วันอังคาร, พฤษภาคม 08, 2550

Vanilla Sky: สงครามระหว่างขั้วตรงกันข้าม


ใครก็ตามที่ได้ชมหนังสเปนเรื่อง Open Your Eyes (Abre los ojos) ของ อเลฮานโดร อาเมนาบาร์ คงไม่รู้สึกแปลกใจว่าเหตุใด ทอม ครูซ ถึงสนใจอยากจะนำมันมาสร้างใหม่ในแบบฉบับฮอลลิวู้ดโดยมีตัวเขาเองเป็นดารานำ เรื่องราวของหนุ่มหล่อ ร่ำรวย ที่รายล้อมไปด้วยหญิงสาวสวยมากหน้าหลายตา ชีวิตของเขาสมบูรณ์แบบเหมือนฝัน จนกระทั่งชะตากรรมเล่นตลกให้เขาประสบอุบัติเหตุ ใบหน้าบิดเบี้ยวและสูญเสียผู้หญิงคนที่เขาคิดว่าอาจจะเป็น ‘รักแท้’ เพียงหนึ่งเดียวไป

ซูเปอร์สตาร์อย่าง ทอม ครูซ ก็มีทุกสิ่งทุกอย่างครบถ้วนไม่ต่างอะไรจากตัวเอกในหนังเรื่องนี้ ความงามทางด้านหน้าตา คือหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ผลักดันเขาให้ก้าวหน้าในอาชีพการงาน เงินทองไหลมาเทมา และได้ใช้ชีวิตเหมือนอยู่ในความฝัน รอยยิ้มของเขาเปรียบเสมือนเครื่องหมายการค้า ช่วยหนุนนำให้เขากลายเป็นหนุ่มในฝันของสาวน้อยสาวใหญ่มาตลอดช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ผลงานภาพยนตร์ส่วนใหญ่ของทอมนับแต่ Top Gun ถึง Cocktail ถึง Jerry Maguire ล้วนประสบความสำเร็จเพราะพึ่งพา อาศัยเสน่ห์ความหล่อของเขามากพอๆกับ (หรืออาจจะมากกว่า) ฝีมือการแสดง

ในโลกของหนุ่มรูปงามซึ่งหลงใหล มัวเมาอยู่กับเงาสะท้อนของตัวเอง คงไม่มีฝันร้ายใดจะน่าสะพรึงกลัวไปกว่าการตื่นขึ้นมาวันหนึ่งแล้วพบว่าตนได้กลายร่างเป็นชายอัปลักษณ์ที่แม้แต่เขาเองยังไม่อาจทนมองเงาสะท้อนของตนในกระจกได้

นอกจากจะเปิดเผยความหวาดกลัวในเบื้องลึกของครูซได้อย่าง ‘โดนใจ’ จนชวนให้ขนหัวลุกแล้ว Open Your Eyes ยังนำแสดงโดย เอดัวร์โด นอริเอก้า ดาราชาวสเปนผู้มีใบหน้าละม้ายคล้ายทอมในวัยหนุ่มอยู่ไม่น้อยอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้น ทอม ครูซ ซึ่งควบตำแหน่งผู้อำนวยการสร้าง ยังจัดแจงผันการรีเมคงานของคนอื่นให้กลายเป็นโครงการส่วนตัวขึ้นอีกขั้น ด้วยการผนวก ‘วิกฤติ’ ภายในของตนเองเข้าไป ทำให้ เดวิด เอมส์ (ครูซ) กลายเป็นหนุ่มหล่อ ร่ำรวย มีสาวสวยเป็นคู่นอน ‘และ’ กำลังย่างเข้าสู่วัยกลางคน ฉากที่เขายืนมองตัวเองหน้ากระจก สังเกตเห็นผมหงอกหนึ่งเส้น ถอนมันออกด้วยสีหน้านิ่งเฉยเหมือนไม่ยี่หระ บ่งบอกให้เห็นว่าจริงอยู่ที่เดวิดกำลัง “ใช้ชีวิตตามความฝัน” เหมือนดังที่เขาบอกกับแขกคนหนึ่งในงานเลี้ยงวันเกิด แต่ลึกๆแล้วเขากำลังหวาดหวั่นว่า สักวันความฝันดังกล่าวจะล่มสลายไปพร้อมวัยอันร่วงโรย โดยที่เขาไม่มีโอกาสได้สัมผัสกับรักแท้ในชีวิต

การตัดสินใจหย่าขาดจากภรรยาซึ่งอยู่ร่วมชีวิตกันมานาน แล้วหันไปควงสาววัยยี่สิบปลายๆ ทำให้หลายคนเริ่มวิเคราะห์ว่าทอมกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤติวัยกลางคนอยู่ ความวิตกเกี่ยวกับวัยที่เพิ่มขึ้นของเขาสะท้อนชัดในหนังผ่านฉากดึงผมขาว (ซึ่งไม่ปรากฏในต้นฉบับ) ส่วนความรู้สึกเหมือนถูกคุกคามทางอาชีพการงานจากกลุ่มดารารุ่นใหม่ที่หนุ่มแน่นกว่า ก็ถูกถ่ายทอดออกมาในรูปคณะกรรมการบริหารหรือคนแคระทั้งเจ็ด ซึ่งพยายามจะฮุบอำนาจควบคุมบริษัทจากมือของเดวิด (รายละเอียดที่ไม่มีในต้นฉบับอีกเช่นกัน) นอกจากนั้นหนังยังหยอดมุขอ้างถึงข่าวลือเกี่ยวกับทอมซึ่งมีมาเนิ่นนานด้วยการให้เดวิดชี้แจงกับเอ็ดมันด์ในฉากหนึ่ง (โนอาห์ เทย์เลอร์) ว่าเขาไม่ใช่เกย์อีกด้วย

หากตัวเอก ตลอดจนความหวาดกลัวในจิตใต้สำนึกของเขา ใกล้เคียงกับชีวิตจริงของ ทอม ครูซค่อนข้างสูง สไตล์ โทนอารมณ์ และเนื้อหาหลักของ Vanilla Sky ก็สะท้อน ‘ตัวตน’ ของผู้กำกับ คาเมรอน โครว ออกมาได้เด่นชัดไม่แพ้กัน

หลังจากแสดงคาราวะต่อวงการเพลงร็อคไปแล้วใน Almost Famous แนวโน้มความคลั่งไคล้เสียงดนตรีของโครวยังส่งอิทธิพลต่อเนื่องมายังผลงานถัดมาซึ่งเขาเปรียบเทียบว่าเป็นการ ‘คัฟเวอร์’ เพลงของศิลปินอื่น ขณะเดียวกันก็ตัดสินใจเลือกใช้ชื่อ Vanilla Sky เพราะมันเป็นชื่อที่ “ฟังดูเหมือนชื่ออัลบั้มเพลงมากกว่าชื่อหนัง” ตลอดทั้งเรื่องโครวอัดกระหน่ำเพลงป็อป-ร็อคเอาไว้ในแทบทุกฉากทุกตอน เสริมอารมณ์โรแมนติกให้หนักแน่นขึ้น เน้นย้ำธีมเกี่ยวกับความรัก และสอดแทรกความชื่นชอบส่วนตัวในงานศิลปะหลายแขนงลงไปในบุคลิกของเดวิด จนทำให้ผู้ชมรู้สึกได้ว่าเดวิดเป็นส่วนผสมระหว่าง ทอม ครูซ กับ คาเมรอน โครว มากกว่าจะเป็นตัวละครตามท้องเรื่องจริงๆ เช่น ความชื่นชอบหนังอย่าง Jules and Jim หรือ To Kill a Mockingbird ความรู้สึกกินใจกับภาพเขียนของ โมเน่ หรืออาการเป็นปลื้มนักร้องแบบ บียอร์ค นั้น มันฟังดูเหมือนรสนิยมของอดีต ‘กรุ๊ปปี้’ อย่างโครวมากกว่าจะเป็น ‘ยัปปี้’ ที่ถูกเลี้ยงขึ้นมาด้วยเงินอย่างเดวิด ศิลปะพวกนั้น ‘ลึกซึ้ง’ เกินกว่าเดวิดจะเข้าถึงได้ (รสนิยมของเดวิดควรจะเป็นเช่นใด หาชมได้จากหนังล้อเลียนวัฒนธรรมยัปปี้อย่าง American Psycho)

การปะทะกันระหว่างครูซและโครว สองกำลังหลักที่ทำให้ Vanilla Sky ถือกำเนิดขึ้นมาได้ ในตัวละครอย่างเดวิดคือภาพจำลองธีมหลักของหนังเกี่ยวกับการดวลกันระหว่างขั้วสองขั้วซึ่งแตกต่าง ขัดแย้ง และไม่อาจรวมเป็นหนึ่งเดียวได้ ทฤษฎีที่ว่ามีรากฐานมาจากแนวคิดเชิงปรัชญาซึ่งถือกำเนิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 18 ด้วยความเชื่อว่าโลกของเราก่อกำเนิดขึ้นจากขั้วสองขั้ว (ร่างกาย/จิตใจ, ดี/เลว, สากล/ปัจเจก) และมนุษย์ทุกคนย่อมประกอบไปด้วยขั้วทั้งสอง ไม่ใช่เพียงขั้วหนึ่งขั้วใด

Vanilla Sky กำหนดเนื้อหา สถานการณ์ และตัวละครเป็นคู่ขนานเอาไว้มากมาย เริ่มจากเดวิด (นักธุรกิจ, ตื้นเขิน, ชายหนุ่มที่มักจะได้ผู้หญิง) กับไบรอัน (นักเขียน, ลึกซึ้ง, ชายหนุ่มที่มักจะกลับบ้านคนเดียว) จูลี่ (ภาพลักษณ์-แมวยั่วสวาท, ผมบลอนด์, ผู้หญิงในแฟนตาซีที่ผู้ชายอยากจะฟัน) กับโซเฟีย (ภาพลักษณ์-สาวบริสุทธิ์ ไร้เดียงสา, ผมดำ, ผู้หญิงในชีวิตจริงที่ผู้ชายมักจะตกหลุมรัก) ความจริงกับความฝัน ร่างกายกับจิตใจ และความงามกับความอัปลักษณ์ โดยแรกทีเดียวหนังแยกแยะ จัดแบ่งแต่ละขั้วเอาไว้เป็นเอกเทศชัดเจน ก่อนจะค่อยๆเลือนเส้นแบ่งดังกล่าวทีละน้อย แล้วเล่นสนุกกับการรับรู้ของผู้ชมต่อสิ่งเหล่านั้น

เดวิดแปลงสภาพจากหนุ่มหล่อเป็นหนุ่มอัปลักษณ์ จากชายที่มักจะได้ผู้หญิงมาครองเป็นชายที่ถูกผู้หญิงปฏิเสธ หนังในช่วงครึ่งชั่วโมงแรกนำเสนอรูปลักษณ์ภายนอกของเดวิดที่ดูงดงาม หลังจากประสบอุบัติเหตุ หนังก็พลิกกลับด้วยการนำเอาสภาพจิตใจภายในของเขามาตีแผ่เป็นรูปธรรมผ่านรูปร่างหน้าตาอันบิดเบี้ยว จากนั้นใบหน้าของเขาก็พลิกสลับไปมาระหว่างอัปลักษณ์กับหล่อเหลา เช่นเดียวกับการสับเปลี่ยนสถานะทางตัวตนระหว่างจูลี่ (คาเมรอน ดิแอซ) กับโซเฟีย (เพเนโลปี ครูซ) จนเมื่อหนังดำเนินมาได้เกินครึ่ง คนดูก็เริ่มสับสนว่าพวกเขาควรจะเชื่อในสิ่งที่เห็นหรือไม่ ก่อนสุดท้ายจะเฉลยว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เดวิดคิดว่าเป็นความจริงนั้น โดยแท้แล้วเป็นเพียง ‘ความฝันอันแจ่มชัด’ เป็นจินตนาการที่เขาซื้อหามาด้วยเงินตราเมื่อไม่อาจทำใจยอมรับกับสัจธรรมแห่งชีวิตอันเจ็บปวดได้

ภาพรวมของหนังเรื่อง Vanilla Sky เองก็คล้ายคลึงกับสงครามระหว่างขั้วตรงกันข้ามอยู่ไม่น้อย โครวยังคงพล็อตเรื่องตลอดจนสถานการณ์หลักๆของอาเมนาบาร์เอาไว้ ซึ่งแน่นอนว่าย่อมเต็มไปด้วยความกระด้าง หดหู่ และหลอกหลอน จากนั้นจึงโยนสไตล์ถนัดของตน อันได้แก่อารมณ์หวานแหว๋ว มองโลกในแง่ดี และนุ่มนวล ล่องลอย ลงไปคลุกเคล้า จนทำให้ผลลัพธ์ที่ออกมาดูก้ำกึ่ง ครึ่งๆกลางๆ หนังไม่อาจสร้างบรรยากาศชวนฝันได้เหมือนงานชิ้นอื่นๆของโครวเพราะพล็อตเรื่องที่ค่อนข้างหนักหน่วง เต็มไปด้วยทัศนคติเยาะหยัน เสียดสี ขณะเดียวกันรายละเอียดเล็กๆน้อยๆที่โครวเพิ่มเข้ามาก็ทำให้หนังขาดความคมชัด บาดลึกเหมือนต้นฉบับ เช่น ผู้ชมไม่รู้สึกสะใจเมื่อเดวิดได้รับบทเรียนอันสาสมจากพฤติกรรมสำมะเลเทเมา เพราะเราตระหนักว่า บางทีการที่เขาเปลี่ยนคู่นอนบ่อยเหมือนเปลี่ยนเสื้อผ้าอาจเป็นเพราะเขากำลังแสวงหาความใกล้ชิด สนิทสนมมาชดเชยความรักที่ตนไม่เคยได้รับจากพ่อบังเกิดเกล้า ส่วนตัวละครอย่างจูลี่ก็ไม่ให้ความรู้สึก ‘คุกคาม’ มากเท่าต้นฉบับของอาเมนาบาร์ เพราะในสายตาของโครว เธอก็เป็นคนเหงาผู้น่าสงสารไม่แพ้เดวิดเช่นกัน และที่สำคัญนัยยะอันคลุมเครือเกี่ยวกับความรู้สึกของโซเฟียต่อเดวิดหลังเขาประสบอุบัติเหตุได้ถูกลบเลือนออกจนหมดสิ้นผ่านฉากงานศพซึ่งโครวใส่เพิ่มเข้ามา

บทสรุปของ Vanilla Sky อาจดึงหนังให้เข้าใกล้แนวทางนิยายวิทยาศาสตร์ แต่การวิพากษ์ศีลธรรมเกี่ยวกับเทคโนโลยีและบทบาทของมันซึ่งกำลังลบเลือนเส้นแบ่งระหว่างความจริงกับความลวง ถือได้ว่าเป็นสิ่งสุดท้ายที่อยู่ในใจของผู้กำกับซึ่งเชื่อมั่นในมนุษย์ การไถ่บาป และพลังแห่งความรักอย่าง คาเมรอน โครว

เมื่อได้รับรู้จากเอ็ดมันด์ว่าผู้คนรอบข้างรวมทั้งโซเฟียและไบรอัน (เจสัน ลี) นั้นต่างก็รัก เป็นห่วงเป็นใย และเสียใจมากแค่ไหน หลังจากเขาฆ่าตัวตายไป ผ่านฉากงานศพที่เพิ่มเข้ามา เดวิดก็เข้าใจในที่สุดว่าเขาใช้ชีวิตอยู่ในความฝันมาตลอด ไม่เฉพาะหลังจากได้รู้จักกับ ลูซิด ดรีม แล้วจับมือร่วมกันสร้าง ‘ชีวิตใหม่’ ขึ้นมาเท่านั้น ไม่ต่างจากการนอนหลับฝัน เดวิดใช้ชีวิตคนเดียวตามลำพังมานับตั้งแต่เขาลืมตาขึ้นมาดูโลกในครอบครัวที่เลี้ยงลูกด้วยเงินแทนความรักแล้ว ช่องว่างระหว่างเขากับคนรอบข้างค่อยๆทวีความกว้างมากขึ้น เมื่อเดวิดเติบใหญ่เป็นเจ้าของเงินและอำนาจโดยชอบธรรม ฉากฝันร้ายตอนต้นเรื่องที่เดวิดพบว่าตนเป็นบุคคลเพียงคนเดียวในเมืองนิวยอร์ก (หรือบนโลกนี้) ช่วยสะท้อนภาวะชีวิตที่แท้จริงของเขาได้อย่างชัดเจน ในเชิงวัตถุ ชีวิตของเดวิดเป็นเหมือนความฝันอันงดงาม ทั้งเงินทอง สาวสวย รถคันหรู ใบหน้าหล่อเหลา ทุกสิ่งทุกอย่างดูลงตัวจนเกินจริง โลกทั้งใบล้วนหมุนวนอยู่รอบตัวเขา และความหลงใหลในตัวเองจนเกินพอดีนี่เองที่ทำให้เดวิดกลายเป็นคนเห็นแก่ตัว มองข้ามมิตรภาพ (เขายืนยันจะแย่งหญิงสาวคนที่เพื่อนบอกว่าอาจเป็นรักแท้เพียงหนึ่งเดียวมาครองโดยไม่แม้แต่จะหยุดคิดหรือรู้สึกผิด) และใช้ชีวิตเสเพลด้วยการเปลี่ยนคู่นอนเป็นว่าเล่นโดยไม่แคร์ความรู้สึกของอีกฝ่าย

ดังนั้นเมื่อได้รับข้อเสนอให้กลับไปใช้ชีวิตใหม่อีกครั้ง มี ‘โอกาสครั้งที่สอง’ ในการแก้ไขข้อผิดพลาดซึ่งเขาก่อเอาไว้ เดวิดจึงไม่ลังเลที่จะเลือกการ ‘ลืมตา’ ขึ้นมาเผชิญหน้ากับความจริง

ความเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีความดีเป็นพื้นฐานและปรารถนาจะพัฒนาตัวเองไปสู่จุดที่ดีกว่าของโครวปรากฏชัดตั้งแต่การร่วมงานกันครั้งแรกกับครูซใน Jerry Maguire เรื่องราวของเอเย่นต์นักกีฬาหน้าเลือดผู้ถูกไล่ออกจากงานเพียงเพราะเขาดันเกิดมโนธรรมขึ้นในจิตสำนึกเบื้องลึก

เดวิด เอมส์ ก็ไม่แตกต่างจาก เจอร์รี่ แม็กไกวร์ ตรงที่ทั้งสองได้เรียนรู้คุณค่าแท้จริงของชีวิตจากความล้มเหลว พวกเขาเข้าถึงความหอมหวานได้จากการลงไปเกลือกกลั้วกับความขมขื่น และตระหนักในที่สุดว่าเงินตลอดจนความก้าวหน้าทางอาชีพการงานนั้นไม่ได้นำมาซึ่งความสุขเสมอไป ความรักต่างหากที่จะทำให้พวกเขากลายเป็น ‘คนเต็มคน’ การได้รับรู้ว่าตนเองไม่ใช่คนเดียวที่สัมผัสได้ถึงรักแท้ในค่ำคืนอันเปี่ยมไปด้วยมนต์เสน่ห์กับโซเฟีย ช่วยให้เดวิดพร้อมจะลืมตาตื่นจากฝันขึ้นมาใช้ชีวิตจริงๆกับเขาเสียที หลังจากต้องนอนจมอยู่ในแฟนตาซีและความหลงตัวเองอยู่เนิ่นนาน

สุดท้ายแล้ว แม้ คาเมรอน โครว จะอ้างตนว่า Vanilla Sky เป็นการ ‘คัฟเวอร์’ งานของศิลปินคนอื่น แต่พิจารณาจากการเปลี่ยนแปลงทั้งหลายแหล่แล้ว หนังออกจะดูเหมือนการ ‘คัฟเวอร์’ Jerry Maguire เสียมากกว่า

2 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

หารีวิวดีๆ ละเอียดๆ ของวานิลลาสกายอ่านมาตั้งนานแล้ว เพิ่งเจอของคุณเนี่ยละค่ะที่เขียนถูกใจ

อ่านแล้วถึงได้เข้าใจว่าทำไมตอนที่ดูครั้งแรก อารมณ์ดูเสร็จมันถึงได้หม่นๆ มัวๆ มึนๆ เพราะมันยังเด็กเกินไปที่จะเก็ทอะไรได้ (ดูตอนมอหนึ่งนะคะ)เข้าใจนะคะถึงโลกความฝันกับโลกความจริงที่มันสับสนปนเปกันของตัวละคร แต่จับสาระของสัญลักษณ์ต่างๆ ในหนังไม่ได้ แต่ตอนนั้นไม่รู้ทำไมรู้สึกว่าหนังมันมีกลิ่นอายของความเป็นหนังวิทยาศาสตร์อยู่ (เพราะมันพูดถึงโลกที่ซ้อนทับกันอยู่รึเปล่า... ดูแมททริกซ์ก็คิดถึงเรื่องนี้นะคะ)

ถึงตอนนี้ อยากดูอีกครั้งจังเลย

Riverdale กล่าวว่า...

ผมแนะนำให้ลองหาต้นฉบับของอาร์เมนาบาร์ (ผู้กำกับ The Others และ The Sea Inside) เรื่อง Open Your Eyes มาดูครับ หนังทรงพลังกว่าฉบับรีเมคของโครว แต่ดูจบแล้วอาจไม่รู้สึก "ดีๆ" สักเท่าไหร่ :)

ผมว่าหนังหลายเรื่อง พอเราโตขึ้นแล้วมาดูซ้ำ คงรู้สึกแตกต่างออกไป เพราะหนังบางเรื่องก็ทำไว้สำหรับให้ผู้ใหญ่ดู เด็กๆ ไปดูก็อาจจะไม่ค่อยเก็ทเท่าไหร่ นอกจากนี้การได้ดูหนังเยอะหรือน้อยก็มีส่วนเหมือนกัน เช่น ผมจำได้ว่าสมัยเด็กๆเคยดูหนังเรื่อง The Color of Money แล้วปวดหัวมากๆ ไม่สนุก และน่าเบื่อสุดๆ (ขณะที่ชื่นชอบหนังที่ใครๆ เขาว่าห่วยแตกกันอย่าง Howard the Duck) แต่หลังๆ กลับพบว่ามันเป็นหนังที่ "ตลาด" มากเรื่องหนึ่งของสกอร์เซซี่