วันเสาร์, ธันวาคม 24, 2559

Oscar 2017: Revenge of the Black


ขณะกระแส #oscarsowhite กำลังทะยานสู่ความบ้าคลั่งสูงสุด ในเทศกาลหนังซันแดนซ์ช่วงปลายเดือนมกราคม The Birth of a Nation ซึ่งเล่าเรื่องราวชีวิตของ แนท เทอร์เนอร์ ทาสผิวดำที่ลุกขึ้นก่อหวอดการประท้วงในรัฐเวอร์จิเนียเมื่อปี 1831 (เป็นความตั้งใจของผู้กำกับ เนท พาร์คเกอร์ ที่จะตั้งชื่อซ้ำกับหนัง โฆษณาชวนเชื่อคูคลักซ์แคลน ของ ดี. ดับเบิลยู. กริฟฟิธ) ก็สร้างกระแสฮือฮา เมื่อ ฟ็อกซ์ เซิร์ชไลท์ ซื้อสิทธิ์จัดจำหน่ายทั่วโลกไปในราคา 17.5 ล้านเหรียญ (หนังลงทุน 8.5 ล้านเหรียญ) กลายเป็นการซื้อขายลิขสิทธิ์ที่แพงที่สุดในประวัติศาสตร์ซันแดนซ์ หลังจากนั้นหนังก็เดินหน้าคว้ารางวัลขวัญใจผู้ชมและรางวัลหนังยอดเยี่ยมไปครอง ส่งผลให้มันจุดกระแส ออสการ์ได้ล่วงหน้าเกือบหนึ่งปี แต่แล้วในเดือนสิงหาคม 2016 เมื่อเทศกาลออสการ์เริ่มเดินเครื่อง หายนะก็พลันบังเกิด

เนท พาร์คเกอร์ กับเพื่อนผู้ร่วมเขียนบท จอน แม็กจีอันนี เซเลสติน ถูกขุดว่าระหว่างเรียนอยู่มหาวิทยาลัย ทั้งสองเคยโดนตั้งข้อหาว่าล่วงละเมิดทางเพศเพื่อนนักศึกษาสาว โดยคนแรกหลุดพ้นข้อหาในปี 2001 แต่คนหลังถูกศาลตัดสินว่าผิดจริง ก่อนจะขออุทธรณ์และหลุดพ้นข้อหาในปี 2005 เนื่องจากเหยื่อไม่ปรารถนาจะขึ้นให้การอีกครั้ง เหยื่อให้การด้วยว่าทั้งพาร์คเกอร์และเซเลสตินข่มขู่และกลั่นแกล้งเธอสารพัด หนึ่งในนั้นคือจ้างนักสืบเอกชนให้ขุดคุ้ยเรื่องของเธอมาประจาน ในปี 2012 เหยื่อได้ฆ่าตัวตาย (ข้อเท็จจริงที่เนทเพิ่งทราบ) โดยในมรณะบัตรระบุว่าเธอเป็นโรคเครียดจากเหตุการณ์ร้ายแรงอันเป็นจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ

การขุดอดีตส่วนตัวที่อื้อฉาวมาดิสเครดิตผลงานในทำนองนี้เคยเกิดขึ้นกับ โรมัน โปลันสกี้ และ วู้ดดี้ อัลเลน แต่นั่นดูจะไม่ส่งกระทบต่อโอกาสในการคว้ารางวัลออสการ์ของพวกเขา (The Pianist และ Midnight in Paris) แต่พาร์คเกอร์เพิ่งกำกับหนังเป็นเรื่องแรก ไม่ได้มีเครดิตสวยหรูยาวเหยียด เป็นที่ยอมรับของคนในวงการก่อนจะเกิดเรื่องเหมือนอัลเลนกับโปลันสกี้ แม้เขาจะไม่ถูกตัดสินว่าผิดเช่นเดียวกับอัลเลน แต่การที่เพื่อนซี้เขาถูกตัดสินว่าผิดจริง (ตามท้องเรื่องเข้าใจกันว่าพาร์คเกอร์กำลังมีเพศสัมพันธ์แบบสมยอมกับเหยื่อ ก่อนจะกวักมือชักชวนเพื่อนซี้มาร่วมวงโดยที่หญิงสาวไม่ได้ยินยอมเห็นชอบด้วย) ย่อมทำให้เขาไม่ได้บริสุทธิ์ผุดผ่อง หรือเข้าทำนอง ราโชมอนแบบกรณีอัลเลนเสียทีเดียว ขณะเดียวกันการที่เหยื่อของเขาลงเอยด้วยการฆ่าตาย ไม่ได้ก้าวพ้นปมวิกฤติและใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขแบบเดียวกับเหยื่อของโปลันสกี้ ก็ยิ่งเพิ่มระดับความเข้มข้นให้กระแสดราม่าจุดคบเพลิง จับจอมข่มขืนไปตรึงกางเกง

นั่นเป็นเหตุผลหลักที่ดับกระแส The Birth of a Nation และอาจมีส่วนนำไปสู่การตอกตะปูปิดฝาโลงในเวลาต่อมา นั่นคือ หนังล้มคว่ำแบบไม่เป็นท่าบนตาราง บ็อกซ์ ออฟฟิศ โดยทำเงินไปแค่ 15 ล้านเหรียญ สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะหนังชีวิตเชิงประวัติศาสตร์เป็นเรื่องขายยากอยู่แล้ว แต่อีกสาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะคนดูจำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะผู้หญิงเลือกจะบอยคอตหนังและ/หรือไม่ช่วยผลักดันหนัง (หนึ่งในนั้น คือ แกเบรียล ยูเนียน ดารานำคนหนึ่งของหนัง) เพราะข่าวอื้อฉาว ส่วนพาร์คเกอร์เองก็ต้องจำกัดการเดินสายโปรโมตเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับประเด็นนี้

หนังเกี่ยวกับคนดำอาจถูกยิงตกไปหนึ่งเรื่อง แต่ช่วงปลายปีกลับมีหนังคนดำผุดมาแทนที่อีกหลายเรื่อง นำทีมโดย Moonlight หนังแนว coming-of-age ขวัญใจนักวิจารณ์เกี่ยวกับเด็กชายผิวดำจากครอบครัวยากไร้ เล่าผ่านสามช่วงอายุจากเด็กสู่ชายหนุ่มในลักษณะใกล้เคียงกับ Boyhood แต่ใช้นักแสดงสามคนแทนสามช่วงเวลา ตามมาด้วย Fences ผลงานกำกับชิ้นที่สามของ เดนเซล วอชิงตัน (Antwone Fisher, The Great Debaters) ซึ่งรับประกันการเข้าชิงของเขากับ วีโอลา เดวิส ในสาขาการแสดงได้อย่างแน่นอน ส่วนในสาขาหนังและผู้กำกับอาจต้องรอดูเสียงตอบรับวงกว้างหลังหนังเข้าฉายในโรงแล้ว เพราะตอนนี้นักวิจารณ์ส่วนหนึ่งที่ได้ดูเหมือนจะเสียงแตกเป็นสองฝ่าย แต่โอนเอียงไปทางชื่นชม และปิดท้ายด้วยหนังรวมพลังหญิงผิวดำเรื่อง Hidden Figures เกี่ยวกับนักฟิสิกส์ นักวิทยาศาสตร์อวกาศ และนักคณิตศาสตร์ที่อยู่เบื้องหลังภารกิจส่งยานอพอลโล 11 ไปยังดวงจันทร์ ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะกลายเป็นหนังขวัญใจมวลชนในระดับเดียวกับ The Help ได้ไม่ยาก โดยหนึ่งในดารานำ คือ ออกเทเวีย สเปนเซอร์ ที่เคยคว้าออสการ์สมทบหญิงมาแล้วจาก The Help

นี่ยังไม่นับหนังที่เล่นประเด็นความสัมพันธ์ต่างสีผิวอย่าง Loving ซึ่งมีโอกาสจะโผล่มาเข้าชิงในสาขาสำคัญๆ หลายรางวัลอีกด้วย เช่นเดียวกับหนังที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับประเทศแถบเอเชียอย่าง ญี่ปุ่น (Silence) และ อินเดีย (Lion) นั่นพิสูจน์ให้เห็นพัฒนาการความหลากหลายจากปีก่อนได้อย่างชัดเจน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น คงต้องมาดูกันอีกทีว่าสุดท้ายแล้วออสการ์จะเดินตามเส้นทางที่ทุกคนคาดคิดมากน้อยแค่ไหน หรือผลลัพธ์จะสุดเซอร์ไพรส์ในลักษณะเดียวกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐเมื่อสองเดือนที่ผ่านมา

หนัง

ตอนนี้ตัวเก็งที่ร้อนแรงสุดคงหนีไม่พ้น La La Land หนังเพลงเชิดชูฮอลลีวู้ด ซึ่งเข้าทางออสการ์ในทุกๆ ด้าน จนตอนนี้ทุกคนพากันมองข้ามช็อตไปแล้วว่ามันจะทำสถิติเป็นหนังเพลงเรื่องแรกนับจาก Chicago ในการคว้ารางวัลสูงสุดมาครองได้สำเร็จหรือไม่ และบางทีการหลบหนีจากโลกแห่งความจริงอันโหดร้ายไปสู่โลกแห่งมนตร์เสน่ห์ของภาพยนตร์อาจเป็นสิ่งที่ผู้คนต้องการมากสุดในเวลานี้ หลังจากอเมริกาได้ โดนัลด์ ทรัมป์ มาเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ ในช่วงโค้งแรกของการแข่งขัน ผลงานกำกับชิ้นล่าสุดของ เดเมียน ชาเซล ทำท่าจะเป็นขวัญใจนักวิจารณ์ หลังจากเริ่มต้นกวาดรางวัลสูงสุดไปแล้ว 3 จาก 5 สถาบันที่ประกาศผล คู่แข่งสำคัญในตอนนี้ดูเหมือนจะเป็น Moonlight กับ Manchester by the Sea แต่อย่างที่ทราบกันดีเราไม่อาจใช้รางวัลนักวิจารณ์เป็นมาตรวัดได้เสมอไป สังเกตจากกรณีของ The Social Network vs. The King’s Speech และ Birdman vs. Boyhood ปัจจัยที่อาจช่วยหนุนนำให้กระแส La La Land ยิ่งฉุดไม่อยู่ คือ ถ้าหนังสามารถทำเงินได้น่าพอใจบนตาราง บ็อกซ์ ออฟฟิศ

พูดถึงเรื่องการทำเงิน ปีนี้น่าจะเป็นอีกปีที่ฮอลลีวู้ดกับออสการ์หมางเมินกัน ในบรรดาหนังทำเงินสูงสุด 20 อันดับแรกที่อเมริกา มีหนังแค่สองเรื่องเท่านั้นที่มีโอกาสถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลสูงสุด ณ เวลานี้ นั่นคือ The Jungle Book (อันดับ 4) และ Sully (อันดับ 18) ส่วนที่เริ่มเปิดฉายวงกว้างแล้วและทำเงินได้น่าพอใจ คือ Arrival ขณะเดียวกันก็คาดว่าหนังฟีลกู๊ดอย่าง Lion น่าจะเป็นที่ยอมรับในตลาดวงกว้างไม่น้อย ส่วน Passengers ก็คงทำเงินเกิน 100 ล้านได้ไม่ยากพิจารณาจากหน้าหนังและพลังดารา แต่ยังไม่แน่ว่าคุณภาพของมันจะเป็นที่ยอมรับบนเวทีออสการ์หรือไม่ แม้ผู้กำกับ มอร์เทน ทิลดัม (The Imitation Game) จะช่วยเพิ่มเครดิตความเป็นหนังรางวัลได้พอสมควร หากหนังได้คำชมน่าพอใจและทำเงินถล่มทลาย มันอาจหลุดเข้าชิงในนาทีสุดท้ายเช่นเดียวกับ American Sniper เมื่อสองปีก่อน

Silence เพิ่งเปิดฉายให้นักวิจารณ์บางกลุ่มดู (NBR กับ NYFCC) และดูเหมือนจะได้คำวิจารณ์ค่อนข้างดี แม้จะไม่ดีมากถึงขนาดพลิกมาคว้ารางวัลสำคัญๆ (แต่ในเวลาเดียวกันอาจเป็นไปได้ว่ากรรมการทั้งหมดไม่ได้มาดูในรอบพิเศษที่จัดขึ้นทำให้เสียงโหวตหายไปส่วนหนึ่ง) เราคงต้องรอดูกันต่อไปว่า มาร์ติน สกอร์เซซี จะทำสำเร็จแบบเดียวกับ The Wolf of Wall Street เมื่อสามปีก่อนหรือไม่
               
ล็อก: La La Land, Manchester by the Sea, Moonlight
โอกาสสูง: Fences, Arrival, Sully, Jackie, Lion, Silence
ตัวสอดแทรก: Hell or High Water, Hidden Figures, Loving

ผู้กำกับ

ออสการ์มีแนวโน้มเฉลิมฉลองผู้กำกับที่โดดเด่นในแง่ สไตล์เน้นการโชว์ออฟ หรือมีมุมมองด้านภาพอันโดดเด่น เป็นเอกลักษณ์มากกว่าผู้กำกับที่นิยมปล่อยให้เนื้อเรื่อง ประเด็น หรือตัวละครฉายแสง แล้วเลี้ยงองค์ประกอบด้านอื่นให้คอยรับใช้แค่ในฐานะผู้ปิดทองหลังพระ ดังจะเห็นได้จากชัยชนะของ อเลฮานโดร อินาร์ริตู (Birdman, The Revenant) เหนือ ทอม แม็คคาร์ธีย์ (Spotlight) และ ริชาร์ด ลิงค์เลเตอร์ (Boyhood) เมื่อมองในแง่นี้จะพบว่า เดเมียน ชาเซล ถือแต้มต่อเหนือ เคทเน็ธ โลเนอร์แกน อยู่ไม่น้อย และการที่คนหลังหลุดโผ Independent Spirit Awards ไปอย่างน่าพิศวง ยิ่งพิสูจน์ให้เห็นว่าเขาเป็นตัวเลือกที่ค่อนข้างบอบบางต่อการหลุดจากโผออสการ์ (และสุดท้ายคงลงเอยด้วยการคว้ารางวัลบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยมไปครองเป็นรางวัลปลอบใจ) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเขาต้องต่อกรกับผู้กำกับที่หวือหวาในแง่สไตล์และการสร้างบรรยากาศยิ่งกว่าอย่าง เดนิส วิลเนิฟ ผู้กำกับหน้าใหม่อย่าง แบร์รี เจนกินส์ และขาประจำอย่าง มาร์ติน สกอร์เซซี ถ้า Silence ได้เสียงชื่นชมอย่างอบอุ่นจากกรรมการ ซึ่งคงต้องรอดูกันต่อไป

ความป็อปปูล่าในหมู่กรรมการสายนักแสดงของ เดนเซล วอชิงตัน นั้นปราศจากข้อกังขา แต่สำหรับสายผู้กำกับ ซึ่งค่อนข้างจุกจิกและให้ความสำคัญกับเครดิต หรือการยอมรับในวงกว้าง (พวกเขาเลือกจะเสนอชื่อผู้กำกับอย่าง เดวิด ลินช์ และ เปโดร อัลโมโดวาร์ ให้เข้าชิง ขณะที่หนังของพวกเขาชวดการเข้าชิงในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม) วอชิงตันถือว่ายังเป็นแค่ตัวสอดแทรก ถึงแม้จากกระแสในช่วงแรก Fences จะกวาดคำชมไปครองมากพอสมควร เพราะในขณะเดียวกันตัวหนังค่อนข้าง ซื่อตรงต่อบทละครอย่างมากและไม่ได้พยายามจะดัดแปลงให้เป็น ภาพยนตร์อย่างเด่นชัด ซึ่งแน่นอนอาจถูกตั้งข้อหาว่าขาดจินตนาการ หรือแบนราบในแง่สไตล์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้กำกับที่ให้ความสำคัญกับบทภาพยนตร์ รายละเอียดในการแสดง หรือบทสนทนาอันเป็นธรรมชาติ แต่ลึกซึ้ง อย่าง ริชาร์ด ลิงค์เลเตอร์ และ เคนเน็ธ โลเนอร์แกน มักถูกกล่าวหามาโดยตลอดไม่มากก็น้อย

กรรมการในสายผู้กำกับไม่เคยหวาดกลัวที่จะเสนอชื่อ หรือกระทั่งมอบรางวัลให้กับชาวต่างชาติ (ในช่วง 11 ปีหลังสุด สาขานี้ตกเป็นของคนจีน 2 ครั้ง คนเม็กซิกัน 3 ครั้ง คนอังกฤษ 2 ครั้ง คนฝรั่งเศส 1 ครั้ง และคนอเมริกัน 3 ครั้ง) ฉะนั้น พาโบล ลาร์เรน ผู้กำกับชื่อดังชาวชิลีจึงถือเป็นตัวสอดแทรกที่อันตราย เขาเคยเข้าชิงออสการ์ในสาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมจาก No เมื่อปี 2012 และมีแววว่าน่าจะได้เข้าชิงอีกครั้งในปีนี้อีก เมื่อหนังเรื่อง Neruda ของเขาเป็นตัวแทนชิลีเข้าชิงออสการ์และคือหนึ่งในตัวเก็งสำคัญ นอกเหนือจาก Elle (ฝรั่งเศส), Toni Erdmann (เยอรมนี), Julieta (สเปน) และ The Salesman (อิหร่าน)

ล็อก: เดเมียน ชาเซล (La La Land), แบร์รี เจนกินส์ (Moonlight)
โอกาสสูง: เคนเน็ธ โลเนอร์แกน (Manchester by the Sea), มาร์ติน สกอร์เซซี (Silence)
ตัวสอดแทรก: เดนิส วิลเนิฟ (Arrival), พาโบล ลาร์เรน (Jackie), เดนเซล วอชิงตัน (Fences)

นักแสดงนำชาย

พ้นจาก เคซีย์ อัฟเฟล็ก กับ เดนเซล วอชิงตัน แล้ว อะไรก็สามารถเกิดขึ้นได้ในสาขานักแสดงนำชาย ดูเหมือนทุกคนจะมีจุดอ่อนที่อาจทำให้หลุดจากโผได้ตลอด เริ่มต้นจาก แอนดรูว์ การ์ฟิลด์ ซึ่งมีบทเด่นในหนังถึงสองเรื่องพร้อมกัน นั่นคือ Hacksaw Ridge กับ Silence และอาจตัดคะแนนกันเอง ตอนนี้บทจากเรื่องแรกดูจะมีภาษีกว่านิดหน่อย เนื่องจากเขาเป็นตัวเอกที่โดดเด่นชัดเจน ต่างจากในหนังของ มาร์ติน สกอร์เซซี ซึ่งเขาต้องแชร์ความเด่นกับ อดัม ไดรเวอร์ โดยถ้าจะเปรียบให้เห็นภาพชัดๆ ก็คงคล้ายกรณี ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ ที่ได้เข้าชิงจาก Blood Diamond แทนการเข้าชิงจาก The Departed เพราะในเรื่องแรกเขาไม่ต้องแบ่งเวลาบนจอกับ แมท เดมอน ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน (นอกเหนือไปจากข้อเท็จจริงที่ว่าบทของเขาใน Blood Diamond เข้าทางออสการ์มากกว่า) อย่างไรก็ตาม ตอนนี้กระแสของ Silence ยังไม่ชัดเจนนัก ฉะนั้นความเป็นไปได้ที่การ์ฟิลด์จะได้เข้าชิงจากหนังของ เมล กิ๊บสัน จึงชัดเจนกว่า แต่คำถามที่ทุกคนสนใจใคร่รู้ คือ ตอนนี้คนในฮอลลีวู้ดยินดีจะให้อภัย เมล กิ๊บสัน แล้วหรือยัง จากสารพัดคำพูดเหยียดเชื้อชาติ สีผิว และรสนิยมทางเพศ ที่เขาพ่นออกจากปากตลอดระยะเวลาหลายปี

มองจากความแรงของ La La Land ไรอัน กอสลิง น่าจะเป็นตัวเต็งในกลุ่มผู้เข้าชิง แต่จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ออสการ์ดูเหมือนจะหินกับดาราชายมากกว่าดาราหญิงในหนังเพลง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม สังเกตได้จากการที่ ริชาร์ด เกียร์ เป็นคนเดียวที่ไม่ได้เข้าชิงจาก Chicago หรือการที่ ยวน แม็คเกรเกอร์ ไม่ได้เข้าชิงนำชาย ขณะที่ นิโคล คิดแมน เข้าชิงนำหญิงจาก Moulin Rouge! (หรือบางทีอาจเป็นเพราะสาขานำชาย/สมทบชายมักเต็มไปด้วยการแข่งขันเข้มข้นกว่าสาขานำหญิง/สมทบหญิง) นี่ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องที่ว่าทักษะร้องเพลง เต้นแท็ปของกอสลิงนั้นไม่ได้อยู่ในลีกเดียวกัน จีน เคลลี ซึ่งก็ชวดการเข้าชิงจากบทระดับตำนานในหนังคลาสสิกอย่าง Singing in the Rain และ An American in Paris โชคดีของกอสลิง การแข่งขันในสาขานำชายปีนี้ค่อนข้างอ่อน และหนังเขาเป็นเต็งหนึ่งในการคว้ารางวัลสูงสุด ฉะนั้นเขาอาจได้กระแสหนังช่วยหอบขึ้นไปเข้าชิงด้วย

ความคล้ายคลึงกับของกอสลิงกับ โจเอล เอ็ดเกอร์ตัน คือ พวกเขาถูกพูดถึง หรือชื่นชมน้อยกว่าดารานำหญิง แต่ในกรณีของเอ็ดเกอร์ตัน เขาอาจต้องลุ้นให้กรรมการชอบ Loving มากพอที่จะดันเขาขึ้นไปเบียดตัวเก็งคนอื่นๆ ให้หลุดจากตำแหน่ง ซึ่งแน่นอนโอกาสก็ย่อมเป็นไปได้เสมอ ขณะที่ วีโก มอร์เทนเซน นั้นความหวังคงค่อนข้างริบหรี่ เพราะถึงแม้การแสดงของเขาจะกวาดเสียงชื่นชมอย่างเป็นเอกฉันท์ แต่ Captain Fantastic อาจลับแลเกินกว่าจะรวบรวมคะแนนได้มากพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเหล่ารางวัลนักวิจารณ์ไม่ช่วยผลักดันให้เขาก้าวขึ้นมาเป็นที่จับตาของกรรมการ ตอนนี้มีเพียงรางวัล Independent Spirit Awards เท่านั้นที่ยังไม่ลืมหนังซึ่งเข้าฉายไปตั้งแต่เดือนกรกฎาคม

ทอม แฮงค์ ถือเป็นหนึ่งในกรณีพิศวง ตามสถิติในอดีตเขาคือขวัญใจออสการ์จากการคว้านำชายมาครองสองปีซ้อน แต่ดูเหมือนช่วงหลังๆ งานแสดงที่น่าประทับใจของเขาในหนังซึ่งเป็นที่รักของกรรมการกลับถูกมองข้ามบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็น Bridge of Spies และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง Captain Phillips ซึ่งในช่วงแรกเขาเป็นตัวเก็งลำดับต้นๆ แต่กลับถูก คริสเตียน เบล (American Hustle) เบียดแซงช่วงโค้งสุดท้ายแบบหน้าตาเฉย ปีนี้เขากลับมาอีกครั้งกับ Sully ซึ่งได้คำชมไม่น้อย และตัวหนังเองก็กลายเป็นบล็อกบัสเตอร์เหนือความคาดหมาย แต่เขาไม่มีฉากโชว์การแสดงที่เด่นชัด แตกต่างจาก Captain Phillips ฉะนั้นคงต้องพูดว่าเขาเองก็มีความไม่แน่นอนพอๆ กับกอสลิง หรือการ์ฟิลด์

ล็อก: เคซีย์ อัฟเฟล็ก (Manchester by the Sea), เดนเซล วอชิงตัน (Fences)
โอกาสสูง: ทอม แฮงค์ (Sully), แอนดรูว์ การ์ฟิลด์ (Hacksaw Ridge), ไรอัน กอสลิง (La La Land)
ตัวสอดแทรก: โจเอล เอ็ดเกอร์ตัน (Loving), วีโก มอร์เทนเซน (Captain Fantastic)

นักแสดงนำหญิง

นี่เป็นหนึ่งในไม่กี่ปีที่สาขานักแสดงนำหญิงขับเคี่ยวกันเข้มข้นยิ่งกว่านักแสดงนำชาย และมีโอกาสสูงที่คนโปรดของออสการ์อย่าง เมอรีล สตรีพ กับ เอมี อดัมส์ อาจหลุดโผในท้ายที่สุด กรณีของคนแรกแม้หนังจะทำเงินน่าพอใจและการแสดงของเธอก็ได้เสียงชื่นชมตามมาตรฐาน แต่ Florence Foster Jenkins ดูจะเริ่มอ่อนระโหยโรยแรงไปพอควรเนื่องจากเข้าฉายก่อนใครอื่น ขณะที่กรณีของคนหลัง Arrival เป็นหนังไซไฟ ซึ่งไม่ค่อยเข้าทางออสการ์ในสาขาการแสดงเท่าใดนัก โดยในอดีตมีแค่สองคนที่เคยเข้าชิงสาขานี้ นั่นคือ ซิกเกอร์นีย์ วีเวอร์ (Aliens) และ แซนดร้า บูลล็อก (Gravity) แต่น่าสังเกตว่าสองปีนั้น (1986 กับ 2013) ล้วนเป็นปีที่สาขานักแสดงนำหญิงไม่ได้ขับเคี่ยวเข้มข้นมากเท่านี้ แล้วทั้งสองเรื่องก็เป็นหนังบล็อกบัสเตอร์ระดับท็อปเทนของปีในแบบที่ Arrival คงไปไม่ถึง (แต่ดูจากวี่แววมันน่าจะเป็นหนังทำเงินสูงสุดลำดับต้นๆ ที่มีโอกาสเข้าชิงออสการ์ปีนี้) การคว้ารางวัลจาก National Board of Review อาจช่วยให้เธอไม่หลุดจากหัวข้อสนทนาอยู่บ้าง แต่อาจไม่ส่งผลต่อการเข้าชิง เมื่อพิจารณาว่าเธอต้องแข่งขันกับใครบ้าง

สองคนแรกที่น่าจะหลุดเข้าชิงได้ไม่ยาก คือ เอ็มมา สโตน จากหนังเต็งหนึ่งที่ในการคว้ารางวัลสูงสุดไปครอง คือLa La Land และเสียงชื่นชมการแสดงของเธอก็เรียกได้ว่าเป็นเอกฉันท์ พิสูจน์ชัดได้จากรางวัลนักแสดงนำหญิงจากเทศกาลหนังที่เวนิซ เช่นเดียวกับ นาตาลี พอร์ตแมน ซึ่งพ่ายให้สโตนที่เวนิซ แต่อาจพูดได้ว่าบทอดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของเธอ เข้าทางออสการ์อย่างที่สุด ทั้งการเลียนแบบท่าทาง น้ำเสียง สำเนียง ที่พอร์ตแมนทำได้อย่างยอดเยี่ยม นอกจากนี้เธอยังเดินหน้าโปรโมตหนังอย่างไม่ย่อท้อ โดยข้อบกพร่องเดียวคงจะอยู่ตรงที่เธอเคยได้ออสการ์มาแล้วจาก Black Swan เมื่อ 5 ปีก่อน แต่คงต้องมาดูในช่วงโค้งสุดท้ายอีกทีว่าเธอจะสามารถพลิกสถานการณ์ได้หรือไม่ นั่นจะขึ้นอยู่กับเสียงสนับสนุนของกรรมการต่อหนังเรื่อง Jackie ด้วย

เชื่อได้ว่านักวิจารณ์น่าจะช่วยกันผลักดัน อิซาเบล อูแปต์ (Elle) ในแบบเดียวกับ ชาร์ล็อต แรมปลิง (45 Years) เมื่อปีก่อน เธอเริ่มเดินสายคว้ารางวัลจากสองสมาคมนักวิจารณ์ใหญ่สุดอย่าง นิวยอร์ก และแอลเอ มาครอง และนั่นน่าจะทำให้กรรมการมีโอกาสเลือกหยิบ Elle จากกองสกรีนเนอร์นับร้อยขึ้นมาเปิดดู เช่นเดียวกับแรมปลิง เครดิตระดับตัวแม่ในวงการภาพยนตร์โลกของอูแปต์ สร้างผลงานท้าทาย น่าประทับใจมานับไม่ถ้วน น่าจะช่วยให้เธอได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงในฐานะ รางวัลความสำเร็จตลอดชีวิตและปัจจัยที่เกื้อหนุนได้ไม่น้อยอีกอย่าง ก็คือ หนังเรื่องนี้ของ พอล เวอร์โฮเวน กวาดคำชมมาอย่างถ้วนทั่ว เรียกได้ว่าเป็นการคืนฟอร์มอย่างแท้จริง

แอนเน็ต เบนนิง คุ้นเคยกับเวทีออสการ์จากการเข้าชิง 4 ครั้ง แต่เธอยังไม่เคยได้ออสการ์มาครอง ผลงานของเธอใน 20 Century Women ได้รับการยกย่องว่าดีงามไม่แพ้ The Kids Are All Right ซึ่งดันให้เธอได้เข้าชิงนำหญิงเมื่อ ปีก่อน ด้วยเหตุนี้บารมีบวกกับฝีมือน่าจะทำให้เธอหลุดเข้าชิงได้เป็นคนที่ 4 ดังนั้นเมื่อมองจากสถานการณ์ในปัจจุบัน อาจกล่าวได้ว่า รูธ เนกกา (Loving) เป็นตัวเก็งที่สุ่มเสี่ยงจะหลุดโผมากที่สุด หากบรรดารางวัลนักวิจารณ์ไม่ช่วยผลักดันเธอให้อยู่ในบทสนทนา แม้ว่าการรับบทหญิงสาวผิวดำที่แต่งงานกับหนุ่มผิวขาวในช่วงทศวรรษ 1960 ของเธอจะกวาดคำชมมาอย่างท่วมท้น แต่ในเวลาเดียวกันการแสดงแบบ น้อยได้มากของเธอ (ซึ่งบางคนกล่าวหาว่าเธอแสดงอยู่หน้าเดียว) อาจไม่ค่อยเข้าทางออสการ์สักเท่าไหร่ โดยตัวสอดแทรกไม่ใช่แค่สตรีพหรืออดัมส์เท่านั้น แต่ยังรวมถึง วีโอลา เดวิส (Fences) ซึ่งตัดสินใจเสนอชื่อเข้าชิงในสาขาสมทบหญิง แต่ถ้ากรรมการชื่นชอบการแสดงของเธอมากพอ ก็มีโอกาสที่เธอจะถูกอัพเกรดให้หลุดเข้าชิงในสาขานำหญิง ดังจะเห็นได้จากกรณีที่เกิดกับ เคท วินสเล็ท ใน The Reader

ล็อก: เอ็มมา สโตน (La La Land), นาตาลี พอร์ตแมน (Jackie)
โอกาสสูง: แอนเน็ต เบนนิง (20 Century Women), อิซาเบล อูแปต์ (Elle), รูธ เนกกา (Loving)
ตัวสอดแทรก: เอมี อดัมส์ (Arrival), เมอรีล สตรีพ (Florence Foster Jenkins)

นักแสดงสมทบชาย

เช่นเดียวกับทุกปีสาขานักแสดงสมทบมักเป็นสาขาที่ทายใจกรรมการค่อนข้างยาก วิธีง่ายที่สุด คือ ค้นหารายชื่อเอาจากหนังที่มีโอกาสเข้าชิงออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม มาเฮอร์ชาลา อาลี เป็นตัวละครที่คนดูจดจำได้มากที่สุดใน Moonlight แต่เนื่องจากหนังมีโครงสร้างที่แบ่งเป็น 3 ช่วงอายุในชีวิตของเด็กชายผิวดำ เขาจึงมีบทบาทสำคัญเพียงหนึ่งในสามของหนังและถูกผลักให้เข้าชิงในสาขาสมทบ สถานะขวัญใจนักวิจารณ์ของเขาเริ่มต้นด้วยการกวาดรางวัลจากสมาคมนักวิจารณ์ 4 ใน 5 สถาบันแรกที่ประกาศผล และคงเดินหน้าไปจนถึงเวทีออสการ์ได้ในที่สุดด้วยพลังความแข็งแกร่งของหนังกับตัวผลงาน ขณะที่ตัวเก็งอีกคนอย่าง เจฟฟ์ บริดเจส ก็เพิ่งคว้ารางวัลจาก NBR มาครอง เขามีเครดิตสวยหรูเป็นเครื่องหนุนนำนอกเหนือจากผลงาน แต่เขาอาจต้องทำงานหนักหน่อยในการขับเคี่ยวกับเพื่อนนักแสดงในหนังเรื่องเดียวกันอย่าง เบน ฟอสเตอร์ ซึ่งมีชื่อโผล่ไปเข้าชิงรางวัล Independent Spirit Awards ท่ามกลางความแปลกใจของหลายคน

เช่นเดียวกับอาลีใน Moonlight เดฟ พาเทล เป็นดารานำแค่ช่วงครึ่งหลังของ Lion เท่านั้น (และหลายคนบอกว่าเขาโดนดาราเด็กขโมยซีนไปพอควร) ด้วยเหตุนี้เขาจึงต้องลงมาแข่งขันในสาขานักแสดงสมทบ ความที่ Lion เป็นหนังอบอุ่น มอบความหวังให้กับชีวิตทำให้มันถูกกะเก็งว่าอาจหลุดเข้าชิงในสาขาสูงสุดด้วย ความแข็งแกร่งของหนังถือเป็นประโยชน์กับพาเทล ซึ่งสร้างชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในวงกว้างจากหนังรางวัลออสการ์เรื่อง Slumdog Millionaire เมื่อ 8 ปีก่อน ส่วนดาวรุ่งดวงใหม่ที่แท้จริงในปีนี้คงได้แก่ ลูคัส เฮดเจส จาก Manchester by the Sea ที่ยืนหยัดเคียงข้างนักแสดงรุ่นพี่ รุ่นพ่อได้อย่างไม่เกรงกลัวรัศมี

กระแสในหมู่นักวิจารณ์กลุ่มแรกที่ได้ชม Silence พิสูจน์ชัดว่านักแสดงที่โดดเด่นสุดหาใช่การ์ฟิลด์ หรือไดรเวอร์ หรือ เลียม นีสัน อย่างที่หลายคนคาดการณ์ไว้ หากแต่เป็นนักแสดงรุ่นใหญ่ชาวญี่ปุ่น อิสเซ โอกาตะ ซึ่งโชว์พลังดึงดูดและความเป็นธรรมชาติได้อย่างน่าทึ่ง จนเขาคว้าตำแหน่งรองชนะเลิศในสาขานี้ที่สมาคมนักวิจารณ์แอลเอ น่าจับตามองต่อไปว่าเมื่อ Silence เริ่มเปิดฉายในวงกว้างขึ้น งานแสดงของเขาจะหลุดเข้ามาอยู่ในวงสนทนาของผู้เข้าชิงสาขานี้มากขึ้นหรือไม่ คนสุดท้ายที่มีแววพอจะแทรกตัวมาติดหนึ่งในห้า ได้แก่ ไมเคิล แชนนอน จาก Nocturnal Animals กับบทนายตำรวจที่ดูน่ากลัวและคุกคามไม่แพ้คนร้าย อันที่จริงแชนนอนเองเคยอยู่ในสถานะนี้มาแล้วเมื่อปีก่อนจาก 99 Homes เขาได้เข้าชิงลูกโลกทองคำและรางวัลสมาพันธ์นักแสดงแห่งอเมริกา (SAG) แต่หลุดโผออสการ์ในช่วงโค้งสุดท้าย แต่ต้องยอมรับว่าสาขานี้เมื่อปีก่อนแน่นขนัดอย่างมากเพราะหนังรวมดาราอย่าง Spotlight และ The Big Short

ล็อก: มาเฮอร์ชาลา อาลี (Moonlight), เจฟฟ์ บริดเจส (Hell or High Water)
โอกาสสูง: เดฟ พาเทล (Lion), ลูคัส เฮดเจส (Manchester by the Sea), อิสเซ โอกาตะ (Silence)
ตัวสอดแทรก: ไมเคิล แชนนอน (Nocturnal Animals), เบน ฟอสเตอร์ (Hell or High Water)

นักแสดงสมทบหญิง

บทแม่ที่ต้องทนทุกข์ดูเหมือนจะเป็นธีมหลักของสาขานี้ คนแรก คือ วีโอลา เดวิส ซึ่งไม่เพียงจะเป็นตัวเก็งในการเข้าชิงแบบ 100% เท่านั้น แต่ยังทำท่าว่าจะคว้ารางวัลไปครองเลยด้วยจากบทที่เคยทำให้เธอได้รางวัลโทนีมาแล้ว โดยตอนที่บทละครชนะรางวัลพูลิทเซอร์ของ ออกัส วิลสัน เรื่องนี้ถูกนำมาสร้างใหม่ในปี 2010 เดวิสคว้าโทนีสาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม ขณะที่ เดนเซล วอชิงตัน ก็ได้รางวัลคู่กันในสาขานักแสดงนำชาย แต่พอเป็นเวอร์ชั่นหนัง สตูดิโอตัดสินใจส่งเดวิสเข้าชิงในสาขาสมทบ ซึ่งถือว่าเป็นทางเลือกที่ฉลาดเนื่องจากการแข่งขันไม่สูงเท่า (และว่ากันตามตรงแล้วหลายคนคิดว่าบทของเดวิสใกล้เคียงกับการเป็นบทสมทบมากกว่าบทนำ ถึงแม้ในเวอร์ชั่นหนังเธอจะถูกอัพเกรดเพิ่มขึ้นจากเวอร์ชั่นละครเล็กน้อยก็ตาม)

คู่แข่งสำคัญของเดวิสอาจเป็นนักแสดงผิวสีเช่นกัน นั่นคือ นาโอมิ แฮร์ริส ซึ่งรับบทแม่ติดยาในหนังขวัญใจนักวิจารณ์เรื่อง Moonlight เวลาบนจอของเธออาจไม่มากนัก แต่เธอทำให้ทุกนาทีมีค่าได้อย่างน่าอัศจรรย์ และนิยามดังกล่าวสามารถนำมาใช้ได้กับ นิโคล คิดแมน และ มิเชล วิลเลียมส์ เช่นกัน คนแรกมีฉากโชว์การแสดงที่พร้อมสำหรับนำมาทำเป็นคลิปในงานออสการ์เรียบร้อยแล้ว มันเป็นฉากเด่นของหนังและเรียกน้ำตาจากคนดูได้อย่างเปี่ยมประสิทธิภาพ ส่วนคนหลังมีโอกาสโผล่หน้ามาไม่มากนัก แต่ก็ทรงพลังอย่างมาก ด้วยเครดิตอันงดงามในอดีต ตลอดจนความแข็งแกร่งของหนังน่าจะทำให้วิลเลียมส์เบียดเข้าชิงในสาขานี้ได้ไม่ยาก

ที่ว่างสุดท้ายน่าจะเป็นการขับเคี่ยวกันระหว่างสองสาวจาก Hidden Figures และ เกรตา เกอร์วิก ซึ่งสั่งสมชื่อเสียงและการยอมรับมาพอสมควรจากการร่วมงานกับ โนอาห์ บอมบาค ในหนังอินดี้ขวัญใจนักวิจารณ์อย่าง Greenberg, Frances Ha และ Mistress America ซึ่งลับแลเกินกว่าจะได้รับความสนใจจากเวทีออสการ์ แต่ 20 Century Women ของ ไมค์ มิลส์ ผู้เคยช่วยให้ คริสโตเฟอร์ พลัมเมอร์ ได้ออสการ์ในวัย 83 ปี น่าจะเป็นหนังแจ้งเกิดบนเวทีออสการ์ของนักแสดงสาววัย 33 ปี แต่ก่อนอื่นเธอจะต้องตบตีแย่งชิงกับนักแสดงหญิงผิวสีที่เวทีออสการ์เคยตีตรารับประกันมาแล้วอย่าง ออกเทเวีย สเปนเซอร์ เจ้าของรางวัลนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม ซึ่งคราวนี้ได้กลับมารับบทที่จะทำให้เธอกลายเป็นขวัญใจคนดูในแบบเดียวกับ The Help ส่วนอีกคนเป็นนักแสดงจาก Hidden Figures เช่นกัน แต่ เจเนล โมเน โด่งดังจากการเป็นนักร้องมากกว่านักแสดง และนอกจากเรื่องนี้แล้ว เธอยังร่วมเล่นใน Moonlight ด้วย การที่เธอเบียดเข้าชิงรางวัล Critics Choice Award ได้สำเร็จ ทำให้เธอถูกยกสถานะเป็นม้ามืดที่อาจสอดแทรกเป็นห้าคนสุดท้ายบนเวทีออสการ์ได้

ล็อก: วีโอลา เดวิส (Fences), นาโอมิ แฮร์ริส (Moonlight)
โอกาสสูง: นิโคล คิดแมน (Lion), มิเชล วิลเลียมส์ (Manchester by the Sea), เกรตา เกอร์วิก (20 Century Women)

ตัวสอดแทรก: ออกเทเวีย สเปนเซอร์ (Hidden Figures), เจเนล โมเน (Hidden Figures)

ไม่มีความคิดเห็น: