วันจันทร์, ธันวาคม 20, 2564

Midsommar: เทศกาลเอาคืน

เมื่อได้ลองอ่านโครงเรื่องคร่าวๆ ของ Midsommar บางคนอาจเข้าใจผิดคิดว่ามันน่าจะลงเอยอีหรอบเดียวกับหนังสยองขวัญดาษๆ เกี่ยวกับกลุ่มเพื่อนชาวเมืองแดนศิวิไลซ์ที่หลุดไปผจญวิบากกรรม/ความสยองในชุมชนประหลาด ไม่ว่าจะเป็นชนเผ่ามนุษย์กินคนแบบใน The Green Inferno หรือมนุษย์กลายพันธุ์จากผลกระทบของระเบิดนิวเคลียร์แบบใน The Hills Have Eyes แต่แน่นอนชื่อของ อารี แอสเตอร์ ซึ่งสร้างโด่งดังจาก Hereditary เมื่อปีก่อนย่อมรับประกันว่าหนังต้อง มีของ มากกว่าแค่ผลงานเพื่อความบันเทิงทั่วไป ซึ่งก็เป็นจริงตามนั้น

อาจพูดได้ว่าความสยอง หรือความน่ากลัวของ Midsommar ไม่ได้วูบวาบฉาบฉวย หรือสำเร็จรูปตามสูตรปรุงรสที่โดนใช้จนเฝือ จริงอยู่ภาพความรุนแรงแบบถึงเลือดถึงเนื้อ ตับไตไส้พุงถูกควักก็ยังพอมีให้เห็นอยู่บ้าง ซึ่งหนังตัดให้เห็นเพียงชั่วครู่ กล้องไม่ได้แช่นานจนดูจงใจขาย แต่ความรู้สึกชวนให้ขนลุกเกิดขึ้นจากบรรยากาศที่ไม่อาจคาดเดาได้ ตลอดจนนัยยะแห่งบทสรุปของเรื่องราวเสียมากกว่า พูดง่ายๆ ว่าระหว่างนั่งดูเราอาจไม่ได้ลุ้นตัวโก่ง หรือปิดตาด้วยความหวาดเสียว แต่เมื่อดูจบแล้วลองมานั่งทบทวน ความเย็นยะเยือกจะค่อยๆ เกาะกุมใจเรา เมื่อหนังสะท้อนให้เห็นว่ามนุษย์นั้นเห็นแก่ตัว อ่อนแอ เปราะบาง และง่ายต่อการถูกล่อลวงเพียงใด

ตัวละครในหนังของ อารี แอสเตอร์ ไม่ได้สร้างขึ้นเพียงเพื่อรอวันถูกเชือด แต่มีมิติและเลือดเนื้อ ดังจะเห็นได้จากหนังค่อนข้างใจเย็นกว่าจะพาคนดูไปสัมผัส ชุมชนประหลาด แล้วใช้เวลาช่วงต้นปูพื้นความสัมพันธ์ระหว่าง เดนี (ฟลอเรนซ์ พิวก์) กับ คริสเตียน (แจ๊ค เรย์เนอร์) ซึ่งระหองระแหงใกล้จุดแตกดับ คนแรกหวังจะพึ่งพาแฟนหนุ่มเป็นหลักพักพิงทางใจ เนื่องจากน้องสาวที่เป็นโรคไบโพลาร์มักจะก่อเรื่องให้กลุ้มใจอยู่ตลอด ส่วนคนหลังเหนื่อยหน่ายกับความสัมพันธ์ แต่ก็ไม่กล้าขอเลิกกับแฟนสาวตรงๆ เพราะกลัวว่าตัวเองจะดูเลว ดูเห็นแก่ตัว ด้วยเหตุนี้เองเขาจึงพยายามทำตัวเหินห่าง บั่นทอนความวิตกของเดนีว่าเป็นอาการคิดมากไปเอง ฝึกฝนให้เดนีโทษตัวเองไว้ก่อน เมื่อใดก็ตามที่เขาปล่อยปละละเลย หรือทรยศต่อความไว้ใจที่เธอมอบให้

ความสัมพันธ์นี้เป็นพิษอย่างไร สังเกตได้จากฉากที่คริสเตียนถกเถียงกับเดนีเรื่องเขาจะไปสวีเดนกับเพื่อนๆ โดยไม่บอกเธอก่อน แทนที่จะสำนึกผิดและกล่าวขอโทษอย่างจริงใจ เขากลับโยนบาปใส่เดนี ทำให้เธอรู้สึกเหมือนว่ากำลังหาเรื่องเขาไม่เข้าท่า (ทั้งที่เธอมีสิทธิ์จะหงุดหงิด) ก่อนจะเล่นไม้ตายด้วยการขอตัวกลับในทำนองไม่อยากทะเลาะด้วยเรื่องไม่เป็นเรื่อง จนสุดท้ายฝ่ายหญิงลงเอยกลายเป็นฝ่ายขอโทษเขาเสียเอง

ตราบาปแห่งความเป็นหญิง (อารมณ์เหนือเหตุผล) และโรคทางใจ (ในฉากหนึ่งช่วงต้นเรื่องคนดูจะเห็นเดนีกินยาระงับประสาท) ถูกเพศชายใช้เป็นเครื่องมือบีบบังคับให้เดนีต้องอมทุกข์ ทรมานอย่างเงียบๆ อย่าสร้างความอึดอัดให้กับคนรอบข้าง เราจะเห็นหลายครั้งที่เธอปลีกตัวเพื่อหลบไปร้องไห้ตามลำพัง ซึ่งการที่เพื่อนทุกคนของคริสเตียนล้วนเป็นเพศชาย บางคนก็ไม่แสดงทีท่าจะเห็นอกเห็นใจเธอ แถมยังมองเธอเป็นเหมือนของแสลงที่บั่นทอนความสนุก หรือชีวิตชีวา ยิ่งฉายให้เห็นลักษณะขั้วตรงข้ามระหว่างความเป็นหญิงกับความเป็นชาย ฝั่งหนึ่งเป็นตัวแทนของอารมณ์ความรู้สึกซึ่งถูกกดทับไว้ ขณะอีกฝั่งเต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว สะท้อนผ่านพฤติกรรมของคริสเตียนทั้งต่อเดนีและ จอช (วิลเลียม แจ๊คสัน ฮาร์เปอร์) เพื่อนที่โดนคริสเตียนขโมยหัวข้อวิทยานิพนธ์ไปอย่างหน้าด้านๆ รวมถึงความหื่นกระหายทางเพศ สะท้อนผ่านพฤติกรรมของ มาร์ค (วิล พอลเตอร์) ซึ่งนอกจากจะดูแคลนทุกข์ระทมของเดนีแล้ว ในเวลาต่อมายังลบหลู่วัฒนธรรมฮาร์กาด้วยการเผลอฉี่รดต้นไม้แห่งบรรพบุรุษอีกด้วย ทั้งสองฉายให้เห็นคุณลักษณะของอภิสิทธิ์ชนคนผิวขาวเพศชายอย่างชัดเจน

อีกฉากที่ช่วยตอกย้ำให้เห็นว่าผู้หญิงโดนบีบให้ต้องกดทับความรู้สึก ความเศร้าเอาไว้ภายใน ไม่อาจระบายออกมาได้เป็นตอนที่แก๊งหนุ่มสาวชาวอเมริกันเดินทางมาถึงชุมชนฮาร์กา แล้วได้รับข้อเสนอแรกเป็นยาหลอนประสาทที่สกัดจากเห็ดเมา ผู้ชายทุกคนอยากทดลองยา ตรงข้ามกับเดนีที่ยังรู้สึกไม่พร้อม แต่สุดท้ายสถานการณ์กดดันให้เธอต้องกินยาทั้งที่ไม่พร้อมเพราะไม่อยากถูกตราหน้าว่าเป็นคนทำให้งานกร่อย (การที่คริสเตียนกระเตงเธอมาร่วมทริปด้วยก็สร้างความไม่พอใจให้กับสมาชิกบางคนในกลุ่มอยู่แล้ว) เดนีเมื่อต้องอยู่ในวงล้อมของคริสเตียนกับเพื่อนๆ ยิ่งตอกย้ำความเป็นชายอันเป็นพิษ (toxic masculinity) ให้เด่นชัด พวกเขาถูกสอนให้ปฏิเสธ หรือชิงชังการแสดงออกทางอารมณ์ หรือความเปราะบาง เพราะนั่นเป็นสัญลักษณ์ของความอ่อนแอ ของความเป็นหญิง ซึ่งในเวลาเดียวกันก็บ่งบอกถึงการกดทับเพศหญิงผ่านแนวคิดชายเป็นใหญ่ไปในตัว

คริสเตียนเป็นเหมือนภาพแทนของวัฒนธรรมตะวันตกสมัยใหม่ ทั้งแนวคิดแบบปัจเจกนิยมและทุนนิยม (มือใครยาวสาวได้สาวเอา) เมื่อได้เห็นประเพณีฆ่าตัวตายของคนแก่อายุถึงเกณฑ์ในฮาร์กา เขากล่อมให้เดนี เคารพ ความเชื่อและศรัทธาของชุมชน อย่าลบหลู่เพียงเพราะเรามีเติบโตมาตามหลักความเชื่ออีกชุดหนึ่ง แต่ในเวลาเดียวกันเขาก็ไม่คิดจะทุ่มเท หรืออุทิศตนทางอารมณ์ให้กับความสัมพันธ์ระหว่างเขากับเดนี ไม่เคยคิดจะเข้าอกเข้าใจเธอ แล้วพยายามรักษาภาพปลอมเปลือกของคู่รักภายนอก (เพื่อไม่ให้ถูกครหาว่าเป็นคนเลว เหมือนที่เขาไม่คิดจะประณามพิธีกรรมกระโดดหน้าผา แล้วใช้ฆ้อนทุบหน้าคนที่ฆ่าตัวตายไม่สำเร็จของชุมชนฮาร์กาเพราะกลัวว่าจะถูกมองว่าจิตใจคับแคบ) แต่ลึกๆ แล้วเขาหาได้ยินดียินร้ายกับชะตากรรมของเดนี โศกนาฏกรรมที่เธอเผชิญ รวมไปถึงคู่ชายหญิงวัยชราที่ถูกมองว่าอยู่ต่อไปก็จะเป็นภาระต่อส่วนรวม ในสังคมตะวันตกที่ต่างคนต่างอยู่ ต่างดิ้นรนตะเกียกตะกายเพื่อบรรลุความฝันแบบอเมริกัน หลายคนถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลัง หากไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับวิถีชีวิตแบบนั้น

นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมฮาร์กาถึงสามารถล่อลวงเดนีให้เข้าร่วมแนวคิดได้ และทำไมเพเล (วิลเฮล์ม บลอมเกรน) ถึงเป็นคนเดียวที่ดูจะเข้าอกเข้าใจเดนีมากที่สุด เข้าใจความโดดเดี่ยวเคว้งคว้าง ปราศจากครอบครัว/เพื่อน โหยหาความรู้สึกเชื่อมโยงในแบบชุมชน เพราะเขาเองก็เคยผ่านประสบการณ์แบบเดียวกันมา และฮาร์กาก็อ้าแขนต้อนรับเขาเข้าเป็นส่วนหนึ่ง เติมเต็มส่วนที่เขาขาดหาย

ฮาร์กาเป็นเหมือนขั้วตรงข้ามของสังคมตะวัน (อเมริกา) ที่เหล่าตัวเอกเดินทางจากมา ในฉากหนึ่งบนท้องถนนขณะพวกเขากำลังขับรถเข้าใกล้ชุมชน กล้องได้พลิกตลบกลับหัวเหมือนเป็นลางบอกเหตุล่วงหน้าให้กับคนดูว่าพวกเขากำลังจะล่วงล้ำเข้าสู่อาณาเขตที่บรรทัดฐาน หรือคุณค่าแบบเดิมๆ อันคุ้นเคยถูกท้าทาย มองจากภาพรวมภายนอก ฮาร์กาให้อารมณ์เหมือนคอมมูนของเหล่าฮิปปี้ในยุค 60 ผู้คนแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าเรียบง่าย คล้ายคลึงกันไปหมด ใช้ชีวิตแบบไม่เร่งรีบ เน้นการเกษตร ปฏิเสธเทคโนโลยี และเน้นวิถีธรรมชาติ พวกเขาต่างมีส่วนร่วมในกันและกันเหมือนเป็นครอบครัวขยายขนาดใหญ่ นอนร่วมกันในโรงเรือน กินอาหารร่วมโต๊ะพร้อมหน้า ซึ่งเป็นความแตกต่างจากโลกตะวันตกที่ต่างคนต่างอยู่ แต่ความพิสดารไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น วิถีแห่งชุมชนของฮาร์กายังก้าวล่วงไปยังพื้นที่ซึ่งส่วนตัวอย่างยิ่งอีกด้วย เช่น เมื่อหญิงสาวถึงวัยเจริญพันธุ์ พวกเขาต่างร่วมมือกันจับคู่ให้เธอ และแม้กระทั่งในกิจกรรมเข้าหอ ทุกคนก็จะมาร่วมด้วยช่วยกันคนละไม้คนละมือราวกับเทศกาลลงแขกเกี่ยวข้าว

เมื่อเดนีค้นพบว่าคริสเตียนนอกใจไปเป็นพ่อพันธุ์ให้กับสาวสวีเดนวัยขบเผาะ เธอร้องไห้คร่ำครวญ แต่คราวนี้เธอไม่จำเป็นต้องทุกข์ทรมานเพียงลำพังอีกต่อไป เพราะเหล่าหญิงสาวคนอื่นๆ ในชุมชนต่างพากันร่วมแบ่งปันความเศร้า กรีดร้องโหยหวนไม่ต่างจากเธอ ฉากดังกล่าวเป็นเหมือนภาพตรงข้ามกับฉากในช่วงต้นเรื่องเมื่อเธอร่ำร้องเพียงลำพังต่อการจากไปของน้องสาวกับพ่อแม่ โดยมีคริสเตียนเคียงข้าง แต่หาได้ร่วมแบ่งปันความรู้สึกใดๆ

การที่ฮาร์กาสามารถส่งสมาชิก เช่น เพเล ออกไปยังโลกภายนอกเพื่อหา เหยื่อ กลับมาได้ โดยที่สมาชิกเหล่านั้นไม่ถูกล่อหลอกจากโลกศิวิไลซ์ให้เปลี่ยนข้างไปเสียก่อน พิสูจน์ชัดว่ารูปแบบทุนนิยม/ปัจเจกนิยมไม่อาจตอบสนองความต้องการพื้นฐานบางอย่างของสัตว์สังคมเฉกเช่นมนุษย์ได้ คนพ่ายแพ้ คนชายขอบถูกทอดทิ้งไว้ตามลำพัง ความเจ็บแค้นเริ่มก่อหวอดขึ้นทีละน้อย บางทีนี่อาจเป็นหนึ่งในเหตุผลว่าทำไมอเมริกาจึงมีสถิติคดีกราดยิงโดยมือปืนที่มีสภาพจิตไม่มั่นคงสูงสุดในโลกตะวันตก (นอกเหนือจากความล้มเหลวในการเสนอกฎหมายควบคุมอาวุธปืน) ตรงข้ามกับรัฐทางแถบยุโรปเหนือ (สวีเดนคือหนึ่งในนั้น) ที่ผสานแนวคิดสังคมนิยมเข้ากับเสรีนิยมผ่านเครื่องมืออย่างรัฐสวัสดิการเพื่อสร้างความรู้สึกของชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำ ไม่ปล่อยให้ใครถูกระบบทุนนิยมทอดทิ้งจนไร้ทางออก

รอยยิ้มของเดนีในช็อตสุดท้ายจึงหาใช่แค่การเอาคืนแฟนเฮงซวยอย่างสาสมเท่านั้น (แอสเตอร์เคยให้สัมภาษณ์ว่า Midsommar เป็นหนังรักร้างที่สวมรอยมาในรูปหนังสยองขวัญตำนานพื้นบ้าน) แต่ยังเป็นการแก้แค้นสภาวะชายเป็นใหญ่ (ฮาร์กามอบบทบาทชี้เป็นชี้ตายให้กับ ราชินีและผู้ชายดูจะมีความสำคัญแค่มอบน้ำเชื้อสำหรับการสืบพันธุ์) รวมไปถึงการวิพากษ์สังคมสมัยใหม่ที่แบ่งผู้คนออกเป็นหน่วยย่อยๆ แปลกแยกจากกัน จนสิ้นแร้งความเห็นอกเห็นใจ หรืออารมณ์ในลักษณะของชุมชนดั้งเดิมที่เอื้อเฟื้อ พึ่งพาอาศัยกัน

Midsommar เป็นการพลิกตลบ บิดผันตระกูลหนังสยองขวัญในหลายๆ ทาง ที่เป็นรูปธรรมเด่นชัดที่สุด คือ การดำเนินเหตุการณ์ในเทศกาลฤดูร้อนท่ามกลางแสงแดดสว่างไสวในดินแดนที่พระอาทิตย์ตกดินแค่ไม่กี่ชั่วโมง เช่นเดียวกับการนำเสนอตัวละครเพศชายให้กลายเป็นวัตถุทางเพศ ถูกไล่ล่า และเปิดเปลือยเนื้อหนังมังสาในลักษณะเดียวกับผู้หญิงในหนังสยองขวัญส่วนใหญ่ นอกจากนี้เมื่อเรื่องราวค่อยๆ ดำเนินไปความลุ้นระทึกของคนดูหาได้อยู่ตรงการเอาใจช่วยให้ตัวละครรอดพ้นจากเงื้อมมือของลัทธิประหลาดอีกต่อไป แต่กลับกลายเป็นความหวาดหวั่นว่าเขาหรือเธอจะถูกครอบงำให้กลายเป็นส่วนหนึ่งกับความบ้าคลั่งทั้งหลายหรือไม่ การสูญเสียครั้งใหญ่ทำให้เดนีโหยหาความเห็นอกเห็นใจ ซึ่งหาไม่ได้จากแฟนหนุ่มหรือเพื่อนๆ รอบตัว ขณะที่ชุมชนฮาร์กาหยิบยื่นมันให้เธอภายใต้ภาพลวง การล่อหลอก และตรงนี้เองที่หนังได้นำเสนอให้เห็นความสยองขวัญอันแท้จริง

จริงอยู่หนังอาจเปิดเผยให้เห็นข้อบกพร่องของสังคมตะวันตกสมัยใหม่ ซึ่งนำไปสู่ความรู้สึกไม่เต็มเติม หรือถูกทอดทิ้งของคนจำนวนไม่น้อย แต่ในเวลาเดียวกันก็ตั้งคำถามว่าฮาร์กาเป็นทางเลือกที่ดีกว่างั้นหรือ เราควรดีใจหรือไม่ในฉากจบเมื่อเดนีสามารถตัดขาดจากแฟนหนุ่มไม่เอาไหน แล้วโอบกอดเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับลัทธิเชิดชูความสมัครสมานสามัคคีเป็นหนึ่งเดียว ฮาร์กาเทิดทูนเพศหญิงเหนือเพศชายจริงหรือ ในเมื่อบทบาททางเพศของผู้หญิงในชุมชนก็ไม่ต่างจากบทบาทของผู้หญิงในยุคโบราณ นั่นคือ มีหน้าที่หุงหาอาหารและออกลูกออกหลานสืบสายพันธุ์ หลังเหยื่อสำหรับการบูชายันดื่มยา ซึ่งอ้างว่าจะช่วยให้ปราศจากความกลัวหรือความเจ็บปวด เขากลับไม่วายกรีดร้องอย่างโหยหวนเมื่อเปลวไฟค่อยๆ เผาครอกร่าง ตำนานความขลังถูกใช้เป็นข้ออ้างลมๆ แล้งๆ ยาเสพติดและอาการมึนเมาถูกใช้เป็นสิ่งจูงใจให้คนคิดว่าพวกเขากำลังค้นพบทางเลือกใหม่ หรือตรัสรู้บางอย่าง

ความผิดหวังต่อโลกสมัยใหม่เริ่มทำให้ผู้คนบางกลุ่มถอยร่นกลับไปสู่อดีต สุดท้ายแล้วชุมชนฮาร์กาก็ไม่ต่างจากแนวคิดชาตินิยมขวาจัดที่กำลังกลับมาเบ่งบานอีกครั้งทั้งในยุโรป (Brexit) และอเมริกา (ทรัมป์) พวกเขาต่อต้านคนต่างด้าว แล้วสืบเชื้อสายกันเองในกลุ่มจนนำไปสู่ความพิกลพิการ (หรือถ้าตามแนวคิดของนาซีคือสายเลือดบริสุทธิ์) รูปร่างหน้าตาอันบิดเบี้ยวผิดธรรมชาติของรูเบน ตัวละครซึ่งถูกยกให้เป็นเทพยากรณ์ คือสัญลักษณ์แทนแนวคิดในฮาร์กา มองเผินๆ ตามพล็อตหนังสยองขวัญ เดนีอาจประสบความสำเร็จในตอนท้าย กลายเป็นคนเดียวที่รอดชีวิตมาได้ แต่ราคาที่เธอต้องจ่ายนั้นมากมายมหาศาลจนไม่อาจมองว่ามันเป็นชัยชนะได้อย่างแท้จริง

ไม่มีความคิดเห็น: