วันอาทิตย์, ธันวาคม 19, 2564

Lincoln: A Man for All Seasons

ถึงแม้หนังจะชื่อว่า Lincoln แต่ผลงานของ สตีเวน สปีลเบิร์ก เรื่องนี้แตกต่างจากหนังชีวประวัติ (biopic) ในความเข้าใจของคนทั่วไปตรงที่มันไม่ได้พาคนดูไปรู้จักตัวตนของ อับราฮัม ลินคอล์น แบบรวบยอดตั้งแต่ต้นจนครบรอบด้าน แค่หยิบจับหนึ่งช่วงเวลาและหนึ่งแง่มุมของเขามานำเสนอ นั่นคือ การผลักดันให้เกิดบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อยุติการค้าทาสในอเมริกาและความเป็นนักการเมืองที่เฉลียวฉลาด รู้เท่าทันเกม รวมถึงกล้าได้กล้าเสียเพื่อให้บรรลุเป้าหมายซึ่งเขาเห็นว่าเป็นความถูกต้อง แน่นอน หนังไม่ลืมจะเผยให้เห็นแง่มุมส่วนตัวบ้างประปราย ทั้งคุณพ่อที่ห่วงใย เอาใจใส่ลูก และสามีที่เข้าอกเข้าใจภรรยา แต่โฟกัสหลักของหนังอยู่ตรงความพยายามทุกวิถีทางที่จะผลักดันให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่ 13 เพื่อป้องกันไม่ให้ศาลยกเลิกคำสั่งเลิกทาสของฝ่ายบริหารที่กระทำในช่วงสงคราม ฉันลงนามในประกาศเลิกทาสไปหนึ่งปีครึ่งได้แล้วมั้งก่อนจะถูกเลือกกลับมาเป็นประธานาธิบดีสมัยที่สอง มันอยู่ในอำนาจของฉันที่จะกระทำได้ แต่ฉันก็ยังรู้สึกว่าตัวเองอาจคิดผิดก็ได้ ประชาชนจะเป็นคนตัดสิน ฉันให้เวลาพวกเขาหนึ่งปีครึ่งในการคิดทบทวนเรื่องนี้และพวกเขาก็เลือกฉันกลับเข้ามา ลินคอล์นตอบโต้ข้อกล่าวหาว่าเขาเป็นเผด็จการ

การตัดสินใจของสปีลเบิร์กกับคนเขียนบท โทนี คุชเนอร์ ทำให้ Lincoln ใกล้เคียงกับหนังแจกแจงขั้นตอน ความซับซ้อนทางด้านอาชีพการงานในลักษณะเดียวกับ Spotlight, Miss Sloane และ Zodiac มากกว่าจะเป็นหนังชีวประวัติ และอาจพูดได้ว่านั่นนับเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องเพราะการสร้างหนังจากบุคคลประวัติศาสตร์ระดับตำนานอย่างลินคอล์น ซึ่งมักถูกเอ่ยอ้างถึงอย่างเทิดทูน บูชาจนเกือบจะเป็นเทวดาหรือเทพจุตินั้นสุ่มเสี่ยงต่อการลดทอนแง่มุมความเป็นมนุษย์ ทำให้หนังอาจกลายเป็นบทสรรเสริญที่น่าเบื่อและยืดยาวได้ง่ายๆ (ไม่เชื่อก็ดู Gandhi เป็นตัวอย่าง) ตรงกันข้าม สปีลเบิร์กเลือกจะถ่ายทอดลินคอล์นในฐานะนักการเมืองในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อ (มกราคม 1865) เมื่อสงครามกลางเมืองใกล้ถึงจุดสิ้นสุด โดยไคล์แม็กซ์ของหนังไม่ใช่การลอบสังหารที่โรงละคร แต่เป็นการนับคะแนนเสียงโหวตในสภา นอกจากนี้เมื่อมองในแง่วัฒนธรรมป็อปแล้ว Lincoln ยังเป็นเหมือนภาพพลิกตลบของสงครามกลางเมือง ซึ่งฝ่ายใต้มักจะถูกวาดภาพให้ดูน่าสงสารเห็นใจผ่านหนังดังอย่าง The Birth of a Nation และ Gone with the Wind อีกด้วย  

ปัญหาของลินคอล์น (เดเนียล เดย์ ลูว์อิส) ไม่ได้อยู่ที่เสียงต่อต้านจากพรรคเดโมแครตคู่แข่งเท่านั้น (ซึ่งส่งผลให้ความพยายามครั้งก่อนของเขาล้มเหลว) แต่ยังหมายรวมถึงความขัดแย้งภายในพรรครีพับลิกันเองด้วย ฝ่ายหนึ่งอยู่ภายใต้การนำของ แทดเดียส สตีเวนส์ (ทอมมี ลี โจนส์) ส.ส.หัวรุนแรงจากเพนซิลเวเนียที่สนับสนุนสิทธิเท่าเทียมกันชนิด เต็มรูปแบบและต่อต้านการค้าทาสสุดลิ่มทิ่มประตู ส่วนอีกฝ่ายเป็นกลุ่มหัวอนุรักษ์นิยม ภายใต้การนำของ เพรสตัน แบลร์ (ฮาล ฮอลบรูกส์) ที่เกรงว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะสร้างความโกรธแค้นให้กลุ่มกบฏฝ่ายใต้ และปิดหนทางในการเจรจาสันติภาพเพื่อยุติสงครามซึ่งสร้างความสูญเสียให้กับอเมริกาอย่างใหญ่หลวงตลอด 3 ปี

นอกจากนี้ หลายคนยังหวาดกลัวความเปลี่ยนแปลงที่อาจตามมาพร้อมการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งในหนังสรุปภาพให้เข้าใจได้ง่ายๆ ผ่านฉากสองผัวเมียจากรัฐมิสซูรีเดินทางมาพบลินคอล์นเพื่อร้องเรียนเรื่องด่านเก็บค่าธรรมเนียม และถูกสอบถามโดย รมต.ว่าการกระทรวงต่างประเทศ วิลเลียม ซีวอร์ด (เดวิด สตราแธร์) ว่าคิดเห็นอย่างไรกับประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คำตอบที่ได้ คือ พวกเขาเห็นด้วย ตราบเท่าที่มันจะช่วยหยุดยั้งสงคราม (จากข้ออ้างของลินคอล์นที่ว่า หากรัฐบาลกลางห้ามไม่ให้มีการค้าทาส กบฏฝ่ายใต้ก็จะยอมแพ้ เพราะสงครามเริ่มต้นขึ้นเนื่องจากฝ่ายใต้ไม่ต้องการให้ยกเลิกการค้าทาส) แต่ถ้าสงครามสามารถหยุดยั้งได้ด้วยการเจรจาสันติภาพ หรือหากฝ่ายใต้ประกาศยอมแพ้เพราะหมดกำลังคนและกำลังเงินที่จะทำสงครามต่อไป พวกเขาก็ไม่อยากให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพราะกลัวว่าพวกนิโกรจะขโมยข้าวของ แย่งที่ดิน และแย่งงานของพวกเขา (มองในจุดนี้ อเมริกาดูเหมือนจะวนลูปกลับมายังจุดเดิมโดยเปลี่ยนคนดำเป็นผู้อพยพ ต่างกันแค่ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของพรรครีพับลิกันมีจุดยืนคนละฝั่งกับลินคอล์น เขาไม่เพียงมืดบอดในเรื่องความเสมอภาคเท่านั้น แต่ยังยืนกรานที่ในลัทธิชายผิวขาวเป็นใหญ่อย่างสม่ำเสมอ)

อคติดังกล่าวหาได้ฝังรากอยู่ในใจของชาวบ้านทั่วไปเท่านั้น แต่ยังไปรวมถึงส.ส.จำนวนไม่น้อยในสภาด้วย เช่น จอร์จ เยเมน (ไมเคิล สตูห์ลบาร์ก) ซึ่งขยะแขยงการค้าทาส แต่ขณะเดียวกันก็ รับไม่ได้หากต้องเปิดโอกาสให้นิโกรมีสิทธิเลือกตั้ง  แล้วจากนั้นอะไรจะเกิดขึ้นตามมา... ผู้หญิงมีสิทธิเลือกตั้ง?!  (ห้าปีหลังการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่ 13 คนผิวดำก็มีสิทธิเลือกตั้งได้จากการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่ 15 แม้ว่ากฎหมายท้องถิ่น Jim Crow จะยังกีดกันสิทธิเลือกตั้งในบางรัฐทางตอนใต้ รวมทั้งไม่ให้ใช้บริการสาธารณะร่วมกับคนผิวขาว เช่น รถเมล์ โรงเรียน ร้านอาหาร ฯลฯ ก่อนมันจะถูกกำจัดอย่างสิ้นซากในปี 1965 จากกฎหมายสิทธิเลือกตั้งที่ออกโดยรัฐบาลกลาง ส่วนผู้หญิงนั้นกว่าจะได้สิทธิเลือกตั้งอย่างเป็นทางการก็ต้องรอไปถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่ 19 ในปี 1920 หรืออีกครึ่งศตวรรษต่อมา)

ไม่เพียงในสนามการเมืองเท่านั้นที่ลินคอล์นต้องรักษาสมดุลอันเปราะบางระหว่างกลุ่มอนุรักษ์นิยมกับกลุ่มหัวก้าวหน้า เพราะแม้แต่ภายในบ้านของเขาเอง ลินคอล์นก็ยังต้องรับมือกับความต้องการที่สวนทางกันระหว่างภรรยา (แซลลี ฟิลด์) ที่จะไม่มีวันให้อภัยเขาหากเธอต้องสูญเสียลูกอีกคนไป กับลูกชาย (โจเซฟ กอร์ดอน-เลวิทท์) ซึ่งต้องการเข้าร่วมรบในสงครามเพราะไม่อยากรู้สึกละอายใจไปตลอดชีวิต

ปฏิเสธไม่ได้ว่าจุดเด่นของ Lincoln อยู่ตรงบทภาพยนตร์อันงดงามของ โทนี คุชเนอร์ ซึ่งร้อยเรียงเรื่องส่วนตัวเข้ากับเรื่องส่วนรวมได้อย่างลงตัว ผ่านบทสนทนาอันเฉียบคม ยอกย้อน และรักษาสมดุลระหว่างจินตนาการเพื่อความบันเทิงกับการให้ข้อมูลได้อย่างแนบเนียน ลุ่มลึก ไม่ว่าจะเป็นบทพูดของลินคอล์นต่อหน้าคณะรัฐบาล อธิบายถึงความสำคัญของการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อยกเลิกกฎหมายรัฐ (ซึ่งนิยามทาสนิโกรว่าเป็นสมบัติไม่ใช่มนุษย์ผู้มีอิสรภาพ) และหยุดยั้งการค้าทาสเป็นการถาวร หรือบทพูดของเขากับสองเจ้าหน้าที่ส่งโทรเลขเกี่ยวกับ ความเท่ากันรวมเลยไปถึงการตอบโต้อันดุเด็ด เผ็ดร้อน และสุดแสบสันต์ที่ แทดเดียส สตีเวนส์ สาดกระหน่ำใส่คู่ต่อสู้จากพรรคเดโมแครตในสภา ซึ่งน่าจะเรียกเสียงเชียร์จากคนดูได้ไม่ยาก

ถึงแม้ Lincoln จะกวาดคำชมจากนักวิจารณ์จำนวนมาก  แต่ในเวลาเดียวกันสปีลเบิร์กก็ต้องรับมือกับเสียงโจมตีหนาหูในแง่บิดเบือนประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการเลิกทาสและการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่ 13 ทั้งนี้เพราะหนังดูเหมือนจะยกความดีความชอบทั้งหมดให้บรรดาชายผิวขาวหนวดเครารุงรังในกรุงวอชิงตัน แล้วผลักไสคนผิวดำ ซึ่งตามข้อเท็จจริงแล้วมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างกระแสสังคมและเรียกร้องสิทธิของตนเอง ให้กลายเป็นแค่ผู้เฝ้าสังเกตการณ์ที่ปราศจากอิทธิพลใดๆ ดังเช่นตัวละครแม่บ้านของลินคอล์น นอกจากนี้บางคนถึงขั้นตีความว่าหนังนำเสนอ (เชิงนัยยะ) ว่า “การเลิกทาส” เป็นของขวัญที่คนผิวขาวมอบให้กับคนผิวดำ ผ่านฉากตอนท้ายเรื่องเมื่อสตีเวนส์นำบทร่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาอวดแม่บ้าน/คู่รักผิวดำของเขา 

อย่างไรก็ดี คำตำหนิติเตียนดังกล่าวอาจไม่ค่อยยุติธรรมกับตัวหนังสักเท่าไหร่ เพราะเหตุการณ์หลักในหนังพูดถึงขั้นตอนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งคนผิวดำแทบไม่มีส่วนเกี่ยวข้องอยู่จริง หรือพวกเขาอยากให้สปีลเบิร์กฉีกประวัติศาสตร์แล้วสร้างตัวละครสมมุติขึ้นมา และที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใดประเด็นหลักของ Lincoln ไม่ใช่การเล่าถึงประวัติศาสตร์การเลิกทาสในอเมริกา หรือแม้กระทั่งประวัติชีวิตของลินคอล์น แต่เป็นการสะท้อน/วิพากษ์ระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตย ซึ่งอาจมีข้อจำกัดและจุดด่างพร้อย แต่ขณะเดียวกันตามคำพูดของคุชเนอร์ “มีศักยภาพมากพอจะช่วยให้คุณสามารถสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามและยอดเยี่ยมได้เช่นกัน

เพื่อให้บรรลุเป้าประสงค์ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ลินคอล์นยอมทำทุกวิถีทางให้ได้คะแนนโหวตเพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นการติดสินบนทางอ้อม (ตำแหน่งหน้าที่ให้กับพวกส.ส.เดโมแครตหางแถวที่กำลังสิ้นหวัง หรือการยินยอมตามคำขอของเพรสตัน (เพื่อรักษาแรงสนับสนุนจากฝั่งอนุรักษ์นิยมในพรรค) ในการรับฟังข้อเสนอสันติภาพของตัวแทนฝ่ายใต้ แต่ขณะเดียวกันก็แอบกักตัวพวกเขาไว้ไม่ให้เดินทางมาถึงวอชิงตันก่อนการโหวตแก้ไขรัฐธรรมนูญ และปิดท้ายด้วยการโกหกคำโตต่อหน้าสภา โดยประกาศว่าตนไม่รู้ไม่เห็นเกี่ยวกับการเจรจาสันติภาพใดๆ (ตามคำกล่าวของสตีเวนส์ที่ว่า นี่เป็นกฎหมายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งศตวรรษที่ 19 ชนะโหวตในสภาด้วยการคอรัปชั่น ภายใต้การยุยงส่งเสริมโดยชายที่ผุดผ่องไร้มลทินที่สุดในอเมริกา”)

ไม่เพียงเท่านั้น ลินคอล์นยังเกลี้ยกล่อมให้สตีเวนส์ลดท่าที หัวก้าวหน้าลงเพื่อเหล่าสมาชิกหัวเก่าในพรรครีพับลิกันจะได้ไม่ตื่นตระหนก (หรือรู้สึกเหมือนถูกคุกคาม) บทสนทนาระหว่างคนทั้งสองสะท้อนหัวใจของการ เล่นการเมืองได้อย่างชัดเจน กล่าวคือ สตีเวนส์เป็นเหมือนตัวแทนแห่งอุดมคติ เชื่อมั่นในความถูกต้อง ความยุติธรรม ความเท่าเทียมกัน และไม่กลัวที่จะประกาศให้ทุกคนรับรู้ เขากล่าวจู่โจมลินคอล์น (ซึ่งเห็นด้วยกับอุดมการณ์ของเขา แต่มีความอดทนอดกลั้นต่อระบบมากกว่า) ด้วยข้ออ้างว่า ประชาชนเลือกเขามาให้เป็นผู้นำ ฉะนั้นเขาก็ควรจะกล้าตัดสินใจ “นำ” ประชาชนไปสู่วิถีแห่งความถูกต้อง โดยไม่ต้องใส่ใจว่ามันจะ “ถูกใจคนส่วนใหญ่หรือไม่ ส่วนลินคอล์นเป็นเหมือนตัวแทนความเป็นจริงในวิถีแห่งระบอบประชาธิปไตย ซึ่งต้องอาศัย เสียงส่วนใหญ่เขาตอบโต้สตีเวนส์โดยเปรียบเทียบให้เห็นว่าการตระหนักถึงเป้าหมาย แล้วพุ่งตรงเข้าใส่แบบไม่คำนึงถึงอุปสรรค หรือแอ่งบึงที่ขวางทางอยู่เบื้องหน้านั้นจะมีประโยชน์อันใด หากสุดท้ายแล้วเราต้องมาติดแหง็กอยู่ในแอ่งบึงระหว่างทาง พร้อมยกตัวอย่างว่าหากเขาประกาศเลิกทาสทันทีหลังฝ่ายใต้เริ่มจู่โจมฟอร์ทซัมเตอร์ตามคำแนะนำของสตีเวนส์ รัฐบาลกลางอาจไม่อยู่ในตำแหน่งถือไพ่เหนือกว่าอย่างที่เป็นอยู่ เพราะรัฐเกษตรกรรมบริเวณชายแดนจะประกาศตัวเข้าร่วมฝ่ายกบฏ นำความพ่ายแพ้มาสู่รัฐอุตสาหกรรมของฝ่ายเหนือ และส่งผลกระทบให้การค้าทาสแพร่กระจายไปทั่วอเมริกา

ความสามารถในเกมการเมืองและรู้จักประนีประนอมผลประโยชน์ (นอกเหนือจากบุคลิกอบอุ่น ติดดินทำให้ลินคอล์นเป็นที่รักของประชาชนส่วนใหญ่อย่างที่สตีเวนส์ไม่มีทางเป็นได้ (ตามข้อสังเกตของแมรี ท็อดด์)  ทั้งนี้เพราะในระบอบประชาธิปไตย บุคคลที่สามารถโอนอ่อนตามผลประโยชน์ของทุกฝ่ายย่อมถือไพ่เหนือบุคคลที่ยึดมั่นในอุดมการณ์ ฝีปากกล้า และบุกบั่นฝ่าด่านโดยไม่สนใจว่าจะเหยียบข้ามหัวใคร แม้ว่าอุดมการณ์ของเขาจะเปี่ยมคุณธรรม ความถูกต้องมากแค่ไหนก็ตาม... สตีเวนส์ดูจะตระหนักถึงสัจธรรมดังกล่าว และท้ายที่สุดก็จำใจกล้ำกลืนอุดมการณ์ส่วนตัวเพื่อชัยชนะใน “วันนี้และโอกาสต่อสู้ใน วันข้างหน้าเมื่อเขาประกาศในสภาว่าเขาไม่ได้เชื่อในความเท่าเทียมกันทุกด้าน แค่ความเท่าเทียมกันในทางกฎหมายเพื่อลดแรงต้าน แม้สุดท้ายจะต้องถูกดูแคลนจากเพื่อนร่วมอุดมการณ์ว่าเขาขายวิญญาณ

ในมุมหนึ่ง Lincoln จึงใกล้เคียงกับหนังแบบ Primary Colors และ The Ides of March ตรงที่เมื่อคุณก้าวเข้าสู่แวดวงการเมือง อุดมการณ์ หรือความบริสุทธิ์ก็ยากจะเหลือรอดปลอดภัยได้อย่างสง่างาม แต่อีกมุมหนึ่ง หนังยกย่องความเป็นอัจฉริยะในเกมการเมืองของลินคอล์นอย่างชัดเจน และคนดูก็น่าจะลงเอยด้วยการเดินออกจากโรงหนังด้วยอารมณ์ฮึกเหิมมากกว่าหดหู่ (หนังนำเสนอความสำเร็จของลินคอล์นเป็นเหมือนบทสรุป/ชัยชนะ แต่ความจริงแล้วการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่ 13 เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น และอเมริกาก็ต้องใช้เวลาอีกนานกว่าศตวรรษต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมกันทางสีผิวอย่างแท้จริง) นี่แปลว่าสปีลเบิร์กกับคุชเนอร์เห็นชอบกับแนวคิด ผลลัพธ์สร้างความชอบธรรมให้กับวิธีการใช่หรือไม่ เพียงเพราะลินคอล์นต่อสู้เพื่อความถูกต้อง เราควรมองข้ามวิธีการซึ่งทำให้ได้มาอันผลลัพธ์ที่น่าพอใจนั้นหรือ คำตอบย่อมขึ้นอยู่กับมุมมองและหลักความคิดของแต่ละคน เช่นเดียวกับเรื่องเล่าของลินคอล์นเกี่ยวกับหญิงชราวัย 77 ปีที่ฆ่าสามีเพื่อเป็นการป้องกันตัว

มองด้วยสายตาร่วมสมัย มันดูเป็นเรื่องเหลือเชื่อที่ผู้คนจำนวนมากปราศจากสามัญสำนึกพอจะตระหนักถึงความไร้มนุษยธรรมของการค้าทาส หรือสิทธิความเป็นคนที่เท่าเทียมกัน แต่ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ลืมว่ามนุษย์มีสันดานเห็นแก่ตัวเป็นที่ตั้งและคุ้นเคยกับการเชื่อมั่นว่าตนเป็นศูนย์กลางแห่งจักรวาลมาเนิ่นนาน (จากทฤษฎีของอริสโตเติลซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคริสตจักร) ดังนั้นเราจึงได้เห็นความผิดพลาดคล้ายคลึงกันนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าผ่านยุคสมัยล่าอาณานิคมไปสู่การเรืองอำนาจของนาซี... หรือกระทั่งปัจจุบันเอง ปัญญาชนบางคนในประเทศสารขัณฑ์ก็ยังเชื่อว่าตนเองมีค่าเหนือชาวบ้านร้านตลาดที่ไม่ควรได้สิทธิเลือกตั้งเทียบเท่าเพราะพวกเขาไร้การศึกษา

ในหนังฉากหนึ่งลินคอล์นได้ยกสัจพจน์ของยูคลิดขึ้นมาอ้าง (“สิ่งทั้งหลายที่เท่ากับสิ่งเดียวกัน สิ่งเหล่านั้นย่อมเท่ากัน”) เพื่อจะบอกว่าโลกของเราเริ่มต้นในลักษณะนั้น มันเป็นสมดุลแห่งธรรมชาติ เป็นความยุติธรรม ที่แม้แต่หนังสือเก่าแก่กว่า 2,000 ปีก็ยังตระหนักในข้อเท็จจริงดังกล่าว ยูคลิดกล่าวว่ามัน ชัดแจ้งในตัวโดยไม่ต้องมีการพิสูจน์แต่ผู้คนจำนวนไม่น้อยก็ยังมืดบอดด้วยอคติและอัตตาจนมองไม่เห็น แม้จะมีการพิสูจน์จนประจักษ์สักกี่ครั้งก็ตาม เรื่องน่าเศร้าอยู่ตรงที่ไม่ว่าจะเป็น ค.ศ. 1865 หรือ 2018 หรืออีกกี่ร้อยกี่พันปีข้างหน้า มนุษย์จำพวกนี้ก็ไม่มีทางสูญพันธุ์ไปจากโลก และนั่นคืออีกหนึ่งข้อเท็จจริงที่ยากจะปฏิเสธ

ไม่มีความคิดเห็น: