วันอาทิตย์, กันยายน 25, 2559

The Neon Demon: พลีกายขายวิญญาณ



ในภาษาอังกฤษมีสำนวนเปรียบเปรยที่หลายคนอาจจะคุ้นหูกันดีว่า “It’s a dog-eat-dog world” หมายถึงสถานการณ์ ซึ่งผู้คนสามารถทำทุกอย่างเพื่อให้ประสบความสำเร็จ โดยไม่สนใจว่าอาจต้องเหยียบหัวใคร หรือทำร้ายใครบ้าง หรือถ้าพูดอีกอย่าง คือ คนที่จะอยู่รอดบนโลกแบบนี้ได้ต้องแข็งแกร่ง และยินดีทำทุกอย่าง แม้ว่ามันจะขัดแย้งหลักการ หรือศีลธรรมอันดีก็ตาม ทุกคนต่างดิ้นรนเพื่อตัวเอง ส่วนคนที่อ่อนแอ ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ย่อมถูกกำจัดไปในที่สุด  ที่มาของสำนวนดังกล่าวอาจสืบย้อนไปไกลถึงภาษิตเมื่อปี 1858 ที่บอกว่า หมาจะไม่กินหมา โดยสำนวนใหม่ ซึ่งเริ่มต้นใช้ในช่วงปี 1931 พัฒนาขึ้นเพื่อสะท้อนสภาพสังคมว่าเต็มไปด้วยการแก่งแย่งชิงดีจนกระทั่งหมายังต้องกินหมา

อาจพูดได้ว่าข้างต้นเป็นมุมมองของ นิโคลัส วินดิง เรฟิน ต่อวงการแฟชั่นในผลงานชิ้นล่าสุดของเขาเรื่อง The Neon Demon มันอาจไม่ใช่สารที่แปลกใหม่อะไร แต่ความฮือฮาน่าจะอยู่ตรงที่เรฟินเลือกจะนำคำเปรียบเปรยดังกล่าวมาดัดแปลงให้เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน การกินเนื้อพวกเดียวกันเองในแง่หนึ่งคือสัญลักษณ์แทนความวิปริตในโลกแห่งแสงสีและแสงแฟลช เมื่อทุกคนต่างดิ้นรนต่อสู้กับเวลาและสังขาร

การแก่งแย่งชิงดีในวงการบันเทิงไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เช่นเดียวกับพล็อตหนังของ The Neon Demon เกี่ยวกับเด็กสาวบ้านนาที่เดินทางเข้ามาในเมืองใหญ่พร้อมความฝันสวยหรู แต่ต้องเผชิญหน้ากับแรงต่อต้านจากเจ้าถิ่นเก่า ซึ่งถูกคุกคามโดยวัยเยาว์และความงามอันบริสุทธิ์ มันเป็นโครงสร้างที่ถูกนำมารีไซเคิลซ้ำแล้วซ้ำเล่า นับตั้งแต่หนังไฮเอนด์อย่าง All About Eve ไปจนถึงหนังโลว์เอนด์อย่าง Showgirls แต่ก็เช่นเดียวกับ Drive ผลงานที่สร้างชื่อในระดับนานาชาติให้ผู้กำกับชาวเดนมาร์ก พล็อตซ้ำซากเป็นเหมือนขนมหวานที่เปิดโอกาสให้เรฟินได้พลิกแพลง ใส่เอกลักษณ์เพื่อสร้างรสชาติพิเศษ แปลกแปร่ง แต่ในเวลาเดียวกันก็ให้ความรู้สึกคุ้นเคยไปด้วย

ความแตกต่างจาก Drive อยู่ตรงที่เรฟินยังคงอารมณ์ค้างมาจากผลงานชิ้นก่อน นั่นคือ Only God Forgives จึงเติมเต็มพื้นที่ว่างในพล็อตด้วย มาดหนังอาร์ตแบบที่คนดูไม่ค่อยพบเห็นในหนังเล่าเรื่องกระแสหลัก โดยเทียบไปแล้วก็อาจคล้ายกับหนังแอ็กชั่นโป๊เปลือยแบบที่ เบอร์นี โรส (อัลเบิร์ต บรู้คส์) เล่าให้ตัวละครเอกฟังใน Drive นั่นแหละ นักวิจารณ์บอกอาร์ตดี แต่ฉันว่าห่วยเขากล่าว หนังของเรฟินอาจเริ่มต้นจากการดำเนินเรื่องตามแนวทาง หรือสูตรสำเร็จ แต่สุดท้ายแล้วไม่ได้มุ่งหวังเพื่อตอบสนอง หรือเติมเต็มสูตรสำเร็จในแนวทางนั้น เหมือนกับที่หนังแอ็กชั่นโป๊เปลือยของ เบอร์นี โรส ที่มีความเป็น ยูโรเปียน แต่อาจไม่ตอบสนองความบันเทิงพื้นฐานอันเป็นจุดมุ่งหมายหลักของหนังในแนวทางนี้ได้ และแน่นอนนั่นจึงมักจะเป็นสาเหตุให้มันถูกตัดสินจากกลุ่มคนดูทั่วไปว่า ห่วย

อันที่จริงความอาร์ตกับความห่วยเป็นสิ่งที่หนังของเรฟินเดินไต่บนเส้นแบ่งด้วยความสุ่มเสี่ยงมาโดยตลอด จึงไม่น่าแปลกใจที่หนังของเขา โดยเฉพาะสองเรื่องล่าสุด ได้รับคำวิจารณ์ก้ำกึ่งในลักษณะชอบและเกลียดแบบสุดโต่ง ความเป็นอาร์ตของหนังเขาอาจสังเกตได้จากงานด้านภาพอันประณีต สัญลักษณ์ ความคลุมเครือที่เปิดประตูให้ตีความได้หลากหลาย และการเพิกเฉยต่อการเล่าเรื่องตามธรรมเนียมปฏิบัติ แต่ขณะเดียวกันหนังของเขาก็มักจะเลยเถิดไปสู่ความเลอะเทอะ หรือหนักมือใหญ่โตจนบางครั้งก็น่าหัวเราะอยู่ไม่น้อย เรียกได้ว่าความลุ่มลึก หรือรสนิยมอันดีไม่ใช่ข้อได้เปรียบของเรฟิน ด้วยเหตุนี้หนังของเขาจึงอาจปรากฏความรุนแรงในระดับใกล้เคียงกับการ์ตูน แต่นำเสนอด้วยท่าทีขึงขังจริงจัง จนบางครั้งก็ไม่อาจแน่ใจได้ว่ามันเป็นการฉกฉวยโอกาสช็อกคนดูแบบง่ายๆ ในสไตล์หนัง exploitation หรือเปล่า ดังจะเห็นได้จากฉากตัวละครเอกกระทืบคู่อริจนหัวแบะใน Drive ฉากกรีดตาแทงหูใน Only God Forgives และฉากกินตามนุษย์ใน The Neon Demon หรือบางครั้งมันอาจไม่ใช่ความรุนแรง แต่เป็นความสุดโต่งไปอีกแบบอย่างการมีเพศสัมพันธ์กับศพ

รายละเอียดบางอย่างใน The Neon Demon ดูจะสอดรับกับแนวคิด อาร์ตผสมเกรดบีอยู่ไม่น้อย รายละเอียดซึ่งคงมีอยู่แต่ในหนังของเรฟินเท่านั้น ไม่ใช่ในโลกแห่งความจริง เช่น ช่างแต่งหน้าวงการแฟชั่น ทำงานให้ตากล้องและดีไซเนอร์ชั้นนำ ที่รับจ๊อบแต่งศพควบไปด้วย หรือการแปลงร่างจากหนังสะท้อนแวดวงแฟชั่น การไต่เต้าเพื่อชื่อเสียง ความสำเร็จในช่วงครึ่งแรก ไปสู่หนังสยองเลือดสาดเจือเบาะแสเกี่ยวกับแม่มด หรือลัทธิประหลาดตามสไตล์หนังของ ดาริโอ อาร์เจนโต ในช่วงครึ่งหลัง ซึ่งจุดนี้อาจสร้างปัญหาให้นักดูหนังบางคนที่ไม่คุ้นเคยกับผลงานก่อนหน้าของเรฟิน แล้วมองว่าหนังกำลังเลยเถิดออกสู่มหาสมุทร แม้ว่าในเชิงสัญลักษณ์การกินเนื้อมนุษย์ หรืออาบเลือดสาวพรหมจรรย์เพื่อคงความสาวไว้ตลอดกาล (ซึ่งอ้างอิงมาจากตำนานของ อลิซาเบ็ธ บาโธรี ฆาตกรต่อเนื่องในฮังการี ผู้ได้รับฉายาว่าเป็น เคาน์เตส แดรกคูลา) อาจไม่ได้แปลกแยกจากเนื้อหาเกี่ยวกับการเทิดทูนวัยเยาว์และเปลือกนอกของมนุษย์สักเท่าไหร่

น่าสนใจว่ารูบี้ (เจนา มาโลน), จีจี้ (เบลลา ฮีธคอต) และ ซาราห์ (แอบบี ลี) เลือกจะกินเนื้อหนัง ดื่ม/อาบเลือดของเจสซี (แอลล์ แฟนนิง) ไม่ใช่เพื่อให้ได้ความงามภายนอก แต่เพื่อครอบครองพลังภายในบางอย่างของเจสซี พลังที่ช่วยดึงดูดทุกสายตาให้หันมาจับจ้อง สนใจ และชื่นชม ดุจเดียวกับดวงอาทิตย์กลางฤดูหนาว กลยุทธ์ดังกล่าวดูจะได้ผลดีในส่วนของซาราห์ เมื่อเธอกลายเป็นที่สนใจของตากล้องให้มาถ่ายงานแทนนางแบบอีกคน แต่พลังบริสุทธิ์จากร่างที่งดงามโดยธรรมชาติดูจะกลายเป็นของแสลงสำหรับหญิงสาวผู้สวยด้วยมือแพทย์ตลอดทั้งร่างอย่างจีจี้ จนเธอต้องประสบชะตากรรมชวนสยองผสมสังเวช เหมือนการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะที่ล้มเหลวไม่เป็นท่าเพราะร่างกายของผู้รับปฏิเสธสิ่งแปลกปลอม ซึ่งเริ่มกัดกินจากภายในเพื่อไปหาเจ้าของที่แท้จริง หรือคนที่สามารถยอมรับข้อตกลงของซาตานได้อย่างปราศจากเงื่อนไข และใจเหี้ยมพอจะทำทุกอย่างเพื่อความสำเร็จ แม้กระทั่งกินเพื่อนนางแบบที่มาแย่งงานดังเช่นซาราห์ (ในช่วงกลางเรื่องเราจะเห็นความสิ้นหวังของเธอเมื่อพลาดงานเดินแบบจนถึงขนาดพยายามจะดื่มเลือดของเจสซี)

เช่นเดียวกับหนังเกี่ยวกับการหมุนเวียนเปลี่ยนผ่านในวงการบันเทิง เจสซีเป็นตัวละครที่แสดงให้เห็นพัฒนาการเด่นชัด และทัศนคติของคนดูต่อเธอก็พลิกผันไปมาจากต้นเรื่องสู่ท้ายเรื่อง เธอเริ่มต้นในฐานะ เหยื่อ เป็นเด็กสาวบ้านนอกที่ดูไม่ค่อยจะประสีประสากับอันตรายในเมืองกรุง ความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับ ดีน (คาร์ล กลัสแมน) และเธอกับรูบี้แขวนอยู่บนเส้นด้าย จนสามารถพลิกผันจากดีเป็นร้ายได้ตลอดเวลา คนแรกชอบเธอมากกว่าเพื่อนและการรู้จักผ่านทางอินเทอร์เน็ตก็ช่วยสร้างความเคลือบแคลง หวาดระแวงได้ไม่น้อย ขณะที่คนหลังพาเธอไปเที่ยวชมผับประหลาด ซึ่งดูเย้ายวนและน่าหวาดหวั่นไปพร้อมๆ กัน ไม่ต่างจากสองนางแบบเพื่อนสนิทของรูบี้ ซึ่งดูไม่ค่อยเป็นมิตร หรือเฉยชาเกินกว่าจะคบหาจริงจังได้

หนังทำท่าจะนำเสนอเธอในฐานะผ้าขาวที่แปดเปื้อนราคะ ความบริสุทธิ์ที่ถูกพลัดพราก เป็นวัตถุซึ่งถูกจับจ้องด้วยแววตากระหาย คุกคาม ก่อนจะโดนบ้วนทิ้งเมื่อหมดรสชาติดุจเดียวกับผู้มาก่อนอย่างจีจี้และซาราห์ แต่ในเบื้องลึกเจสซีดูจะตระหนักดีว่าเธอ มีของ ความงามเป็นสิ่งที่เธอหวังจะนำมาเร่ขายแทนทักษะ หรือสติปัญญา หนังนำเสนอให้เห็นหลายครั้งหลายคราว่าเธอหาได้ไร้เดียงสา หรือผุดผ่องเสียทีเดียว ทั้งโดยทางตรง เช่น รอยยิ้มกริ่มอย่างสะใจเมื่อดีไซเนอร์เลือกเธอเป็นนางแบบ หรือโดยทางอ้อม เช่น สิงโตภูเขาที่บุกเข้ามาในห้องพักเธอ รู้มั้ยแม่เคยเรียกฉันว่าอะไร อันตราย เธอเป็นเด็กที่อันตราย แม่พูดถูก ฉันอันตราย เธอกล่าวกับรูบี้ในช่วงท้าย

กระทั่งดีนเอง ดูเหมือนเธอก็จะมองออกว่าเขาต้องการอะไร เธอยอมไปเดทกับเขาเพื่อผลประโยชน์ และยั่วยวนอย่างแนบเนียนเพื่อให้เขาติดกับ แต่ก่อนทุกอย่างจะเลยเถิด เธอรีบบอกข้อมูลว่าตัวเองยังไม่บรรลุนิติภาวะเพื่อกันเขาให้อยู่นอกเขตแดน และต่อมาเมื่อไต่เต้าไปจนถึงจุดที่ต้องการ เธอก็พร้อมจะเขี่ยเขาทิ้งอย่างไม่ใยดี

จุดพลิกผันสำคัญน่าจะเป็นตอนที่เจสซีได้รับเลือกให้เดินปิดท้ายแฟชั่นโชว์ ซึ่งหนังนำเสนอในลักษณะความฝัน หรือภาพนิมิตของสามเหลี่ยมปริศนา ที่ได้อิทธิพลมาจากตำนานนาร์ซิสซัส นายพรานผู้หลงใหลภาพสะท้อนของตัวเอง อีกทอดหนึ่ง โดยในฉากดังกล่าวคนดูจะเห็นเจสซีมองดูตัวเองในปริซึมกระจก ก่อนจะจูบภาพสะท้อนของตัวเอง แล้วกลายเป็นหนึ่งเดียวกับมัน หลังจากนั้นเจสซีก็เหมือนเกิดใหม่ กลายเป็นคนละคน (ช็อตถัดจากงานแฟชั่นโชว์เป็นภาพเธอในลุคที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงเดินแหวกม่านเข้ามาในห้อง) เธอโอบกอดความหลงตัวเอง ยอมรับข้อตกลงของซาตาน แล้วกลายเป็นตัวแทนของปีศาจ เมื่อดีนแสดงท่าทีไม่เห็นชอบกับความเห็นของดีไซเนอร์ว่าสิ่งที่อยู่ข้างในไม่สำคัญเท่ากับรูปลักษณ์ภายนอก (“ถ้าเธอไม่สวย นายก็คงไม่หยุดมองด้วยซ้ำ”) เจสซีกลับขับไล่เขาอย่างไม่ใยดี

ชะตากรรมของเจสซีในตอนท้ายไม่ได้ถูกนำเสนอในฐานะบทลงโทษของผู้หลงตัวเองเสียทีเดียว แต่ออกจะเอนเอียงไปทางการแพร่กระจายของเชื้อร้าย หรือการถ่ายทอดตะขาบจากรุ่นสู่รุ่น เชื้อร้ายของความลุ่มหลงในรูปกาย ในความงามของตัวเอง ซึ่งจะว่าไปแล้วมันก็เป็นมุกตลกร้ายอยู่ไม่น้อยเมื่อ นิโคลัส เวนดิง เรฟิน ผู้กำกับที่มักจะโดนครหาว่าให้ความสำคัญกับสไตล์เหนือสาระ ลุ่มหลงในความงามฉาบฉวย และทำหนังในลักษณะสำเร็จความใคร่ทางสุนทรียะ เลือกเป็นคนกระโดดลงมาสะท้อนความฟอนเฟะ ความปลอมเปลือกของวงการแฟชั่น 

ความงามไม่ใช่ทุกอย่าง แต่เป็นแค่อย่างเดียว ในแง่หนึ่งคำพูดของตัวละครในหนังเหมือนจะสามารถสรุปภาพรวมของ The Neon Demon ได้อย่างชัดเจนไปในตัว

ไม่มีความคิดเห็น: