วันพุธ, กันยายน 26, 2550

แต่งแต้มอารมณ์ด้วยสปีดภาพ (2)


ขณะที่ภาพแบบ slow motion มักถูกใช้เพื่อจุดมุ่งหมายในการเน้นย้ำอารมณ์ร่วมทางดราม่า ความเหนือจริงของภาพฝันหรือจินตนาการ และความงามแห่งท่วงท่าการเคลื่อนไหว เทคนิคตรงกันข้ามอย่าง fast motion (ถ่ายทำด้วยอัตราความเร็วต่ำกว่า 24 เฟรมต่อหนึ่งวินาที แล้วนำมาฉายด้วยอัตราความเร็วปกติ) ก็มักถูกใช้เพื่อสร้างอารมณ์ขัน เนื่องจากภาพลักษณะนี้จะลดทอนความเป็นมนุษย์ จากความเคลื่อนไหวที่กระตุก ไม่เป็นธรรมชาติ ทำให้ตัวละครดูเหมือนเครื่องจักร แข็งทื่อ ขาดความยืดหยุ่น ดังจะเห็นจากหนังอย่าง Tom Jones และ A Clockwork Orange ซึ่งใช้ fast motion เพื่อสร้างอารมณ์ขันได้อย่างเปี่ยมประสิทธิภาพ เทคนิคเดียวกันนี้ยังถูกนำมาใช้ในหนังตลกไทยหลายเรื่องจนเกร่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังตลกจำพวกวิ่งหนีผีทั้งหลาย

ในหนังเรื่อง Trainspotting ผู้กำกับ แดนนี่ บอยด์ ถ่ายทอดช่องว่างระหว่างหนุ่มขี้ยา มาร์ค เรนตัน (ยวน แม็คเกรเกอร์) กับพ่อแม่ของเขาให้เห็นเป็นรูปธรรมโดยใช้เทคนิค fast motion เมื่อพ่อแม่ของมาร์ค รวมถึงบุคคลอื่นๆ รอบข้างเคลื่อนไหวไปมาอย่างรวดเร็วดุจเครื่องจักร ขณะมาร์คกลับนั่งนิ่งด้วยใบหน้าเฉยชาท่ามกลางความสับสนอลหม่าน ฉากดังกล่าวช่วยตอกย้ำทัศนคติของมาร์คในการเลือกที่จะปฏิเสธวิถีแห่งชนชั้นกลาง (ทำงาน สร้างครอบครัว) แล้วเผาผลาญชีวิตไปกับยาเสพติด

เทคนิค fast motion อาจนำมาใช้ในรูปแบบที่จริงจังได้ เช่น เร่งความเร็วให้กับการเคลื่อนไหวปกติ (รถยนต์วิ่งผ่านหน้า) ในหนังคลาสสิกเรื่อง Nosferatu พลังเหนือธรรมชาติของผีดูดเลือดถูกถ่ายทอดผ่านเทคนิค fast motion และเช่นเดียวกัน ผู้กำกับ ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปล่า ซึ่งต้องการให้แวมไพร์ใน Bram Stoker’s Dracula ร่อนเข้าหาเหยื่อของมันด้วยความเร็วเหนือมนุษย์ ได้เลือกใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับควบคุมความไวชัตเตอร์ เพื่อให้ตากล้อง ไมเคิล บอลเฮาส์ สามารถปรับเปลี่ยนสปีดภาพระหว่างถ่ายทำได้อย่างราบรื่นและฉับพลันจาก 24 เฟรม/วินาทีไปเป็น 8 เฟรม/วินาที

บางครั้งการเปลี่ยนสปีดภาพสามารถช่วยส่งเสริมเทคนิคพิเศษให้ดูน่าตื่นเต้นขึ้นได้ เช่น ฉากเปลวเพลิงจากแรงระเบิดพุ่งทะยานขึ้นมาตามช่องลิฟต์ในหนังเรื่อง Die Hard โดยระหว่างถ่ายทำ เมื่อเปลวเพลิงยังอยู่บริเวณด้านล่างของช่องลิฟต์ หนังจะถ่ายทำด้วยอัตราส่วน 100 เฟรม/วินาที ส่งผลให้ภาพดูเชื่องช้า อ้อยอิ่ง ก่อนความเร็วของภาพจะถูกเร่งระดับขึ้น ขณะเปลวไฟพวยพุ่งขึ้นมาตามช่องลิฟต์อย่างฉับพลันทันที

ถ้าการถ่ายภาพ high speed โดยกล้องซึ่งถูกออกแบบมาเป็นพิเศษเพื่อให้คุณสามารถถ่ายภาพได้หลายร้อยเฟรม หรือกระทั่งหลายพันเฟรม/หนึ่งวินาที สำหรับจับการเคลื่อนไหวซึ่งตาเปล่าของมนุษย์มองไม่เห็น เช่น กระสุนปืนพุ่งทะลุกระจก คือ รูปแบบอันสุดโต่งของ slow motion ก็อาจกล่าวได้ว่า time-lapse ซึ่งเป็นเทคนิคการถ่ายภาพทีละเฟรม เช่น หนึ่งเฟรมต่อหนึ่งนาที หนึ่งชั่วโมง หรือกระทั่งหนึ่งวัน เพื่อเปิดโอกาสให้คนดูสามารถเห็นภาพพระอาทิตย์ตกดิน หรือดอกไม้เบ่งบานภายในเวลาเพียงไม่กี่วินาที คือ รูปแบบอันสุดโต่งของ fast motion แต่จะแตกต่างกันตรงที่กล้องส่วนใหญ่สามารถถ่ายทำเทคนิค time-lapse ได้

หนังเรื่องแรกที่ใช้เทคนิค time lapse อย่างต่อเนื่องและเปี่ยมประสิทธิภาพ คือ Koyaanisqatsi (อ่านออกเสียงว่า คอย-ยันนา-สก็อต-ซี เป็นภาษาอินเดียนแปลว่า “ชีวิตอันปราศจากสมดุล”) ซึ่งปราศจากพล็อตเรื่อง หรือตัวละคร แต่เป็นเหมือนสารคดีภาพชุดพร้อมดนตรีประกอบ ประพันธ์โดย ฟิลลิป กลาส เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นพัฒนาการของโลกมนุษย์ โดยในฉากช่วงต้นเรื่องคนดูจะได้เห็นทัศนียภาพอันกว้างใหญ่ งดงามของธรรมชาติ ซึ่งห่างไกลจากความ “ศิวิไลซ์” ทั้งหลาย จากนั้นในเวลาต่อมา หนังก็ค่อยๆ แสดงให้เห็นภาพชีวิตชาวเมืองอันแออัด เร่งรีบ และเต็มไปด้วยมลพิษ ซึ่งถูกเน้นย้ำให้เห็นเด่นชัดผ่านเทคนิค time lapse เมื่อรถยนต์พร่าเลือนจนกลายเป็นเพียงแสงไฟบนถนน และฝูงชนพลุกพล่านจนมองแทบไม่เห็นเป็นรูปร่าง


โดยปกติแล้ว เทคนิค time lapse มักถูกใช้เพื่อบ่งบอกเวลาที่วิ่งผ่านไปภายในหนึ่งวันจากเช้าจรดค่ำ เช่น ในฉากเปิดเรื่องของ Elephant หรือกระทั่งหลายวัน หลายสัปดาห์ เช่น ฉากหนึ่งของ Zodiac ซึ่งแสดงให้เห็นตึกทรานส์อเมริกาค่อยๆ ก่อสร้างสูงขึ้นเรื่อยๆ เพื่อสะท้อนข้อเท็จจริงอันชวนเหนื่อยล้าเกี่ยวกับการสะสางคดีฆาตกรรมในหนังที่เริ่มกินเวลายาวนานจนดูเหมือนจะไม่มีวันสิ้นสุด ผู้กำกับ แอ็กนีซก้า ฮอลแลนด์ ใช้ประโยชน์จากเทคนิค time lapse ได้อย่างยอดเยี่ยมใน The Secret Garden เมื่อสวนลับที่เคยรกร้าง ไร้ชีวิตชีวา ค่อยๆ เขียวชอุ่มด้วยพุ่มไม้นานาพันธุ์และดอกไม้หลากหลายชนิดแข่งกันเบ่งบานสร้างสีสัน ฉากดังกล่าวนอกจากจะบ่งบอกความเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลแล้ว มันยังช่วยสร้างบรรยากาศแห่งมนตราให้กับสวนลับ ซึ่งชักนำเด็กทั้งสามให้ผูกมิตรแน่นแฟ้นกันดุจรากไม้ที่งอกงามฝังลึกลงในพื้นดินอย่างรวดเร็วอีกด้วย

Reverse motion เป็นเทคนิคการถ่ายภาพโดยรันฟิล์มย้อนหลัง ฉะนั้นเมื่อนำมาฉายบนจอ ภาพที่ปรากฏจึงเคลื่อนที่ย้อนหลัง ในยุคหนังเงียบ เทคนิคนี้เป็นเพียงแก๊กสำหรับสร้างความรู้สึกแปลกใหม่ ต่อมาหนังหลายเรื่องใช้มันเพื่อเรียกเสียงหัวเราะ เช่น A Hard Day’s Night และ The Knack อย่างไรก็ตาม ตัวอย่างยอดเยี่ยมของการใช้ reverse motion ควบคู่กับ slow motion เพื่อสนับสนุนเรื่องราวในหนัง คือ Orpheus ของ ฌอง ค็อกโต ในฉากที่ตัวละครเอกเดินทางไปยังนรกเพื่อตามหาภรรยา แต่ขณะอยู่ที่นั่น เขาทำผิดพลาดครั้งใหญ่และปรารถนาจะย้อนเวลากลับไปแก้ไขมัน จากนั้นด้วยมหัศจรรย์แห่งเทคนิคภาพยนตร์ คนดูจะเห็นเขาค่อยๆ เคลื่อนไหวย้อนหลังไปยังฉากก่อนหน้าในลักษณะ slow motion สู่จุดเริ่มต้นของความผิดพลาด

หนังยุคใหม่ที่ใช้ reverse motion สื่อความหมายคู่ขนาน คือ Memento ของผู้กำกับ คริสโตเฟอร์ โนแลนด์ ซึ่งพยายามดึงผู้ชมเข้าไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งในโลกของตัวละครเอก ที่เป็นโรคสูญเสียความทรงจำระยะสั้น อย่างชาญฉลาดผ่านขบวนการเล่าเรื่องแบบ “ถอยหลัง” โดยแต่ละฉากจะกินเวลาประมาณ 7-15 นาที คั่นกลางด้วยแฟลชแบ็คขาวดำซึ่งดำเนินเรื่องแบบเดินหน้า ทำให้คนดูได้ชมภาพยนตร์ในลักษณะเดียวกับที่ตัวละครเอกดำเนินชีวิต แบ่งปันความรู้สึกสับสน งุนงงของเขา

หลังถ่ายทำเสร็จสิ้นแล้ว นักทำหนังยังสามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของภาพบนจอได้ผ่านขั้นตอนในห้องแล็บอันหลากหลาย แต่ที่พบเห็นได้บ่อยๆ คือ optical printer ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่จะช่วยให้คุณสามารถพิมพ์ฟิล์มซ้ำของหนังทั้งเรื่อง หรือแค่บางส่วนลงในฟิล์มอีกม้วน นักทำหนังสามารถใช้ขั้นตอนดังกล่าวในการกระโดดข้ามเฟรม (เร่งภาพให้เร็ว) พิมพ์เฟรมซ้ำเป็นระยะ (ดึงภาพให้ช้าผ่านกรรมวิธี stretch printing) หยุดภาพนิ่ง (พิมพ์เฟรมเดิมซ้ำไปซ้ำมา เพื่อให้ภาพหยุดนิ่งนานหลายวินาที หรือกระทั่งหลายนาที) หรือย้อนกลับเหตุการณ์ (reverse motion) ทุกวันนี้ หนังเงียบบางเรื่องจะถูกพิมพ์ซ้ำหนึ่งเฟรมในทุกๆ เฟรม ส่งผลให้ความเคลื่อนไหวของมันดูเนียนและราบรื่นเมื่อนำมาฉายตามปกติในความเร็ว 24 เฟรม/วินาที

เทคนิคการหยุดภาพนิ่ง หรือ freeze frame จะขัดขวางการไหลลื่นของเหตุการณ์ เมื่อผู้กำกับต้องการให้คนดูใส่ใจกับบางรายละเอียดมากเป็นพิเศษ ดังจะเห็นได้จากฉากที่ เทรซี่ (อีวาน ราเชล วู้ด) แนะนำตัวเองกับสาวแรดประจำโรงเรียน อีวี่ (นิกกี้ รีด) พร้อมแสดงท่าทีอยากขอเข้ากลุ่มจนออกนอกหน้าในหนังเรื่อง Thirteen โดยระหว่างนั้นกล้องก็ส่ายสำรวจร่างกายของทั้งสองอย่างรวดเร็ว พลางหยุดพักเป็นจุดๆ ด้วยเทคนิค freeze frame เพื่อแสดงให้เห็นความแตกต่างของสองสาว กล่าวคือ คนแรกพยายามจะทำตัว cool แต่ยังเก็บร่องรอยความไร้เดียงสาไว้ไม่มิด (ใบหน้าบนรองเท้าผ้าใบ ผ้าคาดข้อมือ) ส่วนคนหลังกลับดูก๋ากั่นเต็มพิกัดแบบสาวใจแตกชนิดกู่ไม่กลับ (เจาะสะดือ กำไลสาวร็อค) ซึ่งแน่นอนว่าย่อมไม่อยากคบหากับเด็กเนิร์ดอย่างเทรซี่ เช่นนั้นมันจึงไม่แปลก เมื่อฉากต่อมาเทรซี่พบว่าเบอร์โทรศัพท์ที่อีวี่ให้ไว้เป็นเบอร์ปลอม


โดยหลักการแล้ว freeze frame ยังเปรียบดังสัญลักษณ์เชื่อมโยงกับกาลเวลาอันเด่นชัด เนื่องจากการหยุดภาพนิ่งย่อมสื่อถึงความไม่เปลี่ยนแปลงใดๆ ตัวอย่างเช่น ในช่วงใกล้จบของหนังเรื่อง True Grit ผู้กำกับ เฮนรี่ แฮทธาเวย์ ได้หยุดภาพตัวเอก (จอห์น เวย์น) ไว้ขณะเขากำลังขี่ม้ากระโดดข้ามรั้ว การหยุดภาพนิ่ง ณ จุดที่เขาพุ่งทะยานขึ้นสูงสุดเป็นเหมือนสัญลักษณ์แห่งความสง่างามอันไร้กาลเวลา ช่วยตอกย้ำวีรกรรมของตัวเอกให้เป็นอมตะ ไม่ดับสูญไปตามอายุขัย แต่เมื่อภาพปราศจากความเคลื่อนไหว บ่อยครั้งมันจึงสื่อนัยยะเสริมถึงความตายด้วย ช็อตดังกล่าวของ True Grit ก็หาใช่ข้อยกเว้น แต่มันอาจไม่เด่นชัดเท่าฉากจบของหนังอย่าง Butch Cassidy and the Sundance Kid และ Thelma & Louise เมื่อภาพสุดท้ายของสองตัวเอกถูกแช่นิ่งไว้ก่อนพวกเขา/เธอจะถูกยิงตาย/ขับรถตกหน้าผาตาย ทว่าโทนอารมณ์โดยรวมกลับไม่เศร้าสร้อย หรือโศกสลด หากแต่เป็นฮึกเหิม ประทับใจมากกว่า เพราะมันบ่งบอกนัยยะว่าวีรกรรมของพวกเขามีชัยชนะเหนือความตาย

ผู้กำกับ ฟรังซัวส์ ทรุฟโฟต์ เลือกใช้ freeze frame ในฉากจบของ The 400 Blows เพื่อจับห้วงเวลาอันชวนสะเทือนใจแห่งเสี้ยววินาทีเอาไว้ ขณะเดียวกันมันยังช่วยตอกย้ำสถานะติดกับ ไร้สิ้นทางออกของตัวเอกให้ยิ่งโดดเด่น ขึ้นด้วย ส่วนในหนังอย่าง Jules and Jim เขากลับเลือกหยุดภาพ แคทเธอรีน (ฌานน์ มอนโรว) ในอิริยาบถต่างๆ เอาไว้ เพื่อเปรียบเธอกับงานศิลปะอันงดงาม ไร้กาลเวลา

อย่างไรก็ตาม เทคนิค freeze frame ในปัจจุบันส่วนใหญ่มักถูกใช้ควบคู่กับเสียงเล่าเรื่อง โดยมากเพื่อเปิดโอกาสให้คนเล่าเรื่องสามารถแจกแจงข้อมูลคร่าวๆ เกี่ยวกับตัวละครให้คนดูได้รู้จัก ตัวอย่างล่าสุดเช่น ในหนังเรื่อง Ratatouille, ลิขิตรัก ขัดใจแม่, อสุจ๊าก และไชยา เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น: