วันจันทร์, ธันวาคม 20, 2564

The Father: ต้นไม้สูญใบ

ผลงานกำกับชิ้นแรกของ ฟลอเรียน เซลเลอร์ เรื่อง The Father เริ่มต้นด้วยเรื่องราวประจำวันที่ดูเหมือนธรรมดาสามัญ เมื่อ แอนน์ (โอลิเวีย โคลแมน) แวะมาหาพ่อของเธอ แอนโทนีย์ (แอนโทนีย์ ฮอปกินส์) ที่แฟลตเพื่อสอบถามตื้นลึกหนาบางว่าทำไมแอนเจลา พยาบาลที่เธอจ้างมาดูแลเขาถึงขอลาออกไปอีกเป็นรายที่สามแล้ว แอนเจลาอ้างว่าโดนชายชราด่าทอและถึงขั้นคุกคามทางร่างกาย แต่แอนโทนีย์ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาพร้อมทั้งปรักปรำแอนเจลาว่าขโมยนาฬิกาข้อมือของเขาไป ขณะเดียวกันก็ยืนกรานกับลูกสาวว่าเขาดูแลตัวเองได้ ไม่จำเป็นต้องจ้างใครมาดูแลอีก แอนน์เอือมระอาในความดื้อดึงของพ่อ เธอย้ำเตือนเขาอีกครั้งว่าเธอวางแผนจะย้ายออกจากลอนดอน และคงไม่สามารถแวะมาเยี่ยมเยียนเขาได้บ่อย ๆ เหมือนเคย เธอค้นพบรักครั้งใหม่หลังจากครองตัวเป็นโสดมานานหลายปี แต่ก็ไม่วายวิตกกังวลว่าจะทำยังไงดีกับพ่อที่เริ่มแก่ชราจนไม่อาจปล่อยให้อยู่คนเดียวตามลำพังได้

มองเผิน ๆ ในแวบแรกแอนโทนีย์ดูเหมือนชายชราที่สุขภาพแข็งแรง พูดจารู้เรื่อง อาจหัวรั้นและเอาแต่ใจไปบ้างตามประสาคนแก่ แต่นั่นคงเพราะเขาหวงแหนอิสรภาพและศักดิ์ศรีแห่งมนุษย์ซะมากกว่า จนเราอดคิดไม่ได้ว่าบางทีแอนน์อาจ ขี้กังวล เกินไปอย่างที่แอนโทนีย์กล่าวหาก็ได้ ทว่าในเวลาเดียวกันชายชรากลับเปิดเผยให้เห็นด้านเปราะบาง อ่อนแอเมื่อตระหนักชัดว่าลูกสาวกำลังจะย้ายไปอยู่ปารีสกับชายคนรัก ตกลงว่าแกจะทิ้งฉันไปอย่างนั้นใช่ไหม ทอดทิ้งฉันไว้ตามลำพัง แล้วจากนี้ไปฉันจะเป็นยังไง พร้อมกันนั้นหนังยังทิ้งร่องรอยที่ส่อแววถึงความผิดปกติ เช่น ความผันแปรทางอารมณ์แบบเฉียบพลัน ภาวะหมกมุ่นและหวาดวิตกเกี่ยวกับนาฬิกาข้อมือ เขากล่าวหาแอนเจลาว่าเป็นคนขโมย แต่พอแอนน์ทักว่ามันอาจอยู่ใต้อ่างอาบน้ำ จุดที่เขาใช้ซ่อนของมีค่าส่วนตัว เขาก็รีบเดินไปสำรวจและกลับออกมาพร้อมนาฬิกาต้นเรื่อง ก่อนจะตรงไปเปิดทีวีเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น เขาลืมข้อถกเถียงเมื่อครู่ไปเสียสนิท นอกจากนี้สีหน้าแอนน์ตอนเขาถามถึงลูกสาวคนเล็กก็ส่อนัยแฝงเร้นบางอย่าง ซึ่งจะค่อย ๆ กระจ่างชัดเมื่อหนังดำเนินมาถึงช่วงท้าย

ฉากเปิดเรื่องจบลงด้วยคำขู่กลาย ๆ ของแอนน์ว่า ถ้าพ่อยังไม่ยอมให้ใครมาดูแล หนูคงต้อง... เธอทิ้งประโยคคาไว้ แต่ทุกคน แม้กระทั่งตัวแอนโทนีย์เองก็เถอะ ล้วนสามารถเข้าใจความหมายของเธอได้ไม่ยาก

จากนั้นในฉากถัดมาหนังแทบจะพลิกตลบสู่แนวทางลึกลับพิศวง เมื่อแอนโทนีย์พบว่าแฟลตของเขาถูกบุกรุกโดยชายแปลกหน้าชื่อพอล (มาร์ค แกติส) ซึ่งอ้างตนว่าเป็นสามีของแอนน์ และที่นี่ไม่ใช่แฟลตของแอนโทนีย์ แต่เป็นแฟลตของแอนน์ เธอย้ายเขาให้มาอยู่ด้วยกันระหว่างเลือกหาพยาบาลคนใหม่ แต่สิ่งที่ชวนช็อกยิ่งกว่าคือเมื่อแอนน์กลับมาถึงห้อง เธอหาใช่แอนน์คนเดิมอีกต่อไป แต่เป็นหญิงสาวแปลกหน้า (โอลิเวีย วิลเลียมส์) ซึ่งยืนกรานว่าเธอคือแอนน์ ซ้ำร้ายในอีกไม่กี่นาทีต่อมาพอลซึ่งเพิ่งจะรับของจากภรรยาไปเก็บที่ห้องครัวกลับหายวับอย่างไร้ร่องรอย และเมื่อแอนโทนีย์พูดถึงเขา แอนน์กลับบอกว่าเธอหย่าร้างมาได้ห้าปีแล้ว พ่อจำไม่ได้เหรอ

แอนโทนีย์รู้สึกเหมือนตัวเองกำลังอยู่ในรายการประเภท ล้อกันเล่น ที่เหล่าทีมงานกับตากล้องอาจโผล่ออกมาเมื่อไหร่ก็ได้ เขาพยายามจะไหลตามน้ำ วางมาดเพื่อไม่ให้ตัวเองดูเหมือนตาแก่เลอะเลือนหรือเสียสติ แต่ภายในใจกลับเต็มไปด้วยความสับสน หวาดกลัว และบางคราวก็โกรธขึ้งกับความไม่สมเหตุสมผลทั้งหลายทั้งปวง หนังจับคนดูให้เข้าไปอยู่ในหัวของแอนโทนีย์ที่กำลังเผชิญภาวะสมองเสื่อม และเล่าถึงชุดเหตุการณ์ตลอดช่วงเวลาหลายปีผ่านการรับรู้อันซ้อนทับ เชื่อถือไม่ได้ และชวนให้งุนงงของชายชรา โดยไม่เพียงใบหน้าของผู้คนจะแปรผันสลับสับเปลี่ยนกันไปมาเท่านั้น (ในเวลาต่อมาพอลจะรับบทโดย รูฟัส ซีเวลล์) แต่สภาพแวดล้อม รวมถึงข้าวของประดับตกแต่งต่าง ๆ ในแฟลตยังผันแปรแตกต่างกันไปในแต่ละช็อตอีกด้วย (ในเวลาต่อมาแฟลตของแอนโทนีย์/แอนน์จะกลายสภาพเป็นโรงพยาบาลบ้าง และท้ายที่สุดคือบ้านพักคนชรา)

ความหมกมุ่นของแอนโทนีย์เกี่ยวกับนาฬิกาข้อมือในแง่หนึ่งเปรียบเสมือนภาพสะท้อนอันเป็นรูปธรรมของความพยายามจะจัดเรียงและควบคุมการรับรู้เกี่ยวกับเวลา แต่กลับล้มเหลวไม่เป็นท่า อดีตและปัจจุบันดูเหมือนจะผสมปนเปกันมั่วไปหมดในหัวสมองของแอนโทนีย์ ปราศจากการไล่เรียงลำดับอย่างเป็นระบบระเบียบ แถมบางครั้งเหตุการณ์ยังวนลูปซ้อนทับเหมือนแผ่นซีดีเพลงโอเปราที่กระตุกค้างในเครื่องจนเขาต้องหยิบมาเช็ดทำความสะอาด เช่น เหตุการณ์ที่แอนโทนีย์บังเอิญได้ยินบทสนทนาของแอนน์กับพอลเกี่ยวกับการส่งเขาไปอยู่บ้านพักคนชรา

จริงอยู่ว่ากลวิธีการเล่าเรื่องแบบนี้ของหนังจงใจจะสร้างความเชื่อมโยงทางอารมณ์ระหว่างคนดูกับตัวละครที่เป็นโรคสมองเสื่อม ทำให้เราเข้าใจความสับสนงุนงงที่เขากำลังเผชิญ แต่ในเวลาเดียวกันหนังก็ยังให้น้ำหนักกับแอนน์ตลอดจนมุมมองของลูกสาวที่ต้องรับภาระในการดูแลคนป่วยอีกด้วย ทั้งความอดทนอดกลั้นรับมือกับอารมณ์แปรปรวนเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้ายและความเจ็บปวดของการเฝ้ามองคนที่คุณรักค่อย ๆ สูญเสียความทรงจำจนกลายเป็นคนอีกคนที่คุณไม่รู้จักและเขาเองก็ไม่รู้จักคุณ เมื่อวันก่อนพ่อจำหน้าฉันไม่ได้ด้วยซ้ำ เธอสารภาพทางโทรศัพท์ นาทีหนึ่งเขาอาจชวนคุยอย่างเป็นมิตร โปรยเสน่ห์ใส่ ลอรา (อีโมเจน พูทส์) หญิงสาวคราวลูกที่จะมาช่วยดูแลเขาระหว่างวันตอนแอนน์ออกไปทำงาน แต่นาทีต่อมาเขากลับเกรี้ยวกราดใส่ลูกสาว กล่าวหาว่าเธอต้องการฮุบสมบัติด้วยข้ออ้างว่าเขาสติเลอะเลือนเกินกว่าจะอยู่คนเดียวได้ จากนั้นอีกวันเขากลับดูเหมือนเด็กน้อยที่ใส่เสื้อสเวตเตอร์ไม่เป็นจนต้องมีคนช่วย ก่อนจะกล่าวขอบคุณลูกสาวสำหรับ ทุกสิ่งทุกอย่าง ด้วยตระหนักดีว่าเธอต้องเสียสละแค่ไหนและตัวเองเป็นภาระหนักอึ้งเพียงใด เศษเสี้ยวแห่งความรักความผูกพันที่ยังเหลืออยู่ในคืนวันดี ๆ เหนี่ยวรั้งเธอไว้ไม่ให้ส่งพ่อไปยังบ้านพักคนชราตามคำแนะนำของพอล ขณะที่ความขมขื่นในคืนวันอันเลวร้ายก็ทำให้เธอนึกอยากจะบีบคอเขาให้ตาย ๆ ไปเสีย

ความขมขื่นอีกส่วนตกตะกอนมายาวนานจากข้อเท็จจริงที่ว่าแอนโทนีย์เอ็นดูลูกสาวคนเล็ก ลูซี จิตกรผู้เสียชีวิตในอุบัติเหตุ มากกว่าลูกสาวคนโตอย่างแอนน์ซึ่งเขาชอบจิกกัดว่าไม่ค่อยฉลาด น่าเศร้าตรงที่ในฉากหนึ่งเขาถึงขั้นประกาศอย่างเชื่อมั่นว่าตนจะอายุยืนกว่าแอนน์และจะลงเอยเป็นฝ่ายฮุบสมบัติของเธอมาครองแทน แต่ในความจริงกลับเป็นลูซีต่างหากที่ตายจากเขาไปก่อน ความทุกข์ใจแสนสาหัสต่อเหตุการณ์นั้นอาจเป็นสาเหตุให้เขาพยายามปฏิเสธความจริง ตอกย้ำตัวเองว่าเธอยังมีชีวิตอยู่ แต่แค่ไม่เคยแวะมาเยี่ยมเยียน ความจริงอาจแล่นวูบเข้ามาในหัวเขาบ้างเป็นครั้งคราว ก่อนจะถูกปัดตกไป เขาห่วงหาอาลัยอาวรณ์ลูกสาวคนที่จากไปจนพลอยมองข้ามคุณค่าของลูกสาวคนที่ยังมีชีวิตอยู่

ขณะเดียวกันแอนน์ก็ยังไม่วายโหยหาความเห็นชอบจากพ่อถึงแม้เธอจะเติบใหญ่ มีครอบครัวเป็นตัวเป็นตนแล้ว เธอดูดีใจเมื่อเขาเอ่ยชมทรงผมเธอ ปลื้มใจที่เขาเห็นคุณค่าในสิ่งที่เธอทำให้ นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งว่าทำไมเธอถึงพยายามจะหลบเลี่ยงความจริงว่าอาการของพ่อเธอรังแต่จะทรุดหนักลงเรื่อย ๆ และเขาจำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดโดยมืออาชีพ ภารกิจดังกล่าวหนักหนาสาหัสเกินกว่าเธอจะแบกรับไว้เพียงลำพัง เธอบ่ายเบี่ยงไม่ยอมส่งพ่อไปอยู่บ้านพักคนชรา ไม่ว่าจะด้วยความรัก ความกตัญญู หรือความต้องการจะเอาชนะใจเขาก็ตาม จนส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับพอลเริ่มตึงเครียด เขาไม่พอใจที่เธอต้องเสียสละทุกอย่างในชีวิต ยอมยกเลิกทริปไปเที่ยวอิตาลีเมื่อแอนโทนีย์ทะเลาะกับพยาบาลคนก่อนจนต้องย้ายเขามาอยู่ด้วยกันระหว่างรอหาพยาบาลคนใหม่มาแทน ซึ่งจะอยู่กับเขาแค่ในช่วงกลางวัน แต่หลังจากนั้นก็ยังเป็นหน้าที่เธอต้องคอยดูแล มองในแง่นี้เธอเองก็กลายเป็นเหมือนนักโทษที่ติดแหง็กอยู่ในแฟลตไม่ต่างจากแอนโทนีย์ ได้แต่เฝ้ามองชีวิตคนอื่นผ่านทางหน้าต่าง ชีวิตที่เธอปรารถนา แต่ไม่กล้าไขว่คว้ามาครองเพราะรู้สึกผิดบาปกับการส่งพ่อไปอยู่บ้านพักคนชรา

เซลเลอร์ดัดแปลงบทละครชื่อเดียวกันของเขาเองมาเป็นบทภาพยนตร์ร่วมกับมือเขียนบทชื่อดังอย่าง คริสโตเฟอร์ แฮมป์ตัน (Atonement, Dangerous Liaisons) และยังคงรักษารากเหง้าของความเป็นละครเวทีเอาไว้อย่างครบถ้วนทั้งจากการเดินเรื่องผ่านบทสนทนา การจำกัดฉากให้อยู่ภายในอาคารเป็นหลัก แต่วิธีที่หนังกระโดดก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาและพื้นที่ได้อย่างอิสระทำให้มันไม่ได้รู้สึกอึดอัดและอุดอู้เหมือนหนังที่ดัดแปลงมาจากละครเวทีอีกหลาย ๆ เรื่อง นอกจากนี้มันยังช่วยถ่ายทอดสารในเชิงสัญลักษณ์ได้อย่างแนบเนียนอีกด้วย การติดแหง็กอยู่ในอาคาร ไม่สามารถออกไปสูดอากาศบริสุทธิ์ข้างนอกได้ (ยกเว้นเพียงครั้งเดียวตอนที่แอนน์พาเขาไปพบหมอ) เป็นเหมือนภาพสะท้อนสภาวะที่แอนโทนีย์กำลังเผชิญจากโรคสมองเสื่อม เขาติดกับอยู่ในชีวิต แต่ไม่อาจใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข หลายครั้งในหนังคนดูจะเห็นแอนโทนีย์เดินไปมองวิวนอกหน้าต่าง โดยมีอยู่ครั้งหนึ่งเขานึกยิ้มให้กับภาพที่เห็นเป็นเด็กหนุ่มกำลังเล่นเตะถุงพลาสติกอยู่บนทางเท้า เด็กคนนั้นคือตัวแทนของวัยหนุ่มสาวที่แล่นผ่านเขาไปแล้วตามกาลเวลา ตัวแทนของวัยแห่งการผลิใบ แตกหน่อกิ่งก้านสาขา อิ่มเอมอยู่กับสายลมและแสงแดด (ขณะภาพที่แอนน์มองผ่านหน้าต่างออกไปเป็นภาพหนุ่มสาวกำลังหยอกล้อกันอย่างมีความสุขในอพาร์ตเมนต์ของตัวเองซึ่งเป็นชีวิตแบบที่เธอโหยหา แต่กลับถูกบีบให้ต้องเสียสละเพื่อคอยดูแลพ่อ)

ตลอดทั้งเรื่องแอนโทนีย์พยายามจะทำความเข้าใจสภาวะที่ตนเป็นอยู่ พยายามปะติดปะต่อความไม่สมเหตุสมผลทั้งหลาย ก่อนสุดท้ายกลับต้องยอมจำนนอย่างหมดรูปต่อความเป็นจริงว่าตนเองก็ไม่ต่างจากต้นไม้ไร้ใบ หรือกิ่งก้านสาขา หลงเหลือเพียงลำต้นที่ยังยืนหยัด แต่ปราศจากชีวิตชีวา รอเพียงเวลาโค่นล้ม ความทรงจำอันเลอะเลือนทำให้เขากลับกลายมาเป็นเด็กน้อย เรียกร้องหามารดามาช่วยปลุกปลอบอุ้มชู ข้างนอกอากาศสดใส อากาศดีแบบนี้เราต้องรีบออกไปเดินเล่นข้างนอก ต้องรีบฉวยโอกาสไว้ เพราะอากาศดี ๆ แบบนี้ไม่ได้ยาวนานตลอดไป นางพยาบาลในบ้านพักคนชราพยายามจะกล่อมเขาให้สงบจิตใจ ก่อนกล้องจะค่อย ๆ แพนมายังวิวทิวทัศน์นอกหน้าต่าง เป็นภาพต้นไม้ใหญ่เขียวชอุ่ม แกว่งไกวไปตามแรงลม... คำกล่าวนั้นและหนังเรื่อง The Father ช่วยตอกย้ำให้เราทุกคนตระหนักถึงความเปราะบางของชีวิตเพื่อจะได้เก็บเกี่ยวช่วงเวลาที่เหลืออยู่อย่างคุ้มค่าก่อนการผลัดใบจะมาถึงอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

ไม่มีความคิดเห็น: