วันจันทร์, ธันวาคม 20, 2564

Little Women: ขัดขืนภายใต้กรอบจำกัด

การสร้างหนังจากนิยายเก่าแก่ ซึ่งเคยถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์มาแทบจะนับครั้งไม่ถ้วนจนผู้คนจดจำเรื่องราวได้ขึ้นใจ ให้ออกมาได้อารมณ์สดใหม่ เต็มเปี่ยมไปด้วยชีวิตชีวานั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ เกรตา เกอร์วิก ก็ไม่หวาดหวั่นต่อภารกิจสุดท้าทาย และหากพิจารณาจากผลลัพธ์ที่ออกมา อาจพูดได้ว่าเธอประสบความสำเร็จอย่างน่าพอใจ

ความแตกต่างอันดับแรกที่ทุกคนคงสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนใน Little Women เวอร์ชั่นล่าสุด คือ วิธีเล่าเรื่องแบบไม่เรียงลำดับเวลา ตัดสลับไปมาระหว่างปัจจุบันกับอดีต และหลายครั้งระหว่างตัวละครสี่ดรุณีด้วยกันเอง โดยมีโจ (เซอร์ชา โรแนน) เป็นศูนย์กลาง (สังเกตได้ว่าหนังเริ่มต้นและจบที่เธอ) ขณะเดียวกัน Little Women ของ ลุยซา เมย์ อัลคอตต์ ซึ่งเป็นต้นแบบของหนัง กับ Little Women หนังสือที่โจแต่งในหนัง และชีวิตจริงของอัลคอตต์ก็ยังถูกเบลอเข้าด้วยกันอีกด้วย (ในเครดิตเปิดเรื่อง ซึ่งเป็นภาพปกหนังสือสีแดง ตัวอักษรสีทอง ระบุชื่อผู้แต่งว่าเป็นอัลคอตต์ แต่ในฉากสุดท้ายของหนัง คนดูจะเห็นปกแบบเดียวกัน ชื่อเรื่องเดียวกัน แต่คราวนี้ชื่อคนแต่งเป็น โจ มาร์ช) จนนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงสำคัญอีกประการของเกอร์วิก นั่นคือ ฉากจบ ซึ่งจะพูดถึงในภายหลัง

หนังเริ่มต้นด้วยเหตุการณ์ปัจจุบัน เมื่อโจเดินทางไปเสนอต้นฉบับกับมิสเตอร์แดชวู้ด (เทรซี เลตส์) บรรณาธิการสำนักพิมพ์ และถูกกดค่าแรง แต่ก็ดีใจที่ขายงานออก คนดูได้รับรู้ว่าเธอหาเลี้ยงชีพอยู่ในกรุงนิวยอร์กด้วยการเขียนหนังสือและเป็นครูสอนตามบ้าน ก่อนจะโดนตามตัวกลับเมืองคอนคอร์ด รัฐแมสซาชูเซตส์ เมื่อได้ข่าวน้องสาว เบ็ธ (อีไลซา สแกนเลน) กำลังป่วยหนัก ขณะเดียวกัน เม็ก (เอ็มมา วัตสัน) พี่สาวคนโต ก็กำลังประสบปัญหาการเงิน หลังนิสัยรักสวยรักงามทำให้เธอเผลอใช้เงิน (ของสามี) เกินตัว ส่วน เอมี (ฟลอเรนซ์ พิวจ์) น้องสาวคนเล็ก ก็กำลังท่องเที่ยวยุโรปกับป้ามาร์ช (เมอรีล สตรีพ) ซึ่งสนับสนุนให้เธอหาสามีรวยๆ เพื่ออนาคตของตัวเองและของครอบครัวเธอ แทนที่จะไล่ตามความฝันลมๆ แล้งๆ ในการเป็นศิลปิน ที่นั่นเธอบังเอิญพบกับ ลอรี (ทิโมธี ชาลาเมต์) เพื่อนสนิทของครอบครัวที่เดินทางมายุโรปเพื่อเลียแผลใจหลังโดนโจปฏิเสธคำขอแต่งงาน

ในช่วงเวลาราวสิบนาทีแรกหนังได้แนะนำตัวละครสำคัญๆ อย่างครบถ้วนเกือบทั้งหมด แบ่งน้ำหนักลดหลั่นกันไปตามบท (โจ > เอมี > เม็ก > เบ็ธ) ก่อนจะตัดภาพย้อนอดีตไปยังช่วง 7 ปีก่อนหน้า และรักษาโครงสร้างดังกล่าวไว้ตลอดจนกระทั่งฉากแฟลชแบ็คไล่ตามมาทันฉากปัจจุบันตามท้องเรื่องในช่วงท้าย โดยฉากปัจจุบันจะถูกหั่นสั้นลงเรื่อยๆ เพราะเรื่องราวส่วนใหญ่ดำเนินเหตุการณ์อยู่ในพาร์ทอดีต (หนังสือแบ่งเป็นสองพาร์ท ตีพิมพ์คนละช่วงเวลา ก่อนที่ภายหลังจะนำมาตีพิมพ์รวมกันภายใต้ชื่อ Little Women พาร์ทแรกตีพิมพ์เมื่อปี 1868 เรื่องราวจบลงเมื่อคุณพ่อมาร์ชได้กลับมาอยู่กับครอบครัว ส่วนพาร์ทที่สองตีพิมพ์หลังจากพาร์ทแรกประสบความสำเร็จ ซึ่งเสียงเรียกร้องจากแฟนๆ และความกดดันของบรรณาธิการทำให้อัลคอตต์ตกลงเปลี่ยนตอนจบจากที่คิดไว้ตอนแรก)

เกอร์วิกตัดเชื่อมโยงระหว่างอดีตกับปัจจุบันได้อย่างแนบเนียน ลื่นไหลผ่านกลวิธีหลากหลาย ทั้งการเชื่อมโยงโดยบทสนทนา ตัวละคร ภาพ หรือเหตุการณ์ เช่น ฉากโจเต้นรำกับฟรีดริช (หลุยส์ การ์เรล) ตัดไปยังฉากโจกับเม็กเตรียมพร้อมสำหรับงานเต้นรำ ซึ่งทั้งคู่จะได้พบกับลอรีเป็นครั้งแรกและโจได้เต้นรำกับลอรีอย่างอิสระโดยไร้กรอบจำกัด เขาจะพาหญิงสาวทั้งสองมาส่งบ้านหลังจากเม็กข้อเท้าส้น แล้วจากมาด้วยการเฝ้าดูโจเขียนหนังสือผ่านทางหน้าต่างห้องใต้หลังคา ก่อนที่หนังจะตัดกลับมายังปัจจุบันอีกครั้งด้วยภาพแบบเดียวกัน นั่นคือ โจก้มหน้าก้มตาเขียนหนังสือในห้องยามค่ำคืน โดยคราวนี้เป็นฟรีดริชที่คอยเฝ้ามองอยู่ห่างๆ ซึ่งช่วยสะท้อนให้เห็นว่าพลังไฟในการเขียนของโจไม่เคยเปลี่ยนแปลง จากนั้นหนังก็ตัดข้ามเหตุการณ์ไปยังทวีปยุโรปเพื่อเล่าเรื่องราวระหว่างลอรีกับเอมีในงานเลี้ยงเต้นรำอีกงาน

การซ้อนทับระหว่างอดีตกับปัจจุบันสะท้อนผ่านทั้งในภาพ เช่น โจนอนหลับบนรถไฟระหว่างเดินทางกลับบ้าน ก่อนหนังจะตัดย้อนอดีตด้วยภาพโจลืมตาตื่นนอนขึ้นมาในเช้าวันคริสต์มาส และเรื่องราว เช่น อาการป่วยของเบ็ธสองครั้งในฉากอดีตกับปัจจุบันถูกนำมาเล่าต่อกัน ฉายซ้ำด้วยภาพโจผล็อยหลับระหว่างเฝ้าไข้ ก่อนจะตื่นขึ้นมา ไม่เห็นน้องอยู่บนเตียง และเดินลงมาชั้นล่าง ครั้งหนึ่งลงเอยด้วยความสุขสันต์ ส่วนอีกครั้งลงเอยด้วยความสูญเสีย นอกจากนี้ เกอร์วิกยังใช้โทนสีเพื่อแยกแยะอดีตกับปัจจุบันไม่ให้สับสนปนเปกัน พร้อมทั้งสื่ออารมณ์ขัดแย้งระหว่างกันอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นฉากเบ็ธป่วย หรือฉากเที่ยวชายทะเล อดีตอบอวลไปด้วยแสงทองอบอุ่น ขณะที่ปัจจุบัน (เมื่อโจพาเบ็ธไปชายหาดและฝ่ายหลังกระตุ้นให้พี่สาวเขียนเรื่องราวของ พวกเรา ต่อไป แม้กระทั่งหลังจากเธอไม่อยู่อีกแล้ว) เต็มไปด้วยโทนสีฟ้าทึม ค่อนข้างเย็นชาและเหือดแห้ง ในอดีตปัญหา ความขัดแย้งถูกเล่าด้วยโทนสนุกสนาน สอดแทรกอารมณ์ขัน ขณะที่ปัญหาในปัจจุบันถูกนำเสนอในโทนที่ค่อนข้างเคร่งขรึม หม่นเศร้ากว่า ไม่อยากเชื่อเลยว่าวัยเด็กของเราสิ้นสุดลงแล้ว โจพูดขึ้นในวันที่เม็กแต่งงาน (อดีต) ซึ่งฉากดังกล่าวถูกเล่าตามหลังฉากการตายของเบ็ธ (ปัจจุบัน) ฉะนั้นเมื่อเราเห็นโจเฝ้ามองไปยังเอมีกับเบ็ธขณะประดับดอกไม้ในสถานที่จัดงาน มันจึงให้อารมณ์โศกเศร้าและถวิลหาอดีตอย่างที่ไม่อาจจะเป็นไปได้หากเกอร์วิกเล่าเรื่องเรียงตามลำดับเวลา

ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า Little Women ถูกนำมาดัดแปลงสร้างจนเกร่อ คนส่วนใหญ่ต่างคุ้นเคยเรื่องราวเป็นอย่างดีว่าใครจะลงเอยกับใคร ใครจะอยู่หรือใครจะตาย เกอร์วิกตระหนักว่าเธอไม่อาจดึงความสนใจของผู้ชมด้วยคำถาม แล้วจะเกิดอะไรขึ้นต่อ เหมือนหนังส่วนมากได้ รูปแบบการตัดสลับระหว่างอดีต-ปัจจุบันจึงถูกนำมาช่วยกระตุ้นคนดูให้หันมาตั้งคำถามแทนว่า อะไรเป็นเหตุให้เกิดผลลัพธ์ซึ่งเราต่างตระหนักกันดีอยู่แล้ว (หนังเฉลยตั้งแต่ฉากแรกๆ ว่าลอรีโดนโจปฏิเสธความรัก) รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เป็นสิ่งที่เกอร์วิกยังสามารถแต่งเติมหรือบิดผันได้บ้าง โดยรักษาโครงเรื่องหลักๆ เอาไว้ เช่น การเลือกดาราหนุ่มหล่อชาวฝรั่งเศสอย่าง หลุยส์ การ์เรล มารับบทฟรีดริช ทั้งที่ในหนังสือได้บรรยายตัวละครว่าเป็นชายวัยกลางคนชาวเยอรมันที่ ไม่ได้ร่ำรวยหรือยิ่งใหญ่ ไม่ได้หนุ่มแน่นหรือหล่อเหลา (เวอร์ชั่นปี 1994 รับบทโดย เกเบรียล เบิร์น)

จริงอยู่ เธอ (อัลคอตต์) อธิบายศาสตราจารย์แบร์ว่าเป็นหนุ่มวัยกลางคนชาวเยอรมันที่ปราศจากเสน่ห์ดึงดูด แต่นี่เป็นหนัง และฉันมีสิทธิ์จะทำตามใจตัวเอง Little Women พูดถึงหลายประเด็น ทั้งความทะเยอทะยาน ศิลปะ เงิน ครอบครัว และการเติบโต แต่อีกประเด็นที่คนมักจะหลงลืมกัน ก็คือ มันพูดถึงแรงปรารถนาของเพศหญิง ในฐานะนักทำหนัง ฉันลังเลที่จะพูดถึงประเด็นอย่าง การจ้องมองของเพศหญิง เพราะมันเป็นขอบเขตที่ควรสงวนไว้สำหรับนักวิจารณ์และนักวิชาการ ฉันไม่ค่อยอยากจะคิดถึงมันในแง่นั้น เกอร์วิกอธิบายตัวเลือกของเธอ อ่านเผินๆ อาจฟังดูเหมือนว่าเกอร์วิกแค่ต้องการให้พระเอกของเธอดูเจริญหูเจริญตา เป็นพระเอกแบบที่ผู้หญิงอยากจะเห็น ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร ในเมื่อคนดูมักเติบโตมากับหนังที่ยัดเยียด การจ้องมองของเพศชาย มาเกือบตลอดชีวิต เนื่องจากคนทำหนังและผู้บริหารสตูดิโอเป็นผู้ชายเสียส่วนใหญ่ นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมอุตสาหกรรมภาพยนตร์จึงควรผลักดันให้เกิดความหลากหลายมุมมองนอกเหนือไปจากมุมของผู้ชายผิวขาว (คนผิวสี ผู้หญิง LGBT ฯลฯ) แต่หากวิเคราะห์ให้ลึกลงไปจะพบว่าการเลือก หลุยส์ การ์เรล มาเป็นพระเอกยังสอดคล้องกับฉากจบแบบที่เกอร์วิกเลือกได้อย่างแนบเนียนอีกด้วย

มีอยู่ฉากหนึ่งช่วงท้ายเรื่องโจสารภาพว่าเธอกำลังเขียนหนังสือเกี่ยวกับชีวิตของเธอกับพี่น้อง แต่ไม่แน่ใจว่าจะมีใครสนใจอยากอ่าน หรืออยากตีพิมพ์ไหม เพราะเรื่องราวความรัก ความสุข ความขัดแย้งในครอบครัวระหว่างพี่น้องสี่ดรุณีไม่น่าจะมีน้ำหนักหรือ ความสำคัญ มากเท่าไหร่ (นั่นเพราะสังคมถูกกำหนดทิศทางโดยเพศชาย ผู้ชายเป็นคนตัดสินใจว่าสิ่งที่พวกเขาชื่นชอบมีคุณค่าและความสำคัญเหนืออื่นใด) แต่เอมีแย้งว่าสาเหตุเป็นเพราะไม่ค่อยมีใครเขียนเล่าถึงเรื่องพวกนี้ต่างหาก พวกมันเลยดูไม่สำคัญ และสามารถแก้ไขได้ด้วยการเขียนถึงมัน

ข้อพิสูจน์ดังกล่าวพบเห็นได้แม้กระทั่งในวงการภาพยนตร์ เช่น เมื่อก่อนหนังของ อัลเฟร็ด ฮิทช์ค็อก มักถูกมองว่าเป็นผลงานเพื่อความบันเทิง และเขาก็เป็นแค่มือปืนรับจ้างในระบบสตูดิโอ จนกระทั่งเหล่านักวิจารณ์กลุ่มคลื่นลูกใหม่ของฝรั่งเศสพากันเขียนยกย่องและวิเคราะห์ผลงานของฮิทช์ค็อกอย่างกว้างขวาง หนังเหล่านั้นจึงเริ่มเป็นที่ยอมรับในฐานะของงานศิลปะที่มีความสำคัญต่อวงการภาพยนตร์ Little Women มักจะถูกมองว่าเป็นหนังครอบครัว หนังสำหรับผู้หญิง ซึ่งเบาโหวง วนเวียนอยู่กับเรื่องรักๆ ใคร่ๆ แต่การสร้างใหม่ของเกอร์วิกช่วยสะท้อนให้เห็นว่าผลงานเขียนของอัลคอตต์นั้นเต็มไปด้วยประเด็นหนักแน่นน่าสนใจ หาใช่แค่ ความบันเทิงสำหรับเพศหญิง” (ซึ่งในแง่หนึ่งเราต้องตั้งคำถามด้วยว่าอะไรทำให้ความบันเทิงสำหรับเพศหญิงอย่างหนังโรแมนติก หนังครอบครัว ถูกมองว่าด้อยค่า ไร้น้ำหนัก ความสำคัญกว่าความบันเทิงสำหรับเพศชายอย่างหนังสงคราม หนังคาวบอย) ไม่ว่าจะเป็นฉากหลังช่วงสงครามกลางเมือง ซึ่งแน่นอนว่าย่อมเกี่ยวโยงไปถึงประเด็นค้าทาส ปัญหาสีผิว (เกอร์วิกอาจไม่ได้เน้นย้ำจุดนี้มากนัก แต่ก็ไม่ได้กวาดทิ้งจนหมดเสียทีเดียว) ความแตกต่างทางชนชั้น หรือการเรียกร้องสิทธิสตรี ซึ่งถูกขับเน้นให้โดดเด่นเป็นพิเศษ แม้ว่าตัวละครอย่างโจ ผู้มีบุคลิกในลักษณะทอมบอย จะถูกมองว่าเป็นตัวละครหัวก้าวหน้ามาตลอดก็ตาม โดยเกอร์วิกได้ก้าวไปไกลขึ้นอีกขั้นด้วยฉากจบที่สามารถอ่านได้สองทาง

หลังจบฉากงานแต่งของเม็ก อดีตก็ไล่ตามทันปัจจุบันในที่สุด เมื่อโจตั้งเป้าจะเลิกเขียนหนังสือและเผาต้นฉบับทิ้งทั้งหมด ยกเว้นเพียงเรื่องที่เธอเขียนให้เบ็ธอ่าน ก่อนจะเปลี่ยนใจลงมือเขียนต่อ แล้วไล่เรียงแต่ละบทด้วยการวางต้นฉบับบนพื้นทีละแผ่น สลับจัดเรียงไปมา (ไม่แปลกถ้าเราจะนึกเห็นภาพเกอร์วิกทำแบบเดียวกันในช่วงเขียนบทหนังเรื่องนี้) หลังจากโดนมิสเตอร์แดชวู้ดปฏิเสธต้นฉบับ ฟรีดริชก็แวะหาโจระหว่างทางไปแคลิฟอร์เนีย ทุกคนในบ้านดูเหมือนจะมองออกว่าโจหลงรักเขามากแค่ไหน ตรงนี้เองที่เกอร์วิกเริ่มต้นเดิมพันครั้งใหญ่ด้วยการตัดสลับเหตุการณ์ตอนโจนั่งรถม้าไปหาฟรีดริชที่สถานีรถไฟกับเหตุการณ์ตอนบรรดาลูกสาวมิสเตอร์แดชวู้ดได้อ่านต้นฉบับของโจและเรียกร้องให้พ่อตีพิมพ์มัน จากนั้นที่นิวยอร์ก ในฉากซึ่งเหมือนจะฉายซ้ำฉากเปิดเรื่อง โจได้ต่อรองราคาค่าจ้างกับมิสเตอร์แดชวู้ด (เธอยินดีแก้ตอนจบตามคำขอของเขาและได้เก็บลิขสิทธิ์หนังสือไว้กับตัว) บทสนทนาของพวกเขาถูกตัดสลับกับฉากโจสารภาพความในใจ พลางขอร้องให้ฟรีริชอยู่ต่อท่ามกลางสายฝน จากนั้นในฉากส่งท้าย คนดูจะเห็นภาพการตีพิมพ์หนังสือเรื่อง Little Women ของโจถูกตัดสลับกับฉากงานเลี้ยงวันเกิดของมาร์มี (ลอรา เดิร์น) ท่ามกลางลูกสาวสามคนที่ยังเหลืออยู่ รวมถึงลอรี ฟรีดริช และจอห์น สามีของเม็ก ในบ้านที่ป้ามาร์ชยกให้โจ และเธอดัดแปลงเป็นโรงเรียน

เกอร์วิกตระหนักดีว่าในยุคสมัยนี้ เธอไม่อาจจบ Little Women แบบเดียวกับในหนังสือได้ (โจลงเอยแต่งงานมีลูกมีเต้ากับฟรีดริช กลายเป็นเมียและแม่อย่างสมบูรณ์แบบ เพราะนั่นเป็นสิ่งที่ทุกๆ คนคาดหวังจากผู้หญิงในยุคนั้น ดังจะเห็นได้จากแรงกดดันต่ออัลคอตต์ทั้งจากแฟนๆ และตัวบรรณาธิการ) จนกระทั่งเมื่อได้อ่านจดหมายของอัลคอตต์ ซึ่งระบุว่าเธอไม่อยากจะจบหนังสือแบบนั้น และเมื่อทราบความจริงว่าอัลคอตต์เองก็ไม่เคยแต่งงาน เธอครองตัวเป็นโสดไปตลอด แถมยังหาเลี้ยงครอบครัวด้วยรายได้จากการเขียนหนังสือ เกอร์วิกจึงเห็นช่องทางที่จะเคารพต้นฉบับ และซื่อสัตย์ต่อตัวเอง หรือยุคสมัยของตัวเองไปพร้อมๆ กัน

คนดูยังสามารถตีความตอนจบว่าเป็นไปตามต้นฉบับได้ ทุกอย่างลงเอยอย่างมีความสุข แต่ในเวลาเดียวกันรูปแบบการตัดสลับเหตุการณ์ ซึ่งดำเนินมาตลอดทั้งเรื่อง ก็ถูกนำมาใช้ประโยชน์สูงสุดอีกครั้งในฉากจบ เพียงแต่ครั้งนี้ไม่ใช่การตัดสลับระหว่างอดีตกับปัจจุบัน แต่เป็นความจริงกับเรื่องแต่ง ดังจะเห็นได้จากช็อตที่โจกอดกับฟรีดริชใต้ร่มท่ามกลางสายฝน ถูกตัดเชื่อมต่อมายังฉากห้องทำงานสำนักพิมพ์ ซึ่งมิสเตอร์แดชวู้ดขนานนามบทจบแบบใหม่ของหนังสือที่นางเอกต้องได้กับพระเอกว่า ใต้ร่มเดียวกัน และโจก็ตกลงเห็นชอบ (การเลือก หลุยส์ การ์เรล ของเกอร์วิกจึงสร้างความชอบธรรมในจุดนี้ เพราะเธอต้องการจะสื่อถึงความเป็นเรื่องแต่ง เป็นนิยายที่แฮปปี้เอ็นดิ้ง นางเอกสวยลงเอยกับพระเอกหล่อ แล้วทั้งสองก็อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขตลอดไป) ส่วนฉากงานวันเกิดก็เปรียบดังบททิ้งท้ายในนิยายของโจ (ซึ่งนิยายของอัลคอตต์ก็จบลงแบบเดียวกัน) แต่บททิ้งท้ายจริงๆ ของหนัง คือ ฉากที่โจกอดหนังสือ (ไม่ใช่พระเอก) ซึ่งตีพิมพ์เป็นรูปเล่มสมบูรณ์ด้วยสีหน้าปลาบปลื้ม อิ่มเอม หากมองผ่านแว่นตาร่วมสมัย ยุคที่ผู้หญิงมีอิสระจะเป็นอะไรก็ได้ตามใจปรารถนาโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาผู้ชายอีกต่อไป จะมีฉากจบแบบใดแฮปปี้ไปกว่านี้อีกหรือ

ไม่มีความคิดเห็น: