วันจันทร์, เมษายน 18, 2559

10 Cloverfield Lane: อันตรายจากความกลัว


โครงการสร้างหนังเรื่อง 10 Cloverfield Lane ถูกเก็บงำเป็นความลับสุดยอด ชนิดที่ไม่มีใครรู้ว่ามีหนังเรื่องนี้อยู่ด้วยซ้ำจนกระทั่งสตูดิโอปล่อยทีเซอร์ตัวแรกออกมา ซึ่งเก็บงำบทเฉลยความลับเกี่ยวกับหายนะไว้อย่างมิดชิด คนดูไม่รู้ว่ามี หรือไม่มี อะไรข้างนอกนั่นกันแน่ และขณะเดียวกันก็สื่อนัยยะว่าอาจจะมีเซอร์ไพรส์บางอย่างที่คุณไม่ควรรู้จากใครจนกว่าจะได้เห็นด้วยตาตัวเองบนจอ แต่ไม่นานต่อมาเมื่อตัวอย่างที่สองกับโปสเตอร์หนังชุดใหม่ถูกปล่อย เสียงโวยวาย จนถึงขั้นก่นด่าก็เริ่มดังสนั่นโดยเฉพาะจากตัวผู้กำกับว่าพวกมันเฉลยปมสำคัญของหนังอย่างน่าละอาย

หลังจากชมภาพยนตร์จบ สิ่งที่ผมสงสัยอย่างหนักไม่ใช่ว่าทำไมสตูดิโอถึงทำลายหนังด้วยการเฉลยตอนจบในตัวอย่าง หรือโปสเตอร์หนัง ตรงกันข้าม ผมนึกสงสัยว่าทำไมผู้กำกับ แดน แทรชเทนเบิร์ก ถึงคิดว่าไคล์แม็กซ์ของหนังเปรียบเสมือนจุดหักมุมที่จะทำให้คนดูตื่นตะลึง หรือไม่คาดคิดมาก่อนในระดับเดียวกับ The Sixth Sense จนการรู้ตอนจบก่อนดูหนังจะเป็นการทำลายความสนุกลงไปเกือบครึ่ง เพราะพูดกันตามตรง ตอนจบของหนังเรื่องนี้หมดเซอร์ไพรส์ (ที่อาจพอมีอยู่บ้าง) ไปแล้วตั้งแต่การตั้งชื่อหนัง แทรชเทนเบิร์กจะเป็นเดือดเป็นร้อนทำไมในเมื่อคนดูคาดเดาตอนจบได้อยู่แล้วตั้งแต่เห็นชื่อหนัง และนั่นนำไปสู่ข้อสงสัยต่อมาที่ว่าทำไมชื่อเรื่องต้องผูกโยงไปยัง Cloverfield ทั้งที่มันไม่ใช่ภาคต่อ หรือภาคก่อนหน้า หรือมีความเกี่ยวข้องใดๆ ต่อกันเลยในเชิงเนื้อเรื่อง รวมทั้งยังแตกต่างสุดขั้วในแง่สุนทรียะทางภาพยนตร์อีกด้วย (บทหนังดั้งเดิมใช้ชื่อว่า The Cellar และชื่อใหม่ก็ไม่ถูกเปิดเผยจนกระทั่งทีเซอร์ตัวแรกเปิดตัว) หรือสตูดิโอต้องการเกาะกระแสความดังของหนังเมื่อ 8 ปีก่อน ซึ่งจะว่าไปแล้วก็ไม่ได้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขนาดนั้น (ทำเงินทั่วโลกราว 170 ล้านเหรียญ) ลำพังแค่ชื่อเสียงของ เจ.เจ. อับราฮัมส์ ในฐานะผู้อำนวยการสร้างก็น่าจะช่วยอัพเครดิตให้หนังได้มากพอแล้ว แทรชเทนเบิร์กไม่รู้จริงๆ หรือว่าการตีตรา Cloverfield ลงบนชื่อหนังถือเป็นการเฉลยตอนจบไปในตัว

อย่างไรก็ตาม จากทั้งหมดที่กล่าวมาไม่ได้หมายความว่าการรู้ตอนจบจะทำให้ความสนุกของหนังเรื่องนี้ลดน้อยลงแต่อย่างใด อันที่จริงดีเสียอีกถ้าคุณรู้ว่าตอนจบเป็นอย่างไรตั้งแต่ก่อนเข้าโรง เพราะคุณจะไม่รู้สึกผิดหวังเมื่อพบว่ามันไม่ได้พลิกไปจากความคาดหมายดั้งเดิมเหมือนที่ผมรู้สึก (หลังตัวเอกหลุดมาข้างนอก ผมได้แต่คิดเสมอว่ามันต้องมีอะไรมากกว่านี้สิ ไม่งั้นผู้กำกับจะเป็นเดือดเป็นแค้นขนาดนั้นทำไม) ซึ่งนั่นถือว่าไม่ยุติธรรมต่อหนังสักเท่าไหร่ เพราะอาจพูดได้ว่าบทเฉลยราวๆ 15 นาทีสุดท้ายของหนังถือเป็นส่วนที่อ่อนปวกเปียกที่สุดของหนังจนเกือบจะเป็นแอนตี้ไคลแม็กซ์ โดยความสนุกแท้จริงของหนังอยู่ตรงช่วงเวลาหนึ่งชั่วโมงก่อนหน้านั้น

นอกเหนือจาก เจ.เจ. อับรัมส์ ในฐานะผู้อำนวยการสร้าง และบทเฉลยของหนังแล้ว 10 Cloverfield Lane แทบจะไม่มีอะไรเชื่อมโยงกับผลงานเมื่อ 8 ปีก่อนเลย จะว่าไปแล้วหนังสองเรื่องนี้เป็นขั้วตรงข้ามของกันด้วยซ้ำ เพราะ Cloverfield ดำเนินรอยตามแนวทางหนังหายนะถล่มโลก โดยใช้รูปแบบของ ฟุตเตจจริง มาถ่ายทอดและสร้างความแปลกใหม่ (ในช่วงเวลานั้น) ซึ่งนั่นหมายถึงเต็มไปด้วยภาพสั่นไหว ส่ายไปส่ายมาเพื่อความสมจริง และตัวละครพูดกับกล้องโดยตรง ขณะที่ผลงานชิ้นล่าสุดเป็นหนังในตระกูลเขย่าขวัญ ที่เน้นการเลือกช็อตอย่างพิถิพิถันเพื่อปลุกเร้าอารมณ์คนดูให้ลุ้นเอาใจช่วยตัวละคร กล้องเคลื่อนที่อย่างลื่นไหล ภาพส่วนใหญ่ค่อนข้างนิ่ง และไม่มีการให้ตัวละครพูดกับกล้องโดยตรง มันถือเป็นการ ปรุงแต่ง แบบคลาสสิก ดั้งเดิม (แต่ไม่ได้หมายความว่าหนังแนวฟุตเตจจริงจะไม่เน้นการปรุงแต่ง เพราะแน่นอนความพยายามทำให้ทุกอย่างดู เหมือนจริง ที่สุดก็ถือเป็นการปรุงแต่งในอีกรูปแบบหนึ่ง) จนไม่น่าแปลกใจที่นักวิจารณ์หลายคนจะนึกเปรียบเทียบหนังกับผลงานอันเลื่องชื่อในอดีตของบิดาหนังเขย่าขวัญสั่นประสาทอย่าง อัลเฟร็ด ฮิทช์ค็อก

ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะพล็อตหนังส่งกลิ่นอาย Psycho อยู่จางๆ (นอกเหนือจากช็อต กุญแจดอกสำคัญในกำมือ ซึ่งชวนให้นึกถึงช็อตดังจากหนังเรื่อง Notorious อยู่ไม่น้อย) เริ่มจากเรื่องราวของหญิงสาวที่หนีเสือปะจระเข้ โดยใน Psycho แมเรียน เครน ขโมยเงินบริษัทเพื่อหวังจะนำไปใช้หนี้ให้แฟนหนุ่ม แต่ระหว่างขับรถออกนอกเมือง เธอต้องหลบฝนเข้าไปพักในโรงแรมข้างทางแห่งหนึ่ง ส่วน 10 Cloverfield Lane มิเชล (แมรี อลิซาเบ็ธ วินสตีด) มีปัญหาระหองระแหงกับแฟนหนุ่ม (ให้เสียงโดย แบรดลีย์ คูเปอร์) เธอตัดสินใจเก็บเสื้อผ้าลงกระเป๋า แล้วขับรถหนีออกนอกเมือง แต่ระหว่างทางเธอประสบอุบัติเหตุและตื่นขึ้นมาอยู่ในห้องปิดทึบใต้ดินพร้อมโซ่ล่ามขา ซึ่งชั่วแวบหนึ่งทำให้คนดูนึกไปถึงหนังสยองขวัญตระกูล Saw กับ Hostel ก่อนไม่กี่ฉากต่อมาบทหนังจะคลี่คลายให้เห็นว่านี่ไม่ใช่ภารกิจจับคนมาทรมาน

โฮเวิร์ดคล้ายคลึงกับ นอร์แมน เบทส์ ตรงที่มองจากภายนอก เขาดูเหมือนน่าคบหาและไม่คุกคาม แต่ในเวลาเดียวกันก็สามารถสะท้อนความบิดเบี้ยว ดำมืดของจิตใจได้อย่างน่าเชื่อ (คนแรกมีปมเรื่องลูกสาว ส่วนคนหลังมีปมเรื่องแม่) ซึ่งในจุดนี้การคัดเลือก จอห์น กู๊ดแมน มารับบทโฮเวิร์ดถือเป็นความฉลาดอย่างหนึ่ง เพราะมันใช้ประโยชน์จากทั้งภาพลักษณ์อบอุ่นน่ารักของเขาในหนังส่วนใหญ่ (นิยามที่ชัดเจนสุดน่าจะเป็นซัลลีในอนิเมชันเรื่อง Monsters, Inc.) และภาพลักษณ์ของความลึกลับ บ้าคลั่ง ชวนสะพรึงแบบในหนังของสองพี่น้องโคนอย่าง Barton Fink

หนังมีจุดเด่นตรงการเร้าอารมณ์คนดูให้จิกเบาะแบบลุ้นระทึกผ่านทักษะภาพยนตร์ที่ได้ผลในหลายๆ ฉาก ความเงียบ (รวมถึงการแสดงอันยอดเยี่ยมของสามดารานำ) ช่วยรักษาระดับความตึงเครียดของฉากบนโต๊ะอาหารได้อย่างต่อเนื่อง เมื่อมิเชลต้องระวังไม่ให้กุญแจที่เธอขโมยมาส่งเสียงกระทบกันจนโฮเวิร์ดรู้ตัว แต่ความลับดังกล่าวจะได้เก็บรักษาไว้ได้นานแค่ไหน หากโฮเวิร์ดเคลื่อนไหวแล้วไม่ได้ยินเสียงกุญแจที่เขาห้อยติดตัวตลอดเวลา บทหนังเองก็เล่นเอาล่อเอาเถิดกับการคาดเดาของคนดูได้อย่างสนุกสนาน โฮเวิร์ดเริ่มต้นด้วยภาพลักษณ์ของชายสติหลุดที่หวาดระแวง หมกมุ่นอยู่กับทฤษฎีสมคมคิด ก่อนจะผันแปรไปเป็นคุณพ่อน่าสงสารที่ต้องเหินห่างจากลูกสาว แล้วพลิกตลบมาเป็นฆาตกรโรคจิตอย่างสมบูรณ์แบบในตอนท้าย จนคนดูอดนึกสงสัยไม่ได้ว่าเขาขับรถชนมิเชลเพราะกำลังรีบร้อน ไม่ได้สติอย่างที่บอก หรือว่าจริงๆ แล้วเขากำลังมองหาเหยื่อรายใหม่ที่จะมารับบทเป็นลูกสาวของเขากันแน่ (กรณี นอร์แมน เบทส์ เขาปลุกวิญญาณแม่ที่ตายจากไปด้วยการสวมเสื้อผ้าของเธอ ส่วนในกรณีโฮเวิร์ด เขาสร้างตัวแทนด้วยการให้มิเชลสวมเสื้อผ้าของลูกสาวเขา)

ไม่เพียงโฮเวิร์ดเท่านั้นที่มีปม เสียดายในอดีต แต่ยังรวมถึง เอ็มเม็ท (จอห์น กัลเลเกอร์ จูเนียร์) กับ มิเชล โดยคนแรกหวาดกลัวเกินกว่าจะลุกขึ้นเปลี่ยนแปลงชีวิต ขณะที่คนหลังหวาดกลัวเกินกว่าจะหยืนหยัดเผชิญปัญหา และแน่นอนในท้ายที่สุดบทหนังเปิดโอกาสให้พวกเขาได้พิสูจน์ความกล้า โดยเฉพาะในกรณีของคนหลัง ซึ่งไม่เพียงต้องยืนหยัดต่อกรกับโฮเวิร์ดเท่านั้น (เธอทำได้อย่างน่าชื่นชมจนไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นผู้หญิงคนเดียวกับเรื่องราวความหลังที่เธอเล่าให้เอ็มเม็ทฟัง) แต่ยังพบโชคสองชั้นหลังออกจากหลุมหลบภัยด้วย 

น่าสังเกตว่า Cloverfield ออกฉายในปี 2008 ซึ่ง บารัค โอบามา ได้รับเลือกให้เข้าทำเนียบขาวเป็นสมัยแรก และแปดปีต่อมา 10 Cloverfield Lane ก็ออกฉายในปีแห่งการเลือกตั้งประธานาธิบดีอีกครั้ง ที่สำคัญยังเป็นปีที่ โดนัลด์ ทรัมป์ กินพื้นที่ตามหน้าหนังสือพิมพ์ หรือรายงานข่าวทางโทรทัศน์มากกว่าผู้สมัครแทบทุกคนจากคำพูดอวดกร่าง หยาบกระด้าง (ซึ่งบางคนมองว่าเป็นความตรงไปตรงมา) ตลอดจนทัศนคติเหยียดผู้หญิง เหยียดผู้อพยพ เหยียดคนต่างด้าว ดังนั้นจึงไม่แปลกที่หนังทั้งสองเรื่องจะถูกมองว่ามีนัยยะสะท้อนวิกฤติการเมืองในอเมริกา เรื่องแรกเปรียบดังภาพจำลองเหตุการณ์ 9/11 เมื่อนิวยอร์กโดนทำลายล้างโดยสัตว์ประหลาดจากต่างดาว ศัตรูถูกแทนที่เป็นรูปธรรมชัดเจน มีขนาดใหญ่โต มโหฬาร น่าหวาดหวั่น น่าเกรงขามแทนที่จะเป็นกลุ่มแนวคิด อุดมการณ์ ความเชื่อ ซึ่งปราศจากรูปร่างหน้าตาอย่าง “ผู้ก่อการร้ายแม้ว่าประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช จะพยายามเรียกเสียงสนับสนุนจากประชาคมโลกด้วยการชี้นิ้วกล่าวโทษไปยังบุคคล หรือประเทศหนึ่งประเทศใดมากแค่ไหนก็ตาม จนนำไปสู่สงครามในประเทศอิรักและอัฟกานิสถาน

เช่นเดียวกัน 10 Cloverfield Lane นำเสนอให้เห็นภัยคุกคามจากต่างดาว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ในรูปแบบหนึ่งแทนความเป็นอื่น ความแตกต่าง ในลักษณะของ พวกเขากับ “พวกเรา เทียบง่ายๆ ได้กับมุสลิม หรือผู้อพยพ ซึ่งเป็นประเด็นร้อนแรงตลอดการหาเสียงปีนี้ (ทรัมป์เสนอให้สร้างกำแพงตลอดแนวชายแดนสหรัฐ-เม็กซิโกเพื่อป้องกันไม่ให้พวกเขามาแย่งงานพวกเรา) ความแตกต่างสำคัญอยู่ตรงที่ 10 Cloverfield Lane ไม่ได้เน้นย้ำให้เห็นอันตรายจากภายนอกมากเท่ากับจากภายใน จริงอยู่ 15 นาทีสุดท้ายของหนังพิสูจน์ให้เห็นว่าคำกล่าวอ้างของโฮเวิร์ดเป็นจริง มีภัยคุกคามนอกห้องหลบภัยจริง และเกิดจากสิ่งอื่นที่ แตกต่างที่เราไม่คุ้นเคย หรือเคยพบเห็นมาก่อน ซึ่งสะท้อนสถานการณ์ในยุโรปตลอดช่วงสามสี่เดือนที่ผ่านมาได้ไม่น้อย จากการโจมตีปารีสและบรัสเซลส์ของกลุ่มไอเอส แต่ขณะเดียวกันต้องไม่ลืมว่าตลอดหนึ่งชั่วโมงก่อนหน้านี้ หนังมุ่งเน้นที่จะสร้างความหวาดกลัวให้คนดูจากสิ่งที่เราไม่รู้

ตัวละครอย่างโฮเวิร์ดแทบไม่ต่างจาก โดนัลด์ ทรัมป์ (แม้ภาพรวมอาจดูมีความเป็นมนุษย์มากกว่า) ตรงที่เขาปราศจากข้อเท็จจริงแน่ชัด เขาไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าเป็นระเบิดนิวเคลียร์ สงครามโลก หรือการโจมตีจากต่างดาว แต่กลับไม่ลังเลที่จะปลูกฝังความหวาดกลัวในหมู่สมาชิกร่วมหลุมหลบภัย ในลักษณะเดียวกับการแอบอ้างโดยปราศจากข้อมูลแน่ชัดถึง “อาวุธที่มีอำนาจทำลายล้างรุนแรงของรัฐบาลบุชเพื่อสร้างความชอบธรรมในการรุกรานประเทศอิรัก เพราะสุดท้ายแล้วอาวุธที่มีอำนาจทำลายล้างรุนแรงก็เป็นแค่สัตว์ประหลาดในนิทานโบราณ ซึ่งพ่อแม่นำมาเล่าสืบต่อกันเพื่อหลอกเด็กให้หวาดกลัวจนไม่กล้าเดินเข้าไปในป่า (เอ็ม. ไนท์ ชยามาลาน เคยนำประเด็นคล้ายกันนี้มาใช้เป็นจุดหักมุมใน The Village เมื่อสังคมอนุรักษ์นิยมขีดกรอบจำกัดประชาชนเพื่อป้องกันภัยจากภายนอก) เป็นแค่เครื่องมือที่จะ ควบคุม ไม่ให้ประชาชนแตกแถว ใครที่คิดต่าง หรือตั้งข้อสงสัยจะถูกตราหน้าเป็นคนไม่รักชาติในทันที

น่าตลกตรงที่เมื่อมิเชลต้องเผชิญหน้ากับภัยจากนอกโลกจริงๆ เธอกลับรับมือได้แบบไม่ยากเย็นนัก อย่างน้อยก็เหมือนจะง่ายกว่าการดิ้นรนให้หลุดรอดจากเงื้อมมือของคนแบบโฮเวิร์ดหลายเท่า... บางทีความหวาดกลัวที่ถูกโหมกระพือจนเกินกว่าเหตุอาจมีอันตรายยิ่งกว่าภัยคุกคามโดยตรงเสียอีก เพราะมันไม่เพียงบิดเบือนข้อเท็จจริงเท่านั้น แต่ยังปิดกั้นการค้นหาหนทางเพื่อแก้ปัญหาอีกด้วย

วันจันทร์, เมษายน 11, 2559

Knight of Cups: กระทงหลงทาง


นอกจากความคล้ายคลึงกันในเชิงเรื่องราวเกี่ยวกับวิกฤติทางจิตวิญญาณของชายหนุ่มวัยกลางคน รวมถึงเทคนิคการเล่าเรื่องที่ไม่ยึดติดกับโครงสร้างเดิมๆ แล้ว ดูเหมือนผลงานกำกับสามชิ้นหลังของ เทอร์เรนซ์ มาลิค ยังผสมความเป็นอัตชีวประวัติเอาไว้ค่อนข้างสูงอีกด้วย โดย Knight of Cups อาจเรียกได้ว่าเป็นภาคขยายของเรื่องราว ฌอน เพนน์ (ตัวแทนของมาลิค) ใน The Tree of Life ที่ปรากฏตัวให้เห็นบนจอไม่มากนักและปราศจากคำอธิบายถึงที่มาที่ไป ผู้ชมจะเห็นแค่ว่าเขาดูไม่มีความสุข ใช้ชีวิตล่องลอยไร้จุดหมาย โดยในผลงานชิ้นล่าสุด แจ๊คถูกเปลี่ยนชื่อเป็นริค (คริสเตียน เบล) ส่วนอาชีพเขาก็ถูกเปลี่ยนจากสถาปนิกมาเป็นนักเขียนบทในฮอลลีวู้ด ซึ่งยิ่งใกล้เคียงกับชีวิตจริงของมาลิคมากขึ้นอีก แต่ทั้งแจ๊คกับริคต่างมีพื้นเพเดียวกัน นั่นคือ มีพ่อที่เข้มงวด และน้องชายสองคน คนหนึ่งฆ่าตัวตาย ซึ่งนั่นกลายเป็นปมบาดหมางที่สร้างความเจ็บปวดยาวนาน

หลังจาก The Tree of Life เน้นถ่ายทอดชีวิตครอบครัวในวัยเด็ก To the Wonder ก็หันมาสำรวจชีวิตรักในวัยหนุ่มของมาลิค (ตามเครดิตชายหนุ่มชื่อนีล แต่ในหนังชื่อของเขาไม่ถูกเอ่ยถึงเลยสักครั้ง) โดยเฉพาะช่วงเวลาที่เขาตกหลุมรักหญิงสาวในปารีส ก่อนทุกอย่างจะล่มสลายเมื่อทั้งสองย้ายกลับมายังอเมริกา มาลิคเป็นชายที่ลุ่มหลงความรัก ความโรแมนติก ดังจะเห็นได้ว่าเขาผ่านการแต่งงานมาทั้งหมดสามครั้ง และมีสัมพันธ์ลึกซึ้งกับผู้หญิงอีกหลายคน แง่มุมนี้สะท้อนชัดในตัวละครเอกของ Knight of Cups เช่นกัน ผู้หญิงสาวสวยผ่านเข้ามาในชีวิตของริคหลายคน แต่ไม่มีใครอยู่เคียงข้างเขาไปได้ตลอดรอดฝั่ง ในช่วงต้นเรื่องเสียงบรรยายของเดลลา (อีโมเจน พูตส์) หญิงสาวคนหนึ่งของริค บอกว่า คุณไม่ต้องการความรัก คุณต้องการประสบการณ์ของความรัก ซึ่งนั่นดูจะตรงกับคำนิยามของไพ่อัศวินถ้วยอย่างเหมาะเจาะ

เพราะไพ่อัศวินถ้วยถือเป็นไพ่อัศวินที่มี ความเป็นหญิง สูงสุดในบรรดาไพ่อัศวินทั้งหลาย สื่อความหมายว่าบุคคลนั้นมีเสน่ห์ดึงดูด แต่ขณะเดียวกันก็อาจหลงใหลในความรัก แล้วใช้อารมณ์เป็นเครื่องมือชี้นำทางชีวิต ดังนั้นเขาจะเป็นคนที่เชื่อในหัวใจมากกว่าสมอง เมื่อต้องเผชิญหน้ากับการตัดสินใจ เขาจะทำตามที่ใจเรียกร้อง ไม่ว่ามันจะเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผลหรือไม่ก็ตาม นอกจากนี้มันยังเป็นไพ่ที่เชื่อมโยงกับจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ แต่บางครั้งการยึดติดอยู่กับแฟนตาซี หรือความโรแมนติกก็อาจทำให้คุณล่องลอยจากโลกแห่งความเป็นจริง และปฏิเสธการผูกมัด... ในฉากหนึ่ง แคเรน (เทเรซา พัลเมอร์) นักเต้นระบำเปลื้องผ้าชาวออสซีถามริคว่า คุณอาศัยอยู่ในโลกของจินตนาการใช่ไหม ซึ่งนั่นไม่เพียงสอดคล้องกับไพ่อัศวินถ้วย แต่ยังสะท้อนเรื่องเล่าของอัศวินในฉากเปิดของหนังอีกด้วย

ไม่ใช่แค่ชื่อหนังเท่านั้นที่เชื่อมโยงไปยังไพ่ทาโรต์ แต่มาลิคยังแบ่งหนังเป็นบทตามไพ่ทาโรต์อีกด้วย ซึ่งมองเผินๆ อาจปราศจากความหมายเชื่อมโยงโดดเด่น เหมือนไวยากรณ์ภาพยนตร์ของมาลิคที่ดูกระจัดกระจาย ปราศจากระบบระเบียบ แต่หากมองให้ลึกลงไปจะเห็นความแม่นยำบางอย่าง เช่น ในบทฤาษี (The Hermit) หนังสะท้อนความฟุ้งเฟ้อ หรูหรา ฟู่ฟ่าของฮอลลีวู้ดผ่านฉากงานปาร์ตี้ในคฤหาสน์หลังโต ซึ่งเจ้าภาพ โทนีโอ (แอนโตนีโอ แบนเดอรัส) เปรียบเทียบผู้หญิงว่าเหมือนรสชาติไอศกรีม บางทีคุณก็อยากกินรสราสเบอร์รี แต่ผ่านไปสักพักก็อาจจะอยากกินรสสตรอว์เบอร์รีบ้าง เราจะเห็นภาพสระว่ายน้ำกว้างขวาง เพดานสูง เสาโรมัน สาวสวยไฮโซ คนดังในวงการ (หรือกำลังพยายามไต่เต้าบันไดดารา) เครื่องเพชร โคมระย้า น้ำแข็งแกะสลัก ผู้ชายถูกสวมปลอกคอจูงเป็นหมา ฯลฯ จากนั้นเสียงบรรยายช่วงหนึ่งของโจเซฟ (ไบรอัน เดนเนฮีย์) พ่อของริค ก็ดังขึ้นว่า หิวโหย ปรารถนาในสิ่งอื่น แต่ไม่รู้ว่าอะไรกันแน่

ประเด็นของซีแควนซ์นี้ดูจะสรุปเป็นรูปธรรมได้ชัดเจนจากช็อตสุนัขที่พยายามจะงับลูกเทนนิสในสระน้ำ แต่ไม่ว่าจะพยายามแค่ไหน มันก็ทำไม่สำเร็จ ไม่ต่างจากมนุษย์ที่ไล่ล่าหาความสุขจากวัตถุภายนอก จากเนื้อหนังมังสา เปลี่ยนผู้หญิงเหมือนเปลี่ยนรสชาติไอศกรีม แต่สุดท้ายกลับไม่ได้ค้นพบความพอใจที่แท้จริง หลายครั้งกล้องจะพาคนดูเข้าไปลอบฟังบทสนทนาในบางช่วง แต่มันขาดหายเป็นห้วงๆ หรือจับแก่นสารไม่ได้ ราวกับหนังไม่เห็นความสำคัญของบทสนทนาเหล่านั้น เช่น เมื่อแขกผู้หญิงในงานพูดถึงยาทาเล็บสีชมพู ริคอาจแตกต่างจากโทนีโอตรงที่เขา ตระหนัก ความจอมปลอมเหล่านี้ แล้วมองสำรวจความฟุ้งเฟ้อด้วยท่าทีถอยห่าง เย็นชา เขาไม่ปรารถนาจะใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบ ไล่ล่า ไขว่คว้าสิ่งต่างๆ ด้วยเหตุนี้ จึงไม่แปลกที่พวกโจรจะไม่พบทรัพย์สินมีค่าใดๆ ให้น่าขโมยเลยสักชิ้นในอพาร์ตเมนต์ของริค

โลกนี้เป็นเหมือนหนองบึง เราต้องโบยบินข้ามมันไป บินให้สูงจนทุกอย่างกลายเป็นจุดเล็กๆ โทนีโอพูดถึงปรัชญาการดำรงชีวิตของเขา ซึ่งช็อตหนึ่งที่สะท้อนแนวคิดดังกล่าวได้อย่างงดงาม คือ ภาพรถวิ่งในยามค่ำคืน แต่ถูกเร่งความเร็วจนแสงไฟหน้ารถ หรือบนท้องถนนกลายเป็นแค่จุดเรืองแสง... คำถามที่ตามมา คือ เรากำลังแข่งขัน วิ่งไล่กวดเพื่อกอบโกยสิ่งต่างๆ จนมืดบอดต่อสิ่งรอบข้าง หรือความสำคัญอันแท้จริงของชีวิตหรือไม่

ไพ่ฤาษีสื่อความหมายถึงความไม่ปรารถนาในชื่อเสียง เงินทอง มีอยู่สองสามครั้งที่คนดูจะเห็นเอเยนต์พยายามล่อลวงริคด้วยเงินก้อนโต หรือข้อเสนอที่จะได้ทำงานกับดาวตลกชื่อดัง แต่เขากลับไม่แสดงท่าทีสนใจแต่อย่างใด (“ห้าปีก่อนนายมาหาฉัน บอกว่าอยากเขียนบทหนังฟอร์มใหญ่ให้ฮอลลีวู้ด”) มาลิคก็เช่นเดียวกับริค เขาเริ่มต้นอาชีพในฮอลลีวู้ดด้วยการเป็นนักเขียนบท แต่ชื่อเสียง เงินทองดูจะไม่สามารถเติมเต็มชีวิตเขาได้ และขณะก้าวขึ้นไปถึงจุดสูงสุดของอาชีพการงานหลังความสำเร็จของ Days of Heaven (1978) ข้อเสนอมากมายก็เริ่มหลั่งไหลเข้ามา นายทำงานหนักเพื่อมาถึงจุดนี้ อากาศสดชื่นบนยอดเขา อิสรภาพ แล้วยังไง จะคลานกลับลงไปเพราะไม่ชอบความสูงงั้นเหรอ เฮิร์บ (ไมเคิล วินค็อต) กล่าวกับริค และนั่นล่ะคือสิ่งที่มาลิคทำ เขาคลานกลับลงไป เขาตัดสินใจหันหลังให้สตูดิโอฮอลลีวู้ด เงินก้อนโต โอกาสต่างๆ นานา หนีไปอยู่ปารีส แล้วเก็บตัวสันโดษอยู่นานสองทศวรรษ ก่อนจะหวนคืนสู่วงการอีกครั้งด้วยการกำกับ The Thin Red Line (1998)

การจำศีลเปรียบเหมือนช่วงเวลาของสำรวจจิตวิญญาณ ก่อนจะกลับมาในฐานะ คนใหม่ ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังงาน ความคิดสร้างสรรค์ และอาชีพการงานก็ดูจะช่วยเติมเต็มเขาได้มากขึ้นด้วย ดังจะเห็นได้จากความกระตือรือร้นสร้างผลงานอย่างต่อเนื่องในช่วง 5-6 ปีหลัง การทำหนังเป็นเหมือนขั้นตอนจิตบำบัดสำหรับมาลิค เมื่อพิจารณาว่าพวกมันมีความใกล้เคียงกับชีวิตจริงของเขามากแค่ไหน (โดยเฉพาะสามเรื่องหลังนับจาก The New World) เขาค้นพบอิสรภาพที่แท้จริงจากการทำหนังในแบบที่เขาต้องการ ไม่ใช่ที่คนดู หรือสตูดิโอต้องการ นอกจากนี้เขายังปลดแอกจากหลักเกณฑ์การเล่าเรื่องของภาพยนตร์อีกด้วย บางคนอาจโจมตีมาลิคว่าขาดแคลนวินัย หรือความทุ่มเทที่จะเรียงร้อยแต่ละช็อต แต่ละเหตุการณ์ให้เป็นเหตุผล เป็นเรื่องราวที่ก้าวหน้า สามารถเข้าใจได้ และนำไปสู่จุดหมายชัดเจน (แน่นอนเขาไม่ได้ขาดทักษะพื้นฐานเสียทีเดียว ดูตัวอย่างได้จากหนังสองเรื่องแรกอย่าง Badlands และ Days of Heaven) แต่ก็ใช่ว่าทุกอย่างในหนังของมาลิคจะถูกใส่เข้ามาอย่างสุ่มเดา หรือปราศจากหลักเกณฑ์ เพียงแต่พวกมันเชื่อมโยงกันอย่างหลวมๆ ไม่ใช่ในรูปของเส้นตรง แต่เป็นใยแมงมุม ซึ่งเต็มไปด้วยทางเลือกสำหรับการตีความหรือความเป็นไปได้อันหลากหลาย

Knight of Cups เป็นหนังที่พูดถึงการเดินทางภายในจิตใจ ขณะภาพบนจอตอกย้ำหลายครั้งด้วยฉากตัวละครนั่งอยู่บนรถที่กำลังวิ่ง หรือมองไปยังเครื่องบินบนท้องฟ้า หรือกระทั่งขบวนรถไฟในฉากหลัง หนังเปิดเรื่องด้วยการยกคำพูดจากบทเกริ่นของ The Pilgrim’s Progress อุปมานิทัศน์ (allegory) หรือนิทานชาดก เขียนโดย จอห์น บันยัน ซึ่งเล่าเรื่องราวในรูปของความฝันเกี่ยวกับการเดินทางสู่ สวรรค์ ของชายหนุ่มชื่อว่า คริสเตียน บนเส้นทางอันเต็มไปด้วยการล่อหลอกและบททดสอบให้พลัดหลง มัวเมา แต่ท่ามกลางความยากลำบาก เต็มไปด้วยกับดัก พระเจ้ายังคงเฝ้ามอง คอยช่วยเหลืออยู่ตลอด และขับเน้นพลังศรัทธาในตัวคริสเตียนให้เพิ่มทวีขึ้น

หลังจากปูโครงเรื่องคร่าวๆ ว่านี่น่าจะเป็นหนังเกี่ยวกับการเดินทาง หรือการค้นหาเส้นทางที่ถูกต้องแล้ว เสียงบรรยายของโจเซฟก็พูดถึงนิทานที่เขาเล่าให้ลูกชายฟังสมัยยังเด็ก เกี่ยวกับอัศวินที่เดินทางไปค้นหาไข่มุกจากทะเลลึกตามคำสั่งของบิดา แต่เมื่อเขาเดินทางไปถึงอียิปต์ ผู้คนได้รินน้ำใส่ถ้วยให้เขาดื่ม มันลบความทรงจำของเขาจนสิ้น เขาลืมว่าตนเป็นลูกชายกษัตริย์ ลืมเรื่องไข่มุก และตกสู่ห้วงนิทรา แต่พระราชาไม่ได้หลงลืมลูกชาย เขายังส่งข้อความ ผู้นำสานส์ และเบาะแสให้ลูกชายอย่างต่อเนื่อง กระนั้นเจ้าชายก็ยังไม่ตื่นจากการหลับใหล เรื่องราวดังกล่าวเป็นอีกด้านหนึ่งของ The Pilgrim’s Progress การเดินทางของคริสเตียนก็เปรียบได้กับภารกิจของอัศวิน ส่วนพระราชาก็ไม่ต่างจากพระเจ้าที่คอยส่งสัญญาณให้มนุษย์ได้ค้นพบเส้นทางกลับคืนสู่สวรรค์ ซึ่งในที่นี้คือไข่มุก ไม่กี่ช็อตถัดมาหลังจบเรื่องเล่า คนดูก็จะได้เห็นริคสะดุ้งตื่นจากเหตุแผ่นดินไหว แต่นั่นคงเป็นแค่ร่างกายเท่านั้น เพราะจิตวิญญาณของเขายังคงหลับใหลไม่ต่างจากอัศวิน

ลูกพ่อ เจ้าก็เหมือนพ่อ สับสนในชีวิต ไม่อาจเชื่อมต่อชิ้นส่วนเข้าด้วยกัน... นักเดินทางบนโลก คนแปลกหน้า มนุษย์ที่แตกสลาย เสียงบรรยายของโจเซฟดังขึ้น ต่อด้วยเสียงบรรยายของริคว่า ผมก้าวผิดที่ตรงไหน จากนั้นหนังก็ตัดไปยังภาพใต้น้ำตามติดหญิงสาวที่กำลังก้าวขึ้นจากสระ ก่อนหนังจะเปิดตัวบทแรกด้วย The Moon ไพ่ซึ่งเป็นตัวแทนของค่ำคืน การหลับใหล และจิตใต้สำนึก น้ำดูจะเป็นสัญลักษณ์ที่มาลิคใช้สำหรับอธิบายต้นกำเนิดของสิ่งมีชีวิตบนพื้นโลกจากภาพจำเกี่ยวกับสัตว์เซลล์เดียวในท้องทะเลตามสมมุติฐานของ ชาร์ลส์ ดาร์วิน ตลอดทั้งเรื่องเราจะเห็นช็อตตัวละครเดินชายหาด เล่นน้ำทะเล เดินเล่นในสระซ้ำแล้วซ้ำเล่าหลายครั้งเพื่อตอกย้ำให้เห็นที่มาของมนุษย์ ขณะเดียวกันท้องฟ้า (อีกหนึ่งช็อตโปรดของมาลิค) ก็อาจเทียบได้กับสวรรค์ที่มนุษย์พยายามจะหวนกลับคืน ดังเช่นเรื่องเล่าเกี่ยวกับจิตวิญญาณปีกหักในหนังเรื่องนี้ หรือตำนานของอดัมกับอีฟ (ถูกขับไล่ลงจากสวรรค์เพราะขัดคำสั่งพระเจ้า) ซึ่งปรากฏอยู่ในหนังของมาลิคหลายครั้งทั้งทางตรงและทางอ้อมตั้งแต่ Days of Heaven มาจนถึง The Thin Red Line, The New World และ The Tree of Life

ดังเช่นจิตวิญญาณตกสวรรค์ ซึ่งจำต้องถือครองร่างของมนุษย์เดินดิน ทั้งที่โหยหาความงามเบื้องบนและปรารถนาจะโบยบิน แต่ไร้ปีก ริคสูญสิ้นความสนใจในโลกรอบข้าง ขณะที่คริสเตียนใน The Pilgrim’s Progress ต้องเผชิญการล่อลวงของปีศาจให้ออกนอกเส้นทาง แต่ชื่อเสียง เงินทอง กลับไม่ใช่กิเลสเย้ายวนสำหรับริค เขาก็เหมือนกับอัศวิน ทั้งสองไม่ตระหนักถึงภารกิจ หรือเส้นทางข้างหน้าด้วยซ้ำ ฉันควรจะไปทางไหน เสียงบรรยายของริคดังขึ้นในฉากหนึ่ง เขาไม่ตื่นเต้นกับข้อเสนอของเอเยนต์ ไม่ได้อิ่มเอม เปี่ยมสุขกับความหรูหรา ฟุ้งเฟ้อรอบตัว เพราะสิ่งเหล่านั้นเป็นเพียงความจริงจำลอง เช่นเดียวกับโลกประดิษฐ์ในโรงถ่ายภาพยนตร์ที่แอลเอ หรือพีระมิดปลอม หอไอเฟลปลอม และกระทั่งท้องฟ้าปลอมที่ลาสเวกัส

ภาษาหนังของมาลิคสะท้อนภาวะข้างต้นของตัวละครเอกได้อย่างงดงาม ทั้งจากบทสนทนาที่ขาดห้วง ถูกกลบด้วยเสียงดนตรี เสียงประกอบรอบข้าง และจากกล้องที่เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา บางครั้งในระยะประชิดจนเกือบจะเหมือนบุกรุกความเป็นส่วนตัว แต่ในเวลาเดียวกันกลับไม่ใส่ใจตัวละคร เพราะหลายครั้งกล้องจะเบี่ยงเบนจากใบหน้าพวกเขาไปโฟกัสยังอากัปกิริยา หรือองค์ประกอบเจาะจง เช่น สเวตเตอร์ไหมพรมของอลิซาเบ็ธ (นาตาลี พอร์ตแมน) หรือเท้าเปลือยเปล่าของแนนซี (เคท แบลนเช็ตต์) นอกจากนั้น การออกแบบงานสร้าง รวมถึงภูมิทัศน์ ยังทำหน้าที่อธิบายตัวละครและสถานการณ์ของพวกเขาได้ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ทั้งภาพทะเลทรายเวิ้งว้าง แยกทิศทางไม่ออก ห้องร้างในอาคาร ซากบ้านโดนทุบทำลาย และอพาร์ตเมนต์แบบมินิมอลลิสม์ขนาดโจรยังต้องตัดพ้อ

ชีวิตจริงหาได้ยากยิ่ง มันอยู่ไหน จะค้นพบได้อย่างไร แคเรน หญิงสาวคนหนึ่งของริค เอื้อนเอ่ยในห้วงคำนึง หลังปล่อยตัวจมดิ่งอยู่กับโลกของการใช้เงินซื้อหาความสุขมาเนิ่นนาน ไม่ต่างจากผลงานสองชิ้นก่อนหน้า Knight of Cups ยังคงกรุ่นกลิ่นอายเข้มข้นของคริสตศาสนา มันพูดถึงการงัดข้อระหว่างวิถีแห่งธรรมชาติและวิถีแห่งพระเจ้า กิเลส ตัณหา เงินทอง ความสุขสบาย โรงแรมห้าดาว เหล่านี้เป็นเพียงสิ่งล่อใจให้คุณหักเหออกนอกวิถีของพระเจ้า และหนทางเดียวที่จะหวนคืนสู่สรวงสวรรค์ หรือค้นพบไข่มุกแห่งท้องทะเล คือ ยึดมั่นในศรัทธา (“แม้ฉันจะอยู่ในความมืดมิด ฉันก็เชื่อในแสงสว่าง”) ดังคำสอนของบาทหลวง (อาร์มิน มูลเลอร์-สตาห์ล) ที่ว่าความทุกข์หาใช่การลงโทษของพระเจ้า แต่เป็นของขวัญเพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักถึงสิ่งที่อยู่เหนือขึ้นไปนอกจากเราและความพยายามขวนขวายหาความสุขใส่ตัว เช่นเดียวกับ The Tree of Life มาลิคไม่เพียงย้ำเตือนผู้ชมถึงความงดงามของสิ่งสามัญรอบตัว แต่ยังสะท้อนให้เห็นความทุกข์ทรมานอีกด้วยจากภาพคนจรจัด คนไข้โรคผิวหนังของแนนซี ทั้งนี้เพื่อบ่งชี้ให้เห็นว่ามนุษย์หลงทางอยู่ในจักรวาลแห่งตน กอบโกยความสุขจนลืมวิถีแห่งพระเจ้า ซึ่งนำทางโดย แสงสว่างในดวงตาของคนอื่น... บางทีการรื้อถอนไวยากรณ์ทางภาพยนตร์เพื่อปลุกเร้าความแปลกใหม่ ไม่คุ้นเคยอาจเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุดในการนำเสนอสานส์อันเก่าแก่อย่างเมตตาและความเห็นอกเห็นใจ