วันจันทร์, ธันวาคม 20, 2564

A Hidden Life: ศรัทธาและเจตจำนงเสรี

มีอยู่ฉากหนึ่งในช่วงต้นเรื่องคนดูจะเห็นฟรานซ์ (ออกุสต์ ดีห์ล) พูดคุยกับจิตรกรในโบสถ์ ซึ่งสาธยายถึงผลงานของตนว่า ผมวาดสุสานของเหล่าศาสดา ช่วยให้ผู้คนแหงนหน้าขึ้นจากม้านั่งและเฝ้าฝัน พวกเขาแหงนหน้าขึ้นมองและจินตนาการว่าถ้าพวกเขาอาศัยอยู่ในยุคสมัยของพระเยซู พวกเขาจะไม่ทำอย่างที่คนอื่นทำ... สิ่งที่พวกเรา (จิตรกร) ทำก็แค่สร้างความเห็นอกเห็นใจ เราสร้างผู้ชื่นชม เราไม่ได้สร้างผู้ติดตาม ชีวิตของพระเยซูยากลำบาก เราไม่อยากจะถูกตอกย้ำถึงมัน... ผมวาดพระเยซูที่พวกเขาสะดวกใจ แบบที่มีรัศมีรอบศีรษะ... สักวันผมอาจกล้าพอที่จะเสี่ยง แต่ยังไม่ใช่ตอนนี้ สักวันผมจะวาดพระเยซูที่แท้จริง

ฉากดังกล่าวไม่เพียงสะท้อนประเด็นน่าสนใจ แต่ยังอาจเป็นบทอุปมาอันชัดเจนเกี่ยวกับหนังเรื่อง A Hidden Life อีกด้วย ยุคสมัยของพระเยซูถูกแทนที่ด้วยยุคสมัยของนาซี การที่เราคนดูมานั่งดูหนังในตอนนี้ หลังจากเหตุการณ์จริงผ่านพ้นไปเกือบศตวรรษ และประวัติศาสตร์ได้รับการชำระหมดจดแล้วว่าใครเป็นฝ่ายธรรมะใครเป็นฝ่ายอธรรม เราย่อมนึกได้ไม่ยากว่าตัวเองคงไม่ทำอย่างที่คนอื่นๆ ทำ ไม่เห็นชอบไปกับฮิตเลอร์ แต่คำถามคือถ้าเราอาศัยอยู่ในช่วงเวลานั้น เราจะกล้าทวนกระแสอันเชี่ยวกรากดุจเดียวกับฟรานซ์หรือไม่ เราอยากจะนึกว่าตัวเองคงไม่ถลำลึกไปไกลถึงขั้นนายกเทศมนตรีของเมืองที่ก่นด่าคนยิว คนต่างด้าว แล้วโอบกอดแนวคิดของพรรคนาซีอย่างเต็มที่ แต่มีความเป็นไปได้อย่างสูงว่าเราทั้งหลายก็คงจะลงเอยด้วยการ อยู่เป็น ไม่ต่างจากชาวเมืองส่วนใหญ่ ใครบ้างจะอยากให้ลูกเมียต้องเดือดร้อน ใครบ้างจะอยากโดนนำตัวไปประหารด้วยเครื่องกิโยตีน

เทอร์เรนซ์ มาลิก ก็ไม่ต่างจากจิตรกรในโบสถ์ ขณะที่ความยากลำบากในชีวิตของฟรานซ์ถูกเปรียบเปรยว่าไม่ต่างจากพระเยซู (พระเยซูทรงกระทำกิจหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือการขัดขืนอย่างสันติต่อผู้มีอำนาจที่ไร้ความชอบธรรม) แต่ในเวลาเดียวกันมาลิกก็ไม่ได้ต้องการทำหนังเพื่อเชิดชูฟรานซ์ มอบรัศมีล้อมรอบศีรษะเขา แม้ว่าสุดท้ายมันจะลงเอยที่จุดหมายปลายทางคล้ายคลึงกัน แต่ระหว่างทางเขาต้องการตั้งคำถามและฉายให้เห็นบททดสอบต่างๆ ที่ฟรานซ์ต้องเผชิญมากกว่า ฟรานซ์ไม่ได้ถูกนำเสนอในฐานะตัวเอกผู้ผดุงความถูกต้อง หรือหาญกล้าต่อกรกับความโหดร้ายของนาซี เขาไม่เคยอวดอ้างความเหนือกว่าทางศีลธรรมของตน หรือถกเถียงเพื่อเอาชนะคะคานคนที่เห็นตรงข้าม อย่างมากที่สุดเขาก็แค่เดินหลบจากบทพล่ามอันเต็มไปด้วยความเกลียดชังของนายกเทศมนตรี และหลายครั้งหนังยังแสดงให้เห็นความไม่แน่ใจในตัวเขามากพอๆ กับการถ่อมตนอีกด้วย ฟรานซ์เป็นเหมือนทั่งในเรื่องเล่าเกี่ยวกับช่างตีเหล็กของบาทหลวง ความกล้าหาญอันแท้จริงคือการทนรับแรงกระแทกจากค้อนครั้งแล้วครั้งเล่าโดยไม่ขยับเขยื้อน (ภรรยาเขาเสนอให้หลบหนีเข้าป่าขึ้นเขาเมื่อสามีได้รับหมายเรียกให้เข้าร่วมกองทัพและต้องสาบานความภักดีต่อฮิตเลอร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ฟรานซ์ไม่อาจทำใจยอมได้เพราะตระหนักว่าสงครามครั้งนี้นาซีไม่ใช่วีรบุรุษ แต่เป็นอีกฝ่ายที่ปกป้องบ้านเกิดของตนจากศัตรูที่รุกรานต่างหาก) ท่ามกลางภัยอันตรายคุกคามรอบด้าน ทั่งจะอยู่ยั้งยืนยงกว่าค้อนคือบทสรุปของเรื่องราว

สุดท้ายแล้วร่างกายของฟรานซ์ เช่นเดียวกับพระเยซู อาจดับสูญ แต่จิตวิญญาณเขาหาได้สูญสลายหรือด่างพร้อย ผมก็อยากรักษาชีวิตเอาไว้ แต่ไม่ใช่ด้วยการโกหก ฟรานซ์กล่าว

พูดกันตามตรงเรื่องราวของฟรานซ์อันทรงพลังในตัวเอง เอื้อต่อการนำมาสร้างเป็นหนังที่บันเทิงกว่านี้ ปลุกเร้าอารมณ์ฮึกเหิมหรือโกรธแค้นกว่านี้ และแบ่งฝักฝ่ายแห่งอุดมการณ์ชัดเจน พลางเฝ้าดูทั้งสองฝ่ายห้ำหั่นกันจนนาทีสุดท้ายแบบเดียวกับหนังอย่าง Schindler’s List หรือ Sophie Scholl: The Final Days โดยเฉพาะเรื่องหลังซึ่งมีฉากตัวละครเอกต้องขึ้นศาลที่โปรนาซีจนเอียงกระเทเร่ในช่วงไคล์แม็กซ์ แต่มาลิกเลือกเส้นทางที่แตกต่างออกไป เขาไม่ได้สร้างภาพนาซีให้เป็นวายร้ายสุดขั้วเพื่อเร้าอารมณ์คนดู ตรงกันข้าม เราจะเห็นผู้พิพากษาคนหนึ่ง รับบทโดยนักแสดงเยอรมันระดับตำนานอย่าง บรูโน แกนซ์ ซึ่งโด่งดังเป็นที่รู้จักทั่วโลกจากบทฮิตเลอร์ในหนังเรื่อง Downfall เรียกฟรานซ์ไปคุยเป็นการส่วนตัวในห้องก่อนตัดสินคดี เขาไม่เข้าใจการตัดสินใจของฟรานซ์ พร้อมกับถามชายหนุ่มว่า ตัดสิน เขาหรือเปล่า ชายหนุ่มปฏิเสธและอธิบายว่า ผมมีความรู้สึกลึกๆ ข้างในที่บอกว่าผมไม่อาจทำในสิ่งที่ผมเชื่อว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง จากนั้นเมื่อฟรานซ์ถูกนำตัวออกจากห้องไปแล้ว ผู้พิพากษาคนดังกล่าวก็ค่อยๆ หย่อนก้นลงบนเก้าอี้ที่ฟรานซ์เคยนั่งอยู่ก่อนหน้า พลางครุ่นคิดด้วยสีหน้าวิตกกังวล

ฮิตเลอร์เองก็ปรากฏตัวให้คนดูเห็นผ่านคลิปขาวดำทั้งในรูปแบบที่เราคุ้นเคย (จากหนัง Triumph of the Will) และในรูปแบบที่ดูเหมือนมนุษย์มนาทั่วไป (ฟุตเตจจากการเดินทางมาเที่ยวพักผ่อนที่เทือกเขา ซึ่งอยู่ห่างจากหมู่บ้านของฟรานซ์ไม่ถึงหนึ่งร้อยกิโลเมตร)

นาซีในสายตาของมาลิกอาจดูน่าเกรงขามจากภายนอก พวกเขาไม่ลังเลที่จะใช้กำลัง ใช้ความรุนแรงบังคับข่มเหง แต่ในเวลาเดียวกันกลับตระหนักถึงความดีงามและตระหนกต่อความแข็งแกร่งจากภายในดุจเดียวกับฉากเผชิญหน้าระหว่างผู้พิพากษาและฟรานซ์ ราวกับลึกๆ แล้วพวกเขาหาได้เชื่อมั่นอย่างแท้จริงในความชอบธรรมต่ออุดมการณ์บิดๆ เบี้ยวๆ ของตนเอง และแห่แหนตามกันไปเพียงเพื่อเอาใจท่านผู้นำ หรือบุคคลที่ถืออำนาจเหนือกว่าเพื่อเอาตัวรอด เพื่อความก้าวหน้าในอาชีพ เฉกเช่นบรรดาชาวบ้านส่วนใหญ่ในหมู่บ้าน หรือกระทั่งโบสถ์คาทอลิก ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงถูกบีบให้รู้สึกละอายใจได้อย่างง่ายดายเมื่อต้องเผชิญความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวของฟรานซ์

อาจกล่าวได้ว่า ความรู้สึกลึกๆ ข้างใน ของฟรานซ์หมายถึงศรัทธา ซึ่งผูกพันกับศาสนาอย่างแนบแน่น ในฉากหนึ่งเขาพูดกับบิชอปว่า หากพระเจ้ามอบเจตจำนงเสรีให้กับเรา เราก็ต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่เราลงมือทำหรือไม่ลงมือทำ ในทัศนะของศาสนาโดยทั่วไป โดยเฉพาะศาสนาคริสต์ เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนล้วนมีเสรีภาพในการตัดสินใจด้วยตนเอง กล่าวคือ แม้พระเจ้าจะเป็นผู้สร้างโลก แต่เป็นหน้าที่ของมนุษย์ที่จะเลือกทำดีหรือทำเลว เพราะถ้ามนุษย์ไม่มีเจตจำนงเสรี การลงโทษผู้กระทำความผิดก็จะไม่สามารถทำได้ มนุษย์ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง ไม่ใช่บอกเพียงว่าตนถูกบังคับให้ทำชั่ว ทุกๆ การเลือกทำหรือไม่ทำสิ่งใดย่อมจะมีผลตามมา และเรา ไม่ว่าจะเป็นฟรานซ์ หรือผู้พิพากษารูเบน ต่างก็ต้องยอมรับผลเหล่านั้น

คนที่ติดตามผลงานของมาลิกมาอย่างต่อเนื่องย่อมไม่แปลกใจกับนัยยะคริสต์ศาสนาอันเข้มข้นในหนังของเขา A Hidden Life นับเป็นหนึ่งในผลงานอีกเรื่องที่ดำเนินตามโครงสร้างของพล็อตทำนอง สวรรค์ล่ม ซึ่งปรากฏให้เห็นตั้งแต่ Badlands จนถึง Days of Heaven, The Thin Red Line, The New World และ The Tree of Life โดยมีรากมาจากตำนานอดัมกับอีฟที่ขัดคำสั่งของพระเจ้าด้วยการกินผลไม้ต้องห้ามจนถูกขับไล่ออกจากสวนสวรรค์อีเดน นั่นกลายเป็นที่มาของบาปที่ติดตัวมาแต่กำเนิด (original sin) บทพูดช่วงหนึ่งในหนังก็สะท้อนภาวะดังกล่าวว่า เราทุกคนล้วนมือเปื้อนเลือด ไม่มีใครบริสุทธิ์ไร้มลทินหนังเปิดเรื่องด้วยภาพชีวิตสงบสุข เรียบง่าย และสวยงามของหมู่บ้านที่ห่างไกลความศิวิไลซ์ แต่ใกล้ชิดกับพระเจ้าบนเทือกเขาของประเทศออสเตรีย ฟรานซ์กับฟานี (วาเลรี พาชเนอร์) หวนรำลึกถึงวันชื่นคืนสุขที่พวกเขาเจอกันเป็นครั้งแรก ราวกับความยุ่งยากใดๆ ก็ไม่อาจกร้ำกรายมาถึงหุบเขาของเรา เราอาศัยอยู่เหนือหมู่เมฆ ฟานีเล่า แต่ไม่นานความยุ่งยากก็มาถึงจนได้ในรูปของเสียงเครื่องบินรบแล่นผ่าน จากนั้นเพื่อนบ้านกลับเริ่มผันแปรเป็นศัตรู วีถีแห่งชุมชนนำไปสู่ความกดดัน และการซื่อสัตย์ต่อตนเองกลายเป็นภัยอันใหญ่หลวง

A Hidden Life ถือเป็นหนัง เล่าเรื่อง ที่ค่อนข้างตรงไปตรงมาของมาลิก มีจุดเริ่มต้น การพัฒนาเหตุการณ์ และลงเอยด้วยบทสรุปชัดเจน (ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะมันสร้างมาจากเรื่องจริง) เมื่อเทียบกับผลงานในระยะหลังนับจาก The Tree of Life เป็นต้นมา ซึ่งแทบไม่มีเรื่องราวให้จับต้องได้ แต่เอกลักษณ์อันโดดเด่นของเขายังปรากฏให้เห็นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการใช้เสียงวอยซ์โอเวอร์แบบหนักมือ หลายครั้งกระทั่งบทสนทนายังถูกหั่นแบ่ง ตัดภาพแทรก จนมันแทบจะไม่ใช่การพูดคุยระหว่างสองตัวละคร แต่ให้อารมณ์เหมือนเป็นการรำพึงรำพันเสียมากกว่า ส่วนตัวละครจำนวนไม่น้อยก็ล่องลอยเข้ามาโดยปราศจากการปูพื้น ก่อนสุดท้ายจะถูกตัดทิ้งแบบไร้เยื่อใย ทั้งที่คนดูยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขาเป็นใคร หรือมีความสัมพันธ์กับตัวละครเอกอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น แมทเทียส โชเนิร์ตส์ ซึ่งตามเครดิตรับบทกัปตันเฮอร์เดอร์ แต่ชื่อและสถานะของเขาไม่ได้รับการสถาปนาอย่างชัดเจนในหนัง เขาเป็นคนมาโน้มน้าวให้ฟรานซ์เปลี่ยนใจ ตั้งคำถามต่อความหยิ่งทะนงของชาวไร่ พยายามค้นหาต้นตอแห่งความดื้อรั้น เพราะเขาคิดว่าตัวเองดีกว่าคนอื่น ฉลาดกว่าคนอื่นงั้นหรือ การที่เสียงของเขาล่องลอยบนจอ ทาบทับภาพชีวิตของฟรานซ์ทำให้ในแง่หนึ่งเขาเหมือนไม่ใช่ตัวละคร แต่เป็นเสียงในความคิดของฟรานซ์ พยายามโต้เถียง หักล้าง หรือเชื้อเชิญให้ตนออกนอกลู่นอกทาง เสียงความคิดใฝ่ต่ำที่พยายามชักชวนเขาให้หลุดพ้นจากเส้นทางของพระเจ้า

มาลิกเป็นผู้กำกับที่นิยมใช้ภาพสื่อสารเชิงอุปมา อารมณ์พลุ่งพล่านอาจถูกถ่ายทอดผ่านคลื่นลูกโตโหมซัดโขดหิน ส่วนความไม่หยุดนิ่งของชีวิตก็ได้รับการขับเน้นผ่านการเคลื่อนกล้องอย่างต่อเนื่อง ในหนังเรื่องนี้ความยากลำบาก ความแข็งแกร่งจากภายในของฟรานซ์ไม่ได้สะท้อนผ่านฉากที่เขาต้องโดนซ้อม โดนทรมานจากน้ำมือของทหารนาซีเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงภาพมือหยาบกร้านขุดดิน ปลูกต้นกล้า มัดฟางข้าว ภาพฟานีกับพี่สาวไถดินเพื่อเตรียมเพาะปลูกอย่างเหนื่อยอ่อนโดยไม่มีเพื่อนบ้านมาช่วย ในแง่หนึ่งมันสะท้อนให้เห็นด้วยว่าการตัดสินใจของฟรานซ์ไม่เพียงจะส่งผลกระทบต่อชีวิตเขาเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงชีวิตของทุกคนในครอบครัวด้วย ทำให้ลูกเมียของเขาโดนคนในหมู่บ้านรังเกียจเหยียดหยาม แต่กระนั้นแม้ว่าความชั่วร้ายจะแผ่ขยายอิทธิพลอย่างกว้างขวาง เมตตาและความดีงามหาได้สูญสลายตามไป ซึ่งถูกนำเสนอผ่านเหตุการณ์เล็กๆ น้อยๆ ที่ดูไม่สลักสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นฉากหญิงชราช่วยเหลือฟานีเก็บพืชพันธุ์การเกษตรหลังจากล้อรถเข็นหลุด หรือฉากฟานีมอบผักให้กับเพื่อนบ้าน หรือฉากฟรานซ์ช่วยเหลือผู้โดยสารบนรถไฟยกกระเป๋าลงจากชั้นวาง มนุษย์มีความสามารถที่จะทำดีและชั่วได้มากพอๆ กัน ขึ้นอยู่กับว่าพวกเขาจะเลือกอย่างใด

ดังที่กล่าวไปแล้ว A Hidden Life โดยแก่นแท้ไม่ใช่การนำเสนอขั้วขัดแย้งระหว่างความดีงามกับความชั่วร้าย หรือระหว่างปัจเจกชนผู้เปี่ยมอุดมการณ์กับลัทธินาซี แต่ยังคงนำเสนอสารัตถะ (หรือถ้าจะพูดให้ตรงคือตั้งคำถาม โดยปราศจากคำตอบ) อันคุ้นเคยเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างการดำรงอยู่ของพระเจ้ากับศรัทธาและการดำรงอยู่ของความชั่วร้าย ถ้าพระเจ้ามีอยู่จริงและทรงเปี่ยมเมตตา เหตุใดพระองค์จึงปล่อยปละให้ความชั่วร้ายดำเนินต่อไป ทำไมชะตากรรมอันทุกข์ตรมถึงได้บังเกิดแก่คนดีๆ  หรืออย่างน้อยก็คนที่ไม่ได้ก่อกรรมทำเข็ญให้ใครเดือดร้อน สำหรับมาลิกพระเจ้าก็ไม่ต่างจากธรรมชาติในหนัง ม่านหมอก ก้อนเมฆ หุบเขา สายน้ำ และฤดูกาลล้วนผันผ่าน ดำเนินไปอย่างเที่ยงตรง แน่นอน โดยไม่เข้าไปมีส่วนร่วมหรือก้าวก่ายความทุกข์ทรมานของเหล่าผู้คน ดวงอาทิตย์ส่องแสงให้กับความดีงามและความชั่วร้ายไม่ต่างกัน

มากกว่าหนึ่งครั้งในหนังที่การกระทำของฟรานซ์ถูกมองว่า ไร้ประโยชน์ หรืออาจถึงขั้น ไร้สาระ มันไม่ได้ส่งผลใดๆ ต่อสงคราม และไม่ได้เป็นที่รับรู้ไปถึงหูเจ้าหน้าที่ระดับบน เรื่องราวของเขาจะถูกลืม ไม่มีใครจดจำ ทุกอย่างจะดำเนินต่อไปโดยไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง พระเจ้าไม่สนหรอกว่าคุณจะพูดอะไร แค่รู้อยู่แก่ใจก็พอ กล่าวคำปฏิญาณไปเถอะ แล้วจะคิดในใจอย่างไรก็ได้ แต่ความสนใจของฟรานซ์ไม่ได้อยู่ตรงผลกระทบภายนอก หากแต่เป็นผลกระทบภายใน เขาตระหนักดีว่าการกระทำของตนไม่มีทางเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์และคงจะถูกหลงลืม แต่กระนั้นเขาก็ไม่อาจทำอย่างอื่นได้นอกจากยืนหยัดอย่างไม่ย่อท้อ เขาไม่อาจทำลายล้างศรัทธาของตนลงเพียงเพื่อรักษาชีวิต หรือเพื่อความสงบสุขของลูกเมีย เพราะการทำแบบนั้นหมายถึงการทรยศต่อตัวเอง ซึ่งฟานีก็ดูเหมือนจะเข้าอกเข้าใจสามีในท้ายที่สุด และพร้อมยืนกรานที่จะอยู่เคียงข้างไม่ว่าเขาจะตัดสินใจอย่างไร

ในปี 2009 จดหมายที่ฟรานซ์เขียนในเรือนจำได้รับการตีพิมพ์ (มาลิกนำบางส่วนมาใช้ในหนังด้วย) และสองปีก่อนหน้านั้นโบสถ์คาทอลิกได้ประกาศให้เขาเป็นนักบุญราศีในเมืองลินซ์ ประเทศออสเตรีย การดำรงอยู่ของ A Hidden Life พิสูจน์ให้เห็นว่าเรื่องราวของฟรานซ์หาได้เปล่าประโยชน์ หรือสิ้นค่าความหมาย และเมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ปัจจุบันในหลายๆ ประเทศ เรื่องราวของฟรานซ์จะยังคงสร้างอารมณ์ร่วมได้อย่างไม่เสื่อมคลาย ตราบใดที่โลกยังเต็มไปด้วยความบ้าคลั่งและอยุติธรรม

ไม่มีความคิดเห็น: