วันจันทร์, กุมภาพันธ์ 01, 2559

45 Years: รักแท้ หรือแค่หมอกควัน

 
ความสัมพันธ์เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เปราะบาง โดยเฉพาะในช่วงเริ่มต้นเมื่อคุณต้องประคับประคองความรักและฟูมฟักความไว้เนื้อเชื่อใจ แต่ต่อให้เวลาผันผ่านไปนานแค่ไหน จนเชื่อว่าพิสูจน์ความจริงแท้ของรักนั้นได้ชัดเจนเพียงใด ข้อเท็จจริงที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลง คือ ความสัมพันธ์กอปรขึ้นด้วยปัจเจกชนสองหน่วย แยกต่างหากเป็นเอกเทศ คุณอาจรักใครสักคน ไว้ใจใครสักคนได้อย่างหมดใจ แต่คุณไม่มีทางรู้จักเขาได้อย่างแท้จริง คุณไม่มีทางล่วงรู้ คาดเดาความคิดเขาได้ หรือความลับซึ่งเขาไม่เคยเปิดเผยให้ใครฟัง แม้กระทั่งคู่ครองที่อยู่กินร่วมกันมานาน 45 ปี

คงไม่มีใครจะเข้าใจสัจธรรมดังกล่าวได้ดีไปกว่า เคท เมอร์เซอร์ (ชาร์ล็อต แรมปลิง) เมื่อเช้าวันหนึ่งสามีของเธอ เจฟ เมอร์เซอร์ (ทอม คอร์ทเนย์) ได้รับจดหมายจากเจ้าหน้าที่ในสวิสเซอร์แลนด์ แจ้งว่าพวกเขาพบศพแคทเทีย หญิงคนรักเก่าของเจฟ ซึ่งประสบอุบัติเหตุตกเขาในช่วงต้นทศวรรษ 1960 เคทรู้จักแคทเทียในฐานะคนรักเก่าของสามี แต่เธอไม่ทราบรายละเอียดอื่นใด นอกเหนือจากชื่อ ไม่เคยกระทั่งเห็นหน้าด้วยซ้ำ ทุกอย่างเกิดขึ้นและจบลงก่อนเธอกับเจฟจะรู้จักกัน เธอไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเจ้าหน้าที่บันทึกชื่อเขาในฐานะญาติใกล้ชิดที่สุดของแคทเทีย และทั้งสองก็บอกใครต่อใครว่าแต่งงานเป็นสามีภรรยากันแล้ว ข้อมูลนี้สร้างความประหลาดใจให้เคทไม่น้อย ไม่ใช่เพียงเพราะมันเป็นเรื่องสำคัญเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องสำคัญที่สามีซึ่งอยู่กินด้วยกันมาเกือบ 50 ปีไม่เคยเล่าให้เธอฟังมาก่อน  ฉันจะโกรธในเรื่องที่เกิดขึ้นก่อนเราจะเจอกันได้ยังไงจริงมั้ย... แต่ก็นะเคทตอบสามี เมื่อเขาสัมผัสได้ว่าเธอไม่พอใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผนวกกับท่าทีของเจฟก่อนหน้าที่อยากเดินทางไปดูศพเธอ ท่ามกลางเสียงคัดค้านของเคทซึ่งไม่เห็นความจำเป็น เพราะสุขภาพของเจฟเองไม่เอื้ออำนวยต่อการเดินทางไกล หรือเดินขึ้นภูเขาสูงชัน เพียงเพื่อไปดูศพที่ว่ากันว่าน่าจะอยู่ในสภาพสมบูรณ์ แทบไม่เน่าเปื่อยเนื่องจากความหนาวเย็น

ไม่ต้องสงสัยว่าศพในสภาพ “แช่แข็งของแคทเทียหาใช่จะเป็นเพียงตัวแทนความรักอุดมคติ ที่งดงาม ร้อนลุ่ม เพราะมันถูกพลัดพรากไปอย่างฉับพลันก่อนทุกอย่างจะกลายเป็นความคุ้นชิน หรือกิจวัตรเท่านั้น แต่มันยังเปรียบดังสัญลักษณ์แทนวัยเยาว์สำหรับเจฟอีกด้วย ในฉากหนึ่งช่วงต้นเรื่องเขารำพึงให้ภรรยาฟังว่า ณ ตอนนี้ แคทเทียคงจะยังดูสาว เปี่ยมไปด้วยอุดมการณ์มุ่งมั่นเหมือนเมื่อเกือบครึ่งศตวรรษก่อน ส่วนเขากลับกลายเป็นตาแก่หนังเหี่ยว ที่อุดมการณ์อ่อนเปลี้ยไม่ต่างจากเพื่อนร่วมงานที่เขาก่นด่าว่าได้ละทิ้งความเป็นซ้าย แล้วหันมาบูชาทุนนิยมแบบสุดโต่ง

มนุษย์ไม่เคยพอใจกับปัจจุบัน และมีแนวโน้มที่จะมองอดีตด้วยสายตาหวนไห้ ถวิลหา แถมบ่อยครั้งก็มักจะบิดเบือนมันให้สวยงาม เลอค่าเกินจริง เพราะมันเป็นสิ่งที่เขาไม่อาจครอบครอง หรือเรียกกลับคืนมาได้ เมื่อเจฟสรรเสริญแคทเทียว่าเปรียบเหมือนดอกไวโอเล็ตที่ผุดขึ้นท่ามกลางหิมะด้วยความเด็ดเดี่ยว กล้าหาญ เปี่ยมด้วยเป้าหมายในชีวิต แล้วถูกเคทตอกกลับว่าเขาก็แค่กำลังวิ่งไล่หญิงสาวที่ยินดีมีใจ และการปีนเขาก็ไม่ใช่เรื่องจะมาคุยโม้ว่าเป็นความกล้าหาญอะไรได้ เจฟกลับเมินเฉยความเห็นของภรรยา และพูดสรุปด้วยประโยคง่ายๆ ว่า คุณไม่รู้จักเธอ

คำถามที่ผุดขึ้นตามมา คือ แล้วเจฟล่ะ “รู้จักแคทเทียมากแค่ไหน หรือเขาแค่กำลังหลงใหลในสิ่งที่แคทเทียเป็นตัวแทน นั่นคือ ถนนเส้นที่เขาไม่ได้เลือก หรือไม่มีโอกาสได้เลือกเพราะชะตากรรมกระชากมันไปจากเขา (ในฉากหนึ่งเมื่อถูกภรรยาถามจี้ เจฟก็ยอมรับเกือบจะทันทีว่าหากแคทเทียไม่ประสบอุบัติเหตุเสียก่อน เขาคงแต่งงานกับเธอไปแล้ว) และความหวังแห่งวัยเยาว์ที่เขาไม่อาจเรียกคืนกลับมา

ประเด็นหนึ่งซึ่งหนังให้ความสนใจ ได้แก่ เราสามารถ “รู้จัก ใครสักคนได้อย่างแท้จริงหรือ เพราะถึงแม้จะลงหลักปักฐานร่วมกันมาเกินครึ่งชีวิต เคทกลับพบว่ายังมีอีกด้านของเจฟที่เธอไม่รู้จักแม้แต่น้อย ในฉากหนึ่งเธอตั้งข้อสังเกตว่ามันแปลกดีที่เจฟไม่เคยเล่าถึงการตายของแคทเทียให้เธอฟัง ส่วนเธอก็ไม่เคยพูดถึงความตายของแม่เธอให้เขาฟังตลอดหลายสิบปีที่ใช้ชีวิตร่วมกันมา ทั้งที่สองเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน แต่มันเป็นช่วงเวลาก่อนที่ทั้งสองจะมาพบรักกัน ในแง่หนึ่งมันพิสูจน์ให้เห็นว่าคู่รักแต่ละคนล้วนมีอดีต มีสัมภาระทางอารมณ์ที่แบกไว้บนบ่าก่อนหน้าจะมาเป็น เรา และบางครั้งมันก็อาจกลายเป็นกำแพงที่มองไม่เห็น ขวางกั้นคุณไม่ให้ก้าวข้ามไปอีกฟากได้

เงาแห่งอดีตก้าวเข้ามาครอบงำเจฟ ดึงดูดเขากลับไปหาหนังสือเล่มเดิมที่เคยอ่าน เพลงเพลงเดิมที่เคยฟัง กระทั่งหนังสือที่เขายืมจากห้องสมุดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็สะท้อนภาวะหมกมุ่นของเขาต่อแคทเทียและอดีต (หนังสื่อเป็นนัยว่าเจฟเคยเป็นนักต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ในยุคบุปผาชน) เคทพยายามจะดึงเขาให้กลับมาสู่โลกแห่งปัจจุบันในฉากที่ทั้งสองหวนรำลึกความหลังร่วมกัน จนต่อมานำไปสู่ฉากเซ็กซ์อันล้มเหลว (ณ จุดหนึ่งเธอพยายามบอกให้เขาลืมตามองเธอ แต่เขากลับถลำลึกไปไกลเกินกว่าจะกลับมาได้) จากนั้นในฉากถัดมา เจฟก็ยิ่งดำดิ่งลงสู่อดีตด้วยการตื่นขึ้นมากลางดึกเพื่อไปสำรวจรูปภาพเก่าๆ ของแคทเทียในห้องใต้หลังคา

มองโดยเผินๆ แล้ว 45 Years อาจเป็นหนังที่ค่อนข้างเรียบง่ายในแง่เทคนิคภาพยนตร์ ตลอดจนวิธีการนำเสนอ ซึ่งเน้นการใช้ลองเทค การเคลื่อนกล้องอย่างเชื่องช้า และการเล่าเรื่องเรียงตามลำดับเวลาโดยปราศจากแฟลชแบ็ค แต่หลายครั้งคนดูจะสังเกตเห็นความละเอียดอ่อนในเชิงเทคนิค ซึ่งมีส่วนช่วยสื่อความหมาย หรือเร่งระดับความเข้มข้นทางอารมณ์ได้อย่างลุ่มลึก เช่น กลิ่นอายตามแนวทางหนังสยองขวัญถูกนำมาใช้เพื่อสื่อถึงพลังคุกคามของการตายในอดีต ไม่ว่าจะเป็นความลับที่ซุกซ่อนอยู่ในห้องใต้หลังคา เสียงพื้นลั่นเอี๊ยดอ๊าด เสียงหมาเห่าเตือนภัยขณะเคทกำลังจะขึ้นไปเผชิญกับ “วิญญาณ” ของแคทเทีย หรือประตูที่ขยับปิดเอง หนังไม่ใช้ดนตรีในการเร้าอารมณ์ ฉะนั้นเสียงประกอบจึงถูกขับให้โดดเด่น และบางครั้งก็มีผลในการเร้าอารมณ์อยู่ไม่น้อย เช่น การใส่เสียงเครื่องฉายสไลด์ในช่วงเครดิตต้นเรื่องเพื่อชี้นำอารมณ์ในฉากที่เคทค้นพบความจริงเกี่ยวกับแคทเทีย ขณะเดียวกันการใส่แบ็คกราวด์เป็นเสียงนาฬิกาเดินในหลายๆ ฉากก็ช่วยขับเน้นเนื้อหาที่พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างอดีตกับปัจจุบัน (เคทบอกสามีว่าเธอคิดจะซื้อนาฬิกาข้อมือให้เขาเป็นของขวัญวันครบรอบแต่งงาน แต่เจฟกลับตอบว่า ผมไม่ชอบที่จะรู้เวลา”) อีกทั้งยังสะท้อนรูปแบบการเล่าเรื่องได้อย่างเหมาะเจาะ (หนังแบ่งเรื่องราวเป็นบทไล่เรียงตามวันจนกระทั่งไปสิ้นสุดยังงานเลี้ยงฉลองวันครบรอบแต่งงาน)

เนื่องจากประเด็นของหนังพูดถึงการไม่อาจเข้าถึงกันได้ระหว่างคนสองคน หลายช็อตในหนังจึงเป็นการถ่ายผ่านกรอบหน้าต่างบ้าน กระจกรถ หรือไม่ก็ถ่ายใบหน้าตัวละครจากภาพสะท้อนบนกระจกตู้ยา หรือกระจกห้องน้ำ นอกจากนี้ หนังยังนิยมแช่ภาพโคลสอัพตัวละครด้วยช็อตในลักษณะถ่ายข้ามไหล่ โดยไม่ตัดภาพสลับไปมาเพื่อให้สอดคล้องตามจังหวะบทพูด หรือตัดสลับเพื่อนำเสนอปฏิกิริยาของคู่สนทนา ฉะนั้นอารมณ์ที่ได้จึงรู้สึกคล้ายตัวละครกำลังพร่ำพูดกับตัวเองมากกว่าจะเป็นการเปิดใจให้อีกฝ่ายรับฟัง เหมือนต่างฝ่ายต่างก็จมดิ่งอยู่กับโลกส่วนตัว ความคิดส่วนตัว เจฟกับอารมณ์ถวิลหาอดีต เคทกับความเคลือบแคลงสงสัย จนต่างฝ่ายไม่อาจสื่อสารถึงกันได้

ที่สำคัญ การยืนกรานที่จะไม่แฟลชแบ็คไปยังเหตุการณ์ในอดีต หรือรีดเค้นฉากที่จะให้คำอธิบายชัดเจนออกจนแทบจะหมดสิ้น ส่งผลให้คนดูตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกับเคท ซึ่งเป็นตัวละครหลักของหนัง (ตรงกันข้ามกับเรื่องสั้น In Another Country ต้นแบบของหนังเรื่องนี้ที่ใช้ตัวละครฝ่ายชายเป็นคนดำเนินเรื่อง) กล่าวคือ เช่นเดียวกับเธอ เราไม่อาจรู้แน่ว่าอะไรเป็นเหตุผลแท้จริงที่ทำให้เคทกับเจฟไม่มีลูกด้วยกัน ไม่มีรูปถ่ายร่วมกัน มันเป็นอย่างที่เคทตั้งข้อกล่าวหาหรือเปล่า เพราะเจฟยังรักแคทเทีย ยังรู้สึกผิดต่อเด็กในท้องที่ตายไป ส่วนเคทก็เป็นเพียงตัวแทนซึ่งสุดท้ายแล้วไม่อาจทดแทนได้ (ชื่อที่คล้ายคลึงกันและสีผมที่เหมือนกันของทั้งสองทำให้สมมุติฐานดังกล่าวพอจะมีมูลอยู่ไม่น้อย) และเมื่อไม่อาจรู้แน่ จินตนาการย่อมเตลิดเปิดเปิงไปไกล ทั้งสำหรับเคทและคนดู จนเราเริ่มสงสัยว่าแผลที่นิ้วเจฟนั้นเกิดจากความพยายามจะซ่อมลูกลอยในห้องน้ำจริงตามที่เขาอ้าง หรือว่ามันเป็นแผลจากการไปค้นหาของในห้องใต้หลังคา

แอนดรูว์ เฮก เป็นผู้กำกับคลื่นลูกใหม่ชาวอังกฤษ เขาเริ่มโด่งดังเป็นที่รู้จักจากหนังเรื่อง Weekend เมื่อ 4 ปีก่อน ซึ่งเล่าถึงเรื่องราวของหนุ่มอังกฤษสองคนที่พบกันในบาร์เกย์โดยต่างคาดหวังเพียงเซ็กซ์ข้ามคืนและประสบผลสำเร็จตามเป้าประสงค์ แต่ในเวลาต่อมาพวกเขากลับได้ทำความรู้จัก ถกเถียง และแลกเปลี่ยนความคิดจนรู้สึกเชื่อมโยงผูกพันกันทางอารมณ์ตลอดช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ก่อนฝ่ายหนึ่งจะต้องเดินทางไปเรียนต่อที่อเมริกาเป็นเวลาสองปี น่าสนใจว่า Weekend แม้จะจบลงด้วยการลาจากที่สถานีรถไฟ (อิทธิพลโดดเด่นจาก Brief Encounter ซึ่งเป็นหนังสุดโปรดของเฮก) แต่อารมณ์ที่อ้อยอิ่งอยู่ในอากาศกลับเต็มไปด้วยความหวัง ความอิ่มเอมของการ มองไปข้างหน้า ถึงความเป็นไปได้ต่างๆ นานาในอนาคต ในทางตรงกันข้าม 45 Years จบลงด้วยงานฉลองครบรอบแต่งงาน แต่ความรู้สึกสุดท้ายกลับอัดแน่นไปด้วยความขมขื่น เจ็บแค้น เศร้าสร้อย อันเป็นผลจากการ มองย้อนหลัง ถึงความเป็นไปได้ต่างๆ นานาในอดีต

หนึ่งในตัวละครเอกของ Weekend กำลังทำโปรเจ็กต์อาร์ตชิ้นหนึ่ง ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อสำรวจช่องว่างระหว่างตัวตนที่แท้จริงของคนเรากับตัวตนที่พวกเขาต้องการจะเป็น โดยพิสูจน์จากบุคลิกที่เราสร้างขึ้นเวลาพบเจอใครสักคนเป็นครั้งแรก อาจพูดได้ว่า 45 Years เปรียบได้กับภาคต่อของ Weekend ไม่เพียงในแง่ที่มันพูดถึงความสัมพันธ์ ซึ่งก้าวผ่านช่วงเวลายาวนาน ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านทุกข์ผ่านสุขมาหลายสิบปีหลังภาวะตกหลุมรักเท่านั้น แต่ยังเป็นภาพขยายอันเด่นชัดของประเด็น ช่องว่าง ระหว่างสองตัวตนดังกล่าวอีกด้วย

ความแตกต่างของ 45 Years เมื่อเทียบกับหนังคนแก่ทั่วไปอยู่ตรงนัยยะที่ว่าวัยชราหาได้มาพร้อมกับความสงบ หรือการปลงตก ปล่อยวาง และความสัมพันธ์ที่ดูราบรื่น มีความสุข ก็อาจสั่นคลอนได้อย่างง่ายดายด้วยจดหมายเพียงหนึ่งฉบับ เคทอาจไร้เหตุผลในความรู้สึกหึงหวง น้อยใจ ต่อสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อนานมาแล้ว แต่ในเวลาเดียวกันอารมณ์เหล่านั้นก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เมื่อปรากฏว่าทุกอย่างที่เธอสร้างขึ้นมา หรือเชื่อมั่นว่าจริงแท้เริ่มสูญเสียคุณค่าไปพร้อมกับความจริงที่ค้นพบ

หลังจากเคทได้ระบายความรู้สึกคับข้องใจในคืนก่อนวันงาน ดูเหมือนเจฟเองก็เริ่มจะมองเห็นความไม่เป็นธรรมที่เขาปฏิบัติต่อเธอ และพยายามชดเชยด้วยการตื่นแต่เช้ามาทำอาหาร ออกไปเดินเล่นเป็นเพื่อนเธอ รวมถึงสุนทรพจน์อันซาบซึ้ง กินใจในงานเลี้ยงฉลอง เขาพยายามจะไต่กลับขึ้นมาจากอดีต ขณะที่เคทกลับล่องลอยไปสู่ห้วงคิดคำนึงส่วนตัว เช่นเดียวกับคำกล่าวของเธอก่อนหน้านี้ แคทเทียได้สร้างมลทินให้กับทุกสิ่งทุกอย่าง แม้กระทั่งกับเพลง Smoke Gets In Your Eyes ซึ่งเธอเคยมองว่าเป็นเพลงของเรา เพลงที่เธอร้องคลออย่างมีความสุขในช่วงต้นเรื่อง เพลงที่ทั้งสองใช้เปิดฟลอร์ในฐานะสามีภรรยาเมื่อ 45 ปีก่อน แต่เมื่อได้เฝ้าฟังเนื้อเพลงอย่างละเอียดอีกครั้ง มันหาใช่เพลงเฉลิมฉลองความรักแต่อย่างใด หากแต่เป็นเพลงเศร้าที่คร่ำครวญถึงความสูญเสีย มันไม่ใช่เพลงของเรา แต่เป็นเพลงของเขาและเธอ ทันใดนั้นอารมณ์ทั้งหลายก็พลันทะลักล้น ทุกอย่างที่เคทเชื่อมั่น เฝ้าฟูมฟักมาตลอดหลายสิบปีกลับพังทลาย... และรอยยิ้มใดก็ไม่อาจปกปิดหยาดน้ำตา ยามรักร้างลาจากไกล

ไม่มีความคิดเห็น: