วันอาทิตย์, กันยายน 09, 2561

Love, Simon: Waiting to Exhale


หลายคนอาจนึกในใจว่าหนังอย่าง Love, Simon มาช้าเกินไปหรือเปล่าสำหรับยุคที่กระแส LGBT เริ่มทะลุทะลวงไปสู่วงกว้าง การเรียกร้องสิทธิให้คนเพศเดียวกันแต่งงานกันได้กลายเป็นเรื่องแพร่หลาย ในนิยาย YA แนวชายรักชายร่วมสมัยหลายเล่ม อารมณ์รักร่วมเพศหาใช่ปมสำคัญ หรือปัญหาน่ากลัดกลุ้มอีกต่อไป ส่วนบรรดาพ่อแม่ก็มักจะมีหัวสมัยใหม่ (หรือเรียกง่ายๆ ว่าลิเบอรัล) เปิดกว้างทางเพศ บางคนไม่เพียงรับได้ที่ลูกชายเป็นเกย์เท่านั้น แต่ยังถึงขั้นจัดงานฉลองเปิดตัว หรือพยายามจับคู่ให้ลูกชายเลยด้วยซ้ำ รักร่วมเพศไม่ใช่ตราบาปมากเท่ากับเมื่อ 20 ปีก่อน ตอนที่วงการ Queer Cinema เริ่มสร้างหนังวัยรุ่นในประเด็น coming out ออกมาอย่างต่อเนื่อง เช่น Beautiful Thing (1996), Get Real (1998) และ Edge of Seventeen (1998) ตามแนวความเชื่อว่าขั้นตอน coming out คือ กลยุทธ์ทางการเมืองอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของกลุ่มเกย์กับเลสเบี้ยน เพื่อปลดเปลื้องเกราะคุ้มครอง หรือเสื้อคลุมล่องหน (รสนิยมทางเพศต่างจากสีผิว หรือเชื้อชาติตรงที่มันไม่สามารถดูออกจากภายนอก หากคุณไม่ประพฤติตัว “ชัดเจน” เกินไป) แล้วทำให้สิ่งที่มองไม่เห็นกลายเป็นสิ่งที่มองเห็น

แน่นอน coming out เป็นขั้นตอนที่บีบคั้นทางอารมณ์ และบางครั้งอาจถึงขั้นสุ่มเสี่ยงต่ออันตราย (หลายแห่งบนโลกยังมีความพยายามที่จะ รักษาอาการรักร่วมเพศผ่านการบำบัดหรือจับเข้าค่าย) แต่ก็เชื่อกันว่ามันมีความหมายอย่างยิ่งต่อการเรียกร้องสิทธิเท่าเทียม ในหนังสารคดีขนาดสั้นเรื่อง Lavender (1972) ซึ่งเล่าถึงชีวิตประจำวันของคู่รักเลสเบี้ยน หญิงสาวคนหนึ่งสารภาพว่าเธอกลัวที่จะต้องเปิดเผยตัวเอง (ว่าชอบผู้หญิงด้วยกัน) ต่อหน้ากล้อง แต่มันเป็นหนทางเดียวที่จะเปลี่ยนทัศนคติคน เพราะการไม่เคยสัมผัส รับรู้ชีวิตของเลสเบี้ยนทำให้ทัศนคติของเหล่าผู้นิยมรักต่างเพศยังคงปิดกั้นและคับแคบ ในสารคดีเรื่อง In the Best Interests of the Children (1977) ซึ่งเล่าเรื่องราวของบรรดาคุณแม่เลสเบี้ยนกับลูกๆ ของเธอ ผู้หญิงผิวสีนางหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่าหนทางเดียวที่จะเปลี่ยนใจคน คือ “ต้องให้พวกเขารู้จักเราให้มากขึ้น อ่านหนังสือของเรา ดูหนังของเรา”

นี่อาจเป็นเหตุผลว่าทำไม Love, Simon ถึงได้รับการโปรโมตอย่างกระหน่ำผ่านสื่อว่าเป็นหลักไมล์สำคัญ ไม่ใช่เพราะมันนำเสนอเนื้อหา หรือแง่มุมแปลกใหม่เกี่ยวกับ LGBT แต่เพราะมันเป็นหนังวัยรุ่นเรื่องแรกจากทุนของสตูดิโอยักษ์ใหญ่ ที่พูดถึงประเด็นการ coming out แล้วเปิดฉายแบบปูพรมในวงกว้าง (2,400 โรง) ตั้งแต่สัปดาห์แรก เรียกได้ว่ายึดโรงมากกว่า Brokeback Mountain เสียด้วยซ้ำ (แม้สุดท้ายมันจะลงเอยทำเงินได้ไม่มากเท่าหนังเกย์คาวบอยของอังลีก็ตาม) อีกหนึ่งจุดที่น่าสนใจ คือ หนังถูกสร้างออกมาเพื่อเจาะตลาดกระแสหลัก ไม่ใช่กลุ่มคนดูหนังอาร์ต หนังรางวัลเหมือนกับหนังเควียร์ส่วนใหญ่ ก่อนหน้านี้หนังแนวตลกโรแมนติกของเกย์/เลสเบี้ยนอาจเคยถูกสร้างมาแล้วมากมายหลายเรื่อง แต่ไม่มีเรื่องไหนเข้าฉายแบบอึกทึกครึกโครมเท่านี้ ฉะนั้นจะถือว่ามันเป็นความก้าวหน้าก็ว่าได้ เป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในการทำให้พวกเขา รู้จักเรามากขึ้น

ขั้นตอน coming out อาจแบ่งคร่าวๆ ได้ 3 ระยะ คือ 1) เปิดเผยกับตัวเอง (ตระหนักถึงอารมณ์รักร่วมเพศ ยอมรับ และยินดีเดินหน้าทำตามความรู้สึกของตัวเอง) 2) เปิดเผยกับเกย์และเลสเบี้ยน (ไปเที่ยวผับเกย์ เข้าร่วมกลุ่มกิจกรรม) และ 3) เปิดเผยกับคนรอบข้าง (ทั้งในชีวิตประจำวัน เช่น เพื่อน ครอบครัว พี่น้อง และต่อสาธารณชน เช่น ติดเข็มกลัดธงรุ้ง ไปร่วมงานพาเหรด กอดจูบ จับมือกับคนรักตามท้องถนน) ใน Love, Simon กว่าเรื่องราวในหนังจะเริ่มต้น ตัวละครเอกก็ coming out กับตัวเองไปเรียบร้อยแล้ว นับแต่เขาเริ่มตระหนักถึงความรู้สึก แปลกประหลาด” ต่อ แดเนียล แรดคลิฟฟ์ ในหนังชุด Harry Potter ปัจจุบันเขาไม่ได้ขัดแย้ง สับสน หรือต่อต้านอารมณ์รักร่วมเพศ แถมยินดีทำตามความรู้สึกดังกล่าวด้วย เช่น เมื่อเขาพยายามจะผูกสัมพันธ์อย่างอิหลักอิเหลื่อกับคนสวนหนุ่มหล่อ ด้วยเหตุนี้ โฟกัสหลักของหนังจึงไปตกอยู่กับระยะ 2 และ 3 ของการ coming out ซึ่งให้ความรู้สึกเป็นรูปธรรมกว่า และบีบเค้นดรามาได้ชัดกว่าความขัดแย้งภายในจิตใจ (คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่าหนังอย่าง Brokeback Mountain ถือเป็นหนังที่พูดถึงระยะที่ 1 ของการ coming out อยู่กลายๆ เมื่อในตอนท้าย เอนนิส เดลมาร์ พลันตระหนักและสามารถทำใจยอมรับความรู้สึกที่เขามีต่อ แจ็ค ทวิสต์ ได้ในที่สุด หลังพยายามปฏิเสธ หรือกีดกันมันมาตลอด)

อันที่จริง ไซมอนไม่น่าจะรู้สึกกดดันมากนักในการ coming out กับคนรอบข้าง เมื่อพิจารณาว่าเพื่อนๆ สนิทของเขาส่วนใหญ่ต่างก็ดูเป็นมิตร น่าคบหา ไม่ใช่กลุ่มนักกีฬา/นักเลงที่อุดมไปด้วยเทสโทสเตอโรน (แม้จะมีคนหนึ่งเป็นนักฟุตบอลก็ตาม) ส่วนพ่อแม่เขาก็ดูเปิดกว้าง หัวสมัยใหม่ ไม่ได้เคร่งศาสนา (ในฉากหนึ่งเราจะเห็นแม่ของเขากำลังทำป้ายต่อต้านแนวคิดปิตาธิปไตย) แต่ไซมอนให้เหตุผลว่าที่เขายังไม่อยากบอกใครเพราะนี่เป็นปีสุดท้ายของช่วงชีวิตวัยมัธยม เขาอยากสนุกสนาน เก็บเกี่ยวความสุขให้เต็มที่ เขาไม่อยากให้ทุกอย่าง เปลี่ยนแปลงหรือตึงเครียด แม้ลึกๆ แล้วความหวาดกลัวน่าจะเป็นสาเหตุสำคัญ และฝังรากลึกอยู่ในจิตใต้สำนึกของรักร่วมเพศ เมื่อพวกเขาตระหนักว่าตัวเองแตกต่างจากมาตรฐานที่ยึดถือ สั่งสอนกันมา ส่วนพ่อที่ดูใจดีก็ไม่ได้สูงส่ง หรือละเอียดอ่อนจนไม่เคยเล่นมุกตลกเหมารวม หรือล้อเลียนความเป็นเกย์ จริงอยู่คำพูดเผลอไผล หรือสนุกปากในบางครั้งอาจไม่ได้สะท้อนธาตุแท้เกี่ยวกับทัศนคติต่อรักร่วมเพศของเขาเสมอไป แต่อย่างน้อยมันก็ทำให้ลูกชายเกย์ของเขาลังเล ไม่แน่ใจว่าพ่อจะเปิดกว้าง หรือยอมรับได้มากแค่ไหน ซ้ำร้ายสถานการณ์อันย่ำแย่ที่เกย์ออกสาวอย่างอีธานต้องเผชิญอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันในโรงเรียน (แม้เขาจะจัดการปัญหาได้อย่างมือโปร) ยิ่งทำให้ไซมอนต้องคิดหนัก เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าคำล้อเลียน ดูถูกเหล่านั้นจะไม่กัดเซาะ บั่นทอนจิตใจอีธานทีละน้อย ไม่ต่างจากการเสแสร้งของเหล่าญาติๆ อีธาน ซึ่งทำเหมือนกับว่าเขาไม่ได้ come out ไปแล้ว และยังคงปฏิบัติเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

น่าสังเกตว่า Love, Simon เลือกจะเดินทางสายกลางโดยไม่ คุกคาม” หรือโดดเดี่ยวตลาดกลุ่มใหญ่ ด้วยการวางตัวละครเอกเป็นเด็กหนุ่มผิวขาวหน้าตาหล่อเหลา มีบุคลิกเหมือนเด็กหนุ่มข้างบ้านทั่วๆ ไป (ในตอนต้นเรื่องเขาพยายามย้ำเตือนคนดูว่าผมก็เหมือน คุณนั่นแหละ) ไม่ใช่คาวบอยแมนๆ หรือเด็กผิวดำ หรือเกย์สาวแตก เขาสามารถเล่นละครเพลง Cabaret และนั่งดูฟุตบอลได้อย่างกลมกลืน เขาอาจตระหนักถึงเส้นที่ มองไม่เห็น” แล้วไม่อาจก้าวข้ามเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสังคมรักต่างเพศได้ แต่ในเวลาเดียวกันก็รู้สึกเหมือนตัวเองเป็นคนนอกภายใต้วัฒนธรรมเกย์กระแสหลัก มีอยู่ฉากหนึ่งไซมอนบอกว่าเขาอาจเปิดตัว ใช้ชีวิตชาวเกย์เต็มรูปแบบตอนเรียนมหาวิทยาลัย ตามมาด้วยภาพในจินตนาการสไตล์ละครเพลงบรอดเวย์ ก่อนจะตบท้ายว่า “โอเค อาจไม่เกย์ขนาดนั้น” หรือจริงๆ แล้วทั้งหมดเป็นแค่กลไกป้องกัน อำพรางตัวของไซมอน เขาเลือกจะแต่งกายเรียบง่าย ไม่สะดุดตา ไม่แสดงท่าทางตุ้งติ้ง เพราะไม่อยากถูก “มองออก” ตั้งแต่แวบแรกเหมือนอีธาน ซึ่งกล้าจะเป็นตัวของตัวเองแต่ก็ต้องรับผลพวงที่ตามมา

พล็อตหลักในการสืบหาตัวตนที่แท้จริงของบลูช่วยสรุปความยากลำบากของชีวิตรักร่วมเพศ ซึ่งเต็มไปด้วยความลับ ความระแวดระวัง และการปิดบังซ่อนเร้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่เพิ่งจะค้นพบเพศวิถีของตนเอง พวกเขาไม่อาจกระโจนเข้าใส่ แล้วประกาศแรงปรารถนาของตนต่อหน้าสาธารณชนได้อย่างเปิดเผยแบบมาร์ติน ขั้นตอนการเข้าหา ทำความรู้จักล้วนต้องทำภายใต้ภาวะนิรนาม เพราะต่างฝ่ายต่างก็ยังไม่ต้องการเปิดเผยตัวตนให้ใครรู้ ต่างยังคงยึดมั่นอยู่กับเสื้อคลุมล่องหนของตน เพราะคิดว่ามันจะทำให้ชีวิตพวกเขา ง่ายขึ้น” แต่ที่จริงแล้วตรงกันข้าม หนังมีฉากเล็กๆ ฉากหนึ่งซึ่งน่ารักดี เป็นตอนที่แอ็บบี้แอบเมาท์นักกีฬาหนุ่มหล่อกับไซมอนหลังเขาบอกความจริงเธอ นี่เป็นครั้งแรกที่ไซมอนได้เป็นตัวของตัวเองที่สุดในรอบหลายปี หรือตามคำอุปมาของแม่เขา เป็นครั้งแรกที่ไซมอนไม่ต้องกลั้นหายใจต่อหน้าคนอื่น และความสุขดังกล่าวคุ้มค่ากับความทุกข์ทรมานของการ coming out

 เพราะนายก็คู่ควรกับความรักที่ยิ่งใหญ่เช่นกัน” ไซมอนเขียนสารภาพในตอนท้ายกับบลู ชายหนุ่มที่เขาตกหลุมรักทางอีเมล แต่ไม่เคยเห็นหน้า ความกระตือรือร้นของ Love, Simon ที่จะชักชวนคนดูให้ล่องลอยสู่ความอิ่มเอม ประทับใจอาจเป็นการเล่นใหญ่เกินเบอร์ไปบ้าง หรือชวนให้ประชดประชัน เช่น จะเป็นยังไงถ้าปรากฏว่าบลูกลายเป็นเด็กอ้วนหน้าตาอัปลักษณ์ แต่ถึงที่สุดแล้วการมาถึงของหนังเรื่องนี้ก็ยังถือเป็นเรื่องน่าเฉลิมฉลองอยู่ดี เป็นก้าวแรกสู่อนาคตที่ดีกว่า เมื่อ พวกเขา” จะมีโอกาสได้มานั่งดูเรื่องราวความรักอันยิ่งใหญ่ของ พวกเรา” บ้าง หลังจากพวกเราต้องนั่งดูเรื่องราวความรักของพวกเขามาตลอดชีวิต ถ้าพวกเราสามารถซาบซึ้งกับภาพ จอห์น คูแซ็ค ยืนถือบูมบ็อกซ์เปิดเพลงหน้าบ้านสาวคนรักใน Say Anything ได้ พวกเขาก็สามารถซาบซึ้งกับภาพ นิค โรบินสัน นัดเจอหนุ่มบนชิงช้าสวรรค์ได้เช่นกัน แน่นอนว่า execution ก็เรื่องหนึ่ง แต่แก่นสารหลักๆ คือ การเปิดโลกให้ชาวรักต่างเพศทั้งหลายได้รู้จัก คุ้นเคย รวมถึงค่อยๆ เปิดใจยอมรับความแตกต่าง ความหลากหลาย และความลื่นไหล  เพื่อว่าวันหนึ่งสังคมจะไปถึงจุดที่พ่อแม่ดาราไม่จำเป็นต้องโกรธเคืองเมื่อลูกชายถูกกล่าวหาว่าเป็นเกย์ และประเด็นใครเป็นหรือไม่เป็นเกย์จะไม่ใช่ตราบาป หรือเรื่องสลักสำคัญใดๆ อีกต่อไป