วันอาทิตย์, กันยายน 27, 2558

The Tribe: สิ้นเสียงเดียงสา


หลายคนอาจเปรียบเทียบ The Tribe ผลงานกำกับเรื่องแรกของ มิโรสลาฟ สลาโบชพิทสกี กับภาพยนตร์เงียบตรงที่มันปราศจากบทสนทนา หรือคำพูดแม้แต่คำเดียวตลอดเวลาสองชั่วโมงกว่า เนื่องจากเรื่องราวทั้งหมดดำเนินเหตุการณ์ในโรงเรียนประจำสำหรับคนหูหนวกและตัวละครทุกคนก็สื่อสารกันด้วยภาษามือ แต่ความแตกต่างสำคัญอยู่ตรงที่ The Tribe เลือกจะไม่ใส่ซับไตเติลให้กับภาษามือเหล่านั้น ขณะที่หนังเงียบส่วนใหญ่ยังใช้คำบรรยาย (Intertitle) เป็นตัวช่วยในการเล่าเรื่อง ดังนั้นคนดูจึงถูกปล่อยให้เติมเต็มช่องว่างในรายละเอียดต่างๆ เอาเอง โดยอาศัยเบาะแสจากภาษาท่าทางของเหล่านักแสดงสมัครเล่น (ทั้งหมดเป็นคนหูหนวก) หรือกระทั่งเสียงประกอบซึ่งถูกเน้นให้เด่นชัดขึ้น ทั้งนี้เพราะสลาโบชพิทสกีตัดสินใจที่จะไม่ใช่ดนตรีในการชี้นำอารมณ์คนดูอีกด้วย

พิจารณาจากฉากหลังของเรื่องราวและนักแสดง มันเป็นเหตุเป็นผล หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นความจำเป็นด้วยซ้ำที่หนังจะปราศจากบทสนทนา แต่การเลือกที่จะไม่ใส่ซับไตเติลอาจถือเป็น ลูกเล่นของผู้กำกับเพื่อเพิ่มสีสันให้กับตัวหนังคล้ายคลึงกับการเล่าเรื่องแบบถอยหลังของหนังอย่าง Memento กล่าวคือ แทนการนำเสนอภาพต่อจิ๊กซอว์ที่เสร็จสมบูรณ์ตามธรรมเนียมปฏิบัติ สลาโบชพิทสกีกลับเลือกจะดึงตัวต่อบางชิ้นออก ส่งผลให้เกิดช่องว่างและความคลุมเครืออันชวนให้พิศวง แม้ว่าโดยตัวเรื่องหลักจะค่อนข้างชัดเจนผ่านการเล่าด้วยภาพ

เซอร์เก (กรีกอรี เฟเซนโก) ตัวละครเอกซึ่งเรารับรู้ชื่อจากเครดิตท้ายเรื่อง เดินทางมาถึงโรงเรียนประจำแห่งนี้ด้วยภาพของเด็กหนุ่มเซื่องซื่อ ดูไม่มีพิษมีภัย เช่นเดียวกับตัวโรงเรียนในช่วง 10 นาทีแรก ซึ่งมีกิจวัตรเฉกเช่นโรงเรียนปกติทั่วไป ยกเว้นเพียงครูและนักเรียนทุกคนล้วนสื่อสารด้วยภาษามือ ส่วนสัญญาณบอกเวลาเข้า/เลิกคลาสก็จะเป็นดวงไฟกะพริบแทนเสียงระฆัง แต่หลังจากนั้นหนังก็ค่อยๆ เปิดม่านให้เห็นความเป็นไปอันชวนให้หดหู่ น่าสะพรึงของชีวิตจริงเบื้องหลังชั้นเรียน ซึ่งปกครองด้วยระบบโซตัส เมื่อรุ่นพี่ต้อนรับน้องใหม่ด้วยการกลั่นแกล้งสนุกๆ แบบพอเป็นพิธี ก่อนจะดึงดูดเขาเข้าสู่โลกแห่งอาชญากรรม สารพัดรูปแบบ ตั้งแต่การแอบขโมยเงินจากตู้นอนของผู้โดยสารบนรถไฟ ไปจนถึงการพานักเรียนหญิงสองคนออกตระเวนขายตัวตามลานจอดรถบรรทุก และดักปล้นของชำในยามค่ำคืน เซอร์เกถูกชักนำเข้าสู่ ชนเผ่า ซึ่งแบ่งชนชั้นตามระบบอำนาจนิยม (ยอดบนสุดของพีระมิด คือ ครูสอนวิชาช่างไม้ เจ้าของรถตู้ที่สองสาวใช้สำหรับออกไปหากินในยามค่ำคืน) และเขาจำเป็นต้องพิสูจน์ตัวเองผ่านการต่อสู้กับสมาชิกในแก๊งกว่าจะได้รับความไว้วางใจให้เข้าร่วมภารกิจ แต่เมื่อใดก็ตามที่เขา ทำพัง ก็จะถูกลดขั้นให้ไปขายตุ๊กตาบนรถไฟ พร้อมกับโดนเนรเทศให้ไปนอนร่วมห้องกับพวก ขี้แพ้ทันที

ความขัดแย้งระหว่างเซอร์เกกับกลุ่มมาเฟียหูหนวกเริ่มต้นขึ้นเมื่อเขาเกิดหลงใหล อันนา (ยานา โนวิโควา) หนึ่งในสองโสเภณีเด็ก และการแสดงความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของก็ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ หลังจากเขาทราบข่าวว่าอันนากับเพื่อนสาวกำลังจะเดินทางไป (ค้าประเวณี) ยังประเทศอิตาลีโดยอาศัยเส้นสายของเจ้าหน้าที่รัฐและการจ่ายเงินใต้โตะ จนนำไปสู่ฉากจบที่ชวนช็อก เมื่อเซอร์เก เจ้าหนูหน้าซื่อในช่วงต้นเรื่องที่ยินยอมให้ถูกฉุดกระชากลากถูไปตามคำสั่ง ตัดสินใจลุกขึ้นยืนหยัดต่อสู้และเอาคืนระบบกับผู้มีอำนาจอย่างสาสม มันเป็นส่วนผสมระหว่างอารมณ์สะใจของการแก้แค้นในแบบหนังสยองขวัญ หรือหนังทริลเลอร์ กับอารมณ์มืดหม่น หดหู่ เมื่อเราพลันตระหนักว่าตัวละครได้สูญเสียความเป็นมนุษย์ สำนึกผิดชอบชั่วดีจนหมดสิ้น พร้อมกับนึกตั้งคำถามว่าเขาเดินทางดำดิ่งมาถึงหุบเหวอันมืดมิดนี้ได้อย่างไร

ไม่ใช่เรื่องแปลกหากภาพลักษณ์ที่ปิดล้อมและเป็นเอกเทศของโรงเรียนสำหรับคนหูหนวกใน The Tribe จะถูกนำไปเปรียบเทียบว่าเป็นสัญลักษณ์แทนระบบอำนาจนิยม ซึ่งประชาชนไม่อาจเปล่งเสียง แถมยังถูกเอารัดเอาเปรียบ กดขี่โดยเหล่าผู้มีอำนาจหลายระดับ ไม่ว่าจะเป็นเด็กรุ่นพี่ หรือครู คอรัปชันและการแสวงหาผลประโยชน์แพร่กระจายอย่างรวดเร็วผ่านระบบทุนนิยม ส่งผลให้ทุกคนถูกบีบให้ต้องปากกัดตีนถีบ และทำทุกวิถีทางเพื่อความอยู่รอดของตัวเอง แม้จะต้องลงเอยด้วยการใช้กำลังเข้าห้ำหั่นกันก็ตาม ด้วยเหตุนี้การล่มสลายทางจิตวิญญาณของตัวละครเอกจึงหาใช่ความบกพร่องจากภายในเพียงอย่างเดียว แต่ส่วนหนึ่งยังเป็นผลพวงจากสภาพแวดล้อมภายนอกอันฟอนเฟะอีกด้วย

มองในเชิงสุนทรียศาสตร์ทางภาพยนตร์ ผลงานกำกับของ มิโรสลาฟ สลาโบชพิทสกี น่าจะได้อิทธิพลไม่น้อยจากกลุ่มนักทำหนังคลื่นลูกใหม่ของโรมาเนียในช่วงต้นทศวรรษ 2000 ผ่านผลงานเด่นอย่าง The Death of Mr. Lazarescu และ 4 Months, 3 Weeks and 2 Days รวมไปถึงผลงานของ ลุค และ ฌอง-ปิแอร์ ดาร์เดน สองพี่น้องผู้กำกับชื่อดังชาวเบลเยียม ดังจะเห็นได้จากความหลงใหลในการถ่ายภาพแบบ long take ตามติดตัวละคร สลับกับการแช่ภาพนิ่งเป็นเวลาหลายนาที (หนังทั้งเรื่องมีการตัดภาพเพียง 34 ครั้ง ซึ่งน้อยกว่าฉากแอ็กชั่นหนึ่งฉากในหนังของ ไมเคิล เบย์ ด้วยซ้ำ) เทคนิคดังกล่าวนอกจากจะเสริมสร้างความสมจริงแล้ว ยังช่วยขับเน้นความเข้มข้นทางอารมณ์ได้อย่างโดดเด่นอีกด้วย เช่น ในฉากทำแท้งให้อันนา เมื่อกล้องตามติด หมอทำแท้ง ขณะเธอเดินไปหยิบจับและตระเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ ก่อนจะหยุดนิ่งตลอดขั้นตอนการขูดมดลูกราวกับสลาโบชพิทสกีกำลังเล่นเกมแข่งจ้องตาเพื่อดูว่าใคร (กล้องหรือคนดู) จะกะพริบก่อนกัน เรียกได้ว่าความโหดร้ายของฉากนี้ก้าวข้ามฉากทำแท้งใน 4 Months, 3 Weeks and 2 Days ขึ้นไปอีกขั้น แต่ท่ามกลางความสยดสยองกลับเจือไว้ด้วยอารมณ์เศร้าสลดของมนุษย์ผู้จนตรอกและสิ้นไร้ทางเลือกไม่แพ้กัน

อย่างไรก็ตามความเหมือนจริงดูจะไม่ใช่สิ่งที่สลาโบชพิทสกีใฝ่หาขั้นสูงสุดเสียทีเดียว เพราะในเวลาเดียวกันเขากลับต้องการความงามและการขับเน้นแบบโอเปรา หรือภาพวาดควบคู่ไปกับความต่ำตม อัปลักษณ์ของสภาพแวดล้อมทั้งหลายอีกด้วย เห็นได้จากการจัดวางท่วงท่านักแสดงในฉากร่วมรักโดยมีผนังปูนเปลือยสีฟ้าเป็นแบ็คกราวด์ซึ่งให้ความรู้สึกคล้ายคลึงกับผลงานจิตรกรรมมากกว่าจะดูเหมือนจริง (ไม่น่าแปลกที่ผู้กำกับจะให้สัมภาษณ์ว่าเขาใช้ฉากรักใน Blue Is The Warmest Color เป็นข้อมูลอ้างอิงให้นักแสดงศึกษาก่อนเข้าฉาก) เช่นกันฉากต่อสู้หน้าตึกร้างช่วงต้นเรื่องก็ถูกจัดวางจังหวะ ตำแหน่งบล็อกกิ้งอย่างละเอียด ราวกับมันเป็นฉากหนึ่งในหนังเพลง หรือการแสดงบัลเล่ต์มากกว่าจะให้อารมณ์สมจริงแบบข้างถนน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ตัวละครไม่อาจเปล่งเสียงโห่ร้อง ปลุกเร้า หรือกระตุ้นการต่อสู้ได้แบบเดียวกับฉากทำนองเดียวกันในหนังทั่วไป และอีกส่วนน่าจะเป็นผลจากการที่สลาโบชพิทสกีกับตากล้องของเขา วาเลนทีน วาสยาโนวิช เลือกจะใช้สเตดิแคม ซึ่งให้ความเคลื่อนไหวที่นุ่มนวลราบรื่นมากกว่า แทนการใช้กล้องแฮนด์เฮลตามธรรมเนียมปฏิบัติของหนังแนวสัจนิยม รวมไปถึงการยืนกรานที่จะถ่ายทอดเหตุการณ์โดยปราศจากโคลสอัพช็อตเพื่อเน้นย้ำการเคลื่อนไหวแบบหมู่คณะ ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครกับพื้นที่ว่าง

คุณสมบัติดังกล่าวทำให้ The Tribe กลายเป็นหนังที่เปี่ยมสไตล์ปรุงแต่ง ตลอดจนการทดลองแปลกใหม่ แต่ในเวลาเดียวกันก็เน้นความเรียบง่าย สมจริงไปพร้อมๆ กัน มันเป็นส่วนผสมที่น่าประหลาด ไม่ต่างจากเรื่องราวหลักของหนัง ซึ่งโดยเนื้อแท้แล้วค่อนข้างตรงไปตรงมา และน่าจะคุ้นเคยดีสำหรับผู้ชมที่ผ่านการดูหนังมาระดับหนึ่ง แต่ถูกทำให้คลุมเครือ ซับซ้อนขึ้นผ่านขั้นตอนดึงชิ้นส่วนออกจนเหลือช่องว่างสำหรับใช้จินตนาการเติมเต็ม

แม้จะหยิบยืมสไตล์มาจากสองพี่น้องดาร์เดน แต่เห็นได้ชัดว่าสลาโบชพิทากีหาได้สนใจที่จะสำรวจประเด็นทางด้านศีลธรรม หรือวิเคราะห์ตัวละครในเชิงลึกแบบเดียวกับนักทำหนังสองพี่น้องชาวเบลเยียม ตรงกันข้าม มุมมองของเขาต่อมนุษย์ ตลอดจนโทนอารมณ์เย็นชาโดยรวมดูจะใกล้เคียงกับผลงานของ ไมเคิล ฮาเนเก้ มากกว่า กล้องของเขารักษาระยะห่างระหว่างคนดูกับตัวละครและเรื่องราว ไม่มีภาพโคลสอัพ ไม่มีภาพแทนสายตา คนดูไม่ได้ถูกดึงดูดให้เข้าไปมีส่วนร่วม แต่เป็นเพียงผู้สังเกตการณ์อยู่ห่างๆ (พึงสังเกตว่าในหนังอย่าง Memento การเล่าเรื่องถอยหลังช่วยสร้างอารมณ์ร่วมให้คนดูเข้าไปอยู่ในโลกของตัวละครเอกที่เป็นโรคความจำเสื่อม ซึ่งหากสลาโบชพิทากีต้องการผลลัพธ์ใกล้เคียงกัน เขาอาจจำเป็นต้องใส่ซับไตเติลให้กับภาษามือ แล้วดับเสียงประกอบทั้งหลายให้เหลือศูนย์) ขณะเดียวกันตัวละครของเขาก็ห่างไกลจากคำว่าน่าเห็นอกเห็นใจ ซึ่งพบเห็นได้ไม่บ่อยนักในหนังที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับบุคคลพิการทางร่างกาย ตรงกันข้าม พวกเขาล้วนเต็มไปด้วยกิเลส ราคะ ความชั่วร้าย ความโลภ และความเจ้าเล่ห์ไม่แตกต่างจากบุคคลปกติทั่วไป แม้กระทั่งสองสาวโสเภณีก็ไม่ได้ถูกนำเสนอในภาพลักษณ์ของเหยื่อสักเท่าไหร่ อันที่จริงพวกเธอดูจะเอ็นจอยกับอาชีพนี้ และมีท่าทีตื่นเต้นดีใจที่จะได้เดินทางไปต่างประเทศเสียด้วยซ้ำ ขณะเดียวกันอันนาเองก็ดูจะไม่ได้ปลาบปลื้มเท่าใดนักกับความพยายามของเซอร์เกในอันที่จะช่วยเหลือเธอ ไม่ว่าจะด้วยความรัก ความหึงหวง หรือการได้ดูหนังเรื่อง Taxi Driver มากเกินไปก็ตาม

ความพิการของตัวละครถูกนำมาใช้รองรับเรื่องราวได้อย่างเปี่ยมประสิทธิภาพในสองฉากสำคัญ ฉากแรก คือ ฉากที่แมงดาถูกรถบรรทุกถอยมาทับตายเพราะเขาไม่ได้ยินเสียงเครื่องยนต์ จนต่อมาส่งผลให้เซอร์เกได้ก้าวขึ้นมารับหน้าที่แทน และฉากที่สอง คือ ฉากจบซึ่งน่าจะทำให้คนดูสะดุ้งและขนหัวลุกได้ไม่ยากกับความหฤโหดแบบฉับพลัน เงียบเชียบ และเยือกเย็น รวมเลยไปถึงนัยยะอันมืดหม่นของหนังต่อความเป็นมนุษย์ 

ไม่มีความคิดเห็น: