วันเสาร์, มีนาคม 25, 2560

Oscar 2017: Directing


เดเมียน ชาเซลล์ (La La Land)

อนาคตของ เดเมียน ชาเซลล์ ดูท่าจะสดใส เจิดจรัสไม่แพ้ฉากเปิดเรื่องของ La La Land เมื่อชาวเมืองแอลเอที่กำลังรถติดอยู่บนทางหลวง ทยอยกันลงจากรถมาร้องเพลงเต้นรำกันอย่างสนุกสนานท่ามกลางแสงแดดแผดจ้า เพราะแม้จะมีอายุแค่ 31 ปี แต่ผู้กำกับ/นักเขียนบทชาวอเมริกันผลิตผลงานชั้นยอดมาแล้วหนึ่งชิ้น นั่นคือ Whiplash ในปี 2014 และหนังเรื่องล่าสุดของเขากำลังจะก้าวไปไกลกว่านั้นอีกขั้น ทั้งในแง่เสียงชื่นชมของนักวิจารณ์และเสียงตอบรับของคนดู มันถูกวางให้เป็นเต็งหนึ่งบนเวทีออสการ์ และสามารถทำเงินในอเมริกาได้เกิน 100 ล้านเหรียญ... ไม่เลวทีเดียวสำหรับหนังเพลง ซึ่งได้ชื่อว่ากำลังจะล้มหายตายจากแบบเดียวกับหนังคาวบอย

ความสำเร็จของ Whiplash ถือว่าเหนือความคาดหมายของชาเซลล์ “ผมไม่คิดว่ามันจะถูกใจคนดู ส่วนตัวผมรู้สึกว่าหนังชวนให้หดหู่ พาคุณดำดิ่งลงสู่นรก แต่แล้วผมก็นึกขึ้นได้ว่ามองในหลายๆ แง่มันก็เหมือนหนังสูตรสำเร็จนักกีฬา มันดำเนินตามรอยเดียวกันเขากล่าว

Whiplash เล่าถึงเรื่องราวของมือกลองหนุ่มที่ต้องรองรับอารมณ์ (และหลบเก้าอี้) คุณครูจอมโหดเพื่อความหวังว่าจะพัฒนาทักษะตัวเองให้กลายเป็นมือวางอันดับหนึ่งของวง หนังกระตุ้นอารมณ์คนดูอย่างถึงแก่น หลายคนเดินออกจากโรงในสภาพเหมือนเพิ่งดูหนังสยองขวัญสั่นประสาทจบ “คนไม่ค่อยรู้ว่าการตีกลองในวงแจ๊สเป็นเรื่องน่ากลัวแค่ไหนชาเซลล์พูดพร้อมกับอมยิ้ม “ผมรู้สึกแบบนั้นตอนเป็นมือกลองวงแจ๊ส ผมดีใจที่ได้ถ่ายทอดประสบการณ์คล้ายคลึงกันไปยังคนดู ฟังดูรู้สึกเหมือนผมเป็นพวกซาดิสต์

สำหรับชาเซลล์ ดนตรีมาก่อนภาพยนตร์ เขาเกิดที่ โรด ไอส์แลนด์ และฝันอยากเป็นมือกลองสมัยเรียนมัธยม ก่อนจะลงเรียนภาพยนตร์ที่ฮาร์วาร์ด ซึ่งทำให้เขาได้พบกับ จัสติน เฮอร์วิทซ์ ที่แต่งเพลง/ดนตรีประกอบให้หนังชาเซลล์ทุกเรื่อง Whiplash เป็นแค่ผลงานกำกับชิ้นที่สองของเขา แต่กลับคว้ารางวัลใหญ่ที่ซันแดนซ์ ก่อนจะเดินหน้าเก็บสามรางวัลออสการ์ในสาขาบันทึกเสียง ตัดต่อ และนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม (เจ.เค. ซิมมอนส์) ชาเซลล์รู้ดีว่าควรรีบคว้าโอกาสตีเหล็กขณะยังร้อน เพราะมีดาวรุ่งดวงใหม่เกิดขึ้นทุกวันในธุรกิจภาพยนตร์ “หลังซันแดนซ์ ทีมโปรดิวเซอร์กับผมก็ไปแอลเอเพื่อเสนอโครงการทำ La La Land เพราะกลัวว่าโอกาสทองจะหายวับไปอย่างรวดเร็วเขากล่าว

หลายคนเข้าใจผิดว่า Whiplash เป็นหนังเรื่องแรกของชาเซลล์ แต่ความจริงเขาเคยทำหนังเพลงแนวแจ๊สมาแล้วในปี 2009 เรื่อง Guy and Madeline on a Park Bench แต่ดูเหมือนเสียงตอบรับจะไม่ได้อบอุ่นเหมือนหนังสองเรื่องถัดมา “มีอยู่ครั้งหนึ่งผมเดินเข้าไปในโรงหนัง ซึ่งมีคนดูอยู่ 30 คน พวกเขาส่งเสียงวิจารณ์อย่างรุนแรงด้วยความโกรธเกรี้ยวราวกับว่ามันเป็นหนังสยองขวัญแนวทรมานคน ทั้งที่มันเป็นแค่หนังเพลงแจ๊สอย่างไรก็ตาม นั่นหาได้บั่นทอนกำลังใจชาเซลล์ ซึ่งหวนกลับมาทำหนังเพลงเต็มรูปแบบใน La La Land ด้วยความมั่นใจที่เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับเงินทุนและความทะเยอะทะยาน หนังมีทั้งฉากร้องเพลงสุดอลังการ การเปลี่ยนโทนอารมณ์อันน่าทึ่ง การเคลื่อนกล้องสุดหวือหวา และฉากมองทาจสุดงดงามในตอนจบที่จะซัดคนดูให้อยู่หมัด


การอ้างอิงไปถึงหนังเพลงคลาสสิกยุคเอ็มจีเอ็ม หรือผลงานของ ฌาคส์ เดอมี ถือเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง เพราะแม้จะเป็นแค่การสดุดี แต่สุดท้ายย่อมหนีไม่พ้นที่จะถูกเปรียบเทียบ ต่อประเด็นนี้ ชาร์เซลล์เคยนึกกังวลบ้างเหมือนกัน “แต่ผมเชื่อว่าหนังเพลงสามารถเข้าถึงใจคนยุคนี้ได้เขากล่าว “มันไม่ใช่ตระกูลหนังที่เชย หรือล้าสมัย และการทำหนังเพลงในสไตล์นี้ไม่ใช่แค่การคารวะ แต่สามารถใช้เป็นข้อพิสูจน์ถึงคุณค่า และการสื่อสารประเด็นร่วมสมัยของผู้คนในปัจจุบันได้ สำหรับผมนั่นต่างหากที่เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นในการสร้างหนังเรื่องนี้

หนึ่งในจุดเด่นของ La La Land คือ แม้ว่าหลายสิ่งจะส่งกลิ่นอายย้อนยุค แต่ฉากหลังของแอลเอถือว่าได้อารมณ์ร่วมสมัย หรืออย่างน้อยก็ตั้งอยู่บนพื้นฐานความจริง เช่นเดียวกับตัวละครเอกทั้งสอง ซึ่งเป็นการปลุกปั้นจากประสบการณ์จริงของตัวผู้กำกับ/เขียนบท “ผมย้ายมาแอลเอ เป็นมือกลอง ถูกไล่ออกจากวง และในเวลาเดียวกัน ผมก็พยายามจะเขียนบทหนัง ซึ่งไม่มีใครยอมเคาะผ่านชาเซลล์รำลึกความหลัง ด้วยเหตุนี้ หนังอาจสะท้อนให้เห็นมนตร์เสน่ห์เย้ายวนของแอลเอก็จริง แต่ในเวลาเดียวกันก็ไม่ได้มืดบอดต่อข้อเท็จจริงที่ว่ามันอาจเป็นดินแดนที่บดขยี้ความฝันและแรงบันดาลใจ นั่นถือเป็นแก่นอารมณ์หลักของตัวหนัง ซึ่งแม้จะอบอวลไปด้วยความโรแมนติก ชวนฝัน แต่ก็แฝงความเจ็บปวด หม่นเศร้าเอาไว้เกินกว่าที่คนดูจะคาดคิด “ถ้าคุณมัวแต่อมยิ้มและหัวเราะไปตลอดช่วงครึ่งแรกของหนัง คุณจะไม่ทันเห็นมีดที่ซ่อนไว้ข้างหลังชาเซลล์กล่าว

เขายืนยันว่านั่นเป็นสัจธรรมแห่งชีวิต เมื่อความสุขสมหวังอยู่เคียงคู่กับหัวใจที่แตกสลาย และส่วนหนึ่งอาจเป็นแรงบันดาลใจจากชีวิตจริงของชาเซลล์เอง เขาแต่งงานกับแฟนสาวจากฮาร์วาร์ด แจสมิน แม็คเกลด ในปี 2010 แต่ทั้งสองตัดสินใจแยกทางกันในอีกสี่ปีต่อมา ใน Whiplash ตัวละครเอกบอกเลิกกับแฟนสาวเพราะเห็นว่าเธออาจทำให้เขาเสียสมาธิจากการซ้อมตีกลอง ส่วนใน La La Land เมื่อถึงจุดหนึ่งตัวละครก็จำเป็นต้องเลือกระหว่างไล่ล่าความฝัน (อาชีพ) กับความรักโรแมนติก ชาเซลล์เชื่อว่าเราจำเป็นต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่งจริงหรือ “เมื่อไม่นานมานี้เองที่ผมเพิ่งรู้สึกได้ว่าเราไม่จำเป็นต้องสละอย่างหนึ่งเพื่อให้ได้อีกอย่างหนึ่งเขากล่าว “เพราะเกือบทั้งชีวิตที่ผ่านมาผมจะทำตัวไม่ต่างจากเซบาสเตียนช่วงต้นเรื่อง ‘ช่างหัวใครปะไร ฉันจะหมกตัวอยู่แต่ในห้องเพื่อเขียนบทหนังที่ยอดเยี่ยมสักเรื่องผมคิดแบบนั้น


แบร์รี เจนกินส์ (Moonlight)

หลังความสำเร็จของหนังเรื่องแรก Medicine for Melancholy ที่เทศกาลซันแดนซ์ในปี 2008 เมื่อเขาถูกยกย่องให้เป็นดาวรุ่งดวงใหม่แห่งวงการหนังอินดี้อเมริกัน แบร์รี เจนกินส์ สูญเวลาไปกับการงมหาโครงการหนังเรื่องต่อไปอยู่หลายปี โดยหนึ่งในโครงการที่ไม่อาจเข็นให้สำเร็จเป็นรูปธรรม คือ Wonderland เกี่ยวกับอุปกรณ์เดินทางข้ามเวลา ซึ่งขับเคลื่อนด้วยเสียงเพลงของ สตีวี วันเดอร์ เจนกินส์ตั้งใจจะให้ โซลานจ์ โนวส์ และเพื่อนนักทำหนังผิวดำ เทอเรนซ์ แนนซ์ (ผู้โด่งดังจาก The Oversimplification of Her Beauty) รับบทเป็นคู่รักที่ถูกส่งกลับไปในยังปี 1972 ยุคที่อัฟโฟรฟิวเจอริสม์กำลังเฟื่องฟู นอกจากพยายามปั้นโครงการนี้แล้วตลอดช่วงเวลาสามปี เขายังหมดเวลาไปกับการทำหนังสั้น และโครงการสร้างหนังตำรวจฟอร์มใหญ่ ซึ่งสุดท้ายก็พับเก็บไปในที่สุดเช่นกัน

เจนกินส์อยากทำหนังที่เป็นส่วนตัว พยายามจะเขียนบทเกี่ยวกับเรื่องราวชีวิตวัยเด็กของเขาในไมอามี “ส่วนใหญ่พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างผมกับแม่ แต่พอเขียนๆ ไปผมก็รู้สึกว่ามันดูส่วนตัวเกินไป จนผมไม่อยากสร้างเป็นหนัง” เจนกินส์กล่าว ช่วงเวลาเดียวกันนั้นเอง เพื่อนเขาสองคนได้เอาบทละครเรื่อง In Moonlight Black Boys Look Blue ของ ทาเรลล์ อัลวิน แม็คเครนีย์ มาให้อ่าน ซึ่งใกล้เคียงกับชีวิตจริงของเจนกินส์ แม้จะไม่เหมือนเปี๊ยบซะทีเดียว แม็คเครนีย์เติบโตมาในย่าน ลิเบอร์ตี้ ซิตี้ เช่นเดียวกับเจนกินส์ และแม่ของทั้งสองต่างก็ตกเป็นเหยื่อการแพร่ระบาดของโคเคนช่วงปลายยุค 80 ถึงต้นยุค 90 พวกเขาไม่เคยเจอกันตอนสมัยยังเป็นวัยรุ่น แม้ว่าบ้านจะอยู่ห่างกันแค่ไม่กี่ช่วงตึก และเข้าเรียนประถมและมัธยมต้นที่เดียวกัน ตัวละครแม่ติดยาใน Moonlight (รับบทโดย นาโอมิ แฮร์ริส) เป็นเหมือนส่วนผสมระหว่างแม่ของแม็คเครนีย์ ซึ่งเสียชีวิตด้วยโรคเอดส์ กับแม่ของเจนกินส์ ซึ่งยังมีชีวิตอยู่และวางแผนว่าจะดูหนังเรื่องนี้เมื่อเธอพร้อม

Moonlight เป็นบทละครเรื่องแรกๆ ของแม็คเครนีย์ ซึ่งไม่มีใครหยิบไปสร้างอยู่ 12 ปี ในช่วงเวลาระหว่างนั้นแม็คเครนีย์ก็สร้างชื่อเสียงเป็นนักเขียนบทดาวรุ่งแห่งอเมริกา บทละครของเขาถูกนำไปสร้างมากมายหลายเรื่อง แม็คเครนีย์เป็นเกย์ ส่วนเจนกินส์ไม่ใช่ คนแรกจบสาขาการละครจากเยล ส่วนคนหลังเคยฝันอยากจะเป็นนักกีฬา NFL ก่อนจะจับพลัดจับผลูไปเรียนเอกวิชาภาษาอังกฤษ การทำหนังเป็นวิชาเลือกที่เจนกินส์ลงเรียนเพราะเบื่อหน่ายและต้องการสิ่งแปลกใหม่ จนเกือบจะดูเหมือนว่าภาพยนตร์ค้นพบเขามากกว่าเขาค้นพบภาพยนตร์ เมื่อถูกถามว่าเขาเริ่มตกหลุมรักมนตร์เสน่ห์แห่งการเล่าเรื่องตั้งแต่เมื่อไหร่ เจนกินส์สารภาพว่า “ผมไม่เคยคิดจะทำหนัง หรือเขียนบทเลยจนกระทั่งมาอยู่ฟลอริด้า ผมเรียนเอกภาษาอังกฤษด้วยความหวังจะจบออกมาเป็นครูโรงเรียนมัธยม

เจนกินส์กลายเป็นผู้กำกับอาร์ตเฮาส์ด้วยความจำเป็นส่วนหนึ่ง และเลือกเองอีกส่วนหนึ่ง หลังกระแสเพื่อนร่วมห้องส่วนใหญ่ต่างทะเยอทะยานอยากเป็นนักทำหนังฟอร์มใหญ่อย่าง สตีเวน สปีลเบิร์ก “ในคลาสภาพยนตร์ที่ผมเข้าเรียน เด็กหลายคนทำผลงานได้น่าสนใจ แต่ส่วนใหญ่ล้วนมีสไตล์แบบเดิมๆ การทำหนังสไตล์ฮอลลีวู้ดไม่ใช่เรื่องผิด แต่มันน่ากลัวที่ทุกคนต่างทำหนังออกมาเหมือนหนังที่พวกเขาดู และเนื่องจากผมเริ่มต้นจากศูนย์ ผมจึงมองหาแรงบันดาลใจจากที่อื่นนอกเขตแดนของประเทศอเมริกา อีกอย่าง คือ หนังอเมริกันมักจะหายืมไม่ได้ในห้องสมุดเพราะมีความต้องการสูง ผมเลยหันไปยืมหนังที่คนไม่ค่อยยืม เช่น หนังคลื่นลูกใหม่ของฝรั่งเศสและเอเชีย Breathless ของโกดาร์ด Beau Travail ของ แคลร์ เดอนีส์ และ Chungking Express ของหว่องกาไว หนังเรื่อง Three Times ของโหวเสี่ยวเชียนมีอิทธิพลสำคัญต่อการแบ่งหนังเป็นสามส่วนใน Moonlight

Moonlight กระโดดข้ามช่วงเวลาเพื่อเล่าพัฒนาการของ ไชรอน ตัวละครเอกในสามช่วงอายุ จากเด็กที่ถูกนักเลงรุมแกล้ง ไปสู่วัยรุ่นที่คับแค้น และผู้ใหญ่ที่ท้าทายกฎหมาย ทั้งหมดถูกถ่ายทอดอย่างกลมกลืน แทบไม่เห็นรอยต่อใดๆ นั่นเป็นเรื่องเหลือเชื่อไม่น้อย เพราะเจนกินส์บอกว่านักแสดงทั้งสามคนที่เล่นไชรอนสามช่วงอายุไม่เคยเจอหน้ากัน หรือเห็นผลงานของอีกคนจนกระทั่งงานเทศกาลหนังโตรอนโตในเดือนกันยายน เกือบหนึ่งปีหลังจากหนังปิดกล้องไปแล้ว มันเป็นเดิมพันที่เสี่ยงของเจนกินส์ แต่ก็ให้ผลลัพธ์น่าพอใจ “ผมรู้สึกว่าแต่ละช่วงชีวิต ไชรอนได้รับผลกระทบจากสภาพแวดล้อมจนทำให้เขาเปลี่ยนเป็นอีกคนหนึ่งเขาอธิบาย ฉะนั้นเราต้องการให้นักแสดงแต่ละคนรักษาระดับความรู้สึกเหมือนแบกโลกไว้บนบ่าผ่านดวงตา พวกเขารู้ภาพรวมของหนัง แต่ผมไม่อยากให้ผลงานของนักแสดงคนหนึ่งกลายเป็นภาระสำหรับนักแสดงอีกคนหนึ่ง ผมบอกจุดประสงค์ตั้งแต่ก่อนเปิดกล้องว่าพลังทางอารมณ์ของหนังไม่ได้อยู่ที่บทสนทนา แต่เกิดจากปฏิกิริยาของพวกเขา ผมอยากให้คนดูสัมผัสความรู้สึกของตัวละครผ่านใบหน้านักแสดง บทมีความยาวแค่ร้อยหน้า และหนังก็ยาวแค่ 105 นาที หลายสิ่งหลายอย่างถูกถ่ายทอดระหว่างบรรทัด ผมบอกพวกเขาว่าใช้เวลาได้เต็มที่ในการกลั่นกรองสิ่งต่างๆ เพราะกล้องจะคอยตามจับพวกเขาตลอด นักแสดงที่มีประสบการณ์มากกว่าอย่างมาเฮอร์ชาลาและนาโอมิต่างชื่นชอบอิสระแบบนี้แทนการต้องเคลื่อนไหวทุกอย่างให้เป๊ะตามตำแหน่ง

แม้เรื่องราวต้นฉบับจะเป็นของแม็คเครนีย์ แต่หลายส่วนก็มีเศษเสี้ยวชีวิตจริงของเจนกินส์ผสมอยู่ ไม่ว่าจะเป็นความสยองของปรากฏการณ์โคเคนระบาด แม่ที่ยอมขายทีวีเพื่อเอาเงินไปซื้อยา แต่สอนให้ลูกชายรักการอ่าน (กรณีของแม็คเครนีย์ เธอนั่งอ่านนิยายหนา 1,100 หน้าเรื่อง It ของ สตีเวน คิง ให้ลูกชายฟัง) นอกจากนี้พวกเขายังซาบซึ้งถึงความยากจนข้นแค้น และความรู้สึกไม่ไว้วางใจใครอีกด้วย “มันเหมือนเป็นการเปิดแผลในวัยเด็กเจนกินส์กล่าวถึงการกำกับหนังเรื่องนี้

แต่ในเวลาเดียวกัน Moonlight ก็มีส่วนในการทำลายภาพลักษณ์เหมารวมที่เราคุ้นเคยเกี่ยวกับแม่ขี้ยาผิวดำและพ่อค้ายาผิวดำด้วยเช่นกัน “แม่ผมผ่านเรื่องร้ายๆ มามากเจนกินส์เล่า เช่นเดียวกับแม่ของแม็คเครนีย์ แม่เขาเคยถูกทารุณทางเพศ ตั้งท้องตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น แต่ก็ยังฟันฝ่าจนสามารถทำงานเป็นผู้ช่วยพยาบาล เลี้ยงพี่ๆ ของเขาจนเติบใหญ่ ก่อนจะพ่ายแพ้ต่อยาเสพติด “แม่เอาชนะปัญหาสารพัดเหล่านั้น แต่ไม่สามารถเอาชนะโคเคนได้ผู้กำกับวัย 37 ปีกล่าว แม่กัดฟันสู้มาตลอดจนกระทั่งเริ่มทนไม่ไหว โคเคนเข้ามาเติมเต็มช่วงเวลานั้น ผมไม่เคยตัดสินแม่ และสิ่งที่งดงามก็คือเมื่อผมสร้างตัวละครเหล่านี้ขึ้นมาโลดแล่นบนจอ ผมก็ไม่ตัดสินพวกเขาเช่นกัน


เคนเน็ธ โลเนอร์แกน (Manchester by the Sea)

อาจกล่าวได้ว่า เคนเน็ธ โลเนอร์แกน เป็นผู้กำกับที่เก่งที่สุดที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้จัก หนังเรื่องแรกของเขา You Can Count on Me ได้รางวัลใหญ่ที่เทศกาลหนังซันแดนซ์ในปี 20000 ผลักดันให้ ลอรา ลินนีย์ ได้เข้าชิงออสการ์ และปลุกปั้นชื่อของ มาร์ค รัฟฟาโล ให้เป็นที่รู้จัก แต่หนังเรื่องถัดมาของเขา Margaret แม้ตอนนี้จะถูกยกย่องเป็นมาสเตอร์พีซยุคใหม่โดยนักวิจารณ์จำนวนมาก มีสภาพไม่ต่างกับฝันร้ายจากการต่อสู้เพื่อสิทธิ์ตัดต่อหนังขั้นสุดท้าย หกปีผ่านไป พร้อมการต่อสู้ในชั้นศาลสามรอบ หนังเวอร์ชั่นประนีประนอมของทั้งสองฝ่ายก็ออกสู่สายตาประชาชนในที่สุด แต่ถ้าจะเรียกให้ตรงความจริง ถูก โละเข้าโรงหนังเพียงไม่กี่แห่งในปี 2011 จนแทบไม่มีใครได้ดู ตอนนี้ Margaret เวอร์ชั่นยาวขึ้นแบบที่โลเนอร์แกนต้องการมาตลอด สามารถหาดูได้ทางเน็ตและในรูปแบบของดีวีดี แต่ทุกครั้งที่ต้องพูดถึงมหากาพย์การต่อสู้ในเรื่องนี้ โลเนอร์แกนมักอดทำหน้าเหยเกและถอนใจอย่างหดหู่ไม่ได้

ความจริงโลเนอร์แกนเป็นมือเขียนบทละครที่โด่งดังพอตัวก่อนก้าวเข้าสู่โลกแห่งภาพยนตร์ ถ้าเขาตัดสินใจบอกลาเก้าอี้ผู้กำกับหลังความวุ่นวายดังกล่าวก็คงไม่มีใครว่าอะไร แต่เขาเลือกจะเขียนบทหนังเรื่องใหม่ Manchester by the Sea เพื่อให้เพื่อนของเขา แม็ท เดมอน เป็นคนกำกับ เมื่อเดมอนไม่ว่าง เขาจึงต้องกลับมานั่งอยู่หลังกล้องอีกครั้ง รับมือกับความวุ่นวายสารพัด เวลาคุณเขียนบทให้คนอื่นกำกับ คุณเขียน พวกเขาขึ้นรถและขับออกไปแค่นั้นก็ได้โลเนอร์แกนอธิบาย ไม่ต้องห่วงว่าภาพจะออกมาเป็นยังไง นั่นเป็นปัญหาของคนอื่นแล้ว หนังยังมีฉากแฟลชแบ็คหลายครั้งด้วย และเขาก็คิดแบบเดียวกัน ถ้าฉากนั้นไม่เวิร์กตามลำดับเวลาที่ผมเขียนไว้ เดี๋ยวคนตัดต่อก็ไปแก้กันเอง

Manchester by the Sea น่าจะทำให้ชื่อเสียงของผู้กำกับวัย 53 ปีติดหูคนดูทั่วไปมากขึ้น มันเป็นหนังบีบน้ำตาสุดฮิตที่ซันแดนซ์เมื่อต้นปีก่อน อเมซอนซื้อลิขสิทธิ์จัดจำหน่ายในอเมริกามาในราคา 10 ล้านเหรียญ และปั้นให้มันกลายเป็นหนังเต็งออสการ์ ซึ่งอาจไม่ใช่เรื่องที่โลเนอร์แกนชื่นชอบนัก ด้วยบุคลิกเป็นคนขี้อายและออกจะขี้หงุดหงิดในบางเวลา เขาจึงเกลียดการพูดถึงเรื่องตัวเอง แต่ยังมีสิ่งอื่นที่เลวร้ายกว่านี้อีกเยอะเขาให้สัมภาษณ์ ก่อนจะหยุดพูดชั่วครู่เพื่อคิดว่าสิ่งอื่นที่ว่านั้นมีอะไรบ้าง

Manchester by the Sea มีฉากหลังเป็นเมืองชายทะเลในรัฐแมสซาชูเซตส์ เล่าเรื่องราวของภารโรงหนุ่มที่ชอบเก็บตัวเงียบ และต้องรับหน้าที่เป็นผู้ปกครองของเด็กหนุ่มวัยรุ่นหลังเกิดโศกนาฏกรรมไม่คาดฝัน จากนั้นคนดูก็ค่อยๆ เรียนรู้ว่าตัวละครเอก ซึ่งรับบทโดย เคซีย์ อัฟเฟล็ค เคยแต่งงานกับผู้หญิงคนหนึ่ง (มิเชลล์ วิลเลียมส์) โดยทั้งสองมีอดีตอันรวดร้าวร่วมกัน การแสดงของอัฟเฟล็คกับวิลเลียมส์ในฉากหนึ่งช่วงท้ายเรื่องสามารถทำให้คนดูหัวใจสลายได้ไม่ยาก ความคิดในการสร้างหนังเรื่องนี้เริ่มต้นจากเดมอนและคู่หูเขียนบทจาก Promised Land จอห์น คราซินสกี้ โดยแนวคิดหลักมาจากโลกชนชั้นแรงงานในนิวอิงแลนด์ ซึ่งไม่มีใครยอมเผยความรู้สึกออกมาตรงๆ นั่นเป็นสิ่งที่โลเนอร์แกนมีอารมณ์ร่วมได้ไม่ยาก เขาเติบโตมาในนิวยอร์ก แม่กับพ่อเลี้ยงเป็นจิตแพทย์ เข้าเรียนที่วอลเดนในแมนฮัตตันกับเพื่อนซี้ แม็ทธิว บรอเดอริค ผมไม่ใช่คนแถบชายฝั่งตอนเหนือโลเนอร์แกนกล่าวถึงเมืองแมนเชสเตอร์ มันจึงเป็นทั้งเสน่ห์ดึงดูดและความท้าทายเขาใช้เวลาศึกษาชีวิตความเป็นอยู่ในพื้นที่บริเวณนั้น เฝ้าฟังคนท้องถิ่นพูดคุยกัน และได้ความรู้ติดกลับมามากมาย เขาเป็นนักทำหนังประเภทเรียนรู้ด้วยตัวเองและเข้ามาอยู่ในวงการแบบตกกระไดพลอยโจนมากกว่าจะตั้งใจ ผมเริ่มต้นด้วยการอยากเป็นนักเขียนบทละคร ตอนนี้ก็ยังอยากเป็นนักเขียนบทละครเขากล่าวก่อนจะฉุกคิด ที่ผมจะพูดคือผมอยากทำงานเขียนบทละครต่อไป

เขาหันมาเขียนบทหนังเพื่อหารายได้ มีผลงานหลากหลายแนวตั้งแต่ Analyze This จนถึง Gangs of New York เขาเริ่มต้นสนใจงานกำกับด้วยเหตุผลเดียวกับนักเขียนบททั้งหลาย นั่นคือ เพื่อปกป้องงานเขียนตัวเอง แต่โอกาสของเขาเกิดขึ้นได้เพราะเครดิตจากการเขียนบทละคร เมื่อโปรดิวเซอร์ที่อยากทำหนังจากบทละครที่ดังที่สุดของเขาเรื่อง This Is Our Youth ตกลงใจให้ทุนสร้าง You Can Count on Me และในช่วงระหว่างเตรียมงานสร้างนั่นเอง โลเนอร์แกนเริ่มกังวลเกี่ยวกับสไตล์หนัง ด้วยเหตุนี้เพื่อนตากล้องจึงแนะนำให้เขาดูหนังเยอะๆ แล้วเลือกหนังเรื่องที่เขาชอบมานำเสนอ เช่น Five Easy Pieces, Coal Miner’s Daughter และ The Best Years of Our Lives “นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของผมเขากล่าว แต่ตอนนี้ผมมีเซนส์เรื่องภาพมากกว่าสมัยแรกเยอะแล้ว

หนึ่งในสิ่งที่โลเนอร์แกนหยิบยืมจากวงการละครมาใช้เวลาถ่ายหนัง คือ ช่วงซ้อมบท สำหรับ Manchester by the Sea นักแสดงต้องมานั่งอ่านบทร่วมกันเป็นเวลาเกือบสองสัปดาห์ ซึ่งถือเป็นเรื่องผิดปกติมากเนื่องจากดาราหนังส่วนใหญ่จะมีตารางเวลาแน่นขนัด บางครั้งก็รู้สึกตลกๆ อยู่เหมือนกัน เพราะคุณกำลังซ้อมฉากที่ยังจะไม่เกิดขึ้นจนกว่าจะอีกหนึ่งเดือนข้างหน้า แต่มันเป็นขั้นตอนที่ทรงคุณค่า ผมคงทำหนังไม่ได้หากปราศจากขั้นตอนนี้เขากล่าว ซิดนีย์ ลูเม็ต จะซ้อมบทก่อนเปิดกล้อง 5 สัปดาห์เหมือนละครเวที แต่ไม่ใช่ว่าผมจะยกตัวไปเทียบชั้น ซิดนีย์ ลูเม็ต หรืออะไรนะ

อัฟเฟล็คบอกว่า ปกติผมไม่ชอบซ้อมอ่านบทเท่าไหร่ แต่ผมดีใจที่ได้ทำในหนังเรื่องนี้ข้อดีอย่างหนึ่งอยู่ตรงที่มันเปิดโอกาสให้เขามีเวลาพูดคุยกับโลเนอร์แกนและหาจุดลงตัวในมุมมองที่แตกต่างเกี่ยวกับตัวละคร รวมถึงเรื่องสำเนียงนิวอิงแลนด์ ซึ่งอัฟเฟล็ก (คนบอสตันโดยกำเนิด) ค่อนข้างไม่เห็นด้วยในตอนแรก ส่วนวิลเลียมส์บอกว่าเธอเตรียมพร้อมมาอย่างดีจนอาจจะมากเกินไปด้วยซ้ำ ในละครเวทีคำพูดถือเป็นปัจจัยพื้นฐานเธออธิบาย ไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าคำพูดของตัวละคร แต่หนังไม่ใช่แบบนั้นเสมอไป ยกเว้นหนังของโลเนอร์แกน เนื่องจากเขาเขียนบทเอง เขาจึงอยากให้เราพูดตามบทอย่างค่อนข้างเคร่งครัดซึ่งก็ไม่แปลก

ผมว่าวงการหนังควรจะเห็นคุณค่าของเคนนีมากกว่าที่เป็นอยู่ เขาต้องเผชิญเรื่องเลวร้ายจากธุรกิจภาพยนตร์มามากมายอัฟเฟล็คกล่าว มันไม่ใช่เรื่องง่ายกว่าจะสร้างหนังเรื่องนี้ขึ้นมาได้ และฮอลลีวู้ดแทบจะไม่สร้างหนังแบบนี้กันอีกแล้ว ถ้าเรามีแต่หนังบล็อกบัสเตอร์ดาษๆ วงการภาพยนตร์คงขาดชีวิตชีวาและแห้งแล้ง แต่ถ้าเรามีคนอย่างเคนนี ซึ่งสามารถเขียนบทหนังชั้นยอดได้ มันจะช่วยชุบชีวิตทุกคนให้กระชุ่มกระชวย


เดนิส วิลเนิฟ (Arrival)

หนังมนุษย์ต่างดาวบุกโลกเรื่อง Arrival ถือเป็นหนังแนวนิยายวิทยาศาสตร์เรื่องแรกของ เดนิส วิลเนิฟ และถึงแม้หลายฉากจะมีบรรยากาศคุกคาม ตลอดจนมีแก่นอารมณ์หนักหน่วงเป็นศูนย์กลาง อาจถือได้ว่านี่เป็นหนัง โทนเบาที่สุดของวิลเนิฟแล้ว เนื่องจากผู้กำกับชาวแคนาเดียนฝรั่งเศสสร้างชื่อเสียงมาจากหนังเขย่าขวัญที่มืดหม่น หดหู่อย่าง Prisoners และ Enemy ซึ่งนำแสดงโดย เจค จิลเลนฮาล ทั้งคู่ ล่าสุดเขาได้รับเลือกและกำลังถ่ายทำ (ดูจากความสำเร็จของ Arrival ต้องยอมรับว่าเขาเป็นตัวเลือกที่เพอร์เฟ็กต์สุดแล้วในเวลานี้) หนังภาคต่อของ Blade Runner มีโปรแกรมเข้าฉายในปีนี้ นำแสดงโดย ไรอัน กอสลิง และ แฮร์ริสัน ฟอร์ด อย่างไรก็ตาม หนังทั้งสามเรื่อง (Prisoners, Enemy, Blade Runner 2049) ต้องถือว่าเป็นเรื่องผิดปกติเนื่องจากตัวละครเอกล้วนเป็นผู้ชาย

วิลเนิฟเริ่มต้นและเติบโตในอาชีพนักทำหนังจากผลงานที่มีผู้หญิงเป็นตัวเอก และ Arrival ก็ถือเป็นผลงานชิ้นที่ 6 ในแนวทางนี้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นความบังเอิญ ส่วนหนึ่งอาจเป็นความตั้งใจ และอีกส่วนอาจเป็นสัญชาตญาณแต่กำเนิด ตอนเริ่มต้นเขียนบทหนังเรื่องแรกช่วงปลายยุค 90 วิลเนิฟบอกว่าเขาเลือกให้ตัวละครเอกเป็นผู้หญิงเพราะรู้สึกว่ามันช่วยรักษา ระยะห่างที่จำเป็นระหว่างเขากับตัวหนัง แต่แล้วหนังเรื่องที่สองของเขาก็มีผู้หญิงเป็นศูนย์กลางเช่นกัน ตามมาด้วยเรื่องที่สามและเรื่องที่สี่ ถึงตรงนี้วิลเนิฟเริ่มตระหนักแล้วว่ามันกลายเป็นรูปแบบอย่างหนึ่ง สำหรับผมความเป็นชายหมายถึงการควบคุม ส่วนความเป็นหญิงหมายถึงการเปิดรับและการรับฟังผู้กำกับวัย 49 ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์จากกรุงบูดาเปส ซึ่งเป็นสถานที่ถ่ายทำ Blade Runner 2049 “มันน่าตื่นเต้นที่จะได้สำรวจอิทธิพลของความเป็นชายและความเป็นหญิง การงัดข้อระหว่างสองสิ่ง และที่ทางของผู้หญิงในโลกปัจจุบัน

วิลเนิฟเติบโตมาในเจนติลลี รัฐควิเบก ชุมชนเล็กๆ ทางภาคอีสานของมอนทรีออล เคยขึ้นชื่อเนื่องจากเป็นที่ตั้งโรงงานพลังนิวเคลียร์ แต่ตอนนี้โด่งดังในฐานะเมืองบ้านเกิดของวิลเนิฟ แม้ว่าหมู่บ้านจะเป็นแหล่งอาศัยของชาวคาทอลิกอนุรักษ์นิยม แต่วิลเนิฟเติบโตมาในบ้านที่ผู้หญิงมีบทบาทชัดเจนและหัวคิดก้าวหน้า คุณปู่กับคุณตาเขาเป็นคนเงียบขรึม แต่คุณย่ากับคุณยายเป็นผู้หญิงที่ประหลาด เข้มแข็ง และฉูดฉาด พวกท่านเต็มเปี่ยมไปด้วยชีวิตชีวาพ่อของวิลเนิฟทำงานอยู่สำนักทะเบียน ส่วนแม่เป็นแม่บ้าน แต่มีแนวคิดแบบเฟมินิสต์หัวก้าวหน้า ซึ่งส่งอิทธิพลต่อวิลเนิฟ พี่ชายคนโตของน้องๆ อีกสามคน ผมเป็นคนรุ่นแรกที่ได้สัมผัสกับแนวคิดใหม่ๆ ของเฟมินิสต์วิลเนิฟกล่าว ผมถูกเลี้ยงให้ไม่รู้สึกถูกคุกคามโดยแนวคิดเหล่านั้น แต่กลับรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งสวยงาม

แต่เขาตระหนักดีว่ามุมมองดังกล่าวไม่ใช่เรื่องที่ทุกคนจะเห็นตรงกัน ในควิเบกผู้หญิงเริ่มมีอำนาจต่อรองมากขึ้น ผู้ชายบางคนรับได้ แต่บางคนก็นึกหวาดกลัววิลเนิฟกล่าว ผมว่าผู้ชายส่วนใหญ่ยินดีจะแบ่งปันอำนาจกับผู้หญิง แต่พวกเขาแค่หวาดกลัว ทุกครั้งที่เกิดความเปลี่ยนแปลง ย่อมเกิดความไม่ลงรอยหนังเรื่องแรกของวิลเนิฟ August 32nd on Earth เล่าเรื่องราวของผู้หญิงคนหนึ่งที่มุมมองต่อโลกพลิกผันหลังประสบอุบัติเหตุรถยนต์ มันได้เป็นตัวแทนประเทศแคนาดาเข้าชิงออสการ์หนังต่างประเทศยอดเยี่ยม (แต่ไม่ติด 5 เรื่องสุดท้าย) หนังเรื่องถัดมา Maelstrom เล่าถึงชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งที่ประสบวิบากกรรมสารพัด จากนั้นเขาก็หยุดพักไปสองปีเพื่อศึกษาภาพยนตร์และการเขียนบท ก่อนจะกลับมาอย่างยิ่งใหญ่ด้วยความคิดว่าจะเลือกสร้างแต่หนังซึ่งกระทบใจเขาโดยตรง เริ่มต้นจาก Polytechnique เกี่ยวกับการสังหารนักศึกษาหญิง 14 คนที่มอนทรีออลในปี 1989 โดยมือปืนที่อ้างว่าเขากำลังสู้เพื่อสิทธิสตรี เหตุการณ์จริงดังกล่าวเกิดขึ้นตอนที่วิลเนิฟยังเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัย หรือพูดอีกอย่างคืออายุไล่เลี่ยกับเหยื่อทั้ง 14 คน

หนังเดินหน้าคว้าออสการ์ของแคนาดามาครอง 9 รางวัล จากนั้นวิลเนิฟก็พิสูจน์ให้เห็นว่าเขาเป็น ตัวจริงด้วย Incendies หนังเกี่ยวกับผู้อพยพสาวชาวตะวันออกกลางในแคนาดา หนังถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์สาขาหนังต่างประเทศและเปิดโอกาสมากมายให้กับวิลเนิฟ ซึ่งเดินทางไปคุยแผนสร้างหนังหลายเรื่องที่ฮอลลีวู้ด หนึ่งในนั้น คือ การดัดแปลงนิยายขนาดสั้นเรื่อง Story of Your Life เกี่ยวกับนักภาษาศาสตร์ที่ถูกมอบหมายให้เรียนรู้ภาษาของมนุษย์ต่างดาว แต่ตอนนั้นวิลเนิฟติดสัญญาสร้างหนังสองเรื่อง คือ Enemy กับ Prisoners ซึ่งกินเวลารวมกัน 18 เดือน จากนั้นเขาก็สานต่อประเด็นด้านมืดแห่งจิตใจมนุษย์ของ Prisoners ด้วยหนังที่หดหู่ไม่แพ้กัน หรืออาจจะยิ่งกว่าอย่าง Sicario เล่าเรื่องราวของเอฟบีไอสาวที่ถูกดึงไปพัวพันกับธุรกิจค้ายาบริเวณชายแดนอเมริกากับเม็กซิโก ผมให้สัญญากับตัวเองว่าหลังจากเรื่องนี้ ขอทำหนังที่สว่างสดใสขึ้นหน่อยนะซึ่งนั่นนำไปสู่การดัดแปลง Story of Your Life เป็นหนัง ผมทำ Sicario ได้เพราะรู้ว่า Arrival จะเป็นเรื่องถัดไปเขากล่าว

วิลเนิฟตัดสินใจถ่ายหนังที่มอนทรีออลเพื่อจะได้อยู่ใกล้ชิดกับครอบครัว (เขาแต่งงานกับ ทันยา ลาพอนต์ นักข่าวสาวชาวแคนาดา และมีลูกสามคนจากความสัมพันธ์ครั้งก่อน) เอมี อดัมส์ นักแสดงนำในเรื่อง บอกว่าเธอไม่รู้สึกเชื่อมโยงกับบทหนังในตอนแรก ซึ่งเป็นการตัดสลับระหว่างความพยายามสื่อสารกับเอเลี่ยนของนักภาษาศาสตร์กับบทสนทนาของเธอกับลูกสาว แต่วิลเนิฟเป็นคนบอกเธอว่าหัวใจสำคัญของหนังอยู่ตรงความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูก นั่นล่ะที่ทำให้ฉันอยากเล่นหนังเรื่องนี้อดัมส์กล่าว เดนิสสามารถทำให้หนังแนวนิยายวิทยาศาสตร์มีความรู้สึกอบอุ่น แนบแน่นหนังเริ่มกลายเป็นที่จับตามองตั้งแต่ก่อนจะเริ่มเปิดกล้องด้วยซ้ำ เมื่อพาราเมาท์ซื้อลิขสิทธิ์จัดจำหน่ายในอเมริกาด้วยเงิน 20 ล้านจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ 2014 จนถึงตอนนี้คงไม่ต้องบอกแล้วว่าพาราเมาท์ตัดสินใจถูกแค่ไหน เพราะหนังกวาดคำชมตั้งแต่เปิดตัวครั้งแรกที่เวนิซ ทำเงินในอเมริกาได้ 95 ล้านเหรียญ และล่าสุดถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์มากถึง 8 รางวัล หนึ่งในนั้น คือ สาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมของวิลเนิฟ


เมล กิ๊บสัน (Hacksaw Ridge)

หลังจากเหตุการณ์ถูกจับขณะเมาแล้วขับ ตลอดจนคำด่าทอเหยียดเชื้อชาติยิวในปี 2006 หลายคนเชื่อว่าต้องอาศัยปาฏิหาริย์เท่านั้นถึงจะชุบชีวิตอาชีพในวงการบันเทิงของ เมล กิ๊บสัน ได้ สิบปีผ่านไปฮอลลีวู้ดตัดสินใจให้อภัยเขาหลังจากหนังเกี่ยวกับปาฏิหาริย์เรื่อง Hacksaw Ridge ทำเงินได้น่าพอใจและถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลใหญ่บนเวทีออสการ์อย่างหนังและผู้กำกับยอดเยี่ยม ผมไม่ได้ทำหนังมาสิบปีก็จริง แต่ผมยุ่งเล่นหนังและเขียนโครงการนั่นนี่อยู่ตลอดกิ๊บสันบอก ผมไม่เคยอยู่นิ่งๆ ปัญหาคือผมสร้างหนังแบบที่ผมอยากทำ และโดยส่วนใหญ่แล้วไม่ค่อยมีคนชอบในสิ่งที่ผมชอบสักเท่าไหร่ ในสองสามโครงการหลังผมต้องควักกระเป๋าลงเงินเอง แต่ผมไม่อยากทำแบบนั้นอีกแล้วดูเหมือนกิ๊บสันจะไม่มีเวลาฉลองการคัมแบ็คครั้งนี้มากนัก เพราะเขามีไอเดียสำหรับหนังเรื่องต่อไปในหัวแล้ว ผมพยายามจะสร้างหนังเรื่องนึงมานานกว่า 10 ปี ฉากหลังเป็นประเทศอิตาลีในศตวรรษที่ 15 ตั้งใจจะให้เป็นแนวโศกนาฏกรรมของการแก้แค้น ถึงขั้นมีฉากตัวละครพูดกับตัวเองอะไรแบบนั้นด้วย

กิ๊บสัน ซึ่งปัจจุบันอายุ 60 และเพิ่งจะมีลูกคนที่ 9 กับแฟนสาว โรซาลินด์ รอส โทษฤทธิ์แอลกอฮอล์สำหรับเหตุในครั้งนั้น แต่เขาเลิกเหล้ามาหลายปีแล้ว ผมใช้เวลาทบทวนตัวเองตลอด 10 ปีที่ผ่านมา พยายามไม่ทำตัวเป็นข่าว ผมไม่อยากเข้ารับการบำบัดแบบคนดังอยู่สองสัปดาห์ ประกาศว่าตัวเองหายขาด แต่สุดท้ายก็กลับมาเละเทะเหมือนเดิม ผมคิดว่าวิธีที่ดีที่สุดในการพิสูจน์ว่าเราเสียใจแค่ไหน คือ ปรับปรุงตัวเอง และนั่นคือสิ่งที่ผมทำมาตลอดล่าสุดกิ๊บสันไปออกรายการ The Late Show with Stephen Colbert พร้อมกับให้สัมภาษณ์ว่าเขาอยากบอกตัวเองในอดีตให้ หุบปากซะฟังดูสอดคล้องกันดีเมื่อพิจารณาว่า Hacksaw Ridge เป็นหนังเกี่ยวกับการเยียวยาตัวเองเช่นกัน

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง พลทหาร เดสมอนด์ ดอส (แอนดรูว์ การ์ฟิลด์) ประจำหน่วยแพทย์ ปฏิเสธที่จะติดอาวุธระหว่างออกปฏิบัติหน้าที่ในสนามรบด้วยความเชื่อทางศาสนา แล้วพิสูจน์ตัวเองด้วยการช่วยเหลือทหารบาดเจ็บ 75 นายบนเกาะโอกินาวาด้วยการแบกพวกเขากลับมาแดนหลังทีละคน พอสงครามสิ้นสุดเขาจึงได้รับเหรียญกล้าหาญสำหรับวีรกรรมดังกล่าว เขาขัดเกลาจิตวิญญาณตัวเองในนรกกิ๊บสันอธิบายตัวละครเอก ไม่ใช่เรื่องแปลกหากหนังจะจับใจกลุ่มคนดูที่ชื่นชอบ The Passion of the Christ เนื่องจากศรัทธาในพระเจ้าถือเป็นหัวใจหลัก แต่ขณะเดียวกันฉากสงครามแบบถึงเลือดถึงเนื้อก็อาจทำให้หลายคนนึกถึงฉากเปิดเรื่อง Saving Private Ryan

เดสมอนด์เป็นตัวละครที่มีความสำคัญอย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลานี้ เมื่อเราต้องเผชิญกับสถานการณ์แบ่งฝักแบ่งฝ่ายการ์ฟิลด์กล่าว เขาเป็นข้อพิสูจน์ให้เห็นว่าเราทุกคนจำเป็นต้องเยียวยาตัวเอง แล้วสร้างสะพานเชื่อมหากันแทนการสร้างกำแพงแบ่งแยกกันเหมือนที่สันตะปาปาฟรานซิสพูดถึงแนวคิดของ โดนัลด์ ทรัมป์ ศรัทธาของท่านอาจยึดติดกับคริสเตียน แต่ผมว่าท่านก้าวข้ามมันไปสู่ความเป็นสากล

แม้ว่าจะถูกเหล่าผู้คนที่ชิงชังน้ำหน้าค่อนแขะมากแค่ไหน สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ คือ กิ๊บสันมีพรสวรรค์ในการเล่าเรื่องและมีวิสัยทัศน์ด้านภาพ ไม่มีอะไรชุบชีวิตอาชีพในฮอลลีวู้ดได้ดีเท่ากับการทำหนังที่ประสบความสำเร็จเลนนาร์ด มัลติน เคยกล่าวไว้ และมันใช้ได้อย่างยิ่งกับกรณีนี้ กิ๊บสันเชื่อว่าความสำเร็จของ Braveheart บนเวทีออสการ์ มีส่วน ปลุกกระแสการประกาศอิสรภาพของสกอตแลนด์อยู่ไม่น้อย แต่เขาไม่ยอมเปิดเผยว่าตนเองสนับสนุนการแยกประเทศหรือไม่ เพราะไม่อยากออกความเห็นทางการเมืองเกี่ยวกับประเทศอื่น หนังช่วยปลุกกระแสเป็นอิสระที่สกอตแลนด์ พวกเขาบรรลุข้อตกลงในการปกครองตัวเองส่วนหนึ่ง ซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องดี” (รัฐสภาสกอตแลนด์ก่อตั้งขึ้นในปี 1997 ขณะที่ผลสำรวจประชามติในปี 2014 55.3% โหวตให้สกอตแลนด์รวมตัวกับอังกฤษต่อไป)

กิ๊บสันบอกว่าวอลเลซ ตัวละครเอกใน Braveheart เป็นนักฆ่า แต่เขาเห็นบางอย่างที่คล้ายคลึงกันระหว่างวอลเลซกับ เดสมอนด์ ดอส ทั้งสองเป็นผู้ชายที่เชื่อมั่นในความคิดและยินดีจะสละชีพเพื่อสิ่งที่ตัวเองเชื่อเขากล่าว แต่เดสมอนด์เป็นคนรักสันติ เขาไม่ต้องการจะสังหารชีวิตคนอื่น ขณะที่วอลเลซเป็นนักฆ่า เขาจุดพลังไฟให้กับผู้คน ผมคิดว่าเดสมอนด์เป็นคนที่เหมาะจะแก้ปัญหาในโลกปัจจุบันมากกว่าจากนั้นกิ๊บสันก็เสริมว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้เขากลับมากำกับหนังเรื่องนี้หลังห่างหายไปนาน 10 ปี คือ คุณค่าของเรื่องราวที่ควรถูกบอกเล่าต่อๆ กันไป มันเป็นหนังสงคราม แต่ก้าวไปไกลกว่านั้น มันเป็นหนังรักเขากล่าว เรื่องของผู้ชายที่ไปออกรบพร้อมด้วยความรักในหัวใจ เขาอยากช่วยเหลือคนอื่น และเห็นค่าชีวิตของคนอื่นเหนือชีวิตตัวเอง เขาเป็นบุคคลผู้เสียสละ มันเป็นเรื่องที่สร้างแรงบันดาลใจได้อย่างมาก เขาคือต้นแบบของวีรบุรุษที่แท้จริง

แต่หลายสิ่งเปลี่ยนไปนับแต่กิ๊บสันนั่งเก้าอี้ผู้กำกับเป็นครั้งสุดท้าย (Apocalypto) และการสร้าง Hacksaw Ridge ก็เป็นเหมือนสงครามในตัวเองเช่นกัน มันน่าอัศจรรย์ใจมากที่เราสามารถปิดกล้องได้ภายในเวลาแค่ 59 วัน เร็วกว่าตอนที่ผมสร้าง Braveheart เท่าตัว และด้วยเงินทุนที่ต่ำกว่า 25% ทั้งที่หนังเรื่องนั้นสร้างขึ้นเมื่อ 20 ปีก่อนกิ๊บสันกล่าว นับจากฉากแรกของหนัง เมื่อคนดูเห็นไฟลุกท่วมนายทหาร แล้วกล้องแพนไปยังทหารอีกกลุ่มที่โดนระเบิดกระเด็นกระดอนไปคนละทิศทาง ทั้งหมดเกิดขึ้นในช็อตเดียว มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

Hacksaw Ridge เป็นหนังสงครามที่แปลกประหลาด เนื่องจากมันยืนกรานให้คนดูเห็นความรุนแรงแบบไม่โอนอ่อน แต่เล่าเรื่องราวของชายที่ไม่อยากมีส่วนร่วมกับความรุนแรง กิ๊บสันแสดงให้เห็นภาพอวัยวะภายในทะลักออกนอกร่าง แขนขาหลุดกระเด็น ฝูงหนูรุมแทะศพ และทหารคนหนึ่งใช้ร่างที่ถูกตัดขาดเป็นโล่กันกระสุน เพื่อเราคนดูจะได้เข้าใจพลังแห่งศรัทธาในตัวดอสมากขึ้น เขาวิ่งไปตามสนามเพลาะราวกับมันเป็นขุมนรก และท้ายที่สุดเมื่อเขาหลบหนีจาก แฮ็คซอว์ ริดจ์ อันเป็นที่มั่นของฉากรบในช่วงไคล์แม็กซ์ได้สำเร็จ หนังก็เจาะจงถ่ายภาพเขาในสภาพเกือบเปลือย ล้างเลือดของทหารคนอื่นออกจากร่างคล้ายกับทำพิธีศีลล้างบาป ด้วยเหตุนี้แม้ฉากหลังจะใกล้เคียงกับ Flags of Our Fathers หรือ Letters from Iwo Jima ของ คลินต์ อีสต์วู้ด แต่อารมณ์โดยรวมของหนังอาจใกล้เคียงกับ The Passion of the Christ มากกว่า เมื่อพระเยซูถูกบังคับให้ต้องทนทรมานซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนคนดูอยากจะเบือนหน้าหนี ทั้งหมดเดินไต่บนเส้นแบ่งบางๆ ระหว่างความบ้าคลั่งกับความสง่างาม ซึ่งไม่มีใครสามารถรักษาสมดุลได้ยอดเยี่ยมในแบบกิ๊บสัน

ไม่มีความคิดเห็น: