วันอาทิตย์, มิถุนายน 14, 2558

Director's Profile: โจเอล และ อีธาน โคน


ก่อนหน้าจะกลายมาเป็นขวัญใจนักวิจารณ์เฉกเช่นในปัจจุบัน ทีมผู้กำกับสองพี่น้อง โจเอล และ อีธาน โคน ดูเหมือนจะติดอยู่ในโลกกึ่งกลางระหว่างสองขั้วตรงกันข้าม แน่นอน ผลงานของพวกเขาไม่ได้ประสบความสำเร็จทางด้านรายได้ หรือเป็นขวัญใจมหาชนเฉกเช่นหนังของ สตีเวน สปีลเบิร์ก หรือ เจมส์ คาเมรอน สืบเนื่องจากอารมณ์ขันเฉพาะตัว และความพิลึกพิลั่นที่บางครั้งก็ไม่ค่อยถูกโฉลกกับรสนิยมของนักดูหนังกระแสหลัก แต่ในเวลาเดียวกันผลงานเหล่านั้นก็ไม่อาจถูกจัดเข้าหมวด หนังอาร์ตได้อย่างเต็มปากเต็มคำ เพราะพวกมันปราศจากเนื้อหาในเชิงวิพากษ์สังคม การทดลองแปลกใหม่ด้านการเล่าเรื่อง หรือการวิเคราะห์ตัวละครที่หนักแน่น จริงจัง และหลายครั้งท่าทางทีเล่นทีจริง ตลอดจนอารมณ์ขันร้ายๆ ก็ทำให้พวกเขามักถูกโจมตีว่ากำลังล้อเลียนตัวละคร แล้วมองลงมายังบุคคลเหล่านั้นด้วยแววตาเยาะหยัน ดูแคลน นั่นเป็นคำวิจารณ์ที่แม้กระทั่งผลงานซึ่งได้รับการยกย่องสูงสุดของพวกเขาตลอดการทำงาน 20 ปีในวงการ (นับแต่เปิดตัวด้วย Blood Simple ในปี 1984) อย่าง Fargo ก็ไม่อาจสลัดหลุด

No Country for Old Men เปลี่ยนแปลงทุกอย่างจากหน้ามือเป็นหลังมือ และที่สำคัญยังทำให้พวกเขาสามารถคว้ารางวัลออสการ์สาขาผู้กำกับและภาพยนตร์ยอดเยี่ยมาครองได้ในที่สุด ทันใดนั้น สองพี่น้องโคนก็ดูเหมือนจะทำทุกอย่างถูกต้องไปหมด ข้อครหาเดิมๆ เลือนหายไปจนแทบไม่เหลือร่องรอย และแม้กระทั่งการหยิบเอาหนังเก่าอย่าง True Grit มาสร้างใหม่ก็ยังอุตส่าห์ได้เสียงตอบรับอย่างอบอุ่นทั้งจากนักวิจารณ์และคนดูเกินความคาดหมาย อาจกล่าวได้ว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาถือเป็นยุคทองที่สองของพวกเขาอย่างแท้จริงจากการผลิตผลงานทรงคุณค่าอย่าง No Country for Old Men, A Serious Man และ Inside Llewyn Davis

ผลงานกำกับของสองพี่น้องโคนมักจะผูกติดและอ้างอิงถึงตระกูลหนังเก่าแก่ อาทิ ฟิล์มนัวร์ (Blood Simple, The Man Who Wasn’t There) แก๊งสเตอร์ (Miller’s Crossing) สครูว์บอลคอมเมดี้ (Intolerable Cruelty) มิวสิกคอล (O Brother, Where Art Thou?) และคาวบอย (No Country for Old Men) จนอาจกล่าวได้ว่าพวกมันเป็นหนังสำหรับคนรักหนังอย่างแท้จริง และความชื่นชอบใน เพรสตัน สเตอเจส (Sullivan’s Travels, The Lady Eve) ก็ทำให้หลายครั้งสองพี่น้องโคนมักจะเบรกผลงาน ซีเรียสของตนด้วยหนังตลกบ้าๆ บวมๆ (Hail, Caesar! งานกำกับชิ้นล่าสุดของทั้งสองก็น่าจะอยู่ในโหมดนี้) ซึ่งบางครั้งก็ได้ผลลัพธ์น่าพอใจอย่าง Raising Arizona และ The Big Lebowski แต่บางครั้งกลับลงเอยด้วยความน่าผิดหวังอย่าง Intolerable Cruelty และ The Ladykillers

อารมณ์ขันไม่เคยห่างหายไปจากหนังของสองพี่น้องโคน แม้กระทั่งในหนังที่ซีเรียสจริงจังที่สุด ทว่าความตลกขบขันก็ไม่อาจกลบเกลื่อนมุมมองอันหดหู่ มืดหม่นต่อโลก ต่อมนุษย์ และกระทั่งการดำรงอยู่ จนไม่น่าแปลกใจว่าทำไมทั้งสองถึงประสบความสำเร็จในการดัดแปลงนิยายของ คอร์แม็ค แม็คคาธีย์ เรื่อง No Country for Old Men มาเป็นภาพยนตร์ ทั้งนี้เพราะแม็คคาธีย์เองก็ขึ้นชื่อในเรื่องการมองโลกแง่ร้ายไม่แพ้กัน ฉากจบของหนังช่วยพิสูจน์สมมุติฐานดังกล่าวได้อย่างชัดเจน เมื่อค่านิยมเก่าๆ ตลอดจนสังคมดั้งเดิมในอดีตได้ถูกทำลายลงอย่างหมดสิ้น จนกระทั่งตัวละครนายอำเภอต้องเอ่ยปากยอมรับว่าเขาไม่อาจตามทันและเหนื่อยล้าเกินกว่าจะเอาชนะ (ขณะเดียวกันบทสรุปดังกล่าวยังสะท้อนอารมณ์ร่วมต่อวิกฤติที่ประเทศอเมริกากำลังเผชิญจากการเปิดฉากทำสงครามกับประเทศอิรักอีกด้วย) เช่นเดียวกัน ฉากจบของ A Serious Man ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าวิบากกรรมของมนุษย์นั้นไม่อาจหมดสิ้น และหลายครั้งก็ปราศจากคำอธิบายที่เป็นเหตุเป็นผล สิ่งเดียวที่เราพอจะทำได้ คือ ก้มหน้ายอมรับชะตากรรม ไม่แตกต่างจากตัวละครเอกใน Inside Llewyn Davis ซึ่งแม้จะพยายามแสวงหาชื่อเสียง ความสำเร็จมากแค่ไหน แต่สุดท้ายกลับต้องมาลงเอย ณ จุดเดิม บนพื้นทางเดินโกโรโกโสของตรอกแคบๆ แห่งหนึ่ง... ถ้า No Country for Old Men เป็นภาพสะท้อนสังคมยุคใหม่ ความชั่วร้ายแบบใหม่ True Grit ก็คงเปรียบได้กับภาพสะท้อนสังคมยุคเก่า คุณค่าดั้งเดิมที่ยังพอหลงเหลืออยู่ และถึงแม้ฉากจบของหนังจะอบอวลไปด้วยอารมณ์หม่นเศร้า แต่อย่างน้อยมันก็ช่วยจุดประกายความหวังและศรัทธาแห่งมนุษย์ 

ไม่มีความคิดเห็น: