วันเสาร์, ธันวาคม 07, 2556

รักโง่ๆ: แง่งามในความเขลา


เวลาพูดถึงความรัก หลายคนชอบบอกว่ามันเป็นเรื่องของอารมณ์ เหตุผลไม่เกี่ยว หรือไม่ก็เป็นเรื่องของหัวใจ ยากจะหักห้าม แม้ว่าในความจริงแล้วเรื่องรักๆ ใคร่ๆ ล้วนเกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาเคมีในสมองโดยตรงก็ตาม และเนื่องจากมันถูกเชื่อมโยงโดยตรงกับอารมณ์มากกว่าเหตุผลนี่เอง ความรักจึงมักจะกลายเป็นที่มาของพฤติกรรมบ้าๆ บอๆ ดูไร้สติ ไร้เหตุผลเมื่อมองจากสายตาของคนนอก และนั่นเองได้จุดประกายเริ่มต้นให้กับหนังอย่าง รักโง่ๆ ซึ่งเน้นถ่ายทอดเรื่องราวความรักที่ไม่อาจ เป็นไปได้หรือพูดง่ายๆ คือ ไม่อาจลงเอยอย่างสุขสมในหลากหลายแง่มุม ตั้งแต่ผู้หญิงตกหลุมรักเกย์บ้างล่ะ ผู้ชายตกหลุมรักทอมบ้างล่ะ การแอบชอบคนที่เขาไม่ได้ชอบเรา หรือกระทั่งการพยายามฉุดยื้อคนรักที่ต้องการจะไป

มองเผินๆ ชื่อหนังเหมือนจะด่วนสรุปอย่างง่ายดายว่ามันเป็นความเขลาที่มนุษย์เรายอมตรอมตรม จมปลัก แม้จะรู้ทั้งรู้ว่าไม่อาจได้เขา/เธอมาครอบครอง ราวกับหนังกำลังมองความรักด้วยท่าทีเยาะหยัน เสียดสี ซึ่งนั่นเป็นจริงในระดับหนึ่ง แต่หากมองให้ลึกลงไปถึงแก่นแท้ของหนังแล้วจะพบว่า มันยังคงเดินตามสูตรเชิดชูอุดมคติแห่งรักโรแมนติก และแน่นอนลงเอยด้วยการปลุกปลอบคนดูให้อิ่มเอมไปกับความรัก ที่แม้ว่าคราวนี้อาจไม่ลงเอยอย่างสุขสม แต่สุดท้ายก็ยังอุ่นใจที่ได้รัก... อะไรทำนองนั้น ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นข้อสรุปที่ตรงข้ามชนิดสุดขั้วกับบทเรียนความรัก หรือการปล่อยใจตามอารมณ์แบบในหนังอย่าง Birth (2004) และ The Story of Adele H (1975)

หนังเริ่มสับขาหลอกตั้งแต่ฉากเปิดเรื่อง เมื่อปรากฏว่าเหตุการณ์เลี่ยนๆ ดูปลอมๆ ของชายหญิงคู่หนึ่งกลางสี่แยกไฟแดง ซึ่งให้อารมณ์ประมาณคลิปขอแต่งงานประเภท ยิ่งเยอะ ยิ่งดีที่กระจายเกลื่อนตามอินเทอร์เน็ต กลายเป็นเพียงฉากในหนังรักที่โจ (คีรติ มหาพฤกษ์พงศ์) กับอาร์ม (ภาคิน คำวิลัยศักดิ์) กำลังนั่งดูอยู่ในโรงภาพยนตร์  ฝ่ายแรกวิพากษ์ความน้ำเน่าและคาดเดาได้ของหนังอย่างสนุกปากผ่านวอยซ์โอเวอร์ ซึ่งสอดแทรกน้ำเสียงกระทบกระแทกแดกดันเอาไว้ชัดเจน แต่แล้วเมื่อกล้องเผยให้เห็นภาพมุมกว้าง กลับกลายเป็นว่าโจเป็นคนดูเพียงคนเดียวที่ไม่ อินไปกับเรื่องราวน้ำเน่าและสุดแสนจะซ้ำซากนั้น (กระทั่งหนุ่มมาดแมนอย่างอาร์มยังร้องไห้น้ำหูน้ำตาไหล) จนเสียงวอยซ์โอเวอร์ของเธออุทานขึ้นว่า... หรือเราเองต่างหากที่ผิดปกติ!?

ฉากเปิดเรื่องข้างต้นโน้มนำและให้ความหวังว่าคนดูกำลังจะได้ชมหนังรัก ซึ่งแตกต่างจากหนังเรื่องที่อาร์มกับโจนั่งดูอยู่ หรืออย่างน้อยก็อาจนำเสนอมุมมองเกี่ยวกับความรักด้วยท่าทีเย้ยหยันแบบเดียวกับเสียงวอยซ์โอเวอร์ของโจ ดังนั้นจึงไม่แปลกหากในเวลาต่อมาเราจะพาลรู้สึกผิดหวังเล็กๆ เมื่อปรากฏว่าเนื้อแท้ของรักโง่ๆ ยังคงดำเนินตามกรอบภาพยนตร์แนวตลก-โรแมนติก เต็มไปด้วยฉากภาคบังคับ ตลอดจนการเร้าอารมณ์ในสไตล์มิวสิกวิดีโอ (หรือพูดอีกอย่าง คือ แทนที่หนังจะให้อาร์มตระหนักในความเพ้อเจ้อของตน แล้วเปลี่ยนมุมมองมาเป็นแบบโจ มันกลับกลายเป็นหนังซึ่งโจ คือ สาวไร้เดียงสาที่เริ่มหันมาเข้าอกเข้าใจอาร์มหลังจากเธอได้ประสบพบรักเข้ากับตัว) โดยฉากที่หนักหนาสาหัสสุดคงเป็นตอนที่อาร์มถูกคนรักปฏิเสธคำขอแต่งงาน แล้วต้องนั่งรถเมล์กลับบ้านท่ามกลางสายฝนเคล้าเสียงเพลงอกหักดังสนั่น ความซ้ำซากและหนักมือในการบีบคั้นอารมณ์สามารถทำให้ฉากนั้นกลายเป็นฉากล้อเลียนได้ไม่ยาก แต่น่าเสียดายที่จุดมุ่งหมายของผู้กำกับ พันธุ์ธัมม์ ทองสังข์ หาใช่การเล่นสนุกกับแนวทางหนัง แม้ว่าหลายครั้งบทภาพยนตร์จะหยอกล้อและเสียดสีธรรมเนียมปฏิบัติของหนังแนวนี้อยู่กลายๆ

ด้วยเหตุนี้เองภาพรวมของรักโง่ๆ จึงห้อยต่องแต่งอยู่ตรงกลาง ระหว่างความเฉียบคม น่าสนใจ กับความจำเจและไร้ชั้นเชิง โดยหากมองในส่วนที่น่าสนใจจะพบว่ามันพยายามสลัดหลุดจากกรอบหนังตลก-หนังรักแบบไทยๆ ผ่านมุกตลกที่เรียกได้ว่าค่อนข้างสดใหม่ เจือลักษณะของปัญญาชน (ชั้นกลาง) ที่ชอบเล่นเฟซบุ๊กเอาไว้ไม่น้อย กล่าวคือ มุกตลกประเภทเสริมสุขเลิกกับเป๊ปซี่ หรือ ทุนนิยมมันเหี้ยจริงๆคงจะพบเห็นไม่ได้บ่อยๆ ในหนัง พจน์ อานนท์ หรือ ฤกษ์ชัย พวงเพ็ชร์ อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าบทสนทนาจำพวก หนีภัยสงครามเย็นไปสแกนดิเนเวียหรือ สาวคาตาลันกับ หนุ่มลิทัวเนียรวมไปถึงการนำเสนอเพศสภาพให้ดูมีลักษณะลื่นไหล สลับไปมา โดยไม่จำกัดอยู่แค่ชาย-หญิง หรือรักต่างเพศ แลดูจะย้อนแย้งกับลักษณะการทำหนังสไตล์อนุรักษ์นิยมของผู้กำกับอยู่ไม่น้อย

อีกจุดซึ่งผมคิดว่าเป็นความย้อนแย้งอันน่าตลก คือ รักโง่ๆ เริ่มต้นด้วยการล้อเลียนฉากขอแต่งงานกลางสี่แยกของหนังรักโง่ๆ เรื่องหนึ่ง แต่สุดท้ายกลับลงเอยด้วยการพยายามทำซึ้งในลักษณะเดียวกัน มองในแง่โครงสร้างการเล่าเรื่อง ฉาก ไม่ได้ขอแต่งงานที่สนามบินอาจช่วยเชื่อมโยงฉากเปิดและปิดหนังได้ลงตัวพอดิบพอดี (อีกทั้งยังสอดคล้องกับบุคลิกของอาร์มด้วย) แต่ขณะเดียวกันมันก็สร้างความรู้สึกกระอักกระอ่วนพอตัว เหมือนคุณเริ่มต้นด้วยการเสียดสีสิ่งหนึ่ง แต่สุดท้ายแล้วคุณกลับไม่ได้แตกต่างจากสิ่งที่คุณเยาะหยันสักเท่าไหร่... ซึ่งจะว่าไปก็ไม่แตกต่างจากชะตากรรมของตัวละครอย่างโจ ซึ่งเริ่มต้นด้วยการแดกดันอาร์ม ก่อนสุดท้ายจะโดนเอาคืนหลังจากพิษรักเล่นงานเธอเข้าบ้าง เธอเริ่มต้นด้วยการไม่ให้ราคาค่างวดกับความรัก ก่อนสุดท้ายจะกลายเป็นหญิงที่ เกิดมาเพื่อรักพี่จนชวนให้นึกสงสัยว่าบางทีการล้อเลียน แหกกฎ หรือพยายามฮิปของรักโง่ๆ แท้จริงแล้วเป็นเพียงเปลือกนอกสวยหรู แต่จิตวิญญาณภายในของมันก็ยังคงต้องการให้คนดูซาบซึ้ง เสียน้ำตา และล่องลอยไปกับความโรแมนติกเฉกเช่นหนังรักทั่วไป

นอกจากนี้ผมยังมีปัญหา (หรืออาจเรียกได้ว่าอคติส่วนตัว) กับรูปแบบการสร้างหนังหลายๆ เรื่องรวมมิตรเอาไว้ในเรื่องเดียว (กรณีนี้ผมขอยกความผิดทั้งหมดให้กับ Love Actually และผู้กำกับ ริชาร์ด เคอร์ติส ซึ่งดูจะทรงอิทธิพลอย่างน่าประหลาดในหมู่นักสร้างหนังบ้านเรา) โดยนอกจากจะถูกผลิตซ้ำจนชวนให้เลี่ยนเอียนแล้ว ธรรมชาติของหนังรูปแบบนี้ยังส่งกลิ่นอายการตลาดมากกว่าจะเป็นการแสดงจุดยืนในเชิงศิลปะเมื่อเทียบกับหนังอย่าง Short Cuts ของ โรเบิร์ต อัลท์แมน นั่นคือ ใส่เรื่องราวให้เยอะเข้าไว้ หลากหลายเข้าไว้ เพื่อจะได้กวาดคนดูในวงกว้างที่สุด (เพราะถ้าคุณไม่ชอบเรื่องนี้ อีกเรื่องก็น่าจะโดนใจได้) หรือผนึกพลังดาราให้แข็งแกร่งขึ้น เช่น กรณีหนังเทศกาลปีใหม่กับวาเลนไทน์ของ แกรี มาร์แชล เป็นต้นแน่นอน เมื่อหนังมีลักษณะเหมือนรวมเรื่องสั้น จึงไม่แปลกที่คนดูจะรู้สึกชอบและสนใจแต่ละเรื่องไม่เท่ากัน ต่างกันตรงที่ในหนังประเภทนี้ ทุกเรื่องถูกตัดสลับเข้าด้วยกันแทนที่จะเล่าจนจบไปเป็นเรื่องๆ ส่งผลให้อารมณ์คนดูขาดตอนเป็นห้วงๆ เพราะเราย่อมอยากจะให้ตอนที่เราสนใจมีเวลามากขึ้น และรู้สึกเบื่อหน่ายกับตอนที่เราไม่สนใจ ที่สำคัญเวลาอันจำกัดย่อมทำให้ตัวละครและเรื่องราวไม่อาจพัฒนาไปถึงขีดสุดแห่งศักยภาพได้

เช่นเดียวกับหนังอย่าง ปิดเทอมใหญ่หัวใจว้าวุ่น และ รักแรกกระแทกจิ้น ข้อดี คือ ทุกคนมีตัวเลือกให้ อินได้มากขึ้น บางคนอาจสนุกเพลิดเพลินกับการต่อปากต่อคำของโจกับอาร์ม ขณะที่บางคนอาจชื่นชอบตัวละครอย่างพริกแกง ซึ่งเป็นตัวแทนของแฟนตาซีร่วมสมัยเกี่ยวกับสาววัยทำงานที่แอบกรี๊ดหนุ่มหล่อ ทั้งนี้เนื่องจากเรื่องราวของเธอเป็นตอนที่เรียกเสียงฮาได้มากสุด และ ธิติรัตน์ โรจน์แสงรัตน์ ก็ถ่ายทอดเสน่ห์เฉพาะตัวผสมเข้ากับจังหวะตลกที่กลมกล่อมได้ในระดับใกล้เคียงกับ คริส หอวัง จากหนังเรื่อง รถไฟฟ้ามาหานะเธอ แต่โดยส่วนตัวแล้ว ผมกลับคิดว่าพลอยพิณ (กานต์พิชชา พิชยศ) คือ ตัวละครที่น่าสนใจที่สุดในเรื่อง เพราะบทภาพยนตร์วาดภาพเธอให้ดูสมจริง มีเลือดมีเนื้อ และค่อนข้างน่าค้นหา โดยเธอเปรียบเสมือนจุดกึ่งกลางระหว่างอาร์มกับโจ กล่าวคือ เธอไม่ได้มีไอเดียเกี่ยวกับความรักที่ยิ่งใหญ่ อลังการในแบบคนแรก แต่ก็ไม่ได้มองความรักด้วยแววตาเย้ยหยันแบบคนหลัง (ก่อนเธอจะถูกศรรักปักอก) เสียทีเดียว

คนดูไม่อาจทราบแน่ชัดว่าจริงๆ แล้วทำไมพลอยพิณจึงตอบปฏิเสธอาร์ม แต่คำอธิบายของเธอก็ฟังดูจริงใจและตรงไปตรงมา (อีกทั้งยังทำให้เธอดูเป็นผู้หญิงหัวก้าวหน้าที่ไม่ได้หลอมละลายไปกับอนาคตของการได้เป็นเมียและแม่) เห็นได้ชัดว่าเธอเองก็รู้สึกดีๆ กับอาร์ม (เธอเป็นฝ่ายเดินเกมรุกในฉากจูบบนรถ) แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีความสงสัย ไม่แน่ใจว่าตัวเองเห็นชีวิต มีประสบการณ์ หรือได้พบเจอผู้คนมามากพอจะตัดสินใจครั้งสำคัญนี้หรือไม่... หรือบางทีเหตุผลง่ายๆ อาจเป็นแค่ว่าเธอไม่ได้รักเขามากเท่ากับเขารักเธอ มันก็เท่านั้น

น่าผิดหวังตรงที่หนังตัดสินใจทรยศเสน่ห์ของตัวละครนี้เพื่อเร้าอารมณ์คนดูในฉากไคล์แม็กซ์ เมื่อเธอพยายามจะขอลงจากเครื่องบินและกลับไปหาอาร์ม พฤติกรรมดังกล่าวดูย้อนแย้งกับบุคลิกของตัวละครที่ปูพื้นมาก่อนหน้านี้อย่างหนักจนทำให้มันขาดความน่าเชื่อถือ อะไรคือความแตกต่างระหว่างการเช่าโรงหนังทั้งโรงกับจ้างวงดนตรีมาเล่นที่สนามบิน ถ้าเธอตอบปฏิเสธในครั้งแรก ทำไมเธอถึงกลับจะเปลี่ยนใจในครั้งที่สอง หรือว่าเธอเป็นแฟนพันธุ์แท้ของวงแทตทูคัลเลอร์ จนไม่อยากให้พวกเขาต้องเสียเวลาเปล่าที่อุตส่าห์มาช่วยสร้างบรรยากาศ?! เข้าใจว่าฉากนี้มีจุดประสงค์เพื่อล้อเลียนไคล์แม็กซ์หนังรักทั่วๆ ไป ที่นางเอกเกิดเปลี่ยนใจกะทันหัน และขอให้เครื่องบินหยุดในนาทีสุดท้าย (ซึ่งในชีวิตจริงมันเป็นไปไม่ได้) แต่การต้องเสียสละตัวละครเพื่อสังเวยให้กับแก๊กตลก หรือการเร้าอารมณ์แบบตื้นๆ ว่าเธอจะลงจากเครื่องได้หรือไม่ ดูแล้วยังไงก็ได้ไม่คุ้มเสีย และสุดท้ายแล้วยิ่งทำให้รักโง่ๆ ใกล้เคียงกับหนังรักที่มันกำลังล้อเลียนอยู่เสียมากกว่า แตกต่างเพียงการพลิกตลบในแง่ผลลัพธ์สุดท้ายเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ไคล์แม็กซ์ข้างต้นทำให้ผมนึกถึงฉากจบของหนังเรื่อง Manhattan เมื่อ วู้ดดี้ อัลเลน พยายามจะฉุดรั้งไม่ให้ แมเรียล เฮมมิงเวย์ อดีตแฟนสาวอายุคราวลูก ไม่ให้เดินทางไปต่างประเทศ เพราะเขากลัวว่าเธอจะได้พบเจอผู้คนมากมาย ได้เห็นโลกกว้างขึ้น ได้สัมผัสประสบการณ์อันน่าตื่นเต้น จนสุดท้ายแล้วความรักที่เธอเคยมีให้เขาก็จะค่อยๆ จางหายไป แต่สุดท้ายแล้วถึงเขาจะพยายามหว่านล้อมเพียงใด เธอก็ยังไม่ยอมเปลี่ยนใจ ไม่ใช่เพราะเธอหมดรักเขา แต่เพราะเธอเชื่อมั่นว่าปัจจัยเหล่านั้นมันไม่ได้สำคัญแต่อย่างใด พร้อมกับพูดสรุปว่า ทุกคนใช่จะมีใจโลเลเสมอไป คุณควรมีศรัทธาในตัวมนุษย์บ้าง


บางทีความโง่ของอาร์มอาจไม่ใช่การหลงรักคนที่ไม่ใช่ (แบบเดียวกับตัวละครอื่นๆ) แต่เป็นการขาดศรัทธาในความรักและในตัวมนุษย์ต่างหาก

ไม่มีความคิดเห็น: