วันเสาร์, มีนาคม 12, 2559

Anomalisa: ทุกข์ระทมของการดำรงอยู่


ต้นกำเนิดของ Anomalisa เริ่มขึ้นเมื่อปี 2005 จากบทละคร ซึ่งนักแสดงจะนั่งอ่านบทพูดโดยมีซาวด์เอฟเฟ็กต์กับดนตรีจากวงออเคสตราประกอบเรื่องราวเท่านั้น ไม่มีฉาก ไม่มีการ สวมบทบาท แบบเดียวกับละครเวทีทั่วไป ชื่อโครงการนี้ คือ โรงละครแห่งเสียง และคำโฆษณาโดดเด่นบนโปสเตอร์ คือ ทิ้งดวงตาของคุณไว้ที่บ้าน ชาร์ลี คอฟแมน เขียนบทละคร Anomalisa โดยใช้นามแฝง ฟรานซิส เฟรโกลี เพื่ออ้างอิงถึงอาการทางจิตที่เรียกว่า Fregoli delusion โดยคนที่ป่วยด้วยโรคนี้จะเชื่อว่าตนเองถูกล้อมรอบด้วยบุคคลเดียวกันที่เปลี่ยนรูปร่างหน้าตา หรือปลอมตัวเป็นคนอื่นๆ

ในเวอร์ชั่นหนังคำว่าเฟรโกลีถูกนำมาใช้เป็นชื่อโรงแรมในเมืองซินซินแนติที่ตัวละครเอก ไมเคิล สโตน (เดวิด ธิวลิส) เดินทางจากลอสแองเจลิสมาพักค้างคืนก่อนจะขึ้นบรรยายในวันรุ่งขึ้น เขาเป็นกูรูในแวดวงการให้บริการลูกค้า และหนังสือของเขาเรื่อง How May I Help You Help Them? ก็เปรียบเสมือนคัมภีร์ไบเบิลสำหรับหน่วยลูกค้าสัมพันธ์ ที่ต้องการเพิ่มยอดขายให้ธุรกิจ หนังเล่าเรื่องราวผ่านสายตาของไมเคิล และหลังจากเรื่องราวดำเนินไปได้สัก 15 นาที คนดูก็เริ่มสังเกตเห็นว่าตัวละครทุกคน (ยกเว้นไมเคิลกับลิซา) ล้วนมีโครงหน้าเหมือนกันหมด แตกต่างแค่ทรงผม ส่วนสูง น้ำหนัก เพศ ที่สำคัญ พวกเขายังมีเสียงเดียวกันหมด นั่นคือ เสียงของ ทอม นูแนน ไม่ว่าจะเป็นคนขับแท็กซี่ เบลลา (คนรักเก่าของไมเคิล) พนักงานต้อนรับที่โรงแรม ภรรยากับลูกชายของไมเคิล หรือแม้กระทั่งเมื่อไมเคิลเปิดทีวีไปเจอหนังตลกคลาสสิกเรื่อง My Man Godfrey (1936) ตัวละครทั้งหมดในหนังก็ล้วนมีใบหน้าแบบเดียวกันและให้เสียงพากย์โดยนูแนนเช่นกัน

บางทีคอฟแมนอาจกำลังบอกใบ้ว่าไมเคิลเป็นตัวละครที่มีปัญหาทางจิต อาการบาดเจ็บทางสมองอาจทำให้เขาเห็นภาพหลอนว่าทุกคนเป็นคนๆ เดียวกันหมด และพฤติกรรมหลายอย่างของไมเคิลก็ดูจะเข้าข่ายคนกำลังสูญเสียสติอยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นตอนที่เขาถามเบลลา ขณะพยายามอธิบายเหตุผลที่เขาถึงทอดทิ้งเธอไปอย่างกะทันหันเมื่อสิบเอ็ดปีก่อนว่า คุณเปลี่ยนไปมั้ยตอนเราอยู่ด้วยกัน ผมเปลี่ยนคุณหรือเปล่า มีอะไรเปลี่ยนไปบ้าง มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นบ้างหรือเปล่า หรือการบรรยายของเขาในตอนท้ายเรื่อง ซึ่งเริ่มต้นได้ราบรื่น ก่อนจะค่อยๆ หักเหไปสู่คำถามเชิงปรัชญาอย่างประหลาด เช่น มนุษย์คืออะไร ความเจ็บปวดคืออะไร การมีชีวิตอยู่คืออะไร แล้วลงเอยด้วยการพล่ามออกนอกประเด็นไปไกล (“โลกกำลังล่มสลาย ประธานาธิบดีเป็นอาชญากรสงคราม อเมริกากำลังจะเผชิญกับความวินาศ แต่พวกคุณยังเชื่อเรื่องพระเจ้าผู้สร้างโลกอยู่เลย”) ผมคิดว่าตัวเองมีบางอย่างผิดปกติอย่างรุนแรง เขายอมรับในช่วงท้ายของคำบรรยาย

เหตุผลของความผิดปกตินั้นอาจไม่ปรากฏชัด แต่ลักษณะอาการเป็นสิ่งที่คนดูสามารถสัมผัสได้ตั้งแต่ฉากแรกของหนัง เมื่อชายแปลกหน้าบนเครื่องบินเผลอจับมือไมเคิลด้วยความกลัวขณะเครื่องกำลังจะลงจอด เขาแสดงท่าทางหงุดหงิดต่อการต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน และในเวลาต่อมาก็เลือกจะหยิบไอพ็อดขึ้นมาเปิดเพลงฟังเพื่อหลบเลี่ยงการต้องสนทนา สบตากับผู้คน เขาเหนื่อยหน่ายจนเกือบจะเรียกได้ว่าเจ็บปวด ทรมานกับการต้องทนพูดคุยเรื่องสวนสัตว์กับคนขับแท็กซี่ ซึ่งพยายามทำหน้าที่เป็นไกด์ทัวร์เมืองซินซินแนติทั้งที่ไม่มีใครร้องขอ เสียงทอดถอนหายใจและท่าก้มหน้าบีบจมูกอย่างอ่อนล้าเป็นอิริยาบทเคยชินของไมเคิล ขณะรับมือกับความสามัญ ซ้ำซากแห่งวิถีประจำวัน เขาเหม็นเบื่อชีวิต ตลอดจนกิจวัตรการเดินทางมาบรรยายตามเมืองต่างๆ นั่งเครื่องบิน ขึ้นแท็กซี่ เข้าพักในโรงแรม ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น หรือแปลกใหม่ แม้ว่าทุกคนรอบข้างจะคอยยัดเยียดให้เขากอบโกยความสุข สุนทรีย์แห่งชีวิตมากแค่ไหน ตั้งแต่คนขับแท็กซี่ที่พยายามชักชวนเขาให้ไปเยี่ยมชมสวนสัตว์และลองชิมชิลลี่ของซินซินแนติ (“วันเดียวก็ไปเที่ยวสวนสัตว์ได้ แค่สวนสัตว์เอง และกินชิลลี่ก็แค่ชั่วโมงเดียว”) ไปจนถึงพนักงานรูมเซอร์วิซที่สาธยายออร์เดอร์ สลัดผักกับแซลมอน ง่ายๆ ของไมเคิลให้กลายเป็นอาหารภัตตาคารห้าดาว (“สลัดผักกาดใส่กอร์กอนโซลาชีส พาร์มาแฮม และวอลนัท ราดน้ำสลัดรสเปรี้ยวผสมราสเบอร์รีกับน้ำผึ้ง กับสเต๊กปลาแซลมอนจากแม่น้ำคอปเปอร์ในอลาสก้า เสิร์ฟพร้อมหน่อไม้ฝรั่งอ่อนและซุปเห็ดทรัฟเฟิลดำ”)

มันน่าเบื่อ ทุกอย่างน่าเบื่อไปหมด ไมเคิลกล่าวหลังเบลลาเอ่ยปากชมโรงแรมสุดหรูที่เขาพักค้างคืนทางโทรศัพท์ จากนั้นในเวลาต่อมาเมื่อทั้งสองพบเจอกันที่บาร์ เขาก็สารภาพกับเธอว่า ผมเหงามาก แต่ความพยายามจะสานสัมพันธ์ที่ขาดสะบั้นลงเมื่อสิบเอ็ดปีก่อนของเขากลับจบลงอย่างหายนะ

สำหรับคนที่มองโลกด้วยอารมณ์โรแมนติกอาจเห็นว่า Anomalisa เป็นอีกหนึ่งภาพสะท้อนของวิกฤติวัยกลางคน นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในอาชีพการงาน แต่ล้มเหลวในชีวิตส่วนตัว จนไม่อาจรู้สึกเชื่อมโยงกับใครได้ แม้กระทั่งภรรยากับลูกชาย (“ไม่มีใครที่ผมพูดคุยด้วยได้ เขาโพล่งขึ้นมาระหว่างการบรรยายในช่วงท้ายเรื่อง) เพลง Flower Duet จากโอเปราเรื่อง Lakme ซึ่งไมเคิลเปิดฟังที่สนามบิน ผิวปากบนรถแท็กซี่ (คนขับจำเพลงได้เพราะมันเคยใช้โฆษณาสายการบิน บริติช แอร์เวย์) และฮัมระหว่างอาบน้ำ เป็นเพลงที่สองเสียงร้องสอดประสานกันได้อย่างกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียว นั่นคือสิ่งที่เขาปรารถนา คู่ดูเอ็ทที่จะช่วยพาเขาหลบหนีออกจากความซ้ำซาก จำเจ และความโดดเดี่ยวเป็นหนึ่งเดียว

สิ่งแรกในตัวลิซา (เจนนิเฟอร์ เจสัน ลีห์) ที่ดึงดูดไมเคิล คือ เสียงอันเป็นเอกลักษณ์ของเธอ และเมื่อได้เจอตัวจริงจากการวิ่งเคาะห้องพักทีละห้อง เขาก็พบว่าเธอมีใบหน้าแตกต่างจากคนอื่นๆ ด้วย เขาปรารถนาในตัวเธอตั้งแต่วินาทีแรกที่ได้เห็น เช่นเดียวกับตุ๊กตาหุ่นเกอิชาในร้าน ของเล่น ซึ่งคนขายโฆษณาว่า “It’s quite unusual.” แถมมันยังร้องเพลงโมโมทาโร่ได้ด้วยดังจะเห็นได้จากฉากสุดท้าย (และเสียงร้องก็เป็นเสียงของ เจนนิเฟอร์ เจสัน ลีห์) จากนั้นไม่กี่ฉากต่อมาคนดูก็จะเห็นลิซาร้อง Girls Just Want To Have Fun ให้ไมเคิลฟัง ซึ่งเป็นเพลงฮิตจากอัลบั้ม She’s So Unusual ของ ซินดี้ ลอเปอร์ เมื่อปี 1979[1] หนังพยายามเชื่อมโยงตุ๊กตาหุ่นเกอิชากับลิซาเข้าด้วยกันผ่านรายละเอียดหลากหลาย ตั้งแต่การร้องเพลง รอยแผลข้างดวงตาขวา ไปจนถึงภาษาญี่ปุ่น ซึ่งเป็นหนึ่งในภาษาที่ลิซาหลงใหล

การซ้อนทับกันอย่างประหลาดดังกล่าวทำให้บางคนถึงกับตั้งสมมุติฐานว่าลิซาอาจไม่มีตัวตนอยู่จริง และไมเคิลแค่มีเพศสัมพันธ์กับตุ๊กตาเกอิชา (นำไปสู่ข้อสังเกตของดอนนาว่าน้ำที่ไหลออกมาจากตุ๊กตาดูเหมือนน้ำกาม) แต่สมมุติฐานนั้นอาจไม่สามารถอธิบายช็อตสุดท้ายของหนังให้กระจ่างชัด อีกหนึ่งความเป็นไปได้ คือ ตุ๊กตาจักรกลเป็นเหมือนภาพแทนของลิซา เป็นภาพสะท้อนแห่งปัจเจกที่ไม่ธรรมดา แปลกประหลาด แตกต่าง และชวนให้หลงใหล (ในฉากหนึ่งเขาถึงขนาดขอจูบรอยแผลเป็นของลิซา) เป็นทางเลือกที่จะช่วยให้เขาหลุดพ้นจากความเบื่อหน่าย จำเจ และหดหู่ เป็นหนทางหลุดพ้นจากวังวนแห่งความผิดหวัง แม้ว่าช่วงเวลาดังกล่าวจะชั่วคราว หรือแสนสั้นเพียงใด ภาพสุดท้ายของไมเคิลที่คนดูได้เห็น คือ ภาพเขานั่งอยู่ในงานปาร์ตี้ที่บ้านท่ามกลางแขกเหรื่อ ซึ่งมีใบหน้าและเสียงเดียวกันหมด ดังนั้นเขาจึงเลือกจะจ้องมองไปยังตุ๊กตาเกอิชาที่กำลังร้องเพลงในฐานะเครื่องย้ำเตือนถึงอดีตอันสุขสันต์

มนุษย์มีความจำเป็นพื้นฐานไม่กี่อย่าง เช่น ที่พักอาศัย อาหาร ความต้องการทางเพศ แต่ความจำเป็นของมนุษย์ดูเหมือนจะตอบสนองได้ยากกว่าสัตว์ทั่วไป เพราะเรามีแนวโน้มที่จะเบื่อหน่าย สุดท้ายเราจึงพยายามหาทางแก้ด้วยการเพิ่มความซับซ้อนโดยไม่จำเป็นขึ้นไปอีกขั้น ด้วยหวังว่าความสุข ความพึงพอใจที่ได้รับจะเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย นั่นเป็นที่มาของความหรูหรา ขนมหวาน เครื่องดื่มแอลกอฮอล โรงแรมที่มีระบบน้ำร้อนน้ำเย็นเพื่อให้คุณอาบน้ำได้ในอุณหภูมิที่เหมาะสม ปลาแซลมอนจากแม่น้ำคอปเปอร์ในอลาสก้า ไม่ใช่ปลาแซลมอนสามัญทั่วไป และเมื่อคุณเดินเข้าร้านเซ็กซ์ช็อป สิ่งที่สะดุดตากลับกลายเป็นตุ๊กตาจักรกลโบราณ แม้ว่าทั้งหมดเหล่านั้นจะวนเวียนกลับมาตอบสนองแค่ความต้องการพื้นฐานเดิมๆ นั่นคือ ที่พักอาศัย อาหาร และความต้องการทางเพศ

ถ้า Anomalisa เป็นเหมือนหนังรักทั่วไป การค้นพบคนที่ใช่น่าจะช่วยเติมเต็มไมเคิล ทำให้เขาค้นพบ ความสุข และชีวิตลงเอยได้อย่างราบรื่น ซึ่งชั่วขณะหนึ่งนั่นดูจะมีความเป็นไปได้อยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อจู่ๆ ไมเคิลก็เสนอความคิดว่าเขาอยากบอกเลิกภรรยาระหว่างอาหารเช้า แต่นาทีแห่งความสุขสันต์ก็ผ่านพ้นไปอย่างรวดเร็ว เมื่อลิซากลับกลายเป็นเหมือนคนอื่นๆ ในสายตาของไมเคิล ทันใดนั้นเสียงของลีห์ก็ค่อยๆ โดนซ้อนทับ ก่อนจะถูกแทนที่โดยเสียงของนูแนนอย่างสมบูรณ์ในท้ายที่สุด นี่คงไม่ใช่ครั้งแรก (และครั้งสุดท้าย) ที่ปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นกับไมเคิล เชื่อว่าเมื่อสิบเอ็ดปีก่อนเขาคงเคยหลงใหลเบลลาแบบเดียวกับที่เขาหลงใหลลิซา[2] จนกระทั่งทุกอย่างเปลี่ยนไป ซึ่งในแง่หนึ่งช่วยสะท้อน ปัญหา ของไมเคิลให้กว้างไกลกว่าแค่วิกฤติวัยกลางคน หรือหนุ่มเหงาที่ออกตามหาชิ้นส่วนที่หายไป

เรื่องราวการดิ้นรนของไมเคิล คือ ภาพจำลองหลักปรัชญาของ อาร์ธัวร์ โชเปนฮาวเออร์ ผู้เชื่อว่ามนุษย์ติดอยู่ในวัฏจักรอันสิ้นหวังของความต้องการสิ่งต่างๆ การได้ครอบครองสิ่งเหล่านั้น และการอยากได้มากขึ้นไปอีก ซึ่งไม่มีวันจบสิ้นจนกว่าเราจะตายจากไป เมื่อไรก็ตามที่ดูเหมือนว่าเราได้ในสิ่งที่ต้องการแล้ว เราก็เริ่มอยากได้สิ่งอื่น มนุษย์เป็นเช่นนั้น เราไม่เคยรู้จักพอ ไม่เคยหยุดปรารถนาที่จะได้มากกว่าที่เรามี นอกจากนี้ เขายังพูดถึงความจริงในสองแง่มุม นั่นคือ เจตจำนง (Will) และภาพแทน (Representation) อย่างแรกคือแรงขับเคลื่อนที่ไม่มีจุดประสงค์หรือเป้าหมาย เป็นคลื่นพลังรุนแรงที่อยู่ในปรากฏการณ์ธรรมชาติทุกรูปแบบ ผลักดันให้พืชและสัตว์เติบโต รวมถึงการดำรงอยู่ของมนุษย์ ส่วนอย่างหลังคือความจริงที่เราสร้างขึ้นในจิตของเรา สิ่งที่คุณกำลังมีประสบการณ์ผ่านประสาทสัมผัสของคุณ[3]

โชเปนฮาวเออร์มองว่ามนุษย์ก็ไม่ต่างจากหุ่นกระบอก ซึ่งปราศจากคนเชิด (ไม่มีพระเจ้า) แต่เดินหน้าด้วยกลไกภายในที่ไม่เคยหยุด กล่าวคือ เราเป็นทั้งนักโทษและผู้ร่วมก่อการของพลังแห่งเจตจำนง บ่อยครั้งมนุษย์จะใช้ชีวิตในโลกของภาพแทนโดยเชื่อว่ามันเป็นความจริงเพียงหนึ่งเดียว แต่โชเปนฮาวเออร์เชื่อว่ายังมีความจริงในระดับที่สูงขึ้นไป นั่นคือ โลกแห่งเจตจำนง ซึ่งดำรงอยู่เหนือประสบการณ์คุณ เหนือโลกแห่งสภาพปรากฏ (appearance) นั่นอาจเป็นเหตุผลให้สองผู้กำกับ ชาร์ลี คอฟแมน และ ดุค จอห์นสัน เลือกใช้หุ่นกระบอกโดยไม่คิดจะปกปิดรอยต่อชัดเจนที่แบ่งครึ่งใบหน้า จนบางครั้งมันก็หลุดออกและเผยให้เห็นกลไกภายใน เช่น ในฉากฝันร้ายของไมเคิล ขณะที่รอยต่อคอยย้ำเตือนสถานะ หุ่นกระบอก ของตัวละคร การนำเสนอแต่ละสถานการณ์อย่างสมจริง (โดดเด่นสุดคงหนีไม่พ้นฉากร่วมรักระหว่างไมเคิลกับลิซา) ผ่านฉากหลังที่สามัญ ชินตา (จนบางคนอาจนึกสงสัยว่าทำไมถึงต้องถ่ายทอดเรื่องราวมาเป็นอนิเมชัน) และบทสนทนาอันเป็นธรรมชาติ กลับเดินหน้าผลักดันหนังไปในทิศทางตรงข้าม นั่นคือ สัมผัสความเป็นมนุษย์ภายใต้พื้นผิวประดิษฐ์

เช่นเดียวกับผลงานศิลปะชั้นยอดอย่างซิมโฟนีของเบโธเฟน ซึ่งโชเปนฮาวเออร์เชื่อว่าสามารถช่วยให้เราเห็นแวบหนึ่งของความจริง หลบหนีจากวัฏจักรอันไม่สิ้นสุดของการดิ้นรนและความปรารถนาได้ในชั่วขณะหนึ่ง Anomalisa ปิดตัวได้งดงามด้วยช็อตสุดท้ายที่เปิดโอกาสให้คนดูได้เห็น ความจริง เพราะมันเป็นช็อตเดียวของหนังที่ไม่ถูกถ่ายทอดผ่านสายตาของไมเคิล ด้วยเหตุนี้เราจึงกลับมาได้ยินเสียงของ เจนนิเฟอร์ เจสัน ลีห์ รวมถึงได้เห็นใบหน้าแท้จริงของเอมิลีเป็นครั้งแรก... บางทีทางออกจากวังวนของไมเคิลคือการก้าวข้ามโลกของภาพแทน การหมกมุ่นกับความต้องการ หรือแรงปรารถนาของตัวเอง แล้วตระหนักว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เชื่อมโยงเราทั้งหมดในโลกแห่งเจตจำนง หลักศีลธรรมขั้นพื้นฐานที่โชเปนฮาวเออร์เชื่อว่าจะทำให้ชีวิตน่าอยู่ขึ้น คือ ความเห็นอกเห็นใจกัน (compassion) เพราะเมื่อใดที่คุณตระหนักว่ามนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของแรงขับหนึ่งเดียว และปัจเจกชนดำรงอยู่แค่ในระดับของโลกแห่งภาพแทน เมื่อนั้นคุณก็อาจจะไม่รู้สึกโดดเดี่ยวมากนัก  




[1] ในเวอร์ชั่นละครเสียง เพลงที่ลิซาร้อง คือ My Heart Will Go On ของ ซีลีน ดีออน แต่เนื่องจากทีมงานไม่สามารถขอลิขสิทธิ์เพลงได้ พวกเขาจึงเปลี่ยนมาเลือกเพลงของ ซินดี้ ลอเปอร์ แทน ซึ่งหากพิจารณาจากบุคลิก ไม่ธรรมดาอันเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นของตัวลอเปอร์แล้ว ต้องถือว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเหมาะเจาะลงตัวยิ่งกว่าเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อ Girls Just Want To Have Fun แรกเริ่มเดิมทีเป็นเพลงที่แต่งโดย โรเบิร์ต ฮาซาร์ด ผ่านมุมมองของผู้ชายต่อเพศหญิง ก่อนจะถูกนำมาดัดแปลงเนื้อร้องใหม่โดยลอเปอร์จนสุดท้ายกลายเป็นเพลงชาติสำหรับเฟมินิสต์ยุค 1980 ไม่ใช่เรื่องยากที่จะจินตนาการว่าผู้หญิงที่ขาดความมั่นใจอย่างลิซา (“คุณแน่ใจนะว่าไม่อยากชวนเอมิลี ทุกคนมักชอบเอมิลีมากกว่า”) จะหลงใหลเนื้อเพลงในช่วง “I want to be the one to walk in the sun.” (ฉันอยากเชิดหน้าก้าวเดินอย่างภาคภูมิใจ) และการที่ผู้ชายอย่างไมเคิลประกาศเลือกเธอต่อหน้าเอมิลีนั้นมีความหมายต่อเธอมากแค่ไหน

[2] ลิซาสะดุดล้มระหว่างเดินไปห้องไมเคิล เธอบอกเขาว่ามันเกิดขึ้นเป็นประจำ เบลลาเองก็ดูจะเป็นผู้หญิงซุ่มซ่ามไม่แพ้กันตอนเธอเล่าให้ไมเคิลฟังว่าต้องไปทำฟันปลอมเพราะดันหกล้มหน้ากระแทกม้านั่งซีเมนต์ นอกจากนี้ ตอนไมเคิลถามเบลลาว่า ผมเปลี่ยนคุณหรือเปล่า ก็ยังเปรียบเสมือนภาพสะท้อนเหตุการณ์ที่ไมเคิลพยายามบอกให้ลิซาอย่ากัดส้อม หรือพูดขณะอาหารยังเต็มปาก หรือเจ้ากี้เจ้าการชีวิตเขา

[3] อ้างอิงจากหนังสือ ประวัติศาสตร์ปรัชญาฉบับกะทัดรัด เขียนโดย ไนเจล วอร์เบอร์ตัน แปลโดย ปราบดา หยุ่น และ รติพร ชัยปิยะพร

ไม่มีความคิดเห็น: