วันเสาร์, พฤศจิกายน 21, 2558

The Assassin: การเมืองกับเรื่องส่วนตัว


ตอนหนังเปิดตัวที่เมืองคานส์ แม้ว่ามันจะกวาดคำชมจากนักวิจารณ์มาอย่างท่วมท้น แต่หลายคน (รวมถึงคนที่ชื่นชอบ) ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าพล็อตของ The Assassin ค่อนข้างเข้าใจยาก ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะมันซับซ้อนซ่อนเงื่อนแต่อย่างใด ตรงกันข้ามผลงานกำกับชิ้นล่าสุดของ โหวเสี่ยวเชียน ออกจะมีเนื้อเรื่องเรียบง่ายด้วยซ้ำ ทุกคนน่าจะสามารถเก็ตพล็อตคร่าวๆ ของหนังได้ไม่ยาก แต่จุดที่สร้างความงุนงงคงเป็นรายละเอียดเชื่อมโยงเหตุการณ์ ตลอดจนแรงจูงใจของตัวละครเสียมากกว่า ซึ่งไม่ได้รับการอธิบาย หรือถ้ามีก็แบบผ่านๆ ไม่ถูกตอกย้ำชัดเจนจนอาจลอยผ่านจากการดูครั้งแรก พูดง่ายๆ ก็คือ หนังเหมือนไม่ค่อยแคร์คนดูเท่าไหร่ว่าจะติดตามเรื่อง หรือจดจำใบหน้าตัวละครได้หรือไม่ แน่นอนผลลัพธ์ดังกล่าวไม่ได้เกิดจากผู้กำกับขาดทักษะในการเล่าเรื่อง แต่เป็นความจงใจของโหวเสี่ยวเชียนเองที่จะกระชับเหตุการณ์และสร้างความคลุมเครือเพื่อเอื้อให้สามารถตีความได้หลากหลายกว่าการเล่าเรื่องตามธรรมเนียมปฏิบัติทั่วไป

โหวเสี่ยวเชียนบอกว่าเขาถ่ายฟุตเตจไว้เยอะมาก ถึงขนาดหมดฟิล์มไปเกือบ 5 แสนฟุต (นี่เป็นหนังทุนสร้างสูงสุดของเขา) แต่พอมานั่งดูในห้องตัดต่อ เขากลับพบว่าฟุตเตจจำนวนหนึ่งไม่มีความจำเป็น และสุดท้ายก็ถูกตัดออกไปค่อนข้างมาก โดยแรกทีเดียวเขาไม่คิดจะใส่คำอธิบายในช่วงต้นเรื่องเพื่อปูพื้นเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเว่ยป๋อกับราชสำนักด้วยซ้ำ แต่ตัวแทนจำหน่ายหนังที่ฝรั่งเศสอยากให้เขาใส่ไว้เพราะกลัวว่าคนจะไม่เข้าใจเรื่องราว

ความไม่แคร์คนดูของโหวเสี่ยวเชียนอาจพบเห็นได้ตั้งแต่ผลงานในยุคแรก ซึ่งมักจะพูดถึงประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของไต้หวัน ตลอดจนวิกฤติตัวตนแห่งประเทศ โดยไม่นิยมอธิบายความแบบเน้นย้ำ หรือปูพื้นฐานความเข้าใจ ฉะนั้นคนดูที่พอจะมีความรู้ในสิ่งเหล่านั้นย่อมสามารถ เก็บเกี่ยวจากหนังของเขาได้มากกว่านักดูหนังทั่วไป (หนังของโหวไม่เพียงกระตุ้นให้เราต้องแอ็กทีฟระหว่างชมเท่านั้น แต่ยังกินความไปถึงหลังจากดูจบอีกด้วย) ดังเช่นความสัมพันธ์ระหว่างเว่ยป๋อและราชสำนักใน The Assassin ก็มีลักษณะของภาพสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันกับจีนแผ่นดินใหญ่ ความเศร้าสร้อยขององค์หญิงเจียเช็งที่ต้องตัดขาดจากราชสำนักมาอยู่เมืองชายแดนก็เปรียบได้กับอารมณ์ถวิลหาของคนเฒ่าคนแก่ที่ต้องพลัดพรากแผ่นดินเกิดมาอยู่ที่ไต้หวัน ในทางตรงข้ามอ๋องเทียน (จางเจิ้น) ซึ่งปรารถนาจะแยกตัวเป็นอิสระจากราชสำนัก เปรียบได้กับคนรุ่นใหม่ในไต้หวันที่ปราศจากจุดเชื่อมโยงกับจีนแผ่นดินใหญ่

นอกจากนี้หนังยังจับคู่ให้เห็นสองสิ่งที่เหมือนกันโดยรากเหง้า แต่แยกห่างเป็นเอกเทศผ่านรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ อีกด้วย เช่น หยกสองชิ้นและตัวละครฝาแฝดที่ปรากฏอยู่โดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นองค์หญิงเจียเช็ง/องค์หญิงแม่ชี ลูกชายของท่านอ๋อง หรือกระทั่งหยินเหนียง (ซูฉี) กับนักฆ่าหญิงสวมหน้ากาก ซึ่งหนังไม่ได้อธิบายว่าเป็นใคร หรือมีจุดเชื่อมโยงกับเรื่องราวอย่างไร คนดูแค่เห็นเธอต่อสู้กับหยินเหนียงในฉากหนึ่ง (อีกฉากเป็นตอนที่เธอเดินอยู่ในป่า) เธอไม่เคยเปิดเผยหน้าตาให้คนดูเห็นสักครั้ง หนำซ้ำโหวยังเพิ่มระดับความสับสนขึ้นไปอีกขั้นด้วยการให้นักแสดงที่เล่นเป็นชายาอ๋องมาสวมบทบาทนี้ ซึ่งคนดูจะรับทราบก็ต่อเมื่อได้เห็นเครดิตช่วงท้ายเรื่องเท่านั้น[1] การตัดแบ็คกราวด์ตัวละครออกทำให้โหวสามารถเล่นสนุกกับจินตนาการของคนดูซึ่งอาจตีความได้ว่านักฆ่าสวมหน้ากากกับหยินเหนียงเป็นภาพสะท้อนของกันและกัน (ทั้งคู่ฝีมือทัดเทียมกัน และในการประลองก็ไม่มีใครสามารถเอาชนะใครได้) ดุจเดียวกับเรื่องราวนกเต้นที่เห็นภาพตัวเองในกระจก หรือมันอาจมีจุดมุ่งหมายเพื่อถ่ายทอดการต่อสู้ดิ้นรนในจิตใจหยินเหนียงท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างภารกิจกับอารมณ์ส่วนตัว[2]

การเมืองกับเรื่องส่วนตัวเป็นสองสิ่งที่ซ้อนทับกันในหลายระดับ หยินเหนียงเคยถูกหมั้นหมายให้แต่งงานกับอ๋องเทียน แต่โดนการเมืองแทรกแซงจนเธอต้องระหกระเหินไปฝึกวิทยายุทธกับองค์หญิงแม่ชี เช่นเดียวกัน องค์หญิงเจียเช็ง (มารดาของอ๋องเทียน) ก็ต้องตัดขาดจากญาติพี่น้องและราชสำนักเพราะการเมืองบีบบังคับให้เธอต้องแต่งงานกับอ๋องของเว่ยป๋อในเวลานั้นเพื่อรับรองความภักดีของเว่ยป๋อต่อราชสำนัก หยินเหนียงได้รับมอบหมายจากองค์หญิงแม่ชีให้กลับมาสังหารอ๋องเทียน คนรักเก่าของเธอ เพราะเขามีท่าทีกระด้างกระเดื่องต่อราชสำนัก แต่เช่นเดียวกับภารกิจสังหารเจ้าเมืองในช่วงต้นเรื่อง หยินเหนียงไม่อาจตัดขาดสามัญสำนึก/ความรู้สึกส่วนตัว แล้วเดินหน้าปฏิบัติภารกิจได้สำเร็จ นอกจากนี้ จิตใจที่ไม่แข็งแกร่งพอ ที่ไม่อาจตัดขาดอารมณ์มนุษย์ได้ตามข้อกล่าวหาขององค์หญิงแม่ชี ยังชี้นำให้หยินเหนียงเลือกจะช่วยเหลือหูจี สนมเอกที่อ๋องเทียนรักใคร่อย่างแท้จริง หาใช่ชายาซึ่งเขาแต่งงานด้วยเหตุผลทางการเมือง เมื่อนางต้องตกอยู่ในอันตรายจากการตั้งครรภ์ เพราะมันถือเป็นภัยคุกคามในสายตาของชายาอ๋อง

การงัดข้อระหว่างสองสิ่งยังถูกสะท้อนผ่านการถ่ายทำของโหวเสี่ยวเชียน ซึ่งสร้างสมดุล/ขัดแย้งระหว่างฉากภายนอกกับภายในได้อย่างดงาม (ต่างจากผลงานก่อนหน้าของโหวอย่าง Flowers of Shanghai ซึ่งดำเนินเหตุการณ์ภายในอาคารทั้งหมด) เฟรมภาพของโหวหลายครั้งก็แช่นิ่งอยู่กับที่ หรือมีการแพนกล้องอย่างเชื่องช้า แต่กลับเต็มไปด้วยชีวิตชีวาและมนต์เสน่ห์เพราะเขาใช้ประโยชน์จากโฟรกราวด์ แบ็คกราวด์ได้อย่างน่าตื่นเต้น รวมไปถึงการจัดวางองค์ประกอบภาพอันวิจิตร บางช็อตคนดูจะเห็นผ้าม่านปลิวไสวอยู่ด้านหลัง บ้างก็ปิดกั้นตัวละครพร้อมกับสะท้อนแสงจากเปลวเทียนที่เต้นระริกตามแรงลม ในช็อตช่วงท้ายเรื่องคนดูจะเห็นองค์หญิงแม่ชียืนอยู่บนยอดเขาสูง ขณะม่านหมอกค่อยๆ แผ่เข้าปกคลุมแบ็คกราวด์อย่างเชื่องช้า หรือบางทีโหวก็จะสร้างความเคลื่อนไหวอย่างอ่อนละมุน ด้วยการค่อยๆ เปลี่ยนโฟกัสภาพ ขณะเดียวกันการเลือกถ่ายทำช็อตในระยะไกลและปานกลางเป็นส่วนใหญ่ (ซึ่งโหวโปรดปรานและเชี่ยวชาญไม่แพ้ใคร) ก็ช่วยทำให้คนดูได้เห็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวละครกับตัวละคร ตัวละครกับเหตุการณ์ และตัวละครกับพื้นที่ว่างในแบบที่ช็อตโคลสอัพไม่สามารถทำได้ ด้วยเหตุนี้ ในฉากที่อ๋องเทียนนั่งตีกลองพร้อมกับชมการแสดงเต้นระบำ แทนการตัดสลับภาพไปมาระหว่างอ๋องเทียนกับการแสดง โหวเลือกจะรวมทั้งสองอย่างไว้ในช็อตเดียวกัน โดยปล่อยให้ชายกระโปรงที่ปลิวสะบัดตามการหมุนตัวของนางระบำเป็นโฟรกราวด์ ซึ่งอาจกินพื้นที่ในเฟรมมากกว่าอ๋องเทียนที่นั่งอยู่ห่างออกไป แต่เป็นโฟกัสหลักของภาพ

ในเวลาเดียวกัน The Assassin ยังผสมความขัดแย้งระหว่างสไตล์เฉพาะของโหวเข้ากับสไตล์ของหนังกำลังภายในได้อย่างน่าสนใจ กล่าวคือ โหวไม่ได้หันหลังให้กับธรรมเนียมปฏิบัติเสียทีเดียว คนดูยังพอจะเห็นการตัดภาพแบบฉับไวอยู่บ้างในฉากแอ็กชั่น แม้ว่ามันจบลงรวดเร็วพอๆ กับตอนเริ่มต้น และบางครั้งก็ถูกถ่ายทอดจากระยะไกล ทั้งนี้เนื่องจากโหวต้องการความ สมจริง เขาไม่อยากให้ตัวละครเหาะเหินเดินอากาศ ฉะนั้นหลังจากตัวละครประลองฝีมือกันเสร็จ แทนการตัดภาพสู่ฉากต่อไป โหวกลับให้คนดูเห็นพวกเขาเดินแยกย้ายกันไป ซึ่งให้อารมณ์ในลักษณะแอนตี้ไคล์แม็กซ์ ฉากแอ็กชั่นมักจะสั้นเกินไป หรือไกลเกินไปจนคนดูไม่อาจรู้สึกตื่นเต้น หรือตื่นตาแบบที่เราชาชินกับหนังแนวนี้ การฆ่าไม่ใช่เรื่องน่าตื่นเต้น และหยินเหนียงเองก็ไม่เคยแสดงท่าทีพอใจกับภารกิจที่ได้รับ ลักษณะดังกล่าวค่อนข้างสวนทางกับแก่นในหนังกำลังภายในส่วนใหญ่ ซึ่งแค้นต้องได้รับการชำระ ความภักดีมีค่าเหนืออื่นใด และความตายบางครั้งก็เป็นเรื่องสมควร

บทสรุปของ The Assassin ให้ความรู้สึกหวานปนเศร้าอยู่ในที เมื่อหยินเหนียงตัดสินใจที่จะบอกลาความวุ่นวายแห่งการเมืองและอดีตรักอันเจ็บช้ำ แล้วไปเริ่มต้นชีวิตใหม่กับคนขัดกระจก (ซาโตชิ ทสึมาบุกิ) เธอเลือกปฏิเสธความเป็นหนึ่ง (“เจ้าบรรลุเพลงกระบี่ ใยไม่อาจตัดอารมณ์ของมนุษย์”) เลือกที่จะไม่รับใช้ใคร หรืออุดมการณ์ใด เธอเลือกที่จะหันหลังให้กับสายใยแห่งอดีต แห่งความบริสุทธิ์วัยเด็ก และบางทีการตัดขาดอย่างเด็ดเดี่ยวก็อาจทำให้เธอค้นพบอิสระอย่างแท้จริง




[1] โหวอธิบายปริศนาไว้ว่า เดิมทีในต้นฉบับ (หนังดัดแปลงจากเรื่องสั้น หนี่หยินเหนียง เขียนโดย เป่ยซิง) เธอกับหมอผีเคราขาวเป็นปรมาจารย์ด้านวิทยายุทธ เธอกับชายาอ๋องเป็นตัวละครคนละคน แต่ในหนังผมอยากแสดงให้เห็นว่าครอบครัวของชายาอ๋องจับลูกสาวแต่งงานกับลูกชายของตระกูลเทียนเพื่อครองอำนาจในเว่ยป๋อ ฉะนั้นชายาอ๋องจึงเป็นนักฆ่าที่ฝีมือไร้เทียมทานไปด้วย เวลาเธอสัมผัสถึงภัยคุกคาม เธอก็จะหยิบหน้ากากมาใส่ แล้วกลายร่างเป็นนักฆ่า ในหนังชายาอ๋องและนักฆ่าสวมหน้ากากจึงเป็นคนๆ เดียวกัน อันที่จริงท่านอ๋องก็รู้เรื่องนี้ แต่ไม่มีใครพูดถึงมัน

[2] โหวให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการที่คนดูส่วนใหญ่บอกว่าหนังค่อนข้างดูยากว่า เป็นเรื่องปกติและช่วยอะไรไม่ได้ ทุกวันนี้การทำหนังสไตล์ฮอลลีวู้ดได้รับความนิยมอย่างสูง มันมีโครงสร้างเรื่องราวที่เข้มงวด ถ้าหนังเรื่องใดไม่ดำเนินตามรูปแบบดังกล่าว ไม่ทำให้ทุกอย่างต่อเนื่องเพียงพอ คนดูก็จะติดตามเรื่องราวได้ยากลำบาก แต่นั่นเป็นเพียงวิธีหนึ่ง ในโลกแห่งภาพยนตร์ยังมีวิธีเล่าเรื่องที่แตกต่างออกไปอีกมาก เนื่องจากฮอลลีวู้ดเป็นแหล่งผลิตหนังที่ทรงอิทธิพล คนรุ่นใหม่จึงพยายามจะเลียนแบบฮอลลีวู้ด อันที่จริง นักทำหนังเกือบทั้งหมดอยากเลียนแบบสไตล์ฮอลลีวู้ด แต่ผมไม่คิดเช่นนั้น ผมคิดว่าหนังที่ดี คือ คนดูจะยังจินตนาการต่อไปแม้กระทั่งหลังจากหนังจบแล้ว

Crimson Peak: ปราสาทสีเลือด


พวกมันเป็นแค่สัญลักษณ์ อีดิธ (มีอา วาซิโควสกา) อธิบายการปรากฏตัวขึ้นของผีในนิยายที่เธอแต่ง ซึ่งหากมองในแง่หนึ่งคำพูดดังกล่าวสามารถนำมาใช้อธิบายหนังเรื่อง Crimson Peak ได้เช่นกัน แม้ว่าผู้กำกับ กิลเลอร์โม เดล โทโร จะวาดภาพผีเป็นรูปธรรมชัดเจนก็ตาม กล่าวคือ ผีในหนังเรื่องนี้หาใช่ตัวละครหลักที่ผลักดันเรื่องราว หรือน่าหวาดกลัว มีพลังในการทำร้าย หลอกหลอนตัวละครเหมือนหนังผีทั่วไป ตรงกันข้าม ผีในหนังเรื่องนี้สามารถทำได้เพียงเตือนภัยมนุษย์ ชี้ทางเบาะแส แต่ไม่อาจก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพใดๆ ได้ พวกมันเป็นเหมือนจิตวิญญาณที่ล่องลอย อีกทั้งหลอกล่อคนดูให้เบี่ยงเบนจากความน่ากลัวที่แท้จริง

ไม่ต้องสงสัยว่า Crimson Peak ได้อิทธิพลมาไม่น้อยจากนิยายแนวกอธิค ซึ่งได้รับความนิยมในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 ฉะนั้นจึงไม่แปลกหากคนดูจะรู้สึกคุ้นเคย หรือคาดเดาความเป็นไปของเหตุการณ์ได้ โดยตัวโครงเรื่องหลักค่อนข้างคล้ายคลึงกับ Rebecca ของ ดาฟเน ดู โมริเยร์ เกี่ยวกับหญิงสาวไร้เดียงสาที่ตกหลุมรักชายหนุ่มรูปงาม ฐานะดี ย้ายเข้าไปอยู่ในคฤหาสน์ใหญ่โต แต่เต็มไปด้วยบรรยากาศชวนหลอกหลอน ก่อนสุดท้ายจะค้นพบความลับดำมืดเกี่ยวกับอดีตภรรยาของเขา ปริศนาความตาย และแม่บ้านที่สติสตังดูเหมือนจะหลุดไปอยู่ในอีกโลกหนึ่ง นิยายกอธิคมักผสมผสานอารมณ์โรแมนติกยังแก่นหลัก แล้วเคลือบแฝงความลึกลับ ชวนสะพรึงไว้ที่เปลือกนอก อีกหนึ่งในตัวอย่างอันโดดเด่น คือ Jane Eyre ของ ชาร์ล็อตต์ บรอนเต้ เล่าถึงชีวิตของหญิงสาวกำพร้าซึ่งแต่งงานกับชายหนุ่ม ย้ายไปอยู่ในคฤหาสน์ใหญ่โต ก่อนจะค้นพบว่าเขาแอบซุกซ่อนภรรยาตัวจริงที่เสียสติเอาไว้ในคฤหาสน์แห่งนั้น

จุดร่วมสำคัญของนิยายเหล่านี้ ได้แก่ คฤหาสน์ชวนสะพรึง อดีตอันลึกลับดำมืด หญิงสาวที่ตกอยู่ในอันตราย ความวิปริตทางจิต และรักโรแมนติก ซึ่งทั้งหมดล้วนปรากฏให้เห็นแบบครบถ้วนใน Crimson Peak แต่ผู้กำกับ/ร่วมเขียนบทอย่างเดล โทโรฉลาดพอที่จะสอดแทรกการหักมุมบางอย่างเพื่อเพิ่มสีสัน หรืออารมณ์ร่วมสมัย ทำให้ของเก่าไม่ดูจืดชืด ล้าสมัยจนเกินไป เช่น การให้ฝ่ายหญิงกำไพ่เหนือกว่าทางด้านการเงิน โธมัส ชาร์ป (ทอม ฮิดเดิลสตัน) อาจเป็นเจ้าขุนมูลนาย แต่ก็กำลังเดือดร้อนเรื่องเงินอย่างหนัก และต้องบากหน้าเดินทางไปทั่วโลกเพื่อหาแหล่งทุนมาสานต่อความฝันในการทำเหมืองให้สำเร็จลุล่วง ส่วนอีดิธก็ไม่ใช่หญิงสาวฐานะยากจน หรือไร้ตัวตน (แม้ในเวลาต่อมาเธอจะต้องกำพร้าพ่อแม่แบบเดียวกับ เจน แอร์ ก็ตาม) แต่เป็นลูกสาวคนโปรดของ เศรษฐีใหม่ในเมืองบัฟฟาโล เธอหน้าตาสะสวย เป็นที่หมายปองของชายหนุ่มอยู่บ้าง หนึ่งในนั้นคือคุณหมอหนุ่มหล่ออย่าง ดร.อลัน แม็คไมเคิล (ชาร์ลี ฮันแนม) เธอค่อนข้างมีหน้ามีตาอยู่ในสังคม ไม่ใช่หญิงสาวฐานะต่ำต้อยแบบในนิยายกอธิคส่วนใหญ่ การพลิกบทบาทดังกล่าวช่วยเพิ่มน้ำหนักให้ตัวละครเพศหญิง พร้อมกับการลดทอนสถานะเหนือกว่าของเพศชายซึ่งถูกพ่อของอีดิธ (จิม บีเวอร์) มองอย่างตั้งแง่ว่าเป็นพวกเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ เป็นลูกคุณหนูที่ไม่รู้จักการทำงานหนัก แล้วผลาญเงินผู้ดีเก่าจนหมดไปกับความฟุ้งเฟ้อและความฝันลมๆ แล้งๆ

เนื้อแท้ของนิยายกอธิค ซึ่งเน้นย้ำอารมณ์ไม่มั่นคง หวาดกลัวของตัวละครเพศหญิง ตลอดจนสภาพวิกฤติบนขอบเหวที่เธออาจจะรอดชีวิต หรือร่วงหล่นลงสู่หุบเหวเปรียบเสมือนสัญลักษณ์แทนการตั้งคำถามต่อสภาพสังคมแบบชายเป็นใหญ่ อีดิธก็เช่นเดียวกับตัวละครเอกในนิยาย เจน ออสเตน (ซึ่งถูกเปรียบเทียบถึงในฉากที่หญิงสาวตอบโต้กลุ่มแม่บ้านขาเมาท์ว่าเธอไม่ได้อยากเป็นออสเตน ผู้ถนัดเขียนนิยายโรแมนติกแนวสุขนาฏกรรม แต่อยากเป็น แมรี เชลลี ผู้โด่งดังจากการเขียนนิยายสยองเรื่อง Frankenstein มากกว่า) เธอมีบุคลิกหัวแข็ง ออกแนวเฟมินิสต์เล็กน้อย แต่ขณะเดียวกันก็ยังถูกพันธนาการด้วยโซ่ตรวนแห่งยุคสมัย เช่น โดนกดดันเรื่องใกล้จะขึ้นคาน หรือโดนทักให้เขียนนิยายโรแมนซ์แทนการเขียนเรื่องผีสางเพราะมันน่าจะ เหมาะ กับผู้หญิงมากกว่า นอกจากนี้ อีดิธยังถูกผูกมัดด้วยพล็อตแห่งนิยายโกธิค เมื่อเธอโผกระโจนจากเงื้อมเงาของพ่อไปสู่การครอบงำของสามี ทั้งที่มรดกก้อนโตเปิดโอกาสให้เธอมีอิสรภาพได้อย่างเต็มที่ กล่าวได้ว่าตัวละครอย่างอีดิธถูกวางสถานะให้เหนือกว่าผู้หญิงทั่วๆ ไปทั้งในแง่หน้าตา ฐานะทางการเงิน และความคิด แต่สุดท้ายก็ไม่อาจก้าวพ้นชะตากรรมเดียวกันกับผู้หญิงคนอื่นๆ ด้วยการเป็นฝ่ายถูกเลือก ถูกกระทำ อาจพูดได้ว่าเธอแทบไม่แตกต่างจากตัวละครเอกใน The Portrait of a Lady ของ เฮนรี เจมส์ (นักเขียนซึ่งเปรียบเสมือนขั้วตรงข้ามของ เจน ออสเตน) หญิงสาวหัวก้าวหน้าที่ได้รับเงินมรดกก้อนโต แต่กลับตกหลุมพราง ความรัก ของผู้ชายเห็นแก่ได้ และจารีตแห่งสถาบันครอบครัว/การแต่งงาน

อย่างไรก็ตามเดล โทโรให้ความหวังกับคนดูมากกว่า เฮนรี เจมส์ ผู้โปรดปรานด้านมืดและอารมณ์หดหู่ เมื่อความจริงปรากฏในท้ายที่สุดว่าโธมัสหลงรักอีดิธด้วยใจจริง และหาได้หลอกใช้เธอเพียงเพื่อหวังเงินแบบเดียวกับผู้หญิงคนอื่นๆ ในอดีต แต่เดล โทโรอาจไม่ได้ก้าวไปไกลถึงขั้นดู โมริเยร์ หรือบรอนเต้ด้วยการบอกว่ารักแท้ หรือรักโรแมนติกสามารถเอาชนะทุกสิ่ง แม้กระทั่งข้อหาฆาตกรรม (ในกรณีของ Rebecca) หรือความพิการ (ในกรณีของ Jane Eyre) จริงอยู่ ความรักอาจมีด้านที่งดงามอยู่บ้าง เช่น เมื่อโธมัสพยายามปกป้อง ช่วยเหลืออีดิธจากน้ำมือของพี่สาวสุดโหด ส่วนอีดิธเองก็ช่วยปลดปล่อยโธมัสออกจากพันธะแห่งอดีต ทำให้เขาค้นพบความหวังของการเริ่มต้นใหม่ แต่ความรักก็สามารถทำให้คุณคลุ้มคลั่ง ขาดสติได้ไม่แพ้กันดังจะเห็นได้จากพฤติกรรมของ ลูซิล ชาร์ป (เจสซิกา แชสเทน)

เดล โทโรเป็นผู้กำกับที่หลงใหลในตระกูลภาพยนตร์และเปี่ยมทักษะ แต่เช่นเดียวกับผู้กำกับอย่าง ไบรอัน เดอ พัลมา จุดเด่นของเขาไม่ใช่ความลุ่มลึก หรือการยับยั้งชั่งใจ และความ หนักมือ ดังกล่าวกลายมาเป็นจุดที่หลายคนตั้งแง่กับ Crimson Peak ซึ่งได้รับคำวิจารณ์โดยรวมค่อนข้างก้ำกึ่ง (ปฏิกิริยาถือว่าใกล้เคียงกับหนังเรื่อง Passion ของเดอ พัลมา แต่เดล โทโรโชคดีหน่อยตรงที่งานของเขา ดูแพง เลยพอจะรอดตัวไปได้มากกว่า) มันไม่ใช่เรื่องน่าแปลก เมื่อพิจารณาจากหลายฉากในหนังซึ่งค่อนข้างก้ำกึ่งระหว่างอารมณ์จริงจังเพื่อคารวะแนวทางกอธิคกับอารมณ์ขันเชิงล้อเลียนตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นอาวุธเวอร์วังอลังการที่ลูซิลเลือกใช้ในการตามล่าอีดิธ เสียงช้อนครูดกับชามที่แหลมชัดราวกับเสียงลับมีด ขณะเธอป้อนโจ้กให้น้องสะใภ้ หรือการระเบิดอารมณ์รุนแรงระดับเดียวกับนางร้ายละครหลังข่าวของลูซิล เมื่อเธอรับทราบข่าวว่าน้องสะใภ้กับน้องชายลักลอบไปนอนค้างอ้างแรมกันนอกคฤหาสน์

หลายคนที่คาดหวังว่าจะได้ดูหนังผีคงเดินคอตกออกจากโรงด้วยความผิดหวัง เมื่อพบว่า Crimson Peak กลายเป็นหนังเขย่าขวัญเคลือบกลิ่นอายกอธิคโดยผีกลายเป็นแค่ตัวล่อหลอก แต่สำหรับใครที่เดินเข้าไปดูหนังโดยปราศจากความคาดหวังใดๆ ล่วงหน้า ผลงานกำกับชิ้นล่าสุดของเดล โทโรน่าจะมอบความสนุกสนาน เพลิดเพลินได้ในระดับหนึ่ง และถึงแม้ฉากหลังจะเป็นสังคมย้อนยุค แต่ด้วยรสนิยมส่วนตัวของผู้กำกับ ฉากถึงเลือดถึงเนื้อแบบจัดเต็มก็ยังพอมีให้เห็นอยู่เป็นระยะ หนึ่งในนั้นน่าจะเรียกเสียงช็อกจากคนดูได้ไม่มากก็น้อย ขณะเดียวกันไคล์แม็กซ์ของหนังก็เรียกได้ว่าเดินทางมาไกลจากแรงบันดาลใจต้นฉบับ ทั้งในด้านเนื้อหา รวมไปถึงการนำเสนอ ซึ่งนั่นอาจจะเป็นจุดที่บางคนมองว่าเป็นข้อบกพร่อง เพราะมันแลดูจะหนักข้อเกินไปสำหรับฉากหลังในช่วงเปลี่ยนผ่านศตวรรษ

พระเอกตัวจริงของ Crimson Peak คงหนีไม่พ้นงานด้านภาพและการออกแบบงานสร้าง ซึ่งสามารถเนรมิตจินตนาการอันบ้าคลั่งของเดล โทโรออกมาได้หมดจดงดงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คฤหาสน์ใกล้พลังทลายของโธมัสที่เขาไม่มีเงินพอจะนำมาซ่อมแซม ส่งผลให้หลังคามีรูโหว่ขนาดใหญ่จนแสงสว่างส่องลอดเข้ามา พื้นไม้กระดานผุพังที่เหยียบลงไป แล้วดินเหนียวสีแดงเล็ดไหลมาตามช่องดุจเลือดทะลักออกจากบาดแผล และฝาผนังที่ดึงดูดสิ่งมีชีวิตอย่างผีเสื้อกลางคืนให้เข้ามารุมล้อม เห็นได้ชัดว่าเดล โทโรต้องการให้คฤหาสน์เป็นเสมือนหนึ่งในตัวละครเอก ดูมีเลือดเนื้อ ลมหายใจ และเป็นสัญลักษณ์แทนความบิดเบี้ยว เน่าเปื่อยแห่งจิตใจมนุษย์ เป็นรูปธรรมแห่งความสัมพันธ์ระหว่างโธมัสกับพี่สาว ตลอดจนอิทธิพลครอบงำของเธอก็ไม่ต่างจากธรรมชาติที่ค่อยๆ คืบคลานเข้ายึดครองคฤหาสน์

ในฉากหนึ่งช่วงต้นเรื่องอีดิธกับลูซิลได้พูดคุยกันถึงวัฏจักรชีวิต โดยขณะฝ่ายแรกแสดงท่าทีสงสาร เศร้าสร้อยเมื่อเห็นผีเสื้อกำลังจะตายเนื่องจากขาดแสงอาทิตย์ ฝ่ายหลังกลับพูดว่ามันเป็นธรรมชาติแห่งโลก ทุกอย่างย่อมต้องตายจากและโลกนี้ต่างก็เต็มไปด้วยการแก่งแย่ง ชิงดีกันเพื่อความอยู่รอด (บทสนทนาดังกล่าวชี้นัยยะชัดเจนว่ากำลังเปรียบเทียบใครเป็นผีเสื้อแสนสวยที่อ่อนแอ ใครเป็นผีเสื้อกลางคืนที่แข็งแกร่งและกินผีเสื้อเป็นอาหาร)
           
ชีวิตต้องมีอะไรมากกว่านั้นสิหญิงสาวโลกสวยตั้งข้อสงสัยอย่างมีความหวัง แต่ไม่นานต่อมาเธอกลับรู้ซึ้งถึงสัจธรรมในคำพูดของลูซิล… สุดท้ายแล้วเมื่อต้องเผชิญความมืดมิดและหนาวเหน็บ เนื่องจากโลกนี้ไม่ได้มีเพียงกลางวันที่สดใส สุกสว่าง ผีเสื้อแสนสวยที่เปราะบางก็จำต้องแปลงร่างเป็นผีเสื้อกลางคืนอันแข็งแกร่งเพื่อความอยู่รอด

วันอาทิตย์, กันยายน 27, 2558

The Tribe: สิ้นเสียงเดียงสา


หลายคนอาจเปรียบเทียบ The Tribe ผลงานกำกับเรื่องแรกของ มิโรสลาฟ สลาโบชพิทสกี กับภาพยนตร์เงียบตรงที่มันปราศจากบทสนทนา หรือคำพูดแม้แต่คำเดียวตลอดเวลาสองชั่วโมงกว่า เนื่องจากเรื่องราวทั้งหมดดำเนินเหตุการณ์ในโรงเรียนประจำสำหรับคนหูหนวกและตัวละครทุกคนก็สื่อสารกันด้วยภาษามือ แต่ความแตกต่างสำคัญอยู่ตรงที่ The Tribe เลือกจะไม่ใส่ซับไตเติลให้กับภาษามือเหล่านั้น ขณะที่หนังเงียบส่วนใหญ่ยังใช้คำบรรยาย (Intertitle) เป็นตัวช่วยในการเล่าเรื่อง ดังนั้นคนดูจึงถูกปล่อยให้เติมเต็มช่องว่างในรายละเอียดต่างๆ เอาเอง โดยอาศัยเบาะแสจากภาษาท่าทางของเหล่านักแสดงสมัครเล่น (ทั้งหมดเป็นคนหูหนวก) หรือกระทั่งเสียงประกอบซึ่งถูกเน้นให้เด่นชัดขึ้น ทั้งนี้เพราะสลาโบชพิทสกีตัดสินใจที่จะไม่ใช่ดนตรีในการชี้นำอารมณ์คนดูอีกด้วย

พิจารณาจากฉากหลังของเรื่องราวและนักแสดง มันเป็นเหตุเป็นผล หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นความจำเป็นด้วยซ้ำที่หนังจะปราศจากบทสนทนา แต่การเลือกที่จะไม่ใส่ซับไตเติลอาจถือเป็น ลูกเล่นของผู้กำกับเพื่อเพิ่มสีสันให้กับตัวหนังคล้ายคลึงกับการเล่าเรื่องแบบถอยหลังของหนังอย่าง Memento กล่าวคือ แทนการนำเสนอภาพต่อจิ๊กซอว์ที่เสร็จสมบูรณ์ตามธรรมเนียมปฏิบัติ สลาโบชพิทสกีกลับเลือกจะดึงตัวต่อบางชิ้นออก ส่งผลให้เกิดช่องว่างและความคลุมเครืออันชวนให้พิศวง แม้ว่าโดยตัวเรื่องหลักจะค่อนข้างชัดเจนผ่านการเล่าด้วยภาพ

เซอร์เก (กรีกอรี เฟเซนโก) ตัวละครเอกซึ่งเรารับรู้ชื่อจากเครดิตท้ายเรื่อง เดินทางมาถึงโรงเรียนประจำแห่งนี้ด้วยภาพของเด็กหนุ่มเซื่องซื่อ ดูไม่มีพิษมีภัย เช่นเดียวกับตัวโรงเรียนในช่วง 10 นาทีแรก ซึ่งมีกิจวัตรเฉกเช่นโรงเรียนปกติทั่วไป ยกเว้นเพียงครูและนักเรียนทุกคนล้วนสื่อสารด้วยภาษามือ ส่วนสัญญาณบอกเวลาเข้า/เลิกคลาสก็จะเป็นดวงไฟกะพริบแทนเสียงระฆัง แต่หลังจากนั้นหนังก็ค่อยๆ เปิดม่านให้เห็นความเป็นไปอันชวนให้หดหู่ น่าสะพรึงของชีวิตจริงเบื้องหลังชั้นเรียน ซึ่งปกครองด้วยระบบโซตัส เมื่อรุ่นพี่ต้อนรับน้องใหม่ด้วยการกลั่นแกล้งสนุกๆ แบบพอเป็นพิธี ก่อนจะดึงดูดเขาเข้าสู่โลกแห่งอาชญากรรม สารพัดรูปแบบ ตั้งแต่การแอบขโมยเงินจากตู้นอนของผู้โดยสารบนรถไฟ ไปจนถึงการพานักเรียนหญิงสองคนออกตระเวนขายตัวตามลานจอดรถบรรทุก และดักปล้นของชำในยามค่ำคืน เซอร์เกถูกชักนำเข้าสู่ ชนเผ่า ซึ่งแบ่งชนชั้นตามระบบอำนาจนิยม (ยอดบนสุดของพีระมิด คือ ครูสอนวิชาช่างไม้ เจ้าของรถตู้ที่สองสาวใช้สำหรับออกไปหากินในยามค่ำคืน) และเขาจำเป็นต้องพิสูจน์ตัวเองผ่านการต่อสู้กับสมาชิกในแก๊งกว่าจะได้รับความไว้วางใจให้เข้าร่วมภารกิจ แต่เมื่อใดก็ตามที่เขา ทำพัง ก็จะถูกลดขั้นให้ไปขายตุ๊กตาบนรถไฟ พร้อมกับโดนเนรเทศให้ไปนอนร่วมห้องกับพวก ขี้แพ้ทันที

ความขัดแย้งระหว่างเซอร์เกกับกลุ่มมาเฟียหูหนวกเริ่มต้นขึ้นเมื่อเขาเกิดหลงใหล อันนา (ยานา โนวิโควา) หนึ่งในสองโสเภณีเด็ก และการแสดงความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของก็ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ หลังจากเขาทราบข่าวว่าอันนากับเพื่อนสาวกำลังจะเดินทางไป (ค้าประเวณี) ยังประเทศอิตาลีโดยอาศัยเส้นสายของเจ้าหน้าที่รัฐและการจ่ายเงินใต้โตะ จนนำไปสู่ฉากจบที่ชวนช็อก เมื่อเซอร์เก เจ้าหนูหน้าซื่อในช่วงต้นเรื่องที่ยินยอมให้ถูกฉุดกระชากลากถูไปตามคำสั่ง ตัดสินใจลุกขึ้นยืนหยัดต่อสู้และเอาคืนระบบกับผู้มีอำนาจอย่างสาสม มันเป็นส่วนผสมระหว่างอารมณ์สะใจของการแก้แค้นในแบบหนังสยองขวัญ หรือหนังทริลเลอร์ กับอารมณ์มืดหม่น หดหู่ เมื่อเราพลันตระหนักว่าตัวละครได้สูญเสียความเป็นมนุษย์ สำนึกผิดชอบชั่วดีจนหมดสิ้น พร้อมกับนึกตั้งคำถามว่าเขาเดินทางดำดิ่งมาถึงหุบเหวอันมืดมิดนี้ได้อย่างไร

ไม่ใช่เรื่องแปลกหากภาพลักษณ์ที่ปิดล้อมและเป็นเอกเทศของโรงเรียนสำหรับคนหูหนวกใน The Tribe จะถูกนำไปเปรียบเทียบว่าเป็นสัญลักษณ์แทนระบบอำนาจนิยม ซึ่งประชาชนไม่อาจเปล่งเสียง แถมยังถูกเอารัดเอาเปรียบ กดขี่โดยเหล่าผู้มีอำนาจหลายระดับ ไม่ว่าจะเป็นเด็กรุ่นพี่ หรือครู คอรัปชันและการแสวงหาผลประโยชน์แพร่กระจายอย่างรวดเร็วผ่านระบบทุนนิยม ส่งผลให้ทุกคนถูกบีบให้ต้องปากกัดตีนถีบ และทำทุกวิถีทางเพื่อความอยู่รอดของตัวเอง แม้จะต้องลงเอยด้วยการใช้กำลังเข้าห้ำหั่นกันก็ตาม ด้วยเหตุนี้การล่มสลายทางจิตวิญญาณของตัวละครเอกจึงหาใช่ความบกพร่องจากภายในเพียงอย่างเดียว แต่ส่วนหนึ่งยังเป็นผลพวงจากสภาพแวดล้อมภายนอกอันฟอนเฟะอีกด้วย

มองในเชิงสุนทรียศาสตร์ทางภาพยนตร์ ผลงานกำกับของ มิโรสลาฟ สลาโบชพิทสกี น่าจะได้อิทธิพลไม่น้อยจากกลุ่มนักทำหนังคลื่นลูกใหม่ของโรมาเนียในช่วงต้นทศวรรษ 2000 ผ่านผลงานเด่นอย่าง The Death of Mr. Lazarescu และ 4 Months, 3 Weeks and 2 Days รวมไปถึงผลงานของ ลุค และ ฌอง-ปิแอร์ ดาร์เดน สองพี่น้องผู้กำกับชื่อดังชาวเบลเยียม ดังจะเห็นได้จากความหลงใหลในการถ่ายภาพแบบ long take ตามติดตัวละคร สลับกับการแช่ภาพนิ่งเป็นเวลาหลายนาที (หนังทั้งเรื่องมีการตัดภาพเพียง 34 ครั้ง ซึ่งน้อยกว่าฉากแอ็กชั่นหนึ่งฉากในหนังของ ไมเคิล เบย์ ด้วยซ้ำ) เทคนิคดังกล่าวนอกจากจะเสริมสร้างความสมจริงแล้ว ยังช่วยขับเน้นความเข้มข้นทางอารมณ์ได้อย่างโดดเด่นอีกด้วย เช่น ในฉากทำแท้งให้อันนา เมื่อกล้องตามติด หมอทำแท้ง ขณะเธอเดินไปหยิบจับและตระเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ ก่อนจะหยุดนิ่งตลอดขั้นตอนการขูดมดลูกราวกับสลาโบชพิทสกีกำลังเล่นเกมแข่งจ้องตาเพื่อดูว่าใคร (กล้องหรือคนดู) จะกะพริบก่อนกัน เรียกได้ว่าความโหดร้ายของฉากนี้ก้าวข้ามฉากทำแท้งใน 4 Months, 3 Weeks and 2 Days ขึ้นไปอีกขั้น แต่ท่ามกลางความสยดสยองกลับเจือไว้ด้วยอารมณ์เศร้าสลดของมนุษย์ผู้จนตรอกและสิ้นไร้ทางเลือกไม่แพ้กัน

อย่างไรก็ตามความเหมือนจริงดูจะไม่ใช่สิ่งที่สลาโบชพิทสกีใฝ่หาขั้นสูงสุดเสียทีเดียว เพราะในเวลาเดียวกันเขากลับต้องการความงามและการขับเน้นแบบโอเปรา หรือภาพวาดควบคู่ไปกับความต่ำตม อัปลักษณ์ของสภาพแวดล้อมทั้งหลายอีกด้วย เห็นได้จากการจัดวางท่วงท่านักแสดงในฉากร่วมรักโดยมีผนังปูนเปลือยสีฟ้าเป็นแบ็คกราวด์ซึ่งให้ความรู้สึกคล้ายคลึงกับผลงานจิตรกรรมมากกว่าจะดูเหมือนจริง (ไม่น่าแปลกที่ผู้กำกับจะให้สัมภาษณ์ว่าเขาใช้ฉากรักใน Blue Is The Warmest Color เป็นข้อมูลอ้างอิงให้นักแสดงศึกษาก่อนเข้าฉาก) เช่นกันฉากต่อสู้หน้าตึกร้างช่วงต้นเรื่องก็ถูกจัดวางจังหวะ ตำแหน่งบล็อกกิ้งอย่างละเอียด ราวกับมันเป็นฉากหนึ่งในหนังเพลง หรือการแสดงบัลเล่ต์มากกว่าจะให้อารมณ์สมจริงแบบข้างถนน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ตัวละครไม่อาจเปล่งเสียงโห่ร้อง ปลุกเร้า หรือกระตุ้นการต่อสู้ได้แบบเดียวกับฉากทำนองเดียวกันในหนังทั่วไป และอีกส่วนน่าจะเป็นผลจากการที่สลาโบชพิทสกีกับตากล้องของเขา วาเลนทีน วาสยาโนวิช เลือกจะใช้สเตดิแคม ซึ่งให้ความเคลื่อนไหวที่นุ่มนวลราบรื่นมากกว่า แทนการใช้กล้องแฮนด์เฮลตามธรรมเนียมปฏิบัติของหนังแนวสัจนิยม รวมไปถึงการยืนกรานที่จะถ่ายทอดเหตุการณ์โดยปราศจากโคลสอัพช็อตเพื่อเน้นย้ำการเคลื่อนไหวแบบหมู่คณะ ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครกับพื้นที่ว่าง

คุณสมบัติดังกล่าวทำให้ The Tribe กลายเป็นหนังที่เปี่ยมสไตล์ปรุงแต่ง ตลอดจนการทดลองแปลกใหม่ แต่ในเวลาเดียวกันก็เน้นความเรียบง่าย สมจริงไปพร้อมๆ กัน มันเป็นส่วนผสมที่น่าประหลาด ไม่ต่างจากเรื่องราวหลักของหนัง ซึ่งโดยเนื้อแท้แล้วค่อนข้างตรงไปตรงมา และน่าจะคุ้นเคยดีสำหรับผู้ชมที่ผ่านการดูหนังมาระดับหนึ่ง แต่ถูกทำให้คลุมเครือ ซับซ้อนขึ้นผ่านขั้นตอนดึงชิ้นส่วนออกจนเหลือช่องว่างสำหรับใช้จินตนาการเติมเต็ม

แม้จะหยิบยืมสไตล์มาจากสองพี่น้องดาร์เดน แต่เห็นได้ชัดว่าสลาโบชพิทากีหาได้สนใจที่จะสำรวจประเด็นทางด้านศีลธรรม หรือวิเคราะห์ตัวละครในเชิงลึกแบบเดียวกับนักทำหนังสองพี่น้องชาวเบลเยียม ตรงกันข้าม มุมมองของเขาต่อมนุษย์ ตลอดจนโทนอารมณ์เย็นชาโดยรวมดูจะใกล้เคียงกับผลงานของ ไมเคิล ฮาเนเก้ มากกว่า กล้องของเขารักษาระยะห่างระหว่างคนดูกับตัวละครและเรื่องราว ไม่มีภาพโคลสอัพ ไม่มีภาพแทนสายตา คนดูไม่ได้ถูกดึงดูดให้เข้าไปมีส่วนร่วม แต่เป็นเพียงผู้สังเกตการณ์อยู่ห่างๆ (พึงสังเกตว่าในหนังอย่าง Memento การเล่าเรื่องถอยหลังช่วยสร้างอารมณ์ร่วมให้คนดูเข้าไปอยู่ในโลกของตัวละครเอกที่เป็นโรคความจำเสื่อม ซึ่งหากสลาโบชพิทากีต้องการผลลัพธ์ใกล้เคียงกัน เขาอาจจำเป็นต้องใส่ซับไตเติลให้กับภาษามือ แล้วดับเสียงประกอบทั้งหลายให้เหลือศูนย์) ขณะเดียวกันตัวละครของเขาก็ห่างไกลจากคำว่าน่าเห็นอกเห็นใจ ซึ่งพบเห็นได้ไม่บ่อยนักในหนังที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับบุคคลพิการทางร่างกาย ตรงกันข้าม พวกเขาล้วนเต็มไปด้วยกิเลส ราคะ ความชั่วร้าย ความโลภ และความเจ้าเล่ห์ไม่แตกต่างจากบุคคลปกติทั่วไป แม้กระทั่งสองสาวโสเภณีก็ไม่ได้ถูกนำเสนอในภาพลักษณ์ของเหยื่อสักเท่าไหร่ อันที่จริงพวกเธอดูจะเอ็นจอยกับอาชีพนี้ และมีท่าทีตื่นเต้นดีใจที่จะได้เดินทางไปต่างประเทศเสียด้วยซ้ำ ขณะเดียวกันอันนาเองก็ดูจะไม่ได้ปลาบปลื้มเท่าใดนักกับความพยายามของเซอร์เกในอันที่จะช่วยเหลือเธอ ไม่ว่าจะด้วยความรัก ความหึงหวง หรือการได้ดูหนังเรื่อง Taxi Driver มากเกินไปก็ตาม

ความพิการของตัวละครถูกนำมาใช้รองรับเรื่องราวได้อย่างเปี่ยมประสิทธิภาพในสองฉากสำคัญ ฉากแรก คือ ฉากที่แมงดาถูกรถบรรทุกถอยมาทับตายเพราะเขาไม่ได้ยินเสียงเครื่องยนต์ จนต่อมาส่งผลให้เซอร์เกได้ก้าวขึ้นมารับหน้าที่แทน และฉากที่สอง คือ ฉากจบซึ่งน่าจะทำให้คนดูสะดุ้งและขนหัวลุกได้ไม่ยากกับความหฤโหดแบบฉับพลัน เงียบเชียบ และเยือกเย็น รวมเลยไปถึงนัยยะอันมืดหม่นของหนังต่อความเป็นมนุษย์ 

Inside Out: หล่นหายไปกับกาลเวลา


หลังจากเสียเวลาหลายปีให้หนังภาคต่อที่เข้าขั้นล้มเหลวในเชิงคุณภาพและความคิดสร้างสรรค์เมื่อเทียบกับมาตรฐานดั้งเดิมอันสูงลิ่วของบริษัท (แต่น่าจะทำกำไรจำนวนมหาศาลในแง่การขายสินค้าจำพวกตุ๊กตุ่นตุ๊กตาและแบบจำลอง) อย่าง Cars 2 และ Monsters University รวมไปถึงหนังที่ให้อารมณ์ ยุคเก่า แม้จะสอดแทรกความร่วมสมัยแห่งสตรีนิยมเอาไว้พอประมาณเพื่อไม่ให้มันดูหัวโบราณจนเกินไปอย่าง Brave ในที่สุดค่ายพิกซาร์ก็หันกลับมาทำในสิ่งที่พวกเขาถนัดอีกครั้ง นั่นคือ แอนิมิชั่นซึ่งนำเสนอไอเดียน่าสนใจ แง่มุมทางเนื้อหาที่ลึกซึ้งพอจะทำให้ผู้ใหญ่เอ็นจอยได้มากพอๆ กับลูกๆ ของพวกเขา และจินตนาการอันน่าตื่นตา ภายใต้แพ็คเกจที่ดูสดใหม่ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่แปลกประหลาด หรือมืดหม่นเกินกว่าตลาดวงกว้างจะรับได้

ไอเดียเบื้องต้นของ Inside Out คือ สร้างภาพรูปธรรมให้กับสิ่งที่เป็นนามธรรมอย่างอารมณ์ความรู้สึก ด้วยการวาดภาพว่าในหัวสมองเรามีห้องควบคุมพร้อมแผงวงจรและจอภาพ ซึ่งถ่ายทอดเหตุการณ์ผ่านสายตาของบุคคลนั้น ส่วนคนทำงานแต่ละคนก็จะเป็นตัวแทนของอารมณ์แต่ละรูปแบบ เช่น สุข เศร้า กลัว โกรธ ซึ่งต่างผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันควบคุมแผงวงจรดังกล่าวตามแต่สถานการณ์จะพาไป และแน่นอนพวกมันย่อมมีสัญลักษณ์เป็นสีสันที่สอดคล้องกับบุคลิกของตัวเองด้วย เช่น ความเศร้าก็จะตัวสีฟ้า ส่วนความโกรธก็จะตัวสีแดง มองในมุมหนึ่งมันเปรียบได้กับความพยายามจะอธิบาย แยกย่อยภาพแอบสแตรกออกเป็นสูตรสมการหนึ่ง-สอง-สาม หรือลดมิติซับซ้อนเชิงลึกให้กลายเป็นรูปธรรมสองมิติแบบเดียวกับฉากหนึ่งในหนังเมื่อ บิงบอง (ริชาร์ด ไคนด์) พา จอย (เอมี โพห์เลอร์) กับ แซดเนส (ฟิลลิส สมิธ) เดินทะลุทางลัดเพื่อไปยังดินแดนแห่งจินตนาการ แล้วกลายสภาพจากตัวการ์ตูนสามมิติเป็นรูปทรงเรขาคณิตสองมิติที่แบนราบ โดยคำถามซึ่งอาจผุดขึ้นขณะนั่งดูหนัง คือ เราสามารถแบ่งอารมณ์ได้ชัดเจนขนาดนั้นหรือ เพราะในเมื่อบางครั้งกระทั่งตัวเราเองยังไม่แน่ใจว่ากำลังรู้สึกอย่างไร แต่อย่างว่านั่นคงไม่ถือเป็นจุดบกพร่องเมื่อพิจารณาว่าหนังถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นความบันเทิงสำหรับ ทุกคนในครอบครัว เรียกได้ว่าเป็นวิชาจิตวิทยาขั้นพื้นฐานสำหรับเด็กปีหนึ่ง ซึ่งสัมผัสผ่านประเด็นในระดับผิวเผิน

หนังเล่าเรื่องสองส่วนควบคู่กันไป แต่สีสันและการผจญภัยหลักอยู่ที่ห้องควบคุมในหัวของไรลีย์ (แคธลีน ดิแอส) ซึ่งมีจอยเป็นบอสใหญ่ เนื่องจากไรลีย์เติบโตมาในครอบครัวที่อบอุ่น และแน่นอนเธอยังเด็ก ยังไร้เดียงสา ยังไม่ต้องผจญกับความจริงของโลก หรือความรับผิดชอบต่างๆ นานา จึงไม่แปลกที่ความสุขดูจะเป็นแก่นหลักของชีวิตในช่วงนี้ (แต่ถ้าเราสามารถมองเข้าไปในหัวตัวละครเอกในหนังอย่าง We Need to Talk About Kevin บางทีจอยอาจจะกลายเป็นแค่ตัวประกอบที่ไม่สลักสำคัญแม้แต่น้อย ดังจะสังเกตความแตกต่างเมื่อหนังตัดภาพไปยัง ทีมงาน ในหัวพ่อ (ไคล์ แม็คลาคแลน) กับแม่ (ไดแอน เลน) ไรลีย์ ซึ่งคนดูจะเห็นแองเกอร์เป็นบอสใหญ่ในกรณีแรก และแซดเนสเป็นบอสใหญ่ในกรณีหลัง) กระนั้นทุกอย่างกำลังจะเปลี่ยนไป เมื่อไรลีย์ต้องประสบ วิกฤติ ครั้งแรกหลังครอบครัวเธอตัดสินใจย้ายรกรากจากเมืองบ้านนอกในมินเนโซตา มาตั้งถิ่นฐานในเมืองใหญ่อย่างซานฟรานซิสโกขณะที่ไรลีย์อายุได้ 11 ปี

บ้านที่ปราศจากบริเวณ พ่อที่ต้องวุ่นวายกับงานใหม่ รถขนของที่ยังมาไม่ถึง ฮ็อกกี้น้ำแข็งที่ไม่ได้เล่นกลางแจ้ง แต่กลับเล่นกันในสเตเดียมทึมทึบ การต้องปรับตัวภายใต้สภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคย เพื่อนฝูงที่ห่างหาย เหล่านี้ล้วนมีส่วนทำให้ความสุขของไรลีย์หล่นหาย แล้วผันแปรเป็นความโกรธ ความคับแค้นใจ ซึ่งสะท้อนผ่านความโกลาหลในหัวของไรลีย์ เมื่อจอยกับแซดเนสถูกดูดผ่านท่อไปยังคลังเก็บความทรงจำ และต้องพยายามค้นหาหนทางกลับไปยังศูนย์ควบคุม โดยในระหว่างนี้ไรลีย์จึงถูกชี้นำโดยเฟียร์ (บิล เฮดเดอร์) แองเกอร์ (ลูอิส แบล็ค) และดิสกัสต์ (มินดี้ คาลิง) เป็นหลัก ซึ่งดูจะเป็นอารมณ์พื้นฐานสำหรับเหล่าวัยเด็กผู้กำลังจะเปลี่ยนผ่านไปสู่วัยรุ่น  

เช่นเดียวกับพัฒนาการทางด้านจิตวิทยาของผู้คนส่วนใหญ่เมื่อต้องเผชิญหน้ากับความผิดหวัง การสูญเสีย หรือข่าวร้ายทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นการตายจากของสมาชิกในครอบครัว คนรัก หรือการรับทราบว่าตัวเองกำลังป่วยเป็นโรคมะเร็งระยะสุดท้าย ปัญหาทางอารมณ์ทั้งหลายของไรลีย์ล้วนมีรากฐานมาจากความพยายามจะกดทับความเศร้า ไม่ยอมรับความสูญเสีย หรือความเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะนำไปสู่การปฏิเสธความจริง ความรู้สึกด้านชาเหมือนโลกทั้งใบไม่มีความหมายอีกต่อไป ผสานเข้ากับความโกรธในชะตากรรม รวมไปถึงบุคคลรอบข้าง เช่น โกรธพ่อกับแม่ที่ทำให้เธอต้องสูญเสียเพื่อน แล้วลงเอยด้วยความพยายามจะหนีออกจากบ้านเพื่อกลับไปยังจุดเริ่มต้น ราวกับต้องการจะหมุนย้อนเวลากลับสู่อดีต สู่ความรู้สึกคุ้นเคยก่อนหน้าจะเกิดวิกฤติ ในหนังคนดูจะเห็นว่าจอยมักพยายามควบคุมแซดเนสไม่ให้จับต้องลูกแก้วความทรงจำทั้งหลายเพื่อปกป้องไรลีย์จากความทุกข์ ความโศก โดยในฉากหนึ่งเธอถึงขั้นขีดเส้นล้อมรอบแซดเนสเอาไว้แล้วบอกไม่ให้เธอออกนอกบริเวณดังกล่าว มันเปรียบได้กับสัญลักษณ์ของการเก็บกด ซึ่งแน่นอนย่อมไม่ส่งผลดีในระยะยาวดังที่จอยจะตระหนักในท้ายที่สุดว่า แซดเนสก็มีความจำเป็นต่อไรลีย์ไม่แพ้ตัวเธอเอง เพราะความเศร้าถือเป็นหนึ่งในประสบการณ์สำคัญของมนุษย์ ถึงแม้คุณจะพยายามปกป้องตัวเอง ลูกน้อยบรรดาคนที่คุณรัก หรือพยายามหลอกตัวเองมากแค่ไหนก็ตาม แต่ถ้าคุณไม่เปิดใจที่จะยอมรับความเศร้า จิตใจคุณก็ไม่ค้นพบกับความสุขสงบอย่างแท้จริง
               
ขณะที่จอยดูจะหมกมุ่นอยู่กับตัวเอง อยู่กับความพยายามจะปกป้องไรลีย์จากความทุกข์ทั้งหลาย แซดเนสกลับเป็นคนที่รู้เส้นทาง รายละเอียดทุกซอกทุกมุมในหัวของไรลีย์ และเมื่อบิงบองหดหู่กับความสำคัญของตนที่ลดน้อยถอยลงอย่างต่อเนื่องในชีวิตของไรลีย์ แซดเนสคือคนที่สามารถปลุกปลอบเขาด้วยการรับฟังและเห็นอกเห็นใจ ซึ่งเป็นวิธีที่ได้ผลกว่าความพยายามจะ เชียร์อัพ ของจอยให้บิงบองร่าเริงด้วยการจักจี้บ้าง แลบลิ้นปลิ้นตาบ้าง ราวกับว่ารอยยิ้ม ตลอดจนเสียงหัวเราะจะสามารถแก้ทุกปัญหาได้โดยปราศจากการยอมรับข้อเท็จจริงอันเจ็บปวดในชีวิต

ด้วยเหตุนี้ในฉากสุดท้าย จอยจึงเรียนรู้ที่จะปล่อยให้แซดเนสได้ขับเคลื่อนแผงควบคุม แล้วเปลี่ยนความทรงจำสีทองแสนสุขที่มินเนโซตาให้กลายเป็นอดีตหอมหวานสีฟ้าหม่นเศร้าด้วยการตระหนักในความจริงว่าคุณไม่อาจเรียกวันคืนเหล่านั้นกลับมาได้อีกต่อไป และเมื่อใดก็ตามที่คุณเรียนรู้ที่จะยอมรับข้อเท็จจริงได้โดยไม่พยายามซุกซ่อนอารมณ์ไว้ใต้พรม หรือเคลือบฉาบด้วยรอยยิ้ม หรือความสุขจอมปลอม เมื่อนั้นคุณก็พร้อมที่จะก้าวเดินต่อไปข้างหน้ากับเวลาที่เหลืออยู่ในชีวิต เช่นเดียวกับไรลีย์ที่สามารถปลดปล่อยน้ำตาแห่งความอัดอั้นออกมาในท้ายที่สุด

Inside Out ผนวกความสนุกสนานแห่งจินตนาการ เช่น การแปลงนิยาม โรงงานผลิตฝัน ของฮอลลีวู้ดให้กลายเป็นรูปธรรม หรือการดำดิ่งเข้าไปสู่จิตใต้สำนึก ซึ่งคุมขัง ตัวสร้างปัญหาทั้งหลาย เข้ากับความเจ็บปวดของการเติบใหญ่ได้อย่างลงตัว แม้ว่าในความพยายามจะเป็นความบันเทิงสำหรับทุกคนในครอบครัวส่งผลให้หนังโน้มเอียงไปยังทิศทางแรกมากกว่าทิศทางหลังสักเล็กน้อยก็ตาม แก๊กตลกหลากหลายถูกโยนใส่คนดูแบบไม่ยั้ง ซึ่งหลายครั้งก็ดูจะมีจุดมุ่งหมายเพื่อเอาใจผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก เช่น มุกล้อเลียนประโยคสุดคลาสสิกจาก Chinatown แต่ในเวลาเดียวกันหนังก็ไม่หลงลืมที่จะสะท้อนความหม่นเศร้าของการเปลี่ยนผ่านช่วงวัย เมื่อหนูน้อยขี้เล่น เฟอะฟะ เติบโตเกินกว่าจะเล่นมุกปัญญาอ่อนเดิมๆ กับพ่อของเธอ เมื่อความจริงของโลกแห่งผู้ใหญ่ค่อยๆ คืบคลานเข้ามามีบทบาท แล้วขัดกร่อนความไร้เดียงสาให้เริ่มเลือนลาง ซึ่งประเด็นดังกล่าวน่าจะจับใจกลุ่มคนดูผู้ใหญ่ที่ล้วนเคยผ่านประสบการณ์เหล่านี้มาก่อนอย่างไม่ต้องสงสัย

หนึ่งในความชาญฉลาดของหนัง คือ การนำเสนอธรรมชาติอันผันผวน สุ่มเดา และยากจะคาดคิดของความทรงจำผ่านแง่มุมที่ทั้งเปี่ยมอารมณ์ขัน เช่น ฉากทีมงานเดินสำรวจไปตามชั้นเก็บลูกแก้วแล้วสูบความทรงจำที่เริ่มเลือนลาง หรือไม่จำเป็นทิ้งลงหลุมขยะ (เบอร์โทรศัพท์ รายชื่อประธานาธิบดีสหรัฐ บทเรียนเปียโน) และอารมณ์สะเทือนใจจากชะตากรรมที่เกิดขึ้นกับบิงบอง ความทรงจำไหนที่ไรลีย์ไม่แคร์ มันก็จะจางหายไป ป้าแม่บ้านอธิบายขั้นตอนการคัดสรรของเธอให้จอยฟัง นั่นอาจไม่ใช่คำนิยามธรรมชาติการทำงานของสมองที่แม่นยำเสียทีเดียว เพราะบางครั้งสมองก็ขับเคลื่อนโดยปราศจากเหตุผล เป็นเหตุให้อะไรที่ควรจำกลับลืม อะไรที่ควรลืมกลับจำ เช่น คนส่วนใหญ่น่าจะ แคร์ บทเรียนเปียโนมากกว่าเพลงโฆษณาหมากฝรั่งไร้สาระ แต่นั่นก็ไม่ได้หยุดยั้งให้อย่างแรกค่อยๆ เลือนหายไป (หากคุณไม่ได้เติบโตมาเป็นนักดนตรี หรือหมั่นฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง) ขณะที่อย่างหลังกลับแจ่มชัด และจู่ๆ ก็แวบเข้ามาสร้างความรำคาญในหัวแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย

ในทางตรงกันข้าม บุคคลที่ไรลีย์แคร์และเคยมีความสำคัญอย่างสูงต่อชีวิตของเธอจนแทบจะรองจากพ่อกับแม่เลยก็ว่าได้อย่างบิงบองกลับต้องลงเอยด้วยการติดแหง็กอยู่ในหลุมขยะแห่งความทรงจำอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง เมื่อเธอเติบใหญ่ ได้คบหา สร้างสัมพันธ์กับมนุษย์คนอื่นๆ จนไม่จำเป็นต้องอาศัยเพื่อนในจินตนาการอีกต่อไป มันไม่สำคัญว่าเราจะแคร์ หรือไม่แคร์ใครหรือสิ่งใดมากแค่ไหน เพราะสุดท้ายแล้วกาลเวลาจะทำหน้าที่ของมันอย่างซื่อตรง ทั้งในแง่เยียวยาความเจ็บปวด ความผิดหวัง และลบเลือนคืนวันอันสนุกสนาน เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุข เหมือนที่เราสามารถจินตนาการต่อไปได้ไม่ยากว่าเหล่าผองเพื่อนของไรลีย์ที่มินเนโซตา ซึ่งเคยมีความสำคัญอย่างยิ่งถึงขนาดที่เธอคิดจะหนีกลับไปหา สุดท้ายก็จะค่อยๆ เลือนหายไปจากความทรงจำเช่นกัน เมื่อเธอเติบใหญ่ ได้คบหากับเพื่อนใหม่ในซานฟรานซิสโก... มันเป็นสัจธรรมของชีวิตที่เราจะได้พานพบผู้คนและเหตุการณ์ต่างๆ มากมาย แต่สุดท้ายแล้วกลับมีเพียงหยิบมือเท่านั้นที่จะคงอยู่ในความทรงจำ ซึ่งบางครั้งเราเองไม่มีสิทธิ์จะเป็นผู้เลือกเสียด้วยซ้ำ  

วันอาทิตย์, สิงหาคม 16, 2558

Southpaw: ความเป็นชายอันเปราะบาง


เวทีมวยเป็นหนึ่งในสนามประลองความเป็นชายที่ยิ่งใหญ่และโดดเด่นสูงสุด เพราะการชกมวยไม่เพียงแต่จะเป็นกีฬาที่ดุเดือด เลือดสาด เน้นการเผชิญหน้าแบบตัวต่อตัวเท่านั้น กระทั่งเหล่าคนดูเอง ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นผู้ชาย ก็ล้วนคาดหวังว่าจะได้เห็นความรุนแรง ความหายนะ ความเจ็บปวด และจะรู้สึกพึงพอใจสูงสุดก็ต่อเมื่อนักมวยสามารถน็อกคู่ต่อสู้ให้ล้มลงไปกองกับพื้นได้สำเร็จ การชกในสไตล์ตั้งการ์ดป้องกันตัวเอง แย็บทำคะแนน หรือถอยหลบหมัดอาจถูกมองว่าเป็นการชกแบบคนขี้ขลาด เนื่องจากมันไม่ตอบสนองสัญชาตญาณดิบของทั้งนักมวยเองและเหล่าคนดู

ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไม บิลลี โฮป (เจค จิลเลนฮาล) เจ้าของแชมป์โลกรุ่นไลท์เฮฟวีเวท ถึงกลายเป็นขวัญใจมวลชน เพราะเขาไม่เพียงจะต่อยชนะ ล้มคว่ำคู่ต่อสู้ได้เท่านั้น แต่สไตล์การชกแบบเดินหน้าชน ใช้หมัดแลกหมัดของบิลลียังตอบสนองวิญญาณกระหายเลือดของคนดูได้อย่างเต็มอิ่ม เขาไม่คิดจะตั้งการ์ด ใช้ฟุตเวิร์คหลบหลีก แต่กลับเดินหน้าไปรับหมัดอย่างไม่เกรงกลัว พร้อมหาจังหวะน็อกคู่ต่อสู้ด้วยหมัดซ้าย ซึ่งเป็นทีเด็ดของเขา บิลลี่เลือกจะใช้ความเจ็บปวดเป็นแรงผลักดัน ใช้มันกระตุ้นความโกรธแค้น แล้วระบายมันออกมาผ่านการใช้กำลัง สำหรับเขากีฬาชกมวยก็เหมือนแบบทดสอบความอดทน และเวทีมวยก็แทบจะไม่ต่างจากสนามประลองโคลอสเซียมของเหล่านักรบแกลดิเอเตอร์ในยุคโรมันเรืองอำนาจ ใครทนรับหมัดได้มากกว่า ทนเลือดไหลได้มากกว่า คนนั้นย่อมมีสิทธิ์เป็นผู้ชนะ จากข้อมูลของนักพากย์ข้างเวที แทบไม่มีนัดใดที่บิลลี่ไม่ต้องเสียเลือด หรือสามารถเอาชนะคู่ต่อสู้ได้ในสภาพที่ไม่สะบักสะบอม แต่ประเด็นสำคัญอยู่ตรงที่เขา ชนะ แม้ว่ามันจะเป็นชัยชนะซึ่งปราศจากชั้นเชิง หรือความสง่างามก็ตาม

สไตล์การชกดังกล่าวพัฒนามาจากแบ็คกราวด์ในย่านสลัม เฮลส์ คิทเช่น ที่บีบบังคับให้เด็กกำพร้าอย่างบิลลี่ต้องปากกัดตีนถีบ ดิ้นรนหาเลี้ยงปากท้องจนกระทั่งกลายมาเป็นนักชกระดับโลก ความอดทนต่อชีวิตอันยากลำบากพัฒนามาเป็นสไตล์การชกแบบไม่กลัวหมัด และสภาพร่างกายอันแข็งแกร่ง อึดถึก บางทีความโกรธแค้นในชะตากรรมก็เหมือนการทนรับหมัดคู่ต่อสู้เพื่อรอเวลาสวนกลับ มันเป็นแรงผลักดันให้เขากระหายความสำเร็จ กระหายชัยชนะ และเมื่อวันนั้นมาถึง เขาก็กอบโกยมันอย่างตะกรุมตะกราม ดังจะเห็นได้ไลฟ์สไตล์ในลักษณะ สามล้อถูกหวย ทั้งจากคฤหาสน์หลังมหึมา บรรดา ทีมงานที่รายล้อมหน้าหลัง และการซื้อนาฬิกาฝังเพชรแจกเพื่อนราวกับเป็นของเล่นย่านสำเพ็ง

นี่ถือเป็นหนังเรื่องที่สองติดต่อกันที่ เจค จิลเลนฮาล ต้องเปลี่ยนแปลงสภาพร่างกายอย่างสุดโต่งหลังจาก Nightcrawler เมื่อปีก่อน แต่เรียกได้ว่าในทิศทางตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง โดยคราวนี้เขาต้องเข้ายิม กินโปรตีนเพื่อเร่งกล้ามแทนการลดน้ำหนักจนหน้าซูบ แต่น่าสังเกตว่าทั้งสองบทล้วนเป็นงานแสดงที่อาศัยแง่มุมเชิงกายภาพค่อนข้างหนักหน่วง ไม่เฉพาะการเปลี่ยนแปลงรูปร่าง หรือทรงผมเท่านั้น แต่รวมไปถึงลักษณะการพูด หรือกระทั่งท่าเดินอีกด้วย ถ้าเปรียบตัวละครเอกใน Nightcrawler ว่าไม่ต่างจากหมาป่าคาโยตี้ ซึ่งเจ้าเล่ห์ คิดคำนวณแผนการในหัวอย่างละเอียดรอบคอบ และชื่นชอบการไล่ล่าเหยื่อในยามค่ำคืน ตัวละครเอกใน Southpaw ก็คงไม่ต่างจากลิงยักษ์ที่แข็งแรง บึกบึน แต่ในเวลาเดียวกันก็ทื่อมะลื่อ และถนัดใช้กำลังมากกว่าใช้สมอง อิริยาบถของจิลเลนฮาลสะท้อนให้เห็นบุคลิกแบบมนุษย์ถ้ำ ทั้งท่าเดินห่อไหล่ ลักษณะการพูดที่ติดๆ ขัดๆ เหมือนเขาต้องใช้เวลากว่าจะสรรหาถ้อยคำแต่ละคำมาเชื่อมต่อให้เป็นประโยค มันทำให้นึกถึงงานแสดงของ แชนนิง ตาตั้ม ใน Foxcatcher แต่อาจจะแตกต่างกันตรงที่บิลลีเป็นตัวละครที่เย่อหยิ่งและเปี่ยมความมั่นใจมากกว่า มาร์ค ชูลท์ซ หลายเท่าตัว เขาจัดวางอีโก้กับความเป็นชายใส่กรอบ พร้อมทั้งแบกติดตัวไปทุกที่

เมื่อภรรยา มอรีน (ราเชล แม็คอดัมส์) ทักท้วงว่าสไตล์การชกแบบไม่กลัวหมัดจะทำให้เขากลายเป็นเอ๋อก่อนลูกสาวจะเรียนจบมหาวิทยาลัย ปฏิกิริยาแรกของบิลลี คือ ยกบุญคุณขึ้นมาอ้าง โดยตอกกลับว่าสาเหตุที่พวกเขามีชีวิตสุขสบาย อาศัยอยู่ในบ้านหลังใหญ่ ส่วนลูกสาวก็ได้เข้าโรงเรียนดีๆ ไม่ได้เป็นเพราะสไตล์การชกแบบนี้หรอกหรือ อีโก้นักมวยของบิลลีดูเหมือนจะยิ่งใหญ่ เปราะบางไม่แตกต่างต่างจากอีโก้ของการเป็นหัวหน้าครอบครัว และแน่นอนว่าอีโก้ดังกล่าวกำลังจะนำพาเขาไปพบกับหายนะครั้งใหญ่

กระสุนเพียงนัดเดียวทำให้ชีวิตของ บิลลี โฮป ถูกน็อกลงไปนอนนับสิบ ความเปราะบางแห่งความเป็นชายยังผลให้เขาบันดาลโทสะแทนที่จะเดินหนีตามคำแนะนำของมอรีนจากถ้อยคำดูถูก เหยียดหยามอันซ้ำซาก และคาดเดาได้ของนักมวยปากสุนัขอย่าง มิเกล เอสโคบาร์ (มิเกล โกเมซ) ตัวละครซึ่งถูกสร้างขึ้นมาให้มีมิติความเป็นมนุษย์มากพอๆ กับวายร้ายในละครหลังข่าว (เขาไม่ได้แค่ยียวนกวนบาทาเท่านั้น แต่ในช่วงท้ายของหนังคนดูยังจะได้เห็นว่าเขาเป็นนักมวยที่ปราศจากสปิริตนักกีฬาอีกด้วย ) ภายในชั่วพริบตา บิลลีสูญเสียทุกอย่าง ภรรยา ลูกสาว อาชีพการงาน บ้าน รถ ทรัพย์สมบัติ และเหล่าบริวาร ซึ่งห้อมล้อมเขาดุจเดียวกับปลิงดูดเลือด จนสุดท้ายสถานการณ์ถึงขั้นบีบบังคับให้เขาต้องกล้ำกลืนศักดิ์ศรีและอีโก้ แล้วรับทำงานเป็นภารโรงในโรงยิมเก่าๆ ของ ติตัส วิลส์ (ฟอร์เรสต์ วิทเทเกอร์) เพื่อโอกาสที่จะได้ลูกสาวกลับคืนมา

บทภาพยนตร์ของ เคิร์ท ซัตเทอร์ ยืนกรานที่จะดำเนินตามรอยสูตรสำเร็จในทุกย่างก้าว จนไม่ต้องคาดเดาให้เสียเวลาว่าสุดท้ายแล้วหนทางการไถ่บาปของบิลลีจะลงเอยอย่างไร หรือเขาจะมีโอกาสได้ประชันฝีมือกับเอสโคบาร์บนเวทีมวยหรือไม่ ขณะเดียวกันผู้กำกับ แอนตวน ฟูคัว (Training Day, The Equalizer) ก็ไม่ได้ขึ้นชื่อในเรื่องความลุ่มลึกมากพอจะยกระดับฉากบีบคั้นอารมณ์ที่จำเจ เช่น เมื่อศาลสั่งให้ลูกสาวของบิลลีต้องไปอยู่ในความดูแลของรัฐ เนื่องจากพ่อเด็กมีพฤติกรรมและสภาพจิตใจที่ไม่มั่นคง ให้ดูน่าเชื่อถือ หรือสะเทือนอารมณ์ อย่างไรก็ตาม ฟูคัวชดเชยช่องว่างดังกล่าวด้วยการเล่าเรื่องที่ฉับไว กระตือรือร้น ซึ่งเมื่อผนวกเข้ากับงานแสดงในระดับเหนือมาตรฐานของเหล่าดารานำทั้งหลาย จึงส่งผลให้ Southpaw กลายเป็นความบันเทิงที่ชวนติดตามอยู่บ้าง แม้จะไม่ใช่ในระดับเดียวกับต้นแบบสูตรสำเร็จอย่าง Rocky ก็ตาม

เช่นเดียวกับ Rocky ผลงานกำกับชิ้นล่าสุดของฟูคัวพูดถึงประเด็นการฟันฝ่าอุปสรรคสู่ความสำเร็จ การค้นพบศักยภาพที่ซุกซ่อนอยู่ภายใน และการเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อเอาชนะคำสบประมาท ถ้าหนังโฟกัสไปยังเรื่องราวการไต่เต้าของบิลลีจากนักมวยยากไร้มาเป็นแชมป์โลก โดยมีพล็อตเสริมเป็นความรักระหว่างเขากับมอรีน หนังคงแทบไม่ต่างกับการรีเมค Rocky โดยมีฉากหลังที่ร่วมสมัยกว่า  แต่เนื่องจากหนังเลือกจะเริ่มต้นเมื่อชีวิตของบิลลีกำลังยืนอยู่บนจุดสูงสุดของอาชีพการงาน (ซึ่งอาจตีความให้เป็นภาคต่อของ Rocky ได้ไม่ยาก) ท้ายที่สุดมันจึงมีส่วนผสมของนิทานอุทาหรณ์ สั่งสอนศีลธรรมและค่านิยมแบบดั้งเดิมทำนองว่าชื่อเสียง เงินทอง และเกียรติยศนั้นเป็นของนอกกาย มันอาจหลั่งไหลเข้ามาได้อย่างรวดเร็วและเหือดหายไปในพริบตา พวกมันหาใช่แก่นแท้สำหรับใช้ยึดเหนี่ยวเป็นหลักในการดำเนินชีวิต ซึ่งทั้งหมดหาใช่สารที่แปลกใหม่ หรือถูกนำเสนออย่างทรงพลังมากนัก โดยคนดูสามารถคาดเดาได้ไม่ยากว่าผู้จัดการหิวเงินของบิลลี (ฟิฟตี้ เซนต์) ซึ่งพยายามยัดเยียดสัญญาการชกนัดต่อไปให้เขาโดยไม่แคร์ว่าสุขภาพร่างกายและจิตใจของลูกค้าเขาอยู่ในสภาพสมบูรณ์พร้อมลงแข่งหรือไม่ จะมีปฏิกิริยาเช่นใดเมื่อปรากฏว่าบิลลี่ไม่เหลือเงิน หรือผลประโยชน์ให้เขาสูบอีกต่อไป  

ความน่าสนใจของ Southpaw ไม่ได้อยู่ตรงการกลับมาทวงแชมป์โลกรุ่นไลท์เฮฟวีเวทคืนจาก มิเกล เอสโคบาร์ ซึ่งเป็นพล็อตภาคบังคับที่คนดูสามารถมองเห็นผลลัพธ์ได้ตั้งแต่ไก่โห่ แต่เป็นการเดินทางของ บิลลี โฮป ไปสู่สถานะนักมวยที่เก่งขึ้นและมนุษย์ที่ละเอียดอ่อนขึ้นในเวลาเดียวกัน (สองแง่มุมดังกล่าวสะท้อนผ่านรอยสักบนแขนของเขา ซึ่งมีคำว่า นักสู้ ควบคู่กับ คุณพ่อ”) ติตัส วิลส์ สอนให้เขาฉลาดชก รู้จักยกหมัดตั้งการ์ด รู้จักการแย็บทำคะแนน รู้จักฟุตเวิร์ค และความว่องไว ซึ่งจะทำสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อบิลลียินยอมลดทอนอีโก้ ตลอดจนความเชื่อแบบมนุษย์ถ้ำดั้งเดิมในการใช้กำลังพุ่งเข้าชนปัญหา มอรีนเป็นคนแรกที่ย้ำเตือนให้บิลลีทบทวนว่าเขาไม่อาจชกมวยเพียงเพื่อตอบสนองตัวเองได้อีกต่อไป เขาไม่อาจคิดเพียงว่าตัวเองยังทนรับหมัดคู่ต่อสู้ได้อีก โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่อาจตามมา

บิลลีดำเนินชีวิตในลักษณะเดียวกับกลยุทธ์การชกบนเวทีมวย นั่นคือ ปราศจากแท็กติก หรือแผนการเล่น ปราศจากมาตรการป้องกันภัย หรือวิธีหลบหลีก เขาปล่อยการตัดสินใจทุกอย่างไว้กับมอรีน ฉะนั้นเมื่อไม่มีเธอ จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกที่ชีวิตของเขาจะพังทลายลงอย่างรวดเร็ว ในท้ายที่สุด บิลลีไม่เพียงจะต้องเรียนรู้วิธีการชกแบบใหม่เท่านั้น แต่เขายังต้องเรียนรู้การใช้ชีวิตแบบใหม่อีกด้วย ความรับผิดชอบของเขาไม่ได้จบอยู่แค่การหาเงินมาจุนเจือครอบครัวอีกต่อไป แต่เขาจะต้องเป็นทั้งพ่อและแม่ให้กับไลลา (อูนา ลอว์เรนซ์) ซึ่งในวัยนี้ไม่ได้เรียกร้องที่จะมีคฤหาสน์หลังโต หรือกินอาหารหรูหราแต่อย่างใด เธอแค่ต้องการความรัก ความเอาใจใส่จากคนเป็นพ่อเท่านั้น

สุดท้ายชัยชนะที่แท้จริงของ บิลลี โฮป หาใช่การแย่งชิงเข็มขัดแชมป์โลกกลับคืนมา หากแต่เป็นช่วงเวลาอบอุ่น เป็นส่วนตัวระหว่างสองพ่อลูกในห้องล็อกเกอร์แคบๆ ซึ่งเปี่ยมคุณค่ายิ่งกว่าชื่อเสียง นักข่าว และแสงแฟลชนับร้อยที่รอต้อนรับเขาอยู่ด้านนอกมากมายนัก 

วันพฤหัสบดี, กรกฎาคม 16, 2558

พี่ชาย My Hero: ตราบาปของผู้ชนะ


ความจริงแล้วผมมีความรู้สึกว่าชื่อเดิมของหนังเรื่องนี้ นั่นคือ How to Win at Checkers (Every Time) ดูเหมือนจะสามารถสื่อสารใจความสำคัญของหนังได้ชัดเจน ตรงประเด็น (แต่แน่นอนว่าคงไม่ค่อยเชิญชวนในแง่การตลาดสักเท่าไหร่) กว่าชื่อใหม่อย่าง พี่ชาย My Hero และที่สำคัญมันยังไม่ได้ไปคล้ายคลึงกับชื่อหนังไทยเกาะกระแสวายเมื่อปีก่อนเรื่อง พี่ชาย My Bromance จนอาจสร้างความสับสนให้กับผู้ชมทั่วไปอีกด้วย จริงอยู่ว่าสำหรับ โอ๊ต (อิงครัต ดำรงค์ศักดิ์กุล) หลังจากสูญเสียพ่อแม่ไปตั้งแต่ยังเล็กจนต้องย้ายมาอาศัยอยู่บ้านป้า เขาย่อมมองเห็นพี่ชาย (ถิร ชุติกุล) เป็นเหมือนฮีโร เพราะเอกถูกสถานการณ์บีบบังคับให้ต้องทำหน้าที่เหมือนพ่อคนที่สอง คอยเลี้ยงดู อบรมสั่งสอนน้องชาย และพร้อมกันนั้นก็ต้องหาเงินมาคอยจุนเจือครอบครัว แต่เมื่อเรื่องราวดำเนินไป มุมมองของโอ๊ตและของคนดูต่อตัวละครอย่างเอกกลับค่อยๆ แปรเปลี่ยน เขาหาใช่วีรบุรุษ ซึ่งถูกยกย่อง เชิดชู หรือสดุดีในแบบที่ชื่อหนังโน้มนำไปทางนั้นแต่อย่างใด บางทีถ้าหนังถูกตั้งชื่อใหม่ว่า พี่ชาย My Tragic Hero มันอาจสื่อสารอารมณ์ได้ชัดเจนกว่า

จุดหักเหสำคัญของเรื่องราวเกิดขึ้นเมื่อเอกต้องไปเกณฑ์ทหารและเสี่ยงดวงด้วยการจับใบดำใบแดง โดยก่อนหน้านี้หนังได้ปูพื้นให้เห็นปัญหาความรุนแรงในภาคใต้เพื่อตอกย้ำความเสี่ยงของอาชีพทหาร ขณะเดียวกันเอกก็ยังต้องเป็นห่วงอีกด้วยว่าใครจะคอยดูแลน้องชาย ถ้าเขาต้องไปเข้าประจำการและเงินเดือนทหารอันน้อยนิดจะพอสำหรับประคับประคองครอบครัวให้อยู่รอดได้มั้ย เช่นเดียวกับคำถามที่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับความสัมพันธ์ระหว่างเขากับใจ๋ (จิณณะ นวรัตน์) แฟนหนุ่มวัยเดียวกัน ซึ่งไม่จำเป็นต้องกังวลใดๆ เพราะพ่อแม่เขาได้จัดการติดสินบนผู้มีอิทธิพลเรียบร้อยแล้ว เพื่อรับประกันว่าลูกชายจะต้องจับได้ใบดำ

หนังได้แรงบันดาลใจจากสองเรื่องสั้นของ รัฐวุฒิ ลาภเจริญทรัพย์ คือ At the Café Lovely ซึ่งครอบคลุมในส่วนของความสัมพันธ์ระหว่างสองพี่น้อง และ Draft Day ซึ่งครอบคลุมเนื้อหาเกี่ยวกับการจับใบดำใบแดง โดยการดัดแปลงของผู้กำกับชาวอเมริกัน-เกาหลี จอช คิม ให้สองตัวละครเอกจาก Draft Day เป็นคู่รักกันแทนที่จะเป็นแค่เพื่อนสนิท นอกจากจากช่วยเพิ่มระดับความเข้มข้นทางด้านอารมณ์ให้หนักหน่วงขึ้นแล้ว มันยังสื่อนัยยะให้เห็นการ ชำเราทางชนชั้นได้อย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฉากสำคัญช่วงท้ายเรื่อง เมื่อโอ๊ตค้นพบว่าพี่ชายเขาสิ้นหวังขนาดสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อแลกกับเงินห้าพันบาท

น่าประหลาดใจที่ว่าถึงแม้ พี่ชาย My Hero จะเดินทางไปฉายตามเทศกาลหนังเกย์และเลสเบี้ยนมาแล้วทั่วโลก แต่ตัวหนังโดยเนื้อแท้จริงๆ กลับไม่ค่อยให้ความสำคัญต่อประเด็น หรือการสำรวจตัวตนแบบรักร่วมเพศมากนัก ซึ่งมองในแง่หนึ่งก็ถือเป็นคุณลักษณะหัวก้าวหน้าอยู่เช่นกัน กล่าวคือ สภาพสังคมในหนังดูเหมือนจะถูกนำเสนอว่าก้าวข้ามรสนิยมทางเพศไปแล้ว ตัวละครผู้ชายสองคนสามารถรักกัน คบหากันได้อย่างเปิดเผยโดยไม่ถูกล้อเลียน ต่อต้าน และพวกเขาก็ไม่ต้องเผชิญความสับสน หรือปมขัดแย้งใดๆ ภายในจิตใจ ความรักระหว่างชายสองคนกลายเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ เป็นธรรมชาติที่ทุกคนยอมรับ ตรงข้ามกับช่องว่างระหว่างชนชั้น ซึ่งยังคงดำรงอยู่ และดูเหมือนจะยิ่งฝังรากลึก ดังจะเห็นได้ว่าป้าของเอกไม่เห็นชอบในความสัมพันธ์ระหว่างหลานชายกับใจ๋ ไม่ใช่เพราะทั้งคู่เป็นผู้ชาย แต่เพราะทั้งคู่มีพื้นฐานทางชนชั้นแตกต่างกันมากเกินไป ซึ่งหนังก็ตอกย้ำให้เห็นตั้งแต่ฉากแรกๆ

เอกเปรียบเสมือนตัวแทนของชนชั้นล่างประเภทหาเช้ากินค่ำ และรูปลักษณ์ภายนอกของเขายังสะท้อนความเป็น ไทยผ่านผิวที่ค่อนข้างคล้ำและใบหน้าคมเข้ม ขณะที่ใจ๋เป็นตัวแทนของชนชั้นกลางเชื้อสายจีนผิวขาวที่เกิดมาบนกองเงินกองทอง บ้านของคนหนึ่งให้ความรู้สึกแบบชนบท ทั้งทุ่งหญ้า เกมกระดานหมากฮอส และเล้าไก่ ส่วนบ้านของอีกคนก็ให้ความรู้สึกแบบคนเมืองที่เต็มไปด้วยเครื่องอำนวยความสะดวก เกมทันสมัย และความโอ่อ่า (ด้วยเหตุนี้การที่โอ๊ตเติบใหญ่กลายเป็น โทนี รากแก่น จึงถือว่ามีน้ำหนักสอดคล้องไปกับเนื้อหาได้อย่างกลมกลืนมากกว่าจะมองว่าเป็นความไม่สมจริง) ความแตกต่างทางด้านวัตถุ หรือรูปลักษณ์ภายนอกหาใช่อุปสรรคเมื่อคู่รักใช้เวลาเป็นส่วนตัวร่วมงาน แต่มันกลับกลายเป็นปัญหาคุกคามเมื่อพวกเขาต้องมีปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอก

สำหรับฟันเฟืองเล็กๆ ในสังคมแห่งทุนนิยมที่ไร้เรี่ยวแรง ไร้เส้นสาย และที่สำคัญที่สุดไร้เงินทุนอย่างเอก เขาไม่สามารถต้านทาน หรือมองเห็นช่องทางซิกแซ็กออกจากระบบ กฎเกณฑ์ซึ่งตั้งขึ้นโดยชนชั้นสูงได้ ตัวช่วยเดียวที่ป้าของเขาพอจะหามาให้ได้ คือ เครื่องราง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ และการบนบานศาลกล่าวทั้งหลาย ซึ่งหนังเหมือนจะนำเสนอในเชิงล้อเลียนตั้งแต่ช่วงต้นเรื่องว่าไม่เคยทำให้ชีวิตของใครดีขึ้นได้จริงๆ แต่ความเจ็บปวดอยู่ตรงที่สิ่งเหล่านั้นดูจะเป็นความหวังเดียวของเหล่าประชาชนผู้ไม่ค่อยมีอันจะกินซึ่งต้นทุนชีวิตต่ำและเหลือทางเลือกอยู่ไม่มากนัก แม้ว่ามันจะเป็นความหวังลมๆ แล้งๆ เพียงใดก็ตาม

ถ้าตัวละครอย่างเอกจะเป็นฮีโร เขาก็คงเป็นฮีโรที่น่าเศร้า เพราะถึงแม้จะเต็มไปด้วยคุณสมบัติดีงาม แต่เขาก็ไม่อาจก้าวข้ามชะตากรรม ซึ่งถูกกำหนดไว้แล้วล่วงหน้าไม่ว่าจะโดยพระเจ้า พลังเหนือธรรมชาติ หรือวิถีบิดเบี้ยวของสังคมแห่งทุนนิยมก็ตาม ด้วยเหตุนี้ บทสรุปของเอกทั้งระหว่างขั้นตอนการจับใบดำใบแดงและผลลัพธ์ที่ตามมาหลังจากนั้นจึงไม่ใช่เรื่องยากต่อการคาดเดา

แต่โอ๊ตแตกต่างจากพี่ชายตรงที่เขาพยายามดิ้นรนทุกวิถีทางเพื่อให้หลุดพ้นจากกับดักแห่งชะตากรรม แม้จะต้องอาศัยวิธี สกปรกก็ตาม ความขันขื่นอยู่ตรงที่พฤติกรรมดังกล่าวของโอ๊ตนั้นเรียกได้ว่าปราศจากความชอบธรรมมากพอๆ กับพฤติกรรมรีดไถของมาเฟียท้องถิ่น (โกวิท วัฒนกุล) หรือกระทั่งการติดสินบนของพ่อแม่ใจ๋ แต่สุดท้ายเขากลับกลายเป็นคนเดียวที่ได้รับการลงทัณฑ์ ขณะคนอื่นๆ กลับสามารถเชิดหน้าชูตาอยู่ในสังคมได้อย่างเปิดเผย และคอรัปชันบางประเภทก็เป็นที่รับรู้โดยทั่วไป แต่ผู้คนส่วนใหญ่กลับเลือกจะเอาหูไปนาเอาตาไปไร่เนื่องจากพวกเขาอยู่ในสถานะได้เปรียบ หรือไม่ได้รับผลกระทบใดๆ โดยตรง

บุคลิกไม่ยอมจำนนของโอ๊ตสะท้อนชัดในฉากที่เขาลงทุนซื้อหนังสือสอนวิธีเล่นหมากฮอสให้ชนะทุกตาเพื่อจะได้ค้นหาแต้มต่อเหนือพี่ชายในเกมการเดิมพัน และในที่สุดก็ได้รับผลตอบแทนเป็นชัยชนะสมดังตั้งใจ ไคล์แม็กซ์ของหนังหากมองผ่านเลนส์ของแนวทาง coming-of-age คือ เมื่อเอกตัดสินใจพาน้องชายไปทัวร์ที่ทำงานของเขาในค่ำคืนหนึ่ง ซึ่งให้ความรู้สึกใกล้เคียงกับการออกไปผจญภัยของเหล่าเด็กๆ ใน Stand By Me เพื่อค้นหาศพเหยื่อที่ถูกรถไฟชนในป่า (ฉากหลังของหนังซึ่งให้อารมณ์ชนบทมาโดยตลอดกลับแปรเปลี่ยนเป็นกรุงเทพในฉับพลัน โดยยั่วล้อไปกับการล่มสลายแห่งวัยเยาว์ได้อย่างเหมาะเจาะ) ค่ำคืนนั้นเปลี่ยนแปลงชีวิตและตราตรึงอยู่ในความทรงจำของโอ๊ตไม่ใช่เพียงเพราะเขามีโอกาสเข้าไปคลุกคลีวงในกับโลกมืดของเซ็กซ์และยาเสพติดเท่านั้น แต่มันยังเป็นค่ำคืนที่ภาพลักษณ์ดุจวีรบุรุษของเอกในจินตนาการของน้องชายต้องพังทลายลงอย่างราบคาบ เด็กชายได้เห็นพี่ชายเขาในสภาพที่พ่ายแพ้หมดรูป ศักดิ์ศรี หรืออุดมการณ์ถูกปลดเปลื้องจนสูญสิ้นด้วยอารมณ์จนตรอกผสานกับความเจ็บแค้นต่อชะตากรรม

ในท้ายที่สุดสิ่งที่โอ๊ตได้เรียนรู้หาใช่คุณค่าสูงส่งของความซื่อสัตย์ เพราะในโลกแห่งความเป็นจริงอันโหดเหี้ยมการเล่นตามกฎหาได้ลงเอยด้วยความสุขสมหวัง หรือชัยชนะเสมอไป หนังอาจไม่ได้บอกกล่าวอย่างตรงไปตรงมา แต่หากสังเกตจากคอนโดหรูที่โอ๊ตวัยหนุ่ม (โทนี รากแก่น) พักอาศัยอยู่ มอเตอร์ไซค์ราคาแพงที่เขาขับ และท่าทีไม่ยี่หระใดๆ ของเขาในการจับใบดำใบแดง คนดูก็จะพลันตระหนักได้ว่าโอ๊ตก้าวพ้นจากสถานะผู้แพ้มาเป็นผู้ชนะในที่สุด แต่เช่นเดียวกับใจ๋ เขาไม่ได้ยินดีเสียทีเดียวที่รอดพ้นจากการปล่อยชะตากรรมไว้กับดวง หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติ และยังคงถูก หลอกหลอนด้วยความฝันเกี่ยวกับคืนนั้น มันเปรียบเสมือนความรู้สึกผิดของชนชั้นกลาง เมื่อพวกเขาตระหนักดีถึงความไม่เท่าเทียมกัน และส่วนหนึ่งก็อาจนึกเห็นใจ สงสารชนชั้นล่างที่จำต้องอดทนกับการกดขี่ กับความอยุติธรรม กับชีวิตที่สิ้นไร้ทางเลือก แต่ขณะเดียวกันก็อ่อนแอ เห็นแก่ตัวเกินกว่าจะลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลง เพราะพวกเขาเสพติดในอภิสิทธิ์และชัยชนะ... ก็ใครบ้างล่ะที่อยากจะพ่ายแพ้ไปตลอด

Love & Mercy: ทั้งหมดที่เราต้องการคือความรัก


บางทีเสียงที่ ไบรอัน วิลสัน สมาชิกคนสำคัญของวง The Beach Boys ได้ยินในหัวอาจเป็นทั้งเสียงสวรรค์ที่ช่วยให้เขาคิดสร้างสรรค์ผลงานเพลงระดับคลาสสิกขึ้นหิ้ง (แต่มาก่อนกาลเพราะมันไม่ค่อยประสบความสำเร็จทางด้านพาณิชย์สักเท่าไหร่ แม้ว่าปัจจุบันมันจะเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปในฐานะหนึ่งในอัลบั้มที่ทรงอิทธิพลสูงสุดของวงการเพลง) อย่าง Pet Sounds และเป็นเหมือนคำสาปให้เขาตกนรกทั้งเป็นในแง่ชีวิตส่วนตัว เพราะความหมกมุ่นในอันที่จะถ่ายทอดเสียงในหัวออกมาทำให้เขาแปลกแยกจากพี่น้องร่วมวง ภรรยากับลูกๆ จนกระทั่งรวมเลยไปถึงโลกแห่งความเป็นจริง โดยมียาเสพติดเป็นตัวกระตุ้นให้เขายิ่ง ป่วย หนักและถอนตัวออกจากสังคม

Love & Mercy เป็นหนังในแนวทางชีวประวัติคนดังที่แตกต่างจากหนังชีวประวัติทั่วไปแบบที่เราคุ้นเคย กล่าวคือ หนังไม่ได้แฟลชแบ็คเรื่องราวย้อนไปไกลถึงช่วงวัยเด็กของวิลสัน (แต่คนดูก็สามารถเก็บเกี่ยวเศษเสี้ยวเล็กๆ น้อยๆ ได้บ้างผ่านทางสนทนา หรือปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวละคร) ซ้ำยังสรุปรวบยอดการก้าวขึ้นสู่ความนิยมสูงสุดของ The Beach Boys เอาไว้ตั้งแต่ในช่วงสิบนาทีแรกอีกด้วย ขณะที่หนังแนวนี้ส่วนใหญ่มักจะนิยมใช้รูปธรรม ความสำเร็จ เป็นไคล์แม็กซ์เพื่อให้คนดูได้เดินออกจากโรงหนังด้วยอารมณ์อิ่มเอิบใจ แต่เนื่องจาก Love &  Mercy ดูจะให้ความสนใจกับการพาคนดูไปรู้จัก ไบรอัน วิลสัน ในแนวลึกและรอบด้านมากกว่าพาคนดูไปรู้จัก The Beach Boys ในแนวกว้าง สมาชิกร่วมวงคนอื่นๆ รวมถึงความสำเร็จของวงจึงกลายเป็นแค่ส่วนประกอบรอบนอก

นอกจากนี้ แทนการไล่เรียงลำดับเหตุการณ์ไปตามช่วงเวลา หนังกลับเลือกจะตัดสลับไปมาระหว่างช่วงเวลาของไบรอันในวัยหนุ่ม (พอล ดาโน) ขณะเขาสร้างสรรค์ผลงานมาสเตอร์พีซอย่างอัลบั้มเพลง Pet Sounds และซิงเกิลเพลง Good Vibrations กับไบรอันในวัยกลางคน (จอห์น คูแซ็ค) ขณะเขาใช้ชีวิตโดดเดี่ยว แปลกแยกจากครอบครัวและญาติสนิทมิตรสหาย ท่ามกลางการควบคุม/คุกคามอย่างใกล้ชิดของจิตแพทย์  ดร.ยูจีน แลนดี (พอล จิอาแม็ตติ) จนกระทั่งเขาได้พบกับ เมลินดา เลดเบตเตอร์ (อลิซาเบธ แบงค์ส) เซลขายรถสาวสวยที่ช่วยเหลือเขาให้รอดพ้นจากเงื้อมเงาบงการของแลนดี และแต่งงานอยู่กินกับเขามาจนถึงปัจจุบัน

ถึงแม้หนังจะเชื่อมโยงเรื่องราวในสองส่วนเข้าด้วยกันได้อย่างราบรื่น กลมกลืน แต่น่าสังเกตว่าเรื่องราวในสองช่วงเวลาดังกล่าวแทบจะดำเนินไปในทิศทางที่ตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิง โดยช่วงวัยหนุ่ม(ฉากหลังคือทศวรรษ 1960) หนังโฟกัสไปยังขบวนการสร้างสรรค์ ตลอดจนอัจฉริยภาพของวิลสันที่จะพัฒนาแนวทางสนุกสนานของดนตรีโต้คลื่นชายหาดแบบที่สร้างชื่อให้กับ The Beach Boys ไปสู่ผลงานทดลองที่แปลกใหม่ ซับซ้อนขึ้น และท้าทายประเพณีเดิมๆ หลังต้องเผชิญกระแสการแข่งขันจากวงดนตรีหัวก้าวหน้าอย่าง The Beatles ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างไบรอันกับภรรยาคนแรก มาริลีน (อีริน ดาร์ค) และลูกสาวสองคนกลับถูกกล่าวถึงเพียงผ่านๆ

ความขัดแย้งหลักในเรื่องราวช่วงนี้ คือ แนวทางดนตรีของไบรอันดูจะไม่สอดคล้องกับแนวคิดของเพื่อนร่วมวงสักเท่าไหร่ โดยเฉพาะ ไมค์ เลิฟ (เจค เอเบล) ซึ่งปรารถนาจะให้ The Beach Boys กลับไปทำดนตรีแบบที่เคยสร้างชื่อเสียงให้พวกเขาในอดีต พร้อมกันนั้นเขายังรู้สึกอีกด้วยว่าผลงานเพลงที่ออกมามีบุคลิกของ ไบรอัน วิลสัน มากกว่า The Beach Boys จนแทบจะเป็นอัลบั้มเดี่ยวของไบรอันก็ว่าได้ และยอดขายที่ตกต่ำของ Pet Sounds ก็เป็นเหตุผลเดียวที่เลิฟนำมาใช้ฟาดฟันกับไบรอัน ผู้ตระหนักดีว่าเพลงชายหาดแบบ I Get Around นั้นผ่านพ้นยุคสมัยไปแล้ว ที่สำคัญมันไม่ใช่ ตัวตนของเขาอีกต่อไป (เราไม่ใช่นักโต้คลื่น และพวกนักโต้คลื่นก็ไม่ฟังเพลงของเรา”) เพราะเช่นเดียวกับ The Beatles เขาปรารถนาจะให้ดนตรีและเนื้อหาในผลงานค่อยๆ เติบโต มีความเป็นผู้ใหญ่ไปพร้อมกับเขา ไม่ใช่หยุดอยู่กับที่เพียงเพราะยึดติดกับความสำเร็จในอดีต

ความหมกมุ่นกับโลกส่วนตัวและเสียงในหัวของไบรอันเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อเขาปฏิเสธไม่ยอมไปร่วมทัวร์คอนเสิร์ตกับสมาชิกคนอื่นๆ ในวงเพื่อจะได้มีเวลาแต่งเพลงชุดใหม่ตามลำพัง โดยหนึ่งในไฮไลท์ของหนัง คือ ฉากที่ไบรอันขนทีมนักดนตรีมายังห้องสตูดิโอเพื่อสร้างสรรค์อัลบั้ม Pet Sounds การได้เห็นเขาอธิบายโน้ตเพลง ปรับแต่งคีย์เปียโน และเรียบเรียงแต่ละสรรพเสียงให้กลายเป็นท่วงทำนอง ซึ่งฟังดูเรียบง่าย จับใจ แต่แฝงไว้ด้วยความซับซ้อนอย่างเหลือเชื่อ เปรียบได้กับการเข้าไปสัมผัสขบวนการทำงานของศิลปินในระยะประชิด ณ ช่วงขณะที่เขามีอิสระและความมั่นใจเต็มเปี่ยม

แต่ไม่นานความสงบของคลื่นลมมรสุมก็ค่อยๆ เลือนหายไป เมื่อไบรอันเริ่มสูญเสียการควบคุม แล้วค่อยๆ ถอยร่นเข้าหายาเสพติดและป้อมปราการที่ไม่มีใครสามารถเข้าถึงได้ หนังส่วนนี้จบลงเมื่อสภาพจิตใจของไบรอันหลุดออกจากวงโคจรแห่งโลกความเป็นจริง แล้วเริ่มล่องลอยไปสู่ดินแดนอันไกลโพ้น

ในทางตรงกันข้ามช่วงชีวิตวัยกลางคน (ฉากหลังคือทศวรรษ 1980) ของไบรอันเน้นย้ำไปยังความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างเขากับเมลินดา ณ ช่วงเวลาที่เขาเพิ่งหลุดพ้นจากเหล้า ยาเสพติด และภาวะทำร้ายตัวเองด้วยการกินทุกอย่างที่ขวางหน้าจนน้ำหนักขึ้นพรวดๆ แล้วขังตัวเองอยู่แต่ในห้องนอน แต่ไม่มีความสามารถที่จะสร้างสรรค์ผลงานใดๆ ให้เป็นชิ้นเป็นอันได้เนื่องจากฤทธิ์ยาสารพัดชนิดซึ่งแลนดีใช้สำหรับจองจำไบรอัน (เขาวินิจฉัยอย่างผิดๆ ว่าไบรอันป่วยเป็นโรคจิตเภทประเภทหวาดระแวง) หนังในช่วงนี้จึงโฟกัสไปยังการพยายามก้าวออกจากโลกส่วนตัวของไบรอัน พร้อมทั้งยื่นมือมาขอความช่วยเหลือและมิตรไมตรีจากเซลขายรถสาว ซึ่งตอบรับท่าทีดังกล่าวด้วยความลังเล เพราะเมื่อได้พูดคุยกับ ไบรอัน วิลสัน เพียงแค่ไม่กี่นาที เมลินดาก็พลันตระหนักในทันทีว่าเขาผิดปกติจากผู้ชายทั่วไป ด้วยคำพูด วิธีการพูด และภาษาท่าทาง อาจไม่ใช่ในลักษณะที่คุกคาม หรือน่าหวาดหวั่น แต่เกือบจะใกล้เคียงกับส่วนผสมระหว่างทหารผ่านศึกสงครามที่เต็มไปด้วยปมปัญหาทางจิตกับเด็กชายไร้เดียงสา

เขาเล่าถึงประสบการณ์เลวร้ายจากการถูกพ่อลงไม้ลงมือเป็นประจำจนหูดับไปข้างหนึ่งด้วยน้ำเสียงเรียบนิ่ง ราวกับมันไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร ที่สำคัญ เขายังเชื่ออีกด้วยว่าการใช้กำลังดังกล่าวช่วยผลักดันให้เขาพยายามมากขึ้น เพื่อจะได้สร้างสรรค์ผลงานชั้นยอดออกมา ฉากที่สะท้อนความรู้สึกทั้งรักทั้งชังระหว่างสองพ่อลูกได้ชัดเจนที่สุดเป็นตอนที่ไบรอันแต่งเพลง God Only Knows และขอความเห็นจากพ่อของเขา (บิล แคมป์) ซึ่งยังเจ็บแค้นไม่หายที่ถูกไล่ออกจากตำแหน่งผู้จัดการวง และไม่รีรอที่จะขัดขาความกระตือรือร้น หรือความภาคภูมิใจของลูกชายทุกครั้งที่มีโอกาส ขณะที่ฝ่ายหลังเอง ถึงแม้จะประสบความสำเร็จในอาชีพการงานมากมายแค่ไหน ลึกๆ แล้วก็ยังคงโหยหาความเห็นชอบจากฝ่ายแรกอยู่ดี ถึงกระนั้นหนังไม่ได้ตั้งใจที่จะลงลึกในแง่จิตวิทยา แต่เป็นการพาคนดูไปสัมผัสเบื้องหลังศิลปินทั้งด้านผลงาน (ช่วงวัยหนุ่ม) และชีวิตส่วนตัว (ช่วงวัยกลางคน) เสียมากกว่า

อาจกล่าวได้ว่า God Only Knows เพลงสุดคลาสสิกที่ไบรอันใช้เวลาแต่งแค่ 7 นาที และได้รับยกย่องจาก พอล แม็คคาร์ทนีย์ ให้เป็นเพลงรักที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือ เพลงที่สามารถนิยามตัวตนของ ไบรอัน วิลสัน ได้อย่างชัดเจน ก่อนอื่นต้องยอมรับว่าสำหรับมาตรฐานในยุค 1960s เพลงนี้เต็มไปด้วยความเสี่ยง และการท้าทายประเพณีดั้งเดิมมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการใส่คำว่าพระเจ้าลงไปในเนื้อเพลง การเริ่มต้น เพลงรักด้วยประโยค ฉันอาจไม่สามารถรักเธอไปชั่วนิรันดร์ การใช้เครื่องดนตรีผ่าเหล่าผ่ากอ (สำหรับเพลงป๊อป/ร็อคแอนด์โรล) อย่างเฟรนช์ฮอร์น แอคคอร์เดียน วิโอลา และเชลโล ตลอดจนการเลือกใช้คอร์ดที่ซับซ้อน แปลกใหม่ แต่ในเวลาเดียวกันเนื้อเพลงกลับค่อนข้างเรียบง่าย จริงใจ ตรงไปตรงมา เป็นคำอ้อนวอนขอความรัก พร้อมกับปล่อยตัวปล่อยใจไปกับพลังของความรัก ซึ่งไม่อาจต้านทาน และไม่อาจอยู่โดยปราศจากมันได้ ถึงแม้ในเวลาเดียวกันก็ไม่อาจแน่ใจได้เลยว่าความรักนั้นจะคุ้มค่ากับความเสี่ยงหรือไม่

ไบรอัน วิลสัน ก็ไม่ต่างจากเพลง God Only Knows เพราะเมื่อมองจากภายนอกเขาเป็นเหมือนความซับซ้อน ความท้าทาย และความเสี่ยง แต่เหล่านั้นกลับเป็นเพียงเปลือกนอกที่ห่อหุ้มความเปราะบาง อ่อนไหว และภาวะพึ่งพิง ซึ่งซุกซ่อนอยู่ภายใน (ท่อนฮุกของเนื้อเพลงร้องว่า ฉันอยู่ได้ยังไงโดยไม่มีเธอ”) เขาอาจเป็นศิลปินที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพรสวรรค์ แต่ในเวลาเดียวกันก็เป็นมนุษย์ผู้อ่อนแอ ซึ่งโหยหาการยอมรับ และหลักยึดเหนี่ยว โดยสองปีหลังจากเขาสูญเสียพ่อไปในปี 1973 ไบรอันก็เริ่มขลุกตัวอยู่ตามลำพังจนบรรดาญาติพี่น้องต้องขอความช่วยเหลือจากจิตแพทย์ เขากระโจนจากเงื้อมเงาของพ่อมาตกอยู่ภายใต้อิทธิพลดำมืดของแลนดี ไร้เรี่ยวแรง ทั้งทางด้านจิตใจและกฎหมาย (แลนดีได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ปกครองที่ถูกต้องตามกฎหมายและมีอำนาจส่งตัวเขาเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลโรคจิต) ที่จะดิ้นรนไปสู่อิสรภาพ จนกระทั่งเขาได้พบกับเมลินดา

อันที่จริงเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างไบรอันกับเมลินดาสามารถบิดผันให้กลายเป็นความรักสุดแสนโรแมนติกได้ไม่ยากในสไตล์โฉมงามกับเจ้าชายอสูร แต่เนื่องจากบทหนังเน้นย้ำเหตุการณ์ผ่านมุมมองของเมลินดา (เธอเปรียบเสมือนตัวแทนของคนดู) พร้อมทั้งให้น้ำหนักกับ การช่วยเหลือมากกว่า การเติมเต็มอารมณ์อิ่มเอมที่คนดูได้รับในช่วงท้ายจึงหาได้เกิดจากการที่สุดท้ายทั้งสองสามารถเอาชนะอุปสรรคขวากหนาม แล้วลงเอยด้วยกันอย่างมีความสุข หากแต่เกิดจากการค้นพบอิสรภาพของไบรอัน ซึ่งได้มาด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจอย่างไม่ย่อท้อของเมลินดา โดยในฉากหนึ่งเธอสารภาพว่าเธอไม่ได้ต้องการขจัดแลนดีให้พ้นไปจากชีวิตของไบรอันเพียงเพื่อจะเธอได้มีโอกาสคบหากับไบรอันต่อไป แต่เป็นเพราะเธอไม่อาจทนเห็นไบรอันในสภาพนี้ได้ เขาไม่สมควรจะได้รับการดูแลอย่างไร้จรรยาบรรณและมนุษยธรรมเยี่ยงนี้ สุดท้ายแล้ว เช่นเดียวกับเนื้อหาของเพลง Love & Mercy ซึ่งถูกนำมาใช้สำหรับช่วงเครดิตท้ายเรื่อง ความรักที่ได้รับการเชิดชู เฉลิมฉลอง หาใช่ความรักโรแมนติกระหว่างหนุ่มสาว หากแต่เป็นความรักและความกรุณาปรานีระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ซึ่งไม่เพียงจะช่วยลดทอนความโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงาเท่านั้น แต่มันเปรียบได้กับหยาดฝน ซึ่งจะช่วยมอบความชุ่มฉ่ำให้กับโลกทั้งใบได้อีกด้วย

วันพฤหัสบดี, มิถุนายน 18, 2558

Wild: แบกเป้สะพายชีวิต


ในฉากหนึ่งช่วงต้นเรื่อง เชอรีล สเตรย์ (รีส วิทเธอร์สพูน) บอกเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเอกสารการหย่าว่านามสกุลใหม่ของเธอสะกดแบบเดียวกับหมาจรจัด (stray dog) พร้อมกันนั้นหนังก็สอดแทรกช็อตจากพจนานุกรมที่จำกัดคำนิยามของ “strayed” เข้ามาแวบหนึ่งว่าหมายถึง การเดินออกจากเส้นทางที่ถูกต้อง/ หลงทาง/ กำพร้าพ่อแม่/ ไม่รู้จักยับยั้งชั่งใจ (wild) เชอรีลเลือกนามสกุลนี้เพราะเห็นว่ามันเป็นคำที่เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับใช้อธิบายสภาวะจิตใจ ตลอดจนสภาพชีวิตโดยรวมของเธอ ก่อนจะตัดสินใจออกเดินป่าไปตามเส้นทาง Pacific Crest Trail (PCT) เป็นระยะทาง 1,100 ไมล์ ข้ามเขตแดน 3 รัฐ โดยเริ่มต้นจากแคลิฟอร์เนีย ผ่านโอเรกอน และไปสิ้นสุดที่วอชิงตัน กล่าวคือ ชีวิตเธอ ณ ขณะนั้นกำลังดำดิ่งสู่หุบเหวจากการมีเซ็กซ์กับผู้ชายไม่เลือกหน้า และเสพติดเฮโรอีน จนเป็นผลให้ชีวิตแต่งงานล่มสลาย โดยฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้เธอตัดสินใจลุกขึ้นมาเดินป่าเพื่อ กลับไปเป็นผู้หญิงแบบที่แม่ฉันต้องการให้เป็น” คือเมื่อเธอค้นพบว่าตัวเองตั้งครรภ์ แต่ไม่แน่ใจว่ากับใครกันแน่

ฉันเคยเข้มแข็ง รับผิดชอบ ทะเยอทะยานที่จะทำสิ่งต่างๆ...” เธอกล่าวกับเพื่อนสนิททั้งน้ำตา หลังตระหนักว่าชีวิตของเธอกำลังพังทลายด้วยน้ำมือตัวเอง

Wild บอกเล่าถึงเรื่องราวการเดินป่าอันเป็นรูปธรรมของเชอรีลมากพอๆ กับการเดินทางภายใน ซึ่งเป็นนามธรรม เพื่อทำใจยอมรับการสูญเสียและความผกผันแห่งชะตาชีวิต หลังบ็อบบี (ลอรา เดิร์น) แม่ผู้เป็นที่รักของเธอ ตายจากไปด้วยโรคมะเร็งขณะอายุเพียง 45 ปี นักข่าวที่เขียนบทความเกี่ยวกับคนจรจัดตั้งข้อสังเกตว่าบาดแผลทางจิตใจมักจะมีส่วนสำคัญในการทำให้คนตัดสินใจละทิ้งชีวิตธรรมดาสามัญ แล้วหันมาร่อนเร่พเนจร แม้เชอรีลจะยืนกรานกับเขาซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าเธอไม่ใช่คนจรจัด (แต่รายละเอียดหลายอย่างทำให้เธอถูกจัดเข้าข่ายได้ไม่ยาก เพราะขณะนั้นเธอไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง หรือกระทั่งอาชีพการงาน) แค่ต้องการ พักยกจากชีวิตเท่านั้น

ความเศร้าโศกเสียใจชักนำเชอรีลออกจากเส้นทางที่ถูกต้อง เธอเสพยาและเซ็กซ์กับคนแปลกหน้าด้วยความหวังว่าความสุขชั่วครั้งชั่วคราวเหล่านั้นจะช่วยกลบเกลื่อนความเจ็บปวดที่ฝังลึกอยู่ภายใน เธอปลดปล่อยตัวเองจากการผูกมัดอย่างความรัก ความสัมพันธ์ เพราะคิดว่ามันจะช่วยให้เธอเป็นอิสระ แต่ยิ่งพยายามปฏิเสธความเจ็บปวดเท่าไหร่ โซ่ตรวนของมันกลับยิ่งรัดแน่นจนเธอไม่อาจหลีกหนี แม้กระทั่งในห้วงเวลาแห่งการกอบโกย ความสุขจากเซ็กซ์ไม่เลือกหน้า วิญญาณของบ็อบบีก็ดูจะตามหลอกหลอนเธออยู่

สำหรับเชอรีลการเดินป่าเป็นหนทางที่จะนำระบบระเบียบ ความรับผิดชอบ และเป้าหมายกลับคืนมาสู่ชีวิต ซึ่งหักเลี้ยวเข้ารกเข้าพงไปไกล เพราะเส้นทาง PCT นั้นต้องอาศัยความมุ่งมั่น กล้าหาญ และอดทนขั้นสูงสุด ขนาดที่ผู้ชายบางคน ซึ่งเชอรีลเจอระหว่างทางยังถึงขั้นถอดใจไปก่อน โดยความยากลำบากของการนอนกลางดินกินกลางทรายเป็นเวลาหลายวันท่ามกลางสภาพอากาศร้อนจัดและหนาวจัดหาใช่อุปสรรคเดียว แต่ยังรวมถึงความโดดเดี่ยว ปราศจากปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ด้วยกันอีกด้วย อย่างไรก็ตาม สำหรับเชอรีลซึ่งต้องการหลบหนีจากความว้าวุ่น สับสน การเดินป่าเพียงลำพังกลับเป็นโอกาสให้เธอได้ทบทวนและค้นหาความหมายของชีวิต ตอนอยู่ในเมืองฉันเหงามากกว่าตอนอยู่ที่นี่ซะอีกเธอกล่าวกับหญิงสาวอีกคนที่มาเดินป่าบนเส้นทางเดียวกัน

การดัดแปลงหนังสือของ เชอรีล สเตรย์ ซึ่งเป็นส่วนผสมระหว่างบันทึกชีวิตและบันทึกการเดินทางไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากมันแทบจะปราศจากพล็อตที่จับต้องได้ รวมทั้งตัวละครเอกก็มีบุคลิกไม่น่ารักสักเท่าไหร่ แต่ผู้กำกับ ฌอง-มาร์ก วาลี และคนเขียนบท นิค ฮอร์นบี เลือกที่จะซื่อตรงกับต้นฉบับด้วยการคงความแข็งกระด้างของตัวละคร ตลอดจนโครงสร้างการเล่าเรื่องโดยรวม และใช้การเดินป่าไปตามเส้นทาง PCT เป็นแกนหลัก จากนั้นก็ค่อยๆ พาคนดูไปรู้จักชีวิตส่วนตัวของเชอรีลผ่านภาพแฟลชแบ็คเป็นระยะๆ ตั้งแต่วัยเด็กเมื่อหลายปีก่อน จนกระทั่งช่วงเวลาไม่กี่เดือนก่อนเธอตัดสินใจออกมาเดินป่า ความชาญฉลาดของบทภาพยนตร์อยู่ตรงที่มันไม่ได้เรียงลำดับเวลาเหตุการณ์เหล่านั้นอย่างเป็นระเบียบ ตรงกันข้าม ภาพบางภาพ เหตุการณ์บางเหตุการณ์อาจแวบขึ้นมาดุจเดียวกับความทรงจำของตัวละครที่ถูกกระตุ้นโดยสิ่งต่างๆ รอบข้าง กลวิธีดังกล่าวช่วยพาคนดูให้เข้าไปเป็นหนึ่งเดียวกับเชอรีล เพราะโดยเนื้อแท้แล้วเธออาจไม่ใช่ตัวละครเปี่ยมเสน่ห์ หรือน่าเห็นใจ แต่อย่างน้อยหนังก็พยายามช่วยให้เราเข้าใจเธอมากขึ้น

หนึ่งในนั้น คือ ฉากแฟลชแบ็คบทสนทนาในห้องครัวระหว่างเชอรีลกับแม่ของเธอ ฝ่ายแรกรู้สึกรำคาญฝ่ายหลังที่ฮัมเพลงขณะปรุงอาหารอย่างมีความสุข เพราะสภาพความเป็นอยู่ของพวกเขา ณ ขณะนั้นมันช่างห่างไกลจากความรู้สึกสุขสันต์ หรือร่าเริงเสียเหลือเกินในสายตาเธอ ฉากดังกล่าวสะท้อนให้เห็นสองมุมมองต่อชีวิตที่แตกต่างของผู้หญิงสองคน โดยคนหนึ่งเลือกจะมองว่าน้ำหมดไปแล้วครึ่งแก้ว ขณะที่อีกคนกลับเลือกจะมองว่ายังเหลือน้ำอยู่อีกตั้งครึ่งแก้ว นั่นไม่ได้หมายความว่าบ็อบบีไร้เดียงสา หรือหลอกตัวเอง เพราะเธอคงต้องเปี่ยมจินตนาการ หรือเพ้อเจ้อขั้นสุด หากยังเชื่อจริงๆว่าโลกใบนี้เต็มไปด้วยแง่งามและความสุขสันต์ หลังจากต้องทนทุกข์อยู่กับสามีขี้เหล้าที่เห็นเมียเป็นกระสอบทรายอยู่นานหลายปี ในทางตรงกันข้าม บ็อบบี เก็ทว่าโลกเต็มไปด้วยแง่มุมอัปลักษณ์ และชีวิตก็หาได้ราบรื่น หรือสวยงามไปซะทั้งหมด แต่เธอเลือกที่จะไม่ยึดติดอยู่กับข้อเท็จจริงดังกล่าว ถามว่าแม่เสียใจมั้ยที่แต่งงานกับไอ้ขี้เหล้าที่ชอบตบตีเมีย... ไม่เลย แม่ไม่เสียใจสักนิด เพราะมันทำให้แม่มีลูกกับน้องชาย เห็นมั้ยว่าชีวิตก็แบบนี้แหละ

เชอรีลต่างกับแม่ตรงที่เธอไม่รู้จักปล่อยวาง เธอชื่นชอบที่จะทำให้ชีวิตเป็นเรื่องยากลำบาก จนไม่น่าแปลกใจว่าทำไมเธอถึงเลือกเส้นทางอันหฤโหดของ PCT เป็นแบบทดสอบชีวิตและค้นหาตนเอง การเดินป่าไม่เพียงเปิดโอกาสให้เชอรีลได้ทบทวนอดีต แล้วครุ่นคิดถึงอนาคตเท่านั้น แต่มันยังทำให้เธอได้พบเจอกับผู้คนหลากหลาย ทั้งที่น่าคบหาและไม่ค่อยจะน่าคบหาสักเท่าไหร่ (เช่นเดียวกับตัวละครเอก หนังไม่ได้วาดภาพโรแมนติกให้กับการเดินป่า ท่องธรรมชาติแบบเดียวกับสารคดีท่องเที่ยวทั้งหลาย จริงอยู่ว่ามันมีด้านที่งดงามของทิวทัศน์ ความเงียบสงบ แต่ขณะเดียวกันก็เต็มไปด้วยอันตรายทั้งจากสัตว์มีพิษและการขาดแคลนอาหาร น้ำดื่ม) และที่สำคัญที่สุด มันทำให้เธอตระหนักว่าความยากลำบากของชีวิตไม่ได้จำกัดเฉพาะอยู่กับเธอเพียงลำพัง เพราะทุกคนล้วนมีปัญหา และต่างก็ต้องเผชิญความสูญเสียมาแล้วทั้งนั้น ซึ่งบางครั้งหนังก็บอกกล่าวอย่างตรงไปตรงมาผ่านบทสนทนา เช่น กรณีของผัวเมียฮิปปี้ที่เชอรีลขอติดรถไปด้วย หรือสื่อแค่เป็นนัยๆ เช่น กรณีของคุณยายกับหลานชายตัวน้อยที่มาเดินป่าท่องเที่ยว

ทั้งหมดล้วนเป็นเรื่องของมุมมอง เชอรีลเลือกจะโฟกัสอยู่แค่ตัวเธอ ปัญหาของเธอ แล้วเฝ้ามองทุกอย่างหมุนรอบตัวเอง ดังนั้นเธอจึงรู้สึกหงุดหงิดกับโปสเตอร์ในห้องเรียนที่บ่งชี้ให้เห็นว่ามนุษย์นั้นเป็นเพียงจุดเล็กๆ ในจักรวาลอันกว้างใหญ่ จุดประสงค์ของโปสเตอร์ดังกล่าวหาใช่จะบอกว่า คุณไม่มีความสำคัญเหมือนที่เชอรีลเข้าใจ แต่เพื่อบอกกล่าวให้มนุษย์เรียนรู้ที่จะถอยออกมาหนึ่งก้าว แล้วมองสิ่งต่างๆ ในมุมที่กว้างขึ้นต่างหาก

สภาพจิตใจของเชอรีลก็ไม่ต่างจากเป้แบ็คแพ็คขนาดมหึมา เธอแบกรับน้ำหนักเกินจำเป็นเอาไว้หลายสิ่ง ทั้งความโศกเศร้า โกรธแค้นต่อชะตากรรมและพระเจ้าที่อำมหิต ไร้ความปราณี หากสัมภาระ (รูปธรรม) ที่มากมายเกินไปสามารถเป็นอุปสรรคต่อการเดินป่า ส่งผลให้เราไม่สามารถทำระยะทางได้ตามต้องการ แถมยังอาจจะสร้างอาการปวดหลัง เคล็ดขัดยอกได้ฉันใด สัมภาระทางอารมณ์ (นามธรรม) ที่มากมายเกินไปก็อาจก่อให้เกิดความเสียหายและอันตรายได้ดุจเดียวกันฉันนั้น โดยระหว่างการเดินทางเชอรีลไม่เพียงจะได้คำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ในแคมป์พักแรมให้ละทิ้งของบางอย่างที่ไม่จำเป็น เพื่อการเดินป่าที่สะดวกสบายขึ้นเท่านั้น แต่เธอยังเรียนรู้ที่จะปลดปล่อยน้ำหนักภายใน ที่คอยถ่วงให้ชีวิตของเธอไม่อาจก้าวเดินต่อไปข้างหน้าได้อีกด้วย

แต่เช่นเดียวกับการเดินทางท่องเที่ยว ซึ่งเราจำเป็นต้องแบกรับน้ำหนักของสัมภาระบางอย่างโดยไม่อาจหลีกเลี่ยง ชีวิตมนุษย์ทุกคนเองก็ไม่อาจหลีกหนีความรับผิดชอบ บาดแผล ความเจ็บปวดได้อย่างหมดจด และความสงบสุขทางจิตใจจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเราเรียนรู้ที่จะอยู่กับสิ่งเหล่านั้นให้ได้ ยอมรับน้ำหนักบางส่วนที่พอจะแบกไหว แล้วปลดปล่อยบางส่วนทิ้งไป ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องอย่างเหมาะเจาะกับเนื้อหาของเพลง El Condor Pasa (If I Could) ของ ไซมอน แอนด์ การ์ฟังเคิล ซึ่งหนังนำมาใช้ซ้ำอยู่หลายครั้ง เพราะมันพูดถึงแรงปรารถนาที่จะโบยบินอย่างอิสระ ปราศจากสัมภาระ ดุจเดียวกับนกกระจอก หรือหงส์ แทนที่จะเป็นสิ่งมีชีวิตซึ่งถูกจำกัดด้วยแรงโน้มถ่วงอย่างหอยทาก... หรือมนุษย์  ก่อนสุดท้ายก็จำยอมที่จะ ก้าวเดินไปบนพื้นดินหรืออีกนัยหนึ่งคือยอมรับในข้อจำกัดเหล่านั้น แทนที่จะโหยหาถึงสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ จนหวนไห้ด้วยสรรพเสียงอัน เศร้าสร้อยสุดแสนเพราะถึงที่สุดแล้วแม้อิสรภาพแบบนก (ชื่อเพลงเป็นภาษาสเปน แปลตรงตัวได้ว่า นกแร้งบินผ่านไป”) จะนำมาซึ่งความน่าตื่นตาต่อบรรดาผู้ชมบนผืนแผ่นดินมากเพียงใด สุดท้ายมันก็บินโฉบมาเพียงชั่วครู่ ก่อนจะหายลับไปจากสายตา

 เชอรีลค้นพบบทเรียนดังกล่าวเมื่อการเดินทางของเธอมาสิ้นสุดลงที่สะพานข้ามแม่น้ำโคลัมเบีย (ในช็อตหนึ่งเราจะได้เห็นนกเหยี่ยว หรือนกอินทรีบินโฉบผ่านไป) ความทรงจำเกี่ยวกับบ็อบบี ตลอดจนบาดแผลจากความสูญเสียจะยังคงอยู่กับเธอตลอดไป เธอยอมรับ พร้อมกับหลั่งน้ำตาให้กับมัน แต่จะไม่ปล่อยให้มันคอยถ่วงเธอจากการก้าวเดินไปข้างหน้าอีกต่อไป ฉันตระหนักว่าไม่จำเป็นต้องยื่นมือเปล่าไปสัมผัสแต่อย่างใด แค่ได้เห็นปลาแหวกว่ายอยู่ใต้ผืนน้ำก็เพียงพอแล้วเสียงจากความคิดของเชอรีลดังก้องในฉากสุดท้าย... และเมื่อหยุดโหยหาในสิ่งที่ไม่อาจเป็นไปได้ หรือจมปลักอยู่กับสิ่งที่ไม่อาจแก้ไขอะไรได้ เมื่อนั้นเองที่เธอค้นพบกับอิสรภาพอย่างแท้จริง