วันศุกร์, กุมภาพันธ์ 23, 2550

The Pursuit of Happyness: พ่อรวยสอนลูก


ปริศนาคาใจเพียงหนึ่งเดียวของหนังเรื่อง The Pursuit of Happyness ถูกเฉลยตั้งแต่ช่วงต้นๆ เรื่อง เมื่อ คริส การ์ดเนอร์ (วิล สมิธ) ไปรับลูกชาย คริสโตเฟอร์ (เจเดน สมิธ) จากสถานรับเลี้ยงเด็กสุดโทรมและคับแคบของผู้หญิงจีนคนหนึ่ง ซึ่งดูจะมีบุคลิกตรงกันข้ามกับ แมรี่ ป็อปปินส์ ราวฟ้ากับเหว หลังจากนั้นหนังก็ไม่สามารถสร้างความฉงนใดๆ ให้กับคนดูได้อีกเลย เพราะเราทุกคนล้วนสามารถคาดเดาได้ง่ายๆ ว่าสุดท้ายแล้วคริสย่อมต้องผ่านพ้น “ขุมนรก” แห่งความยากจนไปได้ แล้วประสบความสำเร็จในอาชีพใหม่ (ส่วนหนึ่งอาจเนื่องมาจากการโหมประชาสัมพันธ์อย่างหนักว่าหนังเรื่องนี้ได้แรงบันดาลใจจากบุคคลจริง ซึ่งเขียนหนังสือชีวประวัติออกมาในชื่อเดียวกัน อีกส่วนหนึ่งคงเพราะหนังดำเนินตามสูตร “ยาจกไต่เต้าจนกลายเป็นเศรษฐี” หรือ Rags to riches แบบไม่พลิกแพลง) คำถามจึงเหลือแค่ว่า “เมื่อไร” เท่านั้น

จริงอยู่ตัว Y ในชื่อหนังเป็นความจงใจของทีมผู้สร้าง แต่ทัศนคติเชิดชูวัตถุนิยมที่อบอวลอยู่ในแทบทุกอณูของเรื่องราว (ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม) กลับทำให้คนดูพาลนึกไปได้ว่า การที่พวกเขา (ในที่นี้อาจหมายรวมไปถึง คริส การ์ดเนอร์ ตัวจริงด้วยก็ได้ เพราะเขาเป็นคนคิดชื่อหนัง/หนังสือเรื่องนี้ขึ้นมา) สะกดคำว่า “ความสุข” ไม่ถูกต้องอาจเป็นเพราะพวกเขาไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริงของมันต่างหาก

บางทีนั่นอาจไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรสำหรับผู้คนในประเทศอเมริกา (ต้นตำรับความฝันแบบอเมริกัน ซึ่งมักถูกนำไปเกี่ยวโยงกับทุนนิยม ความสะดวกสบายทางวัตถุ ชื่อเสียง และความมั่นคงทางการเงิน) ที่จะสับสนหลงทาง แล้วเผลอผสมคำว่า “ไล่ตาม” เข้ากับคำว่า “ความสุข” ในรูปแบบวลีสุดฮิตของพวกเขา นั่นคือ “ไล่ตามความฝันแบบอเมริกัน” หรือ “ใช้ชีวิตอยู่ในความฝันแบบอเมริกัน” (pursuing/living the American Dream)

แน่นอน ตามหลักของศาสนาพุทธ ความสุขทางเนื้อหนัง ทางรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสล้วนเป็นแค่มายา ความสุขแท้จริงหมายถึงความว่างเปล่า (นิพพาน) ต่างหาก ขณะเดียวกัน นักปราชญ์ชาวจีนในลัทธิเต๋านาม จวงจื้อ ก็เคยกล่าวไว้ว่า “ความสุข คือ การปราศจากความมุ่งมั่นที่จะพบกับความสุข”

กระทั่งนักเศรษฐศาสตร์ยังยอมรับผ่านงานวิจัยว่า การที่ชาวตะวันตกมีเงินทองและทรัพย์สินเพิ่มขึ้นนั้นไม่ได้กลับทำให้พวกเขามีความสุขเพิ่มขึ้นเลย (งานวิจัยในสามประเทศ คือ อังกฤษ อเมริกา และญี่ปุ่น ล้วนได้ผลตรงกันหมด) เทียบง่ายๆ คือ ปัจจุบันมนุษย์มีความสะดวกสบายและมาตรฐานในการดำรงชีวิตดีกว่าในอดีต แต่เมื่อเทียบระดับความสุขแล้ว คนในปัจจุบันกลับไม่ได้มีความสุขมากกว่าคนเมื่อห้าสิบปีก่อนแต่อย่างใด

ขณะเดียวกันเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ก็ทำให้เราพบว่าความสุขของแต่ละคนเกี่ยวข้องกับการทำงานของสมองมนุษย์ด้วย โดยงานวิจัยทางการแพทย์ระบุว่าความรู้สึกที่เป็นสุขนั้นเกิดจากการทำงานของสมองฝั่งซ้าย ขณะที่ความรู้สึกไม่ดีจะเกิดจากการทำงานของสมองฝั่งขวา และมนุษย์แต่ละคนก็มีระดับความตื่นตัวของสมองในฝั่งซ้ายและขวาไม่เท่ากัน คนที่สมองฝั่งซ้ายทำงานมากกว่าคนทั่วไปจะเป็นคนอารมณ์ดี มองโลกในแง่ดี และมีความสุขรวมถึงความจำที่ดีกว่าคนที่สมองซีกซ้ายทำงานน้อยกว่าปรกติ

จะเห็นได้ว่าทั้งหลักการทางวิทยาศาสตร์และหลักปรัชญาตะวันออกล้วนเห็นพ้องต้องกันว่าความสุขเป็นเรื่อง “ภายใน” หาใช่สิ่งของนอกกายที่เราจะไขว่คว้ามาครอบครองได้เหมือนทรัพย์สินเงินทอง กล่าวคือ มหาเศรษฐีรวยล้นฟ้าก็อาจจะหาความสุขในชีวิตไม่ได้เหมือนชาวนาจนๆ บางคนที่ต้องหาเช้ากินค่ำก็ได้

ใน The Pursuit of Happyness คนดูจะได้เห็น คริส การ์ดเนอร์ จมปลักอยู่กับความทุกข์แทบตลอดทั้งเรื่อง เขาถูกลินดา (แธนดี้ นิวตัน) เมียสาวซึ่งต้องแบกรับงานสองกะเพื่อหารายได้มาจุนเจือครอบครัว (แต่หนังกลับวาดภาพเธอไม่ต่างจาก ครูเอลล่า เดอ วิล) ดูถูกเหยียดหยาม เขาเศร้าใจที่ไม่สามารถพาลูกไปฝากเลี้ยงในสถานรับเลี้ยงเด็กชั้นดีได้ เขาผิดหวังที่เครื่องมือทางการแพทย์ที่เขาอุตส่าห์ทุ่มเงินเก็บของครอบครัวไปซื้อมาไม่ได้ “ขายคล่อง” ดังหวัง เพราะโรงพยาบาลส่วนใหญ่เห็นว่ามันเป็นของฟุ่มเฟือย

ในสายตาของคริส (หรืออาจจะหมายรวมถึงทัศนคติของตัวหนังทั้งเรื่องด้วยก็ได้) ความจนเทียบเท่ากับความทุกข์ ดังนั้น หากเขาต้องการความสุข หนทางเดียว คือ การแสวงหาเงินทองมาครอบครองให้มากที่สุด นั่นเลยกลายเป็นจุดเริ่มต้นในการไล่ตาม “ความสุข” ของคริส ซึ่งตัวหนังได้นำมาย้อมแมวขายในทำนองว่า “คุณควรต่อสู้ทุกวิถีทางเพื่อให้ความฝันกลายเป็นจริง”

คริสมุ่งมั่นอยากเป็นโบรกเกอร์ตลาดหุ้นเหมือนที่ แม็กกี้ ฟิทซ์เจอรัลด์ ฝันอยากเป็นนักมวยใน Million Dollar Baby หรือ นีล เพอร์รี่ ฝันอยากเป็นนักแสดงใน Dead Poets Society งั้นหรือ

ตรงกันข้าม คริสได้แรงบันดาลใจในการพลิกผันอาชีพ/ชีวิตจากการเดินผ่านย่านการเงินแห่งหนึ่ง แล้วเห็นผู้คนแถวนั้นยิ้มแย้มอย่างมีความสุข เขาจึงร้องถามชายคนหนึ่งที่ขับรถหรูมาจอดว่าทำยังไงถึงจะได้มีรถสวยแบบนั้นมาขับบ้าง ชายคนดังกล่าวผายมือไปยังตลาดหุ้นแทนคำตอบ เปล่าเลย ความฝันของ คริส การ์ดเนอร์ หาใช่การเป็นโบรกเกอร์ตลาดหุ้น เขากำลังไล่ตาม “ความร่ำรวย” อยู่ต่างหาก อะไรก็ได้ที่สามารถทำให้เขามีเงินมากพอจะซื้อรถหรูๆ สักคันมาขับ หรือนั่งชมฟุตบอลใน “บ็อกซ์” ส่วนตัว

อันที่จริง ความทะยานอยากนั่นเองที่ทำให้เขาต้องอับจนตั้งแต่แรก เป็นเพราะความอยากรวยไม่ใช่หรือที่ทำให้คริสตัดสินใจใช้เงินเก็บทั้งหมดทุ่มซื้อเครื่องมือทางการแพทย์มากักตุนไว้ เมื่อแผนดังกล่าวไม่เป็นไปดังหวัง แทนที่จะหางานมั่นคงทำเพื่อแบ่งเบาภาระลินดา เขากลับตกลงรับตำแหน่งพนักงานฝึกหัดในบริษัทการเงินแห่งหนึ่ง ซึ่งไม่ให้ค่าตอบแทนใดๆ แถมยังไม่รับประกันด้วยว่าเขาจะได้งานทำหลังจบคอร์ส แน่นอน ตัวหนัง “เข้าข้าง” คริสอย่างเต็มที่ แน่นอน คนดูส่วนใหญ่ย่อมอดไม่ได้ที่จะลุ้นเอาใจช่วยคริส เนื่องจากทักษะการเล่าเรื่องอันแยบยล รวมไปถึงการแสดงอันโน้มนำของซูเปอร์สตาร์ขวัญใจมวลชนอย่าง วิล สมิธ และแน่นอน สุดท้ายการยอมเสี่ยงครั้งที่สองของคริสก็ลงเอยด้วยความสำเร็จ แต่นั่นหาได้ปลดปล่อยคนทำหนังจากการสร้างค่านิยมบิดๆ เบี้ยวๆ ไม่

จากงานวิจัยในประเทศอเมริกาและสวิตเซอร์แลนด์พบว่า ความสุขของคนเราขึ้นอยู่กับระดับรายได้ของเรา “เปรียบเทียบ” กับเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งเกิดจากรายได้เฉลี่ยของบุคคลรอบข้าง กล่าวคือ เราจะยิ่งมีความสุขมากขึ้น ถ้ารายได้ของเราเพิ่มสูงกว่ากลุ่มที่เราเปรียบเทียบด้วย ในทางกลับกัน ถ้าผู้อื่นที่เราเปรียบเทียบด้วยมีรายได้สูงกว่า ความสุขของเราก็จะลดน้อยลง

ไม่ต้องสงสัยเลยว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คริสไม่อาจค้นพบความสุขได้เป็นเพราะเขาเลือกจะเปรียบเทียบตัวเองกับเหล่านักธุรกิจชั้นนำทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นชายคนที่ขับรถหรู หรือเศรษฐีรายหนึ่งที่เขาพยายามล่อหลอกให้ยอมมาเป็นลูกค้า ในฉากสำคัญเราจะเห็นท่าที “อับอาย” ของคริสที่ต้องนั่งรถเมล์และเดินเท้ามายังบ้านเศรษฐี ซึ่งกำลังจะขับรถคันโตพาลูกไปดูฟุตบอล ขณะที่คริสโตเฟอร์กลับไม่รู้สึกว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นเรื่องน่าอายที่ต้องปกปิด เขาแค่รู้สึกดีใจเพราะ (อาจ) จะได้ไปดูฟุตบอลกับพ่อของเขาเท่านั้น และการนั่งดูในบ็อกซ์ส่วนตัวสุดหรู หรือบนเก้าอี้ราคาถูกแถวหลังสุดก็คงไม่ใช่สาระสำคัญสำหรับหนูน้อยมากเท่ากับคริส

ผลงานกำกับของ เกเบรียล มัคซิโน ชิ้นนี้สร้าง “แรงบันดาลใจ” ในระดับเดียวกับการอ่านหนังสือฮาว-ทูแนวธุรกิจสักเล่ม ซึ่งมักจะมีประเด็นหลักแบบเดียวกันว่าใครๆ ก็สามารถรวยได้ หากรู้จักหนทาง/ทำงานหนัก/ทำตามความฝัน หรือการอ่านบทสัมภาษณ์เจ้าของกิจการใหญ่สักคน ที่ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาจากสภาพเสื่อผืนหมอนใบ ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับลูกเป็นเพียง “ตัวประกอบ” ที่จะช่วยสร้างพลังดราม่าและความชอบธรรมให้คริส เพราะใครจะกล้ากล่าวโทษการตัดสินใจเสี่ยงดวงอย่างโง่เขลาของเขา ในเมื่อทุกอย่างที่เขาทำไป ล้วนเป็นการทำไป “เพื่อลูก” (เป็นไปได้ไหมว่าลินดาอาจไม่ทิ้งเขาไป หากคริสตัดสินใจหางานทำเป็นหลักแหล่ง และถ้าเธอยังอยู่ เขาก็คงไม่ต้องกลายเป็นคนไร้บ้าน หรือคอยตอบคำถามของลูกที่ว่า “แม่ทิ้งเราไปเพราะผมใช่ไหม”)

ฉากสุดท้ายของหนังก็ช่วยตอกย้ำประเด็นดังกล่าว เมื่อเราได้เห็นคริสเดินยิ้มเพียงลำพังท่ามกลางฝูงชนเหมือนหนึ่งในกลุ่มคนที่เขาตั้งข้อสังเกตในช่วงต้นเรื่อง เขาค้นพบ “ความสุข” แบบที่เขาต้องการในที่สุด จากนั้น ตัวหนังสือบนจอก็ระบุข้อมูลว่า ไม่นานคริสสามารถทำเงินได้หลายสิบล้านจากการขายหุ้นและปัจจุบันมีบริษัทเป็นของตัวเอง ส่วนลูกชายของเขาจะเป็นยังไงนั้นไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะเราคนดูควรจะอนุมานได้เองแล้วว่าเขาคงมี “ความสุข” ล้นเหลือจากเงินที่พ่อของเขาหามาได้

The Pursuit of Happyness เข้าฉายได้ถูกจังหวะในช่วงเทศกาลคริสต์มาส เมื่อกระแสบริโภคนิยมกำลังพุ่งสูงถึงขีดสุด ขณะผู้คนถูกล้างสมองให้แห่แหนมาจับจ่ายใช้สอยตามห้างสรรพสินค้าเพื่อซื้อหา “ความสุข” กันถ้วนหน้า ใครมีเงินมาก ก็จะได้ “ความสุข” กลับไปมากหน่อย ถึงตรงนี้มันอาจเหมาะสมกว่า หากทีมงานจะตั้งชื่อหนังเรื่องนี้เสียใหม่ว่า The Pursuit of American Dream (หรืออาจจะเปลี่ยน American Dream เป็น Money หรือ Success ก็ได้) แต่คราวนี้พวกเขาควรสะกดคำให้ถูกด้วย เพราะความหมายของชื่อดังกล่าวถือว่าสอดคล้องกับเรื่องราวโดยปราศจากข้อกังขาใดๆ

อ้างอิง: คอลัมน์ “มองมุมใหม่” ของ ดร. พสุ เดชะรินทร์ จากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

สรุปรางวัลหนังไทย


เมื่อคืนเป็นการประกาศรางวัลสุดท้ายของปี นั่นคือ รางวัลของชมรมวิจารณ์บันเทิง ซึ่งจัดขึ้นอย่างเรียบง่าย เป็นกันเอง และผลรางวัลส่วนใหญ่ก็เป็นไปตามความคาดหมาย (หรือเปล่า)

ดูเหมือนผลรางวัลในปีนี้จะแตกกระจายกันอย่างถ้วนหน้า (แสดงให้เห็นถึงคุณภาพที่ใกล้เคียงกัน? หรือรสนิยมที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงของคณะกรรมการ?) โดยเฉพาะในสาขานักแสดงนำหญิง ซึ่งแต่ละสถาบันมีความเห็นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง (แน่นอน สาเหตุแห่งความแปลกแยกประการหนึ่งเกิดจากการที่คณะกรรมการตุ๊กตาทองผลักดัน จินตหรา สุขพัฒน์ ให้เข้าชิงในสาขานักแสดงนำ)

ผู้ชนะรายใหญ่ในค่ำคืนเห็นจะเป็น “เด็กหอ” ซึ่งกวาดรางวัลสำคัญไปครองแบบครบถ้วนทั้งหนัง ผู้กำกับ และบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (สมทบเข้ากับรางวัล คริสตัล แบร์ ที่เพิ่งได้มาจากเทศกาลหนังเมืองเบอร์ลิน) ยังไงก็ขอแสดงความยินดีด้วยอย่างยิ่ง อีกคน คือ พี่แหม่ม จินตหรา สุขพัฒน์ ซึ่งเป็นขวัญใจชมรมวิจารณ์บันเทิงมาช้านาน นี่ถือเป็นรางวัลครั้งที่ 5 ของเธอ (แต่เป็นครั้งแรกในสาขานักแสดงสมทบหญิง) ก่อนหน้านี้พี่แหม่มเคยได้รางวัลนักแสดงนำหญิงจาก ส.อ.ว. ห้อง 2 รุ่น 44, สมศรี 422 อาร์, อำแดงเหมือนกับนายริด และ สตางค์

ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

- เด็กหอ (Starpics, ชมรมวิจารณ์บันเทิง)
- ก้านกล้วย (สุพรรณหงส์)
- Seasons Change เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย (ตุ๊กตาทอง, คมชัดลึก)

ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

- นิธิวัฒน์ ธราธร จาก Seasons Chang เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย (ตุ๊กตาทอง, คมชัดลึก)
- เฉลิม วงศ์พิมพ์ จาก คนไฟบิน (สุพรรณหงส์)
- เป็นเอก รัตนเรือง จาก Invisible Waves คำพิพากษาของมหาสมุทร (Starpics)
- ทรงยศ สุขมากอนันต์ จาก เด็กหอ (ชมรมวิจารณ์บันเทิง)

นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม

- อุดม แต้พานิช จาก โคตรรักเอ็งเลย (คมชัดลึก)
- ชาลี ไตรรัตน์ จาก เด็กหอ (ตุ๊กตาทอง)
- กฤษฎา สุโกศล แคลมป์ จาก 13 เกมสยอง (สุพรรณหงส์, Starpics, ชมรมวิจารณ์บันเทิง)

นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม

- จินตหรา สุขพัฒน์ จาก เด็กหอ (ตุ๊กตาทอง)
- ชุติมา ทีปะนาถ จาก Seasons Change เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย (คมชัดลึก)
- วิสา สารสาส จาก โคตรรักเอ็งเลย (Starpics)
- รุ้งลาวัลย์ โทนะหงสา จาก หนูหิ่น เดอะมูฟวี่ (สุพรรณหงส์)
- ณัฐฐาวีรนุช ทองมี จาก แสบสนิท ศิษย์ส่ายหน้า (ชมรมวิจารณ์บันเทิง)

นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม

- โก๊ะตี๋ อารามบอย จาก แสบสนิท ศิษย์ส่ายหน้า (ตุ๊กตาทอง, ชมรมวิจารณ์บันเทิง)
- ศิรชัช เจียรถาวร จาก เด็กหอ (คมชัดลึก)
- เกรียงศักดิ์ เหรียญทอง จาก เก๋า... เก๋า (Starpics)
- นิรุตติ์ ศิริจรรยา จาก เพลงสุดท้าย (สุพรรณหงส์)

นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม

- จินตหรา สุขพัฒน์ จาก เด็กหอ (Starpics, คมชัดลึก, ชมรมวิจารณ์บันเทิง)
- ปรางทอง ชั่งธรรม จาก อำมหิตพิสวาส (ตุ๊กตาทอง, สุพรรณหงส์)

บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

- เด็กหอ (ตุ๊กตาทอง, Starpics, ชมรมวิจารณ์บันเทิง)
- ก้านกล้วย (สุพรรณหงส์)
- Seasons Change (คมชัดลึก)

วันจันทร์, กุมภาพันธ์ 19, 2550

Oscar Nominee: ไรอัน กอสลิง


คุณครูไฟแรงเปี่ยมอุดมคติกับหนุ่มขี้ยาที่หลงตัวเองเป็นสองบุคลิกซึ่งคุณสามารถพบเห็นได้บ่อยๆ ในหนังฮอลลีวู้ด แต่คงมีเพียงนักแสดงผู้เปี่ยมพรสวรรค์และความมั่นใจเท่านั้นที่จะสามารถผสมผสานทั้งสองบทเข้าไว้ด้วยกันเป็นหนึ่ง แล้วถ่ายทอดอารมณ์ของชายที่เต็มไปด้วยบาดแผลภายในออกมาอย่างเป็นธรรมชาติ จนทำให้คนดูรู้สึกเหมือนเขาเป็นคนที่คุณเคยรู้จัก หรือกระทั่งชื่นชอบ

แดน ดันน์ ใน Half Nelson หลงรักการสอน มันทำให้เขามีเป้าหมายในชีวิต แต่ขณะเดียวกันเขาก็ไม่อาจตัดขาดจากยาเสพติดได้ หลังจากนักเรียนคนหนึ่ง (ชาริก้า เอ็บส์) เห็นแดนเสพยาในห้องน้ำหญิง ความสัมพันธ์อันเปราะบางของทั้งสองจึงเริ่มต้นขึ้น

ไรอัน กอสลิ่ง พูดถึงตัวละครที่เขารับเล่นใน Half Nelson ว่า “ผมรู้สึกเหมือนเขาเป็นใครบางคนที่พวกเราเคยพบเห็น หรือเคยเป็นมาก่อน ผมมองเห็นบางอย่างในตัวเองที่คล้ายกับแดน ผมรู้สึกว่าตัวเอง หรือทุกคนที่ผมรู้จักย่อมเคยรู้สึกอึดอัดกับชีวิตในบางช่วงเวลา ไม่เศร้าใจเมื่อถึงเวลาที่ควรจะเศร้า ไม่สามารถร้องไห้ได้ตามกาลเทศะ ไม่รู้จะพูดอะไรในบางครั้ง และไม่สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตได้ตามใจปรารถนา แดนเป็นตัวละครที่ปราศจากพัฒนาการเด่นชัด ชีวิตของเขาเต็มไปด้วยการเริ่มต้นอย่างผิดๆ และความขัดแย้ง”

คุณเองคงจะรู้สึกขัดแย้งในใจเช่นกัน เมื่อพบว่านักแสดงวัย 26 ปีคนนี้ที่เคยฝากผลงานชวนตะลึงเอาไว้ในบทหนุ่มนีโอนาซีจากหนังอินดี้ฟอร์มเล็กเรื่อง The Believer เมื่อ 5 ปีก่อนเคยเป็นสมาชิก The Mickey Mouse Club เช่นเดียวกับ จัสติน ทิมเบอร์เลค, คริสติน่า อากิเลร่า และ บริทนีย์ สเปียร์ แต่ชื่อเสียงของกอสลิงหาได้จำกัดอยู่แค่ในวงการหนังอินดี้เท่านั้น เนื่องจากเขาไม่เคยมีอคติกับหนังตลาดและร่วมแสดงทั้งในหนังสตูดิโอที่ประสบความสำเร็จเกินคาดอย่าง The Notebook (ซึ่งเขาพบรักในกองถ่ายกับ ราเชล แม็คอดัมส์ แฟนคนล่าสุด) และหนังสตูดิโอที่ล้มเหลวในเชิงพาณิชย์อย่าง Murders by Numbers (ซึ่งเขาพบรักในกองถ่ายกับ แซนดร้า บูลล็อค อดีตแฟนสาวที่อายุมากกว่า)

ผู้กำกับ ไรอัน เฟล็ค ไม่รู้สึกแปลกใจแม้แต่น้อยที่งานแสดงของกอสลิ่งได้รับคำชมจากนักวิจารณ์อย่างท่วมท้นและลงเอยด้วยการถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ท่ามกลางคู่แข่งเขี้ยวลากดินจำนวนมาก ขณะเดียวกันเขาก็ไม่คิดจะแอบอ้างเครดิตใดๆ “รู้มั้ย ผมแทบไม่ต้องทำอะไรเลยด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม เขาดูไหลลื่นไปกับความอึดอัดคับข้องทางจิตใจของตัวละครได้อย่างน่าทึ่ง ผมต้องใช้แรงในการผลักดันเพียงเล็กน้อย เขาเต็มใจจะก้าวไปให้สุดทางเท่าที่บทเรียกร้องอยู่แล้ว” เฟล็คกล่าว... บางทีหากโชคเข้าข้าง กอสลิ่งอาจจะไปได้ “สุดทาง” ในคืนวันประกาศผลรางวัลออสการ์

Oscar Nominee: แจ๊คกี้ เอิร์ล ฮาร์ลีย์


ความเงียบปกคลุมบรรยากาศอยู่พักหนึ่ง หลัง แจ๊คกี้ เอิร์ล ฮาลีย์ ได้ยินคำถามว่าเขาสามารถเชื่อมโยงตัวเองกับ โรนัลด์ เจมส์ แม็คกอร์วีย์ อดีตนักโทษข้อหาล่วงละเมิดทางเพศผู้เยาว์ที่เขารับเล่นในหนังเรื่อง Little Children ได้อย่างไร “ผมคงไม่มีวันเข้าใจแรงผลักดันและความหมกมุ่นของตัวละครได้ แต่ผมรู้สึกเชื่อมโยงกับเขาในธรรมชาติของอาการหมกมุ่น” ฮาลีย์ตอบ “ผมเข้าใจมันดี รอนนี่เป็นคนชิงชังตัวเองและสิ้นไร้ความเชื่อมั่นในตัวเองขั้นรุนแรง”

อันที่จริง ขณะอ่านบทหนัง ฮาลีย์ก็รู้สึกเหมือนตัวเองกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ใกล้เคียงกับรอนนี่ “พออ่านไปได้สิบหน้า ผมก็เริ่มคิดว่ามันไม่เลวทีเดียว ยี่สิบหน้า ‘มันดีมากเลย’ สามสิบหน้า ‘มันดีมากๆ เลย’ และพออ่านไปได้สี่สิบหน้า ผมก็คิดว่า ‘บทดีขนาดนี้ เราคงไม่มีโอกาสได้เล่นหรอก’ จากนั้นผมก็เริ่มหดหู่สิ้นหวัง” ฮาลีย์เล่าพร้อมกับหัวเราะตบท้าย

แต่การได้ร่วมงานกับ สตีเวน ซิลเลียน ใน All the King’s Men (บทแรกของเขาในรอบสิบปี หลังจากครั้งหนึ่งเคยโด่งดังเป็นพลุแตกในช่วงวัยรุ่นจากหนังอย่าง Bad News Bears และ Breaking Away) ทำให้ฮาลีย์มั่นใจขึ้นว่าจะเอาชนะใจผู้กำกับ ท็อดด์ ฟิลด์ ระหว่างการทดสอบหน้ากล้องได้ ยิ่งเมื่อผนวกกับเสียงสรรเสริญของ เคท วินสเล็ท ซึ่งร่วมนำแสดงใน All the King’s Men ด้วยแล้ว บทรอนนี่จึงตกเป็นของฮาลีย์อย่างรวดเร็ว “ฉันจำวันนั้นได้แม่นยำ” วินสเล็ทเล่า “แจ็คกี้เดินเข้ามาทดสอบบทด้วยอาการประหม่า เขาพูดกับฉันว่า ‘ดีใจจังที่คุณอยู่ด้วย’ แต่พอเขาเริ่มอ่านบท เขากลับเข้าถึงตัวละครได้แบบอยู่หมัด การแสดงของเขาทำเอาฉันต้องร้องไห้ออกมา สาบานได้เลย มันไม่เคยเกิดขึ้นกับฉันมาก่อน และพอทุกอย่างเสร็จสิ้น ท็อดด์ก็พูดกับเขาว่า ‘คุณอยากเล่นบทนี้ไหม’ จากนั้น แจ๊คกี้ก็เริ่มร้องไห้”

ถ้าคุณรู้ว่าฮาร์ลีย์ต้องผ่านอะไรมาบ้าง (เขาต้องทำงานเป็นพนักงานส่งพิซซ่า ยาม และคนขับรถลิมูซีนเมื่อไม่มีงานแสดงเข้ามา) หลังจากฮอลลีวู้ดหันหลังให้เขาอย่างเย็นชาเมื่อเกือบยี่สิบกว่าปีก่อน คุณจะไม่แปลกใจเลยกับปฏิกิริยาอันท่วมท้นของฮาร์ลีย์ เมื่อเขาได้กลับมาสานความฝันของการเป็นนักแสดงต่ออีกครั้ง แน่นอน โชคชะตาอาจมีส่วนอยู่บ้างในความสำเร็จครั้งนี้ แต่นั่นคงไม่มากเท่าความสามารถและพรสวรรค์ ซึ่งไม่เคยจางหายไปไหน

หลายคนที่ได้ดู Little Children อาจไม่เข้าใจ “รสนิยม” ของรอนนี่ หรือการตัดสินใจอันรุนแรงของเขาในตอนท้ายเรื่อง แต่ไม่ต้องสงสัยเลยว่าการแสดงอันเพอร์เฟ็กต์ของฮาลีย์จะทำให้ทุกคนไม่มีวันลืมรอนนี่ได้ลง (เขาทำให้คนดูรู้สึกขยะแขยงและนึกสงสารไปพร้อมๆ กันได้อย่างน่าประหลาด) รวมไปถึงการกลับมาอันยิ่งใหญ่ของนักแสดงที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นดาราขวัญใจวัยรุ่น สปอตไลท์ได้หันกลับมาส่องเขาอีกครั้งแล้ว

วันศุกร์, กุมภาพันธ์ 09, 2550

Oscar Nominee: อบิเกล เบรสลิน


ตอน อบิเกล เบรสลิน มาทดสอบหน้ากล้องเพื่อรับบทเด่นใน Little Miss Sunshine เธอเคยมีผลงานเพียงการรับบทเป็นลูกสาวจอมกระหายน้ำของ เมล กิ๊บสัน ในหนังเอเลี่ยนสุดฮิตเรื่อง Signs มันเป็นผลงานชิ้นแรกที่พอใช้ได้ แต่หาใช่เครื่องหมายบ่งบอกว่าเธอมีทักษะทางการแสดงอื่นใดนอกจากการทำตัวน่ารักเหมือนตุ๊กตา แต่นั่นคือสิ่งที่เบรสลินทำใน Little Miss Sunshine เธอกลายเป็น โอลีฟ ฮูเวอร์ เด็กหญิงหน้าตาธรรมดาที่มีความฝันอันยิ่งใหญ่ เพราะแทนที่จะแสดงความเป็นผู้ใหญ่เกินตัว เหมือนที่ดาราเด็กอีกหลายคนนิยมทำกัน เบรสลินกลับถ่ายทอดความคิดและมุมมองแบบเด็กๆ ออกมาได้อย่างสมจริงผ่านแววตาไร้เดียงสา ซึ่งกำลังเริ่มจะเข้าใจความเป็นไปในโลก โอลีฟตระหนักว่าเธอไม่เหมือนเด็กหญิงคนอื่นๆ บนเวทีการประกวด แต่ก็ยังบริสุทธิ์สดใสพอจะไม่ตระหนักว่าท่าเต้นประกวดของเธอมันร้ายกาจเพียงใด

เมื่อถูกถามว่าเธอประทับใจฉากไหนมากสุดในหนังเรื่อง Little Miss Sunshine คำตอบของนักแสดงรุ่นเยาว์วัย 10 ขวบ คือ “ฉากบนโต๊ะอาหารเย็นตอนที่หนูรู้ว่าจะได้ไปประกวดนางงาม หนูได้กรีดร้องในฉากนั้น มันสนุกอย่าบอกใคร การได้ร้องกรี๊ดจนสุดเสียง พวกช่างบันทึกเสียงพากันพูดว่า ‘ช่วยบอกก่อนได้ไหมว่าเธอจะร้องกรี๊ดเมื่อไหร่ พวกเราจะได้อุดหูทัน’ ”

จุดเริ่มต้นของความสำเร็จแบบเหลือเชื่อและน่าอัศจรรย์ของหนังอินดี้เล็กๆ เรื่อง Little Miss Sunshine คือ เทศกาลหนังซันแดนซ์ ซึ่งเบรสลินเดินทางไปร่วมโปรโมต (และกลับออกมาพร้อมฉายา ดาโกต้า แฟนนิ่ง คนใหม่) ในคืนฉายรอบปฐมทัศน์ เมื่อเครดิตท้ายเรื่องเริ่มปรากฏขึ้นบนจอ จู่ๆ ผู้ชมจำนวน 1200 คนในโรงหนังก็ลุกขึ้นจากเก้าอี้พร้อมกัน “ตอนแรก หนูคิดว่า ไฟไหม้! ไฟไหม้!” เบรสลินเล่าพร้อมหัวเราะคิกคัก แต่ความจริงแล้ว ผู้ชมจำนวนมากลุกขึ้นยืนพร้อมกันเพื่อปรบมือให้กับหนังที่พวกเขาเพิ่งชมจบไปต่างหาก... ส่วนที่เหลือหลังจากนั้น (การที่หนังถูกซื้อไปด้วยเงินก้อนโต ทำเงินมากกว่า 60 ล้านเหรียญ และถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์) ถือเป็นประวัติศาสตร์

และสิ่งหนึ่งที่ไม่มีใครปฏิเสธได้ ก็คือ เบรสลินเปรียบดังแสงแดดสดใสใน Little Miss Sunshine ความน่ารักอันเป็นธรรมชาติของเธอคือสิ่งที่ปรากฏชัดในสายตาของทุกคน แต่ลึกๆ แล้ว เด็กหญิงคนนี้ยังเปี่ยมความสามารถทางการแสดงไม่เหมือนใคร ดังจะเห็นได้จากตอนที่เธอต้องร้องไห้ระหว่างการเข้าฉากกับ อลัน อาร์กิน หรือเมื่อเธอต้องเต้นรำในเรท PG-13 กับเพลง Super Freak เบรสลินยืนกรานว่าเธอไม่มีอะไรเหมือนกับ โอลีฟ ฮูเวอร์ เลยสักนิด “หนูไม่กล้าเหมือนโอลีฟหรอก แค่ร้องเพลงในโบสถ์ก็ทำเอาหนูประหม่าจะแย่แล้ว” แต่เธอหลอกให้เราทุกคนเชื่อได้ และนั่นคือบทพิสูจน์ถึงพรสวรรค์ชั้นยอด

Oscar Nominee: เคท วินสเล็ท


ซาร่าห์ เพียซ ใน Little Children เป็นผู้หญิงน่าสมเพชและไร้ความสุข เธอฉลาด เปี่ยมชีวิตชีวา แต่กลับยอมจมปลักอยู่ในความสัมพันธ์ผุๆ พังๆ ซึ่งไม่คู่ควรกับเธออย่างสิ้นเชิง ด้วยเหตุนี้ เธอจึงเปรียบเสมือนขั้วตรงข้ามของ เคท วินสเล็ท นักแสดงสาวชาวอังกฤษที่รับบทซาร่าห์ในผลงานกำกับของ ท็อดด์ ฟิลด์ ซึ่งดัดแปลงจากนิยายวิพากษ์ความฟอนเฟะในชุมชนชานเมืองของ ทอม เพอร์ร็อตตา

วินสเล็ทปฏิเสธที่จะจมปลักอยู่กับความสำเร็จของ Titanic ภาพยนตร์ซึ่งสร้างชื่อให้เธอจนโด่งดังไปทั่วโลก แทนที่จะโอบกอดสถานะซูเปอร์สตาร์ในฮอลลีวู้ด วินสเล็ทกลับเลือกรับเล่นแต่บทท้าทาย หลายหลาก ไม่ว่ามันจะเป็นหนังอินดี้ทุนต่ำอย่าง Hideous Kinky และ Holy Smoke หรือผลงานอาร์ตเฮาส์ที่ไม่ค่อยมีใครได้ดูอย่าง Quills และ Iris เธอยอมรับว่าการรับบทเป็นซาร่าห์ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับนักแสดงผู้เชื่อมั่นว่าการหลงรักตัวละครที่คุณรับเล่นเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง “ซาร่าห์มีคุณสมบัติบางอย่างที่ฉันไม่เคารพหรือชื่นชอบ โดยเฉพาะวิธีที่เธอเลือกรับมือกับชีวิตอันเปลี่ยวเหงา” ดาราสาววัย 31 ปีและคุณแม่ลูกสองกล่าว นอกจากจะไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจคบชู้ของซาร่าห์แล้ว วินสเล็ทยังมีปัญหากับความไร้ประสิทธิภาพในฐานะคุณแม่ ตลอดจนการยินยอมทนทุกข์ในชีวิตแต่งงานที่ไร้ความสุขของซาร่าห์อีกด้วย (วินสเล็ทหย่าขาดจากสามีคนแรก เจมส์ ทริปเปิลตัน อย่างรวดเร็วเมื่อพบว่ามันไม่ “เวิร์ค” ก่อนจะหันไปใช้ชีวิตคู่กับ แซม เมนเดส เมื่อเกือบสี่ปีก่อน)

เธอกล่าวเปรียบเทียบตัวเองกับซาร่าห์ว่า “ฉันไม่สามารถจำทนและพูดว่า ‘นี่เป็นชะตาชีวิตของฉัน’ ได้ เพราะถ้าฉันไม่ชอบอะไร ฉันก็จะแก้ปัญหาทันที มันเป็นเรื่องยากมากๆ สำหรับฉันในการเก็บกดสัญชาตญาณส่วนนั้นไว้ แล้วหยุดวิพากษ์การตัดสินใจของซาร่าห์”

แต่ใครก็ตามที่ได้ชม Little Children คงไม่มีทางสังเกตเห็น “ความพยายาม” ใดๆ ทั้งสิ้นเพราะวินสเล็ทยังคงสวมวิญญาณตัวละครได้อย่างหมดจดและเป็นธรรมชาติเช่นเคย นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเธอถึงได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์ถึงห้าครั้งในช่วงเวลาเพียงไม่กี่ปี ที่สำคัญ เธอทำแบบนั้นในหนังทุกๆ เรื่อง แม้กระทั่งเรื่องที่เธอไม่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์อย่าง Finding Neverland และ The Holiday

ในฐานะนักแสดง การแสดงอารมณ์ผ่านทางใบหน้า คือ สมบัติอันล้ำค่าของวินสเล็ท หาใช่การค้นหาข้อมูล การฝึกพูดสำเนียง หรือการแต่งหน้าทำผมให้เหมาะกับบท และตัวเธอเองก็ดูจะเข้าใจในจุดนั้น “ไม่มีอะไรที่ฉันรักไปกว่าการตัดบทพูดออก บ่อยครั้ง คุณสามารถบรรลุเป้าหมายได้อย่างเปี่ยมประสิทธิภาพเช่นกันผ่านการใช้สายตา ภาษาท่าทาง หรือการสัมผัส” บางทีในงานออสการ์ปีนี้ เราอาจได้เห็นเธอสัมผัสกับชัยชนะเป็นครั้งแรก หลังจากอกหักมาแล้วถึงสี่ครั้ง

วันพฤหัสบดี, กุมภาพันธ์ 08, 2550

The Best of Martin Scorsese


ปีนี้ใครๆ ก็เชื่อกันว่าคุณปู่ มาร์ติน สกอร์เซซี่ จะได้รางวัลออสการ์สาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมไปครองเสียที หลังจากอกหักมาหลายครั้งหลายครา ลางดีของเขาเริ่มขึ้นเมื่อเขากวาดรางวัลนักวิจารณ์มาครองเกือบหมด ตามด้วยลูกโลกทองคำ และ DGA (ซึ่งเขาไม่เคยชนะมาก่อนเลย เช่นเดียวกับออสการ์)

โดยส่วนตัว ผมไม่ได้เชียร์ใครอย่างออกนอกหน้าสักเท่าไหร่ (แต่จริงๆ แล้วถ้าจะให้เชียร์ ผมคงเลือกจะเชียร์ พอล กรีนกราส ซึ่งในความเห็นของผม กำกับหนังได้ดีกว่าสกอร์เซซี่ในปีนี้ ส่วนคนอื่นๆ นั้นผมยังไม่ได้ชมผลงานของพวกเขาเลย จึงไม่อาจตัดสินใจได้) ทว่าใจหนึ่งผมก็อยากให้สกอร์เซซี่ได้รางวัลออสการ์เสียที สาเหตุหนึ่งเพราะเขาเป็นผู้กำกับชั้นยอด และอีกสาเหตุหนึ่งก็เพราะ “ความรู้สึกผิด” จะได้หมดไปเสียที

หลายปีมานี้ ผมได้ยินเสียงเรียกร้องให้เขาได้ออสการ์แทบทุกครั้ง แม้กระทั่งจากหนังที่ไม่ค่อยได้เรื่องเท่าไหร่อย่าง Gangs of New York จนผมรู้สึกเบื่อหน่าย ผมยอมรับว่าดีใจมากที่เมื่อห้าปีก่อน รางวัลออสการ์ตกเป็นของ โรมัน โปลันสกี้ จาก The Pianist ซึ่งคู่ควรมากกว่า เช่นเดียวกัน ผมเห็นว่า คลินท์ อีสต์วู้ด จาก Million Dollar Baby คู่ควรมากกว่าสกอร์เซซี่จาก The Aviator

ออสการ์ควรปลดแอกตัวเองเสียทีในการมอบรางวัลให้สกอร์เซซี่ไปซะในปีนี้ เพื่อในปีถัดๆ ไป เมื่อเขาสร้างหนังเรื่องใหม่ออกมา เราจะได้ไม่ต้องมานั่งฟังกระแส “นักทำหนังระดับตำนานที่ไม่เคยได้ออสการ์” กันอีก ผมไม่เข้าใจว่าคนจะเรียกร้องกันไปทำไมนักหนา การไม่ได้ออสการ์ หาได้ทำให้ผลงานของ อัลเฟร็ด ฮิทช์ค็อก หรือ ออร์สัน เวลส์ หรือ สแตนลีย์ คูบริค ด้อยลงแต่อย่างใด และการที่ คลินท์ อีสต์วู้ด ได้ออสการ์มาครองสองตัว ก็หาได้พิสูจน์ว่าเขาเป็นผู้กำกับที่เก่งกว่าอีกสามคนข้างต้น

โดยส่วนตัว ผมไม่ใช่แฟนประจำของสกอร์เซซี่ แต่ก็เคยดูหนังของเขามาบ้างพอสมควร ผมรู้สึกว่าผลงานของเขา “แมน” เกินไปสำหรับรสนิยมผม แต่ผมก็ชื่นชอบในทักษะการเล่าเรื่อง ตลอดจนการใช้เทคนิคภาพยนตร์ของเขามากๆ โดยเฉพาะในช่วงยุค 70-90 ไม่ต้องแปลกใจเลยว่า การร่วมงานกับ โรเบิร์ต เดอ นีโร คือ จุดสูงสุดในอาชีพผู้กำกับของเขา หนังทุกแนวที่ทั้งสองจับมือร่วมกันล้วนได้ผลยอดเยี่ยมไปหมด ไม่ว่าจะเป็นหนังแก๊งสเตอร์ หนังวิเคราะห์ตัวละคร หนังสะท้อนสังคม หนังชีวประวัติ หนังตลกร้าย หรือกระทั่งหนังเขย่าขวัญ ผลงานในยุคหลังๆ ของสกอร์เซซี่ดูเหมือนจะขาดจิตวิญญาณและพลังรุนแรงเหมือนในช่วงยุคทอง แต่การร่วมงานระหว่างเขากับ ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ ดูเหมือนจะพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นจาก Gangs of New York สู่ The Departed

ต่อไปนี้เป็นหนังของสกอร์เซซี่เรียงตามลำดับความชอบส่วนตัวของผม มีหนังหลายเรื่องของเขาที่ผมไม่ได้ดู ที่สำคัญๆ ก็เช่น Kundun (1997) The Last Temptation of Christ (1988) After Hours (1985) Raging Bull (1980) The Last Waltz (1978) New York, New York (1977) Alice Doesn't Live Here Anymore (1974) และ Mean Streets (1973) ดังนั้นพวกมันจึงไม่ปรากฏในรายชื่อ


Taxi Driver (1976)
Goodfellas (1990)
The King of Comedy (1983)
The Age of Innocence (1993)
Casino (1995)
Cape Fear (1991)
The Departed (2006)
The Aviator (2004)
Gangs of New York (2002)
Bringing Out the Dead (1999)
The Color of Money (1986)
Boxcar Bertha (1972)

วันพุธ, กุมภาพันธ์ 07, 2550

Secretary: เลขาฯ บูชานาย



“เธอมาอยู่ที่นี่เพื่อรับใช้เจ้านายของเธอ… เธอต้องละทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างที่กำลังทำอยู่เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับหน้าที่เพียงหนึ่งเดียวของเธอเท่านั้น นั่นคือ การพลีกายให้แก่เจ้านาย มือของเธอหาใช่สมบัติของเธออีกต่อไปไม่ เช่นเดียวกับหน้าอกของเธอ และ ที่สำคัญสูงสุด ทุกช่องทวารในร่างของเธอ ซึ่งพวกเราสามารถสำรวจหรือล่วงล้ำได้ตามใจปรารถนา…” (จากนิยายเรื่อง The Story of O ประพันธ์โดย พอลีน เคอาเช่)

ครั้งหนึ่งเมื่อนานมาแล้ว พฤติกรรม ซาโดมาโซคิสม์ (sadomasochism) หรือที่เรียกสั้นๆว่า S&M เคยถูกมองว่าเป็นกิจกรรมของพวกกามวิปริตและคนบาปผู้สมควรแก่การลงทัณฑ์ขั้นรุนแรง แนวคิดดังกล่าวส่งผลให้ มาร์ควิส เดอ ซาด (1740-1814) บิดาผู้ให้กำเนิดคำว่า ‘ซาดิสท์’ ต้องถูกจองจำอยู่ในโรงพยาบาลบ้าเป็นเวลานานเกือบครึ่งชีวิต โทษฐานถ่ายทอดจินตนาการดังกล่าวลงบนแผ่นกระดาษแล้วตีพิมพ์เป็นหนังสือเผยแพร่สู่สาธารณชน ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม

เกือบสองร้อยปีผ่านไป ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงมากมายหลายหลากทั้งทางด้านสังคม การเมือง และองค์ความรู้เกือบทุกแขนง จินตนาการ S&M ในปัจจุบัน กลับกลายเป็นเรื่องปรกติธรรมดาและใกล้ตัวไม่ต่างจากยาสามัญประจำบ้าน โซ่ ปลอกคอ กุญแจมือ แส้ และหน้ากากหนัง ถือเป็นสินค้าขายดีลำดับต้นๆตามร้าน sex shop ทั่วไป ส่วนภาพยนตร์ XXX (ไม่ใช่เรื่องที่นำแสดงโดย วิน ดีเซล) เกินกว่าครึ่งก็มักจะสอดแทรก ‘ฉากบังคับ’ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงวิธีการใช้สินค้าเหล่านั้นเอาไว้ ในรูปลักษณ์อันเย้ายวนใจ มากกว่าจะบ่งชี้นัยยะแห่งกามวิตถารที่น่ารังเกียจ เดียดฉันท์

อีกหนึ่งในหลักฐานยืนยันกระแสความเปลี่ยนแปลงแห่งภาพลักษณ์ S&M ที่ชัดเจน โดดเด่น ก็คือ ผลงานกำกับชิ้นล่าสุดของ สตีเวน เชนเบิร์ก เรื่อง Secretary ซึ่งสะท้อนพฤติกรรมดังกล่าวภายใต้โครงสร้างของภาพยนตร์ตลก-โรแมนติกอันเป็นแนวทางที่พุ่งเป้าไปยังกลุ่มคนดูวงกว้าง แม้ตัวหนังเองจะถูกจัดจำหน่ายและโปรโมตภายใต้ภาพลักษณ์ ‘อินดี้’ แบบเต็มพิกัดก็ตาม โทนอารมณ์โดยรวมอาจมืดหม่น พิลึกพิลั่น เกินหน้าหนังตลก-โรแมนติกดาดๆอย่าง Two Weeks Notice หรือ Maid in Manhattan แต่ก็เบาสบายกว่าหนังเกี่ยวกับมาโซคิสท์ในช่วงสองสามปีหลังอย่าง The Piano Teacher หรือ Romance อยู่หลายเท่าตัว และที่สำคัญ บทหนังดูเหมือนจะจงใจนำเสนอ S&M ในลักษณะของช่องว่างทางจิตวิญญาณซึ่งกำลังเฝ้ารอ ‘คนที่ใช่’ มาช่วยเติมเต็ม มากกว่าภาวะซับซ้อนทางจิตใจที่อัดแน่นไปด้วยความขัดแย้งรุนแรง

หากมองโดยผิวเผิน Secretary ดูเหมือนจะแจกแจงภาพของเกมการทรมานตามรูปแบบดั้งเดิมด้วยการให้ผู้ชายดำรงฐานะ ‘เจ้านาย’ (master) และผู้หญิงดำรงฐานะ ‘ข้าทาส’ (slave) คนหนึ่งสั่งการ ล่วงล้ำ และควบคุม อีกคนสมยอม ถูกล่วงละเมิด และสูญเสียอิสรภาพ แต่เมื่อเรื่องราวดำเนินไปถึงจุดหนึ่ง หนังกลับเริ่มสะท้อนให้เห็นแง่มุมหักเหว่า มาโซคิสท์นั้นใช่จะไร้ซึ่งพลังอำนาจอย่างสิ้นเชิง ส่วนซาดิสท์ก็ใช่จะดำรงสถานะของผู้ ‘คุกคาม’ เสมอไป

ลี ฮอลโลเวย์ (แม็กกี้ จิลเลนฮาล) เป็นหญิงสาวที่กระหายการถูกควบคุมภายใต้อำนาจแห่งเพศพ่อและคำสั่ง เสียงบรรยายของเธอบอกเล่าถึงความรู้สึกลังเลที่จะต้องโบกมือลาโรงพยาบาลบ้าอันเต็มไปด้วยกฎระเบียบเข้มงวด (อาหารเช้าตอนแปดโมง เข้าชั้นเรียนตอนบ่ายสอง บำบัดจิตตอนสี่โมงเย็น เข้านอนตอนสี่ทุ่ม) เนื่องจาก “ชีวิตในนั้นช่างเรียบง่าย” หรือพูดอีกนัยหนึ่งคือ สอดคล้องกับบุคลิกที่อ่อนปวกเปียก (submissive) ของเธอ แรงโหยหาดังกล่าวส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากการที่พ่อของเธอ ผู้ชายเพียงคนเดียวในบ้าน เป็นหัวหน้าครอบครัวซึ่งอ่อนแอ ไร้สมรรถภาพ เขาเพิ่งจะถูกไล่ออกจากงานและหันกลับมาดื่มเหล้าเมามายอีกครั้ง ทางด้านแม่ของเธอนั้น นับแต่ลีออกจากโรงพยาบาลมา ก็แสดงความเป็นห่วงเป็นใยและคอยสอดส่อง ระแวดระวังเกินกว่าเหตุ จนเริ่มทำให้ลูกสาวอึดอัด

ลีมักจะพกพากล่องบรรจุอุปกรณ์สำหรับใช้ทำร้ายตนเอง พร้อมสรรพด้วยเครื่องปฐมพยาบาล ติดตัวไว้ตลอดเวลา เพื่อว่าเมื่อใดก็ตามที่รู้สึกเจ็บปวดภายใน เธอจะได้สามารถจารึกบาดแผลลงบนเนื้อหนังให้เห็นเป็นรูปธรรม ลีทำเช่นนี้มาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมและไม่เคยมีใครจับได้ จนกระทั่งวันหนึ่งเธอเผลอ ‘เฉือน’ เนื้อตัวเองลึกเกินไป

มาร์โซคิสท์ชื่นชอบความเจ็บปวดเพราะมันช่วยตอกย้ำถึงการยังดำรงอยู่ของตัวตน (selfhood) ในทางจิตวิทยา มนุษย์ทุกคนไม่เพียงปรารถนาที่จะแยกตนเป็นอิสระจากผู้อื่นเท่านั้น หากแต่ยังโหยหาการยอมรับในฐานะปัจเจกชนอีกด้วย ดังนั้นมนุษย์จึงไม่อาจปฏิเสธข้อเท็จจริงที่ว่าพวกเขา/เธอจำเป็นต้อง ‘พึ่งพา’ บุคคลอื่นเพื่อให้ได้มาซึ่งการยอมรับ พัฒนาการที่สมบูรณ์จะทำให้ตัวตนทางจิตของมนุษย์ผู้นั้นแข็งแกร่งพอจะแยกตนเองออกจากผู้อื่นและยอมรับผู้อื่นในความเสมอภาคไปพร้อมๆกัน S/M ถือเป็นผลพวงอันเนื่องมาจากความล้มเหลวของขบวนการข้างต้น กล่าวคือ ขณะที่มาร์โซคิสท์ล้มเหลวในการแยกตนให้เป็นอิสระและโหยหาการยอมรับจากบุคคลผู้ทรงอำนาจ ซาดิสท์กลับล้มเหลวที่จะคำนึงถึงบุคคลอื่นในฐานะปัจเจกชนผู้เท่าเทียมกัน จนนำไปสู่พฤติกรรมครอบงำ (domination) ฝ่ายหนึ่งพึ่งพาบุคคลอื่นอย่างสิ้นเชิง ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งปฏิเสธการพึ่งพาและพยายามแยกตนเป็นอิสระด้วยการมองบุคคลอื่นเป็นเพียงวัตถุสิ่งของ (เธอเป็นของฉัน ฉันควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างในร่างกายเธอ)

อี. เอ็ดเวิร์ด เกรย์ (เจมส์ สเปเดอร์) เป็นทนายความซึ่งกระหายอำนาจและการควบคุม บงการ ชีวิตของเขาเป็นระเบียบและถูกล้อมกรอบปิดกั้นไม่ต่างจากสวนขนาดจิ๋วในตู้กระจกที่เขาบำรุงรักษาอย่างพิถีพิถัน หนังให้รายละเอียดทางภูมิหลังเกี่ยวกับตัวเขาค่อนข้างน้อย (เนื่องจากเรื่องราวถูกเล่าผ่านมุมมองของมาโซคิสท์) แต่ทันทีที่อดีตภรรยาบุกเข้ามาวีนแตกในออฟฟิศ ใช้เท้าบดขยี้เสื้อคลุมของเขา และเรียกร้องให้เขาเซ็นทะเบียนหย่าโดยเร็ว คนดูก็ไม่แปลกใจว่า หนึ่ง เหตุใดชีวิตแต่งงานของพวกเขาถึงไปไม่รอด และสอง ทำไมเอ็ดเวิร์ดจึงว่าจ้างหญิงสาวหัวอ่อนที่ไม่กล้ามีปากมีเสียง ไม่เก่งกาจ อีกทั้งยังตกอยู่ในสภาพขาดๆเกินๆอย่างลีมาเป็นเลขานุการ

บทหนังค่อยๆเผยให้เห็นว่าลีกับเอ็ดเวิร์ดนั้นเกิดมาคู่กันเหมือนกิ่งทองใบหยก แรกเริ่มทีเดียวทั้งสองดำเนินความสัมพันธ์ (เกือบจะ) เหมือนเจ้านายกับลูกจ้างทั่วๆไป ยกเว้นเพียงรายละเอียดเล็กๆน้อย เช่น ดูเหมือนเธอจะยินดีปฏิบัติตามคำสั่งทุกอย่าง กระทั่งการปีนลงไปคุ้ยถังขยะเพื่อค้นหาเอกสารให้เขา จากนั้นไม่นานเขาก็เริ่มลงโทษเธอที่พิมพ์จดหมายผิดด้วยการ ‘ตีก้น’ และแผ่อิทธิพลล่วงล้ำไปยังชีวิตส่วนตัวด้านอื่นๆ เขาสั่งให้เธอเปลี่ยนสไตล์การแต่งตัวเสียใหม่ กำหนดรายการอาหาร เลิกนิสัยน่ารำคาญบางอย่าง หยุดทำร้ายตัวเอง และประกาศอิสรภาพจากภาวะพึ่งพิงมารดาผู้ขับรถมาจอดรอรับเธอกลับบ้านทุกวัน ลีเล่าถึงความรู้สึกผ่านเสียงบรรยาย ขณะเดินตัดสวนสาธารณะกลับบ้านในวันที่สัมพันธภาพระหว่างบุคคลทั้งสองก้าวล้ำไปมากกว่าการเป็นเจ้านายกับเลขาฯว่า “เนื่องจากเขาเป็นคนอนุญาต ฉันจึงรู้สึกเหมือนตัวเองกำลังตกอยู่ในอ้อมกอดของเขา เหมือนมีเขามาเดินอยู่เคียงข้าง”

ลีเปรียบดังก้อนดินที่เอ็ดเวิร์ดกำลังปั้นประดิษฐ์ให้เป็นรูปเป็นร่างและอ้างสิทธิในความเป็นเจ้าของ

อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างระหว่าง ลี ฮอลโลเวย์/คนไข้โรคจิต กับ ลี ฮอลโลเวย์/เลขานุการ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่รูปลักษณ์ภายนอกเท่านั้น หากยังรวมไปถึงความคิดภายในอีกด้วย สำนึกแห่งตัวตนที่ชัดเจนขึ้นทำให้เธอเริ่มเล่นบทบาท ‘รุกไล่’ เอ็ดเวิร์ด เมื่อเขาพยายามจะถอนตัวจากเกม S/M เธอจงใจพิมพ์คำผิด หยิบไส้เดือนใส่ในซองจดหมายให้เขา และทำท่าโก้งโค้งหน้าโต๊ะทำงานอย่างเย้ายวน เพื่อสื่อนัยยะว่าเธอปรารถนาที่จะ ‘ถูกลงโทษ’ แต่การตอบสนองย่อมหมายถึงการยอมรับว่าเขาพึ่งพิงเธอมากพอๆกับเธอพึ่งพิงเขา ด้วยเหตุนี้ เอ็ดเวิร์ดจึงกระทำในสิ่งที่ซาดิสท์ทั่วไปจะเลือกกระทำในสถานการณ์แบบเดียวกัน นั่นคือ ขัดขืน

หลังจากตกอยู่ในฐานะผู้ถูกกระทำมาตลอด ลีก็ตัดสินใจลุกขึ้นปฏิวัติชีวิต แทนที่จะปล่อยมันให้ล่องลอยไปตามการชักนำของคนอื่นเช่นเคย เธอวิ่งหนีจากพิธีวิวาห์กับผู้ชายนิสัยดีที่หลงรักเธอไปสารภาพรักกับผู้ชายนิสัยไม่ปรกติที่เธอรักและช่วยให้เธอได้ค้นพบตัวเอง พร้อมกันนั้นก็พิสูจน์ให้เขาเห็นว่า เธอเป็นบริวารผู้ภักดีขนาดไหนด้วยการปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้านายอย่างเคร่งครัด และเมื่อหนังดำเนินมาถึงฉากตอนที่เอ็ดเวิร์ดอุ้มลีไปชำระล้างร่างกายที่บ้าน ก่อนทั้งสองจะร่วมรักอย่างนุ่นนวลบนเตียงท่ามกลางแสงเทียนสุกสว่างและเสียงเพลงโรแมนติก คนดูก็เข้าใจได้ในทันทีว่า เธอหาใช่ ‘ข้าทาส’ ของเขาอีกต่อไปไม่ หากแต่เป็นมนุษย์ผู้เท่าเทียมที่น่ายกย่อง เทิดทูน ลีประสบความสำเร็จในการเจาะทะลุกำแพงซึ่งเอ็ดเวิร์ดสร้างขึ้นล้อมรอบตัวเอง คำถามของเธอเกี่ยวกับภูมิหลังของเขาได้รับคำตอบในที่สุด

Secretary ปิดฉากลงในสไตล์เดียวกับหนังรักทั่วไป ลีกับเอ็ดเวิร์ดแต่งงานและใช้ชีวิตร่วมกันอย่างมีความสุข เธอไม่ได้โหยหาการยอมรับจากผู้ทรงอำนาจอีกต่อไป ส่วนเขาก็กล้าจะเปิดรับผู้อื่นเข้าสู่โลกส่วนตัวโดยไม่ใช้กำลังครอบงำ… และ S/M ก็กลายเป็นแค่พริกไทสำหรับเหยาะเพิ่มรสชาติให้แก่ชีวิตทางเพศของพวกเขา เหมือนแฟนตาซีที่ประกาศขายในร้าน sex shop และหนังโป๊แบบ xxx

จาก The Supremes สู่ The Dreams



ในช่วงทศวรรษ 1960 The Supremes ได้ชื่อว่าเป็นกลุ่มนักร้องแอฟริกัน-อเมริกันที่ประสบความสำเร็จสูงสุด มีแผ่นซิลเกิลขึ้นอันดับหนึ่งบิลบอร์ดถึง 12 เพลงด้วยกันระหว่างปี 1964 ถึง 1969 และที่สำคัญสูงสุด คือ สมาชิกทั้งหมดของวงนี้ยังเป็นผู้หญิงล้วน! ซึ่งนั่นถือเป็นความมหัศจรรย์เล็กๆ ในยุคที่ผู้หญิงและคนผิวดำยังเป็นเพียงชนกลุ่มน้อยที่ปราศจากสิทธิเสรีภาพในสังคมชาย (ผิวขาว) เป็นใหญ่ ความโด่งดังของ The Supremes หนึ่งในทรัพย์สินทรงคุณค่าสูงสุดของ โมทาวน์ เรคคอร์ด (นอกจาก The Temptations, สตีวี่ วันเดอร์, มาร์วิน เกย์, The Jackson 5 และ The Miracles) ส่งผลให้ดนตรีโซลและอาร์แอนด์บีได้รับการบุกเบิกสู่ตลาดวงกว้างทั้งในอเมริกาและทั่วโลก แม้หลายคนจะกระแนะกระแหนว่าดนตรีของพวกเธอห่างไกลจากรากเหง้าของคนผิวดำไปมากก็ตาม

ฟลอเรนซ์ บัลลาร์ด เริ่มก่อตั้งวง The Primettes ขึ้นในปี 1958 เมื่อเธอได้พบและรู้จักกับ มิลตัน เจนกิ้นส์ ผู้จัดการวงบอยแบนด์แห่งเมืองดีทรอยท์ชื่อ The Primes ซึ่งแนะนำให้เธอจัดตั้งวงเกิร์ลกรุ๊ปขึ้นบ้าง ด้วยเหตุนี้ บัลลาร์ดผู้มีความสามารถในการร้องเพลงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงเรียกเพื่อนซี้ แมรี่ วิลสัน มาร่วมปีนบันไดฝัน จากนั้นวิลสันก็ชักชวนเพื่อนสาวร่วมชั้นเรียน ไดอาน่า รอส มาเข้าร่วมกลุ่ม ก่อนเจนกิ้นส์จะเสนอให้ แบตตี้ แม็คโกลว แฟนสาวของ พอล วิลเลี่ยมส์ สมาชิกวง The Primes มาเติมเต็มจนครบสี่ดรุณี แต่หลังจากเวลาผ่านไปเพียงสองปี บาร์บาร่า มาร์ติน ก็ต้องเข้ามาแทนที่แม็คโกลว ซึ่งตัดสินใจลาออกเพื่อไปศึกษาต่อ

เป้าหมายหลักของ The Primettes คือ การได้เซ็นสัญญาเป็นนักร้องในสังกัด โมทาวน์ เรคคอร์ด พวกเธอเคยไปทดสอบอัดเสียงกับ เบอร์รี่ กอร์ดี้ หัวหน้าค่ายเพลง อยู่หลายครั้ง แต่กลับถูกปฏิเสธเนื่องจากเขาเห็นว่าพวกเธอยังเด็กเกินไปและขาดประสบการณ์ แต่แล้วในปี 1961 กอร์ดี้ก็ทบทวนความคิดใหม่ และตัดสินใจเซ็นสัญญาให้พวกเธอเข้าสังกัดโมทาวน์ด้วยข้อแม้ว่าวงจะต้องเปลี่ยนชื่อเสียใหม่ (ในตอนนั้นวง The Primes ก็เซ็นสัญญากับโมทาวน์แล้ว และเปลี่ยนชื่อวงเป็น The Temptations) บัลลาร์ดเลือกชื่อ The Supremes ซึ่งวิลสันกับรอสไม่ค่อยชอบใจนักในตอนแรกเพราะเห็นว่ามันฟังดู “แมนๆ” เกินไป แต่กอร์ดี้กลับชอบและชื่อก็ติดหู แต่เพียงไม่กี่เดือนหลังจาก The Supremes เซ็นสัญญาเข้าสังกัดโมทาวน์ บาร์บาร่า มาร์ติน ก็ตัดสินใจลาออกเพื่อไปเริ่มต้นสร้างครอบครัว ทำให้วงเหลือสมาชิกทั้งหมดเพียง 3 คน

ระหว่างช่วงปี 1961 ถึง 1963 The Supremes ออกซิงเกิล 8 แผ่น แต่พวกมันกลับไต่ขึ้นไม่ถึงชาร์ต Top 20 เลยสักแผ่น จนถูกตั้งสมญานามว่า “no-hit Supremes” ด้วยเหตุนี้ สามสาวจึงพยายามรับจ็อบทุกอย่างที่พอจะหาได้ตลอดช่วงเวลานั้น ไม่ว่าจะเป็นงานร้องเสียงประสาน หรือเสียงปรบมือให้นักร้องดังในค่ายคนอื่นๆ อย่าง มาร์วิน เกย์ และ The Temptations ระหว่างช่วงต้นๆ ของอาชีพนักร้องในสังกัด สามสาวจะสลับกันทำหน้าร้องนำ โดย แมรี่ วิลสัน จะเน้นร้องเพลงช้า ฟลอเรนซ์ บัลลาร์ด จะเน้นร้องเพลงจังหวะคึกคัก ออกแนวดนตรีโซล ส่วน ไดอาน่า รอส จะเน้นร้องเพลงป็อปเอาใจตลาด

โชคเริ่มเข้าข้าง The Supremes เมื่อวง The Marvelettes ปฏิเสธไม่ยอมร้องเพลง Where Did Our Love Go ของ ฮอลแลนด์-ดูเซียร์-ฮอลแลนด์ (ทีมแต่งเพลงอันประกอบไปด้วย ลามอนท์ ดูเซียร์ และสองพี่น้อง ไบรอัน ฮอลแลนด์ กับ เอ็ดเวิร์ด ฮอลแลนด์ จูเนียร์) โดยปรกติแล้ว The Supremes ไม่นิยมร้องเพลง “มือสอง” ของใคร แต่เนื่องจากสถานการณ์ “อดอยากปากแห้ง” ในตอนนั้น พวกเธอจึงไม่มีทางเลือกมากนัก ผลปรากฏว่าเพลงดังกล่าวกลับพุ่งทะยานขึ้นสู่อันดับหนึ่งในเดือนสิงหาคมปี 1964 นับเป็นซิงเกิลฮิตอันดับหนึ่งซิงเกิลแรกของวง The Supremes ก่อนจะตามมาอีกเป็นกระบุงโกย เช่น Baby Love, Stop! In the Name of Love, Back in My Arms Again และ You Can’t Hurry Love

แต่เฉกเช่นตัวอย่างอีกนับล้าน ชื่อเสียงเงินทองย่อมนำไปสู่ปัญหาและความขัดแย้ง เมื่อ เบอร์รี่ กอร์ดี้ เริ่มสร้างสัมพันธ์ลึกซึ้งกับ ไดอาน่า รอส พร้อมทั้งยกตำแหน่งนักร้องนำให้เธอ จนทำให้เกิดรอยร้าวระหว่างรอสกับอีกสองสาว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฟลอเรนซ์ บัลลาร์ด ผู้ถูกผลักไปเป็นแค่นักร้องแบ็คอัพเพื่อหลีกทางให้รอส ซึ่งมีน้ำเสียง “ตลาด” เหมาะกับเพลงป็อป ได้ฉายแสงเพียงลำพัง (ไม่นานต่อมาวงก็ถูกตั้งชื่อใหม่เป็น Diana Ross & the Supremes) ความหดหู่จากการถูกลดคุณค่าในวงที่เธอเป็นคนเริ่มก่อตั้งขึ้นทำให้บัลลาร์ดเริ่มดื่มเหล้าอย่างหนัก ส่งผลให้น้ำหนักของเธอเพิ่มมากขึ้นจนไม่สามารถสวมชุดหลายชุดขึ้นแสดงบนเวทีได้

ระหว่างช่วงต้นปี 1967 บัลลาร์ดมักจะมาแสดงสายหลายครั้งหรือไม่ก็ไม่โผล่หน้ามาเลย เธอถูกแทนที่ (ในการแสดงสด) โดย มาร์ลีน บาร์โรว์ หนึ่งในสมาชิกวง The Andantes ของโมทาวน์ ก่อนกอร์ดี้จะเซ็นสัญญาให้ ซินดี้ เบิร์ดซอง สมาชิกวง Patti LaBelle & the Blue Belles ซึ่งมีใบหน้าละม้ายคล้ายบัลลาร์ด มาเป็นนักร้องหลักแทนบัลลาร์ด ผู้ถูกไล่ออกจากวงหลังการแสดงที่ลาสเวกัสในเดือนมิถุนายน 1967 พร้อมเงินก้อนจำนวน 139,804 ดอลลาร์เป็นค่าปลอบขวัญ บัลลาร์ดพยายามจะบินเดี่ยวกับค่าย เอบีซี เรคคอร์ด แต่ประสบความล้มเหลว (ตรงกันข้าม รอสกลับกลายเป็นนักร้องหญิงเดี่ยวชื่อดังหลังแยกตัวออกจาก The Supremes ในปี 1970 เธอเป็นเจ้าของเพลงฮิตมากมายอย่าง Touch Me in the Morning และ Endless Love) เช่นเดียวกับความพยายามของเธอที่จะฟ้องร้อง โมทาวน์ เรคคอร์ด เพื่อเรียกค่าเสียหาย 8.7 ล้านเหรียญ โดยอ้างว่ากอร์ดี้กับรอสวางแผนกันบีบเธอออกจากวง สุดท้ายบัลลาร์ดก็เริ่มดำดิ่งสู่ความยากจนข้นแค้น ก่อนจะจบชีวิตลงในเดือนกุมภาพันธ์ปี 1976 ด้วยวัยเพียง 32 ปี

คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า Dreamgirls คือ การแก้แค้นของ ฟลอเรนซ์ บัลลาร์ด เมื่อตัวละครที่ได้แรงบันดาลใจมาจากชีวิตเธอ ทั้งในเวอร์ชั่นบรอดเวย์และฮอลลีวู้ด กลายเป็นโฟกัสหลักของเรื่องราว แถมนักแสดงที่มารับบทดังกล่าวยังขโมยซีนไปครองแบบหมดจด (ละครเพลงเปิดแสดงทั้งหมด 1522 รอบ ได้รับเสียงชื่นชมจาก แมรี่ วิลสัน แต่ ไดอาน่า รอส กลับไม่ชอบใจและปฏิเสธที่จะไปดูการแสดง) เจนนิเฟอร์ ฮอลลิเดย์ คว้ารางวัลโทนี่มาได้จากบท เอฟฟี่ ไวท์ ในเวอร์ชั่นละครเวที ส่วน เจนนิเฟอร์ ฮัดสัน (ฟ้าลิขิตให้พวกเธอสองคนมีชื่อเดียวกัน) ผู้รับบทเอฟฟี่ในเวอร์ชั่นภาพยนตร์ ก็กำลังกรุยทางสู่เวทีออสการ์อย่างสง่างาม