วันพุธ, มิถุนายน 15, 2559

Embrace of the Serpent: อารยธรรมสูญสลาย


โดยปกติแล้วหนังที่พูดถึงลัทธิอาณานิคม หรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชนเผ่าพื้นเมือง ส่วนใหญ่มักจะถ่ายทอดผ่านมุมมองของคนผิวขาว (หรือผู้บุกรุก) แม้กระทั่งหนังที่แสดงท่าทีเห็นอกเห็นใจ (ในบางกรณีก็อาจถึงขั้นสร้างภาพโรแมนติก) ในชนเผ่าพื้นเมือง และวิพากษ์ความไม่เท่าเทียมกันระหว่างเจ้าอาณานิคมกับคนท้องถิ่นอย่าง A Passage to India (1984) ซึ่งมีฉากหลังเป็นประเทศอินเดียก่อนประกาศอิสรภาพจากอังกฤษ หรือ Dances with Wolves ซึ่งพูดถึงการยึดครองดินแดนฝั่งตะวันตกของคนผิวขาวโดยการฆ่าและขับไล่ชนเผ่าอินเดียนแดง ข้อเท็จจริงดังกล่าวสามารถใช้อ้างอิงได้กับหนังที่มีฉากหลังเป็นป่าอเมซอนเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น The Mission (1986) ซึ่งตัวเอกเป็นมิชชันนารีที่เดินทางไปเผยแผ่ศาสนา Fitzcarraldo (1982) ซึ่งตัวเอกเป็นเจ้าของสวนยางที่ฝันอยากสร้างโรงโอเปรากลางป่าดงดิบ หรือ The Emerald Forest (1985) ซึ่งตัวเอกเป็นวิศวกรเดินทางไปคุมงานสร้างเขื่อนในประเทศบราซิลก่อนลูกชายของเขาจะถูกชนเผ่าในอเมซอนจับตัวไป

ด้วยเหตุนี้ การมาถึงของ Embrace of the Serpent จึงถือเป็นเรื่องน่ายินดี เพราะแม้ต้นกำเนิดของหนังจะได้แรงบันดาลใจจากบันทึกของนักสำรวจผิวขาวสองคน นั่นคือ นักชาติพันธุ์วิทยาชาวเยอรมัน ธีโอดอร์ คอช-กรุนเบิร์ก และนักชีววิทยาชาวอเมริกัน ริชาร์ด อีแวนส์ ชูลท์ส แต่ตัวละครเอกของหนังกลับเป็นชาวพื้นเมือง การามากาเต ตัวละครที่ถูกคิดค้นขึ้นเพื่อเชื่อมโยงสองเส้นเรื่องเข้าด้วยกัน การามากาเตเป็นหมอผีแห่งป่าอเมซอน และบุคคลสุดท้ายของชนเผ่าโกฮุยโนที่เหลือรอดอยู่ หลังชาวยุโรปแผ่ขยายอาณาจักรเพื่อทำสวนยาง และเข่นฆ่า พร้อมกับบีบบังคับชนเผ่าพื้นเมืองจำนวนมากมาเป็นแรงงานทาส เขาออกเดินทางร่วมกับสองนักสำรวจผิวขาวเพื่อเสาะหาพืชหายาก ยากรูนา โดยในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ราวปี 1909 การามากาเตวัยหนุ่ม (นิลบิโอ ตอร์เรส) ได้ช่วยเหลือธีโอ (แจน บิจัวต์) ซึ่งกำลังป่วยหนัก ค้นหายากรูนาเพราะมันเป็นสิ่งเดียวที่จะรักษาเขาได้ แม้จะเกลียดชังคนผิวขาว แต่การามากาเตยินยอมช่วยเหลือธีโอ เมื่อฝ่ายหลังอ้างว่าเขาเพิ่งจะบอกลาชนเผ่าโกฮุยโนมาได้ 2-3 ปี พวกเขาที่เหลือรอด (แม้จะมีจำนวนแค่ไม่กี่คน) เป็นผู้มอบสร้อยคอแบบเดียวกับที่การามากาเตห้อยอยู่เป็นของขวัญแก่ธีโอ การเดินทางครั้งนี้จึงไม่ใช่เพื่อช่วยชีวิตธีโอเท่านั้น แต่ยังเป็นความพยายามหวนคืนสู่รากเหง้าของการามากาเต ค้นหาเส้นใยสุดท้ายซึ่งเชื่อมโยงเขากับถิ่นกำเนิด

สามสิบกว่าปีต่อมา อีแวน (ไบรออน เดวิส) ได้เดินทางสำรวจตามรอยบันทึกของธีโอเพื่อค้นหายากรูนาเช่นกัน ไม่ใช่เพื่อรักษาโรคภัยทางกาย แต่เป็นโรคภัยทางจิตใจ เขาหวังว่ายากรูนาจะช่วยบำบัดอาการป่วยทางจิตวิญญาณของสังคมยุคใหม่ ที่ทำให้เขาไม่อาจ ฝัน ขณะนอนหลับได้อีกต่อไป อีแวนตามหาการามากาเตในวัยชราจนพบ (รับบทโดย แอนโตนีโอ โบลิวาร์ ซัลวาดอร์ หนึ่งในสมาชิกเผ่าโอเคนา ซึ่งปัจจุบันเหลืออยู่แค่ไม่กี่คน) ที่อาศัยอย่างโดดเดี่ยวอยู่ในป่าลึก การปลีกวิเวกทำให้เขากลายเป็นเหมือนร่างที่ไร้วิญญาณ ตัดขาดจากผู้คนและรากเหง้าเพราะเขาเป็นคนสุดท้ายของชนเผ่าที่ยังมีชีวิต สิ่งเดียวที่เหลืออยู่คือความทรงจำอันเลือนลาง เขาร่ำไห้ที่ไม่อาจสื่อสารกับสิ่งแวดล้อม หรือกระทั่งจดจำวิธีปรุงยาได้อีกต่อไป ในฉากหนึ่งอีแวนลงมือปรุงยาตามวิถีดั้งเดิม ซึ่งเป็นองค์ความรู้โบราณที่ถูกถ่ายทอดจากการจดบันทึกของธีโอ ขณะการามากาเตใช้วิธีถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ฉะนั้นเมื่อชนเผ่าของเขาสูญหาย องค์ความรู้เหล่านั้นก็พลอยสูญหายไปด้วย หลงเหลืออยู่เพียงกลิ่นอายอันเจือจางจากภาพวาดบนแผ่นหิน การามากาเตยินยอมเดินทางไปกับชายหนุ่มพร้อมความหวังไม่ใช่เพื่อค้นหาสมาชิกที่เหลืออยู่ของชนเผ่าเขา แต่เพื่อค้นหาตัวตนที่เหลืออยู่ของเขา

แม้ต้นกำเนิดของหนังจะมาจากบันทึกข้อเท็จจริง รวมถึงข้อมูลทางประวัติศาสตร์ แต่  ไซโร กูเออร์รา ผู้กำกับคลื่นลูกใหม่ของโคลอมเบีย (หนังของเขาเรื่อง The Wandering Shadows และ The Wind Journeys เคยถูกส่งเป็นตัวแทนโคลอมเบียในการเข้าชิงออสการ์สาขาหนังต่างประเทศยอดเยี่ยมในปี 2004 และ 2009 ตามลำดับ ก่อนสุดท้ายจะประสบความสำเร็จในครั้งที่สาม นี่ถือเป็นหนังแจ้งเกิดให้กับกูเออร์ราอย่างแท้จริง หลังจากมันเดินหน้ากวาดรางวัลมากมายรวมถึงภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ในสาย Director’s Fortnight) เลือกจะผสมผสานความเชื่อ ตำนานพื้นบ้านลงไปคลุกเคล้าในปริมาณที่ใกล้เคียงกัน เพราะเขาไม่เพียงต้องการถ่ายทอดเรื่องราวการผจญภัยผ่านตัวละครอินเดียน มอบสุ้มเสียงให้กับชนเผ่าอเมซอนเท่านั้น แต่ยังต้องการพาผู้ชมไปสัมผัสวัฒนธรรม วิถีปฏิบัติ ตลอดจนหลักการดำรงชีวิตที่แตกต่างอีกด้วย เมื่อ ความจริงหาใช่สิ่งที่สัมผัสได้ หรือมองเห็นเบื้องหน้าเท่านั้น แต่รวมไปถึงความฝันและจินตนาการ

กูเออร์ราอธิบายที่มาของชื่อหนังไว้ว่า ตามตำนานของชาวอเมซอน สิ่งมีชีวิตจากนอกโลกเดินทางจากทางช้างเผือกลงมายังโลกบนงูยักษ์อนาคอนดา พวกเขาลงมายังมหาสมุทร เดินทางเข้าสู่อเมซอนโดยแวะเยี่ยมชุมชนที่มีผู้คนอาศัยอยู่ พร้อมกับทิ้งต้นแบบเพื่ออธิบายแต่ละชุมชนว่าควรใช้ชีวิตบนโลกอย่างไร เก็บเกี่ยว ตกปลา ล่าสัตว์อย่างไร จากนั้นพวกเขาก็เดินทางกลับสู่ทางช้างเผือก เหลือไว้เพียงอนาคอนดาซึ่งกลายเป็นแม่น้ำ และผิวหนังเหี่ยวย่นของมันซึ่งกลายเป็นน้ำตก นอกจากนี้ พวกเขายังทิ้งของขวัญไว้ให้ 2-3 อย่างเช่น โคคา (พืชที่นำใบมาสกัดเป็นโคเคน) ยาสูบ และอะยาอวสคา (สมุนไพรที่มีฤทธิ์กล่อมประสาท) ซึ่งคุณใช้สำหรับติดต่อพวกเขา หากมีคำถาม หรือข้อสงสัยเกี่ยวกับการดำรงอยู่บนโลก เมื่อคุณใช้อะยาอวสคา งูยักษ์จะลงมาจากทางช้างเผือกอีกครั้งแล้วโอบรัดคุณ พาคุณไปยังสถานที่อันไกลโพ้น ไปยังจุดเริ่มต้น ซึ่งชีวิตยังไม่ถือกำเนิด ไปยังสถานที่ซึ่งคุณจะมองเห็นโลกแตกต่างออกไป1

ความพยายามจะรักษาสมดุลระหว่างประวัติศาสตร์กับตำนานคือเหตุผลสำคัญที่ทำให้กูเออร์ราตัดสินใจถ่ายหนังเป็นขาวดำ เพราะในแง่หนึ่งมันสอดคล้อง ได้อารมณ์แบบเดียวกับภาพถ่ายจริงจากอเมซอนในยุคนั้นของชูลท์สกับคอช-กรุนเบิร์ก แต่ในอีกแง่หนึ่งมันก็ให้อารมณ์เหนือจริง เมื่อสีเขียวอันโดดเด่นของป่าอเมซอนถูกสูบออกจนเหือดแห้ง เหลือเพียงหลากหลายเฉดของสีเทาเพื่อเปิดช่องว่างให้คนดูใส่จินตนาการเข้าไป (ถ้าไม่นับว่ามันมีส่วนช่วยฉุดให้ช็อตไซเคเดลิกในช่วงท้ายเรื่องโดดเด่นยิ่งขึ้น ราวกับหนังจะบอกว่าภาพหลอนจากยากรูนา ซึ่งคล้ายคลึงกับภาพวาดจากความฝันของธีโอและภาพวาดบนแผ่นหินของการามากาเต มี ความจริง มากกว่าศาสตร์แห่งตะวันตก)2 นอกจากนี้ภาพขาวดำยังให้ความรู้สึกของอดีต การผันผ่านของเวลาที่ไม่อาจเรียกคืน ซึ่งตอบสนองเนื้อหาของหนังได้งดงาม และเศร้าสะเทือนใจ

ไม่ต้องสงสัยว่า Embrace of the Serpent วิพากษ์ความโหดร้ายของลัทธิอาณานิคมอย่างเจ็บแสบ ทั้งความโหดร้ายแบบตรงไปมาตรงมาดังเช่นฉากแรงงานทาสชาวพื้นเมืองในสภาพพิกลพิการวิ่งมาโกยน้ำยางกลับใส่ถังอย่างสิ้นหวัง หลังจากมันดูกา (ยัวเอนกู มิไกว) ปัดถังหล่นจากต้นยางด้วยความโกรธแค้น (รอยแผลเป็นบนแผ่นหลังของมันดูกาบ่งบอกชัดเจนว่าเขาเองก็เคยผ่านนรกบนดินของสถานะทาสในสวนยางมาก่อน) และความโหดร้ายที่เคลือบฉาบด้วยความปรารถนาดีดังเช่นฉากที่การามากาเตและธีโอเดินทางมาถึงหมู่บ้านริมแม่น้ำ ซึ่งเคยเป็นสวนยางแต่ถูกแปลงให้กลายเป็นโบสถ์คาทอลิกภายใต้การดูแลของนักบวชชาวสเปน พวกเขาสร้างชุมชนจากเหล่า เด็กกำพร้าของสงครามยาง บีบบังคับให้ชาวพื้นเมืองลืมภาษา วัฒนธรรมท้องถิ่น แล้วสื่อสารด้วยภาษาสเปน ร้องสวดเป็นภาษาละติน เลื่อมใสศรัทธาในพระเยซูเจ้า หากเด็กคนไหนแหกคอกก็จะถูกจับมัดกับเสาและเฆี่ยนตี พวกเขาอ้างความว่านำความศิวิไลซ์ ศาสนา ตลอดจนความรู้มาสู่บ้านป่าเมืองเถื่อน ซึ่งเต็มไปด้วยความโง่เขลาและลัทธิกินเนื้อคน ความพยายามของกาลามากาเตที่จะสอนเด็กๆ ไม่ให้ลืมรากเหง้ากลับถูกกล่าวหาจากบาทหลวงว่าเป็นการชักนำปีศาจมาสู่ชุมชน สร้างความแปดเปื้อนแก่เด็กๆ ผู้บริสุทธิ์

ความหดหู่ของฉากดังกล่าวแปรเปลี่ยนเป็นความสยดสยอง บ้าคลั่งเต็มรูปแบบ เมื่อการามากาเตกลับมายังหมู่บ้านแห่งนี้อีกครั้งในหลายทศวรรษถัดมา โดยคราวนี้มีอีแวนเป็นเพื่อนร่วมเดินทาง เนื่องจากมันได้กลายสภาพเป็นเหมือนฐานทัพของผู้พันเคิร์ทซ์ใน Apocalypse Now เมื่อเด็กๆ เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ถูกล้างสมองเต็มรูปแบบ การลงโทษเฆี่ยนตีไม่จำเป็นต้องถูกบังคับอีกต่อไป แต่เกิดจากความยินยอม ส่วนผู้พันเคิร์ทซ์ก็ปรากฏตัวขึ้นในรูปของนักบวชคลั่งศาสนาที่เชื่อว่าตัวเองคือ สิ่งเดียวที่ศักดิ์สิทธิ์ในป่าแห่งนี้ หรือพระเยซูผู้มาโปรดโลก และท่ามกลางภาวะประสาทหลอน (จากยาที่การามากาเตปรุงให้) เขาได้เชื้อเชิญเหล่าสานุศิษย์ทั้งหลายให้มากัดกินเนื้อสดๆ ของเขา

หนังพลิบตลบให้เห็นมุมมองของอินเดียนต่อคนขาว ผ่านเรื่องราวการปะทะกันของโลกสองใบ องค์ความรู้สองแบบ ซึ่งสะท้อนผ่านวิธีเล่าเรื่องแบบตัดสลับสองเหตุการณ์ผจญภัยที่เกิดขึ้นห่างจากกันหลายสิบปี ครั้งแรกระหว่างอินเดียนหนุ่มกับชายชราผิวขาว และครั้งที่สองระหว่างอินเดียนชรากับชายหนุ่มผิวขาว ชาวอินเดียนเป็นคนเดียวกัน ขณะที่คนผิวขาวในแง่หนึ่งก็อาจพูดได้ว่าเป็นคนเดียวกัน เพราะชูลท์สเดินตามรอยของคอช-กรุนเบิร์กเพื่อบันทึกการมีอยู่ของวัฒนธรรมในผืนป่าอเมซอน พวกเขาเป็นตัวแทนของความรู้สมัยใหม่ (คนหนึ่งมีกล้องถ่ายรูป อีกคนมีเครื่องเล่นแผ่นเสียง) แต่ในเวลาเดียวกันก็นำมาซึ่งการทำลายล้าง ความตาย และลัทธิวัตถุนิยม การามากาเตคือตัวแทนของชนเผ่าที่ยึดถือตามกฎแห่งธรรมชาติ ดำเนินชีวิตสอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมตามธรรมเนียมที่สืบทอดมาหลายชั่วคน เขาไม่เห็นความสำคัญของเงินตรา (“รสชาติมันไม่ได้เรื่อง”) และเซ้าซี้ให้เพื่อนร่วมเดินทางโยนกระเป๋าสัมภาระทั้งหลายลงน้ำ เพราะพวกมันเป็นแค่ สิ่งของ เขาเป็น คนเถื่อนใจธรรมที่ฉลาด ภาคภูมิ แต่ก็น่าเศร้าไปพร้อมๆ กัน เพราะไม่อาจต้านทานสายน้ำแห่งประวัติศาสตร์

กาลามากาเตดูจะตระหนักในความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวดี เมื่อเขาต่อว่าธีโอที่พยายามทวงคืนเข็มทิศจากชาวอินเดียน ด้วยข้ออ้างว่าคนพวกนี้อ่านทิศทางจากดวงดาวและพระจันทร์ ศาสตร์ดังกล่าวจะสูญหายหากพวกเขาหันมาใช้เข็มทิศแทน คุณเป็นใครถึงได้ปิดกั้นความรู้ เขาย้อนถามธีโอ แต่เมื่อความเปลี่ยนแปลงมาถึงชนเผ่า (ที่หลงเหลืออยู่เพียงไม่กี่คน) ของเขาบ้าง กาลามากาเตกลับเลือกจะทำลายความรู้แทนการหยิบยื่นให้คนขาวผู้ตะกละตะกลามและกระหายสงคราม เช่นเดียวกับภาพงูเขมือบไข่ของตัวเอง หรือพวกเดียวกันในฉากเครดิตต้นเรื่อง และภาพเสือดาวล่าเหยื่อในช่วงท้ายเรื่อง วิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวพื้นเมืองกำลังถูกกลืนกินดังจะเห็นได้จากสภาพของเพื่อนร่วมเผ่าการามากาเตที่เหลืออยู่ ชายฝั่งจำนวนมากตลอดเส้นทางของแม่น้ำ ซึ่งเปรียบได้กับความหลากหลายของชนเผ่าต่างๆ กำลังสูญสลายอย่างไม่อาจเรียกคืน

สุดท้ายความเศร้าของ Embrace of the Serpent จึงไม่ได้จำกัดอยู่แค่ความโหดเหี้ยมที่มองเห็นได้อย่างชัดเจนเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงอารยธรรมที่หล่นหายไปจากโลก เหลือเพียงความทรงจำอันเลือนลางและตำนานที่เล่าขาน
               
หมายเหตุ

1. อ้างอิงจากเว็บไซต์ www.cinetaste.com
2. งานวิจัยของ ริชาร์ด อีแวนส์ ชูลท์ส ในป่าอเมซอนมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้เกิดวิวัฒนาการด้านการผลิตยางและยาที่ออกฤทธิ์หลอนประสาท ในปี 1979 เขากับ ดร.อัลเบิร์ต ฮอฟแมนน์ บิดาผู้ให้กำเนิด LSD ได้เขียนหนังสือร่วมกันชื่อ พืชพันธุ์ของพระเจ้า: พลังอันศักดิ์สิทธิ์ในการรักษาและสร้างความมึนเมา

ไม่มีความคิดเห็น: