วันจันทร์, ธันวาคม 20, 2564

Rocketman: สวรรค์ในอก นรกในใจ

มีตอนหนึ่งของซิทคอมเรื่อง Will & Grace เล่าถึงความสัมพันธ์ต่างรุ่นระหว่างวิล (เอริค แม็คคอร์แม็ค) เกย์หนุ่มใหญ่วัย 40 กว่ากับ เบลค (เบน แพลตต์) เกย์หนุ่มวัย 20 ต้นๆ ซึ่งแอบปิ๊งกันในผับจนนำไปสู่การนัดเดทดินเนอร์ แต่ไม่นานวิลก็พลันตระหนักว่าพวกเขาไม่เพียงจะแตกต่างกันในเรื่องอายุ รสนิยมเพลง เสื้อผ้า หรือแนวคิดในการใช้ชีวิตเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงทัศนคติเกี่ยวกับรักร่วมเพศอีกด้วย วิลเล่าว่าตอนเขาเปิดเผยความจริงกับที่บ้าน เช่นเดียวกับคนส่วนใหญ่ในยุคนั้น เขาได้เสียงตอบรับไม่สู้ดีเท่าไหร่ แม่ร้องห่มร้องไห้ ส่วนพ่อก็ใช้เหล้าแก้ปัญหา ขณะที่เบลคเล่าว่าเขาบอกที่บ้านตั้งแต่ตอนแปดขวบ และถึงพ่อกับแม่จะหย่ากันแล้ว แต่ทั้งสองต่างจัดงานเลี้ยงฉลองเปิดตัวให้ลูกชายในสัปดาห์เดียวกัน ความ “ไม่มีปม” หรือ“ปราศจากความอับอาย” จากอารมณ์รักร่วมเพศของเบลคเพราะทุกคนรอบข้างล้วนยอมรับ เห็นชอบ สะกิดใจวิลให้หงุดหงิด รำคาญ (“เราจะพูดว่าเดี๋ยวทุกอย่างก็ดีขึ้นเองได้ไง ในเมื่อไม่มีปัญหาอะไรตั้งแต่แรก”) จนเด็กหนุ่มตั้งข้อสังเกตว่า เกย์สูงวัยนี่ดรามาจัง

แถมเมื่อขุดลึกลงไปวิลยิ่งพบว่าเบลคไม่รู้เรื่องรู้ราวเกี่ยวกับต่อสู้เรียกร้องสิทธิ์ของชาวเกย์รุ่นก่อนหน้าเลย (“ผมไม่ใช่แฟนพันธุ์แท้ประวัติศาสตร์”) เขาแยกไม่ออกด้วยซ้ำว่า สโตนเฮนจ์ กับ สโตนวอล แตกต่างกันอย่างไร เขาเติบโตมาในสภาพสังคมที่เปิดกว้างเกี่ยวกับเพศวิถี ซึ่งแน่นอนว่าเป็นผลจากการต่อสู้ดิ้นรนของเกย์สูงวัยทั้งหลายในตอนนี้ ปัจจุบันการเป็นเกย์ดูจะไม่ใช่เรื่องใหญ่เรื่องโตอีกต่อไป เด็กรุ่นใหม่อาจสะดวกใจขึ้นกับการเป็นเกย์/เลสเบี้ยน ไม่ต้องพบเจอการดูหมิ่นเหยียดหยามมากเท่า และเห็นบุคคลตามสื่อที่พวกเขาสามารถเชื่อมโยงได้เยอะกว่าเมื่อเทียบกับสภาพสังคมเมื่อหลายสิบปีก่อน ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงอาจไม่เข้าใจว่าทำไมเกย์ยุคก่อนถึงได้ดรามากันจัง ทำไมต้องกล้ำกลืน ขมขื่น ทำไมต้องมีความรู้สึกผิด หรืออับอาย

เอลตัน จอห์น หรือ เรจินัลด์ ดไวท์ ก็เป็นหนึ่งในเกย์รุ่นบุกเบิกประเภทนั้น เขาเติบโตในยุค 50 ก่อนการประท้วงหน้าผับสโตนวอลในปี 1969 ซึ่งจุดประกายเรียกร้องสิทธิ์ให้กับเหล่ารักร่วมเพศ ความรู้สึกว่าตัวเองแตกต่างจากคนอื่นจากสังคมที่ถูกครอบงำอย่างเข้มข้นด้วยแนวคิดสองเพศคือหนึ่งในโครโมโซมหลักของเกย์ยุคนั้น ในหนังเรื่อง Rocketman ปมสำคัญอย่างหนึ่ง คือ ความพยายามของเรจจี้ที่จะเรียกร้องความเห็นชอบจากพ่อ ซึ่งทำตัวเย็นชาและเหินห่าง ไม่เคยแม้แต่จะกอดทักทายลูกชายยามกลับจากภารกิจประจำการ หรือกล่าวอำลาเมื่อชีวิตสมรสพังทลาย สมัยเด็กๆ เรจจี้หวังว่าพรสวรรค์ทางเปียโนอาจช่วยผูกสัมพันธ์กับคุณพ่อผู้รักเสียงดนตรีได้ แต่ก็ต้องล้มเหลวไม่เป็นท่า

หนังไม่ได้ระบุชัดเจนว่าเหตุใดสแตนลีย์ (สตีเวน แม็คคินทอช) ถึงแสดงท่าทีชิงชังลูกชายคนเดียวของเขา เพราะความสัมพันธ์ระหองระแหงกับภรรยา ชีลา (ไบรซ์ ดัลลัส ฮาเวิร์ด) ทำให้เขาพลอยทำตัวเหินห่างกับเรจจี้ หรือเพราะความเป็นชายอันเข้มข้นและเป็นพิษทำให้เขามีปัญหาในการแสดงความรัก ความอ่อนโยน? อาชีพในกองทัพอาจเป็นสาเหตุหนึ่งของท่าทีแข็งกระด้าง สภาพแวดล้อมเยี่ยงนั้นย่อมเพาะพันธุ์ความทรหด ความแข็งกร้าว เก็บกดความรู้สึก ความอ่อนแอไว้ข้างใน ขณะเดียวกันความประพฤติอันเรียบร้อย เก็บตัว สนใจแต่เรื่องดนตรีและแฟชั่น (ในฉากหนึ่งสแตนลีย์เอ็ดลูกชายที่เปิดดูนิตยสารแฟชั่นของชีลา หยุดเลย แกไม่ใช่เด็กผู้หญิง) ยิ่งทำให้เรจจี้กลายเป็นเด็กประหลาดในสายตาของนายทหาร เขาหลุดจากกรอบมาตรฐานความเป็นชาย และถูกตักเตือนในความผิดปกติดังกล่าวอยู่ตลอดเวลา

แม้กระทั่งเมื่อเติบใหญ่ กลายเป็นนักร้องชื่อก้องโลกในนาม เอลตัน จอห์น แล้ว เรจจี้ในวัยหนุ่ม (ทารอน เอเจอร์ตัน) ก็ยังไม่วายโหยหาความเห็นชอบจากพ่อ ซึ่งตอนนี้แต่งงานใหม่และมีลูกชายสองคน ความน้อยเนื้อต่ำใจเมื่อได้เห็นพ่อผู้เย็นชาไม่ได้ปลาบปลื้ม หรือภูมิใจในความสำเร็จของเขาแม้แต่น้อย แถมยังแสดงความรักใคร่ สนิทสนมกับลูกๆ ทั้งสองตามแบบฉบับคุณพ่อผู้อบอุ่น ยิ่งตอกย้ำปมในใจของเรจจี้ว่าเขาเป็น “ความผิดพลาด” เป็นตัวประหลาดที่ไม่คู่ควรกับความรัก ความเอาใจใส่

ไม่เพียงความสัมพันธ์ระหว่างเขากับพ่อเท่านั้นที่กัดกร่อนตัวตนรักร่วมเพศของเรจจี้ แต่ยังรวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างเขากับแม่อีกด้วย ซึ่งสะท้อนเด่นชัดในฉากที่เขาตัดสินใจบอกเธอทางโทรศัพท์ว่าเขาเป็นเกย์ อารมณ์ขมขื่นในตัวเอลตันหลั่งไหลทะลักทลายผ่านสารพัดคำนิยามแง่ลบที่เขาใช้อธิบายตัวเองกับแม่ “ตุ๊ด กะเทย ลักเพศพร้อมกันนั้นคำตอบที่เขาได้ฟังจากปากแม่แท้ๆ ก็ยิ่งสนับสนุนการดูหมิ่นตัวเองของเขา เธอรู้มานานแล้วว่าเขาเป็นเกย์ และคิดว่าเขาควรจะเก็บเรื่องนี้ไว้กับตัวเองพอ ไม่ควรป่าวประกาศบอกใคร ก่อนจะสรุปตบท้าย “แกคงรู้ตัวนะว่ากำลังเลือกเส้นทางชีวิตอย่างโดดเดี่ยวไปจนตาย ไม่มีใครจะรักแกจริงหรอก (หนังตอกกลับอคติดังกล่าวในช่วงเครดิตท้ายเรื่อง เมื่อคำบรรยายบอกว่าในที่สุด เอลตัน จอห์น ก็ค้นพบคนที่รักเขาจริงอย่าง เดวิด เฟอร์นิช)

สิ่งที่เหล่า LGBT รุ่นเก่าต้องเผชิญหาใช่แค่การเหยียดหยาม รังเกียจ และผลักไสไล่ส่งจากสังคมชายเป็นใหญ่และชายรักหญิงอย่างตรงไปตรงมาเหมือนกรณีพ่อกับเรจจี้เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการแสดงออกในเชิง “เวทนาแบบเดียวกับชีลาอีกด้วย คำพูดของเธอหากตัดสินจากมาตรฐานในปัจจุบันจะพบความบิดเบี้ยวหลายจุด ไม่ว่าจะเป็นการบอกว่าเธอไม่แคร์หรอกที่ลูกชายจะเป็นเกย์ เหมือนสื่อเป็นนัยว่า รับได้แต่ในเวลาเดียวกันก็แนะนำให้เขาแอบอยู่ในตู้ (in the closet) ต่อไป ราวกับมันเป็นเรื่องน่าละอาย นอกจากนี้เธอยังใช้คำว่า “เลือกเพื่อตำหนิกลายๆ ว่าเขาหาเรื่องใส่ตัวเอง ราวกับว่ารสนิยมรักชอบเพศเดียวกันก็เหมือนการเป็นขบถ หรือฮิปสเตอร์ พอถึงจุดหนึ่งคุณอาจจะเปลี่ยนใจ หรือเลิกเมื่อไหร่ก็ได้ และท้ายที่สุดเธอพยายามฝังหัวลูกชายว่าวิถีชีวิตแบบนี้ไม่อาจหาคู่รักที่ยั่งยืนได้ ไม่มีใครจริงใจด้วย ทุกคนต่างต้องการแค่ผลประโยชน์ หรือเรื่องทางเพศเท่านั้น แนวคิดดังกล่าวหยั่งรากอยู่ในจิตใต้สำนึกของเกย์ นำไปสู่ความรู้สึก “เกลียดตัวเองและนี่เองเป็นเหตุผลว่าทำไม เอลตัน จอห์น ถึงได้ถลำลึกกับเหล้า ยาเสพติด เซ็กซ์ และจำทนอยู่ในความสัมพันธ์อันเลวร้ายกับ จอห์น รีด (ริชาร์ด แมดเดน) เพราะเขาไม่คิดว่าจะหาใครที่ดีกว่าได้

สภาวะสองตัวตนเป็นสิ่งที่บรรดาเกย์ในยุคนั้นต้องจำทน พวกเขาอาจเป็นตัวของตัวเองได้เต็มที่เวลาไปเที่ยวผับเกย์อย่างสโตนวอลในยามค่ำคืน แต่เมื่อกลับมาใช้ชีวิตช่วงกลางวัน พวกเขาก็ต้องแอ๊บแมนสวมบทบาทเป็นอีกคนที่สังคมยอมรับ บ้างอาจก้าวไปไกลถึงขั้นจำใจแต่งงานกับผู้หญิง ซึ่ง เอลตัน จอห์น ก็ถือเป็นหนึ่งในนั้น หนังสะท้อนให้เห็นภาวะคู่ขนานดังกล่าวผ่านบุคลิกที่แตกต่างราวฟ้ากับเหวระหว่าง เรจจี้ ดไวท์ เด็กชายขี้อาย กับ เอลตัน จอห์น นักร้องเพลงร็อกที่โด่งดังจากสไตล์การแต่งตัวสุดหวือหวามากพอๆ กับผลงานเพลง ซึ่งเราอาจเรียกรวมๆ ว่า แกลมร็อก โดยนักร้องในหมวดนี้อย่าง เฟร็ดดี้ เมอร์คิวรี, เอลตัน จอห์น และเดวิด โบวี ไม่เพียงนิยมแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าติดเลื่อมเป็นประกาย แต่งหน้า ทำผมจัดจ้าน สวมรองเท้าส้นตึกเท่านั้น แต่ยังนำเสนอความลื่นไหลทางเพศ หรือคุณลักษณะแบบสองเพศในร่างเดียวอีกด้วย ในฉากหนึ่งเรจจี้วัยเด็กสารภาพกับยายของเขาว่าเขาอยากจะเป็นคนอื่น หลังคุณพ่อผู้เย็นชาทิ้งเขาไปโดยไม่คิดจะบอกลาสักคำ จากนั้นเมื่อเติบโตเป็นชายหนุ่ม เรจจี้ก็ได้รับคำแนะนำจากนักร้องรุ่นพี่ให้ ฆ่าตัวตนที่เราเกิดมาเพื่อตัวตนที่เราอยากจะเป็นหรือในฉากหนึ่งเมื่อ เบอร์นี ทอพิน (เจมี เบล) บอกให้เพื่อนรักของเขา เป็นตัวเองอย่าหลบซ่อนอยู่ข้างใต้บุคลิกใหญ่โต เครื่องแต่งกาย หรือแว่นตาอันฉูดฉาด คำตอบที่ได้รับกลับมา คือ ไม่มีใครอยากมาดู เรจจี้ ดไวท์ พวกเขาจ่ายเงินตีตั๋วเพื่อเข้ามาดู เอลตัน จอห์น

ตัวหนังของ เดกซ์เตอร์ เฟลทเชอร์ เองก็เข้าข่ายสองส่วนผสมในร่างเดียว ในด้านหนึ่งมันเล่าถึงชีวิตของศิลปินเพลงร็อกอย่างตรงไปตรงในรูปแบบเดียวกับ Bohemian Rhapsody เมื่อเพลงถูกนำมาสอดแทรกเข้ากับพล็อตในลักษณะสมจริง (แต่จะถูกต้องตามประวัติศาสตร์มากแค่ไหนก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง) เช่น ฉากที่เอลตันแต่งเพลง Your Song ขึ้นสดๆ จากเปียโนในบ้านแม่ หรือเมื่อเขาสถาปนาชื่อเสียงจากการเล่นเพลง Crocodile Rock ในผับชื่อดังของแอลเอ แต่ในเวลาเดียวกันเพลงอื่นๆ ที่เหลือกลับถูกนำมาสอดแทรกในรูปลักษณ์เหนือจริงของหนังเพลงเต็มรูปแบบ นั่นคือ ตัวละครจู่ๆ ก็ร้องเพลงขึ้นมาแบบไม่มีปี่มีขลุ่ยแทนบทสนทนาเพื่อถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึก เฉกเช่นหนังอย่าง La La Land นั่นเองจึงนำไปสู่ฉากไฮไลท์อันกระฉับกระเฉงของเพลง Saturday Night’s Alright for Fighting ที่ใช้เชื่อมต่อเรจจี้วัยรุ่นไปสู่วัยหนุ่ม และฉากในเชิงอุปมาของเพลง Rocketman เมื่อความโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงาของนักบินอวกาศในเนื้อเพลงถูกเปรียบเปรยกับสภาพของ เอลตัน จอห์น ตอนเขาพยายามจะฆ่าตัวตาย ขณะเดียวกันการออกแบบฉากอันเหนือจริง เมื่อร่างเอลตันถูกหามส่งโรงพยาบาลก่อนจะถูกจับเปลี่ยนเสื้อผ้าแล้วขึ้นเวทีไปร้องเพลงต่อยังสะท้อนให้เห็นสถานะเครื่องผลิตเงินของเขา ซึ่งถูกคนอย่าง จอห์น รีด ใช้เพื่อกอบโกยหาผลประโยชน์อีกด้วย

หากมองเผินๆ ผ่านภาพลักษณ์แบบเหมารวม เราอาจตีความได้ว่า เอลตัน จอห์น เป็นเหมือนการปลดปล่อยตัวตนที่แท้จริงของเกย์ ขณะที่ เรจจี้ ดไวท์ เป็นภาคส่วนของการพยายาม แต๊บตัวตนเอาไว้เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของสังคม แต่ในความเป็นจริงแล้ว Rocketman ต้องการเปิดเผยให้เห็นว่า เอลตัน จอห์น เป็นเพียงตัวตนที่ถูกสร้างขึ้นโดยเด็กหนุ่มที่ต้องการการยอมรับ ความรัก การตีตราเห็นชอบจากคนรอบข้าง แต่ไม่เคยได้รับ ทั้งจากครอบครัว หรือคนรักอย่างรีด เขาพยายามจะฆ่า เรจจี้ ดไวท์ แล้วชดเชยความกลวงโบ๋ในชีวิตด้วยเงินทอง ชื่อเสียง ยาเสพติด เซ็กซ์ แต่สุดท้ายก็ไม่อาจค้นพบความสงบสุขอันแท้จริง ในฉากสุดท้ายของหนัง เอลตัน จอห์น ค้นพบในที่สุดว่าแทนที่จะเรียกร้อง ค้นหาการยอมรับจากรอบข้าง สิ่งแรกที่เขาต้องทำ คือ มอบความรักให้แก่ตัวเอง ความสุขทางใจอันแท้จริงจะเกิดขึ้นได้ไม่ใช่จากการฆ่า เรจจี้ ดไวท์ แต่เป็นการโอบกอดเขา (ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นตัวแทนของอารมณ์รักร่วมเพศ) โดยปราศจากความรู้สึกผิด ความละอาย ซึ่งหนังก็ตอกย้ำอย่างเป็นรูปธรรมด้วยการให้เรจจี้วัยหนุ่มสวมกอดตัวเองในวัยเด็ก เขาไม่จำเป็นต้องรอคอยอ้อมกอดจากคนเป็นพ่อ ไม่จำเป็นต้องอยากเป็นใครอื่นนอกจากตัวเองอีกต่อไป

ด้วยเหตุนี้ Rocketman จึงไม่ได้พูดถึงการไต่เต้าจากดินสู่ดาว จากเด็กชายขี้อายไปเป็นร็อคสตาร์ระดับโลกเท่านั้น แต่ยังพูดถึงเส้นทางสู่การยอมรับตัวตนของเกย์คนหนึ่ง ซึ่งเติบโตมาท่ามกลางสภาพสังคมอันคับแคบ แต่ก็สามารถฟันฝ่าผ่านอุปสรรคจนยังคงยืนหยัดอยู่ถึงทุกวันนี้ (หนังเลือกจบด้วยเพลง I’m Still Standing ได้อย่างเหมาะเจาะ) เรียนรู้ที่จะก้าวข้ามความขมขื่นมาโอบกอดตัวเอง พร้อมกันนั้นยังได้ต่อสู้ผลักดันเพื่อเป็นกระบอกเสียงให้เหล่าชายรักชาย ช่วยปูรากฐานการยอมรับทางสังคมให้เกย์รุ่นหลังอย่างเบลค ตัวละครใน Will & Grace เพื่อพวกเขาเหล่านั้นจะได้ไม่ต้องเติบโตมาพร้อมกับความละอายใจ และนั่นถือเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน

ไม่มีความคิดเห็น: