งออกจะมีทัศนคติเชิงนักปฏิวัติหัวรุนแรงอยู่สักหน่อยเคยให้ความเห็นถึงสาเหตุที่เขาไม่ชอบไปร่วมงานมงคลสมรสว่า นอกจากจะต้องทนรำคาญกับคำถามประเภท “เมื่อไหร่จะถึงคิวคุณซะที” หรือ “มางานคนเดียวเหรอ” จากบรรดาญาติพี่น้อง ตลอดจนคนรู้จักที่ไม่สนิทชิดเชื้อกันแล้ว (เพราะเพื่อนสนิทต่างรู้คำตอบดี) เขายังรู้สึกว่าพิธีวิวาห์เปรียบเสมือนบทเฉลิมฉลอง สิทธิพิเศษ ของพวกรักต่างเพศที่ชาวรักร่วมเพศจะไม่มีวันก้าวเข้าไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งได้ แม้ว่าองค์กรต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมกันของเกย์และเลสเบี้ยนในหลายประเทศจะพยายามเรียกร้องสิทธิอันชอบธรรมดังกล่าวมากเพียงใดก็ตาม

สำหรับเพื่อนของผมคนนี้ การเดินทางไปงานแต่ง เผชิญหน้ากับบรรยากาศแห่งความชื่นมื่นในรักที่ได้รับการตีตรายอมรับจากทั้งทางสังคมและกฎหมาย ถือเป็นดั่งเครื่องตอกย้ำในสิ่งที่เกย์/เลสเบี้ยน ขาด จนนำไปสู่ความรู้สึกต่ำต้อย ด้อยค่าราวกับเป็นของพลเมืองชั้นสอง

อย่างไรก็ตาม การเรียกร้องเพื่อจะขอก้าวเข้าไปเป็นหนึ่งเดียวกับโลกชายจริงหญิงแท้ของเหล่านักต่อสู้เพื่อสิทธิรักร่วมเพศทั้งหลาย เช่น ผลักดันให้มีการออกกฎหมายรับรองการแต่งงานระหว่างบุคคลเพศเดียวกัน ได้ถูกบรรดานักทฤษฎีรักร่วมเพศบางท่านตั้งแง่เข้าใส่ พร้อมอ้างเหตุผลว่า พฤติกรรมรักร่วมเพศนั้นโดยพื้นฐานแล้วถือกำเนิดขึ้นจากแรงปรารถนาที่จะขบถต่อวิถีปฏิบัติแห่งรักต่างเพศ ฉะนั้นเหตุใดเกย์และเลสเบี้ยนจึงอยากจะเข้าไปมีส่วนร่วมในโลกที่พยายามปฏิเสธพวกเขา หรือที่พวกเขาผละหนีออกมา ด้วยการเฉลิมฉลองความรักผ่านพิธีแต่งงานกันเล่า

แนวคิดข้างต้นอาจฟังดูสุดโต่ง แต่ก็ไม่เลื่อนลอยเสียทีเดียว เนื่องจากพฤติกรรมรักร่วมเพศตั้งรากฐานอยู่บนแนวคิดที่ปฏิเสธสถาบันครอบครัว การแต่งงาน และหลักความเชื่อดั้งเดิมเกี่ยวกับการมีชีวิตคู่อย่างสิ้นเชิง ประการแรกคือ มันเป็นพฤติกรรมที่ไม่สามารถผลิตเด็กขึ้นมาสืบทอดสายเลือดได้เฉกเช่นความรักแบบชายหญิงทั่วไป ทำให้ไม่อาจก่อตัวกลายเป็น บ้าน ที่สมบูรณ์แบบและครบวงจรได้ ประการต่อมา เมื่อเกย์/เลสเบี้ยนไม่อาจเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับสังคมนั้นได้ ทั้งจากการถูกกีดกันโดยความคิดเหยียดหยามของคนรอบข้าง ไปจนถึงความรู้สึกแปลกแยกส่วนตัวภายใน พวกเขาจึงมีแนวโน้มที่จะหลีกหนีออกสู่โลกกว้างตามลำพังเพื่อสร้างครอบครัวในแบบเฉพาะตัว อันประกอบไปด้วยคู่รักและกลุ่มเพื่อนเกย์/เลสเบี้ยน ซึ่งรับประกันได้อย่างหนึ่งว่าพวกเขาจะไม่มีวันเหินห่างออกไปใช้ชีวิตแต่งงาน มีลูก สร้างครอบครัวเหมือนเพื่อนหญิงหรือชายปกติ

ดังนั้นคงกล่าวได้ว่า ถึงแม้กลุ่มรักร่วมเพศจะเรียกหาการยอมรับนับถือจากกลุ่มรักต่างเพศมากเพียงใดก็ตาม ลึกๆแล้วสิ่งที่พวกเขาต้องตระหนักให้มั่นก็คือ สองสังคมนี้ไม่อาจและ ไม่ควร กลมกลืนจนกลายเป็นหนึ่งเดียว

พิจารณาเช่นนี้แล้ว ภาพยนตร์เรื่อง Trick จึงถือเป็นทั้งก้าวกระโดดไปข้างหน้าและการเดินถอยหลังลงคลองในเวลาเดียวกัน ทั้งนี้เพราะ Trick ได้ชื่อว่าเป็นหนังเกย์กลุ่มแรกๆที่นำเสนอเรื่องราวความรักโรแมนติก ระหว่างชายกับชายตามประเพณีของหนังชายรักหญิงขนานแท้และดั้งเดิม ความเป็นเกย์ ของตัวละครกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา พวกเขาทำใจยอมรับในรสนิยมทางเพศของตนได้แล้ว เช่นเดียวกับบุคคลรอบข้างพวกเขา หนังปราศจากรายละเอียดเกี่ยวกับปมปัญหาสากลที่หนังโฮโมทั่วๆไปมักนำเสนอ เช่น ความเกลียดกลัวรักร่วมเพศ (homophobia) เอดส์ และการเปิดเผยตัวตนต่อคนรู้จัก (coming out) แล้วหันไปโฟกัสยังวงจรโรแมนซ์ ตลอดจนความซับซ้อนในเกมแห่งรักแทน ตัวละครใน Trick ไม่ได้กำลังพยายามทำใจยอมรับ เรียนรู้ หรือดิ้นรนต่อสู้กับความเป็นเกย์ของตน พวกเขาไม่จำเป็นต้องรับมือกับอคติจากคนรอบข้าง ความว้าวุ่นใจประการสำคัญของพวกเขาคือ วิกฤติความสัมพันธ์ ความรัก และการค้นหาคนที่ใช่แบบเดียวกับตัวละครในหนังโรแมนติกชายหญิงทั่วไป

พล็อตเรื่องดำเนินตามสูตรสำเร็จทำนอง boy meets girl (หรือในกรณีนี้คือ boy meets boy) ตั้งแต่การวางบุคลิกสองตัวเอกให้แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง (คนหนึ่งอ่อนหวาน ไม่ค่อยชอบเข้าสังคม ส่วนอีกคนเชี่ยวชาญชีวิตราตรี เงียบขรึม แข็งแกร่ง) ไปจนถึงการใส่บทเพื่อนสนิทของคู่พระนางเข้ามาทำหน้าที่เรียกเสียงหัวเราะเป็นหลัก แต่แทนที่จะเป็นเกย์เหมือนในหนังโรแมนติกปกติ ก็กลับกลายเป็นผู้หญิงแท้ๆ อย่างแคทเธอลีน (โทรี สเปลลิง) หนังสอดแทรกอุปสรรคขัดขวางความรักตามธรรมเนียมให้คู่พระนางเข้าใจผิด จนต้องแยกทางกันไปพักหนึ่ง (แต่คราวนี้มาในรูปของกะเทยร่างยักษ์ มิสโคโค เพรู รับบทโดย คลินตัน เลอัพ) พร้อมทั้งส่งเสริมแนวคิดเกี่ยวกับรักบริสุทธิ์ที่ไม่มีเซ็กซ์เข้ามาปะปนอย่างชัดเจน (ซึ่งในโลกของรักร่วมเพศนั้นคงเกิดขึ้นยากพอๆ กับการถูกหวยรางวัลที่หนึ่ง) เนื่องจากการมีเซ็กซ์ก่อนจะได้ รู้จัก คนๆ นั้น หรือการให้ความสำคัญกับมันจนเกินพอดีย่อมชักนำความสัมพันธ์ไปสู่หุบเหว ดังเช่น กรณีของริช (แบรด เบเยอร์) กับแฟนสาวจูดี้ (ลอร์รี แบ็คลีย์)

หนังจงใจสื่อให้คนดูตีความว่า หากเกเบรียล (คริสเตียน แคมป์เบลล์) กับมาร์ค (จอห์น พอล พิท็อค) ประสบความสำเร็จในเซ็กซ์แบบฉาบฉวยตั้งแต่แรก พวกเขาก็คงจะแยกทางหลังเสร็จกิจ และไม่ได้พบกันอีกเลย อุปสรรคมากมายในการหาสถานที่ประกอบกามกิจ ทำให้ทั้งสองมีโอกาสได้เรียนรู้กันและกัน จากนั้นแรงดึงดูดอันตื้นเขินทางกายภาพก็ค่อยๆ ผันแปรเป็นอารมณ์ลึกซึ้ง จริงจัง จนในที่สุดคำถามว่าทั้งสองจะได้หลับนอนกันหรือเปล่านั้นก็ไม่มีความสำคัญอีกต่อไป

เช่นเดียวกัน ในหนังตลกโรแมนติกส่วนใหญ่ของฮอลลีวู้ด เซ็กซ์กับรักแท้ก็หาใช่กาแฟกับครีมเทียมซึ่งมักจะปรากฏอยู่คู่กันเสมอ แต่หากมันเกิดขึ้นเมื่อใด ฉากร่วมรักส่วนใหญ่ก็มักจะถูกถ่ายทอดออกมาในลักษณะนุ่มนวล ชวนฝัน และไม่เลยเถิดไปเกินเรท PG-13

ความรักโรแมนติก คือ แนวคิดซึ่งได้รับการเน้นย้ำตลอดทั้งเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นวิธีสร้างบรรยากาศเชิงรูปธรรม เช่น ให้มาร์คหลบเลี่ยงไม่ยอมจูบกับเกเบรียลในห้องน้ำของร้านอาหาร แต่กลับเลือกที่จะจูบเขาบนถนนยามเช้า ท่ามกลางแสงอาทิตย์อ่อนๆ ทอประกายสวยงามแทน หรือหลักความเชื่อในเชิงนามธรรมด้วยการใช้บทจูบเป็นไคล์แม็กซ์ของเรื่องราว ซึ่งสะท้อนแก่นโรแมนซ์ว่า การจุมพิตนั้นยิ่งใหญ่กว่าการร่วมเพศเป็นไหนๆ อีกหนึ่งตัวอย่างหนึ่งซึ่งเห็นชัดเจน คือ เงื่อนไขโสเภณีในหนังเรื่อง Pretty Woman ผู้ไม่ยอมจูบลูกค้าเพราะกลัวว่าตนเองจะตกหลุมรักเขา ด้วยเหตุนี้เองในช่วงต้นเรื่อง มาร์คกับเกเบรียลจึงลูบไล้เนื้อตัวกันไปมา ก่อนจะค่อยๆ ก้าวไกลไปถึงขั้นพยายามทำรักด้วยปาก (อย่างทุลักทุเล) แต่ทั้งสองกลับไม่แสดงท่าทีอยากจะจุมพิตกันเลยแม้แต่น้อย ราวกับการจูบคู่นอนคืนเดียวถือเป็นอาชญากรรมขั้นร้ายแรง

สถานการณ์ที่กำหนดให้คู่พระนางใน Trick ได้พบกันนั้นออกจะแตกต่างจากหนังตลกโรแมนติกแบบชายหญิงทั่วไปอยู่บ้าง กล่าวคือ แทนที่พวกเขาจะพบกันในร้านหนังสือ (Notting Hill) ห้างสรรพสินค้า (Serendipity) หรือบนยอดตึก เอ็มไพร์ สเตท (Sleepless in Seattle) ซึ่งให้อารมณ์น่ารัก โรแมนติก มันกลับกลายเป็นบาร์ระบำเปลื้องผ้า สถานที่สำหรับล่าเซ็กซ์แบบคืนเดียว สาเหตุส่วนหนึ่งก็เพื่อตอกย้ำความพลิกผันอันหวานชื่นของโครงเรื่อง (ตัวเอกแค่อยากระบายอารมณ์ใคร่ แต่กลับได้รักแท้มาแทน) อีกส่วนหนึ่งก็เพื่อสะท้อนวิถีชีวิตของชาวเกย์กลุ่มใหญ่ซึ่งผูกพันอยู่กับชีวิตกลางคืน การเต้นรำ เสียงเพลง และเซ็กซ์แบบฉาบฉวย ภาพลักษณ์อาจมีลักษณะแบบเหมารวม แต่ Trick ก็ไม่ลืมที่จะแสดงให้เห็นว่า ยังมีเกย์อีกจำพวกหนึ่งเหมือนกันที่รู้สึก ไม่เข้าพวกเช่น เกเบรียลผู้ระบายความในใจให้มาร์คฟังว่า เขาเคยรู้สึกไม่ชอบขี้หน้าพวกเกย์เท่าใดนักเพราะตัวเขาเองมีวิถีชีวิตที่แตกต่างออกมา เขาไม่ชอบเตร็ดเตร่ตามบาร์ หรือไนท์คลับ และไม่นิยมกัดสีผมหรือเล่นกล้าม ความรู้สึกแปลกแยกของเกเบรียลชี้ชัดในฉากที่เขากับมาร์คเต้นรำด้วยกันในไนท์คลับแห่งหนึ่ง เมื่อฝ่ายแรกอิดออด เขินอายอยู่นานกว่าจะยอมถอดเสื้อออกเหมือนคนอื่นๆ

ตรงกันข้าม ขณะที่เกเบรียลนึกอยากเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเกย์ มาร์คผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการมาได้พักใหญ่กลับกำลังมองหาทางออก หนังสื่อเป็นนัยๆ ว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้เขาสนใจในตัวเกเบรียล ก็คือ ความจริงใจ ใสซื่อของนักแต่งเพลงหนุ่มซึ่งหาได้ยากยิ่งในโลกของการร่อนตระเวนราตรี และเปลี่ยนคู่นอนเป็นว่าเล่น

แต่ท่ามกลางกลิ่นอายแห่งการสะท้อนวัฒนธรรม ตลอดจนความรู้สึกร่วมสมัยของชาวรักร่วมเพศชนิดพอเป็นกระสายข้างต้น หนังก็ไม่ปิดบังที่จะโน้มเอียงเข้าหารูปแบบดั้งเดิมของภาพยนตร์ตลกโรแมนติกอยู่ดีด้วยการวางบทบาททางเพศตามหลักรักต่างเพศ (ชาย/หญิง, passive/active, อ่อนไหว/แข็งกระด้าง) ให้แก่ตัวละครซึ่งเป็นเกย์ กล่าวคือ เกบรียลจะดูมีความเป็นหญิงมากกว่ามาร์ค หน้าตาของเขาใสสะอาด ท่าทางออกไปทางกระตุ้งกระติ้ง และชื่นชอบดนตรีบรอดเวย์ ส่วนมาร์คนั้นจะอยู่ในมาดของผู้ชายแข็งกระด้าง รูปร่างบึกบึน และไม่ค่อยประสีประสาเรื่องศิลปะ การดัดแปลงทุกอย่างให้เรียบง่ายขึ้นทำให้ Trick ดูเหมือนความพยายามจะยัดเยียดรักร่วมเพศ พฤติกรรมอันซับซ้อนที่เกิดขึ้นบนรากฐานของความแปลกแยกและต้องการจะแตกต่าง ให้เข้าไปอยู่ในรูปแบบเดียวกับรักต่างเพศ ซึ่งแน่นอนว่าในทางการตลาด ย่อมทำให้ Trick กลายเป็นยาน้ำเชื่อมที่ผู้ชมทั่วไปกล้ำกลืนลงคอได้ง่ายดาย เมื่อเทียบกับยาขมเม็ดจากกระแส New Queer Cinema อย่าง Poison หรือ The Living End

เมื่อครั้งที่ Trick ออกฉายในอเมริกา มันประสบความสำเร็จทางด้านรายได้อย่างน่าพอใจเมื่อเทียบกับหนังเกย์เรื่องอื่นๆ อีกทั้งยังคว้ารางวัลขวัญใจมวลชนตามเทศกาลหนังหลายแห่งมาครองด้วย การที่หนังละทิ้ง ประเด็น รักร่วมเพศ แล้วหันมาพูดถึงการออกเดทหรือรักแรกพบ ซึ่งเป็นธีมที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ไม่ว่าเขาหรือเธอจะมีรสนิยมทางเพศเช่นใดในลีลาบางเบา สนุกสนาน เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้หนังสามารถก้าวข้ามไปกวาดเงินในตลาดของชาวรักต่างเพศได้

กระนั้นแม้ว่า Trick จะมีเสน่ห์ครบถ้วนในรูปแบบของผลงานแนวตลกโรแมนติก แต่รอยด่างพร้อยของมันก็อยู่ตรงที่หนังจำต้องยอม สละ ตัวตนอันแท้จริงแล้วหันไป สวมใส่ รูปแบบของรักต่างเพศเพื่อให้พวกเขาตีตรายอมรับรักร่วมเพศในวงกว้างขึ้น ซึ่งนั่นอาจไม่ใช่หนทางแห่งอุดมคติสักเท่าไหร่ เปรียบได้กับหนังเกย์เรื่องแรกของสตูดิโอยักษ์ใหญ่ที่นำแสดงโดยดาราระดับซูเปอร์สตาร์อย่าง Philadelphia ที่แท้จริงแล้วกลับใช้ความเป็นรักร่วมเพศของตัวละครเป็นเพียงเสื้อคลุมบางๆ ในการสะท้อนประเด็นทางสังคมมากกว่าจะสำรวจลึกถึงประเด็นเกี่ยวกับเกย์/เลสเบี้ยน

Trick คือจุดหักเหสำคัญของ Queer Cinema ว่าจะเลือกเดินทางใดระหว่างแสวงหาการยอมรับในสังคมด้วยวิธีเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่ง หรือคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์เฉพาะตัวและกล้าที่จะแตกต่าง แปลกแยก คงไม่มีใครสามารถตัดสินได้ว่าแบบไหนดีกว่าแบบไหน แต่อย่างน้อยกลุ่มผู้ชมเกย์/เลสเบี้ยนก็โชคดีที่มีทางเลือกเพิ่มขึ้น ซึ่งหากมองในแง่นี้แล้วมันก็ถือเป็นภาวะที่มีแต่ได้กับได้เท่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น: