วันพฤหัสบดี, กันยายน 08, 2559

Eye in the Sky: วิกฤติแห่งศีลธรรม



ในสถานการณ์สมมุติที่นักปรัชญานิยมยกเป็นตัวอย่างเพื่อถกเถียงถึงความซับซ้อนทางศีลธรรม คุณเป็นคนขับรถรางที่บึ่งมาด้วยความเร็ว แต่ข้างหน้ามีคนงาน 5 คนกำลังยืนขวางรางอยู่ รถไม่สามารถหยุดได้เพราะเบรกแตก คุณรู้แน่ว่าถ้ารถรางชนคนงาน พวกเขาทั้งหมดต้องตาย ทันใดนั้นคุณก็เหลือบไปเห็นทางเบี่ยงเลี้ยวขวา บนรางมีคนงานยืนอยู่เหมือนกันแต่แค่คนเดียว ถ้าคุณหมุนพวงมาลัย คนงานก็จะตายแค่คนเดียว แต่ช่วยชีวิตคนงานอีก 5 คนได้ คุณจะทำอย่างไร

แน่นอนคนส่วนใหญ่คงตอบอย่างไม่ลังเลว่า เราควรหักรถรางให้เลี้ยวไปทางขวา เพราะการฆ่าคนบริสุทธิ์หนึ่งคนนั้นถือเป็นเรื่องน่าเศร้าก็จริง แต่การฆ่าคนบริสุทธิ์ถึง 5 คนร้ายแรงกว่ามาก

ทีนี้ถ้าลองเปลี่ยนสถานการณ์ว่าคุณไม่ใช่คนขับรถราง เป็นแค่คนเห็นเหตุการณ์ที่ยืนอยู่บนสะพานเหนือราง คนงาน 5 คนกำลังจะตาย ไม่มีทางเบี่ยง ไม่มีทางหลีกเลี่ยง นอกจากคุณจะผลักชายร่างใหญ่บนสะพานลงไปขวางรถราง แล้วคร่าชีวิตชายผู้นั้น แต่ช่วยชีวิตคนงาน 5 คนให้รอดตายได้ (คุณพินิจพิเคราะห์แล้วว่าคุณตัวเล็กเกินกว่าจะโดดลงไปขวางรถรางเองได้) กรณีนี้คนส่วนใหญ่คงเลือกที่จะไม่ผลักชายร่างใหญ่ลงไปขวางรถราง แม้ว่ามันจะให้ผลลัพธ์แบบเดียวกันกับกรณีแรก คือ สละชีวิตคนหนึ่งคนเพื่อช่วยคน 5 คน เพราะพวกเขามองว่าการผลักคนลงไปตายเพื่อช่วยชีวิตคน 5 คนเป็นเรื่องโหดเหี้ยม ไร้ศีลธรรม ทำไมการแลกหนึ่งชีวิตเพื่อช่วย 5 ชีวิตในกรณีแรกถึงไม่ร้ายแรงเท่ากับกรณีหลัง ถ้าตัวเลขเป็นเรื่องสำคัญ การช่วยชีวิตคนได้ถึง 5 คน แล้วสละชีวิตคนแค่คนเดียวก็น่าจะดีกว่าไม่ใช่หรือ ทำไมการฆ่าคนด้วยการขับรถรางไปชนถึงให้ความรู้สึกโหดเหี้ยมน้อยกว่าการผลักคนลงไปขวางรถราง

แล้วถ้าเปลี่ยนเป็นว่าคุณไม่จำเป็นต้องผลัก แต่บังเอิญชายร่างใหญ่ยืนอยู่บนประตูลับที่สามารถเปิดให้คนบนสะพานหล่นลงไปขวางรางได้พอดี คุณจะเลือกกดปุ่มเปิดประตูไหม การทำแบบนี้คุณจะ รู้สึกผิดน้อยลงไหม หรือว่าในแง่ศีลธรรมมันก็ยังแย่กว่าการบิดพวงมาลัยไปยังทางเบี่ยง

ความสับสนที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะตัวอย่างข้างต้นสะท้อนหลักการทางศีลธรรมที่ขัดแย้งกันเอง โดยมุมหนึ่งสามัญสำนึกบอกว่าเราควรช่วยชีวิตคนให้ได้มากที่สุด แต่อีกมุมหนึ่งก็บอกว่าการฆ่าคนบริสุทธิ์เป็นเรื่องผิด แม้จะมีเหตุผลที่ดีก็ตาม สุดท้ายเราแล้วจำเป็นต้องชั่งน้ำหนักในแต่ละสถานการณ์ว่าทางเลือกใดเหมาะสมที่สุด

ความลำบากใจอันเกิดจากหลักการทางศีลธรรมที่ขัดแย้งกันถูกนำมาใช้เป็นโจทย์เพื่อตั้งคำถามต่อความชอบธรรมของนโยบายที่เรียกกันว่าสงครามต่อต้านการก่อการร้ายในภาพยนตร์แนวระทึกขวัญเรื่อง Eye in the Sky โดยหนึ่งชีวิตผู้บริสุทธิ์ในที่นี้ คือ อาเลีย (ไอชา ทาโคว์) เด็กหญิงชาวเคนยาที่ออกมาขายขนมปังได้ผิดที่ผิดเวลา จนนำไปสู่การตัดสินใจอันยากลำบากในลักษณะเดียวกับการตัดสินใจว่าคุณจะเลือกกดปุ่มเพื่อให้ชายร่างใหญ่หล่นลงไปขวางรถรางหรือไม่

แรกเริ่มเดิมทีปฏิบัติการของผู้พันแคทเธอรีน พาวเวลล์ (เฮเลน เมียร์เรน) ที่กรุงไนโรบีมีจุดมุ่งหมายเพื่อตามจับกุมสองผู้ต้องหาก่อการร้ายคนสำคัญในกลุ่มอัล-ชาบับ รายหนึ่งเป็นชายหนุ่มชาวโซมาเลีย อับดุลลาห์ อัล ฮาดี (เดค ฮัสซัน) ส่วนอีกรายเป็นภรรยาเขาชาวอังกฤษ ซูซาน แดนฟอร์ด (เล็กซ์ คิง) ทั้งคู่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดฆ่าตัวตายในห้างสรรพสินค้ากลางกรุงไนโรบี ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตหลายสิบคน หน่วยข่าวกรองของอังกฤษสืบทราบว่าจะมีการนัดพบลับๆ ของกลุ่มอัล-ชาบับ ซึ่งสองสามีภรรยาจะส่งมอบสองสมาชิกใหม่ คนหนึ่งเป็นชาวอเมริกัน อีกคนเป็นชาวอังกฤษ ไปเข้ากลุ่ม เป้าหมายของพาวเวลล์ คือ บุกเข้าล้อมจับกุมทุกคนในบ้านหลังนั้น โดยมีโดรนจู่โจมเป็นหูเป็นตาอยู่บนท้องฟ้า แต่เนื่องจากแดนฟอร์ดกับอัล ฮาดีอยู่ท่ามกลางกลุ่มกองกำลังติดอาวุธ การบุกล้อมจับจะนำไปสู่การยิงปะทะและสูญเสียชีวิต ดังนั้นพาวเวลล์กับนายพลแฟรงค์ เบนสัน (อลัน ริคแมน) จึงเห็นชอบให้ใช้ขีปนาวุธยิงถล่ม แต่ที่ประชุมบอร์ดของรัฐบาลไม่เห็นด้วย พวกเขายืนกรานให้ดำเนินการตามภารกิจดั้งเดิม นั่นคือ จับเป็น

หมดยกแรกฝ่ายสิทธิมนุษยชนเอาชนะคะแนนไปอย่างเด็ดขาด แต่ยกถัดมาสถานการณ์กลับพลิกผันในชั่วพริบตา เมื่อเดิมพันพุ่งสูงขึ้นเป็นเท่าตัว หลังกล้องโดรนตัวจิ๋วเผยให้เห็นเหตุการณ์ภายในบ้านว่าคนกลุ่มนี้กำลังวางแผนจะก่อเหตุด้วยระเบิดฆ่าตัวตาย ซึ่งหากทำสำเร็จประชาชนผู้บริสุทธิ์จำนวนมากจะต้องรับเคราะห์ การยึดมั่นในหลักการที่ว่า “รัฐบาลอังกฤษไม่เคยใช้โดรนโจมตีในประเทศที่สงบสุขเริ่มสั่นคลอนจากข้อเท็จจริงว่าหากคนร้ายแยกขึ้นรถสองคัน โดรนซึ่งมีอยู่มีลำเดียวจำเป็นต้องเลือกตามรถแค่คันเดียว และหากเลือกผิดก็อาจทำให้การก่อวินาศกรรมครั้งสำคัญประสบผลสำเร็จ ขณะเดียวกันถ้าให้กองทหารบุกเข้าสกัดก็อาจนำไปสู่ความสูญเสียที่ไม่จำเป็นถึงจุดนี้ดูเหมือนกองทัพจะเปลี่ยนมาถือไพ่เหนือกว่า และคว้าชัยไปครองในที่สุดเมื่อรัฐมนตรีต่างประเทศเห็นชอบให้เปลี่ยนภารกิจจับเป็นเป็นจับตาย

ย้อนกลับไปยังโจทย์สมมุติเกี่ยวกับรถราง ถ้าหากเราทราบว่าชายร่างใหญ่บนสะพานเป็นคนบงการให้รถรางเบรกแตก เพราะคนงานทั้ง 5 เป็นศัตรูที่เขาต้องการกำจัด หรือเปรียบง่ายๆ ว่าถ้าชายร่างใหญ่เป็นทหารนาซี และคนงานเป็นฝ่ายต่อต้านนาซี อย่างนี้แล้วเหตุผลในการผลักเขาให้รถรางทับตายเพื่อช่วยชีวิตคนงานจะพลันหนักแน่นขึ้นหรือไม่ เพราะบางทีการที่เราคาดเดาอันตรายได้ล่วงหน้า แต่ยังเลือกไม่ฆ่าคนจำนวนน้อยเพื่อช่วยชีวิตคนจำนวนมากก็อาจนำไปสู่หายนะดังเช่นที่ปรากฏในหนังเรื่อง Lone Survivor ซึ่งสร้างจากเหตุการณ์จริงของ มาร์คัส ลัตเทรลล์ (มาร์ค วอห์ลเบิร์ก) ทหารหน่วยซีลที่ไม่อาจตัดใจฆ่าชายเลี้ยงแพะไร้อาวุธสามคนได้ ส่งผลให้เพื่อนทหารเกือบ 20 คนต้องเสียชีวิตในเวลาต่อมาด้วยน้ำมือของนักรบตาลีบัน ถ้ามาร์คัส รู้แน่ ว่าจะเกิดหายนะเยี่ยงนี้ หรือถ้าเขารู้แน่ว่าชายเลี้ยงแพะเป็นสายของตาลีบัน เขายังจะตัดสินใจแบบเดิมอยู่ไหม มโนธรรมและความหวังว่าชายเลี้ยงแพะอาจเดินกลับไปโดยไม่แจ้งข้อมูลให้ตาลีบัน หรือต่อให้ตาลีบันได้ข้อมูล พวกเขาก็อาจสามารถหนีรอดออกมาได้อย่างปลอดภัย ทำให้มาร์คัสไม่อาจตัดใจฆ่าชายเลี้ยงแพะได้

ชายเลี้ยงแพะใน Lone Survivor ก็คล้ายคลึงกับเด็กหญิงขายขนมปังใน Eye in the Sky ต่างกันแค่คนดูรู้แน่ว่าเด็กหญิงเป็นผู้บริสุทธิ์ ถ้าแองเจลา (โมนิกา โดแลน) สมาชิกเพียงคนเดียวในห้องประชุมที่คัดค้านการใช้ขีปนาวุธอย่างเต็มที่ รู้แน่ว่ากลุ่มก่อการร้ายจะทำการสำเร็จตามที่กองทัพคาดเดา เธอจะยังยืนกรานคัดค้านการใช้ขีปนาวุธอยู่ไหม

ฉันเลือกจะโทษอัล-ชาบับว่าฆ่าเหยื่อ 80 คนแทนการแก้ต่างกองทัพในเหตุยิงระเบิดที่คร่าชีวิตเด็กผู้บริสุทธิ์ เธอให้เหตุผล แต่ทัศนคติดังกล่าวดูจะไม่ได้รับความเห็นชอบจากกองทัพอังกฤษ หรือกระทั่งนักการเมืองจากฝั่งอเมริกาดังจะเห็นได้จากความหงุดหงิดในน้ำเสียงของรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ เมื่อทราบว่า เรื่องแค่นี้ กลับกลายเป็นประเด็นถึงขั้นต้องโทรมารบกวนเพื่อขอคำอนุมัติจากเขา (หนึ่งในเหยื่อเป็นพลเมืองอเมริกัน) เช่นเดียวกับที่ปรึกษาอาวุโสด้านกฎหมายในสภาความมั่นคงแห่งชาติ (ไลลา โรบินส์) ซึ่งยืนกรานให้จู่โจม แม้กระทั่งหลังความจริงปรากฏว่าชายร่างใหญ่ (ซึ่งเป็นคนเลว) ผูกเชือกติดอยู่กับเด็กหญิงขายขนมปัง และหากผลักเขา หรือกดปุ่มให้เขาร่วงหล่นลงไปขวางรถราง เด็กหญิงก็จะตายตกตามกันไปด้วย คนในทำเนียบขาวคงหัวเสีย รวมถึงที่เพนตากอนและอีกหลายแห่งในโลก ถ้าคุณปล่อยพวกเขาให้ไประเบิดห้างฯ เป็นจุล คำตอบของเธอสอดคล้องกับความเห็นของนายพลเบนสันที่ว่า เด็กหญิงอีกหลายสิบอาจสังเวยชีวิตถ้าคุณกลุ่มนี้รอดไปได้ คำถามที่เขาตั้งเป็นโจทย์ขึ้นมา คือ เพียงเพราะคนที่จะโดนลูกหลงเป็นเด็กหญิงตัวเล็กๆ ไม่รู้อิโหน่อิเหน่หรือเปล่า พวกเขาถึงได้ลำบากใจมากขนาดนี้ ถ้าเหยื่อเป็นชายฉกรรจ์ร่างโต แต่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่เช่นกัน พวกเขาจะยังลำบากใจมากขนาดนี้ไหม หรือนั่นจะทำให้การตัดสินใจใช้ขีปนาวุธง่ายดายขึ้น
  
ความน่าสนใจของ Eye in the Sky อยู่ตรงที่หนังรักษาสมดุลก้ำกึ่งทางศีลธรรมเอาไว้โดยตลอด หาได้โน้มเอียงเข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเป็นพิเศษ ตัวละครอย่างแองเจลาอาจเป็นเสียงของเหตุผล สามัญสำนึก ท่ามกลางบุคลิกบ้าเลือด นิยมความรุนแรงในกองทัพซึ่งยอมทำทุกทางเพื่อกำจัดศัตรูโดยไม่คำนึงถึงชีวิตคนเล็กคนน้อย แต่ในเวลาเดียวกันก็อาจจะเป็นเสียงของอุดมการณ์เพ้อฝัน ที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานความจริงอันโหดร้าย เธอกล่าวหานายพลเบนสันว่าไม่เห็นคุณค่าของชีวิต แล้วตัดสินชี้เป็นชี้ตายคนจากในห้องที่ปลอดภัย หาใช่สมรภูมิรบ แต่เขาตอกกลับว่าเธอต่างหากที่นั่งอยู่บนหอคอยงาช้าง วิพากษ์วิจารณ์คนทำงานด้วยมุมมอง “โลกสวยขณะที่ตัวเองไม่กล้าพอจะลงมาคลุกฝุ่นดินโคลน แล้วตัดสินใจในเรื่องที่ยากลำบาก แต่จำเป็นต้องทำอย่าพูดกับทหารเหมือนเขาไม่รู้ราคาที่ต้องจ่ายของสงครามเขาสรุปตบท้ายก่อนจะเดินออกจากห้อง

หนังเหมือนจะสอดแทรกแง่มุมมนุษย์ให้กับนายพลเบนสันด้วยฉากที่เขาต้องไปเลือกซื้อตุ๊กตาให้ลูกสาว มันพิสูจน์ให้เห็นว่าถึงแม้เขาจะมี ความเป็นทหาร ในสายเลือดเวลาทำงาน แต่ที่บ้านเขาก็ยังเป็นพ่อคนหนึ่ง แม้ว่าในเวลาเดียวกันมันจะเน้นย้ำให้เห็นความแตกต่างทางชนชั้นและสังคมของสองครอบครัวอังกฤษกับเคนยา พ่อคนหนึ่งสามารถเดินช็อปปิ้งซื้อของได้อย่างสุขสบาย ส่วนพ่ออีกคนต้องดิ้นรนเอาตัวรอดท่ามกลางสภาพแวดล้อมอันโหดร้าย

นายพลเบนสันอาจตระหนักถึงราคาที่ต้องจ่ายของสงคราม ความสูญเสียซึ่งไม่อาจหลีกเลี่ยงเพื่อแลกมากับ ชัยชนะ หรือการบรรลุเป้าหมาย แต่เขาไม่ทันตระหนักว่าความอยุติธรรมเป็นเชื้อที่บ่มเพาะให้เกิดความคับแค้น แล้วระเบิดออกมาเป็นความรุนแรงในที่สุด นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมการตอบโต้กลุ่มก่อการร้ายด้วยขีปนาวุธ การจับกุมผู้ต้องสงสัยมาทรมาน ทำสงคราม ลอบสังหาร รวมไปถึงสิ่งที่อาจจะดูเหมือนเล็กน้อยอย่างการบิดเบือนผลคำนวณโอกาสเสียชีวิตของผู้พันพาวเวลล์ ถึงไม่ได้ช่วยลดทอนเหตุวินาศกรรม แต่กลับซ้ำเติมให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้าย มันเป็นเรื่องยุติธรรมหรือเมื่อพ่อคนหนึ่งจะได้ของขวัญกลับไปมอบให้ลูกสาว ขณะที่พ่ออีกคนต้องเสียลูกสาวไปพร้อมกับระเบิดซึ่งหล่นลงมาจากฟ้าโดยที่พวกเขาไม่ได้ทำความเดือดร้อนให้ใครเลยนอกจากแค่อยู่ผิดที่ผิดเวลา แปลกหรือไม่หากพ่อคนหลังจะโกรธแค้น แล้วหล่อเลี้ยงวงจรอุบาทว์ให้กลายเป็นงูกินหางต่อไป พวกเขาอาจยับยั้งการก่อเหตุวินาศกรรมได้หนึ่งครั้ง แต่ราคาของมันไม่ได้หยุดอยู่แค่ศพผู้บริสุทธิ์ที่เพิ่มมาอีกหนึ่ง (แลกกับการช่วยชีวิตคน 80 คน) อย่างแน่นอน

หมายเหตุ: เหตุการณ์สมมุติเกี่ยวกับรถรางเบรกแตกเรียบเรียงและอ้างอิงจากหนังสือเรื่อง ความยุติธรรม” (Justice: What’s the Right Thing to Do) เขียนโดย Michael J. Sandel แปลโดย สฤณี อาชวานันทกุล

ไม่มีความคิดเห็น: