วันจันทร์, ธันวาคม 20, 2564

Hedwig and the Angry Inch: รูปกายหาได้นิยามตัวตน

ความก้าวหน้าทางวิทยาการผ่าตัดแปลงเพศ ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในช่วงปลายทศวรรษ 60 ถึงต้นทศวรรษ 70 ส่งผลให้ประเด็นการถกเถียงเรื่องเพศในปัจจุบันแตกหน่อ และขยายความซับซ้อนยิ่งขึ้นไปอีก กล่าวคือ นอกจากสังคมของเราจะประกอบไปด้วยรักต่างเพศ (heterosexual) รักร่วมเพศ (homosexual) และรักสองเพศ (bisexual) แล้ว วิทยาศาสตร์แขนงดังกล่าวยังก่อให้เกิดบุคคลข้ามเพศ (transsexual) เพิ่มขึ้นอีกกลุ่มหนึ่งด้วย

แม้โดยทั่วไปในยุคใหม่จะใช้คำว่า LGBT สำหรับนิยามพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนจากรักต่างเพศทุกชนิดแบบเหมารวม แต่หากวิเคราะห์กันอย่างลึกซึ้งแล้วจะพบว่ากลุ่มบุคคลข้ามเพศนั้นอาจไม่ใช่กลุ่มรักร่วมเพศเสียทีเดียว ตรงกันข้ามพวกเขา ใกล้เคียง กับกลุ่มรักต่างเพศมากกว่า ทั้งนี้เพราะเกย์หรือเลสเบี้ยนหมายถึงการหลงใหลบุคคลเพศเดียวกันทั้งในแง่การแสดงออก (บุคลิกท่าทางความเป็นชาย/หญิง) และสรีระภายนอก (อวัยวะเพศ) แต่พวกเขาไม่ได้อึดอัดกับตัวตนความเป็นชายหรือหญิงของตนในปัจจุบัน

อาจพูดได้ว่า transsexual เป็นกลุ่มคนที่สับสนระหว่างเพศสภาพ (gender) ซึ่งมักเกี่ยวโยงถึงการกระทำ การแต่งกาย และพฤติกรรมทางสังคม กับเครื่องบ่งชี้เพศ (sex) ซึ่งหมายถึงอวัยวะเพศ หรือรูปธรรมที่บ่งบอกกายภาพแห่งเพศว่าเป็นชายหรือหญิง gender กับ sex เป็นสองสิ่งที่แตกต่างกัน แต่ transsexual มักผสมผสานทั้งสองเข้าด้วยกัน มนุษย์ข้ามเพศคือบุคคลที่ชื่นชอบคนเพศเดียวกันแต่กลับไม่รู้สึกว่าตนเป็นเกย์/เลสเบี้ยน ความรู้สึกขัดแย้งดังกล่าวนำไปสู่การตัดสินใจผ่าตัดแก้ไขเครื่องเพศ (sex) โดยมักจะใช้คำอ้างว่าตนกำลังติดกับอยู่ใน ร่างที่ผิดพลาด เช่น เป็นผู้หญิงโดยวิญญาณภายใต้ร่างของผู้ชาย หรือผู้ชายในร่างของผู้หญิง

ขณะที่เกย์/เลสเบี้ยนไม่มีปัญหากับเครื่องเพศของตน แม้เพศสภาพอาจสลับสับเปลี่ยน หรือซ้อนทับไปมาระหว่าง passive (หญิง) กับ active (ชาย) ตลอดเวลา แต่ transsexual ระบุชัดว่าเครื่องเพศของพวกเขานั้นเป็นความผิดพลาด พวกเขายินยอมสวมเพศสภาพเพียงหนึ่งเดียวอย่างแน่วแน่ และเรียกร้องที่จะแก้ไขอวัยวะเพศอันผิดพลาดให้ตรงกับเพศสภาพของตนเพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตปกติแบบ หญิงรักชาย หรือ ชายรักหญิง ได้ แต่แล้วชะตากรรมกลับเล่นตลกเมื่อผลปรากฏว่า transsexual ถูกกีดกันออกจากกลุ่มรักต่างเพศ สังคมที่พวกเขาปรารถนาจะเข้าร่วมเป็นหนึ่งเดียว เนื่องจากลักษณะอันก้ำกึ่ง ไม่ใช่ชายจริงหรือหญิงแท้ และลงท้ายกลุ่มคนที่อ้าแขนรับพวกเขาไว้ก็คือ กลุ่มคนชายขอบอันประกอบด้วยเกย์/เลสเบี้ยน/ไบเซ็กช่วล สังคมที่ transsexual ปฏิเสธตั้งแต่แรก และไม่รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งด้วย

อัตลักษณ์ทางเพศอันบิดเบือน พัลวันพัลเกดังที่กล่าวมาข้างต้น ปรากฏให้เห็นชัดเจนใน Hedwig and the Angry Inch ภาพยนตร์เพลงเกี่ยวกับกะเทยแปลงเพศชาวเยอรมันตะวันออกที่พยายามค้นหาตัวตน ตลอดจนครึ่งที่หายไปของเขาในประเทศอเมริกา ปมปัญหาของเฮ็ดวิค (จอห์น คาเมรอน มิทเชลล์) นั้นไม่เพียงจะคล้ายคลึงกับ transsexual ทั่วไป แต่ยิ่งทวีความซับซ้อนขึ้นอีกขั้นเพราะเขาเป็นผลผลิตของการผ่าตัดแปลงเพศอันผิดพลาด ทำให้ หนึ่งนิ้ว แห่งความเป็นชายยังคงเหลือโผล่ออกมาจากส่วนที่ควรจะเป็นอวัยวะเพศหญิง เฮ็ดวิคกลายเป็นคนสองเพศ (androgyne) ผู้ยืนอยู่กึ่งกลางระหว่างหญิงกับชาย ความขัดแย้ง คาบเกี่ยวทางเพศถูกนำเสนอผ่านรายละเอียดหลากหลาย อาทิ เฮ็ดวิคแต่งตัวเป็นหญิง สวมวิก นุ่งกระโปรง และมีแฟนเป็นผู้ชาย (ยิทแซ็ค, ลูเธอร์, ทอมมี) แต่ขณะเดียวกันกลับสวมตำแหน่งฝ่ายรุก (active/top) กับยิทแซ็คในฉากที่ทั้งสองมีอะไรกันบนเตียง ส่วนยิทแซ็คก็เป็นชายผู้ปรารถนาจะเป็นหญิง วิกฤติของเขานั้นไม่ต่างอะไรจากความสับสนในใจ transsexual ทั่วๆไป คือ รู้สึกเหมือนติดกับอยู่ในร่างอันผิดพลาด ซึ่งถูกนำเสนอออกมาในช่วงต้นเรื่องขณะเขานั่งอยู่ในห้องที่ล้อมรอบไปด้วยวิกผมนานาชนิด ก่อนจะค่อยๆ หยิบวิกชิ้นหนึ่งขึ้นมาลองสวมดู

นอกจากนั้นผู้กำกับ จอห์น คาเมรอน มิทเชลล์ ยังสร้างความงุนงงเพิ่มเข้าไปอีกระดับด้วยการใช้นักแสดงหญิง มีเรียม ชอร์ มารับบทยิทแซ็ค สร้างความรู้สึกพิศวง ชักนำผู้ชมให้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในโลกของเฮ็ดวิค สถานที่ซึ่งการแบ่งประเภทผู้คนโดยอัตลักษณ์ทางเพศแบบชาย-หญิงลื่นไหลไปมา สับสน และแปรเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา

ในเพลง Tear Me Down หนังเปรียบเฮ็ดวิคเป็นดังกำแพงเบอร์ลิน ตั้งอยู่กึ่งกลางการแบ่งแยกระหว่างตะวันออก-ตะวันตก ระบบทาส-เสรีภาพ ชาย-หญิง และรุก-รับ “เรานึกว่ากำแพงจะคงอยู่ตลอดไป แต่ในเมื่อปัจจุบันมันได้ถูกทำลายลง เราก็ไม่รู้ว่าพวกเราเป็นใครอีกต่อไปแล้ว” การรวมตัวกันระหว่างตะวันตกกับตะวันออกหลังกำแพงล่มสลาย สะท้อนสภาพสังคมในปัจจุบันที่ เส้นแบ่ง ระหว่างหญิง-ชาย รักร่วมเพศ-รักต่างเพศ ค่อยๆ เลือนลางเข้าหากันจนทำให้ผู้คนเริ่มสับสนในอัตลักษณ์ที่แท้จริงของตนดังเช่นตัวละครอย่างเฮ็ดวิคและยิทแซ็ค

อัตลักษณ์ที่คลุมเครือ อีกทั้งคุณลักษณะที่ไม่สามารถตีตราจำเพาะเจาะจงลงไปให้เข้าพวกหนึ่งพวกใด กลายเป็นแหล่งกำเนิดความเกรี้ยวกราด โกรธขึ้ง แปลกแยก และต้นเหตุของทุกข์เข็ญสารพัดในชีวิตเฮ็ดวิค เธอรู้สึกว่าตัวเองไม่ใช่ผู้หญิง และเป็นผู้ชายแค่ครึ่งเดียว ความเป็นหญิงในร่างผู้ชายเปิดโอกาสให้เฮ็ดวิคได้รู้จักลูเธอร์ (เขาพบเธอนอนคว่ำหน้าอาบแดดอยู่และคิดว่าเธอเป็นผู้หญิง) เธอยอมสละทิ้งความเป็นชาย (ดช. แฮนเซล) ไว้ในห้องผ่าตัดเพื่อแลกกับโอกาสที่จะได้ย้ายถิ่นฐานไปยังประเทศอเมริกา แต่ในเวลาเดียวกันความเป็นชายที่ขาดหายไปนั้นก็เป็นสาเหตุให้เธอถูกลูเธอร์ทิ้งแล้วหนีไปกับเด็กหนุ่มคนหนึ่ง ต่อมาพระเจ้าก็เล่นตลกอย่างเจ็บปวดด้วยการให้เฮ็ดวิคถูกทอมมี (ไมเคิล พิทท์) ทิ้งเพราะความเป็นหญิงไม่เต็มตัว เพราะหนึ่งนิ้วแห่งความเป็นชายที่เกินมาของเธอ

ข้อเท็จจริงว่าเฮ็ดวิคไม่ใช่ทั้งผู้ชาย (male/masculine) และผู้หญิง (female/feminine) ส่งผลให้เธอ/เขาไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ชายทั้งสองคนในชีวิตเธอได้

พร้อมๆ กับธีมแห่งการแสวงหาอัตลักษณ์ทางเพศ Hedwig and the Angry Inch ยังเล่าประเด็นโรแมนติกเกี่ยวกับการแสวงหารักแท้ หรือครึ่งที่หายไปของมนุษย์ควบคู่กันไปด้วย หนังหยิบยกเทพนิยายโบราณขึ้นมาเปรียบเทียบผ่านเพลง Origin of Love ว่ามนุษย์ยุคแรกนั้นถูกสร้างขึ้นมาเป็นคู่ หญิง-หญิง ชาย-ชาย และหญิง-ชาย มีสี่มือ สี่ขา สองหน้า ก่อนวันหนึ่งเทพเจ้าจะใช้สายฟ้าฟาดแบ่งพวกเราออกกึ่งกลาง แล้วพัดพาทุกคนให้กระจัดกระจายจากกันไปด้วยพายุ สายน้ำ และคลื่นลมแรง แล้วนับแต่นั้นทุกคนก็เริ่มต้นค้นหาครึ่งที่หายไปของตนเอง พร้อมกับพยายามจะรวมกันเป็นหนึ่งอีกครั้งผ่านวิธีการร่วมรัก

เฮ็ดวิค เช่นเดียวกับมนุษย์ทุกผู้ทุกนาม กำลังค้นหาความรักหนึ่งเดียวเพื่อเติมเต็มครึ่งที่ขาดหายไปของตน การเป็นมนุษย์ครึ่งชายครึ่งหญิงยิ่งทำให้หลุมดำในตัวเธอทรงพลัง โหยหาความรักความเข้าใจมากขึ้นไปอีกระดับ เฮ็ดวิคไม่สามารถกลมกลืนเข้ากับกลุ่มสังคมใดๆได้อย่างสะดวกใจ รักร่วมเพศปฏิเสธเธอ รักต่างเพศกีดกันเธอ เธอรู้สึกเหมือนอยู่ตัวคนเดียวบนโลกนี้ ขณะเดียวกันก็ตระหนักอยู่เสมอว่าเธอไม่ต้องการอยู่อย่างโดดเดี่ยว เดียวดาย และเริ่มต้นค้นหาครึ่งที่หายไปด้วยหวังว่ามันจะช่วยเติมเต็มเธอให้รู้สึกสมบูรณ์ในตัวเองขึ้น แต่สิ่งหนึ่งซึ่งเฮ็ดวิคสงสัย คือ ครึ่งที่ว่านั้นเป็นชายหรือหญิง ตอนแรกเธอคิดว่าเด็กหนุ่มหน้าใสอย่างทอมมีคือคำตอบต่อความรู้สึกกลวงโบ๋ในจิตวิญญาณ แต่แล้วเขากลับทอดทิ้งและทรยศเธอซ้ำด้วยการขโมยเพลงที่เธอแต่งไปอัดแผ่นเสียงจนกลายเป็นซูเปอร์สตาร์

อุบัติเหตุรถยนต์ทำให้เฮ็ดวิคโด่งดังในชั่วเวลาข้ามคืน ชื่อเสียง การยอมรับจากสังคมช่วยให้เธอหันกลับไปสำรวจชีวิตที่ผ่านมา และค้นหา ตัวตน ที่แท้จริง

ฉากเพลง Exquisite Corpse คือ ตอนที่เฮ็ดวิคเริ่มตระหนักในที่สุดว่า วิก กระโปรง และเมคอัพทั้งหลายไม่ได้ทำให้เขากลายเป็นผู้หญิงจริงๆ มันเป็นเพียงภาพลวง ความฝันชั่วครั้งคราว เพราะเมื่อตื่นขึ้นมา เขาก็ต้องกลับกลายเป็นคนเดิมอีกครั้ง (เหมือนเนื้อความในเพลง Wig in a Box) แต่ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น เฮ็ดวิคเองก็ไม่ได้ต้องการจะเป็นผู้หญิงตั้งแต่แรกแล้ว เหตุผลแท้จริงในการผ่าตัดแปลงเพศของเธอคือเพื่อจะได้แต่งงานกับลูเธอร์และหนีออกมาจากกรุงเบอร์ลินเท่านั้น ด้วยเหตุนี้เธอจึงลงมือกำจัดเครื่องประดับแห่งความเป็นหญิงออกจนหมดสิ้น ก่อนจะนำวิกของตนไปสวมให้ยิทแซ็คผู้ยอมรับตัวตนที่แท้จริงและกลายร่างเป็นผู้หญิงในที่สุด

เช่นเดียวกับยิทแซ็คผู้เรียนรู้ที่จะรักและเคารพตัวเอง เฮ็ดวิคไม่ได้โกรธขึ้งกับหนึ่งนิ้วแห่งความเป็นชายในตัวเธออีกต่อไป หนังแสดงถึงการเรียนรู้ของเธอที่จะยอมรับตัวตนอย่างที่เราเป็นอยู่ผ่านเพลงซึ่งทอมมีร้องขอโทษเธอในตอนท้าย (Wicked Little Town) พร้อมกับบอกว่าเธอเป็น “มากกว่าผู้หญิงหรือผู้ชาย” และไม่มีใครเติมเต็มจิตวิญญาณเธอได้นอกจากตัวเธอเอง (“บางทีบนท้องฟ้าอาจปราศจากสิ่งอื่นใดนอกจากอากาศธาตุ ไม่มีรูปแบบแห่งเทพนิยาย หรือพรหมลิขิตแห่งคู่รักใดๆ”) ทุกคนที่ผ่านเข้ามาในชีวิตเฮ็ดวิคล้วนเป็นส่วนหนึ่งของเธอ ทอมมีไม่ใช่ครึ่งที่หายไป แต่เป็นเศษเสี้ยวที่เธอตัดมอบให้ไปจากร่างเดิมที่ดีพร้อมและสมบูรณ์อยู่แล้ว ดังนั้นสัญลักษณ์บนหน้าผากของทอมมีที่เฮ็ดวิคเป็นคนคิดค้นขึ้นจึงกลับมาปรากฏอยู่บนหน้าผากของเฮ็ดวิคในฉากสุดท้าย

บทสรุปแห่งการเรียนรู้ของเฮ็ดวิคถูกถ่ายทอดผ่านเพลง Midnight Radio ซึ่งมีเนื้อความท่อนหนึ่งว่า รู้ซึ้งถึงจิตวิญญาณ ดุจดังเลือดซ่านในร่างกาย จากหัวใจสู่เยื่อใยในสมอง รู้ซึ้งว่าคุณคือหนึ่งเดียว

ด้วยเหตุนี้เองภาพสุดท้ายของหนังจึงเป็นภาพเฮ็ดวิคเดินเปลือยเปล่าออกจากตรอกอันมืดทะมึน ดุจดังทารกที่เพิ่งลืมตาขึ้นมาดูโลกกว้างเป็นครั้งแรก ผู้ชมไม่มีโอกาสเห็นใบหน้า หรือร่างกายด้านหน้าของเขาว่าบ่งบอก sex หรือ gender ใด เพราะนั่นไม่ใช่ประเด็นสำคัญเท่าความจริงที่ว่า เขาได้เกิดใหม่และตระหนักถึงความสมบูรณ์ในตัวเองแล้ว ไม่จำเป็นต้องหาใครสักคนมาช่วยเติมเต็มส่วนที่ขาดหายอีกต่อไป เขาไม่ต้องการเสื้อผ้า หรือวิกผมเพื่อช่วยนิยามอัตลักษณ์ของตนเพื่อให้เข้าสังคมหรือชุมชนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด เปรียบได้กับรอยสักบนต้นขาที่เปลี่ยนจากครึ่งของใบหน้าที่หันมาประกบกัน กลายเป็นรูปใบหน้าของคนหนึ่งคน ครบถ้วน ไม่ขาดหาย

บางทีคำตอบสำหรับการค้นหาของเราทุกคนอาจอยู่ที่ภายในต่างหาก ไม่ใช่ภายนอก

ไม่มีความคิดเห็น: