วันเสาร์, พฤษภาคม 19, 2561

Oscar 2018: Best Actor


ทิโมธี ชาลาเมต์ (Call Me by Your Name)

ด้วยมีพ่อเป็นคนฝรั่งเศส มีแม่เป็นนักเต้นชาวอเมริกัน ชื่อจริงของ ทิโมธี ชาลาเมต์ จึงควรออกเสียงว่า ทิโมเธ ซึ่งพ้องกับนามสกุล แต่เด็กหนุ่มวัย 22 ปีที่เติบโตมาในเมืองนิวยอร์กบอกว่าเขาไม่ถือสาถ้าใครจะออกเสียงว่าทิโมธี “เอาที่คุณสะดวกเลย จริงๆ ควรออกเสียงว่า ทิโมเธ แต่แบบนั้นอาจฟังดู...กระแดะไปหน่อยแต่ไม่ว่าคุณจะออกเสียงยังไง สุดท้ายอย่าลืมต่อท้ายว่า “นักแสดงผู้ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์” หลังจากบทบาทของเขาใน Call Me by Your Name ได้รับเสียงชื่นชม ยกย่องจากทุกคนตั้งแต่นักวิจารณ์ไปจนถึงเพื่อนร่วมอาชีพการงานให้เป็นผลงานการแสดงแห่งปี ความโด่งดังของหนังเรื่องนี้ทำให้ชาลาเมต์มีกลุ่มแฟนคลับคอยติดตามความเคลื่อนไหวอย่างเหนียวแน่น ถึงขนาดขุดวิดีโอออดิชั่นบทเก่าๆ หรือคลิปโปรเจ็กต์จากโรงเรียนมาโพสต์จนกลายเป็นกระแสทางอินเทอร์เน็ต (ใส่คำว่า Lil Timmy Tim ในช่องค้นหาของ youtube แล้วคุณจะพบแร็ปเปอร์รุ่นเยาว์) แฟนานุแฟนเหล่านี้เรียกเขาทางทวิตเตอร์ว่า “ราชา” กล่าวทักทายเขาตอนเช้าและก่อนนอน พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อตัวเองให้สอดคล้องกับชื่อเขา

จริงๆ ผมรู้สึกโล่งใจอยู่เหมือนกัน” ชาลาเมต์พูดถึงคลิปร้องเพลงแร็ปสุดฮือฮา ซึ่งกลายเป็นกระแสไวรัลไม่แพ้คลิป อาร์มี แฮมเมอร์ เต้นดิสโก้แบบไม่ห่วงหล่อใน Call Me by Your Name “ปฏิกิริยาแรกของผม คือ เวรแล้ว แต่คิดไปคิดมาก็ดีเหมือนกัน คนจะได้รู้ว่าผมติงต๊องแค่ไหน” ถึงแม้จะรู้สึกตื่นเต้นกับชีวิตอันพลิกผัน แต่ชาลาเมต์ไม่ได้หลงระเริงไปกับชื่อเสียงในชั่วข้ามคืน พร้อมยกตัวอย่างเหตุการณ์น่าอับอายขายหน้า เมื่อเขาหงายหลังตกเก้าอี้ระหว่างให้สัมภาษณ์บนเวทีในโรงหนัง ลินคอล์น เซ็นเตอร์ ต่อหน้าผู้ชม 1,300 คน “เป็นบทเรียนครั้งสำคัญที่ทำให้ผมคิดได้ว่าไม่มีอะไรเปลี่ยน” เขากล่าว… ก็อาจจะใช่ เว้นแค่ว่าเหล่าแฟนานุแฟนของเขากลับเห็นเป็นเรื่องน่ารัก น่าเอ็นดู และแน่นอน คลิปดังกล่าวถูกกดไลค์นับพันแล้วรีทวีตต่อๆ กันไป

ใน Call Me by Your Name ชาลาเมต์รับบทเป็น เอลิโอ เด็กหนุ่มวัย 17 ปีที่ใช้เวลา 6 สัปดาห์ช่วงหน้าร้อนหมกมุ่นเกี่ยวกับ โอลิเวอร์ (แฮมเมอร์นักศึกษาปริญญาเอกหนุ่มรูปหล่อที่เดินทางมาช่วยงานพ่อของเอลิโอ ในนิยาย เอลิโอเป็นคนเล่าเรื่อง เขาวิเคราะห์ทุกคำพูด สีกางเกงว่ายน้ำแต่ละตัว รวมถึงทุกอากัปกิริยาของชายหนุ่มที่เขาหลงใหล นี่ไม่ใช่แค่เรื่องรักระหว่างชายสองคน แต่ยังพูดถึงภาวะตกหลุมรัก ความปีติ ความสุข รวมไปถึงความเจ็บปวดที่ตามมา ชาลาเมต์เองก็ไม่ต่างจากเอลิโอสักเท่าไหร่ เขามักแสดงออกอย่างกระตือรือร้นต่อทุกอย่างและทุกคนที่เขารัก อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อจากวัยรุ่นไปสู่วัยผู้ใหญ่ จากนักแสดงวัยกระเตาะไปสู่ศิลปินเต็มขั้น ชาลาเมต์ได้ความชอบด้านการแสดงจากพี่สาว ก่อนจะเจริญรอยตามเธอด้วยการเข้าเรียนที่ลากัวเดีย ซึ่งเป็นโรงเรียนดนตรีและศิลปะการแสดงชื่อดังของนิวยอร์ก เขาเริ่มต้นสั่งสมชื่อเสียงจากบทเล็กๆ ในซีรีส์ Homeland ก่อนจะก้าวขึ้นรับบทนำในละครเวทีเรื่อง Prodigal Son แต่ชาลาเมต์แตกต่างจากดาราเด็กคนอื่นตรงที่เขาไม่เคยด้านชา หรือสมหน้ากากเสแสร้งจากการคลุกคลีอยู่ในวงการบันเทิง ไม่ต้องสงสัยเลยว่าทิมมีเป็นคนที่เปิดเผยอารมณ์อย่างตรงไปตรงมาที่สุดเท่าที่ผมเคยเจอแฮมเมอร์กล่าว “เวลาพูดกับเขา คุณจะเห็นขั้นตอนประมวลผลในหัวเขาปรากฏชัดเจนบนใบหน้า

นั่นถือเป็นคุณสมบัติที่ผู้กำกับ ลูก้า กัวดานีโน หวังพึ่งพาเพื่อใช้ถ่ายทอดความเปราะบางของตัวละคร เพราะหลายฉากใน Call Me by Your Name แทบจะปราศจากคำพูด และบางครั้งชาลาเมต์ต้องเข้าฉากเพียงลำพัง ไม่มีใครคอยช่วยรับส่งอารมณ์ หนึ่งในนั้น คือ ช็อตสุดท้ายของหนัง ซึ่งโคลสอัพใบหน้าของเด็กหนุ่มอยู่หลายนาทีเพื่อถ่ายทอดความรู้สึกตัวละครหลังความรักฤดูร้อนของเขาสิ้นสุดลง โปรดิวเซอร์ ปีเตอร์ สเปียร์ส เป็นคนแนะนำชาลาเมต์ให้กับกัวดานีโน เนื่องจากสามีเขา ไบรอัน สวอร์ดสตรอม เป็นเอเยนต์ให้ชาลาเมต์ ผู้กำกับชาวอิตาเลียนหลงใหลเสน่ห์และความเฉียบคมทางอารมณ์ของนักแสดงหนุ่มตั้งแต่ครั้งแรกที่เจอ ตอนนั้นเขาอายุ 17 เท่ากับตัวละครในหนังสือพอดี แต่กว่าโครงการจะได้รับไฟเขียวจากนายทุนก็ต้องใช้เวลาอีกสามปีเปิดโอกาสให้ชาลาเมต์ได้ลับคมทักษะการแสดงจากการรับบทสมทบเล็กๆ ประกบ แม็ทธิว แม็คคอนาฮีย์ ใน Interstellar และ คริสเตียน เบล ใน Hostiles “ผมประทับใจความทุ่มเทของพวกเขาในทุกซีนชาลาเมต์กล่าวถึงสองนักแสดงรุ่นใหญ่

เมื่อได้รับเลือกเป็นเอลิโอ ชาลาเมต์เดินทางไปอิตาลีก่อนเปิดกล้องหลายสัปดาห์เพื่อเรียนภาษาอิตาเลียน (กัวดานีโนยังแทรกบทพูดภาษาฝรั่งเศสเข้าไปด้วยเพื่อเพิ่ม “อิสระทางภาษาและความเย้ายวนในสไตล์ปัญญาชน” ให้กับบรรยากาศ นี่เป็นภาษาที่ชาลาเมต์พูดได้คล่องแคล่วอยู่แล้ว และนักแสดงสมทบอย่าง เอสเธอร์ การ์เรล ก็เป็นคนฝรั่งเศสฝึกเล่นดนตรี ทั้งกีตาร์และเปียโน แล้วอ่านนิยายต้นฉบับของ อองเดร อาซิมัน ซ้ำไปซ้ำมา “ในขั้นตอนค้นคว้าหาข้อมูล ผมพยายามทุ่มเทอย่างเต็มที่ชาลาเมต์กล่าว “แต่พอถึงเวลาถ่ายทำ จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ผมจะไม่คิดถึงพวกมันอีก เพราะเชื่อว่าตัวเองทำการบ้านมาดีพอแล้ว” ถึงแม้ใบหน้าเขาจะดูอ่อนเยาว์กว่าอายุจริง (20 ปีขณะถ่ายทำแต่ชาลาเมต์เป็นนักแสดงที่เฉียบคมเกินวัย ขนาด อองเดร อาซิมัน ยังชื่นชมว่า “เขาเป็นตัวละครได้แบบที่ผมจินตนาการไว้ในหัว เก้งก้าง ดูครุ่นคิดแบบหนอนหนังสือ ครบเครื่องทุกอย่าง

ปีนี้นอกจาก Call Me by Your Name แล้ว ชาลาเมต์ยังมีบทสมทบใน Lady Bird หนังชิงออสการ์อีกเรื่อง และบทนำใน Hot Summer Nights แต่ความท้าทายแท้จริงอาจเป็นการรับบทลูกชายติดยาไอซ์ของ สตีฟ คาร์เรล ใน Beautiful Boy ซึ่งเรียกร้องให้เขาต้องลดน้ำหนักลง 20 ปอนด์จากเดิมที่เป็นคนรูปร่างบอบบางอยู่แล้ว หนังถ่ายทำระหว่างช่วงฤดูร้อนของปีก่อนหลัง Call Me by Your Name กวาดเสียงชื่นชมจากซันแดนซ์ “มันช่วยเบี่ยงเบนให้ผมเลิกคิดถึงความสำเร็จของ Call Me by Your Name ผมพยายามสร้างวินัยและทุ่มเทตัวเองกับงานที่ทำอยู่เขากล่าว และหลังจากนั้น เขาก็ยังได้รับบทนำในหนังใหม่ของ วู้ดดี้ อัลเลน เรื่อง A Rainy Day in New York ซึ่งจะออกฉายในปี 2018 อีกด้วย


แกรี โอลด์แมน (Darkest Hour)  

ไม่น่าเชื่อว่าบท วินสตัน เชอร์ชิล นายกรัฐมนตรีอังกฤษระหว่างช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง จะเป็นบทนำบทแรกของ แกรี โอลด์แมน นับจาก Tinker, Tailor, Soldier, Spy ซึ่งส่งให้เขาเข้าชิงออสการ์ครั้งแรกเมื่อ 6 ปีก่อน โดยช่วงระหว่างนั้นเขาได้เล่นบทสมทบหลายเรื่อง ตั้งแต่ The Dark Knight Rises ไปจนถึง Dawn of the Planet of the Apes และ The Space Between Us หลังจากเวียนว่ายอยู่ในวงการมานาน 35 ปี สร้างผลงานอันน่าจดจำไว้มากมาย นักแสดงชาวลอนดอนวัย 59 ปีบอกว่า Darkest Hour เป็นงานที่ยากลำบากที่สุดของเขาอย่างไม่ต้องสงสัย “ผมเป็นกังวลเรื่องสุขภาพเพราะเชอร์ชิลปรากฏตัวแทบทุกฉาก เป็นหัวใจหลักของหนัง ผมต้องทำงานทุกวัน มาถึงกองถ่ายก่อนหน้าคนอื่นๆ 4 ชั่วโมงเพื่อเตรียมแต่งหน้า ขลุกอยู่กองถ่าย 18 ชั่วโมงกว่าจะได้กลับบ้านไปกินข้าวเย็น ยังมีอาชีพอื่นที่ลำบากกว่านี้เยอะ ผมไม่ได้บ่น ส่วนใหญ่แค่กลัวว่าผิวหนังจะขยับไม่ได้ภายใต้เมคอัพหนาเตอะ

ตลอดการถ่ายทำ 54 วัน โอลด์แมนจะถึงกองถ่ายตั้งแต่ตีสามเพื่อแต่งหน้า ใช้เวลาแต่งตัวอีกราวๆ ครึ่งชั่วโมง “มีช่างหล่อและติดชิ้นเนื้อเทียมชาวญี่ปุ่นชื่อ คาซูฮีโร ซึ่งเป็นอัจฉริยะด้านนี้ จริงๆ เขาเกษียณตัวเองเพื่อไปเอาดีทางวิจิตรศิลป์แล้ว แต่แกรีโน้มน้าวให้เขากลับมาช่วยงาน” ผู้กำกับ โจ ไรท์ เล่า “เราช่วยกันตัดสินหาตัวเลือกหลายอย่างจนกระทั่งได้แบบที่ลงตัว ทำให้เขาดูเหมือนเชอร์ชิลมากพอ แต่ก็เปิดโอกาสให้คนดูเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครหลังถ่ายทำเสร็จในแต่ละวัน การถอดชิ้นเนื้อเทียมใช้เวลานานถึง ชั่วโมงเพื่อไม่ให้เกิดผลเสียกับผิวหนังของโอลด์แมน นอกจากนี้เขายังต้องสวมชุดโฟมเพื่อจำลองหุ่นและรูปทรงของเชอร์ชิลอีกด้วย โอลด์แมนเคยทดลอง “แปลงร่าง” ระหว่างช่วงซ้อม 4 สัปดาห์ก่อนเริ่มเปิดกล้อง “จู่ๆ ก็เหมือนเชอร์ชิลเดินเข้ามาในห้องซ้อม มัน... น่าตื่นตามาก” ลิลี เจมส์ ซึ่งรับบทเลขานุการเชอร์ชิล อลิซาเบ็ธ เลย์ตัน กล่าว

นอกจากแบกชุดโฟมกับเนื้อเทียมตามตัวแล้ว โอลด์ยังต้องแบกหนังทั้งเรื่องไว้บนบ่า เพราะเชอร์ชิลคือศูนย์กลางของเรื่องราว เน้นย้ำไปยังช่วงเวลาไม่กี่วันระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อรัฐบาลอังกฤษต้องค้นหายุทธวิธีรับมือกับการรุกคืบของกองทัพนาซี ซึ่งบุกยึดประเทศในยุโรปหลายประเทศ และต้อนกองทัพอังกฤษไปจนมุมที่ชายฝั่งประเทศฝรั่งเศส (เหตุการณ์นี้ถูกจำลองไว้ในหนังเรื่อง Dunkirk) อังกฤษต้องเลือกว่าจะยอมเจรจาสันติภาพ แล้วตกเป็นเบี้ยล่างของเยอรมนีอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง หรือจะสู้ไม่ถอยเพื่อพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพ หนังเปิดเผยให้เห็นกลเกมการเมืองในช่วงวิกฤติหน้าสิ่วหน้าขวานไปพร้อมกับแจกแจงแง่มุมส่วนตัวของเชอร์ชิล ซึ่งหลายคนอาจคาดไม่ถึง

สำหรับโอลด์แมน นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เขาต้องสวมบทคนจริงตามประวัติศาสตร์ หลังจากเคยรับบท ซิด วิเชียส (Sid And Nancy) ลี ฮาร์วีย์ ออสวอลด์ (JFK) และ เบโทเฟน (Immortal Beloved) มาก่อน “ภาพจำเชอร์ชิลในความคิดคนทั่วไปค่อนข้างชัดเจน เขารู้จักวิธีโปรโมตตัวเอง เข้าใจเรื่องการสร้างแบรนด์ก่อนมันจะกลายเป็นกระแสด้วยซ้ำโอลด์แมนกล่าว จากนั้นก็ยกตัวอย่างเรื่องการแต่งกายของเชอร์ชิลที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว หมวกปีกกว้าง ผ้าพันคอ ชุดสูทสไตล์วิกตอเรียน หูกระต่าย และนาฬิกาพก “เขาแต่งตัวอลังการ นำเสนอตัวเองให้ดูยิ่งใหญ่ น่าเกรงขาม เขาเป็นเหมือนนักแสดง แต่โจกับผมอยากสะท้อนด้านที่เป็นมนุษย์ของเขาออกมา ค้นหาเลือดเนื้อภายใต้ภาพลักษณ์อันยิ่งใหญ่ เชอร์ชิลใช้อารมณ์ขันเป็นเกราะป้องกัน คอยประคองเขาให้ก้าวข้ามความยากลำบากในชีวิตเช่นเดียวกับเราทุกคน เรื่องน่าสนใจที่ผมค้นพบระหว่างขั้นตอนหาข้อมูลจากโดยอ่านงานเขียนของคนรอบข้างเชอร์ชิล เช่น อลิซาเบ็ธ เลย์ตัน คือ พวกเขาอธิบายว่าเชอร์ชิลมีรอยยิ้มในแววตา เขาพร้อมจะหัวเราะทุกเมื่อ

โอลด์แมนกับ แดเนียล เดย์-ลูว์อิส เป็นนักแสดงดาวรุ่งในช่วงทศวรรษ 1980 และเส้นทางชีวิตเคยซ้อนทับกันอยู่ช่วงหนึ่ง เมื่อผู้กำกับ สตีเวน เฟรียร์ส เคยเสนอบทนำใน ​My Beautiful Laundrette ให้โอลด์แมน แต่เขาปฏิเสธ บทดังกล่าวสร้างชื่อให้เดย์-ลูอิส ก่อนเขาจะเดินหน้าคว้าออสการ์ตัวแรก (จากทั้งหมด 3 ตัวได้จาก My Left Foot กระนั้นโอลด์แมนก็ไม่น้อยหน้า เขาฉายแสงในหนังเรื่อง Meantime ของ ไมค์ ลีห์ แล้วกวาดคำชมอย่างถ้วนทั่วจากการรับบทเป็นมือเบสวง Sex Pistols ซิด วิเชียส ใน Sid and Nancy และนักเขียนบทละคร โจ ออร์ตัน ใน Prick Up Your Ears ของเฟรียร์ส การแสดงเป็นตัวละครที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงในช่วงเวลาใกล้กันทำให้คนดูตะลึงกับพรสวรรค์ของเขา คนบ้าระห่ำอย่างวิเชียสกับคนที่สง่างาม ลุ่มลึกอย่างออร์ตัน รับบทโดยนักแสดงคนเดียวกันได้อย่างไร

บทเด่นๆ ยังคงหลั่งไหลมาอย่างต่อเนื่อง เขาเล่นเป็นแดรกคูลาให้กับ ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา เล่นเป็น ลี ฮาร์วีย์ ออสวอลด์ ให้กับ โอลิเวอร์ สโตน แต่ไม่นานเขาเริ่มถอยห่างจากบทท้าทาย แล้วหันไปเล่นหนังแอ็กชั่นอย่าง Leon และ Air Force One พร้อมกับย้ายมาอยู่ฮอลลีวู้ดเป็นการถาวร แต่ผลงานเหล่านั้นมีส่วนช่วยวางรากฐานให้เขาสามารถหาทุนมากำกับหนังเรื่องแรกอย่าง Nil By Mouth ได้สำเร็จ ซึ่งมันทำให้เขากลับมาเป็นขวัญใจนักวิจารณ์อีกครั้ง เมื่อชีวิตแต่งงานกับภรรยาคนที่สาม ช่างภาพ ดอนยา ฟีออเรนตีโน สิ้นสุดลงในปี 2001 ส่งผลให้เขาต้องเลี้ยงดูลูกชายตัวเล็กสองคนเพียงลำพัง โอลด์แมนตัดสินใจว่าถึงเวลาต้องทบทวนชีวิตใหม่ เขาเริ่มรับงานที่ให้ค่าตอบแทนสูง แต่ใช้เวลาห่างจากบ้านไม่นาน นำไปสู่การมีส่วนร่วมในแฟรนไชส์ที่โด่งดังระดับบล็อกบัสเตอร์อย่าง Harry Potter และ The Dark Knight

Darkest Hour ทำให้โอลด์แมนกลับมายืนในจุดที่คุ้นเคยอีกครั้ง และได้รับการคาดหมายว่าจะคว้ารางวัลออสการ์ตัวแรกมาครองได้ในที่สุด แม้แรกทีเดียว โจ ไรท์ จะไม่ค่อยมั่นใจนักหลังได้ฟังโอลด์แมนเลียนเสียงอันเป็นเอกลักษณ์ของเชอร์ชิล แต่ทันทีที่ได้ยินเขาพูดบทปราศรัยอันลือลั่นในสภาของเชอร์ชิล ความกังวลทั้งปวงก็มลายหายไป “ที่จริงผมถึงกับน้ำตาคลอเลย คนส่วนใหญ่ในห้องก็รู้สึกแบบเดียวกันไรท์กล่าว

เมื่อถูกถามถึงโครงการหนังในอนาคต โอลด์แมนหัวเราะก่อนจะตอบว่า “ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน ส่วนใหญ่คงตกงาน บทแบบนี้ไม่ได้มีมาบ่อยๆ หรอก อลัน เบนเน็ตต์ ไม่ได้เขียน Prick Up Your Ears ทุกปี งานเขียนคุณภาพแทบไม่มีให้เห็นกันอีกแล้ว ยุคสมัยมันเปลี่ยนไป และคุณจำเป็นต้องรับมือกับความเปลี่ยนแปลงให้ได้


แดเนียล คาลูยา (Get Out)

ในปี 2014 แดเนียล คาลูยา เคยฟ้องร้องกรมตำรวจเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่แคมเดนเมื่อสี่ปีก่อนหน้า ซึ่งเขาอ้างว่าถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ 4 นายลากลงจากรถทัวร์ สั่งให้นอนราบบนพื้นถนน จากนั้นก็นำตัวไปยังโรงพักพร้อมกับบอกให้เขาแก้ผ้าเพื่อค้นตัว ในหนังเรื่อง Get Out มีอยู่ฉากหนึ่งเช่นกันที่ตัวละครเอกผิวดำ ซึ่งรับบทโดยคาลูยา ต้องเผชิญหน้ากับตำรวจผิวขาว ความตึงเครียดของสถานการณ์สะท้อนให้เห็นความขัดแย้งระหว่างคนผิวดำกับตำรวจในอเมริกา จึงไม่น่าแปลกที่คาลูยาจะชื่นชอบบทหนังของ จอร์แดน พีล ซึ่งสอดแทรกประเด็นดังกล่าวได้อย่างแนบเนียน พออ่านจบผมได้แต่อุทานว่า แม่เจ้าผมรีบส่งอีเมลหาเอเยนต์บอกว่ามันเป็นเหมือน 12 Years a Slave เวอร์ชั่นหนังสยองขวัญ” แน่นอน คาลูยาอยากได้บทนี้ และความหวังของเขาเริ่มเรืองรองในเดือนมีนาคม 2015 เมื่อพีลบอกว่าอยากสไกป์คุยกับเขา “ต่อให้ผมชวดบท อย่างน้อยผมก็ยังได้คุยกับ จอร์แดน พีล แค่นี้ก็ดีแล้วคาลูยาเล่า

พีลบอกรายชื่อหนังสยองขวัญให้คาลูยาไปหาดูเพื่อทำการบ้านด้วยหากเขาได้รับเลือกให้เล่นบทนี้ แต่คาลูยาไม่ได้ทำตามคำแนะนำ “ผมไม่ได้ดูหนังพวกนั้นหรอกเขากล่าว “ผมไม่อยากดู เพราะไม่งั้นผมจะรู้สึกเหมือนว่ามันเป็นหนัง เป็นเรื่องแต่ง ผมแค่อยากเล่นเป็นผู้ชายธรรมดาทั่วไป เพราะนั่นทำให้ผมสนุกเวลาดูหนัง ทำให้ทุกอย่างดูสมจริงอาจกล่าวได้ว่า “ผู้ชายธรรมดา ถือเป็นบทถนัดของคาลูยาในช่วงเริ่มต้นอาชีพนักแสดง โดยหลังจากสไกป์คุยกันรอบแรกแล้ว พีลก็เปิดเน็ตฟลิกซ์ดู Fifteen Million Merits ซีรีส์ชุด Black Mirror ของแชนแนล 4 จากปี 2011 ซึ่งคาลูยารับบทชายหนุ่มที่ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดในโลกหลังหายนะ ไม่น่าแปลกใจว่าทำไมพีลถึงคิดว่าเขาเหมาะกับบทใน Get Out ชายหนุ่มที่เดินทางไปเยี่ยมครอบครัวของแฟนสาวผิวขาว แล้วค้นพบว่าพวกเขามีคนรับใช้ผิวดำ แม้ภายนอกพวกเขาจะพูดจาเหมือนลิเบอรัลทั่วไป ที่สำคัญ เหล่าคนรับใช้ผิวดำยังทำตัวประหลาดไม่เหมือนคนผิวดำ... หรือกระทั่งมนุษย์ปกติ

งานแสดงของคาลูยาใน Get Out ค่อนข้างลุ่มลึก ไม่โฉ่งฉ่าง และทับซ้อนกันอยู่หลายชั้น เขาเอาอยู่ในฉากหนักๆ เช่น เมื่อตัวละครต้องรำลึกถึงความตายของแม่จากอุบัติเหตุชนแล้วหนี โดยที่เขาไม่อาจช่วยอะไรได้ เวลาเล่นฉากดังกล่าว คาลูยาบอกว่า “ผมรู้สึกได้ถึงอาการขัดขืน ไม่อยากเผชิญหน้ากับความเลวร้ายในอดีต ซึ่งผมคิดว่าคนผิวดำส่วนใหญ่น่าจะเข้าถึงได้ไม่ยาก มีชายผิวดำจำนวนมากที่เต็มไปด้วยบาดแผลในจิตใจจนควรไปเข้ารับการบำบัดทางจิต พวกเขาอยากนั่งคุยกับใครสักคนอย่างเปิดอก แต่ทำไม่ได้ เกราะกำแพงของความเป็นลูกผู้ชาย ของการเป็นคนผิวดำคอยกั้นขวางอยู่ แนวคิดความเป็นชายอันเข้มข้นของคนผิวดำยิ่งทำให้บาดแผลเหล่านั้นฝังรากลึก

Get Out อาจเป็นบทนำในหนังใหญ่เรื่องแรกของคาลูยา แต่นักแสดงชาวอังกฤษวัย 27 ปีได้สั่งสมประสบการณ์มาแล้วมากมาย  เขาเกิดที่ แคมเดน ทาวน์ มีแม่เป็นชาวยูกันดา เริ่มพัฒนาความสนใจศิลปะตั้งแต่วัยเด็ก เขาเขียนบทละครเรื่องแรกตอนอายุ 9 ขวบ ซึ่งชนะการประกวดในโรงเรียนประถม และถูกนำไปจัดแสดงที่โรงละครแฮมสตีด แม่เป็นคนเสนอให้เขาลองเบนเข็มเป็นนักแสดงเพื่อเผาผลาญพลังงานที่เหลือเฟือ เขาจึงลงชื่อเข้าร่วมชั้นเรียนอิมโพรไวส์ที่โรงเรียน แอนนา เชอร์ ที่อิสลิงตัน แต่การจะหาบทเล่นสักบทช่างยากลำบากเสียเหลือเกิน สุดท้ายเขาจึงกลับไปเขียนบทให้กับแฮมสตีดและโรงละครเยาวชนแห่งชาติ ฝีมือเขียนบทของเขาสะดุดตา E4 ซึ่งจ้างเขามาเป็นนักเขียนในสังกัด พร้อมกับเล่นบท พอช เคนเน็ธ ในซีรีส์ดรามาวัยรุ่นเรื่อง Skins หลังจากนั้นเขาได้รางวัล อีฟนิง สแตนดาร์ด และสมาคมนักวิจารณ์ จากการเล่นละครเวทีและรับบทในละครทีวีหลายเรื่อง เขาถูกเลือกให้เข้าร่วมเวิร์คช็อปมือเขียนบทที่ซันแดนซ์จากบทหนังชิ้นแรก ก่อนจะเริ่มสร้างชื่อจากบทสมทบในหนังดังอย่าง Sicario ของ เดนีส์ วิลเนิร์ฟ ส่วนปีนี้เขาจะร่วมแสดงในหนังบล็อกบัสเตอร์อย่าง Black Panther และล่าสุดเพิ่งได้รับเลือกให้เล่นประกบ ไวโอลา เดวิส ในหนังแนวจารกรรม-เขย่าขวัญของ สตีฟ แม็คควีน เรื่อง Widows

แม้จะพักอาศัยอยู่ลอนดอนเป็นหลัก แต่เช่นเดียวกับเพื่อนนักแสดงร่วมชาติอย่าง เดวิด โอเยโลโว และ แมรีแอนน์ ฌอน-แบ๊บติสต์ ซึ่งย้ายมาอยู่อเมริกา คาลูยาเริ่มหันมารับบทในหนังอเมริกันมากขึ้น ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวก่อให้เกิดประเด็นโต้เถียงร้อนแรง เมื่อ แซมมวล แอล แจ็คสัน ตั้งคำถามถึงความเหมาะสมของการคัดเลือกนักแสดงผิวดำชาวอังกฤษอย่างคาลูยามารับบทชายหนุ่มผิวดำชาวอเมริกันอย่างคริสใน Get Out พร้อมตั้งสมมุติฐานว่าสาเหตุที่คนอังกฤษมาแย่งงานของคนอเมริกันได้สำเร็จเป็นเพราะ “พวกเขาเรียกค่าตัวต่ำกว่าพวกเราแต่ประเด็นดังกล่าวถูกนักแสดงผิวดำชาวอังกฤษอีกคนอย่าง จอห์น โบเยกา ซึ่งโด่งดังจากหนังชุด Star Wars สวนกลับทางทวิตเตอร์ว่า “การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายระหว่างคนผิวดำชาวอังกฤษกับคนแอฟริกัน-อเมริกันเป็นเรื่องงี่เง่าที่เสียเวลาเปล่า

คาลูยาไม่เข้าใจว่าทำไมนักแสดงผิวดำชาวอังกฤษถึงตกเป็นจำเลยเพียงกลุ่มเดียว “บางครั้งผมทำงานในอเมริกา บางครั้งผมก็ทำงานในอังกฤษ สิ่งสำคัญคือความสุขจากการทำงาน ผมแค่อยากจะเล่าเรื่องเขากล่าว “ในอังกฤษไม่ค่อยมีบทให้เล่นมากมายเท่าไหร่ นักแสดงผิวขาวชาวอังกฤษก็ไปทำงานที่อเมริกาหลายคน ไม่เห็นมีใครว่าอะไร แต่พวกเขากลับโทษเราเพียงเพราะเราเป็นคนผิวดำ ใครๆ ก็ไปอเมริกากันทั้งนั้น มีนักแสดงชายผิวขาวตั้งกี่คนที่ต้องหัดพูดสำเนียงอเมริกัน ไม่พูดถึง แอนดรูว์ การ์ฟิลด์ บ้างล่ะ ทำไมต้องโยนความผิดมาให้คนผิวดำตลอด ก็แค่อเมริกามีอุตสาหกรรมหนังที่ใหญ่โตกว่า ถ้าคุณมีแรงผลักดัน มีความทะเยอทะยาน ก็ไม่แปลกที่คุณจะเลือกเบนเข็มมายังอเมริกาอย่างไรก็ตาม คาลูยาบอกว่าอังกฤษและอเมริกามีประสบการณ์เกี่ยวกับการเหยียดเชื้อชาติแตกต่างกัน “ที่บ้านเกิดผม คนไม่ค่อยกล้าพูดตรงๆ เท่าไหร่ ซึ่งทำให้รับมือยากเขากล่าว “มันเป็นเหมือนคลื่นใต้น้ำ แต่ในอเมริกา ดูเหมือนคนจะเก็บกดได้ไม่เก่งเท่า พวกเขาจะพูดจาป่าเถื่อนโดยไม่คิดหน้าคิดหลัง ผมไม่เข้าใจเลยจริงๆ


แดเนียล เดย์-ลูว์อิส (Phantom Thread)

การเรียก แดเนียล เดย์-ลูว์อิส ว่าเป็น นักแสดงเมธอดยังอาจฟังดูง่ายเกินไป เพราะเวลาเดย์-ลูว์อิสอธิบายศาสตร์ทางการแสดง เขามักจะใช้ภาษาที่ฟังดูลึกลับ ชวนพิศวงอย่าง แรงดึงดูดจากชีวิตของอีกคนที่จุดไฟให้กับความอยากรู้อยากเห็นเหมือนเป็นมนต์ดำบางอย่างที่เขาท่องคาถาต่อหน้ากล้อง เขาเชื่ออย่างหมดใจว่าเป็นตัวละครที่กำลังรับบท จนกระทั่งคนดูไม่เหลือทางเลือกอื่นนอกจากยินยอมเดินทางตามเขาไปโดยดุษฎี ดาราถูกนิยามโดยความคงที่ ไม่เปลี่ยนแปลง จอห์น เวย์น ไม่ว่าจะรับบทไหน ก็ยังคงเป็น จอห์น เวย์น เคล็ดลับการเป็นดาราในความคิด แครี แกรนท์ คือ เป็นในสิ่งที่คนดูรู้สึกคุ้นเคยเหมือนกาแฟ หรือชายี่ห้อโปรดแต่เดย์-ลูว์อิส ซึ่งแทบจะไม่ค่อยได้เล่นหนัง ไม่ชื่นชอบการเดินย่ำรอยตัวเอง ฉะนั้นเมื่อใดก็ตามที่ปรากฏตัวบนจอ เขาจะกลายเป็นอีกคนหนึ่ง

นักแสดงชาวอังกฤษรุ่นก่อนหน้าที่อาจจะสูสีกับเดย์-ลูว์อิสในแง่ความทุ่มเทให้กับบท คือ อเล็ก กินเนส (ซึ่งสนิทกับพ่อของเดย์-ลูว์อิสที่เป็นกวี เซซิล เดย์-ลูว์อิส และเคยร่วมงานกับปู่ของเดย์-ลูว์อิส ไมเคิล บัลคอน) เขามีวิธีเข้าถึงตัวละครในสไตล์เมธอดไม่ต่างกัน เช่น เมื่อต้องแสดงเป็นศิลปินซกมกใน The Horse’s Mouth เขาตัดสินใจไม่อาบน้ำตลอดการถ่ายทำ แต่เดย์-ลูว์อิสเอาจริงเอาจังยิ่งกว่า ตอนเขารับบทศัลยแพทย์จอมเจ้าชู้ใน The Unbearable Lightness of Being ซึ่งดัดแปลงจากนิยายของ มิลาน คุนเดรา เขาไปลงเรียนภาษาเช็ก (แม้ว่าหนังจะพูดภาษาอังกฤษ) ตอนเตรียมตัวเพื่อรับบทนักรบชนเผ่าใน The Last of the Mohicans เขาฝึกต่อเรือแคนู และที่โด่งดังสุดคงหนีไม่พ้นตอนรับบท คริสตี้ บราวน์ ซึ่งเขาคว้าออสการ์ตัวแรกมาครองใน My Left Foot เดย์-ลูว์อิสจะนั่งรถเข็นตลอดเวลา เขาเรียกคนตามชื่อตัวละคร และคุณต้องเรียกเขาคริสตี้ มันบ้าบอมาก คุณต้องช่วยป้อนอาหารเขา เข็นเขาไปไหนมาไหน ตลอดการถ่ายทำฉันเคยเห็นเขาลุกเดินแค่ครั้งเดียวมั้งลูกสาวของ จิม เชอริแดน ผู้กำกับ รำลึกความหลัง

น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้น เดย์-ลูว์อิสแตกต่างจากนักแสดงเมธอดของอเมริกาอย่าง มาร์ลอน แบรนโด, โรเบิร์ต เดอ นีโร และ อัล ปาชิโน ซึ่งยังคงรักษาตัวตนแบบที่คนดูคุ้นเคยเอาไว้ แม้ว่าจะต้องรับบทเป็นตัวละครที่สุดโต่งมากแค่ไหนก็ตาม ในยุคสตูดิโอรุ่งเรือง เมื่อดาราจำเป็นต้องรับบทตามใบสั่งของสตูดิโอ อาชีพนักแสดงแบบเดย์-ลูว์อิสคงยากจะเป็นไปได้ เขาเล่นหนังเหมือนคนที่โดนวิญญาณ (ตัวละคร) เข้าสิง ไม่ว่าจะเป็นบทนักขุดเจาะน้ำมันใจโหดใน There Will Be Blood หรือประธานาธิบดีซึ่งขึ้นชื่อในเรื่องสติปัญญาและอุดมคติอันเข้มข้นใน Lincoln สองตัวละครนี้มีความแตกต่างกันราวฟ้ากับเหว แต่สะท้อนความเป็นอเมริกันได้อย่างชัดเจน ความพิเศษสุดในงานแสดงของเดย์-ลูว์อิสทำให้เขาคว้ารางวัลออสการ์มาครองถึงสามตัว แม้จะเล่นหนังไม่ถึง 12 เรื่องนับจาก My Left Foot ในปี 1989

แต่ในเวลาเดียวกันการ กลายเป็นตัวละครอาจเป็นเหตุผลว่าทำไมเขาจึงตัดสินใจบอกลาวงการแสดง เดย์-ลูว์อิสให้สัมภาษณ์ว่าบทดีไซเนอร์ยุค 50 เรย์โนลด์ วู้ดค็อก ในหนังเรื่อง Phantom Thread จะเป็นผลงานแสดงเรื่องสุดท้ายของเขา หลังถูกครอบงำด้วย ความเศร้าจากประสบการณ์ในครั้งนี้ พอลกับผมหัวเราะครื้นเครงกันตลอดก่อนเปิดกล้อง จากนั้นเราก็หยุดหัวเราะเพราะมวลความเศร้าซึ่งเราทั้งคู่ไม่คาดคิดมาก่อน มันยากจะทนรับ ตอนนี้ผมก็ยังรู้สึกอยู่เดย์-ลูว์อิสกล่าว ก่อนจะเสริมว่าที่เขาต้องประกาศชัดเช่นนี้ก็เพื่อขีดเส้นเตือนตัวเองไม่ให้ถูกล่อหลอกกลับมาอีก ตลอดชีวิตผมพูดบ่อยๆ ว่าอยากเลิกเล่นหนัง ไม่รู้ทำไมคราวนี้ถึงแตกต่างจากครั้งอื่น แต่แรงกระตุ้นเริ่มหยั่งรากลึกจนยากจะปฏิเสธ มันเป็นสิ่งที่ผมไม่อาจหลีกเลี่ยงได้อีกต่อไป

หลังจากร่วมงานกันใน There Will Be Blood เมื่อ 10 ปีก่อน เดย์-ลูว์อิสกับ พอล โธมัส แอนเดอร์สัน ยังคงติดต่อพูดคุยอยู่เนืองๆ ลึกๆ ในใจ เราทั้งคู่ต่างอยากจะกลับมาร่วมงานกันอีกแอนเดอร์สันเล่า ผมเลยถือโอกาสช่วงที่ปิดกล้อง Inherent Vice เสร็จ ส่วนเขาก็หมดภาระจาก Lincoln ปรึกษาหารือถึงโครงการใหม่ ตอนนั้นผมมีแค่ไอเดียคร่าวๆ เกี่ยวกับหนัง แต่เขาก็ยินดีจะดำดิ่งไปด้วยกัน” Phantom Thread เล่าถึงความรักบิดเบี้ยวระหว่างดีไซเนอร์หนุ่มใหญ่อีโก้จัด (เดย์-ลูว์อิส) กับหญิงสาวที่กลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้เขา อัลมา (วิคกี้ ครีปส์) ปกติ คนรักมักจะถูกเขี่ยทิ้งอย่างสิ้นไร้เยื่อใยในบ้านของวู้ดค็อก แต่อัลมาไม่ยอมจะเดินตามธรรมเนียมดังกล่าว เธอเปลี่ยนโลกทั้งใบของวู้ดค็อกให้พลิกตาลปัตร นำไปสู่ความสัมพันธ์อันแปลกประหลาดในลักษณะซาโดมาโซคิสต์

เช่นเคย เดย์-ลูว์อิสทุ่มเทศึกษาเพื่อให้สามารถเป็นตัวละครได้อย่างน่าเชื่อถือ เขาเข้าคอร์สตัดเย็บเสื้อผ้าของ มาร์ก แฮปเปล ดีไซเนอร์ที่ นิวยอร์ก ซิตี้ บัลเลต์ เป็นเวลาหลายเดือน พูดคุยกับ แคสซี เดวีส์-สตรอดเดอร์ อดีตผู้จัดงานแฟชั่นโชว์ที่พิพิธภัณฑ์ วิคตอเรีย แอนด์ อัลเบิร์ต เดย์-ลูว์อิสยอมรับว่าถึงแม้ปัจจุบันเขาจะอาศัยอยู่นิวยอร์กับภรรยา รีเบกกา มิลเลอร์ แต่รากเหง้าของเขาคืออังกฤษ ไม่รู้ทำไม แต่จู่ๆ ผมก็นึกอยากเล่าเรื่องราวของคนอังกฤษ เขากล่าว ผมมีความเป็นอังกฤษโดยแก่นแท้ภายใน การถ่ายทำในประเทศอังกฤษให้ความรู้สึกใกล้ชิดกับโลกที่ผมจากมา ลอนดอนในช่วงหลังสงครามเป็นสิ่งหนึ่งที่ผมหลงใหล พ่อแม่ผมชอบเล่าถึงชีวิตช่วงนั้นจนผมรู้สึกเหมือนสัมผัสมันได้ พ่อผมก็ไม่ต่างจาก เรย์โนลด์ วู้ดค็อก คนเป็นกวีจะมีนิสัยอะไรอื่นได้นอกจากหมกมุ่นกับตัวเอง

บางทีความที่หนัง ใกล้ชิดกับตัวตนจริงของเดย์-ลูว์อิสมากๆ (แอนเดอร์สันบอกว่าบทพูดจำนวนไม่น้อยเขียน หรืออิมโพรไวส์โดยเดย์-ลูว์อิส เช่นเดียวกับชื่อตัวละคร) จึงทำให้นักแสดงวัย 60 ปีอินกับบทเป็นพิเศษ พ่อของเขาเสียชีวิตขณะอายุ 68 ปีตอนที่เดย์-ลูว์อิสอายุได้ 14 ปี ตอนปี 1989 เขายอมรับว่าวิญญาณพ่อเขาดูเหมือนจะเข้ามาแทนที่พ่อของแฮมเล็ท จนทำให้เขาไม่อาจแสดงต่อไปได้และเกษียณตัวเองจากการแสดงละครเวทีนับจากนั้น (ในหนังวู้ดค็อกถูกวิญญาณแม่เขาตามหลอกหลอน) หากเดย์-ลูว์อิสยืนกรานตามการตัดสินใจจริง ก็ถือเป็นเรื่องน่าเสียดายที่โลกแห่งภาพยนตร์จะสูญเสียนักแสดงที่เก่งกาจที่สุดคนหนึ่ง


เดนเซล วอชิงตัน (Roman J. Israel, Esq.)

สามปีหลังเปิดตัวด้วย Nightcrawler ผลงานกำกับชิ้นแรก แดน กิลรอย หวนคืนสู่โลกภาพยนตร์เพื่อเปิดเผยให้เห็นด้านที่อ่อนแอ เปราะบาง ผุพันของมนุษย์อีกครั้ง แต่คราวนี้ด้วยเรื่องราวที่ติดดินขึ้นใน Roman J. Israel. Esq. เกี่ยวกับ โรมัน อิสราเอล ทนายต๊อกต๋อยผู้เปี่ยมอุดมคติและความทุ่มเทในอาชีพการงาน ทำให้เขาแตกต่างจากทนายคนอื่นๆ จนกระทั่งเขาได้พบกับ จอร์จ (โคลิน ฟาร์เรลล์) ทนายหนุ่มทรงเสน่ห์ ร่ำรวยเงินทอง ผู้ทำให้เขาเริ่มตั้งคำถามต่อมาตรฐานทางศีลธรรมอันสูงส่งของตนเอง ในโลกที่เส้นแบ่งระหว่างความดีกับความเลวหาได้ชัดเจนอย่างที่เขาคิด โรมันต้องเผชิญหน้ากับความจริงอันโหดร้ายของระบบยุติธรรม แปลกแยกจากแนวคิดการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิในปัจจุบัน และถูกเย้ายวนโดยความหอมหวานแห่งเงินตรา กิลรอย ซึ่งได้เข้าชิงออสการ์สาขาบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยมจาก Nightcrawler ตั้งใจเขียนบทนี้เพื่อ เดนเซล วอชิงตัน โดยเฉพาะ ผมไม่เคยเจอเดนเซลมาก่อน ไม่เคยคุยกับเขากิลรอยเล่า ผมตั้งใจแต่แรกว่าถ้าเดนเซลปฏิเสธ ผมก็คงไม่ทำหนังเรื่องนี้ มันถูกเขียนขึ้นมาเพื่อเขา ผมไม่อยากได้ใครอื่นมารับบทนี้

กิลรอยส่งบทให้นักแสดงเจ้าของสองรางวัลออสการ์ จากนั้นก็นัดทานข้าวกลางวันกันที่นิวยอร์ก ขณะวอชิงตันกำลังเตรียมกำกับ/นำแสดงในหนังที่ดัดแปลงจากบทละครเวทีของ ออกัสต์ วิลสัน เรื่อง Fences ซึ่งต่อมาส่งผลให้เขาได้เข้าชิงออสการ์นำชาย ส่วน ไวโอลา เดวิส คว้าออสการ์สมทบหญิงมาครอง แถมหนังยังหลุดเข้าชิงในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมอีกด้วย ทั้งสองจับมือตกลงทำสัญญากัน ผมชอบโรมัน ตอนนั่งดูหนัง ผมนึกในใจว่า ฉันชอบหมอนี่ ฉันเอาใจช่วยเขาแต่บางครั้งก็อดไม่ได้ที่จะร้องว่า อย่าทำแบบนั้น ไม่เอาเขาพยายามสุดใจจนคุณอดไม่ได้ที่จะชื่นชอบเขา ผมไม่เคยรู้สึกแบบนี้มาก่อนกับตัวละครอื่นๆ ที่ผมเคยเล่นเดนเซลกล่าวถึงตัวละครที่มีบุคลิกเป็นเอกลักษณ์ เขาสวมเสื้อผ้าเชยๆ ไว้ผมผิดยุคผิดสมัย สวมแว่นตาโตหนาเตอะ หิ้วกระเป๋าเอกสารใบโต แล้วห้อยหูฟังติดตัวตลอดเวลา ส่วนเพลงที่เขาชอบฟังก็หลงยุคหลงสมัยไม่แพ้กัน กิลรอยบอกว่าเขาวาดภาพตัวละครจากเหล่านักกิจกรรมการเมืองในยุค 60 และ 70 ที่พยายามต่อสู้เพื่อเรียกร้องสันติภาพ สิทธิสตรี และความเท่าเทียมทางสังคม

โรมันเชื่อว่ามีพลังบางอย่างที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเขากิลรอยกล่าว กฎหมายในแง่หนึ่งเป็นเหมือนศาสนาที่เขานับถือ ข้อดีของศรัทธาคือมันช่วยกระตุ้นให้คุณลุกขึ้นมาทำงานในตอนเช้า ผลักดันคุณไปข้างหน้า มอบเป้าหมายให้ไขว่คว้า แต่ในขณะเดียวกันมันก็สร้างมาตรฐานสูง ซึ่งยากที่จะรักษาระดับไว้ได้ตลอด และโรมันมีราคาที่เขาต้องจ่ายให้กับการเสียสละตนเพื่อช่วยเหลือคนอื่นแน่นอน ราคาดังกล่าวดูเหมือนจะทับทวีความกดดันขึ้นเรื่อยๆ ในโลกแห่งทุนนิยม เหมือนดังคำกล่าวที่ว่าอุดมการณ์กินไม่ได้ นั่นเป็นแก่นนามธรรมที่กิลรอยสร้างให้กับตัวละคร แต่ในแง่รูปธรรม ความรับผิดชอบหลักตกอยู่กับตัววอชิงตัน ซึ่งจงใจใส่รองเท้าใหญ่กว่าจริงสองไซส์เพื่อเปลี่ยนท่าทางการเดิน ผมเป็นคนเฟอะฟะพอกัน เขาเหมือนถูกสร้างมาเพื่อตอบสนองตัวตนที่แท้จริงของผม บทท้าทายแบบนี้หาไม่ได้ง่ายๆวอชิงตันกล่าว ก่อนกิลรอยจะเสริมว่าเขาอาจเป็นคนสร้างตัวละครขึ้นมาก็จริง แต่เดนเซลมอบชีวิตให้กับโรมัน

เพื่อเตรียมรับบท วอชิงตันได้ค้นข้อมูลเกี่ยวกับคนที่เป็นโรคออทิสติกในกลุ่มอาการแอสเพอร์เกอร์ (มีความฉลาดและระดับสติปัญญาในเกณฑ์ปกติ แต่มีปัญหาเรื่องทักษะการเข้าสังคม มีพฤติกรรมหมกมุ่น ชอบทำอะไรซ้ำๆ ซากๆ ไม่รู้จะอยู่ร่วมกับคนอื่นอย่างไรทั้งที่สามารถพูดคุยสื่อสารได้ปกติ) ซึ่งเป็นหนทางในการเข้าถึงตัวละครที่มีความรู้ ความจำด้านกฎหมายเป็นเลิศ แต่กลับเงอะงะ ไม่รู้กาละเทศะยามต้องเข้าสังคม กิลรอยบอกว่านักแสดงผิวดำวัย 63 ปีดูเหมือนจะเข้าถึงแรงจูงใจ ตลอดจนพฤติกรรมต่างๆ ของตัวละครอย่างแท้จริง ขั้นตอนของเขาเป็นความลับที่ผมเข้าไม่ถึง เขาเก็บงำไว้กับตัวเพียงคนเดียว มีหลายอย่างที่เขาอยากคุยด้วย แต่การพูดถึงแรงจูงใจภายในของตัวละครไม่ใช่สิ่งที่เขาพูดถึงโดยละเอียด เหมือนตัวละครเป็นเพื่อนสนิทส่วนตัวของเขา ผมคิดว่านั่นเป็นวิธีที่เขาจะปกป้องตัวละครเพื่อให้ได้ความรู้สึกที่สมจริงเดนเซลเล่าว่าเขาหยิบแรงบันดาลใจมาจากลูกชายของเพื่อนคนหนึ่งซึ่งทำงานในสำนักทนายความเช่นกันและอยู่ในกลุ่มอาการแอสเพอร์เกอร์ นี่เป็นบทแบบที่ผมไม่เคยเล่นมาก่อน มันแตกต่างจากตัวละครใน Fences อย่างมาก บทมาถึงมือผมอย่างถูกจังหวะ มันเป็นเหมือนการเดินทางที่ยอดเยี่ยม

เช่นเดียวกับ Nightcrawler เมืองลอสแอนเจลิสกลายเป็นตัวแทนสะท้อนภาวะจิตใจของตัวละคร กิลรอยเลือกจะถ่ายหนังในโลเกชั่นจริงกลางใจเมืองแอลเอ แต่เขตก่อสร้างที่อยู่ติดกับอพาร์ตเมนต์ของโรมันนั้นอาศัยคอมพิวเตอร์กราฟฟิก ไอเดียดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างการตระเวนหาโลเกชั่น เมื่อกิลรอยสังเกตเห็นว่าหลายจุดในเมืองเต็มไปด้วยเขตก่อสร้าง เครนกับเสียงขุดเจาะกลายเป็นเรื่องปกติสามัญ มันเข้ากับเรื่องราว เพราะคนดูจะรู้สึกว่าไม่เพียงตัวละครกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่สิ่งใหม่เท่านั้น ตัวเมืองเองก็กำลังเผชิญภาวะเดียวกันกิลรอยกล่าว ยุคสมัยใกล้จะจบลง นั่นคือธีมของหนัง โรมันไล่ตามเวลาไม่ทัน เขาตกยุค และรูปธรรมที่เราได้เห็นคือโครงการสร้างตึกใหม่ ซึ่งสะท้อนให้เห็นความเปลี่ยนแปลงอันไม่อาจหยุดยั้งกิลรอยฉาย Roman J. Israel, Esq. ครั้งแรกที่เทศกาลหนังโตรอนโต แต่ต่อมาได้หั่นหนังออก 13 นาทีเพื่อความกระชับ โดยวอชิงตันกับลูกชาย มัลคอล์ม ซึ่งเป็นนักทำหนังวย 26 ปีมีบทบาทไม่น้อยในการช่วยเหลือกิลรอยกับน้องฝาแฝด จอห์น ตัดต่อหนังฉบับสุดท้ายก่อนฉายจริง

แม้จะประสบความสำเร็จอย่างสูงในวงการภาพยนตร์ แต่วอชิงตันก็ไม่เคยทิ้งละครเวที เขาวางแผนจะแสดง The Iceman Cometh เป็นเวลา 14 สัปดาห์ ทักษะในการเล่นหนัง เล่นละคร รวมถึงกำกับภาพยนตร์ทำให้เขาสามารถยืนหยัดในวงการบันเทิงมาได้หลายสิบปี ผมพยายามจะพัฒนาตัวเองอยู่ตลอด ผมเติบโตมาในฐานะนักแสดง แต่พอถึงช่วงหนึ่งของชีวิต คุณจะรู้สึกว่าตัวเองเหลือเวลาอีกไม่มาก แต่ยังมีบทต่างๆ ที่อยากเล่นอีกมากมาย ผมชื่นชอบความท้าทายแปลกใหม่ และพยายามจะพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นเรื่อยๆ

ไม่มีความคิดเห็น: