วันอาทิตย์, มิถุนายน 14, 2558

Director's Profile: ไมค์ ลีห์


การมุ่งเน้นสะท้อนภาพชีวิตประจำวันของชนชั้นล่างในอังกฤษด้วยแนวทางสมจริง หนักแน่น ปราศจากการประนี และหลายครั้งก็วิพากษ์ประเด็นอื้อฉาวเกี่ยวกับชนชั้น เชื้อชาติ และเซ็กซ์ด้วยท่าทีลุ่มลึก แต่เจ็บแสบ จนทำให้นักดูหนังตั้งฉายา ไมค์ ลีห์ เป็น กวีแห่งความหดหู่สิ้นหวัง” (หนังเรื่องแรกของเขามีชื่อว่า Bleak Moments เป็นบทสำรวจชีวิตน่าเศร้าของเลขานุการกับบุคคลรอบข้างเธอ) จริงอยู่ว่าหนังของลีห์มักจะอบอวลด้วยอารมณ์หม่นเศร้า โดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงา แต่ขณะเดียวกันก็หาได้แห้งแล้งอารมณ์ขัน และถึงแม้ลีห์จะเคยจำกัดความตัวเองว่าเป็นคนมองโลกแง่ร้ายสุดโต่ง แล้วคิดว่าชีวิตโดยแก่นแท้เป็นเรื่องไม่น่าพิสมัย แต่ในเวลาเดียวกันหนังหลายเรื่องของเขากลับลงเอยด้วยกลิ่นอายแห่งความหวัง พร้อมยืนกรานในคุณค่าความรัก ตลอดจนชีวิตครอบครัว ดังจะเห็นได้จากหนังอย่าง All or Nothing และ Secrets & Lies ฉะนั้นการปรากฏตัวขึ้นของ Happy-Go-Lucky ซึ่งเล่าถึงชีวิตของหญิงสาวผู้ยืนหยัดมองโลกด้วยอารมณ์ร่าเริง เบิกบาน และพยายามฉุดรั้งคนรอบข้างให้มาเข้าร่วมอุดมการณ์ จึงไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมายเสียทีเดียว กล่าวได้ว่ามันเป็นหนังที่ตลกที่สุดของ ไมค์ ลีห์ นับจาก Life is Sweet  

ลีห์เปรียบเทียบสไตล์การทำหนังของตนว่ามีรากฐานมาจากงานเขียนของ ชาร์ลส์ ดิกเกนส์ ในแง่ที่เน้นความสมจริงของชีวิตตัวละครชนชั้นล่าง โดยหนังแทบทุกเรื่องจะอยู่ในแนวทางที่เรียกว่า slice of life กล่าวคือ ปราศจากแรงขับเคลื่อนทางด้านพล็อตอย่างชัดเจน แต่จะเล่าถึงความเป็นไปอันสุดแสนธรรมดาสามัญในชีวิตประจำวันของตัวละคร ปฏิสัมพันธ์ระหว่างพวกเขากับคนรอบข้าง ราวกับหนังได้ตัดเสี้ยวหนึ่งของชีวิตตัวละคร ซึ่งอาจกินเวลาแค่ไม่กี่วัน (All or Nothing, Naked) หรือหนึ่งปีเต็ม (Another Year) มาถ่ายทอดให้คนดูรับรู้ ความรู้สึกคล้ายๆ การนั่งดูสารคดีที่ไม่ใช่เรื่องจริง ทันทีที่มีเหตุการณ์สุดพิเศษ หรือแปลกแตกต่างเกิดขึ้น ผมจะรู้สึกเบื่อ หนังส่วนใหญ่มักจะเล่าถึงไลฟ์สไตล์ที่น่าหลงใหล เต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์ แต่สำหรับผมความน่าตื่นเต้น คือ การค้นพบสิ่งพิเศษ อัดแน่นไปด้วยดรามาจากความธรรมดาสามัญ จากเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนทั่วๆ ไปลีห์กล่าว

อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ได้หมายความว่าหนังของ ไมค์ ลีห์ จะน่าเบื่อ หรือแน่นิ่งทางด้านอารมณ์ ในทางตรงกันข้าม หลายครั้งสิ่งที่ดู ธรรมดาสามัญสำหรับตัวละครอาจกลับกลายเป็นประสบการณ์น่าตื่นเต้น น่าหลงใหลสำหรับคนดู เช่น เรื่องราวของหญิงสาวผิวดำที่ค้นพบว่าแม่แท้ๆ ของเธอเป็นผู้หญิงผิวขาวใน Secrets & Lies หรือเรื่องราวของผู้หญิงชนชั้นแรงงานในยุค 1950 ที่รับทำแท้งอย่างผิดกฎหมายใน Vera Drake มีเพียงสองครั้งเท่านั้นที่ลีห์ปล่อยตัวเองให้หลุดจากโหมดปกติ แล้วหันไปทำหนังชีวประวัติคนดัง ได้แก่ Topsy-Turvy และ Mr. Turner ซึ่งเป็นผลงานกำกับชิ้นล่าสุด

บางทีเอกลักษณ์อันโดดเด่นสูงสุดของหนัง ไมค์ ลีห์ อาจอยู่ขั้นตอนการทำงานที่ไม่เหมือนใคร โดยแทนที่จะนั่งเขียนบทจนเสร็จสรรพ แล้วคัดเลือกนักแสดงมาร่วมงาน ลีห์กลับใช้เวลาหลายเดือนขลุกอยู่กับนักแสดงในช่วงการซ้อมเพื่อสร้างและปั้นตัวละครไปด้วยกัน โดยเขาจะมีแค่โครงเรื่องคร่าวๆ โดยกำหนดเป็นสถานการณ์ง่ายๆ เช่น ตัวละคร A เจอกับตัวละคร B ในผับ หรือ ตัวละคร C หลับนอนกับตัวละคร D เป็นต้น อาจกล่าวได้ว่าลีห์เรียกร้องศรัทธาในกลุ่มผู้ร่วมงานค่อนข้างสูง เพราะไม่มีใครรู้ว่าการเดินทางครั้งนี้จะไปสิ้นสุดลง ณ จุดใด นี่เองเป็นเหตุผลว่าทำไมลีห์ถึงเลือกใช้งานนักแสดงเดิมๆ ที่เขาคุ้นเคย (เลสลีย์ แมนวิลล์, ทิโมธี สปอล, รูธ ชีน, จิม บรอดเบนท์) และสามารถเค้นศักยภาพของพวกเขาออกมาได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ (ลักษณะการทำงานของเขาจะแตกต่างจาก เดวิด โอ. รัสเซลล์ ซึ่งเน้นวิธีด้นสดระหว่างถ่ายทำ เพราะในหนังของ ไมค์ ลีห์ การด้นสดหน้ากล้องเกิดขึ้นน้อยมาก เนื่องจากทุกซีนถูกซักซ้อมมาอย่างละเอียด) ด้วยเหตุนี้ จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกที่งานแสดงในหนังของ ไมค์ ลีห์ มักจะได้รับการยกย่องในแง่ความเป็นธรรมชาติ จนบางครั้งก็ดูไม่เหมือนการแสดงเลยแม้แต่น้อย 

ไม่มีความคิดเห็น: