วันอาทิตย์, ธันวาคม 19, 2564

Carol: ค่างวดของความรัก

ในลักษณะเดียวกับ Brokeback Mountain ซึ่งนำเสนอตัวละครชายรักชายเป็นคาวบอยแมนๆ มีลูกเมีย ปราศจากบุคลิกกระตุ้งกระติ้งแบบที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยเวลาพูดถึงเกย์ หรือกะเทย Carol เป็นหนึ่งในภาพยนตร์กระแสหลักที่ทำลายภาพลักษณ์เหมารวมของตัวละครหญิงรักหญิงเช่นกันด้วยการนำเสนอพวกเธอเป็นผู้หญิงที่แต่งหน้า ทาเล็บ สวมประโปรง และปราศจากท่าทางทอมบอยแบบที่เราคุ้นเคยเวลาพูดถึงเลสเบี้ยน ฉากที่ เทเรซ (รูนีย์ มาราไปซื้อแผ่นเสียงเป็นของขวัญคริสต์มาสให้แครอล (เคท แบลนเช็ตต์เธอเหลือบเห็นเลสเบี้ยนมาดทอมสองคนในร้าน สำหรับเทเรซ เธอไม่ได้รู้สึก “เข้าพวก” กับทั้งสองมากไปกว่าบรรทัดฐานของสังคมชายรักหญิง

ฉากถัดมาเทเรซถาม ริชาร์ด (เจค เลซีแฟนหนุ่มที่เธอไม่ได้รักหรืออยากมีสัมพันธ์ทางเพศด้วย ว่าเขาเคยตกหลุมรักผู้ชายหรือเปล่า เขาตอบปฏิเสธ แต่คุณเคยได้ยินใช่ไหม” เธอถามต่อ “หมายถึงผมเคยได้ยินเรื่องคนแบบนั้นหรือเปล่าน่ะเหรอ แน่นอน” เขาตอบโดยเข้าใจว่าเทเรซหมายถึงเกย์ หรือเลสเบี้ยนแบบที่คนทั่วไปเข้าใจโดยใช้คำว่า “คนแบบนั้น” แต่ความหมายของเทเรซคือคนสองคนที่ตกหลุมรักกัน ถูกดึงดูดเข้าหากัน แต่บังเอิญว่าทั้งสองมีเพศเดียวกัน “ผมไม่รู้จักใครแบบนั้น แต่จะบอกให้ก็ได้ มันต้องมีเหตุผลอธิบายได้จากวัยเด็ก” ริชาร์ดกล่าว (ในนิยายต้นฉบับ แพ็ทริเซีย ไฮห์สมิธ เองก็บรรยายความแปลกใจของเทเรซ เมื่อเธอพบว่าประสบการณ์หญิงรักหญิงของเธอไม่สอดคล้องกับภาพลักษณ์ “ทอม-ดี้” ที่พบเห็นได้ทั่วไป “เธอเคยได้ยินเรื่องผู้หญิงที่ตกหลุมรักเพศเดียวกัน และเธอก็รู้ว่าคนพวกนั้นเป็นคนแบบไหนและมีบุคลิกท่าทางแบบใด แต่ทั้งเธอและแครอลไม่ได้ดูเหมือนคนพวกนั้นเลย”)

สำหรับริชาร์ด เขาไม่เชื่อว่าความรักสามารถเกิดขึ้นกับคนเพศเดียวกันได้ เว้นแต่คุณจะมีปัญหาทางจิตบางอย่าง เช่น ชายอยากเป็นหญิง หรือหญิงอยากเป็นชาย เขาวางมาตรฐานไว้ชัดเจน เคร่งครัดว่าชายต้องคู่กับหญิง และอะไรก็ตามที่ต่างจากนั้นคือผิดปกติ เป็นมาตรฐานเดียวกับที่ใช้ตัดสินว่าแครอลจำเป็นต้องพบจิตแพทย์ หากเธอหวังจะได้สิทธิ์เลี้ยงดูลูกสาวร่วมกับสามี หลังฮาร์จ (ไคล์ แชนด์เลอร์) จับได้ว่าเธอแอบมีสัมพันธ์กับเทเรซ เป็นไปได้ไหมว่าความโกรธของเขาทับถมเป็นเท่าทวีเพราะคนรักใหม่ของแครอลเป็นผู้หญิง ซึ่งบั่นทอนอัตตาความเป็นชายของเขาให้ตกต่ำ จากการที่เขาไม่อาจให้ความสุขกับหญิงคนรักได้มากพอจนเธอต้องหนีไปหาคนเพศเดียวกัน เขาจะเจ็บแค้นขนาดนี้ไหมถ้าคนรักใหม่ของแครอลเป็นผู้ชายอีกคน หรือเขาจะทำใจยอมรับได้ง่ายขึ้น

น่าสังเกตว่าแครอลมีพลังคุกคามความเป็นชายของฮาร์จตรงที่เธอ (แม้จะใช้ชีวิตอยู่ในช่วงยุค 1950) ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเขาทั้งด้านการเงิน สังคม และจิตใจ เธอสามารถใช้ชีวิตอิสระโดยไร้สามีได้อย่างไม่มีปัญหา ดังจะเห็นว่าเธอเลือกย้ายไปอยู่อพาร์ตเมนต์ตามลำพังในช่วงท้ายเรื่อง แถมยังมีงานมีการทำ เป็นฝ่ายจัดซื้อให้บริษัทขายเฟอร์นิเจอร์ เธอไม่ใช่แม่บ้านที่ปราศจากความรู้ หรือทักษะ และต้องพึ่งพาสามีให้เป็นเสาหลักในการหาเลี้ยงชีพดังเช่นเพื่อนบางคน (ในฉากหนึ่งเธอแซวเพื่อนที่หลบมาสูบบุหรี่เพราะสามีสั่งห้ามว่า “ไม่งั้นทำไม เขาจะตัดเบี้ยเลี้ยงเธอเหรอ” แครอลดูจะไม่เห็นชอบความคิดที่ว่าเราจำเป็นต้องเลิกความสุขบางอย่างเพียงเพื่อเอาใจสามีเทเรซก็มีภาพลักษณ์ผู้หญิงอิสระไม่แพ้กัน เธอสนใจการถ่ายภาพ และไม่ต้องการเป็นพนักงานขายในห้างสรรพสินค้าไปตลอด ความมุ่งมั่น ทะเยอทะยานในอาชีพการงานของเธอนำไปสู่อาการน้อยเนื้อต่ำใจของเพศชาย ซึ่งเริ่มต้นจากคำหยอกขำขัน (“เธอตื่นเต้นกับกล้องถ่ายรูปมากกว่าการจะได้ล่องเรือไปยุโรปกับฉันซะอีก”) ก่อนจะทับถมต่อเนื่องจนกลายเป็นความกังวลจริงจัง เช่น เมื่อเทเรซเล่าว่าอยากรวบรวมผลงานเพื่อนำไปเสนอกับ นิวยอร์ก ไทมส์ ริชาร์ดกลับไม่ใส่ใจฟัง เอาแต่ทวงถามว่าเธอจะไปยุโรปกับเขาหรือเปล่า สำหรับเขาอาชีพการงานของผู้หญิงไม่ควรจะมีความสำคัญมากไปกว่าการได้แต่งงาน มีครอบครัวเป็นหลักแหล่ง

ในทางตรงกันข้าม แครอลนอกจากจะเป็นแรงบันดาลใจหนึ่งให้เทเรซลุกขึ้นมาสนใจถ่ายภาพ “ผู้คน” แทนการโฟกัสไปยังต้นไม้ นก หน้าต่างแล้ว เธอยังกระตือรือร้นที่จะขอดูผลงานของเทเรซ และซื้อกล้องให้เป็นของขวัญคริสต์มาสเพราะจำได้ว่าเทเรซเคยบ่นเรื่องกล้องของตัวเอง “แอ็บบี้บอกว่าเธอกำลังไปได้สวย” แครอลพูดถึงอาชีพใหม่ของเทเรซที่ นิวยอร์ก ไทมส์ ในช่วงท้ายเรื่อง “เธอไม่รู้หรอกว่าฉันดีใจแทนเธอมากแค่ไหน” สำหรับแครอล ความสุข ความก้าวหน้าของเทเรซมีค่าเหนืออื่นใด แม้ว่าจะต้องแลกมาด้วยความเจ็บปวดจากการไม่อาจครอบครอง ทัศนคติดังกล่าวตรงข้ามกับฮาร์จ ที่พยายามทำทุกวิถีทาง แม้กระทั่งจับลูกสาวเป็นตัวประกัน เพื่อไม่ให้แครอลสุขสมหวังโดยใช้ความรักเป็นข้ออ้าง กล่าวคือ หากเขาไม่ได้เธอมาครอบครอง คนอื่นก็อย่าหวังว่าจะได้เธอไป

งานกำกับภาพอันวิจิตร งดงามของ เอ็ดเวิร์ด ลาคแมน หลายครั้งเป็นช็อตถ่ายผ่านกระจกรถ หน้าต่างอาคาร ซึ่งไม่ได้กระจ่างใส แต่ค่อนข้างพร่ามัว เลอะคราบ มีหยดน้ำเกาะ หรือเงาสะท้อนซ้อนทัน ในแง่หนึ่งมันบ่งบอกภวังค์รักและความหลงใหลได้อย่างเป็นรูปธรรม แต่อีกแง่หนึ่งมันเป็นภาพแทนของภาวะไม่อาจเข้าถึง

เราไม่รู้ว่าทำไมถึงถูกใจบางคน แต่ไม่ถูกใจบางคน สิ่งเดียวที่รู้ คือ เรารู้สึกหลงใหลหรือไม่หลงใหลคนๆ นั้น แดนนี่ (จอห์น มากาโรบอกเทเรซตอนพาเธอไปเยี่ยมชมออฟฟิศของ นิวยอร์ก ไทมส์ เพราะเขา “ถูกใจ” เธอ แต่เทเรซกลับหลงใหลในตัวแครอลตั้งแต่แรกพบ ซึ่งเธอเองก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าทำไม ทั้งสองดึงดูดเข้าหากันราวแม่เหล็ก ไม่ใช่เพราะต่างเป็นรักร่วมเพศ เนื่องจากมองผิวเผินภายนอก แครอลกับเทเรซเหมือนผู้หญิงทั่วไป ผู้กำกับ ท็อด เฮย์นส์ และคนเขียนบท ฟิลลิส นอจ ตอกย้ำประเด็นนี้อย่างชัดเจนด้วยการเปิดเรื่องให้ แจ๊ค (เทรนท์ โรวแลนด์เพื่อนคนหนึ่งของเทเรซบังเอิญมาเจอเธอในร้านอาหาร ขณะกำลังนั่งคุยอยู่กับแครอล ทุกอย่างดูปกติ เหมือนการพบปะระหว่างเพื่อนหญิงสองคน จากนั้นหนังก็ค่อยๆ ย้อนไปเล่าความเป็นมาทั้งหมด เริ่มต้นตั้งแต่การเจอกันครั้งแรกในห้างสรรพสินค้า จนกระทั่งเมื่อหนังเวียนมาบรรจบที่ฉากดังกล่าวอีกครั้งในช่วงท้ายเรื่อง ฉากที่ดูสามัญ ธรรมดาในตอนแรกกลับเต็มเปี่ยมไปด้วยอารมณ์โหยหา ภาพที่แครอลวางมือลงบนไหล่เทเรซก่อนบอกลาจากกันสูบฉีดไปด้วยพลังและความหมายลึกซึ้ง

นิยายต้นฉบับของ Carol มีชื่อว่า The Price of Salt ไฮห์สมิธเขียนโดยใช้นามแฝงว่า แคลร์ มอร์แกน หลายคนเชื่อว่าชื่อเรื่องดังกล่าวอ้างอิงไปถึงตำนานของล็อตในคัมภีร์ไบเบิล (สองเทวดาได้รับเชิญให้มาพักค้างคืนที่บ้านของล็อต เมื่อฟ้าใกล้สางเทวดาทั้งสองได้บอกให้ล็อตกับครอบครัวหลบหนีไปจากเมืองนี้ก่อนหายนะจะบังเกิด ทั้งสองบอกให้พวกเขาวิ่งหนีสุดชีวิต อย่าเหลียวหลังกลับ หรือหยุดพักที่ไหนเด็ดขาด แต่ภรรยาของล็อตไม่เชื่อคำสั่งและเหลียวหลังกลับ เธอจึงกลายร่างเป็นเสาหินแห่งเกลือเพราะเช่นเดียวกับภรรยาของล็อต แครอลไม่อาจย้อนกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมได้ ชีวิตการแต่งงานหลอกๆ ก่อนจะได้พบกับเทเรซ ด้วยเหตุนี้ เธอจึงจำเป็นต้องเสียสละลูกสาวให้กับฮาร์จ ยอมให้เขาเป็นผู้เลี้ยงดูรินดี้ (เซดี้ ไฮม์) นั่นคือราคาที่เธอต้องจ่ายเพื่อให้สามารถมีชีวิตต่อไปโดยไม่ต้องหลบซ่อนอยู่ใต้เปลือกที่สังคมบีบบังคับ และรักษาปัจเจกภาพเอาไว้

ในนิยายเกลือดูเหมือนจะถูกใช้เป็นสัญลักษณ์แทนบางสิ่งที่ทรงคุณค่า มีความสำคัญ ฉะนั้นการติด “ราคา” ให้มันจึงกระตุ้นความรู้สึกสูญเสียไปพร้อมๆ กัน ความรู้สึกว่าบางอย่างจำเป็นต้องสูญสลายเพื่อให้อีกอย่างสามารถดำรงอยู่ต่อไปได้ อาจหมายถึงการเสียสละรินดี้ของแครอลเพื่อให้เธอสามารถดำรงความรักที่มีต่อเทเรซ หรือเป็นบทเปรียบเปรยธรรมชาติแห่งความรัก ซึ่งย่อมมีความเจ็บปวด การสูญเสียผูกติดมาเสมอ เฉกเช่นเมื่อเทเรซเปิดใจให้แครอล แต่กลับโดนเธอทอดทิ้งในท้ายที่สุด หรือกระทั่งตอนที่แครอลหวนกลับมา ร้องขอให้เทเรซไปอยู่ด้วยกัน ในแง่หนึ่งเทเรซก็จำเป็นต้องสูญเสียชีวิตใหม่ที่เธอกำลังเริ่มเรียนรู้เพื่อให้อยู่ต่อไปได้หลังปราศจากแครอล ที่ฉากงานเลี้ยงก่อนเทเรซจะตัดสินใจกลับไปหาแครอล คนดูจะเห็นราคาที่เธอจำเป็นต้องจ่าย (ริชาร์ด ซึ่งตอนนี้มีแฟนสาวคนใหม่/หญิงสาววัยใกล้เคียงกันที่เข้ามา จีบ” เธอเพื่อหล่อเลี้ยงความรักระหว่างเธอกับแครอลต่อไป

จุดเด่นที่แตกต่างของ Carol จากนิยายในยุคสมัยนั้น คือ ฉากจบ แฮปปี้ เอนดิ้ง สำหรับสองตัวละครหญิง แต่ความอิ่มเอมหาได้เกิดจากการได้เห็นความรักลงเอยอย่างมีความสุข (หรือมีแนวโน้มว่าจะมีความสุขเท่านั้น มันยังรวมถึงความกล้าหาญของตัวละครที่จะปฏิเสธบรรทัดฐานของสังคมชายเป็นใหญ่ สังคมชายรักหญิง จากการที่แครอลเลือกยอมเสียสละลูกสาวเพื่อรักษาตัวตนเอาไว้ “จะมีประโยชน์อะไรถ้าฉันต้องใช้ชีวิตโดยหลอกตัวเอง” เธอกล่าวในห้องรับฟังคดี หลังจากยืดอกยอมรับความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับเทเรซว่าเป็นความต้องการที่แท้จริงของเธอ ขณะมีสติสัมปชัญญะครบถ้วน หาใช่ผลจากพฤติกรรมโหดร้ายของสามีเธอดังที่ทนายเธอ (เควิน โครวลีย์พยายามโน้มน้าวแต่อย่างใด

ด้วยเหตุนี้ ความแตกต่างของ Carol กับ Brokeback Mountain จึงไม่ได้อยู่ตรงแค่ชะตากรรมสุดท้ายของสองคู่รักที่ตรงข้ามราวฟ้ากับเหวเท่านั้น ความพ่ายแพ้ของ เอนนิส เดล มาร์ ใน Brokeback Mountain ไม่ใช่แค่การปฏิเสธข้อเสนอของคู่รักให้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน แต่ยังรวมถึงการปฏิเสธที่จะยอมรับตัวตน ยอมรับความรักที่เขามีให้ แจ๊ค ทวิสต์ ส่วนชัยชนะของแครอลอยู่ตรงการเลือกจะยอมรับความต้องการที่แท้จริงของตน แม้ว่ามันจะนำมาซึ่งความเจ็บปวดจากการสูญเสียบางอย่างไป แต่นั่นเป็นราคาที่เธอยินดีจ่าย เพื่อดำรงไว้ซึ่งคุณค่าภายในตัวเอง ดังเช่นคำกล่าวในคัมภีร์ไบเบิลที่ว่า “หากเกลือสูญเสียความเค็มไปแล้ว มันจะยังเป็นเกลืออยู่ได้อย่างไร เกลือนั้นย่อมไร้ค่า มีแต่จะถูกทอดทิ้งให้คนเหยียบย่ำ

ไม่มีความคิดเห็น: