วันจันทร์, กรกฎาคม 23, 2550

The Incredibles: ซูเปอร์ฮีโร่กับสังคม


ใครจะคาดคิดว่าการเป็นซูเปอร์ฮีโร่ในยุคนี้นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย สมัยก่อน ซูเปอร์แมน เคยเป็นที่รักของมวลชนและใช้ชีวิตปุถุชนในฐานะ คล๊าร์ค เคนท์ ได้อย่างราบรื่น แม้จะไม่สุขสบายอยู่บนกองเงินกองทองเหมือน แบทแมน หรือ บรูซ เวย์น ก็ตามที ปัญหาเพียงอย่างเดียวของเขา หากไม่นับการต้องต่อกรกับเหล่าร้ายที่หวังจะครองโลกแล้ว ดูเหมือนจะเป็นความพยายามปิดบังโฉมหน้า ตลอดจนความรู้สึกแท้จริงของตนจาก โลอิส เลน นักข่าวสาวที่เขาหลงรักอย่างหมดใจ (แต่สุดท้ายก็ได้แต่งงานกับเธอในที่สุด)

ว่ากันว่าความ ‘เรียบง่าย’ ของเนื้อหาในหนังสือการ์ตูนยุคทอง (ระหว่างทศวรรษ 1940) ซึ่งบางครั้งมักแฝงนัยยะชาตินิยมเอาไว้กลายๆ เช่น กัปตัน อเมริกา น่าจะเป็นผลมาจากอิทธิพลของสงครามโลกครั้งที่สอง มันไม่ใช่เรื่องยากที่จะตีความว่า เหตุใดเด็กหนุ่มทั้งหลายถึงฝันอยากมีพลังเหนือธรรมชาติ ขณะโลกกำลังถูกคุกคามโดยกองทัพรถถังและเครื่องบินทิ้งระเบิดจำนวนมาก แก่นพื้นฐานเกี่ยวกับความดีเอาชนะความชั่วของหนังสือการ์ตูนสะท้อนความรู้สึกร่วมของคนในยุคนั้นที่กำลังโหยหาวีรบุรุษแห่งคุณธรรมได้อย่างเต็มที่

อย่างไรก็ตาม หลังสงครามสิ้นสุดลง การ์ตูนซูเปอร์ฮีโร่ก็เสื่อมความนิยมลงอย่างรวดเร็วจนเกือบจะสูญพันธุ์ไปเมื่อย่างขึ้นสู่ต้นทศวรรษ 1950 เหลือเพียง วันเดอร์ วูเมน, แบทแมน และ ซูเปอร์แมน เท่านั้นที่ยังตีพิมพ์อย่างต่อเนื่อง สาเหตุหนึ่งเนื่องมาจากมันถูกโจมตีจากกลุ่มเคลื่อนไหวภายใต้การนำของ ดร. เฟรดริก เวิร์ทแธม ซึ่งกล่าวหาว่าการ์ตูนซูเปอร์ฮีโร่ส่อนัยยะทางเพศที่นำไปสู่พฤติกรรมผิดปรกติ กล่าวคือ แฟนตาซีซูเปอร์ฮีโร่เปรียบเสมือนการจินตนาการว่าตัวเองอยู่ในร่างที่แตกต่าง มีตัวตนที่แตกต่าง คุณสามารถแข็งแกร่ง มีเสน่ห์ และไม่จำเป็นต้องทนทุกข์กับความโหดร้ายจากการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม มันพูดถึงพลังและการควบคุม และถ้าคุณมีพลังเหนือมนุษย์เฉกเช่นซูเปอร์ฮีโร่ คุณก็ไม่ต้องกลัวการถูกปฏิเสธ หรือถูกล้อเลียนอีกต่อไป

เสียงเรียกร้องความ ‘เหมือนจริง’ จากสังคม การถือกำเนิดของการ์ตูน ‘ใต้ดิน’ ตลอดจนรสนิยมที่สลับซับซ้อนขึ้นของคนอ่านกลายมาเป็นจุดกำเนิด สไปเดอร์แมน และ เอ็กซ์-เมน ในยุคทองช่วงที่สองของหนังสือการ์ตูน พวกเขามีความเป็นมนุษย์มากขึ้นและจำต้องเรียนรู้ที่จะดำรงชีพเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ในยุคก่อนผู้คนยอมรับซูเปอร์แมนมาตลอด ยกย่องชื่นชมเขาในฐานะผู้พิทักษ์โลก แต่นั่นไม่ใช่แนวทางที่คนอ่านรู้สึกอีกต่อไป วัฒนธรรมยุคใหม่ไม่สนับสนุนความสมบูรณ์ลงตัวแบบนั้นอีกแล้ว มนุษย์ทุกคนต้องยืดหยัดเพียงลำพังและประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ของตนเอง ด้วยเหตุนี้ คนอ่านยุคนี้จึงได้เห็นสไปเดอร์แมนเป็นมนุษย์คนแรก (หรือถ้าจะพูดให้ชัด คือ วันรุ่นผู้เต็มไปด้วยอารมณ์รุนแรงและต้องแบกรับความยากลำบากในการหาเลี้ยงชีพ ตลอดจนรับผิดชอบดูแลคนที่เขารักและเป็นห่วง) ที่ได้พลังพิเศษมาโดยบังเอิญ ไม่แน่ใจในบทบาทซูเปอร์ฮีโร่ และไม่ได้รับความรักจากสังคมอย่างเป็นเอกฉันท์ หลายครั้งเขาถูกสื่อมวลชนตราหน้าให้เป็นตัวก่อปัญหามากกว่าวีรบุรุษ

ในหนังเรื่อง Spider-Man 2 ภาระแห่งวีรบุรุษทำให้ ปีเตอร์ ปาร์คเกอร์ ต้องประสบปัญหาชีวิตมากมาย ตั้งแต่โดนไล่ออกจากงาน ไปจนถึงถูกอาจารย์ในมหาวิทยาลัยตำหนิเพราะขาดเรียนบ่อยครั้ง เขานอนไม่เพียงพอ ไม่มีเงิน และไม่มีเวลาไปให้กำลังใจ แมรี่ เจน ในงานแสดงละครเวที แถมต่อมายังค้นพบอีกด้งยว่าพลังพิเศษจะขาดประสิทธิภาพ ยามเมื่อจิตใจของเขาอ่อนแอ ว้าวุ่น แรงกดดันจากรอบข้างทำให้เขาตัดสินใจเลิกเป็นสไปเดอร์แมน แล้วหันมาใช้ชีวิตเหมือนมนุษย์ปรกติทั่วไป

ในหนังเรื่อง X2: X-Men United เหล่าซูเปอร์ฮีโร่ล้วนถูกมนุษย์ตั้งแง่รังเกียจ จนสงครามระหว่างสองเผ่าพันธุ์เริ่มส่อเค้า ฉากหนึ่งของหนังได้แสดงให้เห็นภาพ บ็อบบี้/ไอซ์แมน สารภาพความจริงกับพ่อแม่ว่าเขาเป็นมนุษย์กลายพันธุ์ ซึ่งทั้งสองก็ได้แสดงปฏิกิริยาราวกับว่าลูกชายเพิ่งสารภาพว่าเขาเป็นเกย์ (“ลูกเคยพยายามที่จะเลิกเป็นมนุษย์กลายพันธุ์บ้างหรือเปล่า”) ทางด้านน้องชายของเขานั้นกลับรับไม่ได้จนถึงขั้นตัดสินใจโทรไปแจ้งความกับตำรวจ

จากสองตัวอย่างข้างต้นจะพบว่า แรงกดดันทางสังคม รวมไปถึงความรับผิดชอบของชีวิตผู้ใหญ่ได้ส่งอิทธิพลให้ซูเปอร์ฮีโร่รู้สึกว่าพลังพิเศษของพวกเขาเป็นเสมือนภาระ หรือเรื่องน่าละอาย มากกว่าจะเป็นพรวิเศษ อคติถือกำเนิดขึ้นเนื่องจากมนุษย์ไม่รู้วิธีจะรับมือกับ ‘ความแตกต่าง’ จึงทึกทัก ‘คนอื่น’ ว่าเป็นศัตรูที่กำลังคุกคามอาณาเขตอันคุ้นเคย ดังจะเห็นได้ว่าปัญหาความขัดแย้งทางเชื้อชาติ ศาสนา หรือกระทั่งการกดขี่ กีดกันทางเพศทั้งหลาย ล้วนแล้วแต่มีรากฐานมาจากอคติแทบทั้งสิ้น และแนวคิดดังกล่าวนี่เองก็กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้กำกับ แบรด เบิร์ด นำไปสร้างปมสำคัญให้เหล่าซูเปอร์ฮีโร่ในหนังการ์ตูนเรื่อง The Incredibles เมื่อพวกเขาถูกสังคมกดดันให้ต้องยอมรับความธรรมดาสามัญเป็นวิถีชีวิต

การฟ้องร้องของคนที่ต้องการฆ่าตัวตายและไม่อยากจะถูกช่วยเหลือได้จุดประกายให้ ‘เจ้าทุกข์’ อีกมากมายออกมาโวยวายจนรัฐบาลต้องประกาศใช้โปรแกรมโยกย้ายซูเปอร์ฮีโร่ บังคับพวกเขาทั้งหลายห้ามใช้พลังวิเศษอีกต่อไป แล้วดำรงชีวิตเฉกเช่นมนุษย์ปรกติ ความ ‘อกตัญญู’ ของสังคมถูกนำเสนอในลีลาล้อเลียนเบาสมอง แต่ขณะเดียวกัน มันก็สะท้อนให้เห็นลักษณะร่วมสมัยแห่งสังคมเมืองยุคใหม่ได้อย่างแจ่มชัดเช่นกัน เมื่อปัจเจกภาพก้าวเข้ามามีอำนาจเหนือมวลชน แนวคิดชาตินิยมจากยุคสงครามโลกถือเป็นเรื่องหัวโบราณ พ้นสมัย การแทรกแซงเพื่อเข้าไปแก้ปัญหาขัดแย้ง รุนแรงในประเทศอื่นถูกมองว่าเป็นการก้าวก่ายความเป็นส่วนตัวและถูกต่อต้านอย่างหนัก มนุษย์มองโลกในมุมแคบลง เห็นแก่ตัวมากขึ้น ดังนั้น จึงไม่แปลกที่บรรดาผู้โดยสารรถไฟซึ่งมิสเตอร์อินเครดิเบิ้ลช่วยชีวิตไว้ในช่วงต้นเรื่องจะมองไม่เห็นภาพรวมของเหตุการณ์ แล้วยืนกรานเรียกค่าเสียหายจากอาการบาดเจ็บ

หลังการประกาศกฎของรัฐบาล เหล่าซูเปอร์ฮีโร่ใน The Incredibles ก็ต้องเผชิญหน้ากับสังคมในรูปแบบใกล้เคียงกับพวกมนุษย์กลายพันธุ์ใน เอ็กซ์-เมน นั่นหมายถึง พลังวิเศษถูกมองว่าเป็นเรื่องน่าละอาย บุคคลที่มีพลังวิเศษถูกมองว่าเป็นตัวประหลาด พวกเขาถูกสถานการณ์บังคับให้ต้องสงบเสงี่ยม เก็บกด พยายามไม่ทำตัวให้ตกเป็นเป้าสังเกต

บ็อบ พาร์ ดูเหมือนจะปรับตัวเข้ากับวิถีชีวิตแห่งปุถุชนได้ไม่ราบรื่นนัก เขานึกโหยหาถึงคืนวันเก่าๆ อันหอมหวาน ยุคที่ทุกคนยกย่องชื่นชมซูเปอร์ฮีโร่อย่างเป็นเอกฉันท์ หรือ ยุคสมัยของซูเปอร์แมนและแบทแมน ซึ่งดูเหมือนจะจากไปอย่างไม่มีวันหวนคืนแล้ว เช่นเดียวกับผ้าคลุมในเครื่องแต่งกายของทั้งสองที่ เอ็ดนาร์ โมด ได้อธิบายแบบเห็นภาพแล้วว่าล้าสมัยและให้โทษมากมายเพียงใด ห้องทำงานในบ้านของบ็อบเต็มไปด้วยรูปภาพจากอดีตอันรุ่งโรจน์ ซึ่งเขาพยายามจะเรียกคืนกลับมาเป็นครั้งคราว ด้วยการแอบดักฟังวิทยุตำรวจและปลอมตัวไปช่วยเหลือคนตกทุกข์ได้ยาก ประเด็นดังกล่าวถูกหยิบยกมาเปรียบเทียบอย่างเฉียบคม (ในเชิงติดตลกอีกเช่นกัน) กับภาวะวิกฤติวัยกลางคน หรือ วิกฤติของชายที่ไม่ยอมรับสถานะ ‘ผู้ใหญ่’ และพยายามจะทำทุกวิถีทางให้ตัวเองดู/รู้สึกหนุ่มขึ้น ด้วยเหตุนี้เอง ฉาก เฮเลน ค้นพบเศษอิฐบนเสื้อสามีจึงดูน่าขำอยู่ลึกๆ ตรงที่มันให้ความรู้สึกเหมือนฉากภรรยาค้นพบเส้นผมของผู้หญิงคนอื่นบนเสื้อสามี เมื่อเฮเลนได้ยินเสียงบ็อบพูดคุยนัดแนะกับผู้หญิงทางโทรศัพท์ เธอก็ทึกทักทันทีว่าเขากำลังแอบนอกใจ เพราะพฤติกรรมต่างๆ ของบ็อบล้วนบ่งชี้ไปในทางนั้น ไม่ว่าจะเป็นการซื้อรถคันใหม่ ฟิตหุ่นออกกำลังกาย และเดินทางไปนอกเมืองบ่อยๆ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วเขากำลังแอบรับงานซูเปอร์ฮีโร่ลับหลังเธอต่างหาก

แง่มุมข้างต้น รวมถึงภาพสะท้อนความหงุดหงิดในงานอันน่าเบื่อและความขัดแย้งแห่งธรรมชาติงานในบริษัทประกัน ซึ่งสนับสนุนนโยบายเอารัดเอาเปรียบลูกค้า กับนิสัยชอบช่วยเหลือผู้คนของซูเปอร์ฮีโร่อย่างบ็อบ ทำให้ The Incredibles ดูเป็นผู้ใหญ่กว่าหนังพิกซาร์เรื่องอื่นๆ และนั่นยังไม่นับรวมถึงความรุนแรงในระดับ PG (“จำพวกผู้ร้ายในหนังการ์ตูนตอนเช้าวันเสาร์ได้ไหม” เฮเลนกล่าวกับลูกทั้งสอง หลังเครื่องบินเจ็ทของพวกเขาถูกยิงระเบิดกลางอากาศ “คนพวกนี้ไม่เหมือนผู้ร้ายพวกนั้น พวกมันจะไม่ยั้งมือเพียงเพราะเห็นว่าลูกๆ ยังเด็กอยู่ พวกมันจะฆ่าลูกถ้ามีโอกาส”) และปัญหาขัดแย้งในครอบครัวซึ่งยุ่งเหยิงเกือบจะในระดับเดียวกับหนังของ ไมค์ ลีห์ (Secrets and Lies, All or Nothing) เลยทีเดียว แต่ เช่นเดียวกับหนังของลีห์ สุดท้ายแล้ว The Incredibles ก็ยังคงมองสถาบันครอบครัวด้วยแววตาอันเปี่ยมความหวัง หลังจากบ็อบพลันตระหนักว่า การวิ่งไล่ล่าอดีตอันหอมหวานเกือบจะทำให้เขาสูญเสียสิ่งมีค่าที่สุดในปัจจุบันไป “พวกเธอคือการผจญภัยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของฉัน” เขาสารภาพกับภรรยาและลูกๆ

ธีมสำคัญของ The Incredibles ได้แก่ การเฉลิมฉลองพรสวรรค์และเอกลักษณ์เฉพาะตัวอันไม่เหมือนใคร เรียนรู้ที่จะไปให้ไกลที่สุดเท่าที่ศักยภาพของคุณจะเปิดโอกาสและอย่าปล่อยให้แรงกดดันอันปราศจากเหตุผลของสังคมมาปิดกั้นคุณให้หยุดอยู่ภายใต้กรอบแห่งความธรรมดาสามัญ เหมือนคำสอนของเฮเลนที่กระตุ้นให้ ไวโอเล็ท เชื่อมั่นในตัวเองแล้วเธอก็จะค้นพบพลังที่ซุกซ่อนอยู่ภายใน

ขณะเดียวกันก็จงพึงระวัง อย่าหลงระเริงไปกับอำนาจและความสามารถแสนพิเศษของตนจนมืดบอด แต่เรียนรู้ที่จะยอมรับความช่วยเหลือและมองเห็นคุณค่าของบุคคลอื่นไปพร้อมๆ กับการตระหนักในคุณค่าของตนเอง ตัวอย่างของมนุษย์ผู้พ่ายแพ้ต่อด้านมืดแห่งอำนาจ คือ ซินโดรม ชายผู้พยายามจะสร้าง ‘พรสวรรค์’ ขึ้นเอง ทว่ากลับไม่รู้จักใช้มันไปในทางที่ถูก เครื่องจักรที่เขาผลิตขึ้นมานั้นเปรียบเสมือนตัวแทนอีโก้ของเขา ซึ่งเติบใหญ่และพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งล้ำหน้าเจ้าของ และสิ่งเดียวที่จะสามารถหยุดยั้งมันได้ ก็คือ ‘ตัวมันเอง’ ความหลงระเริงในอำนาจของซินโดรมทำให้เขามองมิสเตอร์อินเครดิเบิ้ลว่าอ่อนแอ ที่ไม่กล้าทำร้าย มิราจ ทั้งที่เขาไม่มีอะไรจะเสียอีกแล้ว แต่มิราจกลับชี้ให้เห็นว่า ความแข็งแกร่งแท้จริงนั้นอยู่ตรงการที่มิสเตอร์อินเครดิเบิ้ลเห็นคุณค่าของชีวิตผู้อื่นเหนือชีวิตตัวเองต่างหาก อย่างไรก็ตาม มิสเตอร์อินเครดิเบิ้ลก็มีความภูมิใจในตัวเองอยู่มากเช่นกัน เขาไม่ชอบให้ใครช่วยเหลือ ไม่นิยมแบ่งเครดิตกับใคร และการตอบปฏิเสธ บัดดี้ แฟนหมายเลขหนึ่ง อย่างเย็นชาในช่วงต้นเรื่องของเขาก็ได้กลายเป็นจุดก่อกำเนิดปีศาจร้ายในเวลาต่อมา ทุกอย่างค่อยๆ คลี่คลายไปในทางที่ดี เมื่อเขาเริ่มเรียนรู้ที่จะยอมรับความช่วยเหลือจากคนอื่น ในฉากไคล์แม็กซ์ เฮเลนให้คำมั่นว่า เขาจะไม่สูญเสียใครในครอบครัวไป “ถ้าเราจับมือร่วมกัน”

บางทีสารที่ แบรด เบิร์ด พยายามจะบอกกับคนดูอาจฟังดูเหมือนคำตอบของนางงามบนเวทีการประกวด ซึ่งหลายคนชอบนำมาล้อเลียน แต่ขณะเดียวกันก็ไม่อาจปฏิเสธความจริงแท้ของมันได้ นั่นคือ หากทุกคนรู้จักยอมรับและช่วยเหลือกัน เราก็จะสามารถทำอะไรได้มากมายกว่าคนเพียงหนึ่งคน… แล้วเมื่อนั้นความสงบสุขของโลกก็จะอยู่แค่เอื้อม

ไม่มีความคิดเห็น: