วันอังคาร, กันยายน 04, 2550

European Films of the 90s


ALL ABOUT MY MOTHER (1999)
ประเทศ: สเปน
ผู้กำกับ: เปรโด อัลโมโดวาร์

มาสเตอร์พีซชิ้นเยี่ยมของราชาหนังสเปน เปรโด อัลโมโดวาร์ เริ่มต้นขึ้นด้วยการตายของ เอสเตบาน (อีลอย อาโซลิน) เด็กหนุ่มที่ต้องการจะขอลายเซ็นของนักแสดงสาวชื่อดัง ฮูมา โรโจ (มาริสา พาเรเดส) บนถนนเส้นหนึ่งท่ามกลางสายฝน จากนั้นหนังก็หันไปเล่าถึงการเดินทางของแม่เขา (เซซิเลีย ร็อธ) สู่เมืองบาร์เซโลน่าเพื่อแจ้งข่าวการตายของลูกชายให้พ่อเอสเตบานรับรู้ ที่นั่นเธอได้พบกับเพื่อนเก่า อากราโด (แอนโตเนีย ซาน ฮวน) ซึ่งเป็นกะเทยขายตัว และได้รู้จักกับ โรซ่า (เพเนโลปี ครูซ) แม่ชีสาวที่ตั้งท้องกับพ่อของเอสเตบาน และ ฮูมา โรโจ กับแฟนสาวเลสเบี้ยนขี้ยาของเธอ นิน่า (แคนเดล่า เพน่า) เครื่องหมายการค้าของอัลโมโดวาร์ยังคงปรากฏอยู่อย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นเนื้อเรื่องบีบน้ำตา เหตุบังเอิญ ตัวละครที่สับสนทางเพศ (ความจริงปรากฏว่าพ่อของเอสเตบานปัจจุบันได้กลายร่างเป็นผู้หญิงไปเสียแล้ว!) อารมณ์ขันเหลือร้าย หรือการตั้งคำถามต่อสถาบันครอบครัว แต่ความแตกต่างที่สำคัญของหนังเรื่องนี้กับหนังเรื่องอื่นๆก่อนหน้า ซึ่งหลายคนบอกว่าแสดงให้เห็นถึงการ ‘เติบใหญ่’ ของนักทำหนังได้ชัดเจนที่สุด คือ อัลโมโดวาร์เน้นการให้น้ำหนักตัวละครจนเหมือนจริงสูงสุดท่ามกลางสถานการณ์ที่อาจจะดูเกินจริงและน่าหัวเราะ ทำให้เวลาพวกเขาเจ็บปวด คนดูจึงรู้สึกเจ็บปวดตามไปด้วย

ANTONIA’S LINE (1996)
ประเทศ: เนเธอร์แลนด์
ผู้กำกับ: มาร์ลีน กอร์ริส

หนังเริ่มต้นหลังจากสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลงได้ไม่นาน แล้วก็เล่าเรื่องราวที่กินเวลายาวนานกว่าห้าสิบปีและสี่ชั่วคนของ แอนโตเนีย (วิลเลค แวน แอมเมลรู) หญิงสาวซึ่งเดินทางกลับมายังถิ่นกำเนิดในหมู่บ้านเล็กๆแห่งหนึ่งของประเทศเนเธอร์แลนด์พร้อมกับลูกสาว เดเนี่ยล (เอลส์ ดอตเตอร์แมนส์) หลังจากโบกมือลาไปนานกว่ายี่สิบปี เพื่อเข้าร่วมพิธีฝังศพมารดาและทำงานดูแลฟาร์มอันเป็นมรดกตกทอด จากนั้นหนังก็ค่อยๆแนะนำคนดูให้รู้จักกับตัวละครอันยากจะลืมเลือนจำนวนมาก เช่น ครุกเก็ท ฟิงเกอร์ ชายผู้จมปลักอยู่กับกองหนังสือ และแมด มาดอนน่า หญิงสาวที่ชอบเห่าหอนในคืนพระจันทร์เต็มดวงเพราะเธอเป็นคาทอลิกที่ไม่สามารถแต่งงานกับชายคนรักชาวโปรเตสแตนท์ได้ เมื่อเวลาผ่านเลยไป ครอบครัวของแอนโตเนียก็เริ่มขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ บรรดาลูกหลาน ลูกเขย และเพื่อนบ้านต่างเดินทางมาร่วมทานอาหารเย็นบนโต๊ะกินข้าวที่ยืดยาวของเธอพร้อมๆกับเรียนรู้กฎเกณฑ์แห่งชีวิตอันเรียบง่ายข้อหนึ่งที่ว่า จงมองหาความดีในบุคคลรอบข้างและอย่าได้วิจารณ์บุคคลที่ค้นพบความสุขโดยไม่เบียดเบียนใครให้เดือดร้อน Antonia’s Line ผสมผสานสไตล์ magical realism แบบลาติน เข้ากับปรัชญาของยุโรป ภาพชีวิตชนบทที่เหมือนจริง และแนวคิดเชิงสตรีนิยมได้อย่างกลมกลืน น่าทึ่ง แต่นั่นก็ยังไม่สำคัญเท่ากับการเชิดชูคุณค่าแห่งชีวิตซึ่งตลบอบอวลอยู่ในทุกอณูของหนังเรื่องนี้

BEAU TRAVAIL (1999)
ประเทศ: ฝรั่งเศส
ผู้กำกับ: แคลร์ เดนิส

ถึงแม้จะสร้างผลงานชั้นดีมาก่อนหน้านี้จำนวนหลายเรื่องด้วยกันอย่าง Chocolat, I Can’t Sleep และ Nanette and Boni แต่นักวิจารณ์จำนวนมากกลับลงความเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่า Beau Travail คือภาพยนตร์ที่ล้ำลึกที่สุดของผู้กำกับหญิง แคลร์ เดนิส ไม่ว่าจะพิจารณาในแง่สไตล์หรือเนื้อหา เรื่องราวทั้งหมดถูกเล่าผ่านสายตาของ กัลลอป (เดนิส ลาแวนท์) อดีตนายทหารชาวฝรั่งเศสที่หวนรำลึกไปถึงคืนวันอันหอมหวานตอนที่เขาประจำการอยู่ในทวีปแอฟริกา ทุกอย่างดำเนินไปได้อย่างราบรื่น จนกระทั่งวันหนึ่งความสุขแห่งชีวิตท่ามกลางเหล่าทหารหนุ่มแน่นและผู้บังคับบัญชาการรูปหล่อของกัลลอปก็ต้องสะดุดกึกลงอย่างกระทันหันพร้อมๆกับการมาถึงของนายทหารหนุ่มคนใหม่ เซนเตียง (เกร์โกรี่ โคลิน) รูปกายอันงดงาม หมดจดของเซนเตียง ‘คุกคาม’ ความรู้สึกของกัลลอป ทำให้เขาต้องหาทางกำจัดเซนเตียงออกไปให้พ้นทางโดยเร็ว ความซับซ้อนของดราม่าแห่งอารมณ์อิจฉาริษยา แง่มุมโฮโมอีโรติก แนวคิดเรื่องความแตกต่างทางเชื้อชาติ สีผิว และบทวิพากษ์ลัทธิล่าอาณานิคมล้วนถูกนำเสนออย่างลุ่มลึก เป็นนัยยะ หนังไม่ค่อยมีบทสนทนามากนัก แต่งานด้านภาพอันวิจิตรบรรจงช่วยเข้ามาเติมเต็มช่องว่างในการเล่าเรื่องได้อย่างสมบูรณ์แบบ โดยเฉพาะภาพนายทหารเรียงแถวกันออกกำลังกาย ฝึกซ้อม หรือกระทั่งรีดผ้าโดยพร้อมเพรียงกันราวกับบัลเล่ต์ ถือเป็นฉากคลาสสิกที่ชวนให้ค้นหาความหมายและจะติดตรึงใจผู้ชมไปอีกนาน

BREAKING THE WAVES (1996)
ประเทศ: เดนมาร์ก
ผู้กำกับ: ลาร์ส ฟอน เทรียร์

ผลงานที่ได้รับการยกย่องให้เป็นหนังดีที่สุดเรื่องหนึ่งของทศวรรษ 90 และช่วยส่งชื่อของ ลาร์ส ฟอน เทรียร์ ให้กลายเป็นผู้กำกับระดับแนวหน้า หนังดำเนินเหตุการณ์ในหมู่บ้านเล็กๆอันห่างไกลทางตอนเหนือของประเทศสก็อตแลนด์ สถานที่ซึ่งผู้คนส่วนใหญ่เคร่งครัดในศาสนาในระดับแตกต่างกันไป เบส (เอมิลี่ วัตสัน) เป็นหญิงสาวไร้เดียงสาผู้เชื่อมั่นในพระเจ้า เธอตกหลุมรักและแต่งงานไปกับ แจน (สเตลแลน สการ์สการ์ด) ชายหนุ่มนิสัยดีที่ทำงานอยู่ในแท่นขุดน้ำมันกลางทะเล วันหนึ่ง หลังจากประสพอุบัติเหตุร้ายแรงขณะทำงานขุดเจาะน้ำมันจนทำให้เขาต้องพิการตั้งแต่คอลงมา แจนก็ได้ขอร้องให้เบสไปมีเซ็กซ์กับชายคนอื่นแล้วนำกลับมาเล่าให้เขาฟัง เธอไม่ชอบความคิดดังกล่าวสักเท่าไหร่แต่ก็ยอมทำตาม ด้วยศรัทธาอันแรงกล้า เธอเชื่อว่าการเสียสละของเธอจะช่วยไถ่บาปให้แก่สามีผู้เป็นที่รักและอาจถึงขนาดช่วยเขาให้มีอาการดีขึ้นก็ได้ แต่สุดท้ายมันกลับชักนำชีวิตเธอไปพบกับหายนะที่คาดไม่ถึง เนื้อหาของหนังท้าทายทัศนคติดั้งเดิมของผู้ชมเกี่ยวกับศรัทธา พระเจ้า และความรัก ขณะเดียวกันพลังบีบคั้นในส่วนของดราม่านั้นก็พุ่งทะยานถึงขีดสุดจากการแสดงอันน่าตื่นตะลึงของ เอมิลี่ วัตสัน ซึ่งสามารถทำให้ผู้ชมหัวใจสลายไปกับชะตากรรมในบั้นปลายของเบสได้ไม่ยาก

BURNT BY THE SUN (1994)
ประเทศ: รัสเซีย
ผู้กำกับ: นิกิต้า มิคาลคอฟ

ฤดูร้อน ณ สถานที่อันห่างไกลชุมชนเมืองของประเทศรัสเซีย เซอร์ไก โคตอฟ (นิกิต้า มิคาลคอฟ) นายทหารผู้มีชื่อเสียงแห่งกองทัพแดงกำลังสนุกสนานหรรษาในวันหยุดพักผ่อนกับภรรยา มารุสย่า (อิงเกฮอร์ก้า เดปคูไนเต้) และลูกสาววัยหกขวบ นัดย่า (นาเดีย มิคาลคอฟ) อยู่ในบ้านพักตากอากาศพร้อมหน้าด้วยเหล่าญาติสนิทมิตรสหายจำนวนมาก บรรยากาศเต็มไปด้วยความอบอุ่นเป็นกันเอง แต่แล้วแขกที่ไม่คาดฝันของงานก็ปรากฏตัวขึ้น นั่นคือ ดิมิทรี่ (โอเล็ก เมนชิคอฟ) อดีตคนรักของมารุสย่าซึ่งจู่ๆก็ลาจากไปโดยไม่บอกไม่กล่าวเมื่อสิบปีก่อน เขากลับมาครั้งนี้พร้อมความลับและคำอธิบายว่าเกิดอะไรขึ้นกับเขาเมื่อสิบปีที่แล้ว ประวัติศาสตร์ความฟอนเฟะทางการเมืองในช่วงสตาลินเรืองอำนาจ เปรียบเสมือนยาขมที่ซุกซ่อนเอาไว้ภายใน เคลือบฉาบภายนอกด้วยอารมณ์ขันสนุกสนานของภาพการใช้ชีวิตช่วงฤดูร้อนอันสงบสุข จนคนดูอาจไม่ทันตั้งตัวสำหรับความหม่นเศร้าที่กำลังจะตามมา ผู้กำกับมิคาลคอฟไม่ได้ต้องการจะวิจารณ์นโยบายอันผิดพลาดของสตาลิน แต่เขามุ่งเน้นที่จะสะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบจากความน่าพรั่นพรึงในสังคมยุคนั้นว่ามันได้เข้ามาทำลายสัมพันธภาพระหว่างครอบครัว ตลอดจนกัดกร่อนคุณค่าแห่งการใช้ชีวิตไปจนไม่เหลือชิ้นดีอย่างไรบ้าง เพราะสุดท้ายแล้วคนที่ต้องมารับกรรมจากการปฏิวัติอันไร้สาระก็คือผู้บริสุทธิ์ตาดำๆอย่างนัดย่า

THE CRYING GAME (1992)
ประเทศ: อังกฤษ
ผู้กำกับ: นีล จอร์แดน

เซอร์ไพรซ์อันลือลั่นช่วงกลางเรื่องอาจเป็นสิ่งแรกที่ผู้ชม The Crying Game ไม่มีวันลืม แต่มาสเตอร์พีซชิ้นนี้ของ นีล จอร์แดน ไม่ได้มีดีแค่ช็อคคนดูเท่านั้น หนังเปิดเรื่องด้วยการลักพาตัวทหารอังกฤษนายหนึ่ง (ฟอร์เรสต์ วิทเทเกอร์) ของกลุ่มไออาร์เอ ต่อมาเขาก็ถูกนำตัวไปคุมขังยังกระท่อมกลางป่าภายใต้การควบคุมของ เฟอร์กัส (สตีเฟ่น เรีย) ผู้ก่อการร้ายที่มีจิตใจอ่อนโยน กฎเกณฑ์มีอยู่ว่านายทหารอังกฤษจะต้องถูกฆ่าถ้ารัฐบาลไม่ยอมปล่อยนักโทษกลุ่มไออาร์เอ ระหว่างการเจรจาต่อรอง เฟอร์กัสกับนายทหารอังกฤษก็มีโอกาสได้ทำความรู้จักกัน พวกเขาพูดคุยกันถูกคอและเริ่มสนิทสนมกันมากขึ้น วันหนึ่งนายทหารก็ได้หยิบภาพแฟนสาวของตนในกรุงลอนดอน (เจย์ เดวิดสัน) ขึ้นมาโชว์ให้เฟอร์กัสดู พร้อมกับขอร้องเขาให้ช่วยแวะไปเยี่ยมเธอให้หน่อย หากเขาถูกฆ่าตายในกระท่อมหลังนี้ บทหนังคมคาย ชวนให้ติดตาม และซับซ้อนหลายชั้น มันอุดมไปด้วยการหักมุมทั้งในแง่โครงเรื่อง เนื้อหา รวมทั้งแนวทาง จนคนดูไม่สามารถคาดเดาอะไรได้เลย แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้หนังขาดอารมณ์ลึกซึ้งกินใจแต่อย่างใด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะตัวละครหลักๆล้วนถูกใส่รายละเอียดและมิติเอาไว้อย่างคมชัด กระนั้นเซอร์ไพรซ์ขนานใหญ่ที่คนดูจะได้รับเมื่อหนังจบลงก็คือ The Crying Game มีแก่นแท้เป็นหนังรัก และมันก็เป็นหนังรักที่งดงามที่สุดเรื่องหนึ่งแห่งทศวรรษ

DRIFTING CLOUDS (1996)
ประเทศ: ฟินแลนด์
ผู้กำกับ: อากิ คัวริสมากิ

ผลงานเปื้อนยิ้มของยอดผู้กำกับชาวฟินแลนด์ อากิ คัวริสมากิ เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นภาพประชาชนตัวเล็กๆที่ถูกสภาพเศรษฐกิจบดขยี้อย่างต่อเนื่อง แต่พวกเขาก็ไม่ย่อท้อที่จะสู้ชีวิตกันต่อไป ตัวเอกของหนังคือสามีภรรยาคู่หนึ่ง อิโลน่า (คาติ เอาทิเนน) กับ ลอรี่ (คาริ วาเอียเนียเนน) ซึ่งต่างก็ถูกไล่ออกจากงานในเวลาใกล้เคียงกัน คนแรกเพราะร้านอาหารที่เธอทำงานอยู่ประสบภาวะล้มละลาย ส่วนคนหลังเพราะบริษัทของเขาต้องการลดจำนวนพนักงาน ธรรมชาติแห่งอารมณ์ขันของคัวริสมากิค่อนข้างก้ำกึ่ง เพราะมันเจือปนไปด้วยความกลัดกลุ้ม ผิดหวัง เช่นเดียวกับอารมณ์อ่อนโยน นุ่มนวล ตัวอย่างอันชัดเจนคือฉากที่ลอรี่เดินออกมาจากโรงหนังเพื่อขอทวงเงินคืนจากพนักงานขายตั๋ว เขาอ้างว่าหนังตลกที่เขาเพิ่งดูจบไปนั้นไม่สามารถทำให้เขาหัวเราะได้เลยสักแอะ แต่พนักงานกลับตอกกลับว่า เขาไม่ได้จ่ายตังค์เพื่อเข้าไปดูหนังเรื่องนี้เสียหน่อย ลอรี่จึงขอให้พนักงานไปนำหมาของเขามาคืนแทน ระหว่างเดินกลับบ้านภรรยาของเขาก็พูดขึ้นว่าเธอชอบหนังเรื่องนั้นและต่อว่าลอรี่ที่ไปหยาบคายใส่พนักงานทั้งที่เธอเป็นน้องสาวแท้ๆของเขา คัวริสมากิผู้ให้ความสำคัญกับการจัดองค์ประกอบภาพอย่างละเอียดอ่อนรักตัวละครของเขา และไม่ชอบเน้นการแสดงให้เห็นแอ็กชั่น แต่โฟกัสไปยังปฏิกิริยารอบข้าง เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่า Drifting Clouds คือส่วนผสมระหว่างความเศร้าสร้อยใน The Bicycle Thief กับอารมณ์สุขสันต์เต็มตื้นใน It’s a Wonderful Life มันเป็นนิยามที่ค่อนข้างชัดเจนทีเดียว

ETERNITY AND A DAY (1998)
ประเทศ: กรีซ
ผู้กำกับ: ธีโอ แองเจโลพัวลอส

อเล็กซานเดอร์ (บรูโน่ กันซ์) เป็นกวีที่กำลังป่วยเป็นโรคมะเร็งขั้นสุดท้าย เขารู้ตัวว่าอีกไม่นานเขาจะต้องเข้าไปรับการรักษาอยู่ในโรงพยาบาลและไม่ได้กลับออกมาอีกเลย ชีวิตของเขาไม่เกี่ยวกับวันพรุ่งนี้อีกต่อไป ตรงกันข้ามมันกลับอัดแน่นไปด้วยอดีตที่ผิดพลาด ในช่วงที่ยังมีชีวิตอยู่ อเล็กซานเดอร์บ้างานเขียนเสียจนไม่เหลือเวลาให้กับภรรยา แอนนา (อิสซาเบลล์ เรโนลด์) และลูกสาว ดังนั้นในตอนนี้ หลังจากแอนนาได้เสียชีวิตไปแล้ว ส่วนเขาก็กำลังจะตามเธอไปอีกไม่นาน อเล็กซานเดอร์จึงใช้ช่วงเวลาสุดท้ายที่เหลืออยู่หวนรำลึกถึงวันแห่งความสุขสันต์เมื่อ 30 ปีก่อน ตอนเขากับครอบครัวและญาติสนิทมิตรสหายมารวมตัวกันอยู่บนชายหาด สังสรรค์ เต้นรำกันอย่างมีความสุข ผลงานชั้นเยี่ยมของยอดผู้กำกับชาวกรีก ธีโอ แองเจโลพัวลอส ที่คว้ารางวัลชนะเลิศจากเทศกาลหนังเมืองคานส์มาครองได้สำเร็จเรื่องนี้ มุ่งเน้นให้ผู้ชมได้คิดและตั้งคำถามกับตัวเองเกี่ยวกับความทรงจำ ชีวิต ตลอดจนความหมายแห่งการดำรงอยู่ ฉากส่วนใหญ่ถูกถ่ายทำในลักษณะ long take และ long shot ซึ่งให้ความรู้สึกลุ่มลึก หนักแน่น แตกต่างจากกลวิธีสร้างภาพยนตร์แนว mainstream ทั่วไป พลังของหนังเกิดจากสายตาศิลปินของแองเจโลพัวลอสในการถ่ายทอดความงามออกมาเป็นรูปธรรม รวมทั้งการสร้างบรรยากาศอันตลบอบอวลไปด้วยอารมณ์ ความรู้สึก และดึงดูดผู้ชมให้เคลิบเคลิ้มได้ราวกับต้องมนต์สะกด

FUNNY GAMES (1997)
ประเทศ: ออสเตรีย
ผู้กำกับ: ไมเคิล ฮาเนเก้

สองหนุ่มโรคจิต (อาร์โน ฟริช กับ แฟรงค์ เกียริ่ง) บุกเข้าไปในบ้านพักตากอากาศของครอบครัวๆหนึ่งอันประกอบไปด้วย พ่อ (อูลริช มูเฮอ) แม่ (ซูซานน์ โลธาร์) และลูกชาย (สเตฟาน แคลบซินสกี้) จับพวกเขาเป็นตัวประกัน ทรมานพวกเขา และบังคับให้พวกเขาเล่นเกมซาดิสต์ว่าจะมีใครเหลือรอดชีวิตไปจนถึงเก้าโมงเช้าของวันพรุ่งนี้หรือไม่ พิจารณาจากพล็อตเรื่องแล้ว Funny Games เป็นหนังในแนวทางขวัญที่ทำออกมาได้อย่างสนุกสนาน น่าตื่นเต้น แต่เมื่อมองลึกลงไปแล้ว หนังกลับอุดมไปด้วยมุขตลกร้ายๆซึ่งพุ่งเป้าโจมตีมายังคนดูผู้หลงใหลในพฤติกรรมถ้ำมองและการเสพย์ความรุนแรงผ่านสื่อ ขณะเดียวกันก็ยั่วยวนพวกเขาด้วยการไม่ยอมนำเสนอความรุนแรงให้เห็นในจอภาพ เหตุการณ์ทั้งหมดดูเหมือนจริงจนน่ากลัวตลอดทั้งเรื่อง แต่แล้วจู่ๆกลับมีอยู่สองครั้งที่ตัวละครหันมาพูดกับกล้องว่า “คุณกำลังดูอะไรอยู่และดูทำไม” จากนั้นในช่วงท้ายเรื่อง เมื่อหนึ่งในเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายเริ่มพลิกสถานการณ์มาเป็นต่อ หนึ่งในนักฆ่าก็สั่งให้กรอเทปกลับทันที เพื่อจะได้นำเสนอฉากเดิมอีกครั้งด้วยตอนจบที่มืดหม่นและโหดร้ายยิ่งกว่า หลังจากมอบความหวังให้คนดู ผู้กำกับ ไมเคิล ฮาเนเก้ ก็กระชากมันคืนพร้อมกับลงโทษพวกเราที่ถูกหลอกได้อย่างง่ายดาย หนังทั้งเรื่องเปรียบเสมือนเกมซาดิสต์ที่ฆาตกรในเรื่องกระทำกับพ่อแม่ลูก มันตั้งคำถามให้ทุกคนกลับไปคิดว่าความรุนแรงเหล่านี้ไม่ใช่หรือที่พวกเราอยากจะดู ที่พวกเราชื่นชอบ

THE GIRL ON THE BRIDGE (1999)
ประเทศ: ฝรั่งเศส
ผู้กำกับ: ปาทริซ เลอกงต์

เขาเดินหาผู้หญิงตามสะพานซึ่งกำลังสิ้นหวังในชีวิตจนอยากจะกระโดดลงไปในแม่น้ำ เขาคิดว่าบางทีเธออาจสนใจที่จะทำงานให้เขา อาชีพของเขาคือนักปามีด หน้าที่ของเธอคือเป็นเป้าให้เขาปา ถ้าเขาไม่พลาดทั้งสองก็จะได้เงินและโอกาสสำหรับท่องเที่ยวไปตามสถานที่ต่างๆมากมาย แต่ถ้าเขาพลาด เธอก็ไม่มีอะไรจะต้องเสียเนื่องจากเธอกำลังอยากจะฆ่าตัวตายอยู่แล้ว และบนสะพานนั้นเองที่ กาบอร์ (เดเนี่ยล ออตูร์) ได้พบกับ อเดล (วาเนสซ่า พาราดิส) พวกเขาเข้าคู่กันได้อย่างลงตัว กาบอร์เป็นนักปามีดชั้นเยี่ยม แม้จะชอบบ่นว่าสายตาของเขาไม่ดีเหมือนเมื่อก่อนแล้ว ส่วนอเดลก็เป็นเสมือนตัวนำโชค ทั้งสองทำเงินได้มากขึ้น ทั้งสองเริ่มผูกพันและทุ่มเทให้กันอย่างเต็มตัวถึงขนาดสามารถได้ยินความคิดของอีกฝ่าย กิจกรรมปามีดถูกนำมาใช้อธิบายบุคลิกของตัวละครและความสัมพันธ์ระหว่างพวกเขาได้อย่างคมคาย นอกจากงานถ่ายภาพขาวดำในระบบไวล์สกรีนอันน่าประทับใจและการแสดงที่น่าเชื่อถือของออตูร์กับพาราดิสแล้ว จุดแข็งที่สุดของหนังอยู่ตรงอารมณ์ขันลึกๆและท่าทีแบบทีเล่นทีจริง เมื่อตัวเอกในเรื่องต่างตระหนักดีพอๆกับผู้ชมถึงความแปลกพิกลจนน่าหัวเราะของสถานการณ์ที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่ ความรักของทั้งสองเกิดขึ้นจากการลองเสี่ยงดูว่าพวกเขาจะก้าวเข้าใกล้กับหายนะได้มากแค่ไหน

HOWARDS END (1992)
ประเทศ: อังกฤษ
ผู้กำกับ: เจมส์ ไอวอรี่

นิยายของ อี.เอ็ม. ฟอร์สเตอร์ เรื่อง Howards End ได้รับการดูแลระดับเฟิร์สคลาสอีกครั้งจากทีมผู้สร้าง A Room with a View และ Maurice อันประกอบไปด้วยผู้กำกับ เจมส์ ไอวอรี่ ผู้อำนวยการสร้าง อิสเมล เมอร์แชนท์ และคนเขียนบท รูธ พราเวอร์ จาบวาลา หนังเปิดเรื่องในปี 1910 เมื่อคุณนายวิลค็อกซ์ (วาเนสซ่า เรดเกรฟ) ได้พบกับ มาร์กาเร็ต ชเลเกิล (เอ็มม่า ธอมป์สัน) และนิยมชมชอบเธอถึงขนาดเขียนพินัยกรรมยกบ้าน โฮเวิร์ดส์ เอ็น ให้ก่อนตาย แต่ครอบครัววิลค็อกซ์กลับจงใจเผาพินัยกรรมฉบับนั้นทิ้ง แล้วตกลงกันว่าจะไม่พูดถึงมันอีกเลย อย่างไรก็ตามชะตากรรมกลับเล่นตลก มันค้นหาวิธีแก้ไขข้อผิดพลาดจนได้ เมื่อมาร์กาเร็ตกับคุณวิลค็อกซ์ (แอนโธนี่ย์ ฮ็อปกิ้นส์) เกิดตกหลุมรักกัน ก่อนเขาจะพาเธอกลับมาเป็นคุณนายประจำบ้าน โฮเวิร์ดส์ เอ็น ในที่สุด แต่นี่ไม่ใช่หนังเมโลดราม่าเกี่ยวกับการแย่งสมบัติ ตรงกันข้ามมันเป็นหนังที่วิพากษ์ถึงความแตกต่างทางชนชั้น และค่านิยมอันจอมปลอม ผ่านบทบาทของตัวละครที่ชื่อ ลีโอนาร์ด บาสต์ (แซม เวสต์) ชายหนุ่มยากจนที่ครอบครัวชเลเกิลต้องการจะช่วยเหลืออย่างยิ่ง โดยเฉพาะ เฮเลน (เฮเลน่า บอนแฮม คาร์เตอร์) น้องสาวหัวรุนแรงของมาร์กาเร็ต เช่นเดียวกับผลงานพีเรียดเรื่องอื่นๆของทีมเมอร์แชนท์/ไอวอรี่ งานสร้างทุกส่วนของหนังอยู่ในระดับสุดยอด แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าคือตัวละครทุกตัวล้วนได้รับน้ำหนักอย่างสมดุลจนเหมือนจริง มากกว่าจะเป็นเพียงแค่เครื่องมือของพล็อตเท่านั้น

LA BELLE NOISEUSE (1991)
ประเทศ: ฝรั่งเศส
ผู้กำกับ: ฌ๊าคส์ ริเวตต์

ขั้นตอนการสร้างสรรค์งานศิลปะกับขั้นตอนการรังสรรค์ชีวิตพุ่งเข้ามาปะทะกันอย่างน่าพิสมัยใน La Belle Noiseuse ภาพยนตร์ความยาวสี่ชั่วโมงที่โน้มน้าวผู้ชมให้ดื่มด่ำไปกับความสัมพันธ์ล้ำลึกระหว่างศิลปินกับนางแบบของเขาได้อย่างน่าทึ่งจนเราไม่รู้สึกว่าหนังน่าเบื่อเลยแม้แต่นาทีเดียว ศิลปินชราในเรื่องรับบทโดย มิเชล ปิกโกลี เขาไม่ได้วาดภาพมานานหลายปีแล้ว ในห้องทำงานของเขามีภาพเหมือนของภรรยา (เจน เบอร์กิ้น) ที่ยังวาดไม่เสร็จวางพิงผนังอยู่ดุจพยานหลักฐานของแรงปรารถนาอันมอดดับไปแล้วระหว่างพวกเขา ทั้งสองยังคงใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข แต่มันเป็นความรู้สึกแบบเข้าอกเข้าใจกันมากกว่าความโหยหาทางอารมณ์หรือทางเพศ วันหนึ่งชายหนุ่มผู้ชื่นชมในผลงานของศิลปินเฒ่าได้เดินทางมาพบเขากับภรรยาพร้อมกับแนะนำแฟนสาว (เอ็มมานูเอล แบร์ต) ให้พวกเขารู้จัก บางสิ่งบางอย่างในตัวเธอทำให้ศิลปินเฒ่ารู้สึกหวั่นไหว ดังนั้นเขาจึงขอให้เธอมาเป็นแบบให้ เธอตอบตกลง จากนั้นเกมแห่งการเย้ายวนอารมณ์ก็เริ่มต้นขึ้น ผู้กำกับ ฌ๊าคส์ ริเวตต์ เดิมพันครั้งสำคัญ (และประสพชัยชนะ) ด้วยการแสดงให้เห็นขั้นตอนการสเก๊ตภาพอย่างละเอียดลออจนทำให้เรามองเห็นความรู้สึกนึกคิดของศิลปินผ่านทางงานศิลปะ ขณะเดียวกันระหว่างที่ศิลปินกับนางแบบต่างทำการศึกษากันและกันอยู่นั้น ริเวตต์ก็ทำหน้าที่ศิลปิน โดยใช้จอหนังเป็นผืนผ้าใบ ถ่ายทอดภาพเหมือนของตัวละครทั้งสองให้คนดูได้ประจักษ์ถึงเนื้อแท้ได้อย่างงดงาม ยอดเยี่ยม

MOTHER AND SON (1997)
ประเทศ: รัสเซีย
ผู้กำกับ: อเล็กซานเดอร์ โซคูรอฟ

หนึ่งในภาพยนตร์ที่ดีที่สุดแห่งทศวรรษเรื่องนี้เรียกร้องความอดทนจากผู้ชมค่อนข้างสูง แต่กลับให้ผลตอบแทนคุ้มค่ามหาศาล ผู้กำกับ อเล็กซานเดอร์ โซคูรอฟ เล่าเรื่องของเขาอย่างเชื่องช้า แม้ว่ามันจะมีความยาวเพียง 73 นาทีเท่านั้น เขาเน้นย้ำภาพ long take และการเคลื่อนกล้องอันนิ่มนวล เนิบนาบ จนทำให้ผู้ชมรู้สึกเหมือนตัวเองได้หลุดเข้าไปในโลกแห่งความฝัน บีบบังคับพวกเขาให้สำรวจตรวจสอบทุกเฟรมภาพอย่างละเอียดและค้นหาจุดสนใจตามแต่พวกเขาต้องการ งานของโซคูรอฟถูกนำไปเปรียบเทียบกับผู้กำกับรัสเซีย อังเดร ทาร์คอฟสกี้ (Solaris) และผู้กำกับชาวกรีก ธีโอ แองเจโลพัวลอส แต่ความแตกต่างอันเด่นชัดของ Mother and Son กับผลงานของสองผู้กำกับข้างต้นก็คือความเรียบง่าย คมชัดของโครงเรื่องซึ่งปราศจากท่าทีก้ำกึ่ง ขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างแม่ (กูดรัน เกเยอร์) กับลูกชาย (อเล็กไซ อนานิชนอฟ) คนแรกกำลังจะตาย ส่วนคนหลังก็อุทิศตนดูแลเธออย่างเต็มใจ ฉากหลังคือกระท่อมในชนบท ดำเนินเหตุการณ์ภายในหนึ่งวันและแสดงให้เห็นภาพลูกชายหวีผมให้แม่ อ่านโปสการ์ดเก่าๆให้เธอฟัง ช่วยบรรเทาความเจ็บปวดให้เธอ พยุงเธอไปเดินเล่นในป่าและท้องทุ่ง บางครั้งพวกเขาก็ดูเหมือนคู่รักกันมากกว่าแม่ลูก ซึ่งหนังก็บอกกับเราเป็นนัยๆว่า หากมองในบางแง่ นั่นก็ไม่ผิดความจริงสักเท่าไหร่ หนังใช้เสียงและภาพสื่ออารมณ์ได้ราวกับบทกวี ไม่ว่าจะเป็นภาพก้อนเมฆดำทะมึนที่ค่อยๆเคลื่อนเข้ามาในเฟรม สายลมโบกสะบัดไปมาบนท้องทุ่ง และไอน้ำจากขบวนรถไฟในระยะไกล

ROSETTA (1999)
ประเทศ: เบลเยี่ยม
ผู้กำกับ: ฌอง-ปิแอร์ ดาร์แดนน์, ลุค ดาร์แดนน์

การกลับมาอีกครั้งของสองพี่น้องนักทำหนังสารคดี ฌอง-ปิแอร์ ดาร์แดนน์ กับ ลุค ดาร์แดนน์ ที่สร้างชื่อเสียงตามเทศกาลหนังมาก่อนหน้านี้จาก La Promesse โดยคราวนี้พวกเขาเปลี่ยนมาสะท้อนภาพชีวิตของเด็กสาววัยรุ่นที่โกรธขึ้งกับโลกทั้งใบแทน หนังเปิดเรื่องในฉากที่ โรเซตต้า (เอมิลี เดอกวาน) ถูกไล่ออกจากงานชั่วคราวในโรงงาน เธอโมโหจนหน้ามืดและชกหน้าเจ้านาย ก่อนต่อมาจะถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายคนเข้ามาช่วยกันลากตัวออกไปข้างนอก โรเซตต้าต้องการจะมีงานทำเหนือสิ่งอื่นใด เธอยินดีจะทำทุกอย่างเพื่อให้ฝันนั้นกลายเป็นจริงขึ้นมาได้ เธอต้องการหนีไปให้พ้นจากแม่ขี้เหล้า (แอนน์ แยโนซ์) ซึ่งอาศัยอยู่ในรถเทรลเลอร์ผุๆคันหนึ่ง เธอหารายได้ด้วยการนำเสื้อผ้าเก่าๆไปขาย เธอหาอาหารด้วยการไปตกปลาแถวลำน้ำข้างบ้าน เธอเป็นเพื่อนกับ ริเกต์ (ฟาบริซิโอ รงชียอง) เด็กหนุ่มวัยเดียวกันที่แอบชอบเธอและทำงานอยู่ในร้านขายวัฟเฟิลเคลื่อนที่ เธอเองก็ชอบพอเขาอยู่เหมือนกัน แต่ก็ไม่ปฏิเสธว่าเธออยากได้งานของเขาด้วย หนังทรงพลังจากการที่มันไม่พยายามจะเรียกร้องความเห็นใจจากผู้ชมจนออกนอกหน้า หรือพยายามจะวาดภาพโรเซตต้าให้เป็นตัวละครเปี่ยมสีสัน หรือน่าสงสารเป็นพิเศษ สองผู้กำกับดึงคนดูให้เข้าไปมีส่วนร่วมในโลกของโรเซตต้าด้วยการใช้กล้องแบบมือถือถ่าย ติดตามเธอในระยะประชิดไปตลอดราวกับเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายเธอเพื่อให้เราเข้าใจในความมุ่งมั่น เกรี้ยวกราดของเธอ

SATAN’S TANGO (1994)
ประเทศ: เยอรมัน/ฮังการี/สวิสเซอร์แลนด์
ผู้กำกับ: เบล่า ทาร์

ผลงานกำกับของ เบล่า ทาร์ เรื่องนี้โด่งดังขึ้นมาเนื่องจากมันเป็นภาพยนตร์ที่มีความยาวถึง 7 ชั่วโมง แต่นั่นย่อมไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้มันได้รับการยกย่องให้เป็นงานศิลปะชั้นเยี่ยมแห่งทศวรรษอย่างแน่นอน Satan’s Tango ดัดแปลงมาจากนิยายชื่อเดียวกันของนักเขียนชาวฮังกาเรียน ลาสซโล คราสนาฮอร์คาอิ และถูกแบ่งออกเป็น 12 ตอนเหมือนกับนิยาย โดยตั้งสมมุติฐานเบื้องต้นผ่านอุปมาที่ว่า สังคมก็เช่นเดียวกับการเต้นแทงโก้ ต้องมีการก้าวถอยหลังหกก้าวในทุกครั้งที่ก้าวไปข้างหน้าหกก้าว หนังเปรียบเสมือนภาพรวมของเหตุการณ์มากกว่าจะมีพล็อตเรื่องเชื่อมโยงเป็นขั้นเป็นตอน หนังใช้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านแห่งหนึ่งแทนภาพจำลองของพัฒนการทางด้านการเมืองในประเทศฮังการี ความยาวระดับสุดยอดของหนังทำให้ทาร์มีโอกาสแสดงถึงแรงจูงใจ กลอุบาย และการควบคุมเบื้องหลังปรากฏการณ์ทางการเมืองได้อย่างสมบูรณ์แบบ ซีเควนซ์ที่ดีที่สุดของหนังสองซีเควนซ์คือ ตอนที่เล่าถึงคุณหมอขี้เมาร่างอ้วนนั่งสำรวจความเป็นไปของเพื่อนบ้านเป็นงานอดิเรก จนกระทั่งเมื่อเหล้าหมด เขาจึงถูกบังคับให้ต้องไปซื้อเหล้าอีกขวดท่ามกลางพายุฝนโหมกระหน่ำ และตอนที่เด็กหญิงอายุ 10 ขวบกรอกยาพิษให้แมวของเธอกิน ก่อนจะฆ่าตัวตายตาม หนังสะท้อนให้เห็นว่ากระแสความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองนั้นเป็นเสมือนเรื่องตลกขบขัน การปฏิวัติสุดท้ายแล้วก็ไม่ได้นำอะไรแปลกใหม่มาให้กับสังคมเลย นอกจากนั้นหนังยังบอกอีกด้วยว่าชนชั้นแรงงานโหยหาการถูกควบคุม กำกับ เพราะนั่นทำให้ชีวิตของพวกเขามีความหมายขึ้นมาได้

TALES OF FOUR SEASONS: AUTUMN TALE (1998)
ประเทศ: ฝรั่งเศส
ผู้กำกับ: อีริค โรห์แมร์

มันเป็นเรื่องยากที่จะไม่ตกหลุมรักตัวละครอย่าง มากาลี (บิอาทริซ โรมันด์) สาววัยกลางคนที่ไม่ชอบแต่งหน้า ทำผม และสวมกางเกงยีนกับเสื้อเชิ้ต เธอเป็นเจ้าของไร่องุ่นทางตอนใต้ของฝรั่งเศส เป็นแม่ม่ายลูกสอง ชายหนึ่ง หญิงหนึ่ง พวกเขาเติบโตกันไปหมดแล้ว เธอรักชีวิตและไร่องุ่นของเธอ แต่บางครั้งเธอเองก็รู้สึกเปลี่ยวเหงาเช่นกัน เพื่อนของเธอ อิสซาเบลล์ (มารี ริเวียเร่) แนะนำให้เธอลงโฆษณาหาคู่ แต่มากาลีขอตายเสียยังจะดีกว่า ดังนั้นอิสซาเบลล์จึงจัดแจงลงโฆษณาและคัดสรรหนุ่มๆเสียเองโดยไม่ให้เจ้าตัวรู้ ส่วนลูกชายของมากาลีก็มีแฟนสาวอยู่คนหนึ่งชื่อ โรซีน (อเล็กเซีย พอร์ทอล) ซึ่งชื่นชอบคุณแม่ลูกสองมากๆ เธอเคยออกเดทกับอาจารย์สอนปรัชญาชื่อ เอเตียง (ดิเดียร์ แซนเดอร์) และคิดว่าเขาเหมาะสมกับมากาลีอย่างกับกิ่งทองใบหยก ดังนั้นในงานเลี้ยงแห่งหนึ่งมากาลีจึงกำลังจะได้พบกับการผจญภัยสุดแสนโรแมนติกกับผู้ชายสองคนที่เธอไม่เคยรู้ว่ามีตัวตนอยู่ในโลกมาก่อน จนกระทั่งคืนนั้น หนังอุดมไปด้วยการเข้าใจผิดและความซับซ้อนของสถานการณ์เฉกเช่นหนังโรแมนติกทั่วไป แต่ผู้กำกับ อีริค โรห์แมร์ นำเสนอมันอย่างเรียบง่าย ไม่เน้นย้ำ จนผู้ชมรู้สึกเหมือนกำลังชมเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันอยู่ เขาสร้างความตื่นเต้นและกระตุ้นคนดูให้ลุ้นเอาใจช่วยตัวละครได้อย่างเต็มที่ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่เปิดเผยผลลัพธ์ให้เราคาดเดาได้ง่ายๆเหมือนในหนังฮอลลิวู้ด เราไม่มั่นใจว่ามากาลีจะลงเอยกับใคร หรือไม่ อย่างไร และย่างก้าวที่ผิดพลาดเพียงก้าวเดียวก็อาจทำให้เธอต้องอยู่คนเดียวในไร่องุ่นไปตลอดชีวิตเลยก็ได้

THREE COLORS: RED (1994)
ประเทศ: ฝรั่งเศส/โปแลนด์/สวิสเซอร์แลนด์
ผู้กำกับ: คริสตอฟ คีส์โลวสกี้

การเชื่อมโยง ซ้อนทับกันคือธีมสำคัญของบทสรุปแห่งหนังไตรภาคชุดนี้ ซึ่งได้สะท้อนออกมาอย่างชัดเจนผ่านโครงเรื่องอันละเอียดอ่อนเกี่ยวกับ วาเลนทีน (ไอรีน จาค็อบ) นักศึกษามหาวิทยาลัยที่หารายได้พิเศษด้วยการเดินแบบ ถ่ายแบบอยู่ในกรุงเจนีวา เธอกำลังมีปัญหาระหองระแหงกับแฟนหนุ่มในกรุงลอนดอนซึ่งส่วนใหญ่จะติดต่อกันผ่านทางโทรศัพท์ แต่แล้วชีวิตของวาเลนทีนก็กำลังจะผกผันไปอย่างคาดไม่ถึงเมื่อวันหนึ่งเธอเกิดขับรถไปชนสุนัขของ โจเซฟ (ฌอง-หลุยส์ แทรงตีญอง) เข้า เขาเป็นผู้พิพากษาเกษียณอายุที่ชอบแอบดักฟังโทรศัพท์ของเพื่อนบ้าน โจเซฟมีอดีตรักอันขมขื่นที่คล้องจองอย่างประหลาดกับเรื่องราวในปัจจุบันของ ออกุสต์ (ฌอง-ปิแอร์ โลรีต์) ชายหนุ่มซึ่งอาศัยอยู่ในละแวกเดียวกันกับวาเลนทีน ทั้งสองเดินสวนกันเป็นครั้งคราวตามท้องถนนแต่ไม่เคยพบปะหรือพูดจากัน จนกระทั่งในตอนท้ายเรื่อง เมื่อความบังเอิญชักนำชีวิตของพวกเขาให้เวียนมาบรรจบกันบนเรือเฟอร์รี่ที่ถูกพายุโหมกระหน่ำจนอับปาง โดยกลุ่มผู้รอดชีวิตอีกสี่คนที่เหลือนั้นได้แก่ จูลี่กับโอลิเวียร์ (Blue) และ คารอลกับโดมินิค (White) Red เป็นผลงานที่ลุ่มลึกในแง่ของการเล่าเรื่อง สไตล์การนำเสนอ และวิธีสื่อสัญลักษณ์อันแนบเนียน นอกจากนั้นมันยังมีเนื้อหามุ่งจรรโลงสังคม ผ่านพฤติกรรมของตัวละครซึ่งเปี่ยมไปด้วยเมตตาและความเห็นอกเห็นใจในเพื่อนมนุษย์ด้วยกันอย่างวาเลนทีนกับโจเซฟ อีกด้วย

TRAINSPOTTING (1996)
ประเทศ: อังกฤษ
ผู้กำกับ: แดนนี่ บอยล์

ผลงานภาพยนตร์เรื่องนี้เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังสดใหม่ ความคิดสร้างสรรค์ และทัศนคติเชิงปฏิวัติอันรุนแรง เข้มข้นเสียจนทำให้ผู้กำกับ แดนนี่ บอยล์ ถูกขนานนามให้เป็น เควนติน ตารันติโน แห่งเกาะอังกฤษ หนังดัดแปลงมาจากนิยายของ เออร์วิน เวลช์ เล่าถึงเรื่องราวชีวิตอันไร้แก่นสารของ มาร์ค เรนตัน (อีวาน แม็คเกรเกอร์) กับผองเพื่อนขี้ยาของเขาผู้ ‘เลือก’ ที่จะปฏิเสธธรรมเนียมปฏิบัติทางสังคมในการหางานทำเป็นหลักแหล่ง ซื้อรถ ซื้อบ้าน และสร้างครอบครัว ดังนั้นมาร์คกับเพื่อนๆจึงใช้เวลาในแต่ละวันหมดไปกับการเสพย์เฮโรอีน เตร็ดเตร่ตามบาร์เหล้า และเล่นเซ็กซ์กับแฟนสาวคู่ขา พวกเขายังชีพอยู่ได้ด้วยเงินสวัสดิการของรัฐและของพ่อแม่ แต่หากวันใดเงินเกิดขาดมือขึ้นมา พวกเขาก็ไม่ลังเลที่จะก่ออาชญากรรมเล็กๆน้อยๆ เช่น ปล้นร้านขายของชำ เป็นต้น นอกจากความรุ่มรวยอารมณ์ขัน ตัวละครอันเปี่ยมชีวิตชีวา และเทคนิคภาพยนตร์ที่แพรวพราว จัดจ้านแล้ว (ฉากที่ทุกคนคงจำได้ติดตาคือตอนที่มาร์คมุดลงไปในโถส้วมที่สกปรกที่สุดของอังกฤษ) จุดเด่นอีกประการของหนังอยู่ตรงที่มันไม่ได้วาดภาพพวกขี้ยาในฐานะเหยื่อความผิดพลาดทางสังคม หรือการล่มสลายของสถาบันครอบครัว ตรงกันข้ามเป้าล้อเลียน เสียดสีกลับตกอยู่ที่วิถีชีวิตของเหล่ายัปปี้ในสังคมวัตถุนิยมผู้ยินดีจะเดินตามเส้นที่ขีดล้อมกรอบเอาไว้อย่างเต็มใจ โดยไม่แม้แต่จะหยุดคิดหรือตั้งคำถามต่อคุณค่าอันแท้จริงของสิ่งที่พวกเขากำลังทำอยู่

UN COEUR EN HIVER (1992)
ประเทศ: ฝรั่งเศส
ผู้กำกับ: คล็อด โซเตต์

มนุษย์บางคนถูกสร้างขึ้นมาให้รักใครไม่เป็น และความรักซึ่งหลายครั้งมีคุณสมบัติในการรักษาความเจ็บปวดมากมาย ก็ไม่อาจเติมเต็มช่องว่างดังกล่าวได้ Un Coeur En Hiver (A Heart in Winter) คือเรื่องราวของมนุษย์แบบนั้น เขามีชื่อว่า สเตฟาน (เดเนี่ยล ออตูล์) ผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างและซ่อมไวโอลินจนบรรดานักไวโอลินชื่อก้องโลกจำนวนมากต้องเดินทางมาขอคำแนะนำจากเขาในกรุงปารีส สเตฟานทำงานให้กับ แม็กซิม (อองเดร ดุสโซลีเยร์) เจ้านายที่เขาชื่นชมและยกย่องในแง่ทักษะการเข้าสังคม สเตฟานพึ่งพิงแม็กซิมสำหรับเป็นเกราะป้องกันเขาจากโลกภายนอก จนกระทั่งวันหนึ่งแม็กซิมก็ประกาศว่าเขากำลังตกหลงรักลูกค้าสาวนางหนึ่งอยู่ เธอเป็นนักไวโอลินผู้เปี่ยมพรสวรรค์ชื่อ คามิลล์ (เอ็มมานูเอล แบร์ต) เขาจริงจังกับเธอถึงขนาดตกลงหย่าขาดจากภรรยาเพื่อจะลงหลักปักฐานกับเธอ แต่แล้วเมื่อคามิลล์ได้พบกับสเตฟาน ทั้งสองก็รู้สึกได้ถึงประกายไฟแห่งแรงปรารถนา ฝ่ายชายพยายามต่อสู้เพื่อต้านทานมันสุดชีวิต ส่วนฝ่ายหญิงกลับยอมแพ้ต่อเสียงเรียกร้องของหัวใจ ความละเอียดอ่อนทางอารมณ์ที่ผู้กำกับ คล็อด โซเตต์ สอดแทรกเข้ามาทำให้หนังโรแมนซ์ของฮอลลิวู้ดกลายเป็นผลงานจอมปลอม เขาเสริมแต่งตัวละครด้วยความซับซ้อนหลายชั้น ซึ่งบางครั้งก็ยากจะหาคำอธิบายไม่ต่างจากชีวิตจริงในโลกนี้ เช่นความรู้สึกของสเตฟานว่ากิจวัตรและงานของเขามีค่าเกินกว่าจะนำไปเสี่ยงกับความรัก ตัวละครในหนังของโซเตต์ดูเป็นผู้ใหญ่กว่าในหนังฮอลลิวู้ดเพราะพวกเขาไม่ได้มองความรักหรือเซ็กซ์ในแง่รางวัลแห่งชัยชนะ หากแต่เป็นความท้าทายและการรับผิดชอบ

UNDERGROUND (1995)
ประเทศ: บอสเนีย-เฮอร์เซโกวีน่า
ผู้กำกับ: อีเมีย คูสตูริก้า

หลังจากโบกมือลาไปนานห้าปี ในที่สุดผู้กำกับที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของอดีตประเทศยูโกสลาเวีย อีเมีย คูสตูริก้า ก็เดินทางกลับบ้านเกิดอีกครั้งเพื่อถ่ายทำหนังมหากาพย์เรื่องเยี่ยม Underground ที่ต่อมาได้คว้ารางวัลสูงสุดจากคานส์มาครอง หนังครอบคลุมช่วงเวลาตั้งแต่ปี 1941 เมื่อเยอรมันบุกมาทิ้งระเบิด ไปจนถึงปี 1992 เมื่อยูโกสลาเวียกลายเป็นจุดศูนย์กลางของสงครามอีกครั้ง โฟกัสอยู่ตรงมิตรภาพระหว่างเพื่อนชายสองคนคือ แบล็คกี้ (ลาซาร์ ริสตอฟสกี้) กับ มาร์โก้ (มิกิ มาโนโลวิค) ซึ่งต่างก็เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ทั้งคู่ พวกเขาร่วมรบในสงครามขับไล่นาซีและตกหลุมรักผู้หญิงคนเดียวกันนั่นคือ เวร่า (เมียร์จาน่า คาราโนวิค) นักแสดงสาวสวยที่เข้ามาสร้างรอยร้าวระหว่างเพื่อนทั้งสอง ความต้องการจะครอบครองเวร่าไว้แต่เพียงผู้เดียวทำให้มาร์โก้ล่อหลอกแบล็คกี้กับเพื่อนกลุ่มหนึ่งให้เข้าไปหลบภัยอยู่ในห้องใต้ดินของบ้านเขา ส่วนเขาก็แต่งงานกับเวร่าแล้วไต่เต้าจนกลายเป็นผู้นำระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์ หลายปีผ่านไปแบล็คกี้กับพวกพ้องยังคงใช้ชีวิตอยู่ในห้องใต้ดินด้วยความเชื่อว่าสงครามยังไม่สิ้นสุด เนื่องจากเสียงเทปบันทึกไซเรนเตือนการทิ้งระเบิดที่มาร์โก้ตั้งเอาไว้ให้เล่นซ้ำไปซ้ำมา ฉากที่ชวนให้สะเทือนใจจนยากจะลืมคือเมื่อแบล็คกี้มีโอกาสกลับขึ้นมาเห็นแสงตะวันอีกครั้งแล้วทราบว่าปัจจุบันไม่มีประเทศยูโกสลาเวียอีกต่อไปแล้ว ส่วนประโยคที่สามารถสรุปโศกนาฏกรรมแห่งยูโกสลาเวียเอาไว้ได้อย่างชัดเจนที่สุดคือ “ไม่มีสงครามใดเกิดขึ้นตราบกระทั่งพี่กับน้องต้องมาฆ่าฟันกันเอง” คูสตูริก้าเข้าใจและสะท้อนผลกระทบแห่งสงครามออกมาได้อย่างลึกซึ้ง หลายครั้งมันเปี่ยมไปด้วยอารมณ์ขัน ดูเหนือจริง ก่อนจบปิดฉากลงด้วยความหวังและการมองโลกในแง่ดี

ไม่มีความคิดเห็น: