วันจันทร์, ธันวาคม 20, 2564

Roma: นอกกรอบชีวิต

ช็อตแรกของ Roma เป็นภาพพื้นปูกระเบื้องที่กล้องถูกแช่นิ่งๆ อยู่นานสามนาที ขณะผู้กำกับ/ผู้กำกับภาพ อัลฟอนโซ คัวรอน ค่อยๆ แต่งเติมรายละเอียด ความเคลื่อนไหว และมิติให้กับภาพเข้าไปทีละชั้น เริ่มจากน้ำผสมฟองสบู่ที่ราดลงมาบนพื้นอย่างเป็นจังหวะดุจคลื่นชายหาด (ซึ่งจะเชื่อมโยงไปยังฉากช่วยชีวิตเด็กๆ ในช่วงไคล์แม็กซ์ท้ายเรื่อง) จากนั้นน้ำที่เจิ่งนองอยู่บนพื้นก็มองเห็นเป็นภาพสะท้อนของท้องฟ้าผ่านขอบเพดาน ดูเหมือนกรอบหน้าต่าง ก่อนสักพักจะมีเครื่องบินแล่นผ่านไป ช็อตดังกล่าวนอกจากจะเต็มเปี่ยมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ เล่นสนุกกับมุมมอง โฟร์กราวด์/แบ็คกราวด์ และสร้างชีวิตชีวาให้กับช็อตโดยไม่จำเป็นต้องเคลื่อนกล้องแล้ว มันยังถือเป็นช็อตเกริ่นนำเข้าสู่เรื่องราวที่เหมาะเจาะกับภาพรวมของหนังอีกด้วย เมื่อโลกในมุมกว้างถูกสะท้อนผ่านกิจวัตรในมุมแคบและเป็นส่วนตัว

Roma เป็นเหมือนบทบันทึกความทรงจำของคัวรอนเกี่ยวกับแม่บ้านที่เคยดูแลเขาในช่วงวัยเด็ก การได้ฟังเรื่องราวชีวิตส่วนตัวของเธอซึ่งเขาไม่เคยรู้มาก่อนทำให้คัวรอนตระหนักว่ามนุษย์เรามักหมกมุ่นอยู่กับตัวเอง กับปัญหาตรงหน้า จนบางครั้งอาจลืมไปว่าโลกรอบข้างยังรุ่มรวยบริบทอื่นๆ อีกมากมาย ขึ้นอยู่กับว่าเราจะสังเกตเห็น หรือให้ความสนใจพวกมันแค่ไหน เช่นเดียวกับภาพสะท้อนของน้ำบนพื้นกระเบื้องที่มีเครื่องบินแล่นผ่านไป ขณะเรากำลังก้มหน้าก้มตาดำเนินภารกิจประจำวันให้เสร็จสิ้น (เมื่อกล้องเลื่อนขึ้นจับภาพในมุมกว้าง คนดูก็จะเห็นว่าเรากำลังนั่งดูการทำความสะอาดทางเดินรถในบ้านหลังหนึ่ง)

เครื่องบิน ซึ่งแล่นผ่านท้องฟ้า (มันปรากฏให้เห็นอีกสองสามครั้ง รวมถึงช็อตสุดท้ายของหนัง) อาจเป็นสัญลักษณ์แทนช่องว่างอันกว้างไกลระหว่างชนชั้นในเม็กซิโกช่วงยุค 70 ซึ่งเป็นฉากหลังของหนัง (ชื่อหนังอ้างอิงถึงย่านชานเมืองของกรุง เม็กซิโก ซิตี้ เคยเป็นแหล่งพักอาศัยของเหล่าขุนนางร่ำรวย ชนชั้นนำ และชาวยุโรปในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ซึ่งต้องการหลบหนีจากความแออัดของตัวเมือง ก่อนเมืองจะเริ่มขยายจนเหล่าเศรษฐีต้องย้ายหนีไปย่านใหม่ในช่วงทศวรรษ 1940 และก็กลายเป็นแหล่งที่พักของบรรดาชนชั้นกลางในช่วงปลาย 60 พร้อมกับการมาถึงของอาคารพาณิชย์ทันสมัย) เครื่องบินอาจเป็นตัวแทนของสถานะทางชนชั้นที่ คลีโอ (ยาลิทซา อปาริซิโอ) ไม่มีวันก้าวข้ามไปได้ หรือบางทีอาจเป็นแค่วิธีการของคัวรอนในการบอกกล่าวกับคนดูว่าชีวิตเต็มไปด้วยเรื่องราวที่กำลังเกิดขึ้นพร้อมกันมากมาย แม้กระทั่งในช่วงเวลาที่คุณกำลังหมกมุ่นอยู่กับการดิ้นรนส่วนตัว เครื่องบินเป็นภาพสะท้อนให้เห็นโลกในมุมกว้าง (มหภาค) ที่ครอบอยู่เหนือชีวิตของตัวละครซึ่งหนังเลือกหยิบจับมานำเสนออีกที (จุลภาค)

นี่เป็นเทคนิคที่คัวรอนเคยใช้ได้ผลอย่างงดงามมาแล้วในหนังเม็กซิกันเรื่องก่อนหน้าของเขา นั่นคือ Y Tu Mama Tambien ผ่านภาพและเสียงบรรยายที่จงใจ ‘ดึง’ ผู้ชมออกจากเหตุการณ์ที่กำลังดำเนินอยู่ โดยกล้องมักจะเคลื่อนไหวอย่างเป็นอิสระจนเกือบจะเป็นเอกเทศ เช่น ฉากหนึ่งในร้านอาหาร ขณะสามตัวละครหลักกำลังพูดคุยกันอย่างออกรสออกชาติ กล้องกลับล่องลอยตามหญิงชาวบ้านคนหนึ่งเข้าไปในห้องครัว จับภาพคนงานกำลังล้างจาน และหญิงชราคนหนึ่งกำลังเต้นรำอย่างสนุกสนาน นอกจากนี้หลายครั้งเสียงบรรยายในหนังก็พูดเล่าเหตุการณ์ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับเหล่าตัวละครเอกเลย อาทิ เรื่องคนงานก่ออิฐคนหนึ่งถูกรถชนตายเพราะไม่มีสะพานลอยให้ข้าม แต่สำหรับ Roma คัวรอนค่อนข้างเบามือกว่าเดิมและไม่เรียกร้องความสนใจเท่าด้วยการใช้เสียงประกอบ ซึ่งถูกขับเน้นให้มีบทบาทสำคัญอย่างมากในหนัง นำเสนอความเป็นไปนอกเฟรมภาพ ไม่ว่าจะเป็นเสียงเด็กๆ เล่นสนุกอยู่นอกบ้าน เสียงวงโยธวาทิต เสียงหมาเห่า ฯลฯ ทั้งหมดล้วนช่วยให้คนดูตระหนักถึงชีวิตอื่นๆ ที่กำลังดำเนินอยู่นอกเหนือจากเหตุการณ์ที่เราเห็นตรงหน้า

สองฉากสำคัญใน Roma ที่ตอกย้ำแนวคิดดังกล่าวได้ชัดเจนว่าขณะเราดิ้นรนใช้ชีวิต รับมือกับอุปสรรคต่างๆ ด้วยความยากลำบาก โลกภายนอกก็ยังคงหมุนไปโดยไม่ใส่ใจความรู้สึกของเราสักเท่าไหร่ ฉากแรกเป็นตอนที่คลีโอเดินทางไปเลือกซื้อเตียงเด็กกับคุณยายเทเรซา (เวโรนิกา การ์เซียระหว่างที่ปัญหาการเมืองกำลังปะทุถึงจุดเดือด เมื่อเหล่า “ลูกเสือชาวบ้านบุกสังหารหมู่กลุ่มผู้ประท้วงรัฐบาลอย่างโหดเหี้ยม โดยกล้องได้เคลื่อนหนีจากการต่อรองราคาเตียงเด็กไปจับภาพความโกลาหลบนท้องถนนเบื้องล่างผ่านบานหน้าต่าง ในแง่หนึ่งมันย่อส่วนวิกฤติที่คลีโอกำลังเผชิญให้หดเล็กน้อยลง เมื่อมองจากมุมกว้างผ่านความขัดแย้งทางสังคมและการเมืองของเม็กซิโกยุคนั้น ผู้คนโดนยิงตายกลางถนน ความเหลื่อมล้ำเริ่มถ่างกว้างขึ้นเรื่อยๆ รวมเลยไปถึงปัญหาเรื่องการกระจายที่ดินทำกิน (ถูกเอ่ยอ้างถึงผ่านบทสนทนาเมื่อครอบครัวเดินทางไปฉลองคริสต์มาสที่บ้านญาติต่างจังหวัด)

อีกฉากเป็นตอนที่โซเฟีย (มารีนา เดอ ทาวีรา) บอกความจริงกับลูกๆ ในร้านอาหารว่าพ่อของพวกเขาจะไม่กลับมาอีกแล้ว จากนั้นทั้งหมดก็ออกมานั่งกินไอติมบนม้านั่งหน้าร้านอย่างเศร้าซึม ขณะใกล้ๆ กันในแบ็คกราวด์เป็นภาพความชื่นมื่นของงานแต่ง ราวกับโลกกำลังเยาะหยันชะตากรรมของพวกเขา หรืออาจจะแค่บอกว่ามันหาได้ใส่ใจ หรือรับรู้ในทุกข์ระทมดังกล่าว ครอบครัวหนึ่งดำดิ่งสู่ความมืดมน ขณะที่อีกครอบครัวหนึ่งกำลังสุขสันต์ คนๆ หนึ่งอาจผิดหวังในความรัก ถูกทอดทิ้งอย่างไม่ใยดี และสูญเสียลูกในท้อง ขณะที่อีกคนนั่งกอดศพชายคนรักอยู่ข้างถนน นั่นคือสัจธรรมที่เราค้นพบเมื่อเรียนรู้ที่จะมองข้ามกรอบซึ่งล้อมรอบเราอยู่ Roma อาจพาคนดูไปรู้จักชีวิตส่วนตัวด้านหนึ่งของตัวละครคนเล็กคนน้อยในสังคม แต่ในเวลาเดียวกันก็ตอกย้ำให้เห็นว่ายังมีอีกหลายๆ ชีวิตที่รอการค้นพบและเข้าอกเข้าใจ นี่เป็นเพียงหนึ่งในเรื่องราวอีกนับร้อยนับพัน (อีกหนึ่งช็อตที่สวยงามและให้อารมณ์คล้ายคลึงกัน คือ เมื่อคลีโอขึ้นไปซักผ้าบนดาดฟ้าแล้วกล้องค่อยๆ ถอยออกมาให้เห็นภาพมุมกว้างว่าคนรับใช้บ้านอื่นๆ ก็กำลังทำกิจวัตรแบบเดียวกัน)

ความแตกต่างทางชนชั้นถูกนำเสนอให้เห็นอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ได้เน้นย้ำเพื่อการบีบคั้นทางอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นความแตกต่างระหว่างบ้านชนบทอันใหญ่โตของบรรดาผู้มีอันจะกิน ล้อมรอบด้วยท้องทุ่งกว้างขวาง และภายในบ้านหลังโตประดับตกแต่งผนังด้วยบรรดาหัวสุนัขสตาฟซึ่งดูสยดสยองและน่าขบขันในความพิลึกพิลั่นไปพร้อมๆ กัน กับกระต๊อบโกโรโกโสของเฟอร์มิน (จอร์เก แอนโตนีโอ กัวร์เรโร) ในหมู่บ้านที่เต็มไปด้วยฝุ่นละออง หรือถนนดินโคลนเฉอะแฉะในชุมชนแออัด ภาพการฉลองคริสต์มาสของเหล่าเจ้านายบนบ้านกับภาพการสังสรรค์ของเหล่าคนงานที่ชั้นล่างท่ามกลางสัตว์เลี้ยงและเป็ดไก่ สาวใช้สองคนจะพูดคุยกันในช่วงเวลาส่วนตัวด้วยภาษาชนเผ่า (มิกซ์เต็กขณะสื่อสารกับนายจ้างเป็นภาษาสเปน ห้องพักของพวกเธอถูกแยกออกจากเรือนหลัก และถึงแม้เด็กๆ จะรักคลีโอเหมือนเป็นสมาชิกในครอบครัว (พวกเขาบอกรักเธอก่อนเข้านอน) แต่ลำดับชั้นภายในบ้านยังถูกดำรงไว้โดยตลอด โซเฟียอาจจะช่วยเหลือคลีโอด้วยการพาไปฝากครรภ์กับหมอคนสนิท แต่เธอก็พร้อมจะระบายอารมณ์ใส่สาวใช้เหมือนเป็นกระโถนท้องพระโรง เช่น เมื่อคลีโอปล่อยให้ปาโก (คาร์ลอส เพรัลตา) มาแอบฟังบทสนทนาของเธอกับเพื่อนทางโทรศัพท์ หรือเมื่อโดนสามีเอ็ดเรื่องอึสุนัขตรงทางเดินรถ โซเฟียก็มาดุด่าคลีโออีกทอดหนึ่งที่ไม่ยอมทำความสะอาด มันเป็นเหมือนภาพสะท้อนของลำดับชั้นทางอำนาจที่ชัดเจน โดยมีผู้ชายครองตำแหน่งอยู่ยอดยอดสุดของพีระมิด

ความสัมพันธ์อันซับซ้อนระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ชนชั้นกลางกับชนชั้นล่าง พี่เลี้ยงกับเด็กๆ ถูกถ่ายทอดอย่างลุ่มลึกในฉากช่วงต้นเรื่อง เมื่อทุกคนในครอบครัวมานั่งดูทีวีร่วมกันในห้องนั่งเล่น คลีโอเดินมาร่วมวงด้วย แต่เธอไม่ได้นั่งบนโซฟาเทียบเท่าคนอื่นๆ เธอนั่งลงที่พื้นข้างโซฟา แม้ว่าในระหว่างนั้นเด็กคนหนึ่งจะเอื้อมแขนมาโอบเธออย่างรักใคร่ ก่อนสุดท้ายโซเฟียจะใช้ให้เธอไปชงชามาเสิร์ฟคุณผู้ชาย คลีโอไม่เคยแสดงท่าทีอึดอัดคับข้องใจ โต้เถียง หรือใส่อารมณ์ เธอก้มหน้าทำหน้าที่ตามบทบาท ความหวาดกลัวเดียวของเธอ คือ การถูกไล่ออก

ถึงแม้ความสัมพันธ์ระหว่างคลีโอกับโซเฟียจะมีเส้นแบ่งทางชนชั้นและสถานะทางสังคมกั้นอยู่อย่างเห็นได้ชัด ไม่เหมือนความสัมพันธ์ระหว่างคลีโอกับเด็กๆ ที่ยังไร้เดียงสาและบริสุทธิ์ แต่หนังกลับเชื่อมโยงตัวละครทั้งสองให้ต้องตกอยู่ในสถานการณ์ใกล้เคียงกันจากน้ำมือของเพศชาย ซึ่งพร้อมจะสลัดทิ้งความรับผิดชอบเพื่อไปแสวงหาความสุขส่วนตัว ขณะเดียวกันความเป็นชายในหนังก็ถูกถ่ายทอดในลักษณะ เป็นพิษทั้งแบบเป็นรูปธรรมตรงไปตรงมาและเชิงสัญลักษณ์ คนดูจะเห็นเฟอร์มินฝึกท่าป้องกันตัวในสภาพเปลือยเปล่า โชว์ความเป็นชาย ความแข็งแกร่ง ซึ่งต่อมาถูกนำมาใช้ในสร้างความรุนแรงและการประหัตประหาร ขณะที่ความเป็นชายของแอนโตนีโอ ซึ่งเราแทบจะไม่ได้เห็นหน้าชัดๆ ตลอดทั้งเรื่องถูกนำเสนอผ่านรถฟอร์ดกาแล็กซีที่ใหญ่โตคับทางเดินรถ เป็นเหมือนภาพแทนการแสดงพลังอำนาจผ่านทางวัตถุ อวดอ้างความสำคัญ ความยิ่งใหญ่ของตน ฉะนั้นจึงไม่แปลกที่รถคันดังกล่าวจะถูกโซเฟียทำลายทิ้งในท้ายที่สุด

คัวรองอาจสร้าง Roma ขึ้นจากความทรงจำในวัยเด็ก แต่เขาไม่ได้ปรารถนาที่จะหวนไห้ หรือกระตุ้นอารมณ์ถวิลหาอดีตแต่อย่างใด ดังจะเห็นได้จากวิธีการถ่ายทอดเรื่องราวของเขาผ่านเทคนิคลองเทค การถ่ายภาพแบบชัดลึก ใช้เลนส์มุมกว้าง ตัดบทบาทของดนตรีประกอบ และจำกัดการใช้ภาพโคลสอัพ ซึ่งแน่นอนทั้งหมดช่วยให้มันดูน่าตื่นตะลึงในแง่ความเป็นภาพยนตร์ แต่ในเวลาเดียวกันก็อาจบั่นทอนการบีบคั้นทางอารมณ์ลงไม่น้อยเมื่อเทียบกับหนังเล่าเรื่องแบบคลาสสิกของฮอลลีวู้ด กระนั้นไม่ได้หมายความว่าคัวรอนเย็นชาต่อมนุษย์แบบเดียวกับ สแตนลีย์ คูบริค ซึ่งขึ้นชื่อเช่นกันในเรื่องการถ่ายลองเทค ภาพชัดลึก และแทร็กกิ้งช็อตแบบที่เราเห็นใน Roma ตรงกันข้ามคัวรอนเห็นอกเห็นใจมนุษย์ เชื่อมั่นในมนุษย์ และความรู้สึกดังกล่าวก็ซึมซาบเข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงท้าย โดยเฉพาะในฉากโรงพยาบาลกับฉากไคล์แม็กซ์ที่ชายหาด เมื่อคลีโอช่วยชีวิตเด็กสองคนไม่ให้จมน้ำตาย ในแง่หนึ่งเพื่อเป็นการไถ่โทษตัวเองที่ชิงชังลูกในท้องจน (เธอเชื่อว่า) เป็นเหตุให้เขา/เธอไม่อาจลืมตาขึ้นมาดูโลก

แต่หนังไม่ได้พยายามจะคลี่คลายทุกปมปัญหาขัดแย้ง หรือสร้างอารมณ์อิ่มเอิบแบบฉาบฉวยด้วยความสุขสันต์ เมื่อเด็กๆ กลับจากทะเล พวกเขาก็ต้องรับมือกับบ้านที่ปราศจากพ่อ คลีโอกลับมารับหน้าที่คนรับใช้ตามเดิม หอบหิ้วข้าวของมาเก็บในห้อง ก่อนจะถูกใช้ให้ไปทำน้ำปั่น ขณะเด็กๆ เล่าถึงวีรกรรมเฉียดตายให้คุณยายฟัง ความทุกข์ ความผิดหวัง หรือกระทั่งความตายอาจผ่านเข้ามาอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง แต่สุดท้ายแล้วชีวิตก็ต้องดำเนินต่อไป 

ไม่มีความคิดเห็น: