วันอาทิตย์, มีนาคม 19, 2560

Trainspotting: กระหายชีวิต


เลือกชีวิต เลือกงาน เลือกอาชีพ เลือกครอบครัว เลือกทีวีจอใหญ่ๆ เลือกเครื่องซักผ้า รถ เครื่องเล่นซีดี และที่เปิดประป๋องอัตโนมัติ... เลือกอนาคต เลือกชีวิต แต่ทำไมผมถึงต้องอยากทำในสิ่งเหล่านั้นด้วย ผมเลือกที่จะไม่เลือกชีวิต ผมเลือกสิ่งอื่นแทน เหตุผลน่ะเหรอ ไม่มีหรอก ใครบ้างต้องการเหตุผลตอนกำลังเมาเฮโรอีนมาร์ค เรนตัน

ชั่วชีวิตหนึ่งของมนุษย์มักประกอบขึ้นด้วยรูปแบบโดยรวมคล้ายคลึงกัน นับแต่การเกิด เติบโต เล่าเรียน ทำงาน สร้างครอบครัว และดำรงตนจนกระทั่งวันตาย ยิ่งหากเป็นชีวิตของคนในเมือง ในสังคมบริโภคนิยมเช่นปัจจุบันด้วยแล้ว รูปแบบดังกล่าวก็ดูเหมือนจะชัดเจนขึ้น เข้มงวดขึ้น จนใครที่หาญผ่ากฎมักจะถูกตัดสินว่า นอกรีตทันที

วัฒนธรรมของสังคมดังกล่าวเห็นเงินเป็นพระเจ้า ตัดสินชนชั้นด้วยวัตถุ วัดค่าความสุขจากสภาพเศรษฐกิจ และวิเคราะห์ผู้คนโดยอาศัยเพียงรูปกายภายนอก ดังนั้นประชากรในระบบนี้จึงมุ่งหน้าทำงานเพื่อสร้างความมั่นคงจอมปลอมแก่ครอบครัว ทุ่มเทจิตวิญญาณทั้งหมดให้กับการแสวงหาเงินทองมาปรนเปรอความสุขสบาย ทำให้บางครั้งต้องฝัง ตัวตนแห่งปัจเจกไว้ตรงเบื้องลึกสุดของจิตใจ แล้วแสร้งลืมมันไปเสีย ทุกคนพากันประพฤติตามค่านิยมเหล่านั้นจนเริ่มไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องผิดปกติหรือน่าโต้แย้งอีกต่อไป

มาร์ค เรนตัน ถูกปลูกฝังความคิดลักษณะนี้มาเช่นกัน แต่เขาเลือกที่จะปฏิเสธมันเสีย

แทนที่จะเลือก ชีวิตมาร์ค เรนตัน กลับเผาผลาญชีวิตด้วยยาเสพติด เช่นเดียวกับเพื่อนๆ อีกสี่คนของเขา คือ สปัด ชายเซื่องๆ ที่ไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อใคร, ซิกบอย หนุ่มหน้าใสผู้นับถือ ฌอน คอนเนรี เป็นฮีโร่ในดวงใจ, เบ็กบี นักเลงขี้เหล้าชอบใช้กำลังตัดสินปัญหา และทอมมี สมาชิกคนเดียวในกลุ่มที่ดู ปกติสุด เพราะไม่ติดเฮโรอีนหรือเหล้า แต่ชอบถ่ายวิดีโอขณะตนร่วมรักกับแฟนไว้ดูเล่น

ชีวิตวันๆ ของพวกเขาถ้าไม่หมดไปกับการเสพยา ก็จะออกเตร็ดเตร่ตามท้องถนน บาร์เหล้า มีความสัมพันธ์ทางเพศแบบฉาบฉวยกับคู่ขาหรือหญิงสาวรักสนุกสักคน เลี้ยงชีพอยู่ด้วยเงินสวัสดิการของรัฐและของพ่อแม่ แต่ถ้ามันเกิดขาดมือเมื่อไหร่ พวกเขาก็ไม่ลังเลที่จะก่ออาชญากรรม ตั้งแต่งานเล็กๆ น้อยๆ เช่น ปลดทรัพย์ลูกค้าของบาร์ ขโมยยาจากโรงพยาบาล ลักเฟอร์นิเจอร์ในบ้านพักคนชราไปขาย ไปจนถึงงานใหญ่อย่างปล้นร้านขายของชำ

ฉากหนึ่งที่แสดงให้เห็นการปฏิเสธวิถีชีวิต คนทำงานของขี้ยากลุ่มนี้ได้ชัดเจนและน่าหัวเราะที่สุด คือ ตอนสปัดถูกสำนักจัดหางานส่งตัวไปสอบสัมภาษณ์ในบริษัทแห่งหนึ่ง โดยหากเขาไม่ให้ความร่วมมือ และตั้งใจให้สัมภาษณ์ เขาก็จะอดเงินสวัสดิการของรัฐไปตลอด แต่ขณะเดียวกันหากเขาทำดีเกินไปก็อาจจะได้งานนั้นขึ้นมาจริงๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าพิสมัยสำหรับพวกเขาแม้แต่น้อย

ตัวละครแบบ มาร์ค เรนตัน มักพบเห็นบ่อยครั้งในหนังคาวบอย แก๊งสเตอร์ หรืออาชญากรรมในฐานะ โจรกลับใจผู้มองเห็นความผิดพลาดของตนเองจนพยายามวางมือได้ในที่สุด แต่แล้วก็มักจะถูกดึงให้กลับไปหาสิ่งที่เขาพยายามบอกเลิก ซ้ำแล้วซ้ำเล่า วนเวียนซ้ำซาก แม้แต่บทสรุปในฉากสุดท้ายก็ยังคงไม่มีอะไรแน่นอน

มาร์คเป็นคนเดียวในกลุ่มที่รู้สึกอยากจะเปลี่ยนวิถีชีวิตของตนเองเสียใหม่ เขาพยายามเลิกยาโดยมีซิกบอยเป็นเพื่อน ซึ่งไม่ใช่ด้วยการต้องการเปลี่ยนแปลงตัวเอง แต่เพียงต้องการยั่วมาร์คให้เห็นว่าเขาสามารถเลิกยาได้อย่างง่ายดายเท่านั้น ทุกครั้งที่มาร์คสาบานกับตัวเองว่าจะฉีดยาเป็นครั้งสุดท้าย ความตั้งใจนั้นก็มักจะพังครืนลงทุกคราวไป

จุดพลิกผันสำคัญที่ทำให้มาร์คเริ่มปฏิวัติตัวเองด้วยการเดินทางเข้าลอนดอน ทำงานเป็นเซลส์ติดต่อขายห้องพัก และเลิกข้องเกี่ยวกับยาเสพติดหรือสิ่งผิดกฎหมาย คือ ภาพจินตนาการชวนสยองจากอดีตอันเลวร้ายที่หวนมาหลอกหลอนเขาในช่วงหักดิบ เช่น การตายของทารก ลูกของอัลลิสันกับ หนึ่งในห้าซึ่งต่างไม่มีใครรู้ว่าใครเป็นพ่อเด็กกันแน่ แม้แต่ตัวอัลลิสันเอง การที่สปัดต้องติดคุกแต่เพียงผู้เดียวทั้งที่ร่วมปล้นร้านค้าด้วยกันกับมาร์ค การติดยาของทอมมีที่ไม่อาจทนความเจ็บปวดของการถูกแฟนสาวทิ้งได้ เลยต้องหันไปพึ่งพาเฮโรอีน รวมไปถึงการต้องทดสอบเลือดว่ามีเชื้อ HIV หรือไม่ ความผิดบาปในใจมาร์คทั้งหมดถูกถ่ายทอดในลักษณะแฟนตาซี นับแต่ทารกไต่มาตามกำแพง ก่อนจะหันบิดหัว 360 องศามามองมาร์ค สปัดนั่งเคาะเท้าบนขอบประตูโดยมีโซ่ล่ามเท้าสองข้าง จนถึงรายการเกมโชว์ทางทีวี ซึ่งมีพ่อแม่ของมาร์คไปทายปัญหาเกี่ยวกับเชื้อไวรัสร้ายแรง พร้อมสรุปลงท้ายด้วยคำถามว่า เขาผิดหรือไม่ผิดอันหมายถึงตัวมาร์คนั่นเอง คำพูดที่พ่อกับแม่เขาตอบกลับมา คือ เขาเป็นลูกชายของเราบ่งชี้ถึงความรักและการให้อภัย ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่คุณและคุณนายเรนตันทำ พวกเขาให้โอกาสลูกชายเสมอ

มาร์คควรดีใจและสำนึกได้ แต่มันผิดปกติหรือหากใจเขายังรู้สึกแปลกแยกและว้าเหว่

ช่องว่างระหว่างมาร์คกับพ่อแม่ถูกถ่ายทอดเป็นรูปธรรมในตอนที่พวกเขาพาลูกชายไปเล่นบิงโก โดยขณะที่ทุกคนกำลังร่าเริงมีความสุข พร้อมกับเคลื่อนไหวไปมาอย่างรวดเร็วโดยเทคนิคภาพยนตร์ มาร์คกลับนั่งนิ่งอยู่บนเก้าอี้ท่ามกลางความสับสนอลหม่าน ใบหน้าของเขาไม่แสดงอารมณ์ร่วมกับคนเหล่านั้น มันเป็นฉากที่สะท้อนความแปลกแยกของมาร์คกับคนรุ่นก่อนได้อย่างชัดเจนและชวนสะเทือนใจ

ขณะเดียวกันหนังยังสร้างตัวละครอย่างไดแอน เด็กนักเรียนแก่แดด ขึ้นมาถ่วงดุลได้อย่างน่าสนใจด้วย เพราะหากเทียบกับเธอแล้ว มาร์คแทบจะกลายเป็นเด็กอ่อนหัดไปเลย เวลาเปลี่ยนแปลง ยาเปลี่ยนแปลง ดนตรีเปลี่ยนแปลง ผู้คนก็เปลี่ยนแปลงเพียงสิ่งเดียวเท่านั้นที่ยังคงอยู่ คือ ช่องว่างระหว่างคนสองรุ่น มองเช่นนี้ หนังจึงให้อารมณ์ความรู้สึกใกล้เคียงกับหนังอย่าง The Graduate และ Rebel without a Cause อยู่ไม่น้อย

กลุ่มอนุรักษ์นิยม หรือคนรุ่นเก่าหัวคับแคบอาจไม่ชอบใจหนังเรื่องนี้สักเท่าไหร่ตรงที่มันสะท้อนภาพความสุขของการเสพเฮโรอีน ซ้ำเผินๆ ยังดูเหมือนจะพยายามเชิดชู มอบความหมายให้แก่พฤติกรรมเหลวแหลก ชั่วร้าย ไร้สาระของขยะสังคมกลุ่มหนึ่ง โดยไม่ทันคำนึงว่า นัยยะลึกๆ ของหนังมุ่งเน้นเพื่อตั้งคำถามต่อค่านิยมแห่งการดำรงชีวิตในปัจจุบันมากกว่า และแน่ล่ะ หนังก็ไม่ได้บอกอีกเช่นกันว่า การเสพเฮโรอีนคือคำตอบต่อการแสวงหาดังกล่าว เพราะจริงๆ แล้วมันไม่มีบทสรุปอันชัดเจนนั่นเอง

Trainspotting ไม่ใช่หนังแนว social realism เกี่ยวกับชีวิตหลงผิดของพวกขี้ยา ซึ่งจะต้องจบลงด้วยความสุขสันต์เมื่อพวกเขาสามารถกลับตัวกลับใจมาเป็นคนดีของสังคมได้ หรือไม่ก็รับกรรมจากโทษของยาเสพติดจนสาสม ขณะเดียวกันภาพลักษณ์ของมาร์คกับผองเพื่อนก็ไม่ได้ใกล้เคียงกับการเป็น เหยื่อแห่งจิตสำนึกใฝ่ต่ำ สังคมอันเลวร้าย หรือสถาบันครอบครัวที่เย็นชาเลยแม้แต่น้อย เขาไม่ได้ถูกบีบให้ติดยา แต่ เลือกที่จะติดยามากกว่า เพราะรู้สึกไม่พอใจต่อค่านิยมปกติของสังคมและพยายามแสวงหาความหมายจากการเสพยา ซึ่งสุดท้ายสิ่งที่เขาค้นพบล้วนเต็มไปด้วยความว่างเปล่า ใกล้เคียงกับอารมณ์ร่วมของกลุ่มฮิปปี้ในอเมริกายุค 60

ชื่อของหนังเองก็มีส่วนเปรียบเปรยถึงแง่มุมดังกล่าวเช่นกัน เนื่องจากคำว่า Trainspotting มีความหมายถึงการเฝ้ามองรถไฟและเก็บหมายเลขเครื่องยนต์ อันเป็นงานอดิเรกอย่างหนึ่งของคนอังกฤษ อุปมาได้กับการแสวงหาแก่นสารให้กับชีวิตที่ไร้จุดหมาย โดยทำในสิ่งที่ไม่มีแก่นสารในตัวมันเอง เช่นเดียวกับการเสพเฮโรอีนของเหล่าตัวเอก

สิ่งที่มาร์คไม่พอใจในชีวิตปกติ ได้แก่ การต้องคอยห่วงกังวลในทุกๆ เรื่อง กลัวไม่มีเงิน กลัวตกงาน กลัวจะกินเหล้ามากไปจนลุกขึ้นไปทำงานตอนเช้าไม่ไหว กลัวสุขภาพจะเสีย ฯลฯ กลัวสารพัดสารพันจะกลัว จนทำให้รู้สึกว่าชีวิตขาดเสรี สิ้นไร้ความสำราญ จากการ ตีกรอบให้มันมากเกินไป ชีวิตขี้ยาให้มาร์คได้ในสิ่งที่ตรงกันข้าม เขาสามารถลืมทุกสิ่งเมื่อเฮโรอีนฉีดเข้ากระแสเลือด ดังจะเห็นได้จากสองฉากเด่นของหนัง คือ ตอนที่มาร์คต้องควานหายาในโถส้วมที่สกปรกที่สุดของสกอตแลนด์ และตอนที่เขาดำดิ่งลงไปยังพื้นห้อง มาร์คไม่ต้องคิดกังวลเรื่องสุขภาพจะเสีย ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่มีเงิน เพราะสามารถหาแบบทุจริตมาได้ง่ายๆ หลายทาง และเมื่อไม่มีงาน ก็ไม่ต้องกลัวว่าจะตกงาน

แต่ชีวิตแบบนี้มันมีจุดหมายอันใดเล่า

มาร์คเริ่มตระหนักในความว่างเปล่า ไร้แก่นสารของชีวิตขี้ยา เมื่อมองเอาจากชะตากรรมของเพื่อนรอบข้าง โดยเฉพาะทอมมี ผู้ขายทุกสิ่งในห้องพักเพื่อเอาเงินมาซื้อยาเสพ มีสภาพร่างกายและจิตใจทุรนทุราย ก่อนที่สุดท้ายก็ตายอย่างโดดเดี่ยวในอพาร์ตเมนต์เน่าๆ กับแมวตัวหนึ่ง ด้วยเหตุนี้ มาร์คจึงตัดสินใจย้ายมาลอนดอน เมืองใหญ่ที่สับสนวุ่นวายและมีระเบียบแบบแผนเชิงวัตถุนิยมยิ่งกว่าเมืองเอดินบะระ ซึ่งเขาอาศัยอยู่ก่อนหน้านี้ มากมายนัก วัฒนธรรมความฟุ้งเฟ้อทำให้ชายทุกคนใฝ่ฝันอยากจะเป็น เจมส์ บอนด์ หนึ่งในนั้น คือ ซิกบอย ทั้งนี้เพราะบอนด์มีทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการงานมั่นคง ได้ผจญภัย มีรถ มีเงิน มีผู้หญิงรอบกาย

หนังดำเนินเรื่องในกรุงลอนดอนค่อนข้างรวดเร็ว ไม่มีการทิ้งช่วงความรู้สึกมากนัก แม้แต่ตอนที่มาร์คฉีดยาก็ไม่มีภาพจินตนาการล่องลอยอีกต่อไป มันช่วยตอกย้ำให้เห็นวิถีชีวิตอันเร่งรีบ วุ่นวาย (คราวหนึ่งมาร์คถึงกับไม่ได้ฉีดยาเพราะความต้องการเช่นก่อนๆ แต่ฉีดเพื่อทดสอบก่อนขายว่ายานั้นดีจริงหรือไม่) งานที่มาร์คทำก็ดูไม่ค่อยน่าสนใจเท่าใดนัก แต่เขาก็อดทนด้วยความต้องการจะเป็น ส่วนหนึ่งของสังคม ก่อนทุกอย่างจะล่มสลายเมื่อเบ็กบี, ซิกบอย และสปัดโผล่มาหาพร้อมข้อเสนอให้มาร์คสละเงินเก็บไปซื้อผงจากพ่อค้าที่กำลังเร่งระบายของ จากนั้นค่อยนำมาขายต่อในราคาแพงลิบลิ่ว มาร์คตกลงร่วมมือ แต่พองานสำเร็จเขากลับเชิดเงินหนีไปคนเดียว แต่ไม่ลืมที่จะแบ่งเงินก้อนหนึ่งไว้ให้สปัดด้วยเหตุผลว่า เขาไม่เคยทำร้ายใคร

ในฉากจบคนดูจะเห็นมาร์คค่อยๆ เดินเข้าหากล้อง พร้อมกับเสียงความคิดเขาที่ดังขึ้นว่า ทำไมผมจึงทำเช่นนั้นเหรอ ผมสามารถให้คำตอบได้เป็นล้านข้อ แต่ไม่มีข้อไหนถูก ความจริงก็คือเพราะผมเป็นคนเลว แต่สิ่งนั้นมันกำลังจะเปลี่ยนไป ผมจะเปลี่ยนตัวเอง นี่จะเป็นครั้งสุดท้ายที่ผมทำชั่ว ตอนนี้ผมบริสุทธิ์ผุดผ่อง และกำลังเดินไปข้างหน้าเพื่อเลือกชีวิต ผมตั้งตาคอยมันอยู่ ผมจะเป็นเช่นพวกคุณ งาน ครอบครัว ทีวีจอยักษ์ เครื่องซักผ้า รถยนต์ คอมแพ็คดิสก์ ที่เปิดกระป๋องอัตโนมัติ สุขภาพแข็งแรง คลอเรสเตอรอลต่ำ สูทสามชิ้น เกมโชว์ พาเด็กๆ เดินเล่นสวนสาธารณะ ตีกอล์ฟเก่ง ฉลองคริสต์มาสกับครอบครัว ท่อระบายน้ำไม่อุดตัน ชีวิตผันผ่านเพื่อคอยวันตาย

ดูเหมือนเป็นตอนจบสุขสันต์ ชายติดยากลับตัวได้ แต่ทำไมเราจึงไม่รู้สึกฮึกเหิมไปกับจุดหมายของมาร์คสักเท่าไหร่ ประการแรกคงเพราะอารมณ์เย้ยหยันที่ผู้สร้างแฝงเอาไว้ ประการต่อมา เพราะหนังได้ชี้ให้เห็น วิญญาณที่ถูกทำลายจากประเพณีนิยม เลือกชีวิตของสังคมปัจจุบันมาตลอดทั้งเรื่อง เช่นนั้นแล้วเราจะรู้สึกพอใจได้อย่างไร เมื่อมาร์คกำลังถอยกลับสู่จุดที่เขาเคยปฏิเสธว่ามันไม่ใช่ความหมายแท้จริงของชีวิต หลังหมดเวลาไปกับความว่างเปล่าแห่งการเสพยาอยู่เนิ่นนาน ตอนจบของ Trainspotting เต็มไปด้วยอารมณ์แสวงหา โดยไม่ชี้แนะ ตัดสินว่าการดำรงชีวิตแบบใดกันแน่ที่ถูกต้อง หรือผิดพลาด

เคยมีคนกล่าวว่า ชีวิตแบบ มาร์ค เรนตัน เปรียบได้กับคนที่มีก้อนเค้กในมือแล้วฟาดมันซะเรียบในคราวเดียว เพราะเขาใช้ชีวิตอันหดสั้นอย่างคุ้มค่า สมบุกสมบัน แต่ขณะเดียวกันก็เห็นแก่ตัวอย่างร้ายกาจ บทสรุปซึ่งมาร์คยอมแบ่งเงินให้สปัดส่วนหนึ่งเป็น น้ำใจที่ให้ความรู้สึกดีๆ เพียงครั้งเดียวในหนัง หลังจากทั้งเรื่องอัดแน่นไปด้วยอาชญากรรม การใช้กำลัง การทรยศหักหลังและยกตนข่มท่านมาตลอด บางทีนั่นเองอาจเป็นคุณค่าแท้จริงของชีวิต เมื่อเรารู้จักแบ่งเค้กในมือให้คนอื่นๆ อย่างทั่วถึงยุติธรรม

หนังสร้างจากหนังสือชื่อเดียวกันของ เออร์วิน เวลช์ (เล่นเป็นตัวประกอบในหนังด้วยกับบทพ่อค้ายา มิคกี้ ฟอร์เรสเตอร์) ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1993 ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างสูงทันทีที่ออกวางจำหน่าย นักวิจารณ์วรรณกรรมบางคนถึงกับสรรเสริญให้เป็น งานเขียนที่ดีที่สุดเท่าที่มนุษย์ ไม่ว่าชายหรือหญิง เคยประพันธ์ขึ้นบนพื้นพิภพแห่งนี้... สมควรจะขายได้มากกว่าคำภีร์ไบเบิล

กลวิธีการนำเสนอเรื่องราวอยู่ในลักษณะ ชุดบทความสั้นๆโดยแต่ละตอนอาจจะไม่ปะติดปะต่อกันเลย เหมือนกับภาพที่แวบเข้ามาในมโนจิต ส่วนใหญ่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัวเอก คือ มาร์ค เรนตัน ทั้งที่เกี่ยวกับผองเพื่อนของเขาและเรื่องของตัวเขาเอง จุดเด่นของงานเขียนชิ้นนี้ คือ การเปรียบเทียบถึงวัฒนธรรมและวิถีชีวิตสองรูปแบบที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดยไม่ตัดสินลงไปว่าแบบใดถูก แบบใดผิด ตัวละครซึ่งเป็นขี้ยาชั้นต่ำไม่ได้ถูกนำเสนอในฐานะเหยื่อจากความผิดพลาดของสังคม ครอบครัว หรือพ่ายแพ้แก่ความต่ำทรามเบื้องลึกของจิตใจตน แต่พวกเขากลับดูเป็นกลุ่มคนซึ่งเปี่ยมอุดมคติ ทะเยอทะยาน กล้าหาญ และแข็งแกร่งขนาดสามารถปฏิเสธการใช้ชีวิตแบบที่สังคมบังคับให้เป็นไป ต่างกับประชากรส่วนใหญ่ผู้ยินดีจะเดินตามเส้นที่ขีดล้อมกรอบเราไว้อย่างเต็มใจ โดยไม่แม้แต่จะขัดขืน หรือตั้งคำถามต่อ คุณค่าแท้จริงของสิ่งที่กำลังทำอยู่เลย นอกจากนั้น งานเขียนชิ้นนี้ยังได้รับการยกย่องจากความร่ำรวยอารมณ์ขันเชิงเสียดสี เยาะหยันในทุกบททุกตอน แม้แต่ช่วงเวลาอันน่าหดหู่ที่สุดของเรื่องราวก็ตาม

ความโด่งดังของ Trainspotting ทำให้มันถูกนำไปดัดแปลงเป็นละครเวทีในอีกหนึ่งปีต่อมา ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างสูงเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม หลายคน รวมถึงตัวเวลช์เอง ไม่คิดว่างานเขียนชิ้นนี้จะเหมาะแก่การนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์เท่าใดนัก เพราะวิธีประพันธ์ทำให้หนังสือไม่มีพล็อตเรื่องแน่ชัด อันจะเป็นอุปสรรคใหญ่หลวงต่อการเล่าเรื่องแบบหนังทั่วไป แต่ผู้กำกับเลือดใหม่อย่าง แดนนี บอยล์ ไม่ชอบอะไรที่ ปกติอยู่แล้ว

หลังโด่งดังกับหนังตลกร้าย-เขย่าขวัญเรื่อง Shallow Grave เกี่ยวกับเพื่อนรักร่วมห้องสามคนที่ผันตัวกลายเป็นศัตรูคู่อาฆาตเพียงเพราะความโลภในเงินตรา ทีมงานชุดสามทหารเสืออันประกอบไปด้วยบอยล์, จอห์น ฮอดจ์ และ แอนดรูว์ แม็คโดแนลด์ (ผู้อำนวยการสร้าง) สามารถกระโดดข้ามไปสร้างชื่อเสียงที่ฮอลลีวู้ดได้สบายๆ พวกเขาได้รับข้อเสนอมากมาย แต่สุดท้ายกลับตอบปฏิเสธไปหมด แล้วเลือกสร้างหนังทุนต่ำ ท้าทายความคิดต่อไป Trainspotting คือ ผลงานที่พวกเขาเลือก พร้อมกับหอบหิ้วเอาดาราคู่ใจจากหนังเรื่องแรก ยวน แม็คเกรเกอร์ มาร่วมงานด้วย

มีความคล้ายคลึงบางประการระหว่าง Trainspotting กับ Shallow Grave เช่น ทั้งคู่มีพล็อตเกี่ยวพันกับมิตรภาพระหว่างเพื่อนอันผันแปรเป็นความขมขื่น การทรยศหักหลัง และกระเป๋าใบหนึ่งซึ่งอัดแน่นไปด้วยเงินผิดกฎหมาย ความต่างสำคัญ คือ ตัวเอกของ Shallow Grave เป็นชนชั้นกลาง ผู้กำลังพยายามจะไต่เต้าเป็นยัปปี้ ทุกคน เลือกชีวิตมีงานมีการ มีทีวีเครื่องใหญ่ เป็นชีวิตแบบที่ มาร์ค เรนตัน ใฝ่ฝันจะเจริญรอยตาม ขณะที่มาร์คสังกัดอยู่ในกลุ่มชนชั้นล่าง อย่างไรก็ตาม ลงท้ายทั้งสองเรื่องดูจะโยนความผิดให้กับสังคมวัตถุนิยมเหมือนๆ กัน


นักวิจารณ์บางคนยกย่องให้ Trainspotting เป็นหนังอังกฤษที่ดีที่สุดแห่งทศวรรษ 1990 อาจเป็นคำยกย่องที่เกินตัวไปนิด เมื่อพิจารณาว่ายังเหลือเวลาอีกเกือบสามปีกว่าจะเริ่มทศวรรษใหม่ แต่กระนั้นมีสองสิ่งที่ไม่อาจโต้แย้งได้เกี่ยวกับ Trainspotting คือ มันเป็น 1 ใน 10 ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี 1996 และ แดนนี บอยล์ เป็นปรากฏการณ์แห่งวงการหนังอังกฤษ กระแสจากงานของเขารุนแรง น่าสนใจ และมุ่งปฏิวัติเชิงสร้างสรรค์ได้ไม่แพ้สิ่งที่ เควนติน ตารันติโน ทำให้กับฮอลลีวู้ดเลยทีเดียว

ไม่มีความคิดเห็น: