วันอาทิตย์, มิถุนายน 14, 2558

Avengers: Age of Ultron: มนุษย์ภายใต้ผ้าคลุม


ตอนนี้จักรวาลของหนังที่สร้างจากการ์ตูนของค่ายมาร์เวลดูเหมือนจะเริ่มขยายขอบเขตไปเรื่อยๆ แบบไม่สิ้นสุดในระดับเดียวกับธุรกิจซีพีของเจ้าสัวธนินท์ และตราบใดที่สินค้าตีตรามาร์เวลยังคงทำเงินถล่มทลาย ยุคสมัยของซูเปอร์ฮีโรก็คงจะอยู่คู่โลกภาพยนตร์ไปอีกนาน ที่สำคัญ หนังเหล่านี้ยังใช้กลยุทธ์ทางการตลาดแบบเหมาขายแพ็คเกจผ่านการสอดแทรกรายละเอียดโยงใยไปมาให้เราต้องตามดูจนกว่าจะเบื่อกันไปข้างหนึ่งเหมือนซื้อมือถือแล้วติดสัญญาเครือข่าย โดยผลงานล่าสุดอย่าง Avengers: Age of Ultron ไม่เพียงเรียกร้องให้คนดูต้องชมภาคแรกของหนังเมื่อสามปีก่อนเพื่ออรรถรสที่เต็มเปี่ยมยิ่งขึ้นเท่านั้น (ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติของหนังภาคต่อ) แต่ยังเหมารวมไปถึงหนังแยกของเหล่าซูเปอร์ฮีโรแต่ละคนอย่าง Iron Man 3, Thor: The Dark World และ Captain America: The Winter Soldier ด้วย พร้อมกันนี้ Avengers: Age of Ultron ก็ถือเป็นการปูพื้นไปสู่หนังที่จะเข้าฉายปีหน้าอย่าง Captain America: Civil War ไปในตัว โดยทั้งหมดยังไม่รวมถึงการแตกกระจายไปสู่สายเลือดใหม่อย่าง Ant-Man ซึ่งกำลังจะเข้าฉายในอีกไม่กี่เดือน และคาดว่าน่าจะมีบทบาทเชื่อมโยงถึง Captain America: Civil War ด้วย

ความป็อปปูลาร์ของหนังกลุ่มนี้ทำให้ผู้กำกับ/เขียนบท จอส วีดอน ไม่เสียเวลาที่จะปูพื้นความเดิมจากตอนก่อน แล้วกระโจนเข้าสู่เรื่องราวตอนใหม่ในทันที เมื่อเหล่าอเวนเจอร์บุกตะลุยฐานทัพของไฮดราในประเทศโซโคเวียเพื่อแย่งชิงคฑาของโลกิ ซึ่ง บารอน วูล์ฟกัง ฟอน สตรัคเกอร์ นำไปใช้ในการทดลองมนุษย์ จนยังผลให้ฝาแฝดชายหญิง ปิเอโตร (แอรอน เทย์เลอร์-จอห์นสัน) กับ วานดา แม็กซิมอฟ (อลิซาเบ็ธ โอลเซน) มีพลังวิเศษในการเคลื่อนไหวได้เร็วกว่ากระสุนและความสามารถที่จะบิดเบือนความคิดคนตามลำดับ โดยทั้งสองต่างมีความแค้นฝังลึกต่อ โทนี สตาร์ค (โรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์) เนื่องจากอาวุธสงครามอันเป็นผลผลิตจากบริษัทของสตาร์คคร่าชีวิตพ่อแม่พวกเขา ฉากเปิดเรื่องสไตล์ เจมส์ บอนด์ นอกจากจะทำหน้าที่แนะนำตัวละครใหม่ในหนังซึ่งอัดแน่นไปด้วยซูเปอร์ฮีโรราวกับแผ่นรวมเพลงฮิตแล้ว มันยังเป็นการประกาศเจตนารมณ์ตั้งแต่เนิ่นๆ ว่าหนังภาคนี้จะเยอะกว่า ใหญ่กว่า และโฉ่งฉ่างกว่า (ซึ่งอาจไม่ได้มีค่าเทียบเท่ากับคำว่าดีกว่าเสมอไป) หนังภาคแรกในทุกๆ ทางอย่างแน่นอน

วีดอนอาจไม่ใช่ผู้กำกับที่เก่งกาจในแง่การเซ็ตอัพฉากแอ็กชั่น เทคนิคการจัดวางภาพ หรือออกแบบซีเควนซ์ของเขาปราศจากความสง่างาม น่าตื่นตาในระดับเดียวกับ สตีเวน สปีลเบิร์ก, เจมส์ คาเมรอน หรือกระทั่ง จอร์จ มิลเลอร์ (อีกไม่นาน Mad Max: Fury Road จะพิสูจน์ให้เห็นกันว่ามิลเลอร์ยังรักษามาตรฐานเอาไว้ได้หรือไม่) และมักจะใช้ภาพสโลว์โมชัน หรือการหมุนกล้องเป็นครั้งคราวเพื่อปลุกคนดูให้ตื่นขึ้นจากความสามัญ ดาษดื่น อย่างไรก็ตาม เขาก็ชดเชยข้อจำกัดดังกล่าวได้บ้างด้วยการสอดแทรกแง่มุมจิตวิทยา หรือคำถามเชิงปรัชญามาพอเป็นกระสัย ไปพร้อมๆ กับยิงมุกตลกเป็นระยะ ซึ่งเป็นเครื่องหมายการค้าของเขามาตลอดนับแต่สร้างชื่อจากการทำซีรีย์ชุด Buffy the Vampire Slayer กล่าวคือ หนังของวีดอนหาได้พยายามจริงจัง หนักแน่นในแบบหนังซูเปอร์ฮีโรของ คริสโตเฟอร์ โนแลน แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ได้เน้นความวินาศสันตะโรเต็มรูปแบบจนปล่อยปละละเลยตัวละครให้ลอยเคว้งท่ามกลางซากปรักหักพัง

ในบรรดาสมาชิกทีมอเวนเจอร์ ฮอว์คอาย (เจเรมี เรนเนอร์) และ แบล็ค วิโดว (สการ์เล็ต โจแฮนสัน) นอกจากจะเป็นสองตัวละครที่ไม่มีหนังเป็นของตัวเองแล้ว (กรณีของคนหลังข้อเท็จจริงดังกล่าวนำไปสู่กระแสวิพากษ์เรื่องการเหยียดเพศที่ร้อนแรงพอควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผนวกกับการที่หุ่นจำลอง แบล็ค วิโดว เปรียบเสมือนแรร์ไอเทมในท้องตลาด รวมเลยไปถึงซับพล็อตเกี่ยวกับการที่เธอไม่สามารถมีลูกได้) ทั้งสองยังเป็นตัวละครที่เปราะบางในความเป็นมนุษย์สูงสุด หรือถ้าจะพูดอีกอย่าง คือ ค่อนข้างไร้น้ำยา เมื่อเทียบกับสมาชิกคนอื่นๆ (ปกแผ่นบลูเรย์ของ The Avengers บางเวอร์ชั่นไม่ปรากฏภาพของสองตัวละครนี้) ในซิทคอมเรื่อง The Big Bang Theory เชลดอน คูเปอร์ ซึ่งเป็นเนิร์ดและแฟนการ์ตูนตัวพ่อเคยให้ความเห็นว่า ฮอว์คอายก็อยู่ในทีมอเวนเจอร์ แต่คงไม่มีใครร้องเรียกว่า ช่วยด้วย ฮอว์คอายวีดอนตระหนักถึงโจ๊กดังกล่าวดี และนำมาใช้เรียกเสียงฮาในบางจังหวะด้วย

แต่เวลาเดียวกัน วีดอนก็พยายามจะมอบความงามแห่งมนุษย์ให้กับตัวละครทั้งสองด้วยการพาคนดูไปสัมผัสกับชีวิตครอบครัวแสนอบอุ่นของคลินต์ พร้อมกับตอกย้ำให้เห็นว่าถึงแม้เขาจะปราศจากฆ้อนทรงพลังแบบธอร์ (คริส เฮมส์เวิร์ธ) หรือโล่อันแข็งแกร่งและพละกำลังเหนือมนุษย์แบบ กัปตัน อเมริกา (คริส อีแวนส์) แต่เขาก็เปี่ยมความสำคัญต่อทีมเช่นกันในฐานะกาวที่ช่วยเชื่อมต่อสมาชิกแต่ละคนให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หรือครอบครัวเดียวกัน พวกเขาเป็นเทพเจ้า และพวกเขาก็ต้องการใครสักคนที่จะคอยทำให้พวกเขาติดดินภรรยาของคลินต์ (ลินดา คาร์เดลลินี) ให้เหตุผล ส่วนนาตาชาก็ได้สำรวจความเป็นหญิงผ่านซับพล็อตโรแมนติกระหว่างเธอกับ บรูซ แบนเนอร์ (มาร์ค รัฟฟาโล) ซึ่งนำไปสู่ข้อวิพากษ์รุนแรงจากเหล่าเฟมินิสต์ เมื่อหนังพยายามจะเชื่อมโยงสองตัวละครด้วยการบอกว่านาตาชาเข้าใจ สัตว์ประหลาดข้างในตัวแบนเนอร์ (หรือ เดอะ ฮัลค์) เพราะเธอเองก็เคยผ่านการเทรนอันโหดเหี้ยม ทารุณมาก่อนเพื่อให้เป็นเครื่องจักรฆ่าคนที่ปราศจากเมตตา

ความตั้งใจของวีดอนคงไม่ใช่เพื่อสื่อนัยยะว่านาตาชามองตัวเองเป็นสัตว์ประหลาดเพราะความที่ตนไม่สามารถจะมีลูกได้เฉกเช่นผู้หญิงปกติทั่วไปเหมือนดังคำครหาของเฟมินิสต์บางคน (อย่างน้อยเราก็ควรจะยกผลประโยชน์แห่งความเคลือบแคลงให้กับผู้สร้างซีรีย์อย่าง Buffy the Vampire Slayer ซึ่งพลิกตลบภาพลักษณ์เหมารวมแบบเดิมๆ ด้วยการให้หญิงสาวสวยเป็นคนออกตามล่าและสังหารบรรดาสัตว์ประหลาดทั้งหลาย) หากแต่เพื่อเฉลิมฉลองแง่มุมที่อ่อนโยน เปราะบางของมนุษย์ ความเป็นหญิงของนาตาชาไม่ได้สะท้อนให้เห็นความอ่อนแอและตอกย้ำแนวคิดกดขี่ทางเพศ แต่มันเป็นเหมือนหยดน้ำที่ช่วยมอบพลังงาน ความชุ่มฉ่ำใจท่ามกลางทะเลทรายแห่งเทสโทสเตอโรนต่างหาก นาตาชาไม่จำเป็นต้องเสียสละแง่มุมอื่นๆ เพียงเพื่อพิสูจน์ว่าตนเองเก่งกาจไม่แพ้เพศชาย ตรงกันข้าม การที่เธอมีแนวโน้มที่สามารถจะเป็นทั้งนักสู้ คนรัก เพื่อนสนิท และแม่ (สังเกตจากความสนิทสนมรักใคร่ระหว่างเธอกับลูกๆ ของคลินต์) ไปพร้อมๆ กันได้ถือเป็นเรื่องที่น่าทึ่งไม่แพ้พลังวิเศษใดๆ

เพราะถึงที่สุดแล้วกระทั่งตัวละครชาย ซึ่งยโสและหยิ่งทะนงสูงสุดในเรื่องอย่าง โทนี สตาร์ค ก็ยังเปิดเผยให้เห็นด้านที่อ่อนแอเช่นกัน ความดื้อดึงที่จะสานต่อโครงการ อัลตรอนด้วยความหวังว่าจะใช้มันปกป้องโลกจากภัยคุกคามทุกรูปแบบสะท้อนถึงความหวาดกลัวภายในของเขา (ซึ่งปรากฏเป็นรูปธรรมผ่านภาพหลอนจากน้ำมือของวานดาในช่วงต้นเรื่อง) ถ้าการบุกถล่มกรุงนิวยอร์กของกองทัพต่างดาวใน The Avengers เป็นเหมือนภาพจำลองของเหตุการณ์ 9/11 หายนะจาก ภายใน ของ Avengers: Age of Ultron ก็คงไม่ต่างจากบทวิพากษ์นโยบายสงครามต่อต้านการก่อการร้ายของสหรัฐ ดังจะเห็นได้จากข้อโต้แย้งของ กัปตัน อเมริกา ต่อวิธีการของสตาร์คที่ว่า ทุกครั้งที่ใครบางคนพยายามจะชนะสงครามก่อนมันจะเริ่มต้นขึ้นด้วยซ้ำ ผู้คนต้องพากันล้มตาย” (แต่แน่นอนว่าในหนังเราจะไม่ได้เห็นการล้มตายของประชาชนชาวโซโคเวีย ซึ่งบรรดา อเมริกัน ฮีโร พยายามช่วยเหลือกันสุดชีวิต และบางรายก็ถึงขั้นสละชีวิตเพื่อปกป้องพวกเขา ส่วนในชีวิตจริงทุกอย่างคงไม่ได้แบ่งขาวกับดำชัดเจนขนาดนั้น)

ความหวาดกลัวทำให้สตาร์คพยายามจะสร้างระบบระเบียบโดยอาศัยแสนยานุภาพในแบบเผด็จการฟาสต์ซิส ซึ่งย่อมลงเอยด้วยการกดขี่ จำกัดสิทธิเพื่อไม่ให้ใครแตกแถว ส่วนอัลตรอน (ให้เสียงโดย เจมส์ สเปเดอร์) ซึ่งเป็นผลผลิตของสตาร์คอีกเช่นกัน กลับเลือกเส้นทางตรงกันข้ามแต่สุดโต่งไม่แพ้กัน นั่นคือ ล้มกระดานใหม่หมด ทั้งสองล้วนไม่เข้าใจธรรมชาติและข้อจำกัดของมนุษย์... ความขัดแย้ง ความอ่อนแอ และความหวาดกลัวล้วนเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์มนุษย์ เช่นเดียวกับความกล้าหาญ ความรัก และความเสียสละ บางที วิชัน (ให้เสียงโดย พอล เบททานีย์) อาจไร้เดียงสาที่ยังมีความหวังต่อมนุษย์ดังข้อกล่าวหาของอัลตรอน แต่ขณะเดียวกันการเลือกที่จะเฝ้าสังเกตแทนการเข้ามาควบคุมก็ทำให้เขาเข้าใจในความงามของชีวิตได้อย่างแท้จริง

ไม่มีความคิดเห็น: