วันอาทิตย์, กุมภาพันธ์ 12, 2560

La La Land: แด่เปลวไฟแห่งความฝัน


ทำไมพี่ถึงพูดว่า โรแมนติกเหมือนมันเป็นคำน่ารังเกียจเซบาสเตียน (ไรอัน กอสลิง) ตอบโต้พี่สาว (โรสแมรี เดอวิท) ในฉากหนึ่งช่วงต้นเรื่อง เธออยากให้เขาโตเป็นผู้ใหญ่เสียที แล้วหางานทำที่มั่นคงเป็นหลักแหล่ง แทนการหมกมุ่นอยู่กับดนตรีแจ๊ส ดั้งเดิมที่กำลังจะตายและใช้หาเงินเป็นกอบเป็นกำไม่ได้ แม้ว่ามันจะมีคุณค่าต่อจิตใจแค่ไหนก็ตาม ใบแจ้งหนี้มันไม่โรแมนติกหรอกเธอแขวะเขากลับ ก่อนจะพยายามยัดเยียดให้น้องชายยอมไปดูตัวหญิงสาวซึ่งไม่ชอบเพลงแจ๊ส นั่นคงเป็นอีกอย่างที่ไม่ค่อยโรแมนติกพอๆ กับใบแจ้งหนี้ เพราะมันดู เบสิกมากเกินไป ถ้าเธอลงเอยกลายเป็นคู่ชีวิตของเขาผ่านการแนะนำของพี่สาว

สถานการณ์โรแมนติกก็เช่น หญิงสาว (ที่ไม่ชอบเพลงแจ๊สเหมือนกัน) กำลังจะกลับจากงานปาร์ตี้น่าเบื่อ ระหว่างทางเธอบังเอิญได้ยินเสียงเปียโนดังแว่วมาจึงตัดสินใจเดินเข้าไปในร้านอาหารแห่งหนึ่ง ที่นั่นเธอพบชายหนุ่มกำลังบรรเลงเพลงอย่างดื่มด่ำ เธอสามารถสัมผัสได้ถึงอารมณ์หลงใหลของเขาในทุกตัวโน้ต ต่างกับเจ้าของร้านอาหาร ซึ่งอยากให้เขาเล่นเพลงตามเทศกาลเหมือนตู้กดเพลง ไม่ใช่ด้นสดตามอารมณ์ศิลปิน ความหงุดหงิดที่โดนไล่ออกจากงานเพราะไม่ยอมทำตาม คำสั่งทำให้เขาไม่แยแสแม้แต่จะทักทายหญิงสาว ซึ่งตรงเข้ามาพูดคุยกับเขา... แต่แน่นอนนั่นไม่ใช่ครั้งแรก หรือครั้งสุดท้ายที่ทั้งสองได้พบกัน

ตลกดีเนาะที่เราบังเอิญเจอกันอยู่เรื่อยมีอา (เอ็มมา สโตน) ตั้งข้อสังเกตกับเซบาสเตียน หลังเจอเขาอีกเป็นครั้งที่สามในงานปาร์ตี้ ความโรแมนติกอยู่ตรงนัยยะแห่งชะตาฟ้าลิขิต หรือพรหมบันดาลในทำนองว่าคนที่เกิดมาคู่กันแล้วย่อมไม่แคล้วคลาดกัน ดังนั้นถึงแม้ในครั้งแรกและครั้งที่สองจังหวะชีวิตของพวกเขาจะยังไม่ลงตัว แต่สวรรค์ก็ดลใจให้มีครั้งที่สามตามมาเพื่อโอกาสแก้ตัว

ไม่ต้องสงสัยว่า La La Land เป็นหนังที่เฉลิมฉลองความโรแมนติกอย่างสุดติ่ง แต่ในเวลาเดียวกันก็ไม่ได้มองข้ามความจริงอันเจ็บปวดของชีวิต ความโรแมนติกในหนังถูกถ่ายทอดออกมาสองรูปแบบผ่านพล็อตสองพล็อต ซึ่งคลี่คลายในลักษณะสวนทางกันอยู่ในที  นั่นคือ พล็อตความรักทำนองพ่อแง่แม่งอนกับพล็อตอาชีพทำนองฝันให้ไกลไปให้ถึง โดยเพลงทั้งหมดในหนังก็สามารถจัดแบ่งหมวดหมู่คร่าวๆ ได้เป็นสองประเภทเช่นกัน ได้แก่ กลุ่มความรัก (A Lovely Night, City of Stars, Start a Fire) และกลุ่มความฝัน (Another Day of Sun, Someone in the Crowd, Audition) กระนั้นมีข้อสังเกตว่าเพลง Someone in the Crowd อาจคาบเกี่ยวระหว่างสองกลุ่ม เพราะเนื้อเพลง ซึ่งพูดถึงการรอคอยวันที่จะถูก “ค้นพบโดยใครสักคนอาจหมายความถึงแมวมองดารา หรือรักแท้ก็ได้  

สองพล็อตนี้ดูจะพัฒนาขึ้นลงในทิศทางตรงกันข้าม กล่าวคือ ขณะที่อาชีพในฝันของมีอากับเซบาสเตียนกำลังลุ่มๆ ดอนๆ คนหนึ่งไปทดสอบบททีไรก็พบเจอแต่ความผิดหวัง อีกคนปราศจากรายได้ที่แน่นอน อย่าว่าแต่จะเก็บเงินเปิดผับแจ๊สเลย ลำพังแค่ให้พอกินอยู่เป็นเดือนๆ ยังลำบาก และต้องกล้ำกลืนฝืนใจรับจ้างเป็นมือคีย์บอร์ดเล่นเพลงป็อปย้อนยุคตามงานปาร์ตี้ ความรักของทั้งสองกลับค่อยๆ เบ่งบาน หยั่งรากลึกเนื่องจากอารมณ์ร่วมของศิลปิน (ต่างวงการ) ที่หลงใหลในศาสตร์และสุนทรียะ รวมไปถึงความพยายามดิ้นรนอย่างหนักเพื่อพิสูจน์ตนเอง ด้วยเหตุนี้ จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมมีอาถึงเลือกจะทิ้งเกร็ก (ฟิน วิทล็อค) ไปหาเซบาสเตียน เธอรู้สึกไม่เข้าพวก เบื่อหน่ายเมื่อต้องทนฟังบทสนทนาธุรกิจบนโต๊ะอาหาร หรือเสียงบ่นเกี่ยวกับความสกปรกในโรงหนัง แต่กลับสนใจฟังเซบาสเตียนสาธยายประวัติดนตรีแจ๊ส แม้เธอจะเคยออกตัวตั้งแต่แรกว่าไม่ชอบเพลงแจ๊ส ถ้าเรารักในสิ่งที่ทำคนก็จะชอบเธอกล่าว เช่นเดียวกัน เซบาสเตียนเองก็สามารถฟังมีอาสาธยายความผูกพันของเธอต่อโลกของภาพยนตร์ได้อย่างไม่มีเบื่อ อีกทั้งยังชวนเธอไปดูหนังคลาสสิกเรื่อง Rebel Without a Cause เพื่อ ศึกษาและเตรียมพร้อมสำหรับการทดสอบบทรอบสองด้วย

พวกเขาไม่ได้เข้าคู่กันอย่างเหมาะเจาะเพียงเพราะต่างเข้าใจหัวอกของ คนโง่ผู้เฝ้าฝันเท่านั้น แต่ยังคอยหล่อเลี้ยงความฝันของอีกฝ่ายให้ลุกโชติช่วง ไม่มอดดับไปพร้อมกับ หัวใจที่บอบช้ำเมื่อเซบาสเตียนทำท่าจะเอนหลังผ่อนคลายอยู่ใน คอมฟอร์ท โซน ที่ คีธ (จอห์น เลเจนด์) จัดหามาให้ มีอาเป็นคนที่คอยเตือนสติให้เขาหวนคืนสู่เส้นทางฝันและจริงใจกับตัวเอง เมื่อมีอาหมดเรี่ยวแรงที่จะต่อสู้ รับมือกับคำปฏิเสธและความอับอายครั้งแล้วครั้งเล่า เซบาสเตียนเป็นคนที่ฉุดเธอขึ้นจากหุบเหวแห่งความหดหู่ สิ้นหวัง ทำให้เธอกล้าจะลุกขึ้นมาสู้เพื่อความฝันอีกครั้ง และสุดท้ายแล้วทั้งสองล้วนบรรลุความฝันตามปรารถนา เธอกลายเป็นนักแสดงโด่งดัง ส่วนเขาก็เปิดผับแจ๊สที่ประสบความสำเร็จ แต่ความสัมพันธ์กลับต้องดำเนินมาถึงจุดสิ้นสุด

อารมณ์หวานปนเศร้าของฉากจบเกิดจากการที่ตัวละครต้องพลัดพราก ไม่ลงเอยอย่างมีความสุข แต่ขณะเดียวกันพวกเขาต่างก็บรรลุความฝันที่วิ่งไล่ไขว่คว้ามาตลอด “ฉันจะรักคุณไปตลอด” มีอากล่าวกับเซบาสเตียน “ผมก็จะรักคุณไปตลอด” เขาตอบเธอก่อนต่างฝ่ายจะแยกย้ายกันไปทำตามความฝัน สายตาและรอยยิ้มที่ทั้งสองมอบให้กันในฉากสุดท้ายไม่เพียงสะท้อนความรักระหว่างหนุ่มสาว แต่ยังเป็นความรักระหว่างคนโง่ผู้เฝ้าฝัน ซึ่งตระหนักดีว่าพวกเขาคงไม่สามารถมายืน ณ จุดนี้ได้ หากปราศจากกำลังใจ ตลอดจนแรงผลักดันของอีกฝ่าย

มองทาจในตอนท้ายเปรียบเสมือนการคารวะมนตร์เสน่ห์แห่งโลกภาพยนตร์ทั้งในเชิงรูปธรรม และในฐานะความบันเทิงเพื่อปลอบประโลมจิตใจผ่านภาพปะติดปะต่อความฝันในห้วงคำนึง เมื่อเรื่องราวทุกอย่างในอดีตที่ผ่านมาล้วนลงเอยอย่างสุขสันต์ (เซบาสเตียนไม่ได้เมินเฉยมีอาในการเจอกันครั้งที่สอง ละครโชว์เดี่ยวของมีอามีคนดูมาร่วมชื่นชมเนืองแน่น หนึ่งในนั้น คือ เซบาสเตียน ซึ่งไม่ได้ติดงานจนมาดูละครไม่ทัน ทั้งสองเดินทางไปปารีสด้วยกันหลังมีอาได้ข้อเสนอให้เล่นหนัง ฯลฯ) แต่น่าเศร้าตรงที่ชีวิตจริงไม่ได้ลงตัว เปี่ยมสุขเฉกเช่นภาพยนตร์ หลายครั้งเราจำเป็นต้องเสียสละบางสิ่งเพื่อแลกกับโอกาส เสียสละความสัมพันธ์เพื่อแลกกับความฝัน เหมือนการที่มีอาเลือกไปปารีส ขณะเซบาสเตียนก็ตัดสินใจอยู่แอลเอทำงานของเขาต่อไป

เรื่องราวทำนองเดียวกันเคยปรากฏให้เห็นมาแล้วในผลงานสร้างชื่อชิ้นก่อนของ เดเมียน ชาเซลล์ แต่อารมณ์ที่ได้ดูจะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะ แอนดรูว์ (ไมส์ เทลเลอร์) ใน Whiplash มีบุคลิกที่ก้ำกึ่งระหว่างมุ่งมั่นกับบ้าคลั่ง และความทุ่มเทของเขาเพื่อเป็นมือกลองวงแจ๊สก็หมิ่นเหม่อยู่บนเส้นลวดบางๆ ระหว่างการทำตามความฝันกับการเอาชนะ/โอ้อวดตน ดังนั้นเมื่อเขาตัดสินใจบอกเลิกแฟนสาวอย่างไม่แยแสด้วยเหตุผลว่าเขาไม่มีเวลาสำหรับความสัมพันธ์ เพราะต้องทุ่มเทเวลาทุกนาทีให้กับการซ้อม คนดูก็อดคิดแบบเดียวกับแฟนสาวของเขาไม่ได้ว่า “มึงบ้ารึเปล่าถึงแม้โดยพื้นฐานแล้วนั่นถือเป็นเหตุผลแบบเดียวกันที่ทำให้มีอากับเซบาสเตียนต้องแยกทาง ทั้งสองเลือกจะเสียสละความรักเพื่อถนอมความฝัน เพราะมันเป็นสิ่งเดียวที่นิยามตัวตนของพวกเขา

เวลาเรานึกถึงหนังเรื่อง Whiplash อารมณ์แวบแรกในหัวคงเป็นความสยอง ความหดหู่ เพราะการไล่ตามความฝันดูจะไม่ใช่อุดมคติที่สุดแสนโรแมนติกอย่างที่เราคุ้นเคย แต่กลับเต็มไปด้วยความอึดถึก หยาดเหงื่อ และบางทีอาจถึงขั้นเสียเลือดเสียเนื้อเลยด้วยซ้ำ กระนั้นชาเซลล์เลือกจะจบหนังด้วยความหวังอยู่กลายๆ เพราะแม้อนาคตของแอนดรูว์จะปราศจากบทสรุปแน่ชัด แต่สิ่งหนึ่งที่เรามั่นใจได้ คือ เขามีดีและเปี่ยมพรสวรรค์พอจะบรรลุความฝัน ไม่ใช่ไอ้ขี้แพ้สมบูรณ์แบบอย่าง เซดี้ ฟลัด (เจนนิเฟอร์ เจสัน ลีห์) ใน Georgia (1995) ซึ่งไม่มีวันเป็นนักร้องชั้นยอดแบบพี่สาวของเธอได้ ฉากที่น่าเศร้าที่สุดของหนัง ไม่ใช่ตอนที่แอนดรูว์โดนกดดัน โดนกดขี่ โดนขว้างเก้าอี้ใส่ (แต่ก็ยังยอมทนโดนตะคอกจนร้องไห้ หรือพยายามกระเสือกกระสนออกจากซากรถชนเพื่อไปให้ทันการแข่งครั้งสำคัญ แต่เป็นตอนที่เขาถูกไล่ออกจากโรงเรียน ตัดสินใจเลิกตีกลอง แล้วปล่อยชีวิตให้ล่องลอยอย่างไร้วิญญาณผ่านกิจวัตรอันซ้ำซาก น่าเบื่อ

ความโรแมนติกของ La La Land ก็ไม่ต่างจาก Whiplash จริงอยู่มีอาอาจเผชิญความผิดหวังและคำปฏิเสธมานับครั้งไม่ถ้วน แต่ลึกๆ แล้วเธอมีพรสวรรค์ที่รอวันจะถูกค้นพบไม่ต่างจากแอนดรูว์ ความแตกต่างคงอยู่ตรงที่พล็อตในส่วนความฝัน (เป็นนักแสดง/เปิดผับแจ๊ส) จบลงอย่างงดงาม หมดจด ไม่ได้คลุมเครือเหมือนในWhiplash

เทียบไปแล้วเซบาสเตียนคงเหมือนตัวแทนของ เดเมียน ชาเซลล์ ทั้งในแง่ความหลงใหลในดนตรีแจ๊ส (นี่เป็นหนังเรื่องที่สามของเขาที่พูดถึงดนตรีแจ๊สหลัง Guy and Madeline on a Park Bench และ Whiplash) และความพร่ำเพ้อถึงอดีตอันหอมหวน (นอกจาก La La Land จะเน้นสดุดีหนังเพลงยุครุ่งเรืองแล้ว มันยังอ้างอิงถึงหนังเก่ามากมาย ตั้งแต่ Rebel Without a Cause ไปจนถึง Casablanca โดยเฉพาะเรื่องหลัง เนื่องจากฉากสุดท้ายของหนังทำให้หลายคนอดคิดไม่ได้ถึงฉาก อินกริด เบิร์กแมน เดินเข้ามาในไนท์คลับของ ฮัมฟรีย์ โบการ์ด แล้วขอให้นักเปียโนเล่น “เพลงของเรา”) เซบาสเตียนไม่ได้แค่อยากเล่นดนตรีแจ๊ส แต่เขายังอยาก “อนุรักษ์แจ๊สดั้งเดิมไม่ให้ล้มหายตายจาก หรือกลายพันธุ์เป็นเพลงกระแสหลักสไตล์ เคนนี จี ที่ใช้เปิดในลิฟต์ ความรู้สึกของชาเซลล์ต่อหนังเพลงยุคเก่าก็คงไม่แตกต่างกัน เพราะรายละเอียดในแทบทุกส่วนของ La La Land ไม่ว่าจะเป็นสไตล์ภาพ (เน้น long take และถ่าย long shot แทนการตัดภาพถี่ๆ หรือถ่ายเจาะโคลสอัพในสไตล์หนังเพลงยุคใหม่อย่าง Moulin Rouge! และ Chicago) ดนตรี ท่าเต้น หรืองานสร้างโดยรวม ตั้งแต่เสื้อผ้าหน้าผมไปถึงภาพวาดตามกำแพงและโปสเตอร์บนผนังห้องล้วนอบอวลไปด้วยกลิ่นอายย้อนยุคจนคนดูสัมผัสได้ แม้ว่าเรื่องราวในหนังจะดำเนินเหตุการณ์ในยุคปัจจุบันก็ตาม

ความหดหู่ของเซบาสเตียน คือ การเห็นผับแจ๊สชั้นยอด รุ่มรวยประวัติศาสตร์ต้องปิดตัวลง แล้วแปลงโฉมไปสู่ร้านอาหาร ซึ่งดนตรีสดเป็นแค่เสียงแบ็คกราวด์ ไม่ใช่จุดดึงดูดหลัก แต่นั่นคือสัจธรรมของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นวัฏจักรแห่งสังคมทุนนิยม และการหยุดนิ่งแช่แข็งหมายถึงจุดจบอันไม่อาจหลีกเลี่ยง “นายจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ในเมื่อยังคร่ำครึแบบนี้คีธเตือนสติเซบาสเตียนในฉากหนึ่ง “นายยึดติดกับอดีต แต่แจ๊สเป็นเรื่องของอนาคตรสนิยมที่ผูกติดกับอดีตแบบไม่ประนีประนอนของเซบาสเตียน ซึ่งหนังนำเสนอว่าเปรียบดังการยึดมั่นในหลักการและจรรยาบรรณมากกว่าการไม่รู้จักปรับตัว ปกติมักจะลงเอยด้วยหายนะ ไม่เชื่อก็ลองดูชะตากรรมของตัวละครเอกใน Inside Llewyn Davis เป็นตัวอย่าง

ถามว่าบทสรุปของหนังเมื่อเซบาสเตียนเปิดผับแบบที่เขาต้องการได้สำเร็จ และยังได้รับความนิยมอย่างน่าพอใจถือเป็นฉากจบที่ปลอบประโลมคนดูด้วยความรู้สึกชวนฝัน โรแมนติก แบบเดียวกับหนังเพื่อความบันเทิงที่ La La Land พยายามแยกตัวออกห่างผ่านมองทาจในช่วงท้ายเรื่องหรือไม่... ก็อาจจะใช่

ท่ามกลางกระแสหนังซูเปอร์ฮีโร่เกลื่อนตลาด การเสนอโครงการสร้างหนังเพลงราคา 20 ล้านเหรียญของชาเซลล์ก็คงไม่ต่างจากการเปิดผับแจ๊สแบบดั้งเดิมของเซบาสเตียน มันเสี่ยงต่อหายนะอย่างไม่ต้องสงสัย แต่การคาดหวังความสำเร็จก็ใช่จะเป็นแค่ฝันลมๆ แล้งๆ เสมอไปตราบใดที่คุณ “มีของมีความมุ่งมั่น เพราะสุดท้ายทุกอย่างอาจลงเอยอย่างมีความสุขได้ เหมือนที่มีอาบอก “ถ้าเรารักในสิ่งที่ทำคนก็จะชอบไม่ว่าคุณจะมีความคิดอย่างไรกับหนังเรื่อง La La Land แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนน่าจะเห็นพ้องต้องกัน คือ ชาเซลล์รักในสิ่งที่เขาทำอยู่ และความรักนั้นก็สะท้อนออกมาในผลงานได้อย่างชัดเจน ความสำเร็จของหนัง (ตอนนี้ในอเมริกาหนังมีโอกาสค่อนข้างสูงที่จะทำเงินเกิน 100 ล้าน) ในแง่หนึ่งอาจช่วยพิสูจน์คำพูดของมีอาว่าพอจะฟังขึ้นอยู่เหมือนกัน

ชะตากรรมอันมืดหม่นหาไม่ได้เทียบสมการเท่ากับความจริงเสมอไป เพราะดังจะเห็นได้จากกรณีเซบาสเตียน, มีอา รวมไปถึง เดเมียน ชาเซลล์ กับ La La Land บางครั้งฝันก็กลายเป็นจริงได้ ขึ้นอยู่กับว่าคุณกล้าบ้าบิ่นพอจะกระโดดลงไปในแม่น้ำแซนหรือไม่

ไม่มีความคิดเห็น: