วันเสาร์, ธันวาคม 10, 2559

Julieta: ชะตากรรมซ้ำรอย


อดีตหาใช่แค่ชุดเหตุการณ์ที่ผ่านพ้นล่วงเลย ดังนั้นจึงปราศจากความสำคัญไปโดยปริยาย เพราะหลายครั้งอดีตยังส่งผลกระทบมาถึงปัจจุบัน มีส่วนในการปั้นแต่งรูปทรง หรือขัดเกลาความเป็นไปในปัจจุบัน และอาจส่งอิทธิพลต่อความเปลี่ยนแปลง (หรือไม่เปลี่ยนแปลง) ในอนาคตอีกด้วย นั่นคือเหตุผลที่เราจำเป็นต้องศึกษาประวัติศาสตร์ ขุดลึกลงไปยากรากเหง้าเพื่อทำความเข้าใจ แทนการยักไหล่แล้วแก้ต่างข้างๆ คูๆ ว่า “เรื่องมันนานมาแล้ว จะฟื้นฝอยหาตะเข็บไปเพื่ออะไรโดยเฉพาะอย่างยิ่งอดีตที่เต็มไปด้วยนัย “คลุมเครือปราศจากบทสรุปอันแน่ชัดในทางใดทางหนึ่ง เพราะมันมีศักยภาพในการทำลายล้าง แล้วทิ้งสารพิษตกค้างได้หลายสิบปีไม่แตกต่างจากระเบิดปรมาณู

ดังจะเห็นได้จากชีวิตผกผันของ ฮูเลียตา (เอ็มมา เซาเรส) สาวใหญ่ที่ตัดสินใจจะเดินทางไปเริ่มต้นชีวิตใหม่กับชายคนรัก ลอเรนโซ (ดาริโอ แกรนดีเนตตี) ที่โปรตุเกสเมื่อหนังเปิดเรื่องขึ้นมา แต่แล้ววันหนึ่งหลังเก็บข้าวของเสร็จสรรพเตรียมขนย้าย ฮูเลียตาดันบังเอิญเดินสวนกับ “ความทรงจำตกค้างจากอดีตบนถนน เหตุการณ์ดังกล่าวได้กวนตะกอนแห่งความเจ็บปวดให้แผ่กระจาย จนส่งผลให้เธอเปลี่ยนใจกะทันหันและยืนกรานที่จะอยู่ในมาดริดต่อไป การยกเลิกแผนแบบสายฟ้าสร้างความตะลึงงันให้กับลอเรนโซผู้ถูกปล่อยทิ้งกลางทาง จากนั้นฮูเลียตาก็ย้ายกลับไปยังตึกอพาร์ตเมนต์เดิม ซึ่งอบอวลไปด้วยตัวตนแห่งอดีตและความลับที่ถูกเก็บงำไว้

แรกเริ่มเดิมที เปโดร อัลโมโดวาร์ ตั้งใจจะทำ Julieta เป็นหนังภาษาอังกฤษเรื่องแรกโดยมี เมอรีล สตรีพ นำแสดงเป็นตัวละครเอกทั้งในวัย 20, 40 และ 60 ปี นั่นไม่ใช่เรื่องน่าแปลกเนื่องจาก Julieta ได้เค้าโครงจากเรื่องสั้นสามเรื่อง ได้แก่ Chance, Soon และ Silence ของนักเขียนรางวัลโนเบลชาวแคนาเดียน แอลิซ มันโร โดยทั้งหมดมีตัวละครเอกเดียวกันชื่อว่า จูเลียต เฮนเดอร์สัน และถูกตีพิมพ์ในหนังสือรวมเรื่องสั้นชื่อ Runaway ซึ่งออกวางขายครั้งแรกในปี 2004 อัลโมโดวาร์ซื้อลิขสิทธิ์สำหรับนำมาดัดแปลงสร้างภาพยนตร์ตั้งแต่ปี 2009 และตั้งใจว่าจะถ่ายทำในเมืองแวนคูเวอร์ ซึ่งเป็นฉากหลังของเรื่องสั้น นอกจากนี้เขายังเดินทางไปสำรวจโลเกชันหลายแห่งที่นิวยอร์กอีกด้วย แต่ในที่สุดอัลโมโดวาร์กลับเปลี่ยนใจยัดเก็บโครงการเข้าลิ้นชัก เพราะเขาไม่อยากถ่ายหนังในเมืองทั้งสองและรู้สึกไม่ค่อยถนัดที่จะเขียนบทเป็นภาษาอังกฤษ หลายปีต่อมาหนึ่งในทีมงานเสนอให้เขานำบทมาปัดฝุ่นใหม่ แล้วเปลี่ยนฉากหลังเป็นสเปน

หนังจับเรื่องสั้นมาเรียงลำดับโดยเริ่มต้นจาก Chance ซึ่งเล่าถึงการพบกันโดยบังเอิญบนรถไฟของฮูเลียตากับซวอน (เดเนียล กราโอ) ตามด้วย Soon ซึ่งโฟกัสไปยังพ่อแม่ของฮูเลียตาที่บ้านไร่ ก่อนจะปิดท้ายด้วย Silence ซึ่งอธิบายถึงความสัมพันธ์อันแตกร้าวของฮูเลียตากับลูกสาว แอนเทีย (พริสซิลลา เดลกาโด) หลังซวอนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเรือล่ม โดยเรื่องสุดท้ายเปรียบดังกระดูกสันหลังของหนัง ทั้งในเชิงโครงสร้างและในเชิงเนื้อหา จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมอัลโมโดวาร์ถึงเลือกตั้งชื่อหนังในตอนแรกว่า Silencio ก่อนจะเปลี่ยนเป็น Julieta ในเวลาต่อมาเพื่อไม่ให้สับสนกับหนังของ มาร์ติน สกอร์เซซี เรื่อง Silence ที่มีกำหนดจะเข้าฉายในปี 2016

เช่นเดียวกับเอกลักษณ์อันโดดเด่นในเรื่องสั้นส่วนใหญ่ของ แอลิซ มันโร หนังของอัลโมโดวาร์กระโดดข้ามช่วงเวลาไปมาระหว่างอดีตกับปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะยึดติดกับแนวทางการเล่าเรื่องแบบคลาสสิกมากกว่าด้วยการช่วยย่อยให้คนดูแบ่งแยกได้อย่างชัดเจน (แตกต่างจากมันโรซึ่งบางครั้งก็หลอมละลายสองส่วนเข้าด้วยกันจนแยกไม่ออก) ผ่านเครื่องทุ่นแรงต่างๆ เช่น การให้ฮูเลียตานั่งเขียนจดหมายอธิบายความเป็นมาในอดีตของเธอ โดยมีเสียงวอยซ์โอเวอร์คอยช่วยนำทางเรื่องราวไม่ให้สับสน หรือการเลือกใช้นักแสดง 2 คนมารับบทตัวละครเดียวกันในแต่ละช่วงวัย โดย เอเดรียนา อูกัวเต จะรับบทเป็นฮูเลียตาในวัยสาว (อัลโมโดวาร์ให้สัมภาษณ์ว่า ผมไม่เชื่อใจเทคนิคการเมคอัพคนแก่ มันแทบจะเป็นไปไม่ได้สำหรับเด็กสาวอายุ 25 ที่จะถ่ายทอดพลังของคนซึ่งผ่านโลกมา 50 ปี มันไม่ใช่แค่เรื่องตีนกาเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงสิ่งอื่นที่ยิ่งใหญ่กว่าอย่างการเปลี่ยนผ่านของเวลา ทั้งภายในและภายนอกร่างกาย”) ขณะที่เซาเรสรับบทเป็นฮูเลียตาในวัยกลางคน

อัลโมโดวาร์ออกแบบฉากการบรรจบกันของสองนักแสดงสาวในบทฮูเลียตาได้อย่างเรียบง่าย แต่งดงาม (ซึ่งกลายมาเป็นภาพที่ปรากฏบนโปสเตอร์หนัง) ฉากดังกล่าวเป็นตอนที่ฮูเลียตา (อูกัวเต) ยังคงซึมเศร้าจากการสูญเสียสามีไปอย่างฉับพลันและความรู้สึกผิดว่าตนเป็นเหตุให้เขาออกไปหาปลาในวันที่คลื่นลมแรง เธอหมดอาลัยตายอยาก ไม่เป็นอันกินอันนอนจนต้องพึ่งพาลูกสาวในการประคับประคองชีวิตประจำวันให้พ้นผ่าน หนึ่งในนั้นคือช่วยพยุงเธอขึ้นจากอ่างอาบน้ำ แล้วเช็ดผมให้แห้ง แต่เมื่อผ้าขนหนูถูกเปิดขึ้น ใบหน้าของฮูเลียตา (เซาเรส) ได้เปลี่ยนไปตามอายุที่เพิ่มขึ้น แต่ยังคงสะท้อนความเจ็บปวด สิ้นหวังไม่เสื่อมคลาย ความตั้งใจของอัลโมโดวาร์ไม่ใช่เพียงเพื่อบอกกาลเวลาอันผันผ่าน หรือเชื่อมโยงเรื่องราวสองส่วนให้แนบสนิทเท่านั้น แต่ยังเพื่อสะท้อนให้เห็นอิทธิพลแห่งอดีต ซึ่งยังคงก้าวข้ามผ่านเวลามาเป็นน้ำหนักที่ต้องแบกรับในปัจจุบัน ไม่ต่างจากความรู้สึกผิดของฮูเลียตาต่ออัตวินิบาตกรรมบนรถไฟ

ในแง่หนึ่งเธอได้ค้นพบรักแท้จากเศษซากแห่งความซึมเศร้าและความตาย (เธอเดินหนีชายแปลกหน้ามาพบกับซวอนที่ตู้เสบียง) บางทีมันอาจเป็นทุกขลาภ ส่งผลให้เธอต้องเผชิญกับความสูญเสีย ความสิ้นหวังไม่แตกต่างจากชายแปลกหน้าที่เธอตัดสินใจเดินหนี แม้หนังจะไม่ได้อธิบายเหตุผลแน่ชัดว่าทำไมเขาจึงตัดสินใจฆ่าตัวตายก็ตาม แต่เราสามารถทึกทักได้ว่าเขาคงตกอยู่ในสภาพหมดอาลัยตายอยากไม่แพ้ฮูเลียตาหลังซวอนจากไป

การยั่วล้อ เดินย่ำซ้ำรอยของเหตุการณ์ปรากฏให้เห็นอยู่ตลอดทั้งเรื่อง ฮูเลียตาไม่ค่อยเห็นชอบในความสัมพันธ์ฉันท์ชู้สาวระหว่างพ่อเธอกับหญิงสาวที่เขาจ้างมาช่วยดูแลภรรยาป่วยไข้และเรือกสวนไร่นา แต่เธอเองก็เคยได้เสียกับซวอนทั้งๆ ที่รู้ว่าเขามีภรรยา (ซึ่งกำลังป่วยหนักเช่นกัน) อยู่แล้ว ต่อมาหลังเธออยู่กินกับซวอน มีลูกสาวด้วยกันหนึ่งคน เขาก็แอบมีเซ็กซ์กับอาวา (อินมา คูเอสตา) เพื่อนหญิงที่สนิทกันระหว่างฮูเลียตาพาลูกสาวเดินทางไปเยี่ยมพ่อแม่ พ่อของฮูเลียตาเป็นครูที่เกษียณตัวเองไปใช้ชีวิตในชนบท แล้วค้นพบความสุขในบั้นปลายกับหญิงสาวคราวลูก ส่วนฮูเลียตาเองก็เลือกจะทิ้งอาชีพครูที่เธอรักเพื่อใช้ชีวิตอยู่กับสามีชาวประมงในบ้านริมทะเล แอนเทียทอดทิ้งแม่โดยไม่บอกกล่าวเป็นเวลาหลายปี จนกระทั่งลูกชายคนโตของเธอวัย 9 ขวบ ซวอน (ตั้งชื่อตามพ่อผู้เป็นที่รัก) เกิดจมน้ำตายเช่นเดียวกับบุคคลที่เขาถูกตั้งชื่อตาม ความเศร้าโศกเสียใจทำให้แอนเทียเริ่มเข้าใจความรู้สึกของฮูเลียตา และตัดสินใจเขียนจดหมายหามาเธอในท้ายที่สุด

การซ้อนทับของชะตากรรมทำให้หนังได้อารมณ์คล้ายคลึงโศกนาฏกรรมกรีกซึ่งเป็นหัวข้อที่ฮูเลียตาเชี่ยวชาญ ในช่วงต้นเรื่องคนดูจะเห็นเธอสอนนักเรียนเรื่องโอดิซูสกับคาลิปโซ เทพธิดาแห่งท้องทะเล ซึ่งยื่นข้อเสนอเป็นชีวิตอมตะให้แก่เขา แต่วีรบุรุษหนุ่มกลับปฏิเสธ แล้วมุ่งหน้าสู่เส้นทางแห่งอนาคตที่ไม่อาจล่วงรู้ มันพิสูจน์ให้เห็นความมุ่งมั่นของมนุษย์ ไม่เกรงกลัวที่จะเผชิญหน้ากับความไม่แน่นอน เฉกเช่นการตัดสินใจเดินทางไปหาซวอนของฮูเลียตาหลังได้รับจดหมาย ซึ่งเล่าถึงอาการป่วยของภรรยาเขาและชีวิตประจำวัน แต่ก็แฝงคำเชื้อเชิญอยู่กลายๆ กระนั้นในเวลาเดียวกันมนุษย์ก็เต็มไปด้วยความอ่อนแอไม่ต่างจากตำนานที่ฮูเลียตาเล่าให้อานาฟังว่าเหล่าเทพเจ้าสร้างสิ่งมีชีวิตจากดินโคลนและเปลวไฟ มอบคุณสมบัติต่างๆ ให้สัตว์เพื่อจะได้อยู่รอด เช่น ขนและปีก แต่พอถึงคิวมนุษย์ เหล่าทวยเทพกลับไม่เหลือของขวัญใดจะมอบให้อีก ทำให้มนุษย์เราเปลือยเปล่า เปราะบาง ชะตากรรมที่เกิดแก่ฮูเลียตาในเวลาต่อมาสะท้อนคำกล่าวนี้ได้อย่างชัดเจน

ตรงข้ามกับ Odyssey ของ โฮเมอร์ Julieta เปรียบดังการผจญภัยจาก ภายใน ของสิ่งมีชีวิตเพศแม่ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในแนวทางถนัดของอัลโมโดวาร์หลังความโด่งดังของหนังผู้หญิงอย่าง All About My Mother และ Volver แต่เมโลดรามาของเขาแตกต่างจากหนังฮอลลีวู้ดส่วนใหญ่ตรงที่อัลโมโดวาร์ไม่ได้มุ่งเน้นการบีบน้ำตาคนดูมากเท่าการสะท้อนความเจ็บปวดในเบื้องลึกของตัวละคร ขณะเดียวกันเขายังผสมกลิ่นอายจางๆ ของความลึกลับ ชวนพิศวงในสไตล์ฮิทช์ค็อก ซึ่งเคยโดดเด่นในหนังอย่าง Bad Education และ The Skin I Live In เข้าไปด้วย ผ่านโครงสร้างการเล่าเรื่องที่เก็บงำปมปริศนา แล้วคลี่คลายไปทีละเปลาะ เริ่มจากเหตุผลที่ฮูเลียตาตัดสินใจยกเลิกทริปโปรตุเกสแบบกะทันหัน ไปจนถึงเหตุผลที่แอนเทียหายตัวไปอย่างลึกลับ นอกจากนี้ ดนตรีประกอบของ อัลเบอร์โต อีเกลเซียส ยังได้รับอิทธิพลจาก เบอร์นาร์ด เฮอร์มานน์ มือแต่งเพลงขาประจำของฮิทช์ค็อกมาไม่น้อย รวมถึงตัวละครอย่าง มาเรียน (รอสซี เดอ พัลมา) แม่บ้านผู้รู้เห็นทุกอย่างและพร้อมจะใช้ความลับทำลายความสุขของนายหญิงคนใหม่ ซึ่งมีส่วนคล้ายมิสซิสแดนเวอร์สใน Rebecca และการใช้รถไฟเป็นฉากหลังการพบปะที่ชะตาลิขิตก็ชวนให้นึกถึงหนังอย่าง Strangers on a Train

เสน่ห์ข้างต้น นอกเหนือจากการใช้สีสันฉูดฉาดอันเป็นเอกลักษณ์ของอัลโมโดวาร์ ช่วยเพิ่มอรรถรส ตลอดจนดึงดูดผู้ชมให้เกาะติดเรื่องราวได้อย่างตลอดรอดฝั่ง แม้ว่าโดยตัวเนื้อหาจะไม่ได้แปลกใหม่ ท้าทาย หรือรสชาติจัดจ้านเหมือนผลงานเด่นเรื่องอื่นๆ ของอัลโมโดวาร์ในอดีต

อาจพูดได้ว่าต้นเหตุแห่งความทุกข์ทรมานทั้งหลายใน Julieta ล้วนเกิดจากการเก็บงำความลับ หรือการเลือกที่จะหุบปากเงียบแทนการพูดคุยอย่างตรงไปตรงมา ซวอนไม่เคยบอกกล่าวถึงแก่นความสัมพันธ์แท้จริงระหว่างเขากับอาวาจนกระทั่งมันระเบิดใส่หน้าเขาในวันชี้เป็นชี้ตาย ฮูเลียตาไม่เคยเปิดเผยเรื่องราวซึ่งอาจมีส่วนกระตุ้นให้ซวอนออกเรือในวันนั้นให้ลูกสาวฟัง จนเธอเกือบจะต้องสูญเสียแอนเทียไปตลอดกาล แอนเทียไม่เคยต่อว่าแม่หลังจากรู้ความจริงจากปากของมาเรียน เธอเลือกเก็บงำข้อมูลไว้ภายใน แล้วปล่อยให้ความคลั่งแค้นและความรู้สึกผิด (ถ้าเธอไม่ไปเข้าค่ายและมีความสุขกับเพื่อนใหม่ พ่อก็อาจไม่ออกไปแล่นเรือในวันนั้น) กลืนกิน สุดท้ายแม่กับลูกสาวจึงกลายเป็นเหมือนคนแปลกหน้า ฮูเลียตาจมดิ่งอยู่กับทุกข์ส่วนตัวจนไม่ได้สังเกตด้วยซ้ำว่าเพื่อนใหม่ของแอนเทียนั้นเป็นมากกว่าเพื่อน ความเงียบได้ทำลายความสัมพันธ์ทั้งในอดีตและปัจจุบัน (ฮูเลียตากับแอนเทีย/ ฮูเลียตากับลอเรนโซ/ ฮูเลียตากับซวอน)

แรกทีเดียวฮูเลียตาพยายามจะกล้ำกลืนความเจ็บปวดด้วยการลบสิ่งรูปธรรมทุกอย่างเกี่ยวกับแอนเทีย เธอย้ายที่อยู่ ทิ้งข้าวของทุกอย่างเพื่อหวังจะเริ่มต้นชีวิตใหม่ แต่สิ่งที่เธอไม่อาจลบทิ้งได้คือความทรงจำ ซึ่งพร้อมจะทะลักหลั่งไหลกลับมาอีกครั้งหากถูกสะกิด เช่น การพบเจออดีต เพื่อนสนิท ของแอนเทีย ซึ่งแจ้งให้ทราบว่าแอนเทียแต่งงานมีลูกแล้ว และแน่นอนยังอยู่ในประเทศสเปน ฮูเลียตาเปรียบเหตุการณ์ดังกล่าวว่าเหมือนขี้ยาที่หวนกลับมาเสพยาอีกครั้งหลังบอกเลิกไปนาน ผลลัพธ์ที่ตามมาจึงเข้าขั้นวิกฤติ

แต่อย่างน้อยเธอก็เรียนรู้จากความผิดพลาดและพยายามแก้ไขด้วยการเขียนบันทึกเรื่องราวทั้งหมด รวมทั้งความรู้สึกผิดต่างๆ ภายใน แม้จะไม่เหลือความหวังอีกแล้วว่าแอนเทียจะได้อ่านมัน การทบทวนและยอมรับความเจ็บปวดที่ผ่านมาเข้ามาในชีวิตถือเป็นจุดเริ่มต้นของขั้นตอนบรรเทาบาดแผลจากอดีตอย่างยั่งยืน มันเป็นทางเดียวที่จะช่วยให้คุณมีโอกาสค้นพบความสงบทางจิตใจ พร้อมกับก้าวต่อไปได้โดยปราศจากสิ่งฉุดรั้ง 

ไม่มีความคิดเห็น: