
พอได้ข่าวการประท้วงของกลุ่มรักร่วมเพศต่อหนังเรื่อง Me… Myself ผมก็ไม่รู้สึกแปลกใจแต่อย่างใด และออกจะเข้าใจ “ข้อขัดแย้ง” ของพวกเขาด้วยซ้ำ (แต่นั่นหาได้หมายความว่าผมเห็นด้วยกับการกระทำหรือจุดยืนของพวกเขาเสมอไป) ทั้งนี้เพราะผมคาดเดาไว้ล่วงหน้าแล้วว่า พล็อตเรื่องอัน “พิลึกพิลั่น” จนเกือบถึงขั้นชวนหัวของหนัง (ถ้ามันไม่ได้ถูกนำเสนอด้วยลีลาและโทนอารมณ์จริงจัง ขึงขังขนาดนี้) อาจสร้างความรู้สึกอึดอัดให้กับชาวรักร่วมเพศจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มนักกิจกรรมที่พยายามเรียกร้องสิทธิ์ในเชิงกฎหมาย ตลอดจนการยอมรับของสังคมให้กับเกย์และเลสเบี้ยน
Me… Myself เล่าถึงเรื่องราวชีวิตอันพลิกผันของเด็กชายคนหนึ่งที่เติบโตขึ้นมาท่ามกลางเมคอัพ วิกผม แสงไฟ ชุดกระโปรง และรองเท้าส้นสูง จนกระทั่งในที่สุดค่อยๆ แปรเปลี่ยนตัวเองเป็นนางโชว์แสนสวยนามว่า ทันย่า (ซึ่งสันนิษฐานจากรูปร่างของเธอ/เขาแล้ว คงจะพิสมัยการยกเวทเล่นกล้ามมากกว่ากินยาคุมกำเนิดหรือฮอร์โมนเพศหญิง) เธอ/เขาเดินทางมากรุงเทพเพื่อตามหาคนรักหนุ่ม ก่อนจะค้นพบความจริงว่าเขาแต่งงานมีลูกมีเมียแล้ว ซ้ำร้ายเธอ/เขายังโดนโจรกระจอกปล้นชิงทรัพย์และทำร้ายจนสูญเสียความทรงจำอีกด้วย แต่หลังจากนั้น ทันย่าก็ได้ “เกิดใหม่” (ย้ำผ่านฉากแทน/ทันย่านั่งเปลือยกายในห้อง) เป็นชายหนุ่มรูปงามนามว่า แทน แล้วค่อยๆ สร้างสัมพันธ์ลึกซึ้งกับอุ้ม สาวทำงานที่บังเอิญขับรถชนเขาในค่ำคืนแห่งชะตากรรม
ต่อประเด็นต้นกำเนิดแห่งรสนิยมทางเพศ ไม่ต้องสงสัยว่าหนังเรื่องนี้เอนเอียงเข้าฝ่าย “การเลี้ยงดู” (nurture) อย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเป็นฟากแนวคิดที่ทรงอิทธิพลสูงสุดในช่วงต้นถึงกลางศตวรรษที่ 20 โดยส่วนหนึ่งคงเป็นผลมาจากงานค้นคว้าของฟรอยด์ ผู้ตั้งข้อสังเกตว่าชายชาวรักร่วมเพศมักเติบโตขึ้นมาในบ้านที่แม่คุมเข้ม ขณะพ่อทำตัวเหินห่าง เย็นชา หรืออ่อนแอ ส่งผลให้เด็กชายเลียนแบบพฤติกรรมของแม่แทน อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ความ “นิยม” เริ่มเอนเอียงเข้าหาฝ่าย “ธรรมชาติ” (nature) เมื่อการค้นคว้าวิจัยทางวิทยาศาสตร์จำนวนมากบ่งชี้ไปในทิศทางว่ารสนิยมทางเพศของมนุษย์นั้นเกิดจากปัจจัยทางเคมีตั้งแต่กำเนิด
ดูเหมือนหนังเรื่องนี้พยายามจะบอกว่าความเป็นรักร่วมเพศของแทนนั้นเกิดจากสภาพแวดล้อม การเลี้ยงดู และหากทุกอย่างได้รับการเริ่มต้นใหม่ ภายใต้สภาพแวดล้อมแบบใหม่ เขาก็อาจเติบโตมาเป็นผู้ชาย “ปกติ” ได้ นั่นคือ โหยหาเพศหญิงและขยะแขยงเพศชาย ด้วยเหตุนี้ ช่วงชีวิตของแทนระหว่างภาวะความจำเสื่อมจึงเปรียบเสมือน “ภาพจำลองความเป็นไปได้” ว่าจะเกิดอะไรขึ้น หากแทนไม่ได้ถูกเลี้ยงดูโดยเหล่ากะเทยนางโชว์ และเมื่อความทรงจำของแทนหวนคืนมา ภาพจำลองดังกล่าวเลยพลอยพังทลายลงด้วย (แม้ว่าความรักของเขากับอุ้มจะหาได้แตกสลายตามไปไม่) ส่งผลให้แทนต้องกลับไปใช้ชีวิตแบบนางโชว์ดังเดิม เพราะนั่นคืออัตลักษณ์ของเขา
สมมุติฐานของหนังทำให้ผมนึกถึงเรื่องจริงในมุมกลับของ เดวิด ไรเมอร์ ซึ่งสูญเสียอวัยวะเพศไปในระหว่างขั้นตอนการขลิบหนังหุ้มปลายขณะเขาอายุได้เพียงแปดเดือน และเนื่องจากความร้ายแรงของบาดแผล ที่ไม่สามารถรักษาให้หายเป็นปรกติได้ พ่อแม่ของเดวิดจึงนำเขาไปเข้าพบผู้เชี่ยวชาญชื่อดังด้านงานวิจัยเพศศึกษาที่โรงพยาบาลชั้นนำ จอห์นส์ ฮ็อบกิ้นส์ ในเมืองบัลติมอร์ ที่นั่น บรรดานายแพทย์ได้โน้มน้าวให้พวกเขายอมนำลูกชายเข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศ ซึ่งประกอบไปด้วยขั้นตอนการเฉือนอวัยวะเพศชายทิ้ง ผ่าตัดเปลี่ยนเพศใหม่ให้เขา และปิดท้ายด้วยโปรแกรมติดตามผลนานสิบสองปีสำหรับปรับแต่งทางฮอร์โมน สังคม และจิตวิทยา เพื่อให้การแปลงสภาพคงทนถาวรเข้าไปในจิตใจของเดวิด รายงานในวารสารทางการแพทย์ระบุว่าการผ่าตัดครั้งนั้นประสบความสำเร็จดีเยี่ยม เดวิดกลายเป็นคนไข้ที่โด่งดังที่สุดคนหนึ่ง (แม้ชื่อจริงของเขาจะไม่ถูกบันทึกไว้) ในประวัติศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่
ความโด่งดังไม่ได้เป็นผลมาจากข้อเท็จจริงเพียงว่า เดวิดคือทารกปรกติรายแรกที่เข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศเท่านั้น หากแต่โอกาสที่โครงการดังกล่าวจะประสบผลสำเร็จยังค่อนข้างริบหรี่อีกด้วย เนื่องจากเดวิดถือกำเนิดขึ้นมาพร้อมกับแฝดแท้อีกคน ซึ่งเป็นพี่น้องเพียงคนเดียวของเขาและตัวแปรเปรียบเทียบของการทดลอง เขามีลักษณะทางพันธุกรรมเหมือนเดวิดทุกประการ แต่มีองคชาตและอัณฑะที่ครบถ้วน สมบูรณ์ และถูกเลี้ยงดูให้เป็นผู้ชายปรกติ
การรายงานผลว่า ฝาแฝดทั้งสองเติบโตขึ้นมาในฐานะเด็กหญิงและเด็กชายที่มีความสุขเปรียบเสมือนหลักฐานชิ้นสำคัญ ยืนยันสมมุติฐานที่ว่า สภาพแวดล้อมมีผลต่อการกำหนดเพศของมนุษย์มากกว่าลักษณะทางกรรมพันธุ์ ตำราการแพทย์และสังคมวิทยาถูกปรับปรุงแก้ไขเพื่อรวมกรณีดังกล่าวเข้าไป การผ่าตัดแปลงเพศกลายเป็นขบวนการรักษาขั้นพื้นฐานสำหรับทารกที่เกิดมามีอวัยวะสืบพันธุ์ผิดปรกติ หรือได้รับบาดเจ็บ นอกจากนั้น กรณีดังกล่าวยังถูกใช้เป็นหลักฐานสนับสนุนข้ออ้างของกลุ่มเฟมินิสต์ช่วงยุค 1970 อีกด้วยว่า ช่องว่างระหว่างเพศเป็นผลมาจากตัวแปรทางวัฒนธรรมเพียงอย่างเดียว ไม่เกี่ยวข้องกับหลักการทางชีววิทยา สำหรับ ดร. จอห์น มันนี่ นายแพทย์หัวหน้าโครงการผ่าตัดแปลงเพศ ผลทดลอง “กรณีคู่แฝด” กลายเป็นชัยชนะที่โด่งดังและได้รับการยกย่องสูงสุดตลอดอาชีพการทำงานกว่าสี่สิบปี จนเขาถูกขนานนามให้เป็น “หนึ่งในนักวิจัยเรื่องเพศที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งศตวรรษ”
แต่แล้วข้อเท็จจริงที่ว่าการทดลองครั้งนั้นถือเป็นความล้มเหลวครั้งสำคัญก็ถูกเปิดเผยต่อสาธารณชนในวารสารทางการแพทย์โดย ดร. มิลตัน ไดมอนด์ นักชีววิทยาประจำมหาวิทยาลัยฮาวาย และ ดร. คีท ซิกมันด์สัน จิตแพทย์จากเมืองวิกตอเรีย ซึ่งรายงานถึงการต่อสู้ดิ้นรนตั้งแต่แรกเริ่มของเดวิดกับเพศหญิงที่แพทย์ยัดเยียดให้เขา ก่อนสุดท้ายจะหวนกลับไปใช้ชีวิตตามเพศดั้งเดิมที่กำหนดไว้แล้วในยีนและโครโมโซมเมื่ออายุได้สิบสี่ปี
“มันเหมือนการถูกล้างสมอง” เดวิดกล่าว “ผมยอมสูญเสียทุกอย่าง หากนักสะกดจิตสามารถลบอดีตทั้งหมดของผมได้ มันเป็นความทุกข์ทรมานแสนสาหัส สิ่งที่พวกเขาทำกับร่างกายคุณบางครั้งก็ไม่เจ็บปวดเท่าสิ่งที่พวกเขาทำกับจิตใจคุณเลย มันคล้ายสงครามประสาทในหัวสมอง”
เรื่องราวของ เดวิด ไรเมอร์ ทำให้ผมฉุกคิดขึ้นมาว่ามนุษย์เราสามารถ “เลือก” ที่จะเป็นได้จริงๆ หรือเมื่อพูดถึงประเด็นทางเพศ
หมายเหตุ: ข้อมูลเกี่ยวกับ เดวิด ไรเมอร์ แปลจากหนังสือ As Nature Made Him เขียนโดย จอห์น โคลาพินโต
2 ความคิดเห็น:
เขียนเก่งจังงงง.... ชอบอ่าน แต่แสดงความเห็นไม่ได้ เพราะไม่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้
ขอถามนิดเดียวละกานว่าเมื่อไหร่ หนังสือ As Nature Made Him ถึงจะแปลออกมาซะทีง่ะ อ่านแค่นิดเดียวยังรู้สึกเรยว่าเป็นหนังสือที่ดี...
หนังสือคงไม่ได้ออกแล้วครับ เพราะสำนักพิมพ์เปลี่ยนนโยบาย ทั้งๆ ที่จ่ายเงินค่าลิขสิทธิ์ไปแล้วด้วย จริงๆ มันเป็นหนังสือที่ดีมาก อ่านสนุกและให้ความรู้ ถ้าอยากอ่านบางส่วน (ผมแก้ต้นฉบับเอาไว้ส่วนหนึ่ง จากฝีมือการแปลของคนที่คุณก็รู้ว่าใคร... จริงๆ ถ้าต้นฉบับงานแปลดีกว่านี้ ไม่ต้องแก้มาก หนังสือคงได้ตีพิมพ์ไปแล้ว) ได้ที่
http://xq28.net/wow/viewtopic.php?f=7&t=2069
แสดงความคิดเห็น