วันเสาร์, มิถุนายน 24, 2560

T2 Trainspotting: กอบกู้เศษซากที่หลงเหลือ


ในระหว่างการกลับมาเยี่ยมเพื่อนซี้ที่โดนเขาหักหลัง เรนตัน (ยวน แม็กเกรเกอร์) พยายามจะไถ่ถอนความผิดเมื่อ 20 ปีก่อนด้วยการนำเงินส่วนแบ่ง 4,000 ปอนด์ที่เขาขโมยไปมาคืนให้ ไซมอน (จอนนี ลี มิลเลอร์) แต่นั่นไม่ได้ช่วยให้ฝ่ายหลังหายเดือดดาลแม้แต่น้อย 4,000 ปอนด์ ดอกเบี้ยก็ไม่มี จะเอาไปทำอะไรได้ ซื้อเครื่องย้อนเวลางั้นเหรอขณะเดียวกัน เพื่อนคนที่เขายกส่วนแบ่งให้เมื่อ 20 ปีก่อนอย่าง สปัด (อีเวน เบรมเนอร์) ก็ไม่ได้ดีใจที่ได้เห็นหน้าเพื่อนเท่าไหร่ แม้เรนตันจะเพิ่งช่วยชีวิตเขาได้ทันจากความพยายามฆ่าตัวตาย แกคิดว่าขี้ยาอย่างฉันจะเอาเงิน 4,000 ปอนด์ไปทำอะไรนี่ยังไม่ต้องพูดถึงหมาบ้าอย่าง เบ็กบี (โรเบิร์ต คาร์ไลล์) ซึ่งเฝ้าฝันอยากเชือดคอเรนตันไม่เว้นแต่ละวัน และตั้งแต่ฉากแรกคนดูจะเห็นว่าการใช้เวลา 20 ปีในคุกไม่ได้ช่วยให้เบ็กบีจิตใจสงบ หรือเย็นลงสักนิด

แต่ละคนเลือกจะโทษความเส็งเคร็งของชีวิตในปัจจุบันว่าเป็นผลจากการหักหลังของเรนตันเมื่อ 20 ปีก่อน โดยไม่ทันตระหนักว่าแม้กระทั่งคนที่ขโมยเงินพวกเขาไปเสวยสุขที่อัมสเตอร์ดัมก็หาได้ลงเอยอย่างสุขสันต์ ชีวิตแต่งงานของเรนตันจบลงด้วยการหย่าร้าง ไม่มีลูก ไม่มีงาน ไม่มีเพื่อน ไม่มีแม้กระทั่งที่พักขณะอายุล่วงเลยมา 46 ปี แถมสุขภาพยังเริ่มดิ่งลงเหวอีกต่างหาก แต่ปัญหาของเรนตันไม่ได้อยู่ตรงความเป็นไปได้ว่าตัวเองอาจอายุสั้น หรือตายก่อนวัยอันควร ตรงกันข้ามเมื่อหมอผ่าตัดหัวใจแก้ไขข้อผิดพลาดได้สำเร็จ พร้อมกับแจ้งข่าวดีว่าหัวใจเขาจะแข็งแรงเหมือนใหม่ ใช้ต่อไปได้อีก 30 ปี คำถามที่ตะโกนก้องในหัวเรนตันคือ กูจะอยู่ทำอะไรอีกตั้ง 30 ปี

ถ้าฉากจบของ Trainspotting อาจมีนัยยะคลุมเครือในจุดมุ่งหมาย เนื่องจากมันผสมปนเประหว่างความรู้สึก แฮปปี้ เอ็นดิ้ง (ตัวเอกหลบหนีจากชีวิตติดยา/อาชญากรรมได้สำเร็จด้วยการขโมยเงินสกปรกจากเพื่อนๆ) กับความเยาะหยัน (เขาได้หวนกลับไปสู่ชีวิตแบบที่เขาเคยปฏิเสธ/แปลกแยก) ฉากเปิดเรื่องของ T2 Trainspotting ดูจะช่วยเคลียร์ความเข้าใจได้ทันทีว่ามันโน้มเอียงมาทางอย่างหลังมากกว่า เพราะการ เลือกชีวิตของ มาร์ค เรนตัน หาได้หมายถึงความสุขตลอดไป และที่น่าขำขื่นยิ่งขึ้น คือ เขาหัวใจวายขณะกำลังวิ่งอยู่บนสายพายในฟิตเนส ขณะกำลังใช้ชีวิตในแบบพิมพ์นิยมของชนชั้นกลาง แตกต่างจากชีวิต ขบถขี้ยาอย่างที่เขาเป็นมาในช่วงวัยรุ่น (การตัดสลับช็อตสุดท้ายของหนังภาคแรกเข้ามาไม่เพียงจะช่วยเชื่อมโยงตัวละครหลังเวลาผันผ่านไป 20 ปีเท่านั้น แต่ยังช่วยสานต่อเรื่องราวด้วยว่ามาร์คลงเอยใช้ชีวิตตามที่เสียงวอยซ์โอเวอร์ของเขาบอกคนดูเอาไว้ในตอนจบของ Trainspotting จริง)

แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่ามาร์คจะมีชีวิตที่ดีกว่า หากเขาไม่ได้เลือกหักหลังเพื่อนแล้วกลับตัวกลับใจเป็นคนดี มีงานมีการทำ มีทีวีจอใหญ่ เครื่องซักผ้า รถยนต์ ฯลฯ ตัวอย่างมีให้เห็นแล้วในกรณีของสปัด ซึ่งไม่อาจสลัดหลุดจากอำนาจของยาเสพติด จนสุดท้ายก็ต้องเสียงาน ลูกเมีย และกำลังมุ่งหน้าสู่ความตายก่อนเรนตันจะโผล่มาทำลายแผน ดูเหมือนไม่ว่าคุณจะเลือกชีวิต หรือเลือกผลาญชีวิต สุดท้ายหายนะและความผิดหวังย่อมหาคุณจนเจอในที่สุด

T2 Trainspotting ดัดแปลงคร่าวๆ จากนิยายของ เออร์วิน เวลช์ เรื่อง Porno ซึ่งเป็นภาคต่อของ Trainspotting เล่าถึงชีวิตของตัวละครต่างๆ หลังเวลาผ่านไป 10 ปี แต่ในเวอร์ชั่นหนังของ แดนนี บอยล์ เหตุการณ์เกิดขึ้นหลังภาคแรกถึง 20 ปีตามเวลาจริง (Trainspotting ออกฉายเมื่อ 21 ปีที่แล้ว) ฉะนั้นมาร์คกับผองเพื่อนจึงก้าวย่างเข้าสู่วัยกลางคนเต็มตัว และต่างพบว่าชีวิตไม่ได้ดำเนินไปตามที่คาดหวังไว้ ความบ้าดีเดือด อิสรภาพแห่งวัยหนุ่มพลุ่งพล่านที่ไม่สนใจกฎ หรือธรรมเนียมปฏิบัติถูกแทนที่ด้วยความเศร้า อาการติดแหง็กอยู่กับอดีตดังจะเห็นได้จากการยืนกรานให้ลูกชายเจริญรอยตามเส้นทางโจรของเบ็กบี โดยไม่สนใจว่าเด็กหนุ่มวางแผนจะลงเรียนการโรงแรมในวิทยาลัย และไม่อยากสืบทอด กิจการครอบครัว แต่แน่นอนว่าเบ็กบีไม่ยอมฟังเสียงคัดค้านใดๆ และสุดท้ายภารกิจยกเค้าครั้งแรกของสองพ่อลูกก็จบลงอย่างน่าผิดหวัง ไม่ต่างจากความพยายามจะมีเซ็กซ์ระหว่างเบ็กบีกับภรรยา

ไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าคนที่ใช้เวลาอยู่ในคุกนานสองทศวรรษจะยึดมั่นอยู่กับอดีต แต่ในแง่หนึ่งมาร์คเองก็ไม่ต่างจากเบ็กบีสักเท่าไหร่ เขาไม่อาจเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่อัมสเตอร์ดัมได้ และสุดท้ายก็ต้องกลับมาเผชิญหน้าภูติผีแห่งอดีตที่เอดินบะระ โดยภูติผีเชิงสัญลักษณ์ถูก แดนนี บอยล์ ถ่ายทอดเป็นรูปธรรมชัดเจนในฉากที่เงาของแม่มาร์คทาบทับผนังบ้านเหมือนเธอกำลังนั่งร่วมโต๊ะอาหาร ขณะพ่อเขาเล่าว่าทุกอย่างในห้องนอนมาร์คถูกแช่แข็งไว้เหมือนเดิมเพราะคุณนายเรนตันเชื่อว่าสักวันลูกชายจะต้องกลับมา ซึ่งก็เป็นจริง เพียงแต่เธอไม่มีโอกาสได้อยู่เห็นวันนั้น

ในฉากหนึ่ง มาร์คพาสปัดไปวิ่ง พร้อมกับเสนอแนะให้เขาเปลี่ยนถ่ายอาการเสพติดจากโคเคน หรือเฮโรอีนไปยังสิ่งอื่น เพราะขี้ยาระดับฮาร์ดคอร์อย่างพวกเขาไม่มีวันหยุดไปดื้อๆ โดยไม่มีสิ่งอื่นให้ยึดเหนี่ยว ให้เสพติดแทนและควบคุมมันได้ หลายคนเลือกที่จะวิ่งออกกำลังกาย หรือชกมวย หรืออย่างอื่นแล้วแต่ต้องการ เมื่อสปัดถามว่าเขาเลือกอะไร คำตอบของเขาคือ หลบหนีแต่หลบหนีจากอะไร เขาไม่ได้อธิบายต่อ สภาพแวดล้อมอันหดหู่? ชีวิตขี้ยา? ความผิด/รู้สึกผิด? ถ้าเหล่าโปรเตสแตนต์ที่ถูกมาร์คกับไซมอนขโมยบัตรเครดิตไปรูดลุ่มหลงอยู่กับชัยชนะแสนหวานเมื่อหลายร้อยปีก่อน จนไม่อยากตื่นมาเผชิญความจริงในโลกสมัยใหม่ภายใต้การปกครองของสหราชอาณาจักร มาร์คเองก็ติดแหง็กไม่ต่างกัน แต่ในวังวนของการพยายามวิ่งหนีจากฝันร้าย จากอดีตอันขมขื่น

กระนั้นท่ามกลางประสบการณ์เลวร้าย เช่น การตายของทอมมี ซึ่งมาร์คก็มีส่วนรับผิดชอบ ในระหว่างช่วงเวลาแห่งการเผาผลาญวัยเยาว์ไปกับพฤติกรรมไร้แก่นสาร เช่น เสพเฮโรอีน ชีวิตของมาร์คในเอดินบะระกลับเปี่ยมความหมาย หยั่งรากลึกกว่า 20 ปีในอัมสเตอร์ดัม ซึ่งท้ายที่สุดปลดเปลื้องเขาให้เหลือเพียงกระเป๋าเล็กๆ หนึ่งใบ ไม่แตกต่างจากตอนที่เดินทางไปพร้อมกระเป๋าใส่เงิน 12,000 ปอนด์ และความหวังที่จะลงหลักปักฐาน สร้างชีวิตใหม่ เขาไม่ได้ทิ้งร่องรอยใดๆ ไว้ที่นั่น ไม่มีเยื่อใยหลงเหลือ ตรงข้ามกับมิตรภาพและความรักของครอบครัวที่ยังรอคอยเขาอยู่เสมอในเอดินบะระ แม้ว่าเพื่อนบางคนอาจต้อนรับด้วยกำปั้นแทนอ้อมกอดในช่วงแรก เนื่องจากเคยถูกมาร์คหักหลัง แต่จนแล้วจนเล่าสายสัมพันธ์ระหว่างพวกเขาแน่นแฟ้นเกินกว่าจะตัดขาด

ภาพเปรียบเทียบระหว่างประสบการณ์เฉียดตายของมาร์ค (ในฟิตเนสท่ามกลางคนแปลกหน้า) กับสปัด (ในอ้อมแขนของเพื่อนที่คอยรับเขาไว้ไม่ให้ร่วงหล่น) พิสูจน์ให้เห็นว่าทำไมมาร์คถึงตัดสินใจอยู่ช่วยไซมอนปั้นฝันในการดัดแปลงบาร์ร้างคนให้กลายเป็นซ่องชั้นสูง (หรือที่เขาเรียกว่า ซาวน่า”) มันไม่ใช่เพราะเขาไม่เหลือทางเลือกอื่นที่ดีกว่าเท่านั้น แต่เป็นเพราะเขาอยากจะทำเพื่อเพื่อนที่สนิทที่สุดเพียงคนเดียวของเขา

หนังไม่เพียงเป็นการทบทวนความหลังระหว่างมาร์คกับไซมอนเท่านั้น แต่ยังเป็นเหมือนเครื่องย้อนเวลาสำหรับนักดูหนังในยุค 90 อีกด้วย อารมณ์ ถวิลหาอดีตที่ไซมอนกล่าวหามาร์คตอนพวกเขาเดินทางไปไว้อาลัยให้กับทอมมี อาจใช้อธิบายตัวหนัง T2 Trainspotting ควบคู่ไปด้วยในคราวเดียวกัน แดนนี บอยล์ พยายามปลุกวิญญาณของหนังภาคแรกด้วยวิธีหลากหลาย ตั้งแต่แบบตรงไปตรงมาอย่างการหยิบหลายฉากจำสุดคลาสสิกมาฉายซ้ำ เปรียบเทียบ นำเพลง ซึ่งเป็นนิยามของหนังภาคแรกอย่าง Lust for Life ของ อิกกี้ ป็อป มาเปิดซ้ำ ไปจนถึงวิธีที่ยอกย้อนขึ้นหน่อยอย่างการใช้เทคนิคภาพคุ้นตา (ฟรีซ เฟรม, กล้องมุมเอียง) หรือการเลือกให้เบ็กบีเผชิญหน้ากับมาร์คในห้องน้ำ ซึ่งทำให้คนดูย้อนนึกไปถึงฉากมุดโถส้วมอันลือลั่นในภาคแรก

แน่นอนอายุที่เพิ่มมากขึ้นของทีมงาน ของตัวละครย่อมทำให้อารมณ์โดยรวมของหนังย่างเข้าใกล้ความหม่นเศร้า หดหู่มากกว่าจะเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังคึกคัก หรือวิญญาณขบถเหมือนในภาคแรก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าหนังจะแร้นแค้นอารมณ์ขันเสียทีเดียว (ส่วนใหญ่มักตกอยู่บนบ่าของสปัดกับเบ็กบีเป็นหลัก) ขณะเดียวกัน บอยล์ก็พยายามพิสูจน์อย่างเต็มที่ว่าเขาไม่ใช่ตาแก่ที่หลงลืมความกระฉับกระเฉงแห่งวัยเยาว์ ผ่านมุมกล้องหวือหวาและการตัดภาพแบบฉับไว ซึ่งถือเป็นเครื่องหมายการค้าของเขามานานนม (เขาคงเป็นผู้กำกับคนเดียวที่ถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับผู้ชายที่ตกลงไปติดอยู่ในซอกหินจนต้องเลื่อยแขนตัวเองทิ้งเพื่อเอาชีวิตรอดด้วยการเคลื่อนกล้อง ตัดภาพสุดสวิงสวายยิ่งกว่าหนังแข่งรถ) แต่ทั้งหมดทั้งมวลไม่ได้ให้ความรู้สึกแปลกใหม่ หรือน่าตื่นตาเหมือนเมื่อ 20 ปีก่อนอีกต่อไป

แง่มุมวิพากษ์สังคมสมัยใหม่ หรือระบบทุนนิยมที่เคยเข้มข้น ให้อารมณ์เสียดสีเยาะหยันในภาคแรกถูกลดทอนลงจนเกือบจะเป็นศูนย์ (ซึ่งก็ไม่น่าแปลกอีกเช่นกันเพราะคนเราเมื่อเริ่มแก่ตัว อายุมากขึ้น อุดมการณ์ที่เคยร้อนแรงเดือดพล่านก็มักจะค่อยๆ ดับลง) แม้จะยังหลงเหลือกลิ่นอายอยู่บ้างเมื่อมาร์คอธิบายความหมายของวลี เลือกชีวิตให้ เวโรนิกา (แอนเจลา เนดยัลโควา) ฟัง (“เลือกเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ สแนปแชต อินสตาแกรม และอีกหลายพันวิธีเพื่อก่นด่าคนที่คุณไม่เคยรู้จัก เลือกอัพเดทโปรไฟล์ บอกให้โลกรู้ว่าคุณกินอะไรมื้อเช้าและหวังว่าจะมีใครสักคน ณ ที่ไหนสักแห่งสนใจ...ปฏิสัมพันธ์ถูกลดค่าให้เหลือเพียงแค่ข้อมูล”)

โดยรวมแล้ว T2 Trainspotting มีความเรียบง่าย ตรงไปตรงมาขึ้นทั้งในแง่เนื้อหาและอารมณ์ น่าสนใจว่าบอยล์กับแม็กเกรเกอร์อาจจะอินเรื่องราวในหนังเป็นพิเศษ ซึ่งโฟกัสไปยังการปรองดอง การหันกลับมาเผชิญหน้าอดีตอันขมขื่น เพราะเพิ่งจะผ่านประสบการณ์ในทำนองเดียวกับมาร์คและไซมอน ทั้งสองเป็นคู่หูดารา-ผู้กำกับที่สนิทสนมกลมเกลียวกันตลอดหนังสามเรื่อง (Shallow Grave, Trainspotting, A Life Less Ordinary) จนกระทั่ง The Beach สร้างรอยร้าวที่กินเวลายาวนานนับ 10 ปี (แม็กเกรเกอร์ถูกหลอกล่อให้เชื่อว่าเขาจะได้รับบทนำ แต่สุดท้ายบอยล์กลับมอบบทนี้ให้กับ ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ) ด้วยเหตุนี้จึงไม่แปลกหาก T2 Trainspotting จะเดินหน้าไปสู่ตอนจบแบบ แฮปปี้ เอ็นดิ้ง (เช่นเดียวกับชีวิตจริงของบอยล์และแม็กเกรเกอร์) โดยไม่แฝงนัยยะเยาะหยันใดๆ เวโรนิกาได้กลับไปหาลูกน้อย สปัดเลือกวิธีเลิกยาด้วยการถ่ายทอดชีวิตลงในงานเขียนแทนการชกมวย เบ็กบีถูกส่งกลับคุกซึ่งเหมาะกับเขา และมาร์คย้ายไปอยู่ในห้องเดิม ล้อมรอบด้วยวอลเปเปอร์ลายรถไฟเดิมๆ และเปิดเพลงเดิมๆ ฟังอีกครั้ง ขณะภาพอดีตถูกตัดแวบเข้ามาเปรียบเทียบ... ชีวิตของ มาร์ค เรนตัน อาจวนกลับมายังจุดเดิม แต่อย่างน้อยเขาก็หยุดวิ่งหนีแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น: