วันเสาร์, ธันวาคม 27, 2551

เมื่อรักผันผ่านไปตามวัย


เข้าใจว่าทีมผู้สร้างเห็นควรตั้งชื่อ ฝัน หวาน อาย จูบ เพราะมันน่าจะจดจำได้ง่ายสุด แม้ตัวหนังจะเรียงลำดับเรื่องราวเป็น จูบ อาย หวาน ฝัน ซึ่งถ้าให้จำก็คงไม่ค่อยติดหู ความจริง ผมค่อนข้างเห็นด้วยกับการเรียงลำดับหนังสี่เรื่อง เมื่อพิจารณาตามจังหวะการผ่อนหนักผ่อนเบาอารมณ์คนดู (ลองคิดดูสิว่าจะเกิดอะไรขึ้น ถ้า จูบ กลายเป็นเรื่องสุดท้ายตามชื่อหนัง!?!) แต่ขณะเดียวกันก็อดคิดไม่ได้ว่า อาจจะดีกว่าไหมในแง่ภาพรวม ถ้าหนังเลือกเรียงลำดับเรื่องราวตามวัยของตัวละครเพื่อแสดงให้เห็นพัฒนาการ ซึ่งก็จะออกมาเป็น ฝัน จูบ อาย หวาน แต่ก็อีกนั่นแหละ การจบหนังด้วยเรื่อง หวาน อาจสร้างความหดหู่ หรือซึมเศร้าให้คนดูมากเกินไป เมื่อเทียบกับการจบหนังด้วยเรื่อง ฝัน หรือ อาย

หากมองจากสไตล์ อารมณ์ หรือเรื่องราว หนังเรื่อง ฝัน หวาน อาย จูบ แทบจะปราศจากจุดเชื่อมโยงใดๆ แต่ในความเหมือนจะไร้เอกภาพดังกล่าวกลับสะท้อนภาพรวมที่น่าสนใจเอาไว้ เกี่ยวกับมุมมองความรัก ชีวิต และการเติบโตของมนุษย์ผันผ่านตามวัย เนื่องจากหนังทั้งสี่เรื่องดำเนินเหตุการณ์ในช่วงวัยที่แตกต่างกัน เริ่มจากวัยแรกรุ่น (ฝัน) วัยรุ่น (จูบ) วัยหนุ่มสาว (อาย) และวัยกลางคน (หวาน)

เช่นเดียวกับโอ๋เล็กใน ปิดเทอมใหญ่ฯ ต้นข้าวใน “ฝัน” ใช้เวลาส่วนใหญ่หมกมุ่นอยู่กับคนดังที่เธอคลั่งไคล้ และด้วยวัยที่ยังเด็ก (เธอเริ่มสังเกตเห็นเสน่ห์แห่งเพศตรงข้าม แต่อาจยังไม่ก้าวไกลถึง “เสน่ห์ทางเพศ”) เธอจึงมีจินตนาการกว้างไกล มองเห็นความเป็นไปได้ถึงสุดขอบฟ้า แต่ดันมองข้ามความงามตรงเบื้องหน้า เนื้อหาของหนังดูจะดำเนินตามสูตรสำเร็จของ The Wizard of Oz (พร้อมสรรพด้วยฉากร้องเพลง) นั่นคือ การเดินทางจากโลกแห่งความฝันสู่โลกแห่งความเป็นจริง เมื่อเธอพลันตระหนักในที่สุดว่าวงออกัสไม่ได้สวยงาม เลอเลิศเหมือนดังที่เธอวาดฝันไว้ โดยในความฝัน พวกเขายอมแลกส่วนหนึ่งของวิญญาณเพื่อชื่อเสียง ส่วนในโลกแห่งความเป็นจริง พวกเขาก็ยังคลั่งไคล้ดารา (พี่เบิร์ด) ไม่ต่างจากมนุษย์ธรรมดาทั่วไป

บทสรุปของ “ฝัน” แม้จะมองเห็นมาแต่ไกล แต่กลับให้ความรู้สึกสมจริงและเติบใหญ่กว่าบทสรุปของโอ๋เล็กในปิดเทอมใหญ่ฯ ซึ่งลงเอยด้วยการพบเจอนักร้องหนุ่มที่เธอคลั่งไคล้ แถมสุดท้ายยังได้บัตรฟรีไปร่วมคอนเสิร์ตของเขาอีกแน่ะ… คงต้องใช้เวลาอีกสักพักกว่าโดโรธีคนนี้จะค้นพบว่าพ่อมดออซก็เป็นแค่ตาแก่เล่นกลธรรมดา

“จูบ” เป็นเรื่องราวความรักผสมกลิ่นอายทางเพศของวัยรุ่นที่กำลังพลุ่งพล่าน ด้วยเหตุนี้ สไตล์หนังจึงดูจะอัดแน่นไปด้วยสีสันฉูดฉาด เสียงเพลงสนั่น เสียงประกอบหลากหลาย และเทคนิคหวือหวาอีกมากมาย โลกของวัยรุ่นเป็นโลกปิด พวกเขาหมกมุ่นเกี่ยวกับอารมณ์ทางเพศ ความรัก และพยายามปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย ส่งผลให้ในสายตาของผู้ใหญ่ เรื่อง “สำคัญ” ของวัยรุ่นกลับกลายเป็นเรื่องที่ดูไร้สาระเสียเหลือเกิน เช่น เมื่อกาก้ายืนกรานให้หมีเปลี่ยนชื่อ เพราะเธอไม่อยากถูกเพื่อนๆ ล้อ (น่าประหลาดตรงที่ชื่อสามัญๆ อย่าง “หมี” กลับกลายเป็นเรื่องน่าอายมากกว่าผู้หญิงชื่อ “กาก้า”)

วัยรุ่นยังไร้เดียงสาและมองความรักเป็นทุกสิ่งทุกอย่าง ด้วยเหตุนี้ การเรียกร้องความทุ่มเท (ของกาก้า) และการทุ่มเทเพื่อพิสูจน์ความรัก (ของหมี) จึงกลายเป็นเรื่องเมคเซนส์ในจักรวาลของวัยรุ่น แต่เช่นกันมันอาจดูไร้สาระในสายตาของผู้ใหญ่ พวกเขาหมกมุ่นอยู่ในโลกส่วนตัวและมองไม่เห็นทางเลือกอื่นเนื่องจากผ่านโลกมาน้อย

เมื่อวัยรุ่นเติบใหญ่ โบยบินออกไปเผชิญโลกกว้าง พวกเขาจึงเริ่มตระหนักว่าความรักอาจไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่าง ยังมีปัจจัยอื่นแวดล้อมอีกมากมาย จนบางครั้งก็แบ่งแยก “เรา” ออกจาก “เขา” เช่น สถานะทางสังคม ดังที่ ทุเรียน กับ ตอง ประสบและเรียนรู้จาก “อาย” ทั้งสองเป็นคนหนุ่มสาวในวัยเริ่มทำงาน เมื่อก่อนเคยรักกันหวานชื่น (คาดว่าในช่วงวัยเรียน) แต่ต้องมาแยกจากกันเมื่อฝ่ายชายรู้สึกว่าเขาอาจไม่ดีพอสำหรับฝ่ายหญิง เขาเป็นตัวแทนของวิถีชาวบ้าน เธอเป็นตัวแทนของวิถีชาวเมือง เขาเชื่อว่าคนเราควรจะอยู่กับพวกเดียวกัน ส่วนเธอเชื่อว่าการผสมกลมกลืนนั้นเป็นไปได้ หากรู้จักเปิดใจให้กัน เขามองโลกตามความเป็นจริง ส่วนเธอมองโลกในแง่อุดมคติ การทะเลาะโต้เถียงระหว่างทุเรียนกับตองจึงไม่ต่างกับการต่อสู้ ขัดแย้งระหว่างโลกแห่งความเป็นจริงกับโลกแห่งอุดมคติ ซึ่งเป็นอารมณ์ร่วมของคนวัยหนุ่มสาว เมื่อพวกเขาค้นพบว่าหลายอย่างไม่ได้เป็นดังที่วาดฝันไว้

สำหรับสาวใหญ่กับหนุ่มวัยกลางคนใน “หวาน” ความหวานได้เลือนหายไปจากชีวิตสมรสของพวกเขามาเนิ่นนานแล้ว คนหนึ่งอาจยังจดจำความดื่มด่ำแห่งรักแรกได้แม่นยำทุกรายละเอียด แต่แรงยึดเหนี่ยวต่อโลกความจริงอันปวดร้าวกลับค่อยๆ สูญสลาย อีกคนหมกมุ่นกับหน้าที่และภาระจนเลอะเลือนไปว่าความสำคัญแท้จริงของชีวิตคืออะไร เขาบอกว่าทั้งหมดเริ่มต้นขึ้นใน “วันนั้น” แต่ความจริง มันเริ่มต้นมาก่อนหน้านี้แล้ว

เมื่อปรากฏว่าความทุ่มเทให้กับงานของเชนได้รับผลตอบแทนที่สุดแสนเจ็บปวด อาจกล่าวได้ไหมว่าการที่เขาเลือกจะปล่อยปละละเลยหวานมานานกว่า 20 ปีหลังเธอเกิดภาวะความทรงจำไหลย้อนกลับก็ถือว่าไร้สาระพอๆ กับความคลั่งไคล้วงออกัสของต้นข้าว ความอายที่จะแสดงความรักของทุเรียน และการยอมเจ็บตัวสารพัดของหมีเพื่อพิทักษ์ริมฝีปากแฟนสาว...

น่าสังเกตว่าเรื่องราวของเชนกับหวานนั้นเป็นตอนเดียวที่ลงเอยด้วยคำว่า “สายเกินไป” ราวกับว่าอายุที่เพิ่มขึ้น ประสบการณ์ที่สั่งสม ความรู้ที่เก็บกักตุนไว้หาได้ช่วยเหลือมนุษย์ให้ฉลาดขึ้น หรือถ่องแท้ขึ้นแต่อย่างใด เพราะเมื่อพูดถึงประเด็นความรัก เรายังคงมืดบอดและพร้อมจะก้าวผิดพลาดได้เสมอ

วันอังคาร, ธันวาคม 23, 2551

Oscar 2009: เปิดตัวขวัญใจนักวิจารณ์


พอยกแรกผ่านพ้นไป Slumdog Millionaire ของ แดนนี่ บอยล์ ดูจะมีแต้มต่อหนังเรื่องอื่นๆ อยู่เล็กน้อย หลังกวาดรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจาก NBR, NYFCO, BFSC และ WAFCA มาครอง พร้อมทั้งเข้าชิงสาขาเดียวกันของลูกโลกทองคำและ Broadcast Film Critics Association อย่างครบถ้วน นอกจากนี้ บอยล์ยังคว้ารางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมจาก LAFCA และตัวหนังก็ติดโหวตเป็นอันดับสามของ NYFCC (รองจาก Milk และ Rachel Getting Married) ควบคู่กับ Happy-Go-Lucky ด้วย นั่นหมายความว่า Slumdog Millionaireได้เสียงสนับสนุนจากนักวิจารณ์ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับ Juno และ Little Miss Sunshine ซึ่งหลายคนมักจะหยิบยกมาอ้างอิงในฐานะ “หนังเล็กที่ไปไกลถึงออสการ์”

The Curious Case of Benjamin Button ซึ่งตีควบมากับ Slumdog Millionaire ก่อนหน้านี้ เริ่มเสียศูนย์ไปเล็กน้อย หลังเสียงตอบรับจากนักวิจารณ์ไม่ค่อยอบอุ่นดังคาด (มีเพียง NBR ที่มอบรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมให้ เดวิด ฟินเชอร์) แม้สุดท้ายจะสามารถเรียกคะแนนคืนมาได้บ้างจากการเข้าชิงรางวัลลูกโลกทองคำสาขาสำคัญๆ (หนัง/ผู้กำกับ/นำชาย/บท) ตรงกันข้ามกับ Milk ซึ่งทำท่าเหมือนจะมาแรงจากการคว้ารางวัลใหญ่ของ NYFCC มาครอง แต่สุดท้ายกลับถูกลูกโลกทองคำเชิดใส่อย่างน่าเจ็บใจ (อาจเป็นเพราะหนังให้อารมณ์ “อเมริกัน” เกินไปสำหรับผู้สื่อข่าวต่างประเทศ?)

นอกจากนี้ ต้องไม่ลืมว่าชัยชนะของ Milk อาจเกิดจากการ “บล็อก” โหวตมากพอๆ กับชัยชนะของ United 93 เมื่อสองปีก่อน ดังจะเห็นได้จากคำสารภาพของนักวิจารณ์ ลู ลูเมนิค “ในการลงคะแนนรอบแรก สมาชิกทุกคนจะต้องระบุ 3 ตัวเลือกเรียงตามลำดับ โดยอันดับหนึ่งจะได้ 3 คะแนน อันดับสอง 2 คะแนน และอันดับสาม 1 คะแนน สมาชิกบางคนเลือกจะ “บล็อก” บางตัวเลือกที่พวกเขาไม่อยากให้ชนะด้วยการไม่จัดมันติดอันดับใดๆ เลย แล้วเติมอันดับสองกับสามด้วยตัวเลือกที่รู้แน่ว่าไม่มีทางชนะ” ลูเมนิคกล่าว “โดยส่วนตัวผมเลือก Slumdog Millionaire อันดับหนึ่งในการลงคะแนนสามรอบแรก แต่เมื่อปรากฏชัดว่า Rachel Getting Married อาจคว้าชัยไปครองในที่สุด ผมจึงเปลี่ยนตัวเลือกอันดับหนึ่งมาเป็น Milk หนังอีกเรื่องที่ผมชอบเหมือนกัน และมันก็คว้าชัยมาครองในการลงคะแนนรอบสุดท้าย”


ทางด้าน Frost/Nixon ดูจะยังคงรักษาระดับความมั่นคงได้อย่างเสมอต้นเสมอปลายและน่าจะหลุดเข้าชิงได้แบบเนียนๆ ตัวเก็งเดียวที่ส่ออาการ “ร่อแร่” สูงสุดในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม คือ Revolutionary Road ซึ่งนอกจากจะไม่ถูกกล่าวถึงเลยในรางวัลของเหล่านักวิจารณ์แล้ว มันยังหลุดโผ 10 หนังยอดเยี่ยมแห่งปีของ NBR และ AFI ไปอย่างน่ากังขาด้วย (ส่วนการหลุดโผ AFI ของ Slumdog Millionaire น่าจะมาจากการที่มันไม่ใช่หนังอเมริกันมากพอ) ตัวแปรเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าผลงานของ แซม เมนเดส ไม่ค่อยถูกจริตนักวิจารณ์สักเท่าไหร่ หรือบางทีมันอาจแบ่งแยกนักวิจารณ์เกินกว่าจะรวบรวมเสียงสนับสนุนได้มากพอ

อาการเป๋ของ Revolutionary Road ส่งผลให้อนาคตของ The Dark Knight ดูสดใสขึ้นมาในฉับพลัน (ตัวหนังและผู้กำกับ คริสโตเฟอร์ โนแลน คว้าอันดับรองชนะเลิศจาก LAFCA มาครอง) อีกรายที่กวาดคะแนนจากนักวิจารณ์มาครองอย่างมากมายจนน่าใจหาย คือ Wall-E ซึ่งได้รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมของ LAFCA และ BSFC แต่โอกาสเข้าชิงออสการ์ของมันอาจยังห่างไกล (พิกซาร์ต้องโหมโปรโมตมากกว่านี้ ทำให้คนตระหนักว่าพวกเขาไมได้หวังเข้าชิงแค่สาขา “ของตาย” อย่าง Best Animation เท่านั้น) เพราะมันต้องเบียด Frost/Nixon ให้ตกขอบ และต้องคอยกันไม่ให้ Doubt หนังตัวเก็งอีกเรื่องโกยคะแนนแซงหน้า โดยเรื่องหลังรับประกันว่าต้องได้แรงสนับสนุนอย่างมากจากเหล่านักแสดง ซึ่งถือเป็นกรรมการออสการ์กลุ่มใหญ่สุด

การปรากฏตัวแบบ “โผล่มาจากไหน” ของ The Reader และผู้กำกับ สตีเฟ่น ดัลดรี้ ในรายชื่อลูกโลกทองคำ ซึ่งเลือกจะมองข้าม Milk และ The Dark Knight ถือว่าไม่น่าแปลกใจสำหรับหลายคน เนื่องจาก The Reader เป็นหนังของ ฮาร์วีย์ ไวน์สไตน์ ผู้เคย “โปรยเสน่ห์” ใส่คณะกรรมการลูกโลกทองคำมาแล้วหลายครั้ง ส่งผลให้พวกเขาหลวมตัวเสนอชื่อหนังอย่าง Bobby และ The Great Debaters เข้าชิงภาพยนตร์ยอดเยี่ยมมาในอดีต แต่สำหรับรางวัลออสการ์ อิทธิพลของไวน์สไตน์ ณ ตอนนี้ช่างห่างไกลจากตอนที่เขาผลักดัน Shakespeare in Love จนพลิกล็อกชนะ Saving Private Ryan อยู่มากโข การเข้าชิงลูกโลกทองคำจึงไม่ได้ช่วยเหลือสถานการณ์ของ The Reader มากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพิจารณาว่าคำวิจารณ์ในช่วงแรกของหนังอยู่ระดับเดียวกับ Australia อีกหนึ่งตัวเก็งที่ฟุบคาเวทีไปตั้งแต่ก่อนเทศกาลแจกรางวัลจะเริ่มต้นขึ้น

จากรูปการณ์ในปัจจุบัน อันดับตัวเก็งสาขาภาพยนตร์/ผู้กำกับยอดเยี่ยมสามารถสรุปได้ดังนี้ 1) Slumdog Millionaire 2) The Curious Case of Benjamin Button 3) Milk 4) Frost/Nixon 5) The Dark Knight 6) Doubt และ 7) Revolutionary Road โดยตัวสอดแทรกในสาขาผู้กำกับ (เป็นที่ทราบกันดีว่าสาขานี้มักจะไม่ตรงกันกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแบบร้อยเปอร์เซ็นต์) ได้แก่ โจนาธาน เด็มมี่ (Rachel Getting Married) ไมค์ ลีห์ (Happy-Go-Lucky) และ ดาร์เรน อาโรนอฟสกี้ (The Wrestler) ถ้าสมมุติฐานดังกล่าวเป็นจริง ใครล่ะจะโดนเขี่ยออก รอน โฮเวิร์ด? กัส แวน แซนท์? หรือ เดวิด ฟินเชอร์? สองคนที่ยังสามารถนอนหลับได้เต็มตา... อย่างน้อยก็ในตอนนี้ คือ แดนนี่ บอยล์ และ คริสโตเฟอร์ โนแลน


ในส่วนของสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม สามคนที่น่าจะรับประกันการเข้าชิงแน่นอนแล้ว คือ 1) ฌอน เพนน์ (Milk) 2) มิคกี้ รู้ก (The Wrestler) และ 3) แฟรงค์ แลนเกลลา (Frost/Nixon) โดยคนแรกถึงขั้นมีโอกาสสูงที่จะคว้าออสการ์ตัวที่สองมาครองหลังจากกวาดรางวัลนักวิจารณ์มาครองแบบเกือบจะเป็นเอกฉันท์ อย่างไรก็ตาม ว่ากันว่าคู่แข่งสำคัญของเพนน์หาใช่รู้ก หรือแลนเกลล่า หากแต่เป็น คลินท์ อีสต์วู้ด (Gran Torino) โดยบทของเขาถือเป็นการปลุกวิญญาณ Dirty Harry รวมถึงภาพลักษณ์ของอีสต์วู้ดในหนังคาวบอยคลาสสิกทั้งหลาย ซึ่งน่าจะโดนใจกรรมการกลุ่มสูงวัย ที่สำคัญ ต้องไม่ลืมว่าอีสต์วู้ดยังไม่เคยได้ออสการ์ทางการแสดงมาก่อน (เคยเข้าชิงสองครั้งจาก Unforgiven และ Million Dollar Baby) แถมยังเป็นที่รักของทุกคนมากกว่า มิคกี้ รู้ก ซึ่งน่าจะมีความหวังแค่ได้เข้าชิง ปัญหาเดียวของปู่คลินท์ คือ หลายคนไม่ชอบตัวหนังถึงขนาดด่ากราดแบบสาดเสียเทเสียเลยทีเดียว

คนสุดท้ายที่น่าจะเบียดเข้าไปเป็นหนึ่งในห้าได้สำเร็จ คือ ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ (Revolutionary Road) โดยพิจารณาจากประวัติการเข้าชิงในอดีต กระนั้น หาก The Curious Case of Benjamin Button เกิดป็อปปูล่าขึ้นมาในหมู่กรรมการออสการ์ อานิสงส์ของตัวหนังก็อาจส่งผลให้ แบรด พิทท์ หลุดเข้าชิงในสาขานี้ ส่วนตัวสอดแทรกท้ายสุด ได้แก่ ริชาร์ด เจนกินส์ ขวัญใจนักวิจารณ์จาก The Visitor ซึ่งอาจเป็นหนังเล็กเกินไป และการแสดงของเขาก็อาจลุ่มลึกเกินไปสำหรับรสนิยมของกรรมการออสการ์

ถ้าจะมีใครสักคนได้ประโยชน์สูงสุดจากเสียงเชียร์ของเหล่านักวิจารณ์ คนๆ นั้น ได้แก่ แซลลี่ ฮอว์กินส์ (Happy-Go-Lucky) ซึ่งคงรับประกันการเข้าชิงออสการ์ค่อนข้างแน่จากการกวาดรางวัลของสถาบันใหญ่ๆ อย่าง LAFCA และ NYFCC มาครองแบบครบถ้วน (ตามสถิติในรอบ 7 ปีที่ผ่านมา นักแสดง 11 คนที่คว้ารางวัลจากทั้งสองสถาบันมาครองล้วนลงเอยด้วยการถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์ครบทั้ง 11 คน โดยนักแสดงคนล่าสุดที่ได้รางวัลจากทั้งสองสถาบันและพลาดการเข้าชิงออสการ์ คือ บิล เมอร์เรย์ จาก Rushmore เมื่อปี 1999) นอกจากนี้ ไมค์ ลีห์ ยังมีสถิติน่าประทับใจในการส่งนักแสดงนำหญิงเข้าชิงออสการ์ สังเกตได้จากความสำเร็จของ เบรนด้า เบลธิน (Secrets & Lies) และ อีเมลด้า สตอนตัน (Vera Drake)

คำถามที่ตามมา คือ แซลลี่ ฮอว์กินส์ จะเขี่ยใครหลุดจากวงโคจร? ณ เวลานี้ ขวัญใจออสการ์ในหนังฟอร์มใหญ่สามเรื่องอย่าง เมอรีล สตรีพ (Doubt) เคท บลันเช็ตต์ (The Curious Case of Benjamin Button) และ เคท วินสเล็ท (Revolutionary Road) น่าจะยังหายใจได้คล่องคออยู่ ส่วน แอน แฮทธาเวย์ (Rachel Getting Married) ก็ยังพอหลงเหลือเครดิตอยู่บ้างจากการคว้ารางวัลของ NBR มาครอง และเธอก็ไม่พลาดการเข้าชิงรางวัลสำคัญๆ อย่างครบถ้วน คนเดียวที่ตกที่นั่งลำบาก คือ คริสติน สก็อตต์ โธมัส (I’ve Loved You So Long) ซึ่งแม้กระแสร่ำลือในเบื้องต้นเกี่ยวกับความยอดเยี่ยมของผลงานจะหนาหู แต่พอถึงเวลาแจกรางวัลจริง ชื่อของเธอกลับโดนกลืนหายไปจนน่าเป็นห่วง นี่ขนาดยังไม่ต้องพูดถึงตัวสอดแทรกสุดอันตรายอย่าง เมลิสสา ลีโอ (Frozen River) ซึ่งมีข้อได้เปรียบตรงเป็นชาวอเมริกันและแสดงในหนังที่รู้จักในวงกว้างกว่า (ล่าสุด Frozen River ติด 10 อันดับหนังยอดเยี่ยมของ AFI ด้วย) ที่สำคัญ คะแนนของเธอตีคู่มากับฮอว์กินส์ในหลายรางวัลนักวิจารณ์ และ โรเจอร์ อีเบิร์ต ก็เขียนยกย่องการแสดงของเธออย่างเลิศลอย... การแข่งขันในสาขานักแสดงนำหญิงประจำปีนี้ถือว่าดุเดือดเลือดพล่านทีเดียว

นักแสดงสองคนที่ไม่เพียงจะตีตั๋วเข้าชิงแน่นอน แต่ยังมีเปอร์เซ็นต์คว้ารางวัลมาครองค่อนข้างสูง คือ ฮีธ เลดเจอร์ (The Dark Knight) และ เพเนโลปี้ ครูซ (Vicky Cristina Barcelona) คนแรกได้เปรียบตรงการจากไปก่อนเวลาอันควร ส่วนคนหลังได้เปรียบตรงสถิติการส่งนักแสดงขึ้นคว้ารางวัลออสการ์ของ วู้ดดี้ อัลเลน ตัวอย่างในอดีตก็เช่น ไดแอน วีสต์ (สองครั้งจาก Hannah and Her Sisters และ Bullets over Broadway) ไดแอน คีตัน (Annie Hall) และ มีรา ซอว์วีโน่ (จาก Mighty Aphrodite) ก่อนหน้านี้ทั้งสองถูกมองว่าเป็นตัวเก็งลำดับต้นๆ อยู่แล้ว การกวาดรางวัลของนักวิจารณ์มาได้แบบกระบุงโกยช่วยตอกย้ำสมมุติฐานดังกล่าวให้หนักแน่นขึ้น


ในส่วนของสาขานักแสดงสมทบชาย อีกสามคนที่น่าจะได้เข้าชิงอย่างไม่ยากเย็น คือ ฟิลลิป ซีมัวร์ ฮอฟฟ์แมน (Doubt), จอช โบรลิน (Milk) และ ไมเคิล แชนนอน (Revolutionary Road) โดยตำแหน่งสุดท้ายคงเป็นการชิงดำกันระหว่าง เจมส์ ฟรังโก้ (Milk), ไมเคิล ชีน (Frost/Nixon) และ เอ็ดดี้ มาร์แซน (Happy-Go-Lucky) คนแรกเสียเปรียบตรงที่เขาอาจตัดคะแนนกันเองกับ จอช โบรลิน คนที่สองได้เปรียบตรงการรับบทนำคู่กับ แฟรงค์ แลนเกลลา แต่ถูกผลักมาชิงสมทบเพื่อหลีกเลี่ยงสาขานำชายซึ่งแออัดยัดเยียดมากแล้ว ส่วนคนสุดท้ายแม้จะไม่ถูกพูดถึงมากนัก (เพราะทุกสายตาจับจ้องไปยัง แซลลี่ ฮอว์กินส์) แต่หลายคนคิดว่าเขาทำหน้าที่ได้อย่างยอดเยี่ยมไม่แพ้กัน

ถัดจากครูซ กลุ่มตัวเก็งในสาขานักแสดงสมทบหญิงเรียงตามลำดับได้ดังนี้ 1) ไวโอลา เดวิส (Doubt) 2) เคท วินสเล็ท (The Reader) 3) โรสแมรี เดอวิตต์ (Rachel Getting Married) 4) มาริสา โทเม (The Wrestler) 5) ทาราจิ พี. เฮนสัน (The Curious Case of Benjamin Button) และ 6) เดบร้า วิงเกอร์ (Rachel Getting Married) ดูตามรูปการณ์แล้ว ยังไม่มีใครโดดเด่นพอจะโค่นครูซลงจากตำแหน่งเต็งหนึ่งได้ เดวิสอาจกวาดคำชมไปมากมาย แต่เธอมีบทบาทในหนังแค่เพียงสองฉาก ส่วนบทผู้คุมค่ายกักกันชาวยิวของวินสเล็ทก็ดูเหมือนจะไม่สามารถเรียกร้องความเห็นใจใดๆ จากคนดูได้ ขณะที่เดอวิตต์ แม้จะดูสมบูรณ์แบบ ก็ยังขาดบารมีในระดับเดียวกับครูซ ซึ่งเคยเข้าชิงออสการ์สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมมาแล้วจาก Volver

การแข่งขันยกที่สองจะเริ่มต้นขึ้นในเดือนมกราคม เมื่อบรรดาสมาคมต่างๆ ของอเมริกา อาทิ ผู้กำกับ (DGA) นักแสดง (SAG) ผู้อำนวยการสร้าง (PGA) ฯลฯ เริ่มประกาศรายชื่อผู้เข้าชิงรอบสุดท้ายออกมา รางวัลของสมาคมต่างๆ เหล่านี้จะเป็นเครื่องวัดระดับความร้อนแรงของเหล่าตัวเก็งทั้งหลายได้ดีกว่ารางวัลนักวิจารณ์ เนื่องจากคนลงคะแนนเป็นกลุ่มเดียวกันกับคณะกรรมการออสการ์

เกร็ดเก็บตก
• สุดท้ายดนตรีประกอบอันทรงพลังและเปี่ยมความคิดสร้างสรรค์ของ The Dark Knight ก็ได้รับสิทธิ์พิจารณาให้เข้าชิงรางวัลออสการ์ หลังจากก่อนหน้านี้ร่ำๆ จะถูกตัดสิทธิ์เนื่องด้วยเหตุผลว่ามีรายนามนักแต่งเพลงมากเกินไปในเอกสารทางการของสตูดิโอ เพื่อระบุลิขสิทธิ์และความยาวของดนตรีประกอบทุกชิ้นในภาพยนตร์ หรือเรียกสั้นๆ ว่า cue sheet ฮันส์ ซิมเมอร์ กล่าวว่าสาเหตุที่จำเป็นต้องมีการระบุรายนามเอาไว้มากมาย (รวมทั้งหมดแล้ว 5 คน) ในเอกสารดังกล่าวก็เพื่อให้ทีมงานทุกคนได้รับผลประโยชน์ทางการเงินอย่างครบถ้วน (สมาคมทางดนตรีต่างๆ เช่น ASCP และ BMI จะยึดรายนามตาม cue sheet เป็นหลักในการแบ่งปันผลประโยชน์ทางลิขสิทธิ์ให้แก่นักแต่งเพลง) อย่างไรก็ตาม อเล็กซ์ กิ๊บสัน (นักตัดต่อเพลง), เมล เวสสัน (นักออกแบบเสียงประกอบ) และ ลอร์น บัลฟ์ (นักแต่งเพลง) ได้เซ็นเอกสารยืนยันว่าสกอร์ใน The Dark Knight โดยหลักๆ แล้วถือเป็นผลงานร่วมกันของ ฮันส์ ซิมเมอร์ และ เจมส์ นิวตัน โฮเวิร์ด ซึ่งได้รับเครดิตอย่างเป็นทางการ ซิมเมอร์และชอว์ต่างก็เคยเข้าชิงออสการ์มาแล้วคนละเจ็ดครั้ง โดยคนแรกคว้าออสการ์มาครองจาก The Lion King

• ราวกับ คลินท์ อีสต์วู้ด ยังมีออสการ์มานอนกอดที่บ้านไม่มากพอ นอกจากความหวังอันเป็นไปได้ในการเข้าชิงสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมแล้ว (ว่ากันว่านี่อาจจะเป็นบทบาทอำลาวงการของปู่คลินท์ หลังจากเขาเคยพูดแบบเดียวกันกับบทใน Million Dollar Baby จนกระทั่งได้อ่านบท Gran Torino และอดใจไม่รับแสดงเองไม่ได้) วอร์เนอร์ บราเธอร์ส ยังได้สร้างเว็บไซต์ For Your Consideration ขึ้นเพื่อโปรโมตดนตรีประกอบของหนังเรื่อง Gran Torino ด้วย (ผลงานประพันธ์เพลงของอีสต์วู้ดใน Million Dollar Baby ถูกออสการ์มองข้ามอย่างน่าเสียดาย) แต่ทีเด็ดคงอยู่ตรงเพลง Gran Torino ซึ่งขับร้องช่วงแรกๆ โดย คลินท์ อีสต์วู้ด (!?!) ด้วยเสียงทุ้มต่ำแหบพร่าเหมือนคนโดดเจาะปอด ส่วนเนื้อเพลงที่เหลือส่วนใหญ่จะเป็นเสียงร้องของ เจมี่ คัลลัม ซูเปอร์สตาร์เพลงแจ๊ซวัย 29 ปีชาวอังกฤษ

• แม้จะมีการผลิตหนังการ์ตูนออกมามากมายในปีนี้ แต่รางวัลออสการ์สาขา Best Animated Feature จะยังคงจำกัดจำนวนผู้เข้าชิงไว้แค่ 3 เนื่องจากมีหนัง “ส่งเข้ารับการพิจารณา” เพียง 14 เรื่อง (ตามกฎแล้วต้องมีหนังส่งเข้าพิจารณา 16 เรื่องขึ้นไปคณะกรรมการถึงจะเปลี่ยนจำนวนผู้เข้าชิงเป็น 5) โดยหนังที่ไม่ได้ ส่งเข้ารับการพิจารณาก็เช่น Star Wars: The Clone Wars, Fear(s) of the Dark และ Azur and Asmar นี่ถือเป็นเรื่องน่าเสียดาย เนื่องจากปีนี้มีหนังการ์ตูนที่สมควรเข้าชิงมากกว่า 3 เรื่อง และในเมื่อ Wall-E ของพิกซาร์จับจองที่นั่งไปหนึ่งที่แน่นอนแล้ว (การ์ตูนของค่ายนี้ไม่เคยพลาดการเข้าชิง) จึงเหลือตำแหน่งว่างอีกเพียงสองที่ (ตัวเก็ง ณ ตอนนี้ คือ Kung Fu Panda และ Waltz with Bashir โดยอาจมี Dr. Seuss’s Horton Hears a Who!, The Tale of Despereaux, The Sky Crawlers และ $9.99 เป็นตัวสอดแทรก) บรรดา “ปลาเล็ก” เหล่านั้นอาจคิดว่าพวกเขาไม่มีทางสู้พวก “ปลาใหญ่” ได้ ซึ่งนั่นถือเป็นความเข้าใจผิด เพราะในขั้นตอนการเสนอชื่อนั้น คุณภาพมีคุณค่าเหนือเงินโปรโมต กรรมการทุกคนจำเป็นต้องดูหนังเข้าประกวดอย่างน้อย 80% (หมายถึง 12 จาก 14 เรื่อง) ก่อนลงคะแนนให้แต่ละเรื่อง จากนั้นหนังที่ได้คะแนนสูงสุดสามอันดับแรกจะถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์ ด้วยเหตุนี้ หนังทุกเรื่องจึงมีสิทธิ์เท่าเทียมกัน ขั้นตอนดังกล่าวส่งผลให้การ์ตูนจากค่าย “ปลาเล็ก” แต่อัดแน่นด้วยคุณภาพอย่าง The Triplets of Belleville และ Persepolis ได้เข้าชิงมาแล้ว


• บางทีออสการ์ก็รู้จักคิด “นอกกรอบ” กับเขาเหมือนกัน เช่น การเลือก ฮิวจ์ แจ๊คแมน มาเป็นพิธีกรในงานแจกรางวัลออสการ์ครั้งที่ 81 ซึ่งนั่นถือเป็นจุดสิ้นสุดแนวคิด “พิธีกร = ดาวตลก” อันดำรงอยู่คู่ออสการ์มายาวนาน หลายคนแสดงข้อกังขาว่าแจ็คแมนจะรับมือไหวได้อย่างไรกับบทพูดเปิดตัว (ที่มักอุดมไปด้วยมุกตลก) หรือว่าส่วนดังกล่าวจะถูกตัดออก แล้วแทนที่ด้วยการแนะนำหนังเป็นเสียงเพลง? อย่างไรก็ตาม ใช่ว่า The Sexiest Man Alive คนล่าสุดของนิตยสาร People จะไร้ซึ่งประสบการณ์ทางด้านนี้เสียทีเดียว เพราะเขาเคยคว้ารางวัลเอ็มมี่จากการเป็นพิธีกรให้งานแจกรางวัลโทนี่มาแล้ว นอกจากนี้เขายังเคยคว้ารางวัลโทนี่สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมมาครองจากละครเพลงเรื่อง The Boy from Oz การตัดสินใจดังกล่าวของเหล่าผู้บริหารในสถาบันศิลปะและวิชาการทางภาพยนตร์ดูเหมือนจะสอดคล้องกับการทดลองเปลี่ยน กิล เคทส์ โปรดิวเซอร์รายการรออสการ์ขาประจำ มาเป็น บิล คอนดอน และ ลอว์เรนซ์ มาร์ค สองคู่หูจาก Dreamgirls ด้วยความหวังที่จะสร้างสีสันแปลกใหม่ให้กับรูปแบบรายการ หลังจากเรตติ้งการถ่ายทอดสดงานแจกรางวัลออสการ์ในช่วงหลังๆ เริ่มดิ่งลงเหวอย่างต่อเนื่อง


• ดาวตลก/ผู้กำกับ เจอรรี่ ลูว์อีสต์ (The Nutty Professor, The Ladies Man) ได้รับเลือกให้คว้ารางวัล Hersholt Humanitarian Award หรือออสการ์พิเศษสำหรับการอุทิศตนให้กิจกรรมทางด้านมนุษยธรรมจนนำชื่อเสียงมาสู่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ โดยผู้ได้รับรางวัลในอดีตก็เช่น อาเธอร์ ฮิลเลอร์, พอล นิวแมน, ออเดรย์ เฮบเบิร์น, อลิซาเบ็ธ เทย์เลอร์, ควินซีย์ โจนส์, แฟรงค์ ซินาตร้า และ เกรกอรี่ เพ็ค กระนั้นการตัดสินใจดังกล่าวดูจะสร้างกระแสต่อต้านได้ไม่น้อยจากชาวรักร่วมเพศ หลังลูว์อีสต์เคยให้สัมภาษณ์ในเชิงเหยียดหยามชาวเกย์อยู่หลายครั้ง โดยชุมชนสีรุ้ง ซึ่งจิตตกมากพออยู่แล้วจากเหตุการณ์แพ้โหวต Proposition 8 (ร่างกฎหมายในรัฐแคลิฟอร์เนียที่จะอนุญาตให้ “บุคคลต่างเพศเท่านั้น” มีสิทธิแต่งงานกันได้) รู้สึกว่าการมอบรางวัลอันทรงเกียรตินี้ให้แก่ลูว์อีสต์เป็นเหมือนการ “เหยาะเกลือลงบนบาดแผล” และแสดงความไม่เห็นด้วยอย่างชัดแจ้ง เนื่องจากรางวัล Hersholt Humanitarian Award ไม่ใช่รางวัลความสำเร็จทางอาชีพ แต่เป็นการสดุดี “เมตตาธรรม” ของบุคคลนั้น เมื่อถูกตั้งข้อครหาต่อตัวเลือกในปีนี้ สถาบันศิลปะและวิชาการทางภาพยนตร์ให้คำตอบเพียงว่า “เขา (ลูว์อีสต์) ได้กล่าวขอโทษ (ชาวรักร่วมเพศ) แล้วนี่”

• รายชื่อภาพยนตร์สารคดีรอบรองชนะเลิศจำนวน 15 เรื่องดูเหมือนจะเป็นที่ยอมรับในวงกว้างพอสมควร เมื่อบรรดา “หนังเต็ง” ทั้งหลายล้วนปรากฏตัวกันแบบครบถ้วน ไม่มีตกหล่น อาทิ Trouble the Water สารคดีเกี่ยวกับเฮอร์ริเคนแคทรีนา ซึ่งชนะรางวัล Jury Prize จากซันแดนซ์ Man on Wire สารคดีขวัญใจนักวิจารณ์เกี่ยวกับการเดินไต่ลวดท้าความตายระหว่างตึกแฝด เวิลด์เทรด เซ็นเตอร์ Encounters at the End of the World สารคดีเกี่ยวกับการเดินทางสู่แอนตาร์ติกา กำกับโดย เวอร์เนอร์ แฮร์ซอก (Grizzly Man) Standard Operating Procedure ผลงานล่าสุดของ เออร์รอล มอร์ริส (The Fog of War) เกี่ยวกับบทบาทของทหารสหรัฐในเรือนจำ อาบู กรออิบ ชานกรุงแบกแดด (หนังสำรวจประเด็นการทรมานนักโทษใกล้เคียงกับสารคดีรางวัลออสการ์เมื่อปีก่อน Taxi to the Dark Side) Glass: A Portrait of Philip in Twelve Parts สารคดีเล่าชีวิตและผลงานของนักประพันธ์ที่เคยเข้าชิงออสการ์สามครั้ง ฟิลิป กลาส (Kundun, The Hours, Notes on a Scandal) และ Pray the Devil Back to Hell สารคดีเกี่ยวกับผู้หญิงที่ต่อสู้กับสงครามในลิเบอเรียและได้รับชัยชนะ


• เหตุการณ์อื้อฉาวจากปีก่อน เมื่อหนังอย่าง 4 Months, 3 Weeks and 2 Days, Persepolis, Silent Light และ The Edge of Heaven หลุดโผออสการ์อย่างน่ากังขา ส่งผลให้คณะกรรมการในสายภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมจำเป็นต้องเปลี่ยนกฎเกณฑ์เพื่อยกระดับ “ความน่าเชื่อถือ” และลดข้อครหาเรื่อง “รสนิยม” (การต้องดูหนังมากกว่า 20 เรื่องภายในเวลา 10 สัปดาห์ทำให้สมาชิกซึ่งเกษียณอายุแล้วได้เปรียบสมาชิกหนุ่มสาว ซึ่งยังต้องทำมาหากินอยู่ในวงการ) ปี 2008 มีหนังส่งเข้าประกวดทั้งสิ้น 69 เรื่อง สูงสุดเป็นประวัติการณ์ แต่คราวนี้กรรมการจะคัดเลือกหนังให้เข้ารอบรองแค่ 6 เรื่อง (เดิมต้องเลือก 9 เรื่อง) จากนั้น กรรมการบริหารจำนวนมากกว่า 20 คนจะคัดเลือกหนังเพิ่มเข้าไปอีก 3 เพื่อรับประกันว่า “ตัวเต็ง” ขวัญใจนักวิจารณ์ที่ควรติดจะไม่โดนอุ้มหายระหว่างทาง โดยตัวเต็งในปีนี้ประกอบไปด้วย The Class (ฝรั่งเศส) ชนะเลิศจากคานส์ Gomorra (อิตาลี) รองชนะเลิศจากคานส์ แต่แก้แค้นได้สำเร็จบนเวที European Film Awards โดยกวาดมาครองถึงห้าสาขา รวมทั้งหนังยอดเยี่ยม และ Waltz with Bashir (อิสราเอล)

NBR = National Board of Review
LAFCA = Los Angeles Film Critics Association
NYFCC = New York Film Critics Circle
WAFCA = Washington DC Area Film Critics Association
BSFC = Boston Society of Film Critics
NYFCO = New York Film Critics Online
SFFCC = San Francisco Film Critics Circle

Short Replay: สะบายดี หลวงพะบาง


นี่เป็นหนังตลก-โรแมนติกที่เหนือความคาดหมายของผมมากๆ เสียดายเหลือเกินที่ไม่ได้แวะไปอุดหนุนผลงานดีๆ แบบนี้ในโรงภาพยนตร์ (พอมานั่งนึกๆ ดูแล้ว รู้สึกว่าผมจะได้ดูแต่ผลงานบ้าๆ บอๆ เลอะเทอะ ไร้สาระ และชวนให้อยากลุกขึ้นปารองเท้าใส่จอซะมากกว่า คิดแล้วก็กลุ้มใจตัวเอง) เรื่องราวของหนังค่อนข้างเรียบง่าย แต่งดงาม และแฝงความรู้สึกเจ็บปวดเอาไว้ในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งไม่ได้ถูกบีบคั้น หรือตอกย้ำอะไรมากมาย สะท้อนให้เห็นถึงรสนิยมอันดีของผู้สร้าง อารมณ์ขันแบบใสซื่อช่วยเบรกความเอียนจากมุกตลกคาเฟ่ที่อัดแน่นทั้งในโรงหนังและหน้าจอทีวีได้อย่างยอดเยี่ยม และที่สำคัญ สองนักแสดงนำก็เล่นเข้าคู่กันได้น่ารักเหลือเกิน เมื่อผนวกกับวิวทิวทัศน์อันเจริญหูเจริญตา ความเพลิดเพลินเจริญใจของผู้ชมจึงอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม

สอน (อนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม) ช่างภาพลูกครึ่งออสเตรเลีย-ลาวได้รับมอบภารกิจให้เดินทางไปยังประเทศลาวเพื่อถ่ายรูปท่องเที่ยว เขาเลยถือโอกาสนี้สำรวจรากเหง้าของตน ตลอดจนค้นพบความลับบางอย่างเกี่ยวกับ “รักที่หลุดลอยไป” ของพ่อเขา ที่นั่น เขาตกหลุมรักกับไกด์สาวชาวลาว (คำลี่ พิลาวง) ซึ่งมักจะพบเจอแต่พวกนักท่องเที่ยวฝรั่งประเภทปากว่ามือถึง บุคลิกอ่อนโยนและสุภาพของสอนทำให้เธอประหลาดใจ บางทีอาจเป็นเพราะเขามีความเป็น “ลาว” อยู่ในสายเลือดมากกว่า “ฝรั่ง” แต่เมื่อพูดถึงประเด็นความรัก สอนกลับไม่พร้อมจะประนีประนอมต่ออุปสรรคขวากหนามแห่งสถานการณ์ วัฒนธรรม หรือเส้นกั้นพรมแดน บทเรียนจากความผิดพลาดของพ่อเขาบอกให้สอนตัดสินใจ “ทำทุกวิถีทางให้ได้อยู่กับคนที่เรารัก”

จุดเด่นประการหนึ่งที่ทำให้ผมชื่นชอบ สะบายดี หลวงพะบาง อย่างมาก อยู่ตรงความพอดีของการนำเสนอทั้งอารมณ์ขัน ประเด็นของหนัง หรือกระทั่งจุดผกผันตามสูตรหนังตลก-โรแมนติก ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป จนกลายเป็นเสน่ห์แบบที่พบเห็นไม่บ่อยนักในภาพยนตร์ไทย ยกตัวอย่างฉากหนึ่งที่ไกด์สาวพาสอนไปแนะนำให้รู้จักกับแม่ของเธอ ซึ่งสอบประวัติชายหนุ่มซะละเอียดยิบ ถ้าเป็นหนังไทยอีกหลายเรื่อง ทุกอย่างคงโฉ่งฉ่าง แสดงให้เห็นความพยายามที่จะเรียกเสียงหัวเราะอย่างออกนอกหน้า ตรงกันข้าม หนังเรื่องนี้กลับนำเสนอมันอย่างเรียบง่าย ไม่เน้นย้ำ แต่ก็ทำให้คนดูอดอมยิ้มอย่างละมุนไม่ได้

วันจันทร์, ธันวาคม 22, 2551

ความสมจริงกับอารมณ์โรแมนติก


เมื่อหลายปีก่อน ผมเคยเขียนถึงหนังไทยเรื่อง คู่แท้ปาฏิหาริย์ แล้วตั้งคำถามต่อความ “สมจริง” หรือ “น่าเชื่อถือ” ของตัวละครและสถานการณ์ ก่อนสุดท้ายจะโดนคนอ่านท่านหนึ่งเขียนโพสต์ในเวบบอร์ดเพื่อตำหนิติเตียน (เข้าใจว่าเขาคงชอบหนังเรื่องนี้มากๆ) พร้อมทั้งสรุปตบท้ายผมว่าเป็นคนไม่ “โรแมนติก” เอาซะเลย

บางทีผมอาจเป็นคนไม่โรแมนติกจริงๆ ก็ได้ เพราะในความเห็นของเขาผู้นั้น ดูเหมือนว่าอารมณ์โรแมนติกจะหมายถึงการละทิ้งเหตุและผลอย่างสิ้นเชิง แล้วโอบกอดทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏเบื้องหน้าแบบฉาบฉวย โดยไม่ตั้งคำถาม หรือแสดงความเคลือบแคลงสงสัยใดๆ (เมื่อพิจารณาว่าเขาชื่นชอบหนังอย่าง เพื่อน... กูรักมึงว่ะ อย่างหมดใจ ผมจึงพอจะเข้าใจหลักตรรกะทางความคิดของเขาอยู่พอสมควร)

และคงด้วยความเป็นคนไม่โรแมนติกนั่นเอง ผมจึงรู้สึกหงุดหงิด คับข้องใจกับหนังอย่าง Happy Birthday ตลอดทั้งเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงครึ่งหลัง

อันที่จริง ผมยังพอทำใจยอมรับความบังเอิญอันเหลือเชื่อที่ชักนำคู่พระนางให้มารู้จักกันได้ แม้จะเห็นว่าบทและผู้กำกับพยายามท้าทายขอบเขตความเป็นไปได้ของคุณลักษณะ “meet cute” ตามรูปแบบหนังตลกโรแมนติกมากเกินไปหน่อย (เข้าใจว่าบทในส่วนนี้คงได้แรงบันดาลใจมาจากการเขียนข้อความตอบโต้กันตามฝาผนังห้องส้วมซะกระมัง) และราวกับทั้งหมดนั่นยังไม่บังเอิญพอ... เปล่าครับ พวกเขาไม่ได้เจอกันครั้งแรกที่ร้านหนังสือ (พระเอกมาคอยอยู่หลายวัน แต่ก็ไม่พบ) หรือผ่านการแลกเบอร์กันทางหนังสือสื่อรัก (ซึ่งทั้งสองทางนั้นน่าจะมีความเป็นไปได้มากกว่า แต่อาจไม่ “น่ารัก” หรือ “โรแมนติก” เท่าทางเลือกที่คนเขียนบท/ผู้กำกับเลือกใช้) แต่พวกเขามาเจอกันครั้งแรกที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง ซึ่งพระเอกเคยเขียนแนะนำไว้ในหนังสือ มันเป็นร้านอาหาร ณ สถานที่ท่องเที่ยวอันห่างไกลเพื่อเปิดโอกาสให้หนังได้ขายวิวทิวทัศน์ทางธรรมชาติควบคู่กันไป แน่นอน จังหวะของเวลา สถานที่ บทสนทนา ตลอดจนรายละเอียดประกอบ (แกว่งปากกา) ต้องลงตัวมากๆ ถึงจะสามารถทำให้พระเอกรู้แน่ว่านางเอก คือ คนที่เขียนข้อความในหนังสือเล่มนั้น (ฤาความอัศจรรย์ทั้งหลายแหล่นี้ คือ ความพยายามจะบอกว่าทั้งสองเป็นคู่แท้ปาฏิหาริย์?)

ใช่ครับ การเจอกันในงานเลี้ยง มีเพื่อนแนะนำให้รู้จัก หรือการวางบทให้นางเอกเป็นไกด์ แล้วพระเอกเป็นช่างภาพที่มาจ้างนางเอกให้พาเที่ยวมันธรรมดาเกินไป และไม่ “โรแมนติก” เอาซะเลย (เข้าใจไหม สะบายดี หลวงพะบาง?)

อย่างไรก็ตาม โดยหลักๆ แล้วอาการสะดุดใจของผมอยู่ตรงความพยายามของหนังที่จะให้คนดูรู้สึก “ซาบซึ้ง” กับการกระทำของพระเอก (ฉากหนึ่ง เพื่อนร่วมงานสาวของพระเอกถามผู้หญิงอีกคนในออฟฟิศประมาณว่า ถ้าเธอเป็นแบบแฟนของเขา เธอจะไม่อยากได้ผู้ชายแบบนี้มาเป็นแฟนหรือ... ผมได้แต่ตอบแทนในใจว่า ฉันไม่อยากได้ ฉันอยากได้แฟนที่กล้าจะดึงท่อออกซิเจน แล้วใช้ชีวิตของเขาต่อไปอย่างมีคุณค่า) ซึ่งคาบเกี่ยวระหว่างเสียสติกับน่าสมเพช จนหลายครั้งผมนึกอยากกระโดดเข้าไปในจอหนัง แล้วตบหน้าพระเอกให้ตื่นมาอยู่ในโลกความจริงเสียที

ทุกอย่างดูเหมือนจะเลยเถิดไปไกลขึ้นเรื่อยๆ ตลอดช่วงสิบห้านาทีสุดท้าย (ฉากไปขอบาทหลวงแต่งงาน ฉากขึ้นโรงขึ้นศาลและการหยิบเอารูปถ่ายในชุดวิวาห์มาอ้างเป็นหลักฐานการสมรสทำเอาผมนั่งมึนจนพูดอะไรไม่ออก) และเมื่อเห็นว่าหนังมาไกลเกินกว่าจะลงเอยด้วย “แฮปปี้ เอ็นดิ้ง” แบบง่ายๆ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่อยากให้คนดูเดินออกจากโรงหนังด้วยอารมณ์หดหู่ เศร้าสร้อย ผู้สร้างจึงพยายามเค้น “แฮปปี้ เอ็นดิ้ง” ในอีกรูปแบบหนึ่งออกมา ซึ่งน่าละอายน้อยกว่า “แล้วพวกเขาก็พบกันบนสวรรค์” ประมาณเศษหนึ่งส่วนสาม (ที่สำคัญ กลับสร้างความรู้สึกสยองในแบบหนังผีมากกว่าจะรู้สึกซาบซึ้งอย่างบอกไม่ถูก)

ผมลองคิดเล่นๆ ว่ามันจะดีกว่าไหม หากหนังดำเนินไปถึงจุดผกผันที่พระเอกสามารถทำใจยอมรับสภาพได้ในที่สุด แล้ว “ปลดปล่อย” ร่างกายของนางเอก จากนั้นก็ใช้ชีวิตไปตามปกติ โดยเขาอาจจะแต่งงานกับเพื่อนร่วมงานสาวที่แอบชอบเขาอยู่ก็ได้ จนกระทั่งวันหนึ่งในอีก 50 ปีต่อมา เขาก็ยืนกรานให้ลูกชายขับรถพาเขาไปยังจุดชมฝนดาวตกนั้น ท่ามกลางความงุนงงของลูกชาย

“พ่อเคยให้สัญญาใครคนหนึ่งไว้” ชายชราไขข้อข้องใจเป็นเพียงนัยๆ

แบบนี้มันน่าจะยึดติดกับโลกแห่งความจริงมากกว่า ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ละทิ้งอุดมคติแห่ง “รักแท้” ไปเสียทีเดียว... แต่อย่างว่า คนไม่โรแมนติกอย่างผมจะไปเข้าใจอะไร

วันจันทร์, ธันวาคม 15, 2551

เอเลี่ยนรักษ์โลก


เวอร์ชั่นออริจินัลของ The Day the Earth Stood Still ถูกสร้างขึ้นในปี 1951 ณ ช่วงเวลาที่สงครามเย็นกำลังคุกรุ่นและความเป็นไปได้ของการใช้อาวุธนิวเคลียร์เพื่อยุติความขัดแย้งเริ่มพุ่งทะลักจุดแตก มันจึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะอ่านการมาเยือนของมนุษย์ต่างดาวในหนังเรื่องนี้ว่ามีจุดมุ่งหมายเพื่อตักเตือนมนุษย์ให้เลิกสั่งสมอาวุธสงครามอันตราย ก่อนโลกจะถูกระเบิดจนกลายเป็นผุยผง

57 ปีผ่านไป เรารอดพ้นสงครามนิวเคลียร์มาได้ (แม้จะมีฮึ่มๆ กันอยู่บ้างในบางจุด แต่มันไม่ได้สร้าง “อารมณ์ร่วม”รุนแรงเหมือนในสมัยก่อน) ทว่าต้องเผชิญภัยคุกคามแบบใหม่ที่กำลัง “อินเทรนด์” ในยุคปัจจุบัน นั่นคือ ภาวะโลกร้อน ด้วยเหตุนี้ เอเลี่ยนจึงต้องมาเยือนโลกอีกครั้งใน The Day the Earth Stood Still เวอร์ชั่นรีเมค เพื่อตักเตือนมนุษย์ให้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต ก่อนระบบนิเวศน์จะถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิง

หนึ่งในความเปลี่ยนแปลงประการสำคัญ ได้แก่ อาวุธที่พวกเอเลี่ยนใช้มีรูปร่างเหมือนฝูงแมลงจำนวนนับล้านๆ ซึ่งจะกัดกินทุกอย่างที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้น รวมทั้งตัวมนุษย์เองด้วย แต่จะไม่ทำลายเหล่าต้นไม้ใบหญ้า ภาพที่ปรากฏจึงให้ความรู้สึกเหมือนการเอาคืนของธรรมชาติมากกว่าการโจมตีของสิ่งมีชีวิตจากต่างดาว ขณะเดียวกันในฉากสุดท้าย เมื่อเอเลี่ยนจากไปพร้อมปรากฏการณ์ “โลกหยุด” ตามชื่อหนัง (ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีการสื่อสาร เครื่องขุดเจาะน้ำมันหยุดทำงาน ฯลฯ) มันก็เป็นเหมือนคำสอนให้มนุษย์ฉุกคิด แล้วหันกลับมามองความเจริญก้าวหน้าทั้งหลาย รวมถึงผลกระทบของมันต่อโลกโดยรวม

นอกจากนี้หนังยังได้ตีแผ่สัญชาตญาณด้านมืดของมนุษย์ควบคู่กันไป (“พวกคุณปฏิบัติต่อโลกเหมือนพวกคุณปฏิบัติต่อมนุษย์ด้วยกัน”) โดยเฉพาะกลไกตั้งตนเป็นปฏิปักษ์ต่อ “ความแตกต่าง” ดังจะเห็นได้จากการระดมขนอาวุธหนักจำนวนมากมาล้อมรอบวัตถุแปลกปลอมและต้อนรับการมาเยือนของมนุษย์ต่างดาวด้วยกระสุนปืน ทั้งที่พวกมันไม่ได้แสดงท่าทีคุกคาม หรือเริ่มต้นทำร้าย หรือทำลายล้างสิ่งใด

บางทีนั่นอาจเป็นคำอธิบายว่าทำไมหนังถึงเลือกจะเปลี่ยนแปลงรายละเอียดให้นางเอกมีลูกเลี้ยงเป็นเด็กผิวสี (แถมได้อารมณ์ร่วมสมัยกับประธานาธิบดีคนใหม่) ด้วยความความแตกต่างถึงสองชั้น (แม่เลี้ยง + ผิวขาว) มันจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ความสัมพันธ์ระหว่างคนทั้งสองจะลุ่มๆ ดอนๆ ก่อนสุดท้ายจะสามารถปรับความเข้าใจกันได้ทันเวลาพอดิบพอดี เพื่อแสดงให้เอเลี่ยนมองเห็นประกายความหวังในตัวมนุษย์และสั่งยกเลิกการโจมตี

โรเจอร์ อีเบิร์ต เขียนแซวว่าสิ่งที่มนุษย์ต่างดาวต้องการจะบอกกับชาวโลกใน The Day the Earth Stood Still ฉบับรีเมคคือ เรา (อเมริกา) ควรจะเลือก อัล กอร์ เป็นประธานาธิบดีตั้งแต่แรก ขณะเดียวกัน เมื่อหนังแสดงให้เห็นวิธีตอบโต้ภัยคุกคามอย่างโง่เขลาด้วยความรุนแรงของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งไม่ปรากฏโฉมหน้าให้คนดูเห็นเพราะเขาถูกนำไป “เก็บตัวไว้ในสถานที่ปลอดภัย” แล้ว มันก็เหมือนจะเป็นการล้อเลียนผู้นำบางคนในโลกแห่งความเป็นจริงอยู่กลายๆ

มนุษย์พร้อมจะเปลี่ยนแปลงแล้วจริงหรือ? ชัยชนะของ บารัค โอบามา และการปรากฏตัวขึ้นของหนังอย่าง The Day the Earth Stood Still อาจบ่งบอกแนวโน้มในแง่ดีว่าเรากำลังตระหนักถึงปัญหา... แต่เรากล้าหาญพอที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรอย่างแท้จริงหรือไม่ นั่นคงต้องรอดูกันต่อไป

วันอังคาร, ธันวาคม 09, 2551

ออสการ์ 2009: ไม่มีใครอยากวิ่งนำหน้า


ดูเหมือนสตูดิโอยักษ์ใหญ่ในฮอลลีวู้ดจะหวาดกลัวตำแหน่ง “ตัวเก็ง” ในเทศกาลออสการ์กันแบบถ้วนหน้า หลังได้พบเห็นชะตากรรมอันชวนสลดหดหู่ของหนังอย่าง Dreamgirls และ Cold Mountain หรือในระดับน่าอกสั่นขวัญผวาน้อยลงมาหน่อยอย่าง Atonement ด้วยเหตุนี้ แม้เวลาจะล่วงเลยมาถึงต้นเดือนธันวาคมแล้ว แต่บรรดาหนัง “ว่าที่” จำนวนไม่น้อยกลับยังไม่เปิดฉายในวงกว้าง โดยบางเรื่องอาจเปิดให้นักวิจารณ์กลุ่มหนึ่งได้ชมแล้ว แต่ทางผู้สร้างยังคงขอร้องไม่ให้พวกเขาเขียนวิจารณ์หรือแนะนำหนังอย่างเป็นทางการ จนกว่าจะใกล้ถึงกำหนดเข้าฉาย (ในกลุ่มนี้ได้แก่ The Curious Case of Benjamin Button, Revolutionary Road, Doubt และ Frost/Nixon) ส่วนบางเรื่องยังแทบไม่ค่อยมีใครได้ชม เพราะหนังเพิ่งตัดต่อเสร็จ (ในกลุ่มนี้ได้แก่ Gran Torino และ The Reader)

ในบรรดาหนังที่ผ่านบททดสอบของเหล่านักวิจารณ์วงกว้างมาแล้ว มีอยู่สองเรื่องซึ่งวิ่งนำหน้ามาแต่ไกลจนกลายเป็นตัวเก็งประจำสาขาภาพยนตร์และผู้กำกับยอดเยี่ยม นั่นคือ Slumdog Millionaire และ Milk โดยเรื่องแรกเป็นตัวแทนของหนังอินดี้ feel-good ขวัญใจมวลชน เข้าข่ายเดียวกับ Juno และ Little Miss Sunshine (แถมยังจัดจำหน่ายโดย ฟ็อกซ์ เซิร์ทไลท์ เหมือนกันเสียด้วย ฉะนั้น จึงรับประกันได้ในแง่ของประสบการณ์การโปรโมตหนังให้เข้าถึงคณะกรรมการ) ส่วนเรื่องหลังเป็นตัวแทนหนังชีวประวัติบุคคลแห่งประวัติศาสตร์ ในสไตล์เดียวกับ Ray (แต่คาดว่าคุณภาพโดยรวมน่าจะลงตัวกว่า) ซึ่งกำลังขี่กระแสการเมืองเป็นปัจจัยเสริม หลังจากรัฐแคลิฟอร์เนียโหวตรับการแก้กฎหมายให้บุคคลเพศเดียวกันไม่สามารถแต่งงานกันได้ (Proposition 8) การผลักดันให้ Milk ซึ่งเล่าเรื่องราวชีวิตของนักการเมืองเกย์ ฮาร์วีย์ มิลค์ ที่ต่อสู้เพื่อสิทธิเท่าเทียมกันทางเพศ ก่อนจะถูกฆ่าตายโดยนักการเมืองหัวเอียงขวาสุดโต่ง เข้าชิงออสการ์ หรือกระทั่งชนะรางวัลสำคัญๆ อาจเป็นเหมือนการแก้แค้นอันหอมหวานของกลุ่มเสรีนิยม (รวมถึงเหล่าเกย์/เลสเบี้ยน) ซึ่งอัดแน่นอยู่ในฮอลลีวู้ด


The Curious Case of Benjamin Button น่าจะเบียดเข้าชิงได้ไม่ยากในฐานะ “หนังฟอร์มใหญ่” แห่งปี โดยทุกคนที่ได้ชมล้วนเห็นตรงกันว่าหนังมีสิทธิ์เข้าชิงมากถึง 11 สาขา และน่าจะคว้าออสการ์มาครองได้ไม่ยากในสาขาทางเทคนิคอย่าง แต่งหน้า และ เทคนิคพิเศษด้านภาพยอดเยี่ยม (ว่ากันว่ามันเป็นก้าวสำคัญทางเทคโนโลยีในระดับเดียวกับ Jurassic Park เลยทีเดียว) อย่างไรก็ตาม นักวิจารณ์บางคนตั้งแง่กับอารมณ์โดยรวมของหนัง ซึ่งค่อนข้างเย็นชาและห่างเหินตามสไตล์หนัง เดวิด ฟินเชอร์ (แถมการถ่ายทำด้วยกล้องดิจิตอลยิ่งทำให้ทุกอย่างเลวร้ายลงอีก) แทนที่จะบีบเค้น น่ารัก และอบอุ่นตามสไตล์ Forrest Gump (ทั้งสองเรื่องนี้เขียนบทโดย อีริค รอธ) แต่ถ้าใครไม่ใช่แฟนหนัง Forrest Gump ข้อมูลดังกล่าวอาจถือเป็นข่าวดี

กระแสเบื้องต้นของ Revolutionary Road และ Frost/Nixon ยังค่อนข้างก้ำกึ่งเกินกว่าจะฟันธง ส่งผลให้พวกมันเปราะบางและอาจถูกแซงหน้าได้ง่ายๆ โดยหนังที่ยัง “ชวนพิศวง” อย่าง Gran Torino และ The Reader หรือหนังขวัญใจนักวิจารณ์อย่าง The Wrestler หนังขวัญใจนักวิจารณ์ + ขวัญใจมหาชนอย่าง The Dark Knight และหนังขวัญใจนักแสดงอย่าง Doubt ซึ่งมีโอกาสเข้าชิงสามสาขาการแสดงค่อนข้างสูง (นำหญิง + สมทบชาย + สมทบหญิง) ต้องไม่ลืมว่านักแสดงเป็นกรรมการออสการ์กลุ่มใหญ่สุด (นับรวมแล้ว = 1243 จากทั้งหมด 5829 คิดเป็น 21%) หากพวกเขาชอบนักแสดงถึงสามคนในหนังเรื่องเดียวกัน โอกาสที่พวกเขาจะชอบหนังทั้งเรื่องและกาโหวตให้ย่อมสูงตามไปด้วย กระนั้น ทุกๆ Million Dollar Baby, In the Bedroom และ Michael Clayton ก็ย่อมมี Iris สอดแทรกมาบ้าง ด้วยเหตุนี้ การมีนักแสดงเข้าชิงสามสาขาจึงไม่ได้รับประกันว่าหนังจะเข้าชิงสาขาใหญ่เสมอไป

แทบทุกปี รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมมักจะไม่สอดคล้องกับหนังยอดเยี่ยมแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ ฉะนั้น ถึงแม้โอกาสเข้าชิงของ The Dark Knight อาจไม่มากนักในสาขาใหญ่สุด หากมองตามสถานการณ์ปัจจุบัน (แต่ถ้าบรรดาหนังใหม่ปลายปีพากันโดนสอยร่วงระนาวเหมือนกรณีของ Australia โอกาสของมันก็จะเพิ่มสูงขึ้นมาทันที) เพราะยังไงเสียหลายคนก็ยังมองว่ามันเป็น “แค่” หนังซูเปอร์ฮีโร่ แถมยังเป็นภาคต่ออีกต่างหาก แต่ คริสโตเฟอร์ โนแลน รวมถึง ดาเรน อาโรนอฟสกี้ (The Wrestler) โจนาธาน เด็มมี่ (Rachel Getting Married) และแน่นอน คลินท์ อีสต์วู้ด (Gran Torino) กลับดูจะมีภาษีมากกว่าผู้กำกับอย่าง รอน โฮเวิร์ด (Frost/Nixon) และ จอห์น แพ็ทริค แชนลีย์ (Doubt) แม้ว่าคนแรกจะเคยคว้าออสการ์สาขานี้มาครองแล้วก็ตาม ส่วนคนหลังก็เคยได้ออสการ์สาขาบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยมจาก Moonstruck

หนังยอดเยี่ยม

ตัวเก็ง: The Curious Case of Benjamin Button, Slumdog Millionaire, Milk, Revolutionary Road, Frost/Nixon
ตัวสอดแทรก: The Reader, Doubt, The Dark Knight, The Wrestler, Rachel Getting Married

ผู้กำกับยอดเยี่ยม

ตัวเก็ง: เดวิด ฟินเชอร์ (The Curious Case of Benjamin Button), แซม เมนเดส (Revolutionary Road) แดนนี่ บอยล์(Slumdog Millionaire) กัส แวน แซนท์ (Milk), คริสโตเฟอร์ โนแลนด์ (The Dark Knight)
ตัวสอดแทรก: สตีเฟ่น ดัลดรี้ (The Reader), รอน โฮเวิร์ด (Frost/Nixon), ดาเรน อาโรนอฟสกี้ (The Wrestler), คลินท์ อีสต์วู้ด (Gran Torino), โจนาธาน เด็มมี่ (Rachel Getting Married)


ณ เวลานี้ ดาราสองคนที่รับประกันการเข้าชิงในสาขานักแสดงนำชายค่อนข้างแน่นอนแล้ว คือ ฌอน เพนน์ (Milk) และ มิคกี้ รู้ก (The Wrestler) โดยคนแรกได้รับความเคารพนับถือในวงการมาช้านาน แม้บุคลิกส่วนตัวจะไม่ใช่คน “อบอุ่น” หรือ “เป็นมิตร” สักเท่าไหร่ ข้อพิสูจน์ชัดเจนว่าชาวฮอลลีวู้ดให้การยอมรับในฝีมือการแสดงของเพนน์ คือ การที่เขาถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์แม้กระทั่งจากหนังที่ไม่คู่ควรกับพรสวรรค์อย่าง I Am Sam และหนังที่ไม่ได้โด่งดังเปรี้ยงปร้างอย่าง Sweet and Lowdown ที่สำคัญ Milk ยังถือเป็นการพลิกบทบาทครั้งสำคัญของเพนน์ (ซึ่งก่อนหน้านี้มักรับบทชายน่าเกรงขาม ชวนคุกคาม ที่อัดแน่นไปด้วยความโกรธแค้นและด้านมืด ดังจะเห็นได้จากผลงานใน Mystic River และ Dead Man Walking) ด้วยการเปิดเผยด้านที่อ่อนโยน เป็นที่รักของคนรอบข้าง และเปราะบางทางอารมณ์... คงไม่บ่อยนักหรอกที่คุณจะได้เห็น ฌอน เพนน์ ยิ้มแย้มบนจอหนัง

บทบาทใน Milk เข้าทางออสการ์ในหลายๆ ด้าน ตั้งแต่การต้องเล่นเป็นบุคคลจริง ซึ่งนำไปสู่โอกาสแสดงทักษะเลียนแบบบุคลิก ท่าทาง ตลอดจนการพูดจาของคนๆ นั้น (ตัวอย่างเช่น เจมี่ ฟ็อกซ์ จาก Ray และ เฮเลน เมียร์เรน จาก The Queen) ไปจนถึงการแสดงเป็นรักร่วมเพศ ซึ่งหลายคนยังถือเป็น “ความกล้าหาญ” กันอยู่ (ตัวอย่างเช่น ทอม แฮงค์ จาก Philadelphia และ วิลเลี่ยม เฮิร์ท จาก Kiss of the Spider Woman) พูดง่ายๆ ฌอน เพนน์ ถือแต้มต่อแบบสองเด้งในลักษณะเดียวกับ ฟิลิป ซีมัวร์ ฮอฟฟ์แมน จาก Capote แถมบุคลิกของ ฮาร์วีย์ มิลค์ ยังน่ารัก น่าคบหามากกว่า ทรูแมน คาโปตี้ หลายเท่านัก


เช่นเดียวกัน มิคกี้ รู้ก ไม่ใช่ “นางงามมิตรภาพ” ในแวดวงฮอลลีวู้ด (ตำแหน่งดังกล่าวคงเป็นของ เมอรีล สตรีพ ผู้กำลังจะส่งมอบมงกุฎต่อให้กับ เคท วินสเล็ท) หลายคนไม่ชอบขี้หน้าเขาเลยด้วยซ้ำ แต่ส่วนใหญ่ล้วนเห็นตรงกันว่าผู้กำกับ ดาร์เรน อาโรนอฟสกี้ ได้มอบโอกาสทองให้เขาผ่านบท “แจ้งเกิด” ใน The Wrestler และรู้กก็ไม่ปล่อยโอกาสหลุดมือ เขาทุ่มเทแบบมอบกายถวายชีวิตจนนักวิจารณ์พากันสรรเสริญ ชื่นชม พร้อมทำนายว่ามันอาจเป็นบทที่ทำให้เขาคว้าออสการ์มาครองเลยด้วยซ้ำ

สมมุติฐานดังกล่าวดูจะเป็นไปได้ยาก (แต่การกวาดรางวัลของนักวิจารณ์มาครองอาจช่วยได้) เนื่องจากปีนี้สาขานักแสดงนำชายถือได้ว่าค่อนข้างแข็ง เสียงลือในระลอกแรกระบุว่า ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ ขาประจำเวทีออสการ์ตลอดช่วงสามสี่ปีหลัง โดดเด่นมากใน Revolutionary Road อีกคนที่น่าจะได้เข้าชิงค่อนข้างแน่ คือ แฟรงค์ แลนเกลลา นักแสดงละครเวทีรุ่นใหญ่ กับการหันมาเล่นบทเดิม ซึ่งเคยทำให้เขาคว้ารางวัลโทนี่มาแล้วใน Frost/Nixon นั่นส่งผลให้เหลือตำแหน่งว่างอีกเพียงตำแหน่งเดียวสำหรับสาขานี้ ซึ่งคงต้องเป็นการชิงดำระหว่าง แบรด พิทท์, เบนิชิโอ เดล โทโร, ริชาร์ด เจนกินส์ และ คลินท์ อีสต์วู้ด คนแรกอาจได้เปรียบในแง่ที่ว่า The Curious Case of Benjamin Button เป็นหนังตัวเก็งในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม แต่นักวิจารณ์บางคนบอกว่า ตัวละครอย่าง เบนจามิน บัตตอน เป็นเหมือนผู้สังเกตการณ์และไม่เปิดโอกาสให้แสดงอารมณ์หลากหลายมากนัก ก่อนจะสมทบว่าเขาประทับใจบทบาทของพิทท์ใน Burn After Reading มากกว่า ส่วนคนหลังสุดได้เปรียบตรงที่เขามีชื่อว่า คลินท์ อีสต์วู้ด และหลายคนที่ได้ดูหนังแล้วต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าอีสต์วู้ดมีโอกาสเข้าชิงแน่นอน และดีไม่ดีอาจถึงขั้นคว้ารางวัลไปครองเลยด้วยซ้ำในสไตล์เดียวกับ จอห์น เวย์น จาก True Grit (ความแตกต่างอยู่ตรงที่อีสต์วู้ดได้ออสการ์มาแล้ว 4 ตัวจากการกำกับและอำนวยการสร้างหนังเรื่อง Unforgiven และ Million Dollar Baby)

จนถึงเวลานี้ รางวัลเดียวที่ดูเหมือนจะถูกตัดสินไว้เรียบร้อยแล้ว คือ นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม เพราะวัดจากกระแสโดยรอบ ยังไม่มีใครสามารถคุกคาม ฮีธ เลดเจอร์ จาก The Dark Knight ได้เลย ทั้งในแง่ของ “เนื้องาน” และปัจจัยแวดล้อม (การเสียชีวิตก่อนวัยอันควร) ฟิลิป ซีมัวร์ ฮอฟฟ์แมน (ซึ่งได้ออสการ์ไปแล้วด้วยการเอาชนะ ฮีธ เลดเจอร์ เมื่อสามปีก่อน) จาก Doubt ดูเหมือนจะโดนพวกผู้หญิงขโมยซีนไปหมด ขณะ ไมเคิล ชีน ก็ไม่ถูกกล่าวขวัญถึงมากเท่า แฟรงค์ แลนเกลลา ส่วนบรรดานักแสดงชายจาก Milk อย่าง เจมส์ ฟรังโก้, อีไมล์ เฮิร์ช และ จอช โบรลิน การได้หลุดเข้าชิงก็น่าจะถือเป็นชัยชนะสูงสุดแล้ว คนเดียวที่เหมือนจะกำลังหายใจรดต้นคอเลดเจอร์อยู่ ได้แก่ ไมเคิล แชนนอน จาก Revolutionary Road ซึ่งบทเปิดโอกาสให้เขาตีแผ่อารมณ์อย่างถึงแก่นและบาดลึก ความน่าวิตกเพียงอย่างเดียวคงอยู่ตรงน้ำหนักบทที่อาจจะน้อยไปหน่อย และบุคลิกอันไม่ค่อยน่าพิสมัยของตัวละคร คาดว่าผลรางวัลของนักวิจารณ์น่าจะช่วยปัดเป่าม่านหมอกให้ทุกอย่างดูชัดเจนขึ้น

นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม

ตัวเก็ง: ฌอน เพนน์ (Milk), มิคกี้ รู้ก (The Wrestler), แฟรงค์ แลนเกลลา (Frost/Nixon), ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ (Revolutionary Road), คลินท์ อีสต์วู้ด (Gran Torino)
ตัวสอดแทรก: แบรด พิทท์ (The Curious Case of Benjamin Button), เบนิชิโอ เดล โทโร (Che), ฮิวจ์ แจ๊คแมน (Australia), วิล สมิธ (Seven Pounds), ริชาร์ด เจนกินส์ (The Visitor)

นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม

ตัวเก็ง: ฮีธ เลดเจอร์ (The Dark Night), ฟิลิป ซีมัวร์ ฮอฟฟ์แมน (Doubt), ไมเคิล ชีน (Frost/Nixon), ไมเคิล แชนนอน (Revolutionary Road), เรฟ ไฟน์ส (The Reader)
ตัวสอดแทรก: เอ็ดดี้ มาร์แซน (Happy-Go-Lucky), โรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์ (Tropic Thunder), เจมส์ ฟรังโก้ (Milk), แบรด พิทท์ (Burn After Reading), จอช โบรลิน (Milk)


ไม่รู้ว่าการที่ ฮาร์วีย์ ไวน์สไตน์ พยายามผลักดัน The Reader ให้เข้าฉายปลายปี 2008 จะกลายเป็นประโยชน์หรือโทษให้กับ เคท วินสเล็ท ซึ่งมีบทนำที่น่าจะรับประกันการเข้าชิงอยู่แล้วใน Revolutionary Road ไวน์สไตน์บอกว่าจะส่งเธอเข้าชิงในสาขาสมทบหญิง เพื่อไม่ให้เกิดการตัดคะแนนกันเอง แต่นั่นอาจไม่ช่วยแก้ปัญหา ถ้าผู้ลงคะแนนเห็นว่าบทของเธอใน The Reader โดดเด่นและน่าประทับใจพอจะเข้าชิงในสาขานำหญิง เหตุการณ์แบบนี้เคยเกิดขึ้นแล้วกับ ไคชา แคสเทิล-ฮิวจ์ จาก Whale Rider ซึ่งทางสตูดิโอส่งเข้าประกวดในสาขาสมทบหญิง แต่สุดท้ายกลับได้รับโหวตให้เข้าชิงในสาขานำหญิง

อย่างไรก็ตาม หากวินสเล็ทได้เข้าชิงทั้งสองสาขาตามแผน ผลลัพธ์ต่อมาอาจไม่สวยงาม ชวนมอง เพราะการชวดรางวัลจะทำให้เธอก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งนักแสดงหญิงที่อกหักจากการเข้าชิงออสการ์บ่อยครั้งสุดแทนที่ เดเบอราห์ เคอร์ และ เธลมา ริตเตอร์ ในทันที (ก่อนหน้านี้เธอเข้าชิงมาแล้ว 5 ครั้งจาก Sense and Sensibility, Iris, Titanic, Eternal Sunshine of the Spotless Mind และ Little Children)

คนเดียวที่รับประกันการเข้าชิงค่อนข้างแน่ คือ เมอรีล สตรีพ แม้ว่า Variety จะไม่ค่อยปลื้มการตีความใหม่ของเธอใน Doubt สักเท่าไหร่ (ว่ากันว่าเธอเน้นแสดงอารมณ์แบบลุ่มลึก ซึ่งเหมาะสำหรับภาพยนตร์มากกว่าเนื่องจากกล้องถ่ายหนังสามารถจับรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ได้อย่างแม่นยำ ขณะเดียวกันก็เพิ่มมิติความเป็นมนุษย์ที่ขัดแย้งและสับสนให้กับตัวละครด้วย) แต่หลายคน ทั้งที่เคยดูเวอร์ชั่นละครเวทีและไม่เคยดู ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าสตรีพไม่เคยยอดเยี่ยมขนาดนี้มานานหลายปีแล้ว

สามนักแสดงหญิงจากหนังฟอร์มเล็กที่คาดว่าน่าจะได้แรงผลักดันอย่างเต็มที่จากรางวัลของนักวิจารณ์ ได้แก่ คริสติน สก็อตต์ โธมัส (I’ve Loved You So Long) แซลลี่ ฮอว์กินส์ (Happy-Go-Lucky) และ เมลิสซา ลีโอ (Frozen River) โดยหากมองในตอนนี้ คนแรกสุดดูเหมือนจะมีภาษีเหนือใคร เนื่องจากเธอเคยผ่านเวทีออสการ์มาแล้ว (The English Patient) เธอต้องพูดภาษาฝรั่งเศส (ก็มันเป็นหนังฝรั่งเศสนี่นา) เธอรับบทเปลือยอารมณ์แบบปราศจากเมคอัพ (เข้าข่าย “อย่ามองฉันที่หน้าตา แต่ให้ดูความสามารถ” เหมือน ชาร์ลีซ เธรอน ใน North Country และ Monster) เธอแบกรับหนังทั้งเรื่องไว้บนบ่าและทำหน้าที่ได้อย่างไร้ที่ติ กระนั้น ข้อได้เปรียบดังกล่าวสามารถนำมาอธิบายงานแสดงของลีโอกับฮอว์กินส์ได้เช่นกัน

ก่อนหนังจะเปิดตัว คนส่วนใหญ่มองข้าม เคท บลันเช็ตต์ ในสาขานำหญิง เนื่องจากคาดเดากันว่าหนังน่าจะให้น้ำหนักไปทาง แบรด พิทท์ มากกว่า แต่พอหลายคนได้มีโอกาสชมหนังแบบเต็มๆ แล้ว บลันเช็ตต์กลับพุ่งแรงจนกลายมาเป็นผู้นำร่วมกับสตรีพ (อย่าลืมว่าออสการ์หลงใหลได้ปลื้มผู้หญิงคนนี้ถึงขนาดเสนอชื่อเธอเข้าชิงนำหญิงจากหนังอย่าง Elizabeth: The Golden Age มาแล้ว) นั่นกลายเป็นข่าวร้ายสำหรับ แองเจลิน่า โจลี่ (Changeling) ซึ่งทำท่าว่าอาจถูกเบียดตกเวทีอีกครั้ง ตอกย้ำแผลเดิมเมื่อครั้งพลาดเข้าชิงจาก A Mighty Heart มีคนวิเคราะห์ว่าสถานะ “ราชินีแท็บลอยด์” ของเธอบั่นทอนภาพลักษณ์นักแสดง ขณะที่อีกคนเห็นว่าเธอเล่น “ใหญ่” เกินไปหน่อยใน Changeling ซึ่งหากเป็นปีที่การแข่งขันไม่เข้มข้น เธออาจหลุดเข้าชิงได้ โชคร้ายที่ปีนี้ไม่ใช่เช่นนั้น


อีกคนที่เริ่มวิ่งนำหน้ามาได้สองสามเดือนแล้ว นั่นคือ แอนน์ แฮทธาเวย์ (Rachel Getting Married) ก็อาจเริ่มร้อนๆ หนาวๆ เหมือนกัน เมื่อโอกาสที่เธอจะพลาดรถไฟขบวนสุดท้ายก็มีอยู่สูง โชคดีที่ Rachel Getting Married ได้รับคำวิจารณ์ค่อนข้างดี (ไม่เหมือน Changeling ซึ่งโดนสอยร่วงแบบเดียวกับ Flags of Our Fathers) แถมยังมีโอกาส (ไกลๆ) ที่จะหลุดเข้าชิงสาขาใหญ่อย่างภาพยนตร์และผู้กำกับยอดเยี่ยมด้วย อีกอย่าง การสลัดภาพเจ้าหญิงดิสนีย์มาเป็นสาวขี้ยาน่าจะช่วยเพิ่มคะแนนให้เธอได้ไม่น้อย

ในส่วนของนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม สองคนที่กำลังวิ่งนำหน้า คือ เพเนโลปี้ ครูซ (Vicky Cristina Barcelona) และ ไวโอลา เดวิส (Doubt) ซึ่งแม้จะโผล่หน้าออกมาเพียงฉากสองฉาก แต่เธอก็กินขาดทุกคน แม้กระทั่ง เมอรีล สตรีพ!?! สำหรับกลุ่มตัวเก็ง คนที่ “เปราะบาง” สุดเห็นจะเป็น มาริสา โทเม เพราะ The Wrestler ถูกมองว่าเป็นหนังของ มิคกี้ รู้ก และเธอก็เคยถูกมองข้ามมาแล้วจาก Before the Devil Knows You’re Dead ส่วนคนที่อาจสอดแทรกเข้ามาแทนที่ คือ นักแสดงสาวเล็ก (โรสแมรี เดอวิตต์) และ สาวใหญ่ (เดบร้า วิงเกอร์) จาก Rachel Getting Married เช่นกัน รางวัลนักวิจารณ์น่าจะช่วยสร้างภาพให้ชัดเจนขึ้นได้

นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม

ตัวเก็ง: เมอรีล สตรีพ (Doubt), เคท วินสเล็ท (Revolutionary Road), คริสติน สก็อตต์ โธมัส (I’ve Loved You So Long), แอนน์ แฮทธาเวย์ (Rachel Getting Married), เคท บลันเช็ตต์ (The Curious Case of Benjamin Button)
ตัวสอดแทรก: แซลลี่ ฮอว์กินส์ (Happy-Go-Lucky), แองเจลินา โจลี (Changeling), เคท เบ็กคินเซล (Nothing But the Truth), นิโคล คิดแมน (Australia), เมลิสซา ลีโอ (Frozen River)

นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม

ตัวเก็ง: เพเนโลปี้ ครูซ (Vicky Cristina Barcelona), ไวโอลา เดวิส (Doubt), เคท วินสเล็ท (The Reader), ทาราจี พี. เฮนสัน (The Curious Case of Benjamin Button), มาริสา โทเม (The Wrestler)
ตัวสอดแทรก: เคธี เบทส์ (Revolutionary Road), โรสแมรี เดอวิตต์ (Rachel Getting Married), เดบร้า วิงเกอร์ (Rachel Getting Married), เอลซา ซิลเบอร์สไตน์ (I’ve Loved You So Long), โรซาริโอ ดอว์สัน (Seven Pounds)

ออสการ์ 2009: ไม่มีใครอยากวิ่งนำหน้า


ดูเหมือนสตูดิโอยักษ์ใหญ่ในฮอลลีวู้ดจะหวาดกลัวตำแหน่ง “ตัวเก็ง” ในเทศกาลออสการ์กันแบบถ้วนหน้า หลังได้พบเห็นชะตากรรมอันชวนสลดหดหู่ของหนังอย่าง Dreamgirls และ Cold Mountain หรือในระดับน่าอกสั่นขวัญผวาน้อยลงมาหน่อยอย่าง Atonement ด้วยเหตุนี้ แม้เวลาจะล่วงเลยมาถึงต้นเดือนธันวาคมแล้ว แต่บรรดาหนัง “ว่าที่” จำนวนไม่น้อยกลับยังไม่เปิดฉายในวงกว้าง โดยบางเรื่องอาจเปิดให้นักวิจารณ์กลุ่มหนึ่งได้ชมแล้ว แต่ทางผู้สร้างยังคงขอร้องไม่ให้พวกเขาเขียนวิจารณ์หรือแนะนำหนังอย่างเป็นทางการ จนกว่าจะใกล้ถึงกำหนดเข้าฉาย (ในกลุ่มนี้ได้แก่ The Curious Case of Benjamin Button, Revolutionary Road, Doubt และ Frost/Nixon) ส่วนบางเรื่องยังแทบไม่ค่อยมีใครได้ชม เพราะหนังเพิ่งตัดต่อเสร็จ (ในกลุ่มนี้ได้แก่ Gran Torino และ The Reader)

ในบรรดาหนังที่ผ่านบททดสอบของเหล่านักวิจารณ์วงกว้างมาแล้ว มีอยู่สองเรื่องซึ่งวิ่งนำหน้ามาแต่ไกลจนกลายเป็นตัวเก็งประจำสาขาภาพยนตร์และผู้กำกับยอดเยี่ยม นั่นคือ Slumdog Millionaire และ Milk โดยเรื่องแรกเป็นตัวแทนของหนังอินดี้ feel-good ขวัญใจมวลชน เข้าข่ายเดียวกับ Juno และ Little Miss Sunshine (แถมยังจัดจำหน่ายโดย ฟ็อกซ์ เซิร์ทไลท์ เหมือนกันเสียด้วย ฉะนั้น จึงรับประกันได้ในแง่ของประสบการณ์การโปรโมตหนังให้เข้าถึงคณะกรรมการ) ส่วนเรื่องหลังเป็นตัวแทนหนังชีวประวัติบุคคลแห่งประวัติศาสตร์ ในสไตล์เดียวกับ Ray (แต่คาดว่าคุณภาพโดยรวมน่าจะลงตัวกว่า) ซึ่งกำลังขี่กระแสการเมืองเป็นปัจจัยเสริม หลังจากรัฐแคลิฟอร์เนียโหวตรับการแก้กฎหมายให้บุคคลเพศเดียวกันไม่สามารถแต่งงานกันได้ (Proposition 8) การผลักดันให้ Milk ซึ่งเล่าเรื่องราวชีวิตของนักการเมืองเกย์ ฮาร์วีย์ มิลค์ ที่ต่อสู้เพื่อสิทธิเท่าเทียมกันทางเพศ ก่อนจะถูกฆ่าตายโดยนักการเมืองหัวเอียงขวาสุดโต่ง เข้าชิงออสการ์ หรือกระทั่งชนะรางวัลสำคัญๆ อาจเป็นเหมือนการแก้แค้นอันหอมหวานของกลุ่มเสรีนิยม (รวมถึงเหล่าเกย์/เลสเบี้ยน) ซึ่งอัดแน่นอยู่ในฮอลลีวู้ด

The Curious Case of Benjamin Button น่าจะเบียดเข้าชิงได้ไม่ยากในฐานะ “หนังฟอร์มใหญ่” แห่งปี โดยทุกคนที่ได้ชมล้วนเห็นตรงกันว่าหนังมีสิทธิ์เข้าชิงมากถึง 11 สาขา และน่าจะคว้าออสการ์มาครองได้ไม่ยากในสาขาทางเทคนิคอย่าง แต่งหน้า และ เทคนิคพิเศษด้านภาพยอดเยี่ยม (ว่ากันว่ามันเป็นก้าวสำคัญทางเทคโนโลยีในระดับเดียวกับ Jurassic Park เลยทีเดียว) อย่างไรก็ตาม นักวิจารณ์บางคนตั้งแง่กับอารมณ์โดยรวมของหนัง ซึ่งค่อนข้างเย็นชาและห่างเหินตามสไตล์หนัง เดวิด ฟินเชอร์ (แถมการถ่ายทำด้วยกล้องดิจิตอลยิ่งทำให้ทุกอย่างเลวร้ายลงอีก) แทนที่จะบีบเค้น น่ารัก และอบอุ่นตามสไตล์ Forrest Gump (ทั้งสองเรื่องนี้เขียนบทโดย อีริค รอธ) แต่ถ้าใครไม่ใช่แฟนหนัง Forrest Gump ข้อมูลดังกล่าวอาจถือเป็นข่าวดี

กระแสเบื้องต้นของ Revolutionary Road และ Frost/Nixon ยังค่อนข้างก้ำกึ่งเกินกว่าจะฟันธง ส่งผลให้พวกมันเปราะบางและอาจถูกแซงหน้าได้ง่ายๆ โดยหนังที่ยัง “ชวนพิศวง” อย่าง Gran Torino และ The Reader หรือหนังขวัญใจนักวิจารณ์อย่าง The Wrestler หนังขวัญใจนักวิจารณ์ + ขวัญใจมหาชนอย่าง The Dark Knight และหนังขวัญใจนักแสดงอย่าง Doubt ซึ่งมีโอกาสเข้าชิงสามสาขาการแสดงค่อนข้างสูง (นำหญิง + สมทบชาย + สมทบหญิง) ต้องไม่ลืมว่านักแสดงเป็นกรรมการออสการ์กลุ่มใหญ่สุด (นับรวมแล้ว = 1243 จากทั้งหมด 5829 คิดเป็น 21%) หากพวกเขาชอบนักแสดงถึงสามคนในหนังเรื่องเดียวกัน โอกาสที่พวกเขาจะชอบหนังทั้งเรื่องและกาโหวตให้ย่อมสูงตามไปด้วย กระนั้น ทุกๆ Million Dollar Baby, In the Bedroom และ Michael Clayton ก็ย่อมมี Iris สอดแทรกมาบ้าง ด้วยเหตุนี้ การมีนักแสดงเข้าชิงสามสาขาจึงไม่ได้รับประกันว่าหนังจะเข้าชิงสาขาใหญ่เสมอไป

แทบทุกปี รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมมักจะไม่สอดคล้องกับหนังยอดเยี่ยมแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ ฉะนั้น ถึงแม้โอกาสเข้าชิงของ The Dark Knight อาจไม่มากนักในสาขาใหญ่สุด หากมองตามสถานการณ์ปัจจุบัน (แต่ถ้าบรรดาหนังใหม่ปลายปีพากันโดนสอยร่วงระนาวเหมือนกรณีของ Australia โอกาสของมันก็จะเพิ่มสูงขึ้นมาทันที) เพราะยังไงเสียหลายคนก็ยังมองว่ามันเป็น “แค่” หนังซูเปอร์ฮีโร่ แถมยังเป็นภาคต่ออีกต่างหาก แต่ คริสโตเฟอร์ โนแลน รวมถึง ดาเรน อาโรนอฟสกี้ (The Wrestler) โจนาธาน เด็มมี่ (Rachel Getting Married) และแน่นอน คลินท์ อีสต์วู้ด (Gran Torino) กลับดูจะมีภาษีมากกว่าผู้กำกับอย่าง รอน โฮเวิร์ด (Frost/Nixon) และ จอห์น แพ็ทริค แชนลีย์ (Doubt) แม้ว่าคนแรกจะเคยคว้าออสการ์สาขานี้มาครองแล้วก็ตาม ส่วนคนหลังก็เคยได้ออสการ์สาขาบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยมจาก Moonstruck

หนังยอดเยี่ยม

ตัวเก็ง: The Curious Case of Benjamin Button, Slumdog Millionaire, Milk, Revolutionary Road, Frost/Nixon
ตัวสอดแทรก: The Reader, Doubt, The Dark Knight, The Wrestler, Rachel Getting Married

ผู้กำกับยอดเยี่ยม

ตัวเก็ง: เดวิด ฟินเชอร์ (The Curious Case of Benjamin Button), แซม เมนเดส (Revolutionary Road) แดนนี่ บอยล์(Slumdog Millionaire) กัส แวน แซนท์ (Milk), คริสโตเฟอร์ โนแลนด์ (The Dark Knight)
ตัวสอดแทรก: สตีเฟ่น ดัลดรี้ (The Reader), รอน โฮเวิร์ด (Frost/Nixon), ดาเรน อาโรนอฟสกี้ (The Wrestler), คลินท์ อีสต์วู้ด (Gran Torino), โจนาธาน เด็มมี่ (Rachel Getting Married)


ณ เวลานี้ ดาราสองคนที่รับประกันการเข้าชิงในสาขานักแสดงนำชายค่อนข้างแน่นอนแล้ว คือ ฌอน เพนน์ (Milk) และ มิคกี้ รู้ก (The Wrestler) โดยคนแรกได้รับความเคารพนับถือในวงการมาช้านาน แม้บุคลิกส่วนตัวจะไม่ใช่คน “อบอุ่น” หรือ “เป็นมิตร” สักเท่าไหร่ ข้อพิสูจน์ชัดเจนว่าชาวฮอลลีวู้ดให้การยอมรับในฝีมือการแสดงของเพนน์ คือ การที่เขาถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์แม้กระทั่งจากหนังที่ไม่คู่ควรกับพรสวรรค์อย่าง I Am Sam และหนังที่ไม่ได้โด่งดังเปรี้ยงปร้างอย่าง Sweet and Lowdown ที่สำคัญ Milk ยังถือเป็นการพลิกบทบาทครั้งสำคัญของเพนน์ (ซึ่งก่อนหน้านี้มักรับบทชายน่าเกรงขาม ชวนคุกคาม ที่อัดแน่นไปด้วยความโกรธแค้นและด้านมืด ดังจะเห็นได้จากผลงานใน Mystic River และ Dead Man Walking) ด้วยการเปิดเผยด้านที่อ่อนโยน เป็นที่รักของคนรอบข้าง และเปราะบางทางอารมณ์... คงไม่บ่อยนักหรอกที่คุณจะได้เห็น ฌอน เพนน์ ยิ้มแย้มบนจอหนัง

บทบาทใน Milk เข้าทางออสการ์ในหลายๆ ด้าน ตั้งแต่การต้องเล่นเป็นบุคคลจริง ซึ่งนำไปสู่โอกาสแสดงทักษะเลียนแบบบุคลิก ท่าทาง ตลอดจนการพูดจาของคนๆ นั้น (ตัวอย่างเช่น เจมี่ ฟ็อกซ์ จาก Ray และ เฮเลน เมียร์เรน จาก The Queen) ไปจนถึงการแสดงเป็นรักร่วมเพศ ซึ่งหลายคนยังถือเป็น “ความกล้าหาญ” กันอยู่ (ตัวอย่างเช่น ทอม แฮงค์ จาก Philadelphia และ วิลเลี่ยม เฮิร์ท จาก Kiss of the Spider Woman) พูดง่ายๆ ฌอน เพนน์ ถือแต้มต่อแบบสองเด้งในลักษณะเดียวกับ ฟิลิป ซีมัวร์ ฮอฟฟ์แมน จาก Capote แถมบุคลิกของ ฮาร์วีย์ มิลค์ ยังน่ารัก น่าคบหามากกว่า ทรูแมน คาโปตี้ หลายเท่านัก

เช่นเดียวกัน มิคกี้ รู้ก ไม่ใช่ “นางงามมิตรภาพ” ในแวดวงฮอลลีวู้ด (ตำแหน่งดังกล่าวคงเป็นของ เมอรีล สตรีพ ผู้กำลังจะส่งมอบมงกุฎต่อให้กับ เคท วินสเล็ท) หลายคนไม่ชอบขี้หน้าเขาเลยด้วยซ้ำ แต่ส่วนใหญ่ล้วนเห็นตรงกันว่าผู้กำกับ ดาร์เรน อาโรนอฟสกี้ ได้มอบโอกาสทองให้เขาผ่านบท “แจ้งเกิด” ใน The Wrestler และรู้กก็ไม่ปล่อยโอกาสหลุดมือ เขาทุ่มเทแบบมอบกายถวายชีวิตจนนักวิจารณ์พากันสรรเสริญ ชื่นชม พร้อมทำนายว่ามันอาจเป็นบทที่ทำให้เขาคว้าออสการ์มาครองเลยด้วยซ้ำ

สมมุติฐานดังกล่าวดูจะเป็นไปได้ยาก (แต่การกวาดรางวัลของนักวิจารณ์มาครองอาจช่วยได้) เนื่องจากปีนี้สาขานักแสดงนำชายถือได้ว่าค่อนข้างแข็ง เสียงลือในระลอกแรกระบุว่า ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ ขาประจำเวทีออสการ์ตลอดช่วงสามสี่ปีหลัง โดดเด่นมากใน Revolutionary Road อีกคนที่น่าจะได้เข้าชิงค่อนข้างแน่ คือ แฟรงค์ แลนเกลลา นักแสดงละครเวทีรุ่นใหญ่ กับการหันมาเล่นบทเดิม ซึ่งเคยทำให้เขาคว้ารางวัลโทนี่มาแล้วใน Frost/Nixon นั่นส่งผลให้เหลือตำแหน่งว่างอีกเพียงตำแหน่งเดียวสำหรับสาขานี้ ซึ่งคงต้องเป็นการชิงดำระหว่าง แบรด พิทท์, เบนิชิโอ เดล โทโร, ริชาร์ด เจนกินส์ และ คลินท์ อีสต์วู้ด คนแรกอาจได้เปรียบในแง่ที่ว่า The Curious Case of Benjamin Button เป็นหนังตัวเก็งในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม แต่นักวิจารณ์บางคนบอกว่า ตัวละครอย่าง เบนจามิน บัตตอน เป็นเหมือนผู้สังเกตการณ์และไม่เปิดโอกาสให้แสดงอารมณ์หลากหลายมากนัก ก่อนจะสมทบว่าเขาประทับใจบทบาทของพิทท์ใน Burn After Reading มากกว่า ส่วนคนหลังสุดได้เปรียบตรงที่เขามีชื่อว่า คลินท์ อีสต์วู้ด และหลายคนที่ได้ดูหนังแล้วต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าอีสต์วู้ดมีโอกาสเข้าชิงแน่นอน และดีไม่ดีอาจถึงขั้นคว้ารางวัลไปครองเลยด้วยซ้ำในสไตล์เดียวกับ จอห์น เวย์น จาก True Grit (ความแตกต่างอยู่ตรงที่อีสต์วู้ดได้ออสการ์มาแล้ว 4 ตัวจากการกำกับและอำนวยการสร้างหนังเรื่อง Unforgiven และ Million Dollar Baby)

จนถึงเวลานี้ รางวัลเดียวที่ดูเหมือนจะถูกตัดสินไว้เรียบร้อยแล้ว คือ นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม เพราะวัดจากกระแสโดยรอบ ยังไม่มีใครสามารถคุกคาม ฮีธ เลดเจอร์ จาก The Dark Knight ได้เลย ทั้งในแง่ของ “เนื้องาน” และปัจจัยแวดล้อม (การเสียชีวิตก่อนวัยอันควร) ฟิลิป ซีมัวร์ ฮอฟฟ์แมน (ซึ่งได้ออสการ์ไปแล้วด้วยการเอาชนะ ฮีธ เลดเจอร์ เมื่อสามปีก่อน) จาก Doubt ดูเหมือนจะโดนพวกผู้หญิงขโมยซีนไปหมด ขณะ ไมเคิล ชีน ก็ไม่ถูกกล่าวขวัญถึงมากเท่า แฟรงค์ แลนเกลลา ส่วนบรรดานักแสดงชายจาก Milk อย่าง เจมส์ ฟรังโก้, อีไมล์ เฮิร์ช และ จอช โบรลิน การได้หลุดเข้าชิงก็น่าจะถือเป็นชัยชนะสูงสุดแล้ว คนเดียวที่เหมือนจะกำลังหายใจรดต้นคอเลดเจอร์อยู่ ได้แก่ ไมเคิล แชนนอน จาก Revolutionary Road ซึ่งบทเปิดโอกาสให้เขาตีแผ่อารมณ์อย่างถึงแก่นและบาดลึก ความน่าวิตกเพียงอย่างเดียวคงอยู่ตรงน้ำหนักบทที่อาจจะน้อยไปหน่อย และบุคลิกอันไม่ค่อยน่าพิสมัยของตัวละคร คาดว่าผลรางวัลของนักวิจารณ์น่าจะช่วยปัดเป่าม่านหมอกให้ทุกอย่างดูชัดเจนขึ้น

นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม

ตัวเก็ง: ฌอน เพนน์ (Milk), มิคกี้ รู้ก (The Wrestler), แฟรงค์ แลนเกลลา (Frost/Nixon), ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ (Revolutionary Road), คลินท์ อีสต์วู้ด (Gran Torino)
ตัวสอดแทรก: แบรด พิทท์ (The Curious Case of Benjamin Button), เบนิชิโอ เดล โทโร (Che), ฮิวจ์ แจ๊คแมน (Australia), วิล สมิธ (Seven Pounds), ริชาร์ด เจนกินส์ (The Visitor)

นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม

ตัวเก็ง: ฮีธ เลดเจอร์ (The Dark Night), ฟิลิป ซีมัวร์ ฮอฟฟ์แมน (Doubt), ไมเคิล ชีน (Frost/Nixon), ไมเคิล แชนนอน (Revolutionary Road), เรฟ ไฟน์ส (The Reader)
ตัวสอดแทรก: เอ็ดดี้ มาร์แซน (Happy-Go-Lucky), โรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์ (Tropic Thunder), เจมส์ ฟรังโก้ (Milk), แบรด พิทท์ (Burn After Reading), จอช โบรลิน (Milk)


ไม่รู้ว่าการที่ ฮาร์วีย์ ไวน์สไตน์ พยายามผลักดัน The Reader ให้เข้าฉายปลายปี 2008 จะกลายเป็นประโยชน์หรือโทษให้กับ เคท วินสเล็ท ซึ่งมีบทนำที่น่าจะรับประกันการเข้าชิงอยู่แล้วใน Revolutionary Road ไวน์สไตน์บอกว่าจะส่งเธอเข้าชิงในสาขาสมทบหญิง เพื่อไม่ให้เกิดการตัดคะแนนกันเอง แต่นั่นอาจไม่ช่วยแก้ปัญหา ถ้าผู้ลงคะแนนเห็นว่าบทของเธอใน The Reader โดดเด่นและน่าประทับใจพอจะเข้าชิงในสาขานำหญิง เหตุการณ์แบบนี้เคยเกิดขึ้นแล้วกับ ไคชา แคสเทิล-ฮิวจ์ จาก Whale Rider ซึ่งทางสตูดิโอส่งเข้าประกวดในสาขาสมทบหญิง แต่สุดท้ายกลับได้รับโหวตให้เข้าชิงในสาขานำหญิง

อย่างไรก็ตาม หากวินสเล็ทได้เข้าชิงทั้งสองสาขาตามแผน ผลลัพธ์ต่อมาอาจไม่สวยงาม ชวนมอง เพราะการชวดรางวัลจะทำให้เธอก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งนักแสดงหญิงที่อกหักจากการเข้าชิงออสการ์บ่อยครั้งสุดแทนที่ เดเบอราห์ เคอร์ และ เธลมา ริตเตอร์ ในทันที (ก่อนหน้านี้เธอเข้าชิงมาแล้ว 5 ครั้งจาก Sense and Sensibility, Iris, Titanic, Eternal Sunshine of the Spotless Mind และ Little Children)

คนเดียวที่รับประกันการเข้าชิงค่อนข้างแน่ คือ เมอรีล สตรีพ แม้ว่า Variety จะไม่ค่อยปลื้มการตีความใหม่ของเธอใน Doubt สักเท่าไหร่ (ว่ากันว่าเธอเน้นแสดงอารมณ์แบบลุ่มลึก ซึ่งเหมาะสำหรับภาพยนตร์มากกว่าเนื่องจากกล้องถ่ายหนังสามารถจับรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ได้อย่างแม่นยำ ขณะเดียวกันก็เพิ่มมิติความเป็นมนุษย์ที่ขัดแย้งและสับสนให้กับตัวละครด้วย) แต่หลายคน ทั้งที่เคยดูเวอร์ชั่นละครเวทีและไม่เคยดู ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าสตรีพไม่เคยยอดเยี่ยมขนาดนี้มานานหลายปีแล้ว

สามนักแสดงหญิงจากหนังฟอร์มเล็กที่คาดว่าน่าจะได้แรงผลักดันอย่างเต็มที่จากรางวัลของนักวิจารณ์ ได้แก่ คริสติน สก็อตต์ โธมัส (I’ve Loved You So Long) แซลลี่ ฮอว์กินส์ (Happy-Go-Lucky) และ เมลิสซา ลีโอ (Frozen River) โดยหากมองในตอนนี้ คนแรกสุดดูเหมือนจะมีภาษีเหนือใคร เนื่องจากเธอเคยผ่านเวทีออสการ์มาแล้ว (The English Patient) เธอต้องพูดภาษาฝรั่งเศส (ก็มันเป็นหนังฝรั่งเศสนี่นา) เธอรับบทเปลือยอารมณ์แบบปราศจากเมคอัพ (เข้าข่าย “อย่ามองฉันที่หน้าตา แต่ให้ดูความสามารถ” เหมือน ชาร์ลีซ เธรอน ใน North Country และ Monster) เธอแบกรับหนังทั้งเรื่องไว้บนบ่าและทำหน้าที่ได้อย่างไร้ที่ติ กระนั้น ข้อได้เปรียบดังกล่าวสามารถนำมาอธิบายงานแสดงของลีโอกับฮอว์กินส์ได้เช่นกัน

ก่อนหนังจะเปิดตัว คนส่วนใหญ่มองข้าม เคท บลันเช็ตต์ ในสาขานำหญิง เนื่องจากคาดเดากันว่าหนังน่าจะให้น้ำหนักไปทาง แบรด พิทท์ มากกว่า แต่พอหลายคนได้มีโอกาสชมหนังแบบเต็มๆ แล้ว บลันเช็ตต์กลับพุ่งแรงจนกลายมาเป็นผู้นำร่วมกับสตรีพ (อย่าลืมว่าออสการ์หลงใหลได้ปลื้มผู้หญิงคนนี้ถึงขนาดเสนอชื่อเธอเข้าชิงนำหญิงจากหนังอย่าง Elizabeth: The Golden Age มาแล้ว) นั่นกลายเป็นข่าวร้ายสำหรับ แองเจลิน่า โจลี่ (Changeling) ซึ่งทำท่าว่าอาจถูกเบียดตกเวทีอีกครั้ง ตอกย้ำแผลเดิมเมื่อครั้งพลาดเข้าชิงจาก A Mighty Heart มีคนวิเคราะห์ว่าสถานะ “ราชินีแท็บลอยด์” ของเธอบั่นทอนภาพลักษณ์นักแสดง ขณะที่อีกคนเห็นว่าเธอเล่น “ใหญ่” เกินไปหน่อยใน Changeling ซึ่งหากเป็นปีที่การแข่งขันไม่เข้มข้น เธออาจหลุดเข้าชิงได้ โชคร้ายที่ปีนี้ไม่ใช่เช่นนั้น

อีกคนที่เริ่มวิ่งนำหน้ามาได้สองสามเดือนแล้ว นั่นคือ แอนน์ แฮทธาเวย์ (Rachel Getting Married) ก็อาจเริ่มร้อนๆ หนาวๆ เหมือนกัน เมื่อโอกาสที่เธอจะพลาดรถไฟขบวนสุดท้ายก็มีอยู่สูง โชคดีที่ Rachel Getting Married ได้รับคำวิจารณ์ค่อนข้างดี (ไม่เหมือน Changeling ซึ่งโดนสอยร่วงแบบเดียวกับ Flags of Our Fathers) แถมยังมีโอกาส (ไกลๆ) ที่จะหลุดเข้าชิงสาขาใหญ่อย่างภาพยนตร์และผู้กำกับยอดเยี่ยมด้วย อีกอย่าง การสลัดภาพเจ้าหญิงดิสนีย์มาเป็นสาวขี้ยาน่าจะช่วยเพิ่มคะแนนให้เธอได้ไม่น้อย

ในส่วนของนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม สองคนที่กำลังวิ่งนำหน้า คือ เพเนโลปี้ ครูซ (Vicky Cristina Barcelona) และ ไวโอลา เดวิส (Doubt) ซึ่งแม้จะโผล่หน้าออกมาเพียงฉากสองฉาก แต่เธอก็กินขาดทุกคน แม้กระทั่ง เมอรีล สตรีพ!?! สำหรับกลุ่มตัวเก็ง คนที่ “เปราะบาง” สุดเห็นจะเป็น มาริสา โทเม เพราะ The Wrestler ถูกมองว่าเป็นหนังของ มิคกี้ รู้ก และเธอก็เคยถูกมองข้ามมาแล้วจาก Before the Devil Knows You’re Dead ส่วนคนที่อาจสอดแทรกเข้ามาแทนที่ คือ นักแสดงสาวเล็ก (โรสแมรี เดอวิตต์) และ สาวใหญ่ (เดบร้า วิงเกอร์) จาก Rachel Getting Married เช่นกัน รางวัลนักวิจารณ์น่าจะช่วยสร้างภาพให้ชัดเจนขึ้นได้

นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม

ตัวเก็ง: เมอรีล สตรีพ (Doubt), เคท วินสเล็ท (Revolutionary Road), คริสติน สก็อตต์ โธมัส (I’ve Loved You So Long), แอนน์ แฮทธาเวย์ (Rachel Getting Married), เคท บลันเช็ตต์ (The Curious Case of Benjamin Button)
ตัวสอดแทรก: แซลลี่ ฮอว์กินส์ (Happy-Go-Lucky), แองเจลินา โจลี (Changeling), เคท เบ็กคินเซล (Nothing But the Truth), นิโคล คิดแมน (Australia), เมลิสซา ลีโอ (Frozen River)

นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม

ตัวเก็ง: เพเนโลปี้ ครูซ (Vicky Cristina Barcelona), ไวโอลา เดวิส (Doubt), เคท วินสเล็ท (The Reader), ทาราจี พี. เฮนสัน (The Curious Case of Benjamin Button), มาริสา โทเม (The Wrestler)
ตัวสอดแทรก: เคธี เบทส์ (Revolutionary Road), โรสแมรี เดอวิตต์ (Rachel Getting Married), เดบร้า วิงเกอร์ (Rachel Getting Married), เอลซา ซิลเบอร์สไตน์ (I’ve Loved You So Long), โรซาริโอ ดอว์สัน (Seven Pounds)

Short Replay: Borat: Cultural Learnings of America for Make Benefit Glorious Nation of Kazakhstan


นอกจากจะช่วยบริหารกล้ามเนื้อหน้าท้องได้เป็นอย่างดีแล้ว การนั่งชม Borat (ขอเรียกแบบย่อ) หนังอเมริกันที่ตลกสุดในรอบหลายปี ยังจะช่วยทดสอบและวัดระดับต่อมความอดทนของคุณต่อ “ความแตกต่าง” หรือ “คนอื่น” ได้อย่างดีเยี่ยมอีกด้วย มันเป็นเหมือนการถูกส่งเข้าค่ายพักร้อน ที่คุณแปลกแยก แตกต่างจากทุกคนรอบข้าง ถ้าคุณยังสามารถยิ้มรับสถานการณ์ได้อย่างมีน้ำใจเป็นนักกีฬา นั่นหมายความว่าคุณสอบผ่าน

โบรัตเป็นชายหนุ่มที่เหยียดชาวยิว เหยียดเพศหญิง และเหยียด จอร์จ ดับเบิลยู บุช!?! ทุกอย่างที่เขาพูดหรือทำดูเหมือนจะสร้างความไม่พอใจให้กับบรรดาผู้ยึดมั่นในความเชื่อของตนเองทั้งหลาย แน่นอน การพูดว่าผู้หญิงควรอาศัยอยู่ในกรงถือเป็นคำพูดที่ไม่ค่อยให้เกียรติเพศแม่ แต่การแสดงออกของเหล่าเฟมินิสต์พวกนั้น (ตีหน้าบึ้ง มองด้วยแววตาเหยียดๆ ปนโกรธแค้น และเดินออกจากวงสนทนาอย่างไม่ใส่ใจ) ถือเป็นสิ่งควรกระทำงั้นหรือ โบรัตถูกปลูกฝังมาโดยวัฒนธรรมในประเทศของเขา (หวังเป็นอย่างยิ่งว่าคาซัคสถานคงไม่มีประเพณี หรือสภาพบ้านเมืองเหมือนที่เห็นในหนัง) แต่เพียงเพราะเขาถูกเลี้ยงดูมาอย่าง “แตกต่าง” ควรแล้วหรือที่เราจะยกตนเองว่าอยู่เหนือกว่า มีการศึกษา ตลอดจนความ “ศิวิไลซ์” มากกว่า และตัดสินมนุษย์ผู้นี้ว่าน่ารังเกียจ น่าเหยียดหยาม ทั้งที่พฤติกรรมต่างๆ ของเขานั้นไม่ได้ทำร้ายใคร (นอกจากอีโก้อันสูงเกินพิกัดของคนบางคน) หรือสร้างความเดือดร้อนใดๆ พูดไปพูดมาอย่าว่าแต่ในอเมริกาเลย ชนชั้นกลางบางคนในบ้านเมืองเราก็ชอบเห็นว่าตนเองฉลาดกว่า เหนือกว่า และท้ายที่สุด คือ “ถูกต้อง” กว่าคนอื่น พวกเขาเหล่านั้นสมควรดูหนังเรื่อง Borat เป็นอย่างยิ่ง

บทสรุปสุดท้าย เมื่อโบรัตตัดสินใจเลือกโสเภณีใบหน้าไม่โสภา หุ่นจ้ำม่ำ แต่ใจกว้างยิ่งกว่าท้องฟ้าไปเป็นภรรยา (หลังผิดหวังจาก พาเมล่า แอนเดอร์สัน) ช่วยตอกย้ำให้เห็นว่าบางทีความศิวิไลซ์แค่เปลือกนอกเหมือนที่บางคนชอบเอามาแอบอ้างนั้น มันหาได้บ่งบอกถึงความเจริญแล้วในแก่นแท้แต่อย่างใด

วันจันทร์, ธันวาคม 08, 2551

ผู้หญิงเล่าเรื่อง ผู้ชายขึ้นหิ้ง


ในบทความชิ้นก่อน ผมลืมพูดถึงรายละเอียดอันน่าสนใจของ Twilight ไปจุดหนึ่ง นั่นคือ การละเมิดความเชื่อที่มีมานานว่าแสงแดดจะสังหารผีดิบดูดเลือด (เช่นเดียวกับการใช้ลิ่มตอกหัวใจ) หรืออย่างน้อยที่สุดก็ทำให้พวกเขาอ่อนแอ หวาดกลัว และเปราะบาง ด้วยเหตุนี้เองเหล่าแวมไพร์จึงต้องนอนในโลงศพ แล้วออกล่าเหยื่อเวลาค่ำคืนแบบเดียวกับค้างคาว (อีกร่างหนึ่งของแวมไพร์)

แต่ถ้าคุณกำลังวางแผนจะเขียนนิยายโรแมนซ์ระหว่างเด็กสาววัยรุ่นกับเด็กหนุ่มแวมไพร์ (ซึ่งจริงๆ มีอายุเป็นร้อยปีแล้ว) มันคงเป็นเรื่องยากที่จะกำหนดสถานการณ์ให้ทั้งสองเจอกันเฉพาะตอนค่ำ (ที่สำคัญ หญิงสาวจะไม่เฉลียวใจเลยเชียวหรือถึงความไม่ชอบมาพากลดังกล่าว) ฉะนั้น สเตฟานี เมเยอร์ จึงฉีกกฎทิ้ง แล้วเปลี่ยนหลักเกณฑ์เสียใหม่ว่า แวมไพร์ของเธอ นอกจากจะไม่ตายเมื่อโดดแสงแดดแล้ว พวกเขายังดู “งดงาม” มากขึ้นด้วย แม้ว่าพวกเขายังคงต้องหลบเลี่ยงวันที่ “อากาศดี” เพราะมันอาจเป็นการเปิดเผยตัวตนว่าพวกเขาไม่ใช่มนุษย์ปกติธรรมดา

สเตฟานี เมเยอร์ ได้ใช้ถ้อยคำหลายย่อหน้า บรรยาย (หรืออาจจะเรียกว่าเทิดทูนบูชา) ความสมบูรณ์แบบทางรูปลักษณ์ภายนอกของเอ็ดเวิร์ด โดยเฉพาะฉากที่เขาเปิดเผยผิว “ประกายเพชร” กับเบลล่า ไม่ว่าจะเป็นเส้นผมอันแสนมหัศจรรย์ของเขา แผงอกที่ได้รูปสวยงามของเขา ลมหายใจของเขา ดวงตาของเขา ฯลฯ พูดง่ายๆ เอ็ดเวิร์ดเป็นหนุ่มหล่อเลิศทุกสัดส่วน นอกจากนี้ แง่มุมแวมไพร์ของเขายังถูกลดทอนความสยองเพื่อตอบสนองแฟนตาซีทางเพศของผู้หญิง (กลุ่มคนอ่านหลักของหนังสือเล่มนี้) เช่น ผิวหนังของเขาส่องประกายเมื่อต้องแสงแดด แทนที่จะเผาไหม้ เขาไม่ได้อาศัยอยู่ในปราสาททึมทึบน่ากลัว ไม่ได้นอนในโลงศพ (เขาไม่นอน) แต่กลับมีบ้านพักบนเนินเขาแสนสวย หรูหรา ติดกระจกรอบด้าน และเขาไม่สามารถ (หรือไม่เคย) แปลงร่างเป็นค้างคาว (นั่นมันคงชวนขยะแขยงเกินไป)

ยิ่งไปกว่านั้น เอ็ดเวิร์ดยังเป็นแวมไพร์ “มังสวิรัติ” เขาเลยต้องพยายามสะกดกลั้นตัวเองไม่ให้มีอะไรกับเบลล่า ด้วยกลัวว่าจะห้ามใจตัวเองไม่ไหว และการกระทำแบบนั้น ยิ่งทำให้เขาเป็นที่ปรารถนาของเบลล่ามากขึ้น (ประเด็นนี้ผมกล่าวไปแล้วในบทความชิ้นก่อน) อย่างไรก็ตาม เบลล่าไม่ได้รุกเร้าเอ็ดเวิร์ดในเรื่องเพศเท่านั้น เธอยังต้องการให้เขาแปลงเธอเป็นแวมไพร์ด้วย ซึ่งนั่นตอบสนองแฟนตาซีเพศหญิงในอีกทางหนึ่ง นั่นคือ ความสาวอันเป็นอมตะ เบลล่าไม่ได้มองว่าแวมไพร์ คือ ความตาย หากแต่เป็น “โอกาสที่จะได้อยู่กับแฟนหนุ่มสุดหล่อของฉันตลอดไป โดยที่ฉันไม่ต้องแก่ไปตามกาลเวลา”

คริสเตน สจ๊วต เคยให้สัมภาษณ์ว่าระหว่างแจกลายเซ็นให้บรรดาแฟนๆ เธอเหมือนจะตระหนักถึงสายตาดูหมิ่น เหยียดหยามจากเด็กสาวรอบข้าง ซึ่งเดินทางยกโขยงกันมาเพื่อหวังจะยลโฉมแฟนตาซีทางเพศของพวกหล่อนที่ถูกเนรมิตให้กลายเป็นตัวตนจริงๆ ผ่านรูปลักษณ์ของ โรเบิร์ต แพททิสัน ไม่ใช่เรื่องแปลกหากสจ๊วตจะคิดเช่นนั้น เพราะแม้ว่าเธอจะเป็นตัวเอกของเรื่อง (และการแสดงของเธอก็ช่วยอุ้มหนังทั้งเรื่องได้ในระดับหนึ่ง) แต่สุดท้ายแล้วหัวใจหลักของ Twilight ยังคงเป็นเอ็ดเวิร์ด และความงดงามของเขา ความเป็นสุภาพบุรุษของเขา ความลึกลับชวนค้นหาของเขา ความแข็งแกร่ง งามสง่าของเขา ฯลฯ

ตลกดีที่หนังสือมีตัวเอกเป็นเพศหญิง แต่ความลุ่มหลงส่วนใหญ่กลับพุ่งตรงไปยังเพศชายเป็นหลัก โดยส่วนตัว ผมไม่เห็นว่า โรเบิร์ต แพททิสัน จะหล่อเหลาอะไรมากมาย (เช่น ถ้าเทียบกับ แบรด พิทท์ หรือ ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ ในยุครุ่งเรือง) แต่สาเหตุที่เขาโดนสาวๆ รุมทึ้งเหมือนชิ้นเนื้อกลางฝูงพิรันย่าน่าจะเป็นเพราะ Twilight ได้สร้างภาพเอ็ดเวิร์ดเอาไว้สูงส่ง ชวนหลงใหล และตอบสนองแฟนตาซีของพวกเธอได้ในหลายๆ ทางมากกว่า

วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 30, 2551

ดูแลฉัน! ปกป้องฉัน! และอย่ามีเซ็กซ์กับฉัน!


เป็นเรื่องบังเอิญอันน่าประหลาดในบ้านเรา ที่หนังเรื่อง Teeth (2007) เข้าฉายสัปดาห์เดียวกับ Twilight (2008) เพราะถึงแม้โดยเนื้อหาภายนอก หนังทั้งสองเรื่องดูเหมือนจะไม่สามารถเชื่อมโยงใดๆ ถึงกันได้ แต่หากมองทะลุเปลือกเข้าไปแล้ว คุณจะพบว่าพวกมันล้วนสะท้อนให้เห็นแฟนตาซีของเพศหญิง แต่อาจเรียกได้ว่าเป็นแฟนตาซี “ขั้วตรงข้าม” ของกันและกันก็ได้ (ความบังเอิญอีกอย่าง คือ ตัวเอกใน Teeth มีชื่อว่า ดอว์น หรือ รุ่งอรุณ ซึ่งตรงกันข้ามกับชื่อหนังเรื่อง Twilight ที่หมายถึงแสงสุดท้ายก่อนความมืดมิดแห่งรัตติกาลจะมาเยือน)

สเตฟานี ไมเออร์ ผู้แต่งนิยายชุดนี้เป็นมอร์มอนที่เคร่งศาสนา (จะว่าไปก็คงไม่แตกต่างจากดอว์นในช่วงต้นเรื่องของ Teeth สักเท่าไหร่) ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไม Twilight ถึงนำเสนอ “อารมณ์ทางเพศของผู้หญิง” ในฐานะสิ่งของต้องห้าม และอาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต โดยจุดพลิกผันเล็กๆ อยู่ตรง คนที่หลีกเลี่ยงไม่อยากมีเซ็กซ์กลับกลายเป็นเพศชาย (เอ็ดเวิร์ด) เพราะเขากลัวว่าจะเผลอทำร้ายเธอด้วยพลังเหนือธรรมชาติ หรือดูดเลือดเธอด้วยความกระหายตามสัญชาตญาณแวมไพร์ (ครอบครัวเอ็ดเวิร์ดเป็นแวมไพร์มังสวิรัติ พวกเขาฝึกฝนตนให้ดูดเลือดสัตว์เป็นอาหารและไม่ทำร้ายมนุษย์) “ความปลอดภัย” ของเบลล่าจึงกลายเป็นสัญลักษณ์แทน “พรหมจรรย์” ซึ่งเอ็ดเวิร์ดพยายามปกป้องคุ้มครองด้วยความทุ่มเทเต็มร้อย

นี่มันโลกแฟนตาซียิ่งกว่า มิดเดิล เอิร์ธ ซะอีก! โลกที่หญิงสาวสามารถเปิดเผยความต้องการได้อย่างอิสระ แล้วปล่อยใจให้ชายหนุ่มได้โดยไม่ต้องรู้สึกละอาย เพราะเขาจะเป็นคนคอย “ปกป้อง” พรหมจรรย์ของเธอเอาไว้จนกว่าจะถึงเวลาอันควร

ในโลกของมอร์มอน เป้าหมายของผู้หญิง คือ รักษาความบริสุทธิ์เอาไว้จนกระทั่งวันวิวาห์ ปกป้องตัวเองจากเหล่าผู้ชายหื่นกระหายทั้งหลายและควบคุมอารมณ์อันพลุ่งพล่านของตนเอง แม้จะพลิกผัน “หน้าที่เฝ้าประตู” จากผู้หญิงมาเป็นผู้ชาย (และโชคดีเหลือเกินที่ผู้ชายคนดังกล่าวช่างเต็มไปด้วยความรับผิดชอบและเก็บกดอารมณ์ได้เป็นเลิศ) แต่ Twilight ยังคงมีเป้าหมายเดียวกัน นั่นคือ ความบริสุทธิ์ผุดผ่อง ผู้ชาย หรือแวมไพร์ ยังคงเป็นตัวแปรอันตรายและคุกคามความบริสุทธิ์ ส่วนผู้หญิงยังคงเปราะบาง อ่อนแอ การมีเพศสัมพันธ์อาจนำมาซึ่ง “ความตาย” (ความหมายแบบตรงตัวใน Twilight และความหมายเชิงนัยยะ นั่นคือ ความตายของสถานภาพทางสังคม ในโลกแห่งมอร์มอน)

การเปลี่ยนบทบาทให้ผู้หญิงไม่ต้องเป็นคนรับหน้าที่ปกป้องพรหมจรรย์ของตนเองจากเหล่าชายหนุ่มกลัดมันนำไปสู่อีกแฟนตาซีเพศหญิง ซึ่งดำรงอยู่คู่วัฒนธรรมของเรามาช้านาน (ในที่นี้หมายถึงวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่)

เพื่อนผู้หญิงคนหนึ่งของผมเล่าให้ฟังว่า ฉากที่เธอชอบมากที่สุดของหนัง คือ ตอนท้ายเรื่องเมื่อเอ็ดเวิร์ดอุ้มเบลล่า (ใส่เฝือก) ข้ามธรณีประตูเข้าสู่งานพรอม พอผมถามเหตุผล เธอกลับตอบเรียบๆ แค่ว่า “ดูน่ารักดี” อย่างไรก็ตาม ผมไม่แปลกใจเลยว่าทำไมเธอถึงชอบฉากนี้ เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ขอผมร่ายรายละเอียดเกี่ยวกับเพื่อนคนนี้เพิ่มเติมสักเล็กน้อย (อย่าหาว่าเอาเพื่อนมาเมาท์เลยนะ) เธอชื่นชอบละครและหนังเกาหลีโรแมนติกเป็นชีวิตจิตใจ (และไม่น่าจะรู้จักผลงานของผู้กำกับอย่าง คิมคีด็อค) บุคลิกโดยรวมค่อนข้างห้าว พูดจาโผงผางในบางเวลา จนหลายคนมองว่าเธอเป็นทอม เธอจะชื่นชมผู้ชายที่เปิดประตูให้ ช่วยถือของ ฯลฯ และด่าว่าผู้ชายที่ไม่แสดงคุณสมบัติทางอุดมคติว่า “ไม่เป็นสุภาพบุรุษเอาซะเลย” ปัจจุบันเธอยังไม่มีแฟนเป็นตัวเป็นตน แต่อยากมีมาก จนต้องไปบนบานศาลกล่าวก็เคย โดยเวลาถามถึงหนุ่มในสเป็ค เธอมักจะตอบว่าต้องมีฐานะดีกว่า สูงกว่า ฉลาดกว่า แต่ห้ามผอมกว่า!?!

แม้จะมีงานทำ หาเงินเลี้ยงตัวเองได้ แต่สุดท้ายเธอก็ยังใฝ่ฝันอยากมีผู้ชายสักคนที่เข้มแข็งมาดูแล ปกป้อง เหมือนคนใส่เฝือกที่เดินไม่ถนัด แล้วมี “สุภาพบุรุษ” มาคอยอุ้มข้ามอุปสรรคทั้งหลายอยู่นั่นเอง

ในทางจิตวิทยา ได้มีการคิดค้นคำว่า Cinderella Complex ขึ้นมาสำหรับอธิบายแรงปรารถนาที่จะพึ่งพิง หรือได้รับการดูแลเอาใจใส่จากคนอื่น และหวาดกลัวการยืนหยัดบนลำแข้งของตัวเอง ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในหมู่เพศหญิง แถมยังจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุที่เพิ่มขึ้น จุดกำเนิดของคำดังกล่าว คือ ตัวเอกในนิทานเรื่อง Cinderella ซึ่งเป็นผู้หญิงสวย ฉลาด และสุภาพอ่อนโยน แต่กลับไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ และต้องรอคอยความช่วยเหลือจากพลังภายนอก (เจ้าชาย) มาทำให้เธอได้พบกับความสุข สมหวัง ส่วนตัวละครผู้หญิงที่ทรงพลังและเข้มแข็งกลับถูกวาดภาพให้เป็นนังวายร้ายที่ควรค่าแก่การเกลียดชัง (แม่เลี้ยง)

“การเดินทาง” ของเบลล่า (Twilight) กับดอว์น (Teeth) พลิกตาลปัตรกันอย่างสิ้นเชิง ดอว์นเริ่มต้นเรื่องด้วยการมีทุกสิ่งทุกอย่าง รวมถึงพรหมจรรย์ เธอไร้เดียงสา อ่อนต่อโลก พยายามเก็บกดความต้องการทางเพศเอาไว้ภายใน แต่พอถึงตอนจบดอว์นสูญเสียแม่ (ครอบครัวทางสายเลือดเพียงคนเดียว) ตัดขาดจากสมาชิกครอบครัวคนอื่นๆ (ลูกพี่ลูกน้องและพ่อเลี้ยง) สูญเสียพรหมจรรย์ (แต่ได้รู้จักความหรรษาทางเพศ) ไม่เหลือมนุษย์เพศชายคอยปกป้อง (ชายหนุ่มที่เธอรักดันพยายามจะข่มขืนเธอ ส่วนผู้ชายอีกคนเห็นเธอเป็นแค่ตุ๊กตายางมีชีวิต) แต่ได้เรียนรู้ที่จะยืนหยัดบนขาของตัวเอง (พร้อมสรรพด้วยอาวุธลับทีเด็ดอย่าง “กลีบเขมือบ”) รอยยิ้มสุดท้ายของดอว์นก่อนจอหนังจะขึ้นเครดิตหนังสะท้อนให้คนดูตระหนักว่าเธอหาใช่เด็กสาวอ่อนเปลี้ย ไร้เดียงสาเหมือนในตอนต้นเรื่องอีกต่อไป

ตรงกันข้าม เบลล่าเริ่มต้นเรื่องด้วยภาพลักษณ์ของเด็กสาวที่แข็งแกร่ง เธอตัดสินใจเดินทางมาอยู่กับพ่อในเมืองต่างถิ่น เพื่อให้แม่ได้อยู่กับคนรัก เธอขับรถกระบะคันยักษ์ไปโรงเรียน (พาหนะหลักของดอว์น คือ รถจักรยาน) และไม่สนใจพวกเด็กหนุ่มที่มาคลอเคลียเธอตั้งแต่วันแรก เธอไม่ตื่นเต้นเรื่องงานพรอม การเลือกซื้อชุด หรือหาคู่เดท เหมือนเด็กสาวมัธยมทั่วไป แต่พอถึงตอนจบ เบลล่ากลับกลายเป็นหญิงสาวที่ต้องพึ่งพิงเอ็ดเวิร์ดอย่างสิ้นเชิง (สุภาพบุรุษแวมไพร์ตนนี้ได้ “ช่วยชีวิต” เธอไว้ถึงสามครั้ง แถมยังคอยวิ่งมาเปิดประตูรถให้ และอุ้มเธอข้ามธรณีประตู) แม่อยากให้เธอไปอยู่ด้วย เธอปรับความเข้าใจกับพ่อได้ และลงรอยกับครอบครัวของเอ็ดเวิร์ด สรุปว่าสุดท้ายเธอมีครอบครัวให้เลือกถึงสามครอบครัวด้วยกัน หลังจากช่วงต้นเรื่องจำเป็นต้องยืนบนลำแข้งของตัวเอง เธอลงเอยด้วยการมาร่วมงานพรอม แต่ต้องเต้นรำบนเท้าของเอ็ดเวิร์ด ความอ่อนแอ เปราะบางของเธอถูกเน้นย้ำบ่อยครั้ง... ที่สำคัญ นอกจากไม่ต้องสูญเสียอะไรแล้ว เธอยังรักษาพรหมจรรย์เอาไว้ได้ในตอนจบ และไม่มีโอกาสเรียนรู้เกี่ยวกับความหรรษาทางเพศ

ถึงตอนนี้ Twilight ให้ความรู้สึกเหมือนการนำเอา Thelma & Louise มาเล่าย้อนหลังยังไงพิกล

วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 23, 2551

ทุนเขมือบ


หลังจากพูดถึงประเด็นชาย-หญิงใน Teeth ไปเมื่อบทความก่อน คราวนี้ผมอยากจะลองหันมาพิจารณาอีกประเด็นซึ่งปรากฏควบคู่ในหนัง แต่อาจจะไม่เด่นชัดเท่า และให้ความรู้สึกเชิง “นัยยะ” มากกว่า แต่ถือว่ามันเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้างความน่าสนใจให้กับภาพรวมของหนัง

ใครก็ตามที่ได้ดู Teeth คงอดแปลกใจไม่ได้กับภาพปล่องโรงงานพลังนิวเคลียร์ ซึ่งถูกสอดแทรกเข้ามา (คิดว่าน่าจะผ่านเทคนิคคอมพิวเตอร์กราฟฟิก) ในหนังอย่างน้อยสี่ครั้งโดยปราศจากคำอธิบายเพิ่มเติมใดๆ มองโดยผิวเผิน นี่คงเป็นความพยายามอันเรียบง่ายของทีมสร้างหนังที่จะอธิบายสาเหตุแห่ง “กลีบเขมือบ” (แม่ของดอว์นเองก็ป่วยเป็นโรคร้ายแรง ซึ่งไม่ถูกระบุแน่ชัด แต่ตีความได้ว่าอาจเป็นผลมาจากการรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสี) ว่าเกิดจากการแปลงพันธุ์ หรือการบิดเบือนทางโครโมโซม

การ์ตูน The Simpsons เคยเล่นแก๊กตลกเกี่ยวกับการรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสีจนส่งผลให้สิ่งมีชีวิตบนโลกกลายพันธุ์เป็นสัตว์ประหลาด เช่น ปลามีขา หรือกบมีสิบตา อะไรทำนองนี้อยู่หลายครั้ง และนักวิจารณ์ภาพยนตร์ในเมืองนอกคนหนึ่งก็ได้เปรียบเทียบปล่องโรงงานใน Teeth ว่าให้อารมณ์คล้ายกับปล่องโรงงานนิวเคลียร์ที่ โฮเมอร์ ซิมป์สัน ทำงานอยู่



ฉากหลังของ Teeth แทบจะไม่แตกต่างจากสปริงฟิลด์ใน The Simpsons ตรงที่มันเป็นเมืองชนบทเล็กๆ ที่ยังเต็มไปด้วยธรรมชาติ เช่น ป่าเขา น้ำตก และทะเลสาบ ด้วยเหตุนี้ปล่องโรงงานนิวเคลียร์ขนาดใหญ่ ที่ปล่อยควันจำนวนมหาศาลจึงเป็นสิ่งเดียวที่ดู “ไม่เข้าพวก” และขณะเดียวกันก็ให้ความรู้สึกคุกคาม คล้ายเป็นสิ่งแปลกปลอมที่ถูกยัดเยียด สอดใส่เข้ามาทำลายบรรยากาศอันเงียบสงบ ร่มรื่น หรือพูดอีกนัยหนึ่ง มันไม่ต่างจากภาพสัญลักษณ์ของการ “ข่มขืน” สังคมชนบทโดยชาวเมืองและทุนนิยม

การแบ่งแยก/ขัดแย้งระหว่างเมืองกับชนบทถือเป็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นบ่อยครั้งในหนังสยองขวัญ ซึ่งมักเริ่มต้นเล่าเรื่องด้วยการให้ชาวเมืองกลุ่มหนึ่งย้ายบ้าน หรือแวะไปพักผ่อนยังชนบทอันห่างไกล (บรรดาบ้านผีสิงทั้งหลายถ้าไม่ตั้งอยู่กลางป่าเขา ก็มักจะเป็นเขตชานเมืองรอบนอก ส่วนแคมป์พักร้อน ซึ่งใช้เป็นฉากหลังในหนังแนว slasher films หลายเรื่องก็มักจะอยู่ใกล้ชิดธรรมชาติเช่นกัน นิยายของ สตีเฟ่น คิง นิยมใช้พล็อตประเภทนี้เช่นกัน อาทิ Misery และ The Shining) จุดแรกเริ่มของมันคงได้แรงบันดาลใจมาจากพวกนิทานพื้นบ้านทั้งหลาย การเดินทางจากเมืองไปสู่ชนบทในหนังสยองขวัญก็คล้ายการเดินทางออกจากหมู่บ้านไปยังป่าเขาในนิทานเก่าแก่ เช่น ตำนานหนูน้อยหมวกแดง โดยหากคุณเปลี่ยนหมาป่าเป็นชายกลุ่มหนึ่ง เปลี่ยนฉาก “กิน” มาเป็น “ข่มขืน” ตัดบทนายพรานออก แล้วเปลี่ยนเป็นให้หนูน้อยหมวกแดงช่วยชีวิตตัวเธอเอง คุณก็จะได้หนังอย่าง I Spit on Your Grave (นักเขียนสาวชาวเมืองไปพักร้อนในชนบทแล้วถูกหนุ่มบ้านนอกกลุ่มหนึ่งรุมข่มขืนอย่างโหดเหี้ยม ต่อมาเธอจึงตามล่า แล้วฆ่าพวกมันทิ้งทีละคน)

รูปแบบของสังคมเมือง “ข่มขืน” สังคมชนบทพบเห็นอยู่เนืองๆ ในหนังสยองขวัญ The Hiils Have Eyes มีฉากหลังเป็นทะเลทราย ซึ่งครั้งหนึ่งเคยคึกคักด้วยชุมชนเหมือง แต่พอแร่ธาตุถูกสูบออกไปจนหมดแล้ว พื้นที่โล่งร้างดังกล่าวก็กลายเป็นแหล่งทดลองระเบิดนิวเคลียร์ และกัมมันตภาพรังสีก็ส่งผลกระทบให้เกิดการบิดเบือนทางพันธุกรรม ในฉากเปิดเรื่องของ Deliverance ซึ่งมีพล็อตคล้าย I Spit on Your Grave แต่หลายคนอาจไม่จัดมันเข้าหมวดหนังสยองขวัญ คนดูจะได้เห็นภาพการสร้างเขื่อน การถมทับทะเลสาบ พร้อมเสียงพูดคุยของหนุ่มๆ ชาวเมืองเกี่ยวกับการจากไปของแม่น้ำอันเชี่ยวกรากและคงสภาพดั้งเดิมสูงสุดทางธรรมชาติ เพื่อหลีกทางให้กับโรงงานไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยให้ผู้คนมีแอร์ใช้กันมากขึ้น ตามมาด้วยเสียงสมทบว่า “เราจะข่มขืนไอ้ทัศนีภาพห่าเหวนี่ให้หมด”

ขณะที่ปมการเอาเปรียบและข่มเหงทางเพศใน Teeth ถูกสะสางและเอาคืนอย่างสนุกสนานในระดับหนึ่ง ปมการเอาเปรียบและข่มเหงทางเศรษฐกิจ/ชนชั้นกลับยังไม่ถูกระบุ หรือคลี่คลาย ตรงกันข้าม ตัวละครส่วนใหญ่ในหนังแทบจะไม่สังเกตเห็นปล่องควันขนาดยักษ์ดังกล่าวเสียด้วยซ้ำ ทั้งที่มันตั้งตระหง่านตำตาอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน อาการป่วยของแม่ดอว์น หรือ “ความผิดปกติ” ของดอว์นไม่เคยถูกคิดเชื่อมโยงไปถึงปล่องโรงงานดังกล่าวเลย

พวกเขายังไม่ทันตระหนักถึงการล่วงละเมิด หรือ เช่นเดียวกับคำอ้างของพวกผู้ชายเวลากระทำชำเราเพศหญิง พวกเขา “ร้องขอมันเอง”?!?

วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 16, 2551

การเอาคืนของช่องคลอด


ผมไม่แน่ใจว่าจะสามารถตีตรา Teeth เป็นหนังสยองขวัญอย่างเต็มปากได้ไหม เพราะดูเหมือนจุดมุ่งหมายของมันจะเน้นขู่ขวัญคนดู (โดยเฉพาะเพศชาย) มากพอๆ กับเรียกเสียงฮา (ผมเคยอ่านข่าวว่ารอบฉายที่เมืองนอก กลุ่มคนดูผู้หญิงหัวเราะและปรบมือให้กับฉาก “สยอง” ในหนังกันอย่างไม่เกรงอกเกรงใจ) แต่ที่แน่ๆ คือ มันดำเนินตามสูตรหนังสยองประเภท “ผู้หญิงเอาคืน” แบบชัดเจน เช่น Carrie (เด็กสาวมัธยมวัย “ซึมเปื้อน” ถูกเพื่อนๆ กลั่นแกล้ง เธอเลยใช้พลังจิตเอาคืนทุกคนอย่างสาสม) และ I Spit on Your Grave (นักเขียนสาวชาวเมืองไปพักร้อนในชนบทแล้วถูกหนุ่มบ้านนอกกลุ่มหนึ่งรุมข่มขืนอย่างโหดเหี้ยม ต่อมาเธอจึงตามล่า แล้วฆ่าพวกมันทิ้งทีละคน) โดยเฉพาะในช่วงท้ายเรื่อง เมื่อ ดอว์น นางเอกผู้มี “กลีบเขมือบ” เล่นงานลูกพี่ลูกน้องชายเพื่อล้างแค้นแทนแม่ของเธอ

ความสนุกอย่างแรกของ Teeth อยู่ตรงการกลับตาลปัตรภาพลักษณ์หนังสยองขวัญที่เราคุ้นเคย เมื่อเรือนร่างเพศหญิงถูกปกปิดมิดชิด ขณะที่พวกตัวละครเพศชายเกือบทุกคนพากันปลดเปลื้องเสื้อผ้าแบบไม่อายฟ้าดิน พูดง่ายๆ คือ ในหนังเรื่องนี้คุณจะเห็นหัวนมผู้ชาย (บางครั้งในระยะโคลสอัพ) บ่อยกว่าหัวนมผู้หญิง และที่สำคัญ คุณจะได้เห็นอวัยวะเพศชาย (ที่ถูกกัดขาด... และในบางกรณียังถูกหมาคาบไปกินเสียอีก) ในระยะโคลสอัพ แต่อย่าคิดว่าจะได้เห็นแม้กระทั่งบางส่วนของเจ้าตัวการที่กัดพวกมันขาด

ถ้าคุณคุ้นเคยกับฉากเปิดเรื่องในห้องล็อกเกอร์ของ Carrie ซึ่งกล้องโลมเลียเรือนร่างเพศหญิงเปลือยเปล่า (พร้อมสรรพด้วยฟิลเตอร์ซอฟท์) ราวกับหนัง soft porn ฉากห้องล็อกเกอร์ใน Teeth จะให้อารมณ์แตกต่างอย่างสิ้นเชิง



ความสนุกประการต่อมา คือ วิธีที่หนังถ่มน้ำลายใส่แนวคิดชายเป็นใหญ่ เริ่มจากการให้ดอว์นเป็นสาวพรหมจรรย์ที่คลั่งลัทธิรักษาความบริสุทธิ์จนกว่าจะถึงวันวิวาห์ ไม่ต้องสงสัยว่าแนวคิดเกี่ยวกับการรักษาพรหมจรรย์และความลึกลับของช่องคลอด (ในหนัง ตำราเพศศึกษาระบุรายละเอียดเกี่ยวกับองคชาติพร้อมภาพประกอบอย่างเปิดเผย ส่วนภาพช่องคลอดกลับถูกปกปิดด้วยสติกเกอร์ดวงใหญ่) โดนปลูกฝังมาช้านานโดยเพศชาย เพื่อบีบกดไม่ให้เพศหญิงได้ลิ้มรสความรื่นรมย์แห่งเพศสัมพันธ์ (หนังในกลุ่ม slasher film อาทิ Halloween สาวบริสุทธิ์จะรอดชีวิตเป็นคนสุดท้าย ส่วนสาวร่านสวาทจะต้องโดนฆ่าตาย) ดังจะเห็นได้จากความหวาดกลัวของดอว์น เมื่อเธอเริ่มลุ่มหลงมนุษย์เพศชาย และอยากสำรวจความต้องการทางเพศ

ถ้า “กลีบเขมือบ” ทำงานด้วยการกัดทุกอย่างที่ล่วงล้ำเข้ามา มันคงช่วยตอกย้ำแนวคิดเกี่ยวกับการรักษาพรหมจรรย์ แต่ตรงกันข้าม มันเลือกทำงานตามความพอใจของ “เจ้าของ” กล่าวคือ ถ้าผู้ชายพยายามจะล่วงล้ำเข้ามาโดยเจ้าของไม่เห็นด้วย (ข่มขืน) เช่น กรณีของโทบี้ มันจะกัดขาด ถ้าหมอใช้นิ้วล้วงคว้านกันแบบไม่ถนอมน้ำใจ มันก็จะกัดขาดเช่นกัน แต่ถ้าผู้ชายสามารถมอบความสุขให้เจ้าของได้ ผ่านการเล้าโลมอย่างค่อยเป็นค่อยไป เช่น กรณีไรอันกับนิ้วตัวช่วยของเขา มันก็จะปล่อยให้สิ่งแปลกปลอมผ่านเข้ามาได้ และเมื่อดอว์นค้นพบความหรรษาทางเพศ เธอก็ปลดเปลื้องความเก็บกดภายในออกจนหมด ซึ่งหนังได้แสดงออกอย่างเป็นรูปธรรมด้วยการให้เธอยืนเปลือยกายหน้ากระจก สำรวจความงามแห่งเพศหญิงอย่างชื่นชม หลังจากก่อนหน้านี้เธอมักจะสวมใส่เสื้อผ้ามิดชิดมาตลอด




ฉากหนึ่งของหนัง มีการพูดถึงวิวัฒนาการของงูหางกระดิ่ง ซึ่งพัฒนาคุณลักษณะพิเศษขึ้นมา (หางกระดิ่ง) เพื่อ “พวกมันจะได้ไม่ถูกย่ำยี” (“They didn’t get step on”) บางทีเจ้า “กลีบเขมือบ” ก็อาจมีคุณสมบัติเดียวกัน นั่นคือ ช่วยไม่ให้เพศหญิง ซึ่งโดยสรีระแล้วเป็น passive ในขณะที่ผู้ชายเป็น active ถูกย่ำยีเพียงฝ่ายเดียว แต่สามารถโต้กลับได้แบบฉับพลัน ซึ่งนั่นกินความหมายตั้งแต่ ผู้ชายที่พยายามจะข่มขืนผู้หญิง (โทบี้) ไปจนถึงผู้ชายหน้าหม้อที่เห็นผู้หญิงเป็นแค่เครื่องระบายอารมณ์ (แบรด, ไรอัน และตาแก่ลามกในฉากปิดเรื่อง)

ในสังคมที่ผู้ชาย “ข่มขืน” ผู้หญิง ทั้งโดยร่างกายและโดยสังคม/การเมืองมาตลอดเวลาหลายศตวรรษ การปรากฏตัวขึ้นของหนังแฟนตาซี/สยองขวัญอย่าง Teeth จึงเปรียบเสมือนยาหอมที่จะช่วยปลอบประโลมใจ... อย่างน้อยก็เป็นเวลาหนึ่งชั่วโมงครึ่ง ก่อนเราจะต้องออกมาเผชิญโลกแห่งความจริงนอกโรงภาพยนตร์

วันจันทร์, พฤศจิกายน 10, 2551

Short Replay: Top Secret!


เวลาพูดถึงยุคทองของทีม ZAZ (เจอร์รี่ ซัคเกอร์/จิม อับราฮัมส์/เดวิด ซัคเกอร์) คนส่วนใหญ่มักนึกถึงหนังตลกบ้าๆ บอๆ ระดับขึ้นหิ้งอย่าง Airplane! (1980) และ The Naked Gun (1988) แต่เท่าที่จำความได้ Top Secret! เป็นหนังของพวกเขาที่ทำให้ผมหัวเราะเหมือนเสียสติได้มากสุด ผมยังจำได้ว่าเคยเช่าวีดีโอหนังเรื่องนี้มาดู (ใช่ครับ สมัยนั้นเรายังดูหนังโดยใช้เครื่องเล่นวีดีโอกันอยู่) ในวันที่นัดเพื่อนๆ มาทำโปรเจ็กต์ส่งครู (วิชาอะไรก็จำไม่ได้ซะแล้ว) โดยหวังจะเปิดมันเป็นแบ็คกราวด์เพื่อไม่ให้บรรยากาศเคร่งเครียดจนเกินไป แต่ปรากฏว่าทุกคนกลับพากันเลิกทำงาน แล้วมานั่งดูหนังเป็นตาเดียว พร้อมทั้งหัวเราะท้องคัดท้องแข็งให้กับความปัญญาอ่อนของมุกตลก ซึ่งยิงกระหน่ำใส่คนดูแบบไม่ยั้งทุกๆ สิบห้าวินาที

เป้าล้อเลียนหลักๆ คือ บรรดาหนังเพลงของ เอลวิส เพรสลีย์ และหนังสายลับสงครามโลก วาล คิลเมอร์ รับบทนำครั้งแรกบนจอใหญ่เป็น นิค ริเวอร์ส ทีน ไอดอล ชาวอเมริกันที่เดินทางมาแสดงคอนเสิร์ตในประเทศเยอรมันตะวันออก แล้วตกหลุมรักกับลูกสาวแสนสวยของนักวิทยาศาสตร์ที่กำลังผลิตอาวุธร้ายแรง ก่อนสุดท้ายจะจับพลัดจับผลูเข้าร่วมกองทัพใต้ดินเพื่อต่อต้านนาซีของชาวฝรั่งเศส

ทุกรายละเอียดในหนังสายลับถูกหยิบมาล้อเลียนกันอย่างสนุกสนาน รวมถึงหนังฮิตยุคนั้นอย่าง The Blue Lagoon (1980) หลายมุกผมยังจำได้แม่นจนทุกวันนี้ เช่น ฉากการวางแผนลอบเข้าฐานทัพของฝ่ายศัตรู พร้อมสรรพด้วยแบบจำลองและรถไฟจำลองครบครัน ฉากนางเอกบัลเลต์เต้นกระโดดไปบนกล่องดวงใจของเหล่านักบัลเลต์ชาย ฉากการต่อสู้ที่สามารถแตะมือผลัดเปลี่ยนเหมือนในกีฬามวยปล้ำ ฉากแผนที่แปลงสภาพเป็นเกมแพ็คแมน ฯลฯ สารพัดมุกตลกที่เฉียบคม หลากหลาย และได้ผลของหนังเรื่องนี้พิสูจน์ให้เห็นว่าหนังตลกล้อเลียนยุคปัจจุบัน (aka Disaster Movie) คือ ความตกต่ำในเชิงคุณภาพและรสนิยมจนน่าใจหาย

วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 09, 2551

ถนนสายนี้ยังทอดยาว


หลังผลการเลือกตั้งในอเมริกาปรากฏชัด ความหวังเริ่มคุกรุ่น อัดแน่นในทุกอณูอากาศ จนผมชักไม่แน่ใจว่าจะมีวันที่ บารัค โอบามา สามารถเติมเต็มความคาดหวังอันสูงลิ่วนั้นได้หรือไม่ อารมณ์ข้างต้นทำให้ผมนึกถึงบรรยากาศหลังการเลือกตั้งของไทยครั้งหนึ่ง เมื่ออดีตนายกฯ เจ้าของฉายาอัศวินควายดำ ถูกเลือกเข้าสภาฯ ในสมัยแรกด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น พอๆ กับความคาดหวังถึงอนาคตอันสดใส

หวังเพียงว่าโอบามาจะทำได้ดีกว่านายกฯ ท่านนั้น

กระแสข่าวการเลือกตั้งส่งผลให้ข่าวการผ่านข้อเสนอเพื่อแก้ไขกฎหมายของรัฐแคลิฟอร์เนีย หรือ Proposition 8 ซึ่งระบุให้การแต่งงานเป็น “สิทธิอันชอบธรรมตามกฎหมาย” ของชายกับหญิงเท่านั้น กลายเป็นเพียงหมายเหตุเล็กๆ ในหน้าหนังสือพิมพ์ (ผลโหวตระบุว่ามีคนเห็นชอบให้ผ่านข้อเสนอ หรือ พูดง่ายๆ คือ เห็นชอบไม่ให้คนเพศเดียวกันมีสิทธิแต่งงานกันตามกฎหมาย 52% เอาชนะเสียงที่ไม่เห็นชอบ 48% ไปอย่างหวุดหวิด) อย่างไรก็ตาม ข่าวดังกล่าวทำให้ผมนึกสงสัยว่า ชัยชนะของโอบามาเป็นเพราะคนอเมริกันเบี่ยงเบนเข้าหาแนวคิดเสรีนิยมอย่างแท้จริง หรือพวกเขาเพียงต้องการจะลงโทษรัฐบาล จอร์จ บุช ต่อวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ที่กำลังดำเนินอยู่กันแน่

ด้วยเหตุนี้ วันที่อเมริกาได้ประธานาธิบดีผิวสีเป็นคนแรกจึงกลายเป็นวันเดียวกับที่อเมริกาได้ตอกย้ำให้เห็นว่า อคติทางเพศยังคงดำรงอยู่และอาจถึงขั้นหยั่งรากลึก (4% ดูเผินๆ อาจไม่มาก แต่หากพิจารณาว่าแคลิฟอร์เนียเป็นรัฐที่อุดมไปด้วยประชากรเกย์และเลสเบี้ยน คุณจะพบว่า 4% หาใช่ตัวเลขจุ๋มจิ๋มอีกต่อไป ลองคิดดูสิว่าช่องว่างจะกว้างขึ้นขนาดไหน หากมันเป็นผลการโหวตของรัฐอนุรักษ์นิยมอย่างเท็กซัส)

บล็อกเกอร์ภาพยนตร์หลายคนในอเมริกานึกสงสัยว่า หากหนังเรื่อง Milk ของ กัส แวน แซนท์ เข้าฉายเร็วกว่านี้สักหนึ่งเดือน บางทีผลลัพธ์อาจจะออกมาตรงกันข้าม เพราะ Milk เล่าถึงเรื่องราวชีวิตของนักการเมืองเกย์ ฮาร์วีย์ มิลค์ (รับบทโดย ฌอน เพนน์ ในมาดเปี่ยมเสน่ห์ น่าเห็นอกเห็นใจ และ “แตกต่าง” จาก ฌอน เพนน์ ที่พวกเราคุ้นเคย จนบางคนยกย่องให้มันเป็นบทบาทการแสดงที่ดีที่สุดของเขา) โดยผลงานสำคัญของมิลค์ก่อนจะถูก แดน ไวท์ นักการเมืองฝ่ายตรงข้ามยิงสังหารด้วยกระสุนสี่นัด คือ การคว่ำข้อเสนอเพื่อแก้ไขกฎหมายของรัฐแคลิฟอร์เนีย หรือ Proposition 6 เมื่อปี 1978 ซึ่งจะกีดกันรักร่วมเพศไม่ให้ทำงานเป็นครูในสถาบันการศึกษา

หน้าประวัติศาสตร์เกี่ยวกับ ฮาร์วีย์ มิลค์ ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของขบวนการเรียกร้องสิทธิรักร่วมเพศ แต่สามสิบปีผ่านไป ความพ่ายแพ้ในการโหวต Proposition 8 ได้ปลุกเหล่านักเคลื่อนไหวชาวเกย์และเลสเบี้ยนให้ตื่นมาพบความจริงอันโหดร้ายว่า พัฒนาการเพื่อเรียกร้องการยอมรับในเพศสภาพที่แตกต่างนั้นยังไม่ได้ก้าวไกลไปจากยุคสมัยของ ฮาร์วีย์ มิลค์ มากนัก หรืออย่างน้อยก็มากเท่าที่ควรจะเป็น

จะเกิดอะไรขึ้นกับเหล่าคู่แต่งงานรักร่วมเพศจำนวนมากในแคลิฟอร์เนีย ซึ่งก่อนหน้านี้ถูกตีตรารองรับโดยศาลฎีกา? แน่นอน พวกเขายังคงมองโลกในแง่ดี พร้อมทั้งมอบความหวังต่อการเปลี่ยนแปลงไว้กับ บารัค โอบามา ผู้เคยแสดงท่าทีต่อต้านการแบนการแต่งงานระหว่างบุคคลเพศเดียวกัน

แต่เขาพร้อมจะตบหน้ากลุ่มคนจำนวน 52% ที่โหวตสนับสนุน Proposition 8 หรือไม่

ถนนเบื้องหน้าช่างดูยาวไกลและปกคลุมไปด้วยหมอกหนา

เรื่องน่าเศร้า คือ ขณะประเทศอเมริกากำลังต่อสู้เพื่อสิทธิในการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน เมืองไทยกลับยังคงวุ่นวายกับกระแสต่อต้านภาพเด็กผู้ชายสองคนจูบกันในหนังอยู่เลย แค่นี้คงเป็นข้อพิสูจน์ได้ชัดเจนแล้วว่าถนนเบื้องหน้าของเรานั้นยาวไกลกว่าของเขาหลายเท่าตัว