วันจันทร์, กรกฎาคม 09, 2550

Adaptation: บทบันทึกของนักเขียน


เมื่อแรกที่ ชาร์ลี คอฟแมน ได้รับมอบหมายให้ถ่ายทอดหนังสือเรื่อง The Orchid Thief ของ ซูซาน ออร์ลีน เป็นบทภาพยนตร์ เขาตั้งใจจะซื่อตรงต่อต้นฉบับ เนื่องจากเขาเห็นว่ามันเป็นสิ่งจำเป็นเมื่อเรานำงานของคนอื่นมาใช้ เขาตั้งใจจะไม่แต่งเติมหรือเสริมพล็อตจอมปลอมขึ้นมาบดบัง ‘ความงาม’ ของหนังสือเล่มนี้ เขากล่าวกับ วาเลอรี่ ผู้อำนวยการสร้าง ระหว่างการพูดคุยกันในร้านอาหารว่า

“ผมไม่อยากทำมันออกมาในสไตล์ฮอลลิวู้ด… ประเภทหนังโจรกรรมกล้วยไม้… หรือเปลี่ยนกล้วยไม้เป็นดอกฝิ่นแล้วผันมันให้กลายเป็นหนังเกี่ยวกับยาเสพติด ผมไม่อยากใส่ฉากเซ็กซ์ ฉากยิงปืน ฉากขับรถไล่ล่า หรือฉากตัวละครเรียนรู้บทเรียนสำคัญแห่งชีวิต หรือให้พวกเขาเปลี่ยนใจมาชื่นชอบกันและกัน หรือสามารถเอาชนะอุปสรรคจนประสพความสำเร็จได้ในตอนจบ”

ปัญหาคือ ‘ความงาม’ ของ The Orchid Thief ไม่อาจถ่ายทอดออกมาเป็นภาพยนตร์ได้ มันปราศจากดราม่า พล็อต และความขัดแย้ง เนื้อหาส่วนหนึ่งถูกอุทิศให้กับการบรรยายถึงดอกกล้วยไม้นานาพันธุ์ ดังนั้นการตั้งข้อจำกัดให้ตนเองว่าจะต้องซื่อตรงต่อต้นฉบับจึงทำให้ชาร์ลีเผชิญหน้ากับภาวะความคิดตีบตัน ขณะเส้นตายเริ่มงวดเข้ามาทุกที และเมื่อจนตรอกหนักเข้า ชาร์ลีเลยตัดสินใจหันไปเข้าคอร์สสอนการเขียนบทของ โรเบิร์ต แม็คคี เพื่อค้นหาทางออก

ฉากดังกล่าวเปรียบดังจุดเชื่อมโยงระหว่างครึ่งแรกกับครึ่งหลังของ Adaptation ซึ่งแตกต่างกันราวฟ้ากับเหว ขณะเดียวกันมันยังเป็นฉากที่เชื่อมโยงธีมสองธีมของหนังเข้าด้วยกันอีกด้วย นั่นคือ การดัดแปลง The Orchid Thief เป็นบทภาพยนตร์ และเรื่องราวชีวิตของ ชาร์ลี คอฟแมน

Adaptation นำเสนอความพยายามหลากหลายของคอฟแมนในอันที่จะถ่ายทอดตัวหนังสือออกมาเป็นภาพเคลื่อนไหว บางครั้งเขาใช้วิธีแปลงเนื้อความใน The Orchid Thief เป็นเหตุการณ์แบบตรงไปตรงมา เช่น คดีที่ลาโรชถูกจับโทษฐานบุกรุกอุทยานแห่งชาติ, เมื่อลาโรชพาออร์ลีนไปชมงานแสดงกล้วยไม้, ประวัติศาสตร์ของกล้วยไม้ผีและของลาโรช เป็นต้น บางครั้งเขาใช้วิธีแต่งเติม สร้างฉากใหม่ แต่ภายใต้ขอบเขตของหนังสือ เช่น ฉากออร์ลีนพูดคุยกับสามีและกลุ่มเพื่อนที่โต๊ะอาหาร (ความเจ็บปวดของเธอ ผู้ปรารถนาจะหลงใหลในสิ่งหนึ่งสิ่งใดมากเท่าที่ลาโรชรู้สึกกับกล้วยไม้ ปรากฏอยู่ในหนังสือ) บางครั้งเขาใช้วิธีเริ่มต้นจากศูนย์ เช่น การแสดงภาพกำเนิดโลกเพื่อเกริ่นนำถึงวงจรชีวิตของกล้วยไม้ แต่ทุกวิธีการล้วนนำเขาไปสู่ทางตัน เขายังคงไม่สามารถทำให้ดอกไม้ดูน่าหลงใหลได้ เขาไม่สามารถทำให้ The Orchid Thief น่าติดตามและน่าตื่นเต้นได้ หากเขายังวางแผนจะซื่อตรงต่อต้นฉบับ เพราะสุดท้ายแล้ว ในหนังสือ แรงปรารถนาของออร์ลีนก็ไม่บรรลุเป้าหมาย ความพยายามที่จะเห็นกล้วยไม้ผีให้ได้สักครั้งในชีวิตของเธอจบลงพร้อมกับความล้มเหลวและบทสรุปที่ว่า “ชีวิตดูเหมือนจะเต็มไปด้วยสิ่งที่เหมือนกับกล้วยไม้ผี งดงามเมื่อนึกถึง ง่ายดายที่จะตกหลุมรัก มันมหัศจรรย์ ชั่วครู่ และยากจะเอื้อมถึง”

ทางออกของชาร์ลีคือการย้อนกลับมามองตัวเองและเล่าเรื่องราวของตัวเองเพราะมันเป็นสิ่งเดียวที่เขามีคุณสมบัติพอจะทำได้ แต่ผลลัพธ์ที่คาดไม่ถึงคือ วิธีการดังกล่าวกลับนำเขาไปสู่ทางตันแบบเดิม

ชาร์ลี คอฟแมน (นิโคลัส เคจ) เป็นผู้ชายที่ไม่มีความมั่นใจในตัวเอง ออกจะเอนเอียงไปทางชิงชังรูปกายภายนอกของตนด้วยซ้ำ (หัวล้าน อัปลักษณ์ อ้วน) และบางทีนั่นอาจเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาอื่นๆที่ตามมาอย่างเช่น การไม่รู้จักเข้าสังคมและหมกมุ่นอยู่กับตนเอง ชีวิตประจำวันของเขาหมดไปกับการขลุกอยู่ในห้อง จดจ้องจอคอมพิวเตอร์แล้วต่อรองกับตัวเอง (จะกินมัฟฟินก่อนแล้วค่อยมาเขียนต่อดีไหม?) พล่ามใส่เครื่องอัดเทป ก่อนจะเปิดทวนฟังอีกรอบ และนอนวาดฝันถึงผู้หญิงที่ผ่านเข้ามาในชีวิต (วาเลอรี่, ออร์ลีน, สาวเสิร์ฟ) จากนั้นก็สำเร็จความใคร่ให้ตัวเอง เขารู้สึกแปลกแยก เหมือนเป็นมนุษย์ล่องหน ตามงานปาร์ตี้ หรือในกองถ่าย Being John Malkovich เขาอึดอัดเมื่อต้องปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่นโดยเฉพาะผู้หญิง เขาเหงื่อไหลเป็นน้ำระหว่างการพูดคุยกับวาเลอรี่ (ทิลด้า สวินตัน) ในร้านอาหาร เขาขลาดกลัวเกินกว่าจะรุกคืบอมีเลีย (คาร่า ซีมัวร์) ส่วนความพยายามจะจีบสาวเสิร์ฟก็จบลงด้วยความอับอายขายหน้า

กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ชีวิตของชาร์ลีก็ไม่ต่างอะไรจากหนังสือที่เขากำลังดัดแปลงเป็นบทภาพยนตร์… มันไม่มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นมากนัก ผู้คนไม่เปลี่ยนแปลง ไม่มีการรู้แจ้งเห็นธรรม พวกเขาดิ้นรน หงุดหงิด และปราศจากทางออก

เมื่อเขาเปรียบเทียบชีวิตตน (ที่คนดูนั่งชมมาตลอดครึ่งแรก) ว่าเป็นเหมือน ‘ชีวิตจริง’ ในคอร์สสอนการเขียนบท แม็คคี (ไบรอัน ค็อกซ์) จึงตอกกลับว่า ถ้าคุณไม่สามารถค้นหาเรื่องราวได้ในโลกที่เต็มไปด้วยการฆ่าฟัน การคบชู้สู่ชาย และการโกหกหลอกลวงแล้วล่ะก็ นั่นหมายความว่าคุณไม่รู้อะไรเกี่ยวกับชีวิตเลยแม้แต่น้อย คำตอบของแม็คคีทำให้ชาร์ลีตระหนักว่าเขาไม่อาจซื่อตรงต่อ The Orchid Thief ได้ เขาจำเป็นต้อง ‘ดัดแปลง’ มันให้เหมาะกับสื่อภาพยนตร์ แม็คคีแนะนำเขาในบาร์เหล้า หลังชาร์ลีอ่านหนังสือให้ฟังจนจบว่า “มันไม่ใช่หนัง คุณจะต้องย้อนกลับไป แล้วใส่ดราม่า คุณอาจก้าวผิดทางหรือมีข้อบกพร่อง แต่ถ้าคุณทำให้ผู้ชมตื่นตะลึงในตอนจบได้ล่ะก็ หนังคุณฮิตแน่” เช่นเดียวกัน ชีวิตของชาร์ลีจะพบกับความสุขได้ก็ต่อเมื่อเขายินยอมที่จะ ‘ปรับเปลี่ยน’ ตัวเอง ด้วยเหตุนี้คำว่า adaptation จึงกินความควบทั้งหน้าที่การงานและชีวิตส่วนตัวของคอฟแมน รวมเลยไปถึงคุณสมบัติโดดเด่นของดอกกล้วยไม้ (ลาโรชอธิบายให้ออร์ลีนฟังในงานแสดงพันธุ์ไม้ว่ากล้วยไม้บางชนิดมีรูปร่างเหมือนแมลงที่มาดูดดมเกสรอันหอมหวานของมัน) ในเวลาเดียวกัน

โดนัลด์ คอฟแมน (นิโคลัส เคจ) เริ่มก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญ เมื่อชาร์ลีขอให้เขาช่วยหาตอนจบให้กับบทภาพยนตร์ ก่อนหน้านี้คนดูจะเห็นว่าโดนัลด์คือขั้วตรงกันข้ามของชาร์ลี เขาไม่ฉลาด ไม่ทะเยอทะยาน และโอนเอนเข้าหาสูตรสำเร็จตามแนวทางอย่างเต็มใจ เป้าหมายในการเป็นนักเขียนบทของเขาไม่ใช่ความคิดริเริ่มแปลกใหม่เหมือนชาร์ลี หากแต่เป็นการอ้างอิงถึงหนังที่ประสบความสำเร็จมาแล้วก่อนหน้านี้ บทหนังเรื่อง The 3 ของโดนัลด์ (Psycho ผสม The Silence of the Lambs) เป็นหนึ่งในตัวอย่างอันชัดเจนของหลักการแบบแม็คคี กล่าวคือ บทหนังอาจจะเต็มไปด้วยข้อบกพร่องทางหลักเหตุผล แต่ฉากจบแบบยิ่งใหญ่ (เฉลยว่าตัวเอกสามคนในเรื่องคือ ฆาตกรโรคจิต หญิงสาว และตำรวจ เป็นบุคคลคนเดียวกัน) จะทำให้มันกลายเป็นหนังฮิต ผลลัพธ์ที่ตามมา? โดนัลด์ขายบทหนัง ซึ่งเขาเขียนเสร็จภายในเวลาไม่กี่วัน ได้ในราคาสูงลิ่ว แถมเอเย่นต์ของชาร์ลียังกล่าวชม The Three เสียเลิศลอยอีกด้วย ถึงตรงนี้ชาร์ลีเริ่มถูกกดดันอย่างหนัก เขาจึงหันมาขอความช่วยเหลือจากโดนัลด์ให้ช่วยค้นหาฉากจบแบบใหม่ที่ไม่ได้ แอนตี้-ไคล์แม็กซ์ เหมือนใน The Orchid Thief

ด้วยเหตุนี้ Adaptation ในช่วงครึ่งหลัง นับแต่โดนัลด์เดินทางไปพบออร์ลีนและมั่นใจว่าเธอกำลัง ‘ปกปิด’ อะไรบางอย่าง จึงดำเนินเหตุการณ์ตามสูตรที่ โรเบิร์ต แม็คคี จะต้องภาคภูมิใจและอัดแน่นไปด้วยองค์ประกอบที่ชาร์ลีต้องการจะหลีกเลี่ยงในช่วงต้นเรื่องครบทุกประการ ฉากการค้นหากล้วยไม้ผีของลาโรช (คริส คูเปอร์) กับออร์ลีน (เมอรีล สตรีพ) ถูกนำมาเล่าซ้ำอีกครั้ง ต่างกันแค่คราวนี้พวกเขา ‘พบ’ มันในที่สุด ต่อมาลาโรชก็บอกความลับกับออร์ลีนว่ากล้วยไม้ชนิดนี้สามารถนำมาสกัดเป็นยาเสพติดได้ (เปลี่ยนกล้วยไม้เป็นดอกฝิ่น) เขาส่งตัวอย่างมาให้เธอทางไปรษณีย์ เธอลองเสพ พวกเขาได้พูดคุยกันทางโทรศัพท์ ก่อนจะลงเอยด้วยการมีเซ็กซ์กัน จากนั้นหนังก็นำผู้ชมไปสู่ฉากซึ่งให้อารมณ์โรแมนติกสุดยอด ขณะออร์ลีนนอนรับแสงแดดอ่อนๆอยู่บนสนามหญ้าและพูดจาภาษาดอกไม้กับลาโรช (love story ในแบบที่วาเลอรี่อยากได้) ตัดกลับมายังเหตุการณ์ปัจจุบัน สองพี่น้องคอฟแมนแอบสะกดรอยออร์ลีนมายังบ้านลาโรช ชาร์ลีเห็นทั้งสองร่วมรักกัน (เซ็กซ์) และถูกจับได้ ออร์ลีนตัดสินใจว่าจะต้องฆ่าเขาปิดปาก ทั้งสองขับรถพาชาร์ลีไปยังอุทยานแห่งชาติ ชาร์ลีหนีรอดมาได้ โดนัลด์พูดประโยคสำคัญ “คุณคือสิ่งที่คุณรัก ไม่ใช่สิ่งที่รักคุณ” ซึ่งทำให้ชาร์ลีเข้าใจชีวิตมากขึ้น (บทเรียนสำคัญแห่งชีวิต) ออร์ลีนพบพวกเขา ลาโรชยิงโดนัลด์ (ปืน) ชาร์ลีขับรถพาโดนัลด์หลบหนี (ขับรถไล่ล่า) โดนัลด์ตาย ชาร์ลีรวบรวมความกล้าแล้วสารภาพรักกับอมีเลีย เธอตอบรับรักเขา (ตัวละครเอาชนะอุปสรรคและประสพความสำเร็จในตอนจบ)

การพลิกผันอย่างคาดไม่ถึงของครึ่งหลัง ทำให้ Adaptation มีสัดส่วนของการเสียดสีฮอลลิวู้ดและสูตรสำเร็จในระดับหนึ่ง… แต่ไม่ทั้งหมด การสร้างบุคลิกโดนัลด์ให้ดูทึ่มๆ ใสซื่อ เข้าสังคมเก่ง จีบสาวได้โดยไม่ต้องใช้ความพยายาม แต่ขณะเดียวกันก็เข้าใจถึงความสุขอันเรียบง่ายแห่งชีวิต ส่วนชาร์ลีคือไอ้ขี้แพ้ที่ไม่มีความสุขในชีวิต แสดงให้เห็นว่าคอฟแมน (ผู้เขียนบท) ไม่ได้ดูถูก ‘หลักการ’ เสียทั้งหมด ที่สำคัญ บทหนังยังสื่อนัยยะอีกด้วยว่าโดนัลด์คือ ‘ส่วนหนึ่ง’ ของชาร์ลี เปรียบเสมือนจิตสำนึกที่มักจะเข้ามาขัดจังหวะความคิด/การช่วยตัวเองของเขาอยู่เสมอ และคอยตอกย้ำความไม่มั่นใจของชาร์ลีในการค้นหาความคิดริเริ่มแปลกใหม่ เนื่องด้วยทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกนี้ล้วนพัฒนาจากสิ่งหนึ่งไปสู่อีกสิ่งหนึ่ง

ขณะที่หลักการของแม็คคีเน้นการมองย้อนไปยังอดีตเพื่อค้นหาสูตรสำเร็จ (“Casablanca เป็นบทภาพยนตร์ที่ดีที่สุด”) ชาร์ลีกลับพยายามขัดขืนสูตรเหล่านั้นด้วยการมองเข้าไปข้างในตัวเอง (หนังเปิดเรื่องด้วยการอ้างถึงเบื้องหลังฉากสำคัญใน Being John Malkovich เมื่อ จอห์น มัลโควิช หลุดเข้าไปในความคิดของตนเองแล้วพบว่าทุกคนในโลกนั้นล้วนมีหน้าตาเหมือนเขาและพูดจาเหมือนกันหมดว่า “มัลโควิช”) แต่สุดท้ายก็พบกับทางตันจนต้องหันไปพึ่งปัจจัยภายนอก เมื่อถึงจุดหนึ่งชาร์ลีได้สารภาพความจริงกับโดนัลด์ (ด้วยอารมณ์สมเพชตัวเอง) ว่าเขาเขียนให้ตัวเองเป็นพระเอกในบทหนัง คำตอบของโดนัลด์คือ “ฉันมั่นใจว่านายมีเหตุผลที่ดี ชาร์ลส์ นายเป็นศิลปิน”

Adaptation คือ ส่วนผสมที่ลงตัวอย่างไม่น่าจะเป็นไปได้ระหว่าง The Orchid Thief กับความยากลำบากในการดัดแปลงมันเป็นบทภาพยนตร์ ระหว่างการเล่าเรื่องตามสูตรกับความคิดริเริ่มแปลกใหม่ ระหว่างชีวิตจริงซึ่งไม่มีอะไรเกิดขึ้นมากนักกับชีวิตในหนังซึ่งตัวละครได้เรียนรู้บทเรียนสำคัญแห่งชีวิตในระยะเวลาอันสั้นเหมือนการเร่งสปีดภาพ และระหว่างโดนัลด์กับชาร์ลี

เช่นนี้แล้วจะมีเพลงอะไรเหมาะสำหรับการปิดเรื่องมากไปกว่า Happy Together

ไม่มีความคิดเห็น: