วันอาทิตย์, มิถุนายน 14, 2558

Director's Profile: เวส แอนเดอร์สัน


สไตล์การทำหนังของ เวส แอนเดอร์สัน มักจะผูกติดอยู่กับคำว่า เทพนิยายและ เพ้อฝันแต่หากพิจารณาจากผลงานชิ้นล่าสุดของเขาอย่าง The Grand Budapest Hotel ดูเหมือนโลกแห่งความจริงอันโหดร้ายหาได้อยู่ห่างไกลออกไปแต่อย่างใด และบางครั้งโศกนาฏกรรมกับอารมณ์ขันก็สอดคล้องแนบแน่นเกินกว่าที่ใครจะคาดคิด ต้องยอมรับว่าสไตล์การทำหนังของแอนเดอร์สันนั้นมีความโดดเด่นเฉพาะตัวอย่างมากจนง่ายต่อการลอกเลียนแบบ (และมักจะถูกนำไปล้อเลียนอยู่บ่อยๆ) โดยในแง่รูปธรรมจะประกอบด้วยหลักการง่ายๆ ดังนี้ 1) การตั้งกล้องนิ่ง น้อยครั้งมากที่เขาจะใช้กล้องแฮนด์เฮลด์ หรือสเตดิแคม และเมื่อใดก็ตามที่กล้องต้องเคลื่อนไหว เขาจะเลือกใช้การ tracking เป็นหลัก 2) การจัดองค์ประกอบภาพแบบได้สมดุลซ้ายขวา 3) การตกแต่งฉากที่ประณีต เต็มไปด้วยรายละเอียดยิบย่อย 4) การถ่ายภาพตัวละครให้อยู่กึ่งกลางเฟรมภาพ หันหน้าตรงเข้าหากล้อง และ 5) การถ่ายภาพในมุมตานกมอง นอกจากนี้เขายังชื่นชอบที่จะร่วมงานกับนักแสดงขาประจำเจ้าเดิมซ้ำไปซ้ำมา ฉะนั้น หากคุณเห็นหนังเรื่องใดมี บิล เมอร์เรย์, ลุค วิลสัน, โอเวน วิลสัน, เจสัน ชวาร์ทซ์แมน, วิลเลม เดโฟ, เอเดรียน โบรดี และ เจฟฟ์ โกลด์บลัม ร่วมแสดงอยู่ด้วยละก็ ให้เดาไว้ก่อนเลยว่ามันเป็นผลงานกำกับของ เวส แอนเดอร์สัน แน่นอน 

หลายคนวิพากษ์สไตล์การทำหนังของแอนเดอร์สันว่าเต็มไปด้วยการปรุงแต่งและขาดความหนักแน่นทางด้านเนื้อหา แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนังของเขาเปี่ยมเสน่ห์ดึงดูดอย่างน่าประหลาด ทั้งจากอารมณ์ขันบ้าๆ บวมๆ ตัวละครที่พิลึกพิลั่น มีลักษณะนิสัยแปลกประหลาด เช่น ผู้ดูแลโรงแรมใน The Grand Budapest Hotel ที่ชื่นชอบน้ำหอมเป็นชีวิตจิตใจ และแทบจะทุกคนใน The Royal Tenenbaums รวมไปถึงอารมณ์ถวิลหาอดีต ซึ่งอบอวลอยู่ในหนังพีเรียดสองเรื่องล่าสุดของเขา และในเวลาเดียวกันตัวละครจากหนังอย่าง Rushmore และ The Royal Tenenbaums เองก็มีแนวโน้มจะยึดติดอยู่กับอดีต โหยหาความหอมหวานที่ไม่อาจเรียกคืนกลับมาได้ ที่สำคัญ สไตล์ภาพยนตร์ของเขายังชวนให้นึกถึงการทำหนังในอดีตไม่ว่าจะเป็นการใช้เทคนิคซ้อนภาพแบบ rear projection แทนการใช้คอมพิวเตอร์กราฟฟิก การเลือกถ่ายทำหนังในอัตราส่วนแบบเดียวกับหนังเงียบยุคโบราณเพื่อขับเน้นบรรยากาศย้อนยุค หรือการอ้างอิงถึงถึงหนังคลาสสิกอย่าง Jules and Jim และ The Magnificent Ambersons

ตอนที่ผลงานกำกับชิ้นแรกเรื่อง Bottle Rocket เข้าฉาย ถึงแม้ว่ามันจะล้มเหลวในด้านการทำเงิน แต่หนึ่งในบุคคลที่เห็นแววอัจฉริยะของแอนเดอร์สัน คือ มาร์ติน สกอร์เซซี ซึ่งกล่าวถึงมันว่าเป็นหนังที่เขาชื่นชอบมากที่สุดเรื่องหนึ่งประจำทศวรรษ 1990 จากนั้นแอนเดอร์สันก็โด่งดังในชั่วข้ามคืน เมื่อ Rushmore เข้าฉายและถูกยกย่องอย่างถ้วนทั่วจากเหล่านักวิจารณ์ ส่งผลให้เขากลายเป็นนักทำหนังอเมริกันคลื่นลูกใหม่ที่น่าจับตามองมากที่สุด ณ เวลานั้น สามปีต่อมา The Royal Tenenbaums ช่วยตอกย้ำสมมุติฐานดังกล่าว ก่อนที่ The Life Aquatic with Steve Zissou และ The Darjeeling Limited จะค่อยๆ ปลดเปลื้องแอนเดอร์สันออกจากความคาดหวังอันสูงลิบลิ่ว อย่างไรก็ตาม การปรากฏตัวขึ้นของ Fantastic Mr. Fox ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญเพราะหนังการ์ตูนสตอปโมชันเรื่องนี้ไม่เพียงจะได้เสียงตอบรับอย่างอบอุ่นทั้งจากคนดูและนักวิจารณ์เท่านั้น แต่ยังเป็นจุดเริ่มต้นการเติบใหญ่ของแอนเดอร์สันในฐานะนักทำหนังอีกด้วย

แม้ว่างานด้านภาพ ตลอดจนอารมณ์ขันเดิมๆ จะยังคงมีอยู่แบบครบถ้วน แต่หนังสองเรื่องล่าสุด (โดยอาจเหมารวม Fantastic Mr. Fox ไปด้วยก็ได้) อย่าง Moonlight Kingdom และ The Grand Budapest Hotel ได้เน้นย้ำความเจ็บปวด การสูญเสีย และอารมณ์หม่นเศร้า ซึ่งเคยปรากฏให้เห็นอยู่เจือจางในหนังเรื่องอื่นๆ ก่อนหน้า ให้โดดเด่น หนักแน่นขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการโหยไห้แด่ผู้จากไประหว่างสงครามของคนกับหมาจิ้งจอก ความหม่นหมอง หดหู่แห่งวัยผู้ใหญ่ที่กำลังเฝ้ารอสองตัวละครวัยเด็กอยู่เบื้องหน้า หรือโดยเฉพาะอย่างยิ่งในหนังเรื่องล่าสุดของเขาที่ภายนอกอาจดูตลกโปกฮา มีบรรยากาศแบบตำนานและนิทานปรัมปรา แต่ภายในกลับซุกซ่อนความสยดสยอง ไร้สาระของสงคราม การล่มสลายของโลกยุคเก่า รวมไปถึงชัยชนะของความชั่วร้ายที่บดขยี้เศษเสี้ยวแห่งมนุษยธรรมจนไม่เหลือซาก 

ไม่มีความคิดเห็น: