วันอังคาร, มิถุนายน 12, 2550

พรางชมพู: แค่รับได้... ไม่พอ

“มันควรจะเป็นหนังเกี่ยวกับรักร่วมเพศ แต่คนดูกลับไม่ได้เห็นภาพผู้ชายสองคนจูบกัน อย่างนี้มันหมายความว่าอย่างไร” ฌอง เรอนัวร์ พูดถึงหนังเรื่อง Rope ของ อัลเฟร็ด ฮิทช์ค็อค

ในหนังเกย์อิสระเรื่อง Jeffrey (1995) มีฉากสำคัญอยู่ฉากหนึ่งซึ่งมักจะถูกกล่าวอ้างถึงบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะในเชิงชื่นชมหรือตำหนิติเตียนก็ตาม นั่นคือ ตอนที่ตัวเอกชายสองคนจูบปากแสดงความรักกันอย่างดูดดื่ม จากนั้น ในฉับพลันทันที ผู้กำกับ คริสโตเฟอร์ แอชลี่ย์ ก็ตัดภาพไปยังหนุ่มสาวสองคู่ในโรงภาพยนตร์ทำท่าสะอิดสะเอียนเหตุการณ์ที่ปรากฏบนจออย่างออกนอกหน้า ฉากดังกล่าวทำลายกฎเกณฑ์พื้นฐานของภาพยนตร์ด้วยการ ‘ระบุ’ ตัวผู้ชมในลักษณะเดียวกับการให้ตัวละครหันหน้ามามองกล้อง หรือพูดคุยกับคนดูโดยตรง ทำให้พวกเขาตระหนักว่าเรื่องราวที่กำลังดำเนินอยู่บนจอนั้นเป็นเพียงภาพยนตร์

นักวิจารณ์ชื่อดัง โรเจอร์ อีเบิร์ต ชิงชังฉากข้างต้นด้วยเหตุผลว่ามันไม่เหมาะสม ไม่เกี่ยวโยงถึงเนื้อหาของหนัง แถมยังทำให้การเล่าเรื่อง ตลอดจนอารมณ์ร่วมของผู้ชมสะดุดลงอย่างกระทันหันอีกด้วย

ผมเชื่อว่าผู้กำกับแอชลี่ย์จงใจใส่ฉากนี้เข้ามาเพื่อเป็นแก๊กล้อเลียนหนังสตูดิโอฮอลลิวู้ดที่มักจะนำเสนอกิจกรรมรักร่วมเพศราวกับมันเป็นของต้องห้าม เป็น ‘ความรักที่ไม่กล้าเอ่ยนาม’ มากกว่าจะเพื่อสื่อสารความหมายในเชิงเรื่องราว หรือวิเคราะห์บุคลิกตัวละคร กล่าวคือ ขณะที่หนังอย่าง Philadelphia (1993) ไม่กล้าแม้แต่จะแสดงบทจูบระหว่างสองตัวเอกเกย์ให้คนดูเห็น Jeffrey กลับจงใจเน้นฉากจูบนั้นให้ประจักษ์ พร้อมทั้งออกตัวด้วยว่ามันอาจ ‘ล่วงเกิน’ ความรู้สึกของชายหญิงรักต่างเพศบางคนที่หลงเข้ามาดูหนังเรื่องนี้ ซึ่งหากจะพิจารณาจากภาพรวม ข้อกล่าวหาของ โรเจอร์ อีเบิร์ต ก็คงไม่ผิดความจริงเท่าใดนัก แต่หากมองในแง่ของความเป็นหนังตลกที่นิยมละทิ้งกฎการเล่าเรื่องตามธรรมเนียมปรกติแล้ว ผู้กำกับแอชลี่ย์ก็กล้อมแกล้มเอาตัวรอดไปได้อย่างหวุดหวิด

ในหนังเรื่อง พรางชมพู กะเทยประจัญบาน ผู้กำกับ เรียว กิตติกร ได้ใช้แนวคิดคล้ายคลึงกันนั้นมานำเสนอเป็นมุขตลกตอนที่เชอร์รี่ (ยลรดี โคมกลอง) กับหยาว (ธีรดนัย สุวรรณหอม) ‘มีอะไรกัน’ แล้วเด็กชายคนหนึ่งที่มาแอบดูอยู่ในพุ่มไม้ก็ถึงกับอ้วกออกมาจากภาพ ‘อุจาดตา’ ที่ปรากฏเบื้องหน้า แต่เราคนดูกลับไม่ได้เห็น (แก๊กดังกล่าวถูกนำมาใช้อีกครั้งตอนเชอร์รี่กับหยาวต้องลาจากกัน) ‘ฉากจูบที่หายไป’ นั้นสะท้อนความจริงบางอย่างเกี่ยวกับสังคมไทยในประเด็นรักร่วมเพศ ขณะเดียวกันก็ยังเป็นบทสรุปถึงภาพรวมทั้งหมดของหนังอีกด้วย

ผมเชื่อว่าความรู้สึกของคนดูต่อหนังเรื่องนี้ย่อมแตกต่างกันไปตามความคาดหวังของพวกเขาก่อนเข้าโรงภาพยนตร์ โดยเนื้อแท้แล้ว พรางชมพูใกล้เคียงกับแนวทางของหนังสงคราม เมื่อสังเกตจากโครงเรื่อง การเล่าเรื่อง ตลอดจนการวางสถานการณ์ในแต่ละซีเควนซ์เพื่อเร้าอารมณ์คนดู อาทิ ฉากตึงเครียดของการเผชิญหน้าระหว่างทหารไทยกับพวกไทยใหญ่ในหมู่บ้านร้าง ฉากหวาดเสียวของการรักษาแผลนายทหารคนหนึ่งซึ่งถูกยิงบาดเจ็บ ความขัดแย้งของหัวหน้ากับลูกน้องใต้บังคับบัญชา และการไล่ล่า ชิงไหวชิงพริบระหว่างกองกำลังสองฝ่าย ทั้งหมดล้วนเป็นฉากที่ปรากฏให้เห็นบ่อยครั้งในหนังสงคราม ตัวละครกะเทยจึงถูกใส่เข้ามาเป็นเพียงสีสัน ความแปลกใหม่ เพื่อเป้าหมายในการเรียกเสียงหัวเราะเป็นหลัก ดังนั้นใครก็ตามที่หวังว่าจะได้ดูหนังรักร่วมเพศ หรือหนัง ‘เกี่ยวกับ’ รักร่วมเพศ คงต้องผิดหวังไปตามระเบียบ เนื่องจากพรางชมพูปฏิบัติต่อตัวละครรักร่วมเพศไม่ต่างอะไรกับกะเทยในละครหลังข่าว เราไม่มีโอกาสได้รู้จักตัวตนที่แท้จริงของพวกเขา ปัญหาของพวกเขา หรือกระทั่งความสัมพันธ์ของพวกเขาซึ่งดูเหมือนจะสนิทสนมกันมาก่อนเหตุเครื่องบินตก

สิ่งที่เราได้เห็นไม่ใช่ ‘ตัวตน’ ของกะเทย แต่เป็น ‘ภาพลักษณ์’ ของกะเทยในมุมมองของรักต่างเพศ ตลอดทั้งเรื่อง เหตุการณ์ที่ปรากฏบนจอจึงเป็นฉากพวกเธอจิกกัด ด่าทอ กรีดร้อง และพร่ำบ่นถึงความยากลำบากของการเดินป่า โดยมีสายตาของพวกทหาร (รักต่างเพศ) มองตอบกลับมาด้วยแววขบขัน สมเพช และเบื่อหน่าย ผมไม่ได้ต้องการจะโต้แย้งว่าภาพลักษณ์ดังกล่าวบิดเบือนไปจากความเป็นจริง เพียงแต่มันออกจะเป็นการนำเสนอแค่เปลือกนอกไปหน่อยเท่านั้น เช่นเดียวกับการยกปัญหาชนกลุ่มน้อย (กระเหรี่ยง/ไทยใหญ่/ว้าแดง) ขึ้นมาเปรียบเทียบกับพวกกะเทย (แปลงเพศแล้ว/ยังไม่แปลงเพศแต่มีหน้าอก/ยังมีทุกอย่างเหมือนผู้ชาย) โดยไม่พยายามจะลงลึกไปมากกว่าแค่การนำเสนอไอเดียขึ้นมาเฉยๆ

เอาล่ะ ในเมื่อพรางชมพูไม่ใช่หนังเกี่ยวกับกะเทย เช่นนั้นแล้วมันเป็นหนังเกี่ยวกับอะไรกันแน่?

ความรู้สึกที่ผมได้จากการดูหนังเรื่องนี้ก็คือ มันเหมือนหนังที่มีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อสร้างความเข้าใจกันอันดีระหว่างกลุ่มคนในสังคม นำเสนอจุดยืนทางศีลธรรมที่ถูกต้อง และไม่พยายามจะท้าทายหรือล่วงเกินใครเลยสักฝ่ายเดียว ทุกอย่างลงเอยอย่างมีความสุข ทุกคนได้พิสูจน์ตนเองว่ามีคุณค่า หรือพัฒนาไปสู่การไถ่บาป กะเทยที่เห็นแก่ตัวมาตลอดทั้งเรื่องอย่างสมหญิง (อรนภา กฤษฎี) กลับกลายเป็นคนดี ยอมเสี่ยงชีวิตไปช่วยจ่าเริง (สรพงษ์ ชาตรี) กะเทยที่สร้างปัญหามาตลอดอย่างแจ๋ว (บริวัตร อยู่โต) ได้แสดงความสามารถด้วยการใช้หินก้อนเดียวถล่มเฮลิคอปเตอร์ทั้งลำ กะเทยที่เป็นภาระให้ทุกคนมาตลอดอย่างเกษม (ร.ศ. ดร.เสรี วงษ์มณฑา) ก็ได้แสดงสปิริตด้วยการอาสาแบกนายทหารบาดเจ็บกลับประเทศไทย ส่วนผู้ชายแท้ๆอย่างจ่าเริงซึ่งเกลียดตุ๊ดและอยากกระทืบตุ๊ดมาตลอดทั้งเรื่องก็กลับตัวกลับใจและยอมรับลูกชายกะเทยของเขาได้ในที่สุด

มองผิวเผินแล้วพรางชมพูดูเหมือนจะ ‘โปร’ กะเทยและต่อต้านแนวคิด Homophobia1 ของจ่าเริง แต่หากพินิจพิเคราะห์ให้ลึกซึ้งแล้วจะพบว่า ความพยายามทำให้กะเทยได้รับ ‘การยอมรับ’ ในฐานะผู้ด้อยโอกาส การผลักไสเกย์ให้เป็นเพียงตัวตลกแทนที่จะเป็นโฟกัสหลักของเรื่องราว ทำให้พวกเขากลายเป็น ‘ความรักที่ไม่กล้าเอ่ยนาม’ (ตัวละครที่ได้รับน้ำหนักสูงสุดได้แก่จ่าเริงและปมขัดแย้งของเขาก็เป็นประเด็นเดียวของหนังที่ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง) คือ ภาพจำแลงของ Homophobia และแนวคิดแห่งลัทธิ Heterosexism2

พรางชมพู เป็นหนังที่สร้างขึ้นจากมุมมองของรักต่างเพศและเพื่อกลุ่มผู้ชมรักต่างเพศ นั่นเป็นสาเหตุว่าทำไมหนังถึงไม่กล้าแสดงบทจูบซึ่งอาจจะ ‘ท้าทาย’ ความรู้สึกของผู้ชมรักต่างเพศจนเกินไป มันเป็นหนังที่ยืนอยู่ฟากฝั่งตรงกันข้ามกับ Jeffrey โดยแทนที่จะล้อเลียนพฤติกรรมหมกเม็ดของสังคมรักต่างเพศ พรางชมพูกลับทำตัวเป็นฝ่ายปกปิดความจริงนั้นเสียเอง ส่วนคนดูก็ไม่ได้ขบขันกับอาการ ‘รับไม่ได้’ ของกลุ่มรักต่างเพศจากการเห็นภาพผู้ชายสองคนจูบปากกันอย่างดูดดื่ม ซึ่งเปรียบเสมือนการตบหน้าลัทธิ Heterosexism และแบบทดสอบดีกรี Homophobia ในหมู่ผู้ชม ตรงกันข้าม หนังกลับสื่อนัยยะว่า ความคิดเรื่องผู้ชายสองคน ‘มีอะไรกัน’ ต่างหากที่น่าหัวเราะและอาจถึงขั้นน่าขยะแขยงเกินกว่าจะแสดงภาพให้เห็น

นั่นเองนำไปสู่การตั้งคำถามต่อบทสรุปอันน่าเคลือบแคลงของเชอร์รี่ที่ว่า “เราอาจโชคร้ายที่เกิดมาผิดเพศ แต่เราก็โชคดีที่เกิดมาถูกที่” ภาพธงชาติไทยที่โบกสะบัดไปมาดูราวกับจะช่วยตอกย้ำความเชื่อมั่นของเธอให้หนักแน่นยิ่งขึ้น จริงหรือที่ประเทศไทยคือสวรรค์สำหรับคน ‘โชคร้าย’ เกิดมาผิดเพศ?

มองในแง่รูปธรรม ประเทศไทยนั้นขึ้นชื่อว่ามีกะเทยอาศัยอยู่ทั่วไปและอย่างเปิดเผยมากที่สุดประเทศหนึ่ง คนไทยเองส่วนใหญ่ก็ดูเหมือนจะ ‘รับได้’ กับพฤติกรรมดังกล่าว ความเป็นเมืองชาวพุทธทำให้ไม่ค่อยเกิดกรณีทำร้ายร่างกายเกย์/เลสเบี้ยนเหมือนในอเมริกาหรือประเทศอื่นๆอีกหลายประเทศทางฝั่งตะวันตก ตราบเท่าที่รักร่วมเพศไม่พยายามปรากฏตัวออกมาให้เห็นเด่นชัดทางสังคม ตราบเท่าที่พวกเขายังเลือกจะหลบซ่อนอยู่ในซอกหลืบ ทำกิจกรรมส่วนตัวของพวกเขาไปในความมืด พวกรักต่างเพศก็ยินยอมจะ ‘เอาหูไปนา เอาตาไปไร่’ แต่มันหาใช่หลักการที่ถูกต้องไม่ เพราะการล่องหนทางสังคมคือต้นเหตุของ Homophobia ในหมู่รักร่วมเพศ พวกเขาถูกปลูกฝังทัศนคติมาตลอดชีวิตว่า ผู้ชายต้องรักผู้หญิง และผู้หญิงต้องรักผู้ชาย ดังนั้นเมื่อไม่สามารถบรรลุจุดมุ่งหมายตามกฎข้างต้นได้ พวกเขาจึงต้องใช้ชีวิตแบบหลบๆซ่อนๆ นำไปสู่ความรู้สึกเกลียดชังตัวเอง

วิธีการรับมือกับรักร่วมเพศตามประสาไทยๆก็คือ “เราไม่ว่าอะไรที่คุณชอบเพศเดียวกัน แต่แกล้งทำเป็นลืมๆมันซะแล้วไม่ต้องพูดถึงมันอีกเลยจะดีกว่า” พรางชมพูสะท้อนแนวคิดดังกล่าวได้ชัดเจนจากการที่มันอุดมไปด้วยตัวละครรักร่วมเพศ แต่กลับไม่ได้พูดถึงรักร่วมเพศ มีเรื่องราวโรแมนซ์ระหว่างคนเพศเดียวกัน แต่กลับไม่มีภาพผู้ชายสองคนจูบกัน… อย่างนี้มันหมายความว่าอย่างไร?

คนส่วนใหญ่ต่างคิดว่าการไม่ ‘เกลียดชัง’ รักร่วมเพศก็ถือว่าเพียงพอแล้ว พวกเขาคิดว่า “เรายอมรับคุณแล้วนี่ ทำไมยังมาเรียกร้องเอาโน่นเอานี่อีก” พวกเขาคิดว่าความเห็นใจ ความสงสาร เป็นสิ่งที่เกย์และเลสเบี้ยนต้องการเพราะคนเหล่านั้นเกิดมา ‘น้อยกว่า’ เรา

ด้วยเหตุนี้ เวลาที่พิธีกรรายการทีวีคนหนึ่งเชิญกะเทยมาออกรายการ เขาแสดงสีหน้าเห็นอกเห็นใจในชะตากรรมของเธอ และการต่อสู้ฟันฝ่าเพื่อการยอมรับจากสังคมของเธอ ก่อนจะตบท้ายด้วยคำถามว่า “ถ้าเลือกเกิดได้ คุณจะเลือกเกิดเป็นอะไร” เมื่อแขกรับเชิญตอบกลับโดยไม่ต้องคิดทบทวนว่า “เป็นผู้ชายหรือผู้หญิงก็ได้ แต่ขอให้มีใจชอบเพศตรงข้ามก็พอ” พิธีกรคนนั้นจึงคิดว่าตนได้แสดงจุดยืนทางความคิดที่ถูกต้องแล้ว เช่นเดียวกัน พรางชมพู ก็พยายามจะสร้างความชอบธรรมให้แก่จ่าเริงด้วยการให้หมู่ปกรณ์ (โกวิทย์ วัฒนกุล) ย้อนถามสมหญิงในฉากหนึ่งว่า “ถ้ามึงมีลูก มึงอยากให้ลูกมึงเป็นกะเทยเหรอ” ฟังเผินๆ คำถามทั้งสองข้อก็ดูสมเหตุสมผลดี และอาการนิ่งเงียบของสมหญิงก็คงจะบอกใบ้คำตอบเป็นนัยๆได้ว่า ถ้าเลือกได้เธอคงไม่อยากให้ลูกเป็นกะเทย ส่วนตัวเธอเอง ถ้าเลือกได้ ก็คงไม่อยากเกิดมาแบบนี้เช่นกัน

สาเหตุหลักที่ทำให้เกย์/เลสเบี้ยนส่วนใหญ่ขอไม่เลือกเกิดเป็นรักร่วมเพศ คือ ความด้อยโอกาสที่ติดตัวตามมาด้วย อีกทั้งความกดดันทางสังคมต่อพฤติกรรมซึ่งผิดแผกจาก ‘มาตรฐาน’ แน่นอนว่าสาเหตุสำคัญของความรู้สึกต่ำต้อย กดดันเหล่านั้นย่อมมีรากฐานมาจาก Homophobia ซึ่งไม่ได้กินความเฉพาะประเภทที่แสดงออก ‘โฉ่งฉ่าง’ แบบจ่าเริงเท่านั้น หากแต่ยังหมายรวมถึงประเภท ‘ซ่อนลึก’ แบบในคำถามของพิธีกร หมู่ปกรณ์ และในหนังเรื่องพรางชมพูอีกด้วย พวกเขาเห็นใจรักร่วมเพศ เพราะพวกเขายังมองว่ารักร่วมเพศ คือ โชคร้าย คือความผิดปรกติ เหมือนการเกิดมาพิการหรือมีโรคร้ายแรงประจำตัว พวกเขาเชื่อว่าโลกใบนี้จำเป็นต้องมีเพียงชายจริงและหญิงแท้เท่านั้น

ความรู้สึก “รับได้”, “เข้าใจ”, “ยอมรับ” หรือ “เห็นใจ” ไม่เพียงพอจะกำจัดอาการเกลียดกลัวรักร่วมเพศได้อย่างแท้จริง ถึงก้นบึ้ง และแบบถอนรากถอนโคน เนื่องจากความรู้สึกเหล่านั้นตอกย้ำสถานะที่ ‘ด้อยกว่า’ ของเกย์และเลสเบี้ยน Homophobia จะสูญสลายไปจากสังคมได้ก็ต่อเมื่อพฤติกรรมรักร่วมเพศถูกมองว่าเป็นเรื่องปรกติ ไม่ใช่โรคร้ายที่ต้องรักษา หรือปริศนาที่ต้องทำความเข้าใจ กลุ่มรักร่วมเพศสมควรได้รับการปฏิบัติทัดเทียมกับกลุ่มรักต่างเพศทั้งในทางกฎหมายและในทางปฏิบัติ สิ่งที่พวกเขาต้องการจริงๆในเวลานี้ไม่ใช่ความสงสาร หรือความเห็นใจ หากแต่เป็นความเท่าเทียมกันต่างหาก

หมายเหตุ
1. Homophobia เป็นคำที่นักจิตวิทยาใช้กันแพร่หลายตลอดช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมาสำหรับอธิบายความกลัว อคติ หรือความหวาดหวั่นต่อพฤติกรรมรักร่วมเพศของกลุ่มรักต่างเพศ นอกจากนั้นมันยังกินความถึงอารมณ์เกลียดชังตัวเองของชาวรักร่วมเพศโดยเฉพาะในประเทศที่กีดกันเกย์/เลสเบี้ยนอีกด้วย
2. Heterosexism หรือ ลัทธิเชิดชูรักต่างเพศ ถือกำเนิดขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกันกับคำว่า Homophobia เป็นระบบความคิดที่ปฏิเสธ และเหยียดหยามพฤติกรรม/ความสัมพันธ์ที่ไม่ใช่ชายจริงหญิงแท้ วิธีการของผู้นิยมแนวคิดนี้คือพยายามทำให้รักร่วมเพศตกอยู่ใต้เงามืด กลายเป็นมนุษย์ล่องหน ตัวอย่างของ heterosexism ในอเมริกาก็เช่น การต่อต้านพิธีแต่งงานของบุคคลเพศเดียวกัน และการห้ามไม่ให้เกย์เข้าร่วมกองทัพ เป็นต้น

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เพิ่งได้ชมหนังเรื่องนี้จบค่ะ และค่อนข้างไม่เห็นด้วยในความเบาบางและตื้นเขินด้านความเข้าใจของผู้สร้าง
ดิฉันได้อ่านบทความของคุณแล้วเห็นด้วยอย่างยิ่งค่ะ ในแง่ที่ความเข้าใจ ยอมรับ เห็นอกเห็นใจ มันไม่ใช่ทางออกของเรื่องนี้ ตราบใดที่เรายังมองคนอื่นต่ำกว่าตัวเพราะค่านิยมที่ถูกสอนซ้ำ ๆ กันมา
และจะเพราะความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ในตอนนั้นเอื้อให้เขียนบทและสะท้อนแนวคิดออกมาเช่นนั้นในเวลานั้นหรือไม่ ก็ต้องบอกว่าถ้าผู้สร้างได้มาดูผลงานของตนในตอนนี้ อาจรู้สึกว่าพลาดไปแล้วก็ได้