วันเสาร์, พฤษภาคม 19, 2561

A Fantastic Woman: ยืนหยัดท่ามกลางกระแสเชี่ยวกราก


ในช่วง 10 นาทีแรกของ A Fantastic Woman สาวประเภทสอง มารีนา (แดเนียลา เวกา) เหมือนจะอาศัยอยู่ในฟองอากาศ ล่องลอยเป็นเอกเทศจากโลกรอบข้าง ปลอดภัยจากความกดดันใดๆ เมื่อเธออยู่เคียงข้างชายคนรัก เจ้าของโรงงานสิ่งทอที่อายุมากกว่า ฐานะดีกว่าอย่าง ออร์ลันโด (ฟรานซิสโก เรเยส) เขาหลงรักเธออย่างจริงใจ สังเกตจากแววตาชื่นชมขณะเฝ้ามองเธอร้องเพลงบนเวทีในคลับแห่งหนึ่ง หลังจากนั้นเขาได้พาเธอไปดินเนอร์ที่ภัตตาคารจีน พนักงานเสิร์ฟเข็นเค้กมาเซอร์ไพรส์พร้อมกับร้องเพลงอวยพรวันเกิดให้เธอ เขาซื้อของขวัญเป็นตั๋วเครื่องบินไปเที่ยวน้ำตกอีกวาซูกันสองคน แต่ดันจำไม่ได้ว่าไปลืมทิ้งไว้ที่ไหน ค่ำคืนสุดโรแมนติกลงเอยด้วยการที่ออร์ลันโดตื่นขึ้นมากลางดึกพร้อมอาการปวดหัวอย่างหนัก ก่อนสุดท้ายจะเสียชีวิตกะทันหันที่โรงพยาบาลเนื่องจากหลอดเลือดสมองโป่งพอง

ทันใดนั้นฟองอากาศของมารีนาก็แตกดังโพละ กลายเป็นว่าเธอปราศจากสิทธิขาดใดๆ ในทุกการตัดสินใจเกี่ยวกับออร์ลันโด และกระทั่งตัวตนแบบที่เธอกล่าวอ้างก็มักจะถูกต้องข้อกังขา หมอแสดงทีท่าไม่แน่ใจเมื่อทราบว่าเธอชื่อมารีนา เป็นชื่อเล่นเหรอ เขาถาม จากนั้นเมื่อเธอดอดไปโทรบอกข่าวกับญาติของออร์ลันโด และหาพื้นที่ส่วนตัวเพื่อเลียแผลใจเพียงลำพัง โรงพยาบาลกลับปฏิบัติต่อเธอเหมือนอาชญากรด้วยการแจ้งตำรวจ ซึ่งยืนกรานให้เธอใช้ชื่อเดิม (ชื่อผู้ชาย) ตามบัตรประชาชนจนกว่าจะได้รับบัตรใหม่ที่ตรงกันเพศสภาพ เขาซักถามว่าทำไมมารีนาจึงเดินหนีจากโรงพยาบาลราวกับเธอเป็นผู้ต้องสงสัย ทั้งที่หมอเองก็สรุปว่าสาเหตุการตายเกิดจากภาวะเส้นเลือดโป่งพอง แต่เพราะระหว่างทางมาโรงพยาบาล ออร์ลันโดเกิดพลัดตกบันได เนื้อตัวเขาจึงมีรอยฟกช้ำดำเขียว อันจะนำความยุ่งยากมาสู่มารีนาอีกมากมาย เมื่อกาโบ (หลุยส์ เก็กโค) น้องชายของออร์ลันโดเดินทางมาถึงโรงพยาบาล เขาทำท่าจะกอดทักทายมารีนา แต่กลับเปลี่ยนใจไปจับมือแทน ตำรวจพูดถึงมารีนาโดยใช้สรรพนาม “เขา ต่อหน้าเธอ แม้กาโบจะช่วยแก้ต่างว่า ผู้หญิงคนนี้ อยู่กับพี่ชายเขาในห้วงเวลาสุดท้ายของชีวิต แต่ขณะเดียวกันเขาก็ก้าวเข้ามาจัดการทุกอย่าง แล้วกันเธอออกจากการมีส่วนร่วมไปโดยอัตโนมัติ

ไม่ใช่เพียงตัวตนของมารีนาเท่านั้นที่ถูกตั้งคำถาม ความรักระหว่างเธอกับออร์ลันโดก็เช่นกัน ตำรวจหญิงจากแผนกคดีล่วงละเมิดทางเพศเดินทางมาพบมารีนา คำถามแรกของเธอ คือ เขาจ่ายเงินให้คุณหรือเปล่าราวกับความสัมพันธ์ระหว่างกะเทยวัยสาวกับผู้ชายแก่คราวพ่อไม่มีทางเป็นอื่น นอกจากความสัมพันธ์ที่ผูกมัดกันโดยเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ (ข้อเท็จจริงว่าเขาเป็นเจ้าของกิจการ ส่วนเธอเป็นแค่พนักงานเสิร์ฟมีส่วนสนับสนุนอยู่บ้าง) เธออ้างประสบการณ์จากการทำงานด้านนี้มานานนับสิบปี เธอ เห็นมาหมดว่าเกิดอะไรขึ้นกับ ผู้หญิง” แบบมารีนา เธอเชื่อว่าบาดแผลตามตัวออร์ลันโดเป็นแค่ความพยายามป้องกันตัวเนื่องจากการถูกทารุณกรรมทางเพศ ทั้งที่มารีนาเองได้อธิบายทุกอย่างกับหมอที่โรงพยาบาลแล้ว และเมื่อมารีนาไม่ยอมให้ความร่วมมือเท่าที่ควร ตำรวจหญิงก็บีบบังคับให้เธอต้องเปลื้องผ้าตรวจร่างกาย พร้อมถ่ายรูปเป็นหลักฐาน ซ้ำร้ายเธอยังต้องมาทนฟังเสียงกระซิบกระซาบระหว่างตำรวจหญิงกับเจ้าหน้าที่ชายว่าควรจะเรียกเธอ เดเนียล” ตามชื่อจริงดีไหม ทำเหมือนเธอเป็นผู้หญิง เรียกชื่อผู้หญิงของเธอตำรวจหญิงแนะนำ

วิบากกรรมยังไม่จบสิ้นลงเพียงเท่านั้น ครอบครัวของออร์ลันโดตั้งตนเป็นปฏิปักษ์กับมารีนานับแต่เริ่มแรก และปฏิบัติกับเธอเหมือนเธอไม่มีตัวตน หรือเป็นตัวประหลาด ลูกชายเขา บรูโน (นิโคลัส ซาเวดรา) ขับไล่เธอออกจากคอนโดพ่อ ถามว่าเธอเป็นอะไร ผ่าตัดแปลงเพศหรือยัง ฉันก็เป็นเหมือนกับคุณเธอตอบ เมียเก่าเขา โซเนีย (แอรีน คุพเพนไฮม์) นิยามความสัมพันธ์ระหว่างมารีนากับออร์ลันโดว่าวิปริต พร้อมกับเน้นย้ำคำว่า ปกตินิยามชีวิตแต่งงานของเธอเวลาฉันเห็นเธอ ฉันไม่รู้ด้วยซ้ำว่ากำลังมองอะไรอยู่เธอกล่าวกับมารีนา เหมือนหัวมังกุท้ายมังกร” (ซับไตเติลอังกฤษใช้คำว่า คิเมียรา ซึ่งเป็นสัตว์ในตำนานกรีก ส่วนหัวถึงหน้าอกเป็นสิงโต ลำตัวเป็นแพะ และบั้นท้ายเป็นมังกรหรืองู) พร้อมกันนั้นก็ได้สั่งห้ามเธอไม่ให้ไปร่วมงานศพ หรือพิธีกรรมใดๆ และเมื่อเธอไม่เชื่อฟัง ผลลัพธที่ตามมาจากน้ำมือของบรูโนถือว่าน่าตกใจไม่น้อย คนเดียวที่เหมือนจะเห็นใจมารีนาอยู่บ้าง คือ กาโบ แต่ก็ไม่มากพอจะลุกขึ้นมาทำอะไร เขาทำได้แต่เพียงนั่งมอง และขอร้องให้มารีนายินยอมรับชะตากรรมแต่โดยดี

ถึงแม้มารีนาจะต้องเผชิญหน้ากับความอับอาย การกีดกัน ดูถูกเหยียดหยามสารพัด ทั้งแบบรุนแรงตรงไปตรงมา เช่น กรณีครอบครัวของออร์ลันโด หรือแบบซุกซ่อนเป็นความนัย เช่น บรรดาหมอและตำรวจที่เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ผู้กำกับ เซบาสเตียน เลลีโอ ไม่ได้อ้อยอิ่ง บีบคั้นเพื่อเรียกร้องความเห็นอกเห็นใจจนเกินงาม หากมองโดยพล็อตเรื่องกับสถานการณ์แล้วหนังมีโอกาสจะเบี่ยงเบนเข้าหาแนวทางเมโลดรามาได้ง่ายมากในหลายๆ ฉาก (ตอนหนึ่งอดีตภรรยาของออร์ลันโดถึงกับเสนอเงินให้มารีนาหายตัวไป”) แต่เลลีโอมีรสนิยมพอจะนำเสนอแบบตรงไปตรงมา ไม่ตีโพยตีพายให้มากความ กล้องจับจ้องไปยังใบหน้าของ แดเนียลา เวกา ตลอดวิบากกรรมทั้งหลาย เธอไม่ได้แสดงออกทางอารมณ์ชัดเจน อาจมีประกายไม่พอใจ ตกใจ ขมขื่น หรือคับแค้นให้เห็นอยู่บ้าง แต่ปราศจากท่าทีโน้มน้าวคนดูให้เห็นอกเห็นใจแบบออกนอกหน้า ความนิ่งจนเกือบจะเรียกได้ว่าหน้าตายในแง่หนึ่งได้สะท้อนให้เห็นว่าอคติ ตลอดจนพฤติกรรมกดทับ มองเห็นเป็นอื่นเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่สำหรับเธอ มันเป็นสิ่งที่เธอต้องพบเจออยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

ขณะที่ตัวละครทั้งหลายรอบข้างพยายามจะหา คำนิยามให้กับมารีนา ผู้กำกับเลลีโอกลับเลือกจะถ่ายทอดเธอออกมาในฐานะมนุษย์คนหนึ่งซึ่งต้องสูญเสียคนรักไปอย่างกะทันหัน เพราะทันทีที่ออร์ลันโดเสียชีวิต ไม่มีใครคิดจะปลุกปลอบใจ หรือถามไถ่ถึงความรู้สึกเธอ ตรงกันข้าม มารีนากลับโดนตีตราแขวนป้ายให้กลายเป็นแค่บุคคลข้ามเพศ เธอถูกตั้งคำถาม ถูกไล่เบี้ย เพื่อจัดหมวดหมู่ให้เข้ากับมาตรฐานของความ ปกติทางสังคม (ชายหรือหญิง เดเนียลหรือมารีนา) จนเธอไม่มีเวลาที่จะทบทวน ซึมซาบ หรือรับมือกับความโศกเศร้าอย่างเป็นขั้นตอน หนังอาจยืนกรานที่จะมอบศักดิ์ศรี ความสง่างามให้กับตัวละครอย่างมารีนา แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ได้มองข้ามแง่มุม เหนือจริงเกี่ยวกับบุคคลข้ามเพศ จริงอยู่มารีนาอาจไม่แตกต่างจากมนุษย์ปุถุชน เธอมีหัวจิตหัวใจ มีความรัก ความใฝ่ฝัน ต้องการความเคารพ การยอมรับเฉกเช่นคนทั่วไป และควรได้รับการปฏิบัติด้วยความเท่าเทียมเยี่ยงนั้น อย่างไรก็ตาม เหมือนที่ชื่อหนังบ่งบอกเป็นนัย เธอยัง ยอดเยี่ยมและ มหัศจรรย์อย่างเหลือเชื่ออีกด้วย (ไม่ใช่จากแค่การยืนหยัดต่อสู้กับปฏิปักษ์รอบด้านเท่านั้น) ดุจเดียวกับภาพน้ำตกอีกวาซูในช็อตเปิดเรื่อง ซึ่งถือเป็นหนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์สูงสุดทางธรรมชาติ

ฉากที่สะท้อนคุณลักษณะเหนือธรรมดาของตัวละครนี้ได้อย่างน่าทึ่ง เป็นตอนที่มารีนาเดินเข้าไปในซาวนาเพื่อค้นหาตู้ล็อกเกอร์ของออร์ลันโด เนื่องจากซาวนาแบ่งแยกสัดส่วนชายกับหญิงอย่างชัดเจน เธอจึงเดินเข้าไปในฐานะผู้หญิงก่อน (พันผ้าเช็ดตัวปิดหน้าอก ปล่อยผมยาว) ก่อนจะลอบผ่านประตูเข้าไปยังส่วนของผู้ชายได้อย่างแนบเนียนโดยไม่มีใครกระโตกกระตาก (มัดผม เลื่อนผ้าเช็ดตัวลงมาพันรอบเอว) หนังแสดงให้เห็นว่ามารีนาไม่ใช่ครึ่งๆ กลางๆ ระหว่างหญิงกับชาย ไม่ใช่ตัวประหลาดที่ตัดสินใจไม่ได้ว่าจะเป็นอะไรกันแน่ หากแต่เป็นทั้งหญิงและชายในคนเดียวกัน (หนึ่งในเกมที่เธอชื่นชอบคือชกมวย) เธอไม่ใช่ความผิดพลาด แต่เป็นความมหัศจรรย์ทางธรรมชาติ และเลลิโอก็ไม่เกรงกลัวที่จะสอดแทรกฉากเหนือจริงในสไตล์สัจนิยมมหัศจรรย์เข้ามาเพื่ออธิบายความรู้สึก หรือสภาพการณ์ของตัวละเอก เช่น แทร็กกิ้งช็อตมารีนาขณะเดินไปตามถนน ฝ่าสายลมที่กรรโชกแรงขึ้นเรื่อยๆ จนเธอต้องโน้มตัวไปข้างหน้าเพื่อต้านทานแรงลมและไม่อาจก้าวเท้าต่อไปได้ หรือเมื่อการเต้นรำในผับเกย์ถูกเปลี่ยนเป็นฉากในหนังเพลง

มองโดยเปลือกนอกแล้วอาจกล่าวได้ว่า A Fantastic Woman สะท้อนประเด็นปัญหาพื้นฐานเกี่ยวกับ LGBT ผ่านการเรียกร้องพื้นที่และความเท่าเทียมในสังคม ดังนั้นเมื่อมารีนา ซึ่งถูกกระทำมาตลอด ลุกขึ้นยืนหยัดต่อสู้โดยชอบธรรม (ทวงคืนสุนัขที่ออร์ลันโดยกให้เธอจากครอบครัวทรานส์โฟเบียของเขา) คนดูจึงอดไม่ได้ที่จะรู้สึกสะใจ ฮึกเหิม มารีนาไม่เคยคิดเอาเปรียบครอบครัวของออร์ลันโด เธอยินดีคืนรถ คืนอพาร์ตเมนต์ของเขาโดยไม่เรียกร้องสิ่งใดตอบแทน นอกจากโอกาสที่จะได้บอกลาคนรักของเธอเฉกเช่นมนุษย์ทั่วไปที่เพิ่งประสบความสูญเสียครั้งใหญ่ในชีวิต ชัยชนะของเธอ ทั้งการได้บอกลาคนรักเป็นครั้งสุดท้ายและทวงคืนสุนัขของเขากลับมาได้ ถูกนำเสนออย่างเรียบง่าย ไม่ได้ตอกย้ำ หรือฟูมฟาย บางทีสาเหตุอาจเป็นเพราะนั่นไม่ใช่ชัยชนะอันแท้จริงของมารีนา

ปมลึกลับเล็กๆ อย่างหนึ่งของหนังเกี่ยวข้องกับตั๋วเครื่องบินที่ออร์ลันโดซื้อให้มารีนา แต่เขาจำไม่ได้ว่าไปลืมทิ้งไว้ตรงไหน เมื่อมารีนาเจอพวงกุญแจบอกหมายเลข 181 ตกอยู่ในรถ เธอไม่รู้ว่ามันเป็นกุญแจอะไรและจะนำไปสู่ความลับใด แต่เธอก็เลือกจะเก็บไว้ด้วยคิดว่ามันอาจนำไปสู่การคลี่คลายบางอย่าง จนกระทั่งในช่วงท้ายเรื่อง ปมลึกลับนี้กลับมาดึงความสนใจจากคนดูอีกครั้งเมื่อเห็นลูกค้าในร้านอาหารมีกุญแจแบบเดียวกัน ทำให้มารีนาพลันตระหนักว่ากุญแจที่เธอเจอในรถนั้นใช้สำหรับไขตู้ล็อกเกอร์ในซาวนา หนังล่อหลอกคนดูให้รู้สึกเหมือนว่ากำลังจะนำไปสู่การเฉลยปริศนาบางอย่าง จนกระทั่งมารีนาไขกุญแจตู้ล็อกเกอร์แล้วพบแต่ความว่างเปล่า ไม่มีคำตอบ ไม่มีตั๋วเครื่องบินที่หายไป เบาะแสชักนำเธอให้มาพบกับทางตัน

เช่นเดียวกัน ชัยชนะอันแท้จริงของมารีนาไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอก นี่ไม่ใช่เรื่องราวของการเอาชนะกรอบอันคับแคบของสังคม แต่เป็นการเดินทางเพื่อค้นหาตัวเอง แล้วโอบกอดยอมรับตัวตนที่ค้นพบโดยไม่จำเป็นต้องใส่ใจว่าใครจะมองเราว่าเป็นตัวอะไร หลายครั้งหลายคราหนังจะแสดงให้เห็นภาพสะท้อนของมารีนาในกระจก โดยตัวอย่างสองช็อตที่จัดวางจังหวะได้อย่างงดงามเป็นตอนที่เธอเดินข้ามถนนแล้วหยุดมองตัวเองในบานกระจกบานใหญ่ ซึ่งคนงานสองคนกำลังช่วยกันแบกลงจากรถ และในช่วงท้ายเรื่องเมื่อเธอวางกระจกส่องหน้าไว้ตรงหว่างขา ปิดบังอวัยวะเพศพอดิบพอดี คนดูจะเห็นใบหน้าเธอสะท้อนอยู่ตรงจุดสำคัญ ก่อนหนังจะสรุปการเดินทางของมารีนาได้อย่างหมดจดด้วยฉากเธอก้าวขึ้นร้องโอเปราบนเวที มันให้อารมณ์ตรงข้ามกับฉากเปิดตัวเธอ (ร้องเพลงบนเวทีไนท์คลับ) อย่างสิ้นเชิง ดุจดอกไม้ที่เพิ่งผลิบานเต็มที่ หรือดักแด้ซึ่งค่อยๆ แทรกตัวออกจากรังในรูปของผีเสื้อหลากสีสัน

ไม่มีความคิดเห็น: