วันเสาร์, มีนาคม 10, 2550

The Queen: แผ่นดินนี้ใครครอง


ในฉากสำคัญฉากหนึ่งของหนังเรื่อง The Queen คนดูจะได้เห็นพระราชินีอลิซาเบ็ธที่สอง (เฮเลน เมียร์เรน) ยืนชื่นชมธรรมชาติอันงดงาม เงียบสงบของชนบท ท่ามกลางเสียงลมพัดผ่านแมกไม้และเสียงลำธารไหลเอื่อย อยู่ครู่หนึ่ง ก่อนจะปลดปล่อยน้ำตาแห่งความอัดอั้นออกมา หลังจากต้องรับมือกับความกดดันอย่างหนักจากประชาชนชาวอังกฤษที่ปรารถนาจะให้พระองค์แสดงท่าทีหรือคำพูดบางอย่างต่อการจากไปของไดอาน่า อดีตเจ้าหญิงที่ใครๆ ในราชวงศ์ต่างไม่ปลื้ม แต่กลับได้รับสมญานามโดยสื่อมวลชนให้เป็นเจ้าหญิงแห่งปวงชน

ทันใดนั้นเอง กวางป่าตัวหนึ่งก็ปรากฏกายขึ้น รูปลักษณ์อัน “สูงใหญ่และงามสง่า” ของมันสร้างความตื่นตะลึงให้กับราชินี รวมถึงความรู้สึกเชื่อมโยงบางอย่าง จนพระองค์ตัดสินใจร้องไล่มันไป เมื่อได้ยินเสียงปืนของเหล่านายพราน มันเป็นกวางป่าที่เจ้าชายฟิลลิป (เจมส์ ครอมเวลล์) กับลูกชายทั้งสองของไดอาน่ามุ่งมั่นแกะรอยและ “ตามล่า” อยู่หลายวัน กวางป่าขนาดใหญ่ ซึ่งปัจจุบันพบเห็นได้ไม่มากนัก และได้รับคำจำกัดความโดยตัวละครตัวหนึ่งว่า “อิมพีเรียล” อันเป็นคำที่กินความหมายกว้างขวางตั้งแต่ขนาดใหญ่เป็นพิเศษ สง่างามน่าเกรงขาม ไปจนถึงจักรพรรดิ หรือราชินีแห่งประเทศอังกฤษ

มันถือเป็นเรื่องน่าขันตรงที่สุดท้ายชะตากรรมของกวางป่ากลับลงเอยด้วยความตายอยู่ดี แต่หาใช่โดยน้ำมือของนายพรานผู้เชี่ยวชาญ หากเป็นเพราะมันเผลอบุกรุกแบบไม่รู้ “อิโหน่อิเหน่” เข้าไปยังผืนดินของขุนนางนายหนึ่งและถูกยิงตายต่างหาก

จากมุมมองของ ปีเตอร์ มอร์แกน คนเขียนบทภาพยนตร์ ดูเหมือนว่าราชวงศ์อังกฤษ ภายใต้การนำของพระราชินีอลิซาเบ็ธที่สอง ก็กำลังจะเดินหน้าไปพบชะตากรรมแบบเดียวกันกับกวางป่าตัวนั้นในระหว่างช่วงเวลา “วิกฤติแห่งไดอาน่า” เมื่อพวกเขาประเมินสถานการณ์จากบนหอคอยงาช้างผิดพลาดอย่างมหันต์ แล้วพุ่งถลาเข้าหาหายนะแบบมืดบอด จนเมื่อถึงจุดหนึ่ง โทนี่ แบลร์ (ไมเคิล ชีน) นายกรัฐมนตรีจากพรรคแรงงาน ถึงกับระบายอารมณ์ต่อหน้าทีมงานของเขาว่า “ใครก็ได้ช่วยคนพวกนี้จากน้ำมือของตัวเองทีเถอะ”

อย่างไรก็ตาม ตัวหนังออกจะแสดงท่าทีเข้าอกเข้าใจในความไม่ประสีประสาต่อกระแสสังคมของราชวงศ์อังกฤษมากกว่าตั้งแง่ โดยให้เหตุผลว่าที่พวกเขายืนกรานให้จัดพิธีศพแบบเป็นส่วนตัว แล้วถอยห่างจากแสงสีไปจำศีลอยู่ในเมืองชนบทนั้น หาได้เป็นเพราะพวกเขาเสียสติ หรือ “ปัญญาอ่อนทางอารมณ์” ตามคำกล่าวหาของ เชอรี แบลร์ (เฮเลน แม็คครอรีย์) แต่เป็นเพราะพวกเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมเด็จพระราชินี ได้รับการสั่งสอนและเติบโตขึ้นมาในโลกอีกแบบหนึ่ง ซึ่งมักจะให้ความสำคัญกับหน้าที่เหนือเรื่องส่วนตัว ภารกิจเหนือความรู้สึก กฎระเบียบปฏิบัติเหนือคะแนนนิยม และด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงพ่ายแพ้ไดอาน่าอย่างหมดรูปในสงครามแห่งภาพลักษณ์ เมื่อยุคสมัยเรียกร้องหาความงาม น้ำตา และการแสดงที่ยิ่งใหญ่

ราชวงศ์อังกฤษมองไดอาน่าในฐานะหญิงสาวที่ “เคย” น่ารัก แต่กลับกลายเป็นความน่าละอายหลังจากข่าวอื้อฉาวตามหน้าหนังสือพิมพ์ การหย่าร้าง และการให้สัมภาษณ์ “เปิดใจ” ตามสื่อต่างๆ แบบที่พระราชินีอลิซาเบ็ธคงไม่เคยคิดจะทำ ส่วนสังคมบูชาคนดังกลับมองไดอาน่าในฐานะหญิงสาวที่เสียสละตนให้สังคม หลังถูกสถาบันที่จับเธอคลุมถุงชนกับชาย ซึ่งมีคนรักเป็นตัวเป็นตนอยู่แล้ว ทอดทิ้งอย่างไร้เยื่อใย ดังนั้น เมื่อเธอต้องมาเสียชีวิตอย่างน่าเศร้า แรงโหมจากสื่อมวลชนจึงก่อให้เกิดกระแสโหยไห้แผ่กระจายไปทั่วทุกหัวระแหง และเริ่มทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อราชวงศ์อังกฤษตีความสถานการณ์ผิดพลาด โดยสาเหตุหนึ่งน่าจะมาจากอคติส่วนตัว ตลอดจนการยึดถือหลักปฏิบัติที่สืบทอดมายาวนาน แต่ไม่คล้องจองกับยุคสมัยแห่งปัจจุบัน

ตรงกันข้าม โทนี่ แบลร์ นายกรัฐมนตรีที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ของอังกฤษ กลับอ่านความรู้สึกของมวลชนได้อย่างแม่นยำ ทั้งนี้เพราะเขาเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ ซึ่งย่อมต้องให้ความสำคัญกับเรตติ้งและโพลความเห็น อีกทั้งเขายังดำรงสถานะอยู่ในกลุ่มชนชั้นกลาง ซึ่งให้ความรู้สึกใกล้ชิดกับคนส่วนใหญ่ของประเทศมากกว่ากลุ่มชนชั้นสูงอย่างราชวงศ์อังกฤษ ที่ใช้ชีวิตอยู่ในรังดักแด้ พรั่งพร้อมด้วยเงินทองและข้าราชบริพาร ดังนั้น การปะทะกันทางความคิดระหว่างพระราชินีกับแบลร์ใน The Queen เปรียบไปจึงไม่ต่างกับการปะทะกันทางชนชั้น ซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้กำกับ สตีเฟน เฟรียร์ส เคยสำรวจตรวจสอบมาแล้วหลายครั้งผ่านหนังอย่าง My Beautiful Laundrette และ Dirty Pretty Things

ความแตกต่างระหว่างโลกยุคใหม่ของแบลร์และโลกยุคเก่าของราชวงศ์อังกฤษได้รับการตอกย้ำให้เห็นชัดเจนตลอดทั้งเรื่อง เช่น ห้องทำงานของแบลร์จะดูวุ่นวาย มีทีมงานเดินเข้าออกกันขวักไขว่ แต่ให้ความรู้สึกเป็นกันเอง เปี่ยมไปด้วยชีวิตชีวา ขณะที่บรรยากาศในวังกลับเต็มไปด้วยกฎระเบียบ ความโอ่โถง แต่ดูค่อนข้างเย็นชา นอกจากนี้ เฟรียร์สยังอาศัยเทคนิคภาพยนตร์สร้างความขัดแย้งอันลุ่มลึกให้กับโลกทั้งสองใบด้วยการถ่ายฉากของราชินีด้วยฟิล์ม 35 ม.ม. แล้วถ่ายฉากของแบลร์ด้วยฟิล์ม 16 ม.ม. ที่สำคัญ เขายังถ่ายทำฉากในวังส่วนใหญ่ด้วยภาพระยะปานกลางถึงภาพระยะไกล (น้อยครั้งที่กล้องจะเคลื่อนเข้าไปใกล้ในระยะโคลสอัพ) จำกัดความเคลื่อนไหวของกล้อง (ยกเว้นเมื่อมันต้องติดตามแอ็กชั่นของตัวละครในฉาก) รวมไปถึงการตัดต่อ เพื่อเน้นความรู้สึกยิ่งใหญ่ เป็นทางการ ส่วนฉากของ โทนี่ แบลร์ นั้นเฟรียร์สกลับเลือกถ่ายทำด้วยกล้องแฮนด์เฮลด์ ซึ่งให้ความรู้สึกกระฉับกระเฉง ขณะเดียวกัน การจัดแสงก็ยังออกจะดูสว่างสดใสกว่าฉากในพระราชวังอีกด้วย

น่าทึ่งตรงที่งานทดลองของเฟรียร์สดูกลมกลืน ไม่โฉ่งฉ่าง และไม่เรียกร้องความสนใจในตัวเอง มันเพียงแค่ทำหน้าที่ช่วยรองรับเรื่องราวและอารมณ์ของหนังอย่างแนบเนียน จนกระทั่งบางคนอาจมองข้ามไป หรือรู้สึกว่ามันเป็นหนังที่ปราศจาก “สไตล์”

ถึงแม้จะแสดงให้เห็นสองขั้วความคิด ทัศนคติ และค่านิยมที่ขัดแย้งกัน แต่ The Queen กลับไม่ได้โอนเอียงเข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเป็นพิเศษ พร้อมทั้งยังมองโลกในแง่ดีด้วยการแสดงให้เห็นว่าสองแนวคิดดังกล่าวสามารถอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนได้ หากเราเรียนรู้ที่จะเคารพจุดยืนของอีกฝ่าย (หนังจบลงด้วยฉากพระราชินีเดินพูดคุย ปรึกษาปัญหาราชการอย่างเป็นกันเองกับแบลร์ในสวน) จริงอยู่ว่าช่วงเวลา “วิกฤติแห่งไดอาน่า” อาจปิดฉากด้วยชัยชนะของโมเดิร์นนิสต์อย่างแบลร์ ผู้โน้มน้าวแกมบังคับให้สมเด็จพระราชินียอมเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบและหลักธรรมเนียมปฏิบัติอันยาวนานเพื่อสนองตอบอารมณ์ของสังคมฮีสทีเรียได้สำเร็จ แต่ขณะเดียวกัน แบลร์ก็เรียนรู้ที่จะชื่นชมหลักความคิดแบบมืออาชีพของพระราชินี การก้มหน้าก้มตาทำงานโดยไม่คำนึงถึงภาพลักษณ์ รวมทั้งสัญชาตญาณที่จะปรับตัวไปกับความเปลี่ยนแปลงเพื่อความอยู่รอด กล่าวคือ พระองค์อาจตระหนักถึงหายนะช้าเกินไป แต่สุดท้ายก็ยังไม่ถึงกับมืดบอดเสียทีเดียว

และนั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมราชวงศ์อังกฤษจึงสามารถยืดหยัดอยู่ได้หลายศตวรรษ

บทหนังได้หยอดมุกตลกแห่งอารมณ์ร่วมสมัยเอาไว้อย่างชาญฉลาดในช่วงท้ายเรื่อง เมื่อพระราชินีกล่าวเตือนแบลร์ว่าเหตุการณ์แบบเดียวกันนี้ (คะแนนนิยมที่ลดลงฮวบฮาบ) จะเกิดขึ้นกับเขาในวันหนึ่งอย่างฉับพลันทันทีและปราศจากการเตือนล่วงหน้า เพราะบางครั้งการถือครองอำนาจล้นเหลืออาจทำให้เรามองข้ามข้อเท็จจริงบางอย่างไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อคนรอบข้างเราเองต่างก็มืดบอดต่อสถานการณ์ แล้วช่วยกันแห่แหนเราไปสู่หนทางแห่งหายนะ (ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างของผู้นำบางคนในประเทศเล็กๆ แถบนี้)

ลองคิดดูว่าทุกอย่างจะลงเอยเช่นใด หากพระราชินีเชื่อตามคำแนะนำของเจ้าชายฟิลลิปให้ยึดมั่นในหลักการเพราะพระองค์เป็นเจ้าของประเทศ หากพระองค์เชื่อตามคำพูดของเจ้าชายฟิลลิปว่าบรรดาผู้คนที่ไปร่วมไว้อาลัยหน้าพระราชวังบัคกิงแฮมเสียสติไปแล้ว

แน่นอน คำเรียกร้องบางข้อของประชาชนและสื่อมวลชนอาจไร้เหตุผล ผิดหลักการ และไม่เป็นธรรม เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงว่าไดอาน่าไม่ใช่สมาชิกในราชวงศ์อังกฤษอีกต่อไป ซึ่งนั่นเป็นทางเดินที่เธอตัดสินใจเลือกเอง แต่ในฐานะผู้นำประเทศ คุณไม่อาจมองข้ามกระแสความรู้สึกของประชาชนได้ คุณไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย (ตัวหนังดูจะสื่อนัยยะชัดเจนว่าพระราชินีหาได้ชื่นชอบไดอาน่ามากไปกว่าแต่ก่อน ถึงแม้สุดท้ายพระองค์จะตัดสินใจยอมตามข้อเสนอแนะของแบลร์ก็ตาม) แต่คุณไม่อาจเพิกเฉย แล้วมองว่ามันเป็นความไร้สาระได้ เพราะเมื่อใดก็ตามที่คุณขาดเสียงสนับสนุนจากประชาชน ความยุ่งยากทั้งหลายจะตามมาไม่รู้จบ

บางทีหาก โทนี่ แบลร์ ตัวจริงได้ดูหนังเรื่องนี้ เขาอาจเรียนรู้อะไรบางอย่าง

ไม่มีความคิดเห็น: