วันจันทร์, ธันวาคม 20, 2564

Rope: เชือกแห่งอคติ

เมื่อเอ่ยถึงภาพยนตร์เรื่อง Rope ของ อัลเฟร็ด ฮิทช์ค็อค หลายคนคงอดไม่ได้ที่จะชื่นชมหลากหลาย long take แบบต่อเนื่องกันตลอดทั้งเรื่อง (อัตราความยาวเฉลี่ยต่อช็อต คือ 7 นาที 45 วินาที แตกต่างชนิดหน้ามือเป็นหลังมือกับหนังยุคใหม่อย่าง The Bourne Ultimatum ซึ่งมีอัตราความยาวเฉลี่ยต่อช็อตที่ 2 วินาที) ตามคำอ้างของฮิทช์ค็อค หนังมีการตัดภาพเพียง 9 ครั้ง (เพื่อเปลี่ยนฟิล์ม) โดยแต่ละช็อตยาวประมาณ 10 นาที นอกจากนี้ ทุกครั้งที่ต้องเปลี่ยนฟิล์ม กล้องจะเคลื่อนไปโคลสอัพสิ่งของที่ปราศจากพื้นผิว หรือรายละเอียด เช่น ด้านหลังเสื้อแจ๊กเก็ตของตัวละคร จากนั้นค่อยจางซ้อน (dissolve) เข้ากับช็อตต่อไป ซึ่งเริ่มต้นด้วยการโคลสอัพสิ่งเดียวกันนั้น เพื่อหลอกคนดูให้รู้สึกเหมือนไม่มีการตัดภาพเกิดขึ้น 

ทว่าในความเป็นจริง หนังตัดภาพมากกว่า 9 ครั้ง โดยมีเพียงสามช็อตเท่านั้นที่กินเวลาเกิน 9 นาที ที่สำคัญ หนังยังใช้การตัดภาพ (cut) แบบไม่พยายามจะปิดบังด้วย หนึ่งในนั้นถือเป็นช็อตสำคัญและส่งผลต่ออารมณ์ของคนดูอย่างมา

ความเข้าใจผิดอีกอย่างเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้ คือ มันไม่ได้มีต้นกำเนิดจากคดีดังของ ลีโอโพลด์-เลิบ ในอเมริกา (สองเด็กหนุ่มรักร่วมเพศ ผู้มีฐานะร่ำรวย มากพรสวรรค์ และป็อปปูล่าในโรงเรียน ร่วมมือกันสังหารลูกพี่ลูกน้องของเลิบเพียงเพื่อความตื่นเต้นของการก่ออาชญากรรมสมบูรณ์แบบ ซึ่งหมายถึงอาชญากรรมที่ไม่ทิ้งร่องรอย หรือเบาะแสใดๆ ให้ตำรวจตามสืบตัวฆาตกรได้) เนื่องจาก แพ็ทริค แฮมิลตัน คนเขียนบทละครเวทีเรื่อง Rope ซึ่งเปิดแสดงในลอนดอนเมื่อปี 1929 แล้วติดตาติดใจฮิทช์ค็อคจนต้องซื้อลิขสิทธิ์มาสร้างเป็นหนัง ยืนกรานว่าเขาไม่เคยได้ยินเกี่ยวกับคดี ลีโอโพลด์-เลิบ มาก่อนเลยจนกระทั่งหลังเขียนบทละครจบแล้ว และผู้คนรอบข้างต่างพูดเป็นเสียงเดียวว่ามันคล้ายคลึงกัน ในช่วงบั้นปลายชีวิต แฮมิลตันเคยให้สัมภาษณ์ว่าไอเดียในการเขียนบทละครเรื่อง Rope เริ่มต้นมาตั้งแต่ ค.ศ. 1922 สองปีก่อนหน้าคดี ลีโอโพลด์-เลิบ

Rope เปิดฉากด้วยการฆาตกรรม โดยหลังจาก แบรนดอน (จอห์น ดาล) กับ ฟิลลิป (ฟาร์ลีย์ แกรงเกอร์) ฆ่ารัดคอ เดวิด (ดิค โฮแกน) จนสิ้นลมแล้ว พวกเขาก็นำศพไปซ่อนในหีบไม้ขนาดใหญ่ ซึ่งก่อนหน้านี้ใช้เก็บหนังสือ แล้วจัดแจงนำอาหาร เชิงเทียน และจานชามมาวางเสิร์ฟบนหีบ พลางย้ายหนังสือไปวางกองบนโต๊ะอาหารแทน เพื่อรอให้ มิสเตอร์เคนท์ลีย์ (เซดริก ฮาร์ดวิค) พ่อของเดวิด มาเลือกยืมตามใจชอบ ใช่แล้ว พวกเขาวางแผนจัดงานปาร์ตี้ล้อมรอบหีบใส่ศพ โดยรายชื่อแขกผู้โชคดี นอกจากมิสเตอร์เคนท์ลีย์แล้ว ประกอบไปด้วย คุณนายแอตวอเทอร์ (คอนสแตนซ์ คอลเลียร์) ป้าของเดวิด, เจเน็ท (โจน แชนด์เลอร์) คู่หมั้นของเดวิด และ เคนเน็ธ (ดั๊กลาส ดิค) อดีตเพื่อนซี้ของเดวิดและคนรักเก่าของเจเน็ท

อย่างไรก็ตาม แขกสำคัญของงาน ได้แก่ รูเพิร์ต (เจมส์ สจ๊วต) อาจารย์ที่แบรนดอนกับฟิลลิปชื่นชม เขาเป็นคนนำเสนอไอเดียเกี่ยวกับศิลปะของการฆาตกรรม และแนวคิดว่าคนบางคนมีเอกสิทธิ์ทางปัญญาเหนือคนบางคน (ซึ่งได้อิทธิพลมาจากทฤษฎี ซูเปอร์แมน ของ ฟรีดดิช นิทซ์เช) ดังนั้น แบรนดอนจึงเชื่อว่ารูเพิร์ตจะเป็นคนเดียวที่ “เข้าใจ” และ “เห็นด้วย” กับการฆาตกรรมครั้งนี้ ขณะฟิลลิปกลับตื่นกลัวว่ารูเพิร์ตจะสังเกตเห็นความผิดปกติและจับได้ว่าพวกเขาสังหารเดวิด 

ความหวาดระแวงของฟิลลิปเป็นจริง เมื่อรูเพิร์ตสังเกตเห็นเค้าราง “พิลึกพิลั่น” มากมายนับแต่เดินทางมาถึง เริ่มจากเสียงบ่นของ คุณนายวิลสัน (อีดิธ อีแวนสัน) แม่บ้านช่างสงสัยที่ไม่เข้าใจว่าเหตุใดจู่ๆ สองหนุ่มจึงตัดสินใจรื้อโต๊ะอาหาร ซึ่งเธออุตส่าห์จัดเตรียมไว้อย่างสวยงาม มาวางหนังสือ แล้วย้ายข้าวของไปยังหีบไม้เก่าๆ ในห้องรับแขก ตามมาด้วยข้อสงสัยของเจเน็ทว่าแบรนดอนจงใจชวนเคนเน็ธมางานเพื่อให้เธอได้คืนดีกับเขา และอาจมีบางอย่างเกิดขึ้นกับเดวิด นอกจากนี้ ฟิลลิปยังแสดงอาการตื่นตระหนกอย่างเด่นชัด เมื่อเห็นมิสเตอร์เคนท์ลีย์เดินถือกองหนังสือมัด “เชือก” เส้นหนึ่งออกมาจากห้องอาหาร หลังจากที่ก่อนหน้า เขาก็เพิ่งเอะอะใหญ่โตจนชวนพิรุธ ขณะเถียงคอเป็นเอ็นว่าไม่เคย “ฆ่า” ไก่เหมือนที่แบรนดอนกล่าวหา

สมมุติฐานของรูเพิร์ตถูกตอกย้ำ เมื่อแม่ของเดวิดตามหาลูกชายไม่เจอและคิดจะโทรไปแจ้งความ ส่งผลให้มิสเตอร์เคนท์ลีย์ต้องขอตัวกลับเพื่อไปปลอบใจภรรยา ระหว่างแขกเหรื่อกำลังร่ำลาเจ้าภาพอยู่ที่ประตู รูเพิร์ตก็ได้รับหมวกผิดใบ ซึ่งข้างในปักอักษรย่อ ดี.เค. (เดวิด เคนท์ลีย์) มันเป็นเบาะแสที่ทำให้รูเพิร์ตมั่นใจว่าเดวิดน่าจะแวะมางานปาร์ตี้แล้ว ก่อนหน้าใครๆ ด้วยซ้ำ แต่เขาหายไปไหน

ไม่ใช่เรื่องยากที่จะอ่านนัยยะรักร่วมเพศใน Rope เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่าเรื่องราวมีส่วนคล้ายคลึงกับคดี ลีโอโพลด์-เลิบ มากแค่ไหน รวมทั้งการวางบุคลิกสองตัวเอกให้คนหนึ่งแข็งกร้าว เฉียบขาด รุนแรง (active) ขณะที่อีกคนปวกเปียก อ่อนไหว และเป็นผู้ตาม (passive) อีกอย่าง หากคุ้นเคยกับผลงานของฮิทช์ค็อค คุณย่อมตระหนักดีว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรก หรือครั้งสุดท้ายที่เขายื่นบทวายร้ายให้รักร่วมเพศ สังเกตได้จาก Strangers on the Train, Rebecca และ Murder หรือบุคคลที่เพศสถานะ “คลุมเครือ” แต่มีพฤติกรรมทางเพศ “เบี่ยงเบน” อย่างชัดเจน ดังจะเห็นได้จากตัวเอกใน Frenzy, Psycho และ Shadow of a Doubt ความขัดแย้งอยู่ตรงพวกเขาเหล่านั้นกลับเป็นตัวละครที่น่าหลงใหลสุด เป็นพลังขับเคลื่อนเรื่องราวที่แท้จริง คุณลักษณะข้างต้นสะท้อนภาวะวิตกจริตของรักต่างเพศ ซึ่งทางจิตวิทยาแล้วถือเป็นสาเหตุเบื้องลึกประการหนึ่งของอาการเกลียดกลัวรักร่วมเพศ (Homophobia) กล่าวคือ รักร่วมเพศให้ความรู้สึกคุกคามในหมู่ชายรักต่างเพศบางคน เพราะพวกเขาคิดว่ามันน่าหลงใหลและถูกกระตุ้นโดยจินตนาการดังกล่าว

นอกจากเปลือกนอกอันเด่นชัด (มอบบทฆาตกรให้รักร่วมเพศ แม้จะเห็นว่ามันมีเสน่ห์ น่าหลงใหล) Rope ยังสะท้อนภาวะเกลียดกลัวรักร่วมเพศในหลายระดับ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ความน่าสนใจของ Rope จึงหาใช่แง่มุมรักร่วมเพศระหว่างบรรทัด (ยอมรับเถอะว่ามันเด่นชัดจนแทบกระแทกสายตาอยู่แล้ว) แต่เป็นความนัยแห่งทัศนคติต่อรักร่วมเพศของหนังที่ส่งผ่านมาเกินครึ่งศตวรรษต่างหาก

ตามหลักความคิดของ ซิกมันด์ ฟรอยด์ ผู้ชายบางคน เมื่อตระหนักถึงความรักต่อชายอีกคน จะนึกหวาดกลัวว่าความรักนั้นอาจพัฒนาไปสู่พฤติกรรมรักร่วมเพศที่โจ่งแจ้ง (และถูกสังคมต่อต้าน) พวกเขาจึงต้องป้องกันตัวเองจากภัยคุกคามด้วยการ “ย้อนศร” และกล่าวประณามความรู้สึกนั้น เพื่อพิสูจน์สมมุติฐานของฟรอยด์ จึงมีการศึกษาทดลองและผลลัพธ์ ที่ตีพิมพ์เป็นบทความในวารสารทางจิตวิทยาภายใต้หัวข้อ “Is Homophobia Associates with Homosexual Arousal?” ก็ระบุชัดว่า กลุ่มตัวอย่างที่แสดงทัศนคติต่อต้านและเป็นปฏิปักษ์กับรักร่วมเพศสูงสุดจะแสดงให้เห็นระดับการถูกปลุกเร้าทางเพศสูงสุดเช่นกัน เมื่อได้ชมหนังโป๊รักร่วมเพศ กล่าวอีกนัยหนึ่ง อาการเกลียดกลัวรักร่วมเพศเป็นปฏิกิริยาตอบโต้ ซึ่งก่อกำเนิดขึ้นเพื่อป้องกันตัวเองจากแรงปรารถนารักร่วมเพศที่ซ่อนลึกอยู่ภายใน โดยผันเปลี่ยนความรักต่อบุคคลเพศเดียวกันเป็นความเกลียดชัง

ฟรอยด์ยังกล่าวอีกว่ารักร่วมเพศที่แอบแฝงและอาการทางจิตแบบหวาดระแวง (paranoia) มีจุดเชื่อมโยงเด่นชัด โดยผลการศึกษาหลายครั้งหลายครายืนยันว่า กลุ่มตัวอย่างผู้มีปมขัดแย้งเกี่ยวกับรักร่วมเพศภายในมักแสดงอาการทางจิตแบบหวาดระแวง ซึ่งมีความสงสัยเป็นองค์ประกอบหลัก โดยบุคคลที่มีอาการนี้ไม่ได้ต้องการค้นหาความจริงเหมือนนักวิทยาศาสตร์ ตรงกันข้าม พวกเขารู้ความจริงอยู่แล้วและต้องการแค่ตอกย้ำความเชื่อมั่นนั้น พวกเขาไม่คิดอยากพิสูจน์สมมุติฐานว่าจริงหรือเท็จ แต่ตระหนักว่าหากทุ่มเทพอ พวกเขาจะพบหลักฐานที่ช่วยยืนยันข้อสงสัยเหล่านั้น ผ่านการคัดเลือกเฉพาะเบาะแสที่สอดคล้อง แล้วมองข้ามเบาะแสที่ขัดแย้ง

เช่นเดียวกัน Rope เปิดเผยความจริงให้คนดูเห็นตั้งแต่ฉากแรก (แบรนดอนกับฟิลลิปรัดคอเดวิดจนสิ้นลม) ส่งผลให้เราใช้เวลาที่เหลือตลอดทั้งเรื่อง นั่งนึกสงสัยว่าเมื่อไหร่สองฆาตกรจะถูกจับได้ บางคนอาจอ้างว่าผลลัพธ์ดังกล่าวไม่ใช่เรื่องแน่นอนเสมอไป แต่หากสังเกตโครงสร้างในเชิงลึก คุณจะพบว่าฮิทช์ค็อคเพียงแค่ชะลอการมาถึงของผลลัพธ์ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงเท่านั้น เพื่อกระตุ้นอารมณ์ระทึกขวัญ (“Mystery” มีรากฐานจากธรรมชาติของภัยคุกคามต้องเป็นความลับ ไม่ล่วงรู้ และอาจระเบิดขึ้นอย่างฉับพลันจนคนดูช็อก ส่วน “Suspense” คนดูจะตระหนักถึงภัยคุกคามนั้น โดยความตื่นเต้นเกิดจากเวลาที่เหลือน้อยลงทุกทีของตัวเอก ขณะหายนะคืบคลานเข้ามา เปรียบเทียบง่ายๆ หนังประเภท “ใครเป็นฆาตกร” ของ อกาธา คริสตี้ ถือเป็น Mystery เพราะความลับมักถูกเปิดเผยในตอนท้าย ส่วนหนังของฮิทช์ค็อคจะเอนเอียงไปทาง Suspense มากกว่า นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเขาถึงตัดสินใจเปลี่ยนบทละครของแฮมิลตันด้วยการให้คนดูเห็นฆาตกรรมตั้งแต่ฉากแรก)

หนังป้อนหลักฐานให้คนดูอย่างต่อเนื่องว่า ฆาตกรรมครั้งนี้หาได้สมบูรณ์แบบเหมือนที่สองฆาตกรวาดหวังไว้ ในหลายฉาก ฮิทช์ค็อคเลือกเน้นย้ำบางเหตุการณ์และมองข้ามบางเหตุการณ์ ตัวอย่างชัดสุด คือ ตอนที่คุณนายวิลสันเริ่มต้นเก็บข้าวของบนหีบ (เก็บศพ) ซึ่งถูกแปลงเป็นโต๊ะอาหารชั่วคราว คนดูจะได้ยินเสียงบทสนทนาของตัวละครอื่นดังมาจากนอกกรอบภาพ แต่ไม่มีโอกาสมองเห็นพวกเขา เพราะกล้องมัวจับจ้องอยู่กับคุณนายวิลสัน ซึ่งไม่มีส่วนร่วมในบทสนทนาแต่อย่างใด อีกฉากที่ให้อารมณ์คล้ายคลึงกันเป็นตอนที่กล้องจงใจตัดภาพ (cut) อย่างกะทันหันและไม่พยายามปิดบัง (หลังถ่ายทำแบบ long take มาตลอด) เมื่อฟิลลิปเริ่มโวยวายว่าเขาไม่เคยฆ่าไก่อย่างที่แบรนดอนกล่าวหา แล้วหันมาโฟกัสยังใบหน้าเคลือบแคลงของรูเพิร์ตในระยะใกล้ ขณะเสียงโต้เถียงของคู่กรณียังคงดำเนินต่อไปนอกกรอบภาพ บางครั้งบทสนทนา/การเล่าเรื่องอาจโดนขัดจังหวะแบบฉับพลัน ด้วยการแพนกล้องไปยังหลักฐานบางชิ้น ซึ่งฮิทช์ค็อคต้องการให้คนดูใส่ใจและจดจำ เช่น กองหนังสือผูกเชือกที่มิสเตอร์เคนท์ลีย์เดินถือออกมาจากห้องทานอาหาร

ทุกครั้งที่หลักฐานแต่ละชิ้นปรากฏขึ้นและยืนยันว่าสถานการณ์ไม่ดำเนินไปตามแผน คนดูก็ยิ่งมั่นใจว่าความจริงต้องถูกเปิดเผย และเริ่มสงสัยว่าเมื่อไหร่เวลานั้นจะมาถึง (คุณนายวิลสันจะเปิดหีบมาพบศพ? ฟิลลิปจะสติแตกและสารภาพ? มิสเตอร์เคนท์ลีย์จะสังเกตเห็นความผิดปกติของเชือก?)

ไม่เพียงทำให้คนดูตกอยู่ในภาวะหวาดระแวงตลอดเวลาเท่านั้น Rope ยังเต็มไปด้วยตัวละครที่มีอาการทางจิตแบบหวาดระแวงด้วย รูเพิร์ตสงสัยว่าต้องมีบางอย่างผิดปกติเกี่ยวกับงานปาร์ตี้ และทุ่มเทความพยายามทั้งหมดเพื่อค้นหาความจริง โดยรับฟังเฉพาะหลักฐานที่ยืนยันความเชื่อ (จากเจเน็ทและคุณนายวิลสัน) แล้วปฏิเสธเบาะแสที่ไม่สอดคล้อง (จากฟิลลิปและแบรนดอน) ขณะเดียวกันเจเน็ทก็มั่นใจว่าแบรนดอนพยายามจะจับคู่เธอกับเคนเน็ธ ด้วยการทำ “บางอย่าง” กับเดวิด แม้แบรนดอนจะยืนกรานปฏิเสธ ส่วนคุณนายวิลสันก็สังเกตเห็นความไม่ชอบมาพากล และพยายามจะพิสูจน์ประเด็นดังกล่าวกับรูเพิร์ตซึ่งเห็นด้วยกับเธอ

ประเด็นข้างต้นอาจนับเป็นอคติทางอ้อมของ Rope ต่อรักร่วมเพศ แต่นัยยะ Homophobia ของหนังยังกินความถึงรูปธรรมที่เด่นชัดด้วย นั่นคือ ความพยายามซุกซ่อนรักร่วมเพศตามนโยบาย “ไม่ถามก็อย่าบอก” (ทุกอย่างที่รักร่วมเพศกระทำในสถานที่ส่วนตัวถือเป็นเรื่องรับได้... ตราบใดที่มันไม่ปรากฏให้เห็น)

บางแง่มุมเกี่ยวกับรักร่วมเพศในบทละครถูกหั่นทิ้ง (สาเหตุหนึ่งคงเพราะระบบเซ็นเซอร์ในยุคนั้น) ชัดเจนสุดได้แก่ บุคลิก “อีแอบ” ของเหยื่อฆาตกรรม (ในบทละครเขาเล่นกีฬา “เพื่อพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่าตนเองเป็นชายทั้งแท่ง”) ซึ่งถูกเปลี่ยนเป็นคู่หมั้นของเจเน็ท ส่วนความนัยเปรียบเทียบรักร่วมเพศว่าทรงภูมิ เปี่ยมรสนิยมทางศิลปะและสติปัญญากว่ารักต่างเพศก็ถูกลดทอนพลังลง เมื่อฮิทช์ค็อคตัดบทชาย (แท้) เซ่อซ่าที่แอบหลงรักหญิงสาวในงานเลี้ยง (เจเน็ท) ออก มิเช่นนั้นแล้วเขาจะกลายเป็นตัวแทนของผู้ชายรักต่างเพศทั่วไปผู้ไร้สุนทรีย์อย่างสิ้นเชิง จนโดนรูเพิร์ตกับแบรนดอนล้อเลียนตลอดทั้งงาน

มุมมองเกี่ยวกับมนุษย์ผู้ต่ำต้อย (Inferior) และผู้อยู่เหนือกว่า (Superior) ในหนังกลายมาเป็นบทเปรียบเทียบกับทฤษฎีรักต่างเพศ (Heterosexism) ซึ่งกลุ่มเกย์โจมตีว่าเป็นต้นกำเนิดของอาการเกลียดกลัวรักร่วมเพศ เนื่องจากแก่นของทฤษฎีดังกล่าว คือ การอนุมานว่าโลกนี้มีเพียง และจำเป็นต้องมีเพียง ความรักระหว่างชายหญิงเท่านั้น พร้อมทั้งมอบเอกสิทธิ์ให้คนที่ปฏิบัติตามเกณฑ์เหนือคนที่ไม่เข้าข่าย ยกฐานันดรที่เหนือกว่า (Superior) ให้รักต่างเพศ แล้วโยนสถานะต่ำต้อยทางสังคม (Inferior) ให้รักร่วมเพศ โดยประชาชนชาวรักต่างเพศล้วนได้สิทธิ์การแสดงออกอย่างเสรี ขณะพวกรักร่วมเพศต้องหลบเข้ามุมมืด หุบปากเงียบ และทำทุกอย่างในที่ลับตา

ด้วยเหตุนี้ ข้ออ้างของแบรนดอนกับฟิลลิปในการฆ่าเดวิด (เพราะพวกเขาเหนือกว่า) จึงเปรียบเสมือนภาพสะท้อนของกลุ่มเกลียดกลัวรักร่วมเพศที่ลงมือทำร้ายเกย์และเลสเบี้ยน เพราะพวกเขาเห็นว่ารักร่วมเพศ “ต่ำต้อย” และไม่มีสิทธิ์จะใช้ชีวิตบนโลกใบนี้ อคติทางเพศ (รวมถึงอคติทางเชื้อชาติ) ล้วนถูกหล่อเลี้ยงด้วยแนวคิดว่าตนถือสิทธิ์ชอบธรรมในการครอบงำและควบคุมผู้อื่น ซึ่งถูกมองว่าต่ำต้อยกว่าตน

ความรักระหว่างเพศชายในหนังเรื่อง Rope ล้วนถูกปิดบังอำพราง (แบรนดอน-ฟิลลิป, แบรนดอน-รูเพิร์ต, เดวิด-แบรนดอน-รูเพิร์ต) ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงกลับได้รับการเฉลิมฉลอง หรืออย่างน้อยก็พูดถึง แม้ว่าบุคคลดังกล่าวจะไม่ปรากฏตัวให้เห็นเลยก็ตาม คำถามสองข้อ ซึ่งถูกเน้นย้ำตลอดทั้งเรื่อง คือ เดวิด ชายหนุ่มที่หนังตีตราให้เป็นคู่หมั้นของเจเน็ทและกำลังจะแต่งงานกัน หายไปไหน และ แบรนดอนวางแผนจะจับคู่เคนเน็ธกับเจเน็ทใช่ไหม นอกจากนี้ บทหนังยังอุตส่าห์หยอดอารมณ์กุ๊กกิ๊กระหว่างคุณนายวิลสันกับรูเพิร์ตเข้ามาเสริม ส่วนคุณนายเคนท์ลีย์ ก็โดนเอ่ยอ้างถึงอยู่สองสามครั้ง แม้คนดูจะไม่มีโอกาสเห็นหน้าเธอเลยก็ตาม ตรงกันข้าม เรากลับต้องทำงานอย่างหนักในการค้นหาแง่มุมรักร่วมเพศ ซึ่งถูกซุกซ่อน บดบังไว้ใต้เงามืด ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงถูกหยิบยื่นมาให้ตรงหน้า ทั้งภาพและเสียง

ในสายตาของนักวิจารณ์ภาพยนตร์ ธีโอดอร์ ไพรซ์ Rope สัมพันธภาพระหว่างรูเพิร์ตกับแบรนดอนมีความน่าสนใจ โดยเขามองว่าการฆาตกรรมเดวิดเปรียบเสมือนบทสารภาพรักของแบรนดอนต่อรูเพิร์ต เพราะเช่นเดียวกับหนังฮิทช์ค็อคอีกหลายเรื่อง การฆาตกรรมเป็นสัญลักษณ์ของกิจกรรมทางเพศ แบรนดอนพูดกับอาจารย์ที่เขานับถือว่า “คุณเอาแต่พร่ำบ่นถึงแผนฆาตกรรม บอกว่ามันช่างน่าตื่นเต้นและน่าสนุก แต่ทำไมคุณถึงไม่กล้าลงมือทำจริงๆ แล้วลิ้มรสความสนุกเสียที” ประโยคดังกล่าวสามารถถอดรหัสได้ว่า “คุณได้แต่สงสัยว่ารักร่วมเพศน่าตื่นเต้นและน่าสนุก แต่ทำไมคุณถึงไม่กล้าลงมือทำจริงๆ เสียที” การฆาตกรรมจึงเปรียบดังบทยั่วยวนทางเพศของหนุ่มน้อยที่มอบให้แก่หนุ่มใหญ่ ในตอนท้ายแบรนดอนยังพูดย้ำอีกว่า “ฟิลลิปกับผมได้ลงมือทำในสิ่งที่คุณกับผมได้แต่พูดถึง

สิ่งที่ควรนำมาวิเคราะห์ต่อ คือ นัยยะซึ่งโยงใยกับสมมุติฐานข้างต้น รูเพิร์ตสัมผัสถึงแรงปลุกเร้าของรักร่วมเพศ แต่ไม่กล้าพอจะยอมรับ ต่อมาเมื่อแบรนดอนสารภาพการกระทำของเขา แทนที่จะเปิดเผยตัว รูเพิร์ตกลับถอยร่นแล้วแสดงท่าทีรังเกียจ ขยะแขยงการนำ “อุดมคติ” ของเขามาถ่ายทอดเป็นรูปธรรม “ต้องมีบางอย่างลึกๆ ในตัวเธอที่บีบให้เธอทำสิ่งนี้ และก็มีบางอย่างลึกๆ ในตัวฉันที่คอยป้องกันไม่ให้ฉันทำและไม่ปล่อยให้ฉันยอมเป็นส่วนหนึ่งของมันด้วย” รูเพิร์ตกล่าว “คืนนี้เธอทำให้ฉันละอายใจต่อแนวคิดเกี่ยวกับผู้ต่ำต้อยและผู้อยู่เหนือกว่า ตอนนี้ฉันรู้แล้วว่ามนุษย์แต่ละคนแตกต่างกัน

ดังได้กล่าวไปแล้วก่อนหน้านี้ อาการเกลียดกลัวรักร่วมเพศเกิดจากความชิงชังต่อแรงปรารถนาเพศเดียวกันที่ซ่อนลึกและกดทับอยู่ภายใน (“สิ่งที่คุณเกลียดเกี่ยวกับตัวเองมากที่สุดจะกลายเป็นอาวุธที่คุณใช้กล่าวหาโจมตีคนอื่น”) เมื่อมองเช่นนี้ รูเพิร์ตจึงไม่เพียงจะมีบุคลิกของอาการทางจิตแบบหวาดระแวงเท่านั้น เขายังแสดงอาการเกลียดกลัวรักร่วมเพศอย่างเด่นชัดอีกด้วย จากคำอธิบายที่ว่ามี “บางอย่าง” ในตัวเขาที่ป้องกัน (กดทับ) ไม่ให้เขา “ลงมือทำ” ตามใจปรารถนา นอกจากนี้ เขายังละอายใจแทนคนที่ลงมือทำในสิ่งที่เขาเอาแต่พูดถึงเท่านั้นด้วย ภาวะเกลียดตัวเองและไม่ยอมรับความรู้สึกภายในของแบรนดอนจึงสะท้อนตัวตนของชายที่เกลียดกลัวเกย์ ส่วนปฏิกิริยาเชิงลบของเขาก็ไม่ต่างจากพฤติกรรมลงมือทำร้ายเกย์ (gay bashing) ของคนเหล่านั้น “ไม่สำคัญหรอกว่าฉันจะทำยังไง แต่สังคมต่างหากจะเป็นคนจัดการเธอ... เธอจะต้องตาย แบรนดอน เธอทั้งสองคนนั่นแหละ” รูเพิร์ตเปล่งเสียงอย่างโกรธแค้น (บทพูดดังกล่าวถูกเปลี่ยนจาก “เธอจะถูกแขวนคอ” ในเวอร์ชั่นละครเวที มาเป็น “เธอจะต้องตาย” ในเวอร์ชั่นหนัง ซึ่งให้ความรู้สึกเหมือนรูเพิร์ตขู่จะฆ่าพวกเขา แทนการปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามระบบ)

การเอ่ยอ้างถึงสังคมของรูเพิร์ตช่วยระบุถึงรากเหง้าแห่งอคติทางเพศ เพราะสังคมเป็นตัวกำหนดมาตรฐานว่าอะไร “ปกติ” และ “ไม่ปกติ” ก่อนจะสร้างเส้นแบ่งแห่งความคุ้นเคย แห่งความอุ่นใจ เพราะโดยธรรมชาติมนุษย์ย่อมหวาดกลัวคนแปลกหน้า และความแตกต่าง แต่การแบ่งเขาแบ่งเรา แล้วตัดสินว่าใครเหนือกว่า ใครต่ำกว่า ไม่ใช่หรือที่เป็นบ่อเกิดของความรุนแรง ตลอดจนปัญหาเรื้อรังไม่สิ้นสุด ฉะนั้น เพื่อทำความเข้าใจภาวะหวาดกลัวรักร่วมเพศ การตระหนักว่าบุคคลเหล่านั้นถูกกระตุ้นโดยจินตนาการรักร่วมเพศของตนถือว่าไม่เพียงพอ แต่คุณต้องเข้าใจว่า “เหตุใด” พวกเขาจึงรู้สึก “เชิงลบ” ต่อแรงปรารถนาเหล่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น: